ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ศาสนาผี” ภาชนะใส่กระดูกคนตาย ‘คืนสู่ครรภ์มารดา’ ต้นแบบ ‘โกศ’  (อ่าน 264 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



“ศาสนาผี” ภาชนะใส่กระดูกคนตาย ‘คืนสู่ครรภ์มารดา’ ต้นแบบ ‘โกศ’ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

หลังความตายของชนชั้นนำ หรือหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว มีพิธีกรรมพิเศษกว่างานศพคนทั่วไป เรียกพิธีศพครั้งที่ 2 ประกอบด้วย ส่งขวัญขึ้นฟ้า, กระดูกถูกรวมเก็บในภาชนะแล้วฝังอีกครั้ง, เครื่องมือเครื่องใช้ถูกฝังรวม, ปลูก “เฮือนแฮ่ว” คร่อมหลุมศพ เป็นต้น

กระดูกถูกรวมเก็บในภาชนะแล้วฝังดิน หมายถึง จัดวางกระดูกหัวหน้าเผ่าพันธุ์เรียงโครงร่างเหมือนมนุษย์ลงในภาชนะที่เตรียมไว้ทำด้วยดินเผาเหมือน “แคปซูล” (เป็นสัญลักษณ์ “คืนสู่ครรภ์มารดา”) แล้วเคลื่อนภาชนะดินเผามีกระดูกคนตายไปฝังในหลุมที่เตรียมไว้ใต้ “เฮือนแฮ่ว”



เรือนยุคบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นเรือนเสาสูง มีใต้ถุนเป็นที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และเป็นที่ฝังศพของคนในเรือน ขุดพบเศษภาชนะดินเผาเป็นชิ้นส่วน รวมทั้งกระดูกสัตว์และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ กระจัดกระจายคล้ายกองขยะ (ภาพวาดจากจินตนาการของจิตรกรโครงการบ้านเชียง มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา)

(1.) ภาพชนะดินเผาใส่กระดูกคนตายเป็นต้นแบบโกศ (2.) การเก็บกระดูกคนตาย เป็นต้นแบบเก็บอัฐิไว้ในบ้านและในวัด (หลังรับพุทธศาสนา) อินเดียไม่มีเก็บอัฐิ (3.) “พิธีบังสุกุล” อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนเจ้าของอัฐิที่เชิญมาในวันสงกรานต์ มีต้นตอจากศาสนาผี

เครื่องมือเครื่องใช้ถูกฝังรวม หมายถึงของมีค่าและเครื่องมือเครื่องใช้ถูกฝังรวมกระดูกในภาชนะที่ฝังใต้ “เฮือนแฮ่ว” เช่น เครื่องรางหรือเครื่องประดับ, ของใช้ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ

เพราะเชื่อว่า “คนตาย ขวัญไม่ตาย” จะถูกเรียกผีหรือผีขวัญ มีชีวิตปกติเหมือนเมื่อยังไม่ตาย แต่อยู่ในโลกต่างมิติ “จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น”

“เฮือนแฮ่ว” หมายถึง เรือนเสาสูงขนาดย่อส่วนจำลองเรือนจริงที่ปลูกคร่อมหลุมฝังศพครั้งที่ 2 เพื่อให้ผีขวัญหัวหน้าเผ่าพันธุ์ใช้งาน “เฮือนแฮ่ว” เหมือนเรือนจริงเมื่อมีชีวิต (ปัจจุบันยังมีในกลุ่มผู้ไทที่เวียดนามและบางกลุ่มในอีสาน)

“เฮือนแฮ่ว” แปลว่า เรือนของคนตาย (เฮือน ตรงกับ เรือน, แฮ่ว เป็นคำกลายจาก “เรี้ยว” หมายถึงคนตาย) ที่ตั้งของ “เฮือนแฮ่ว” เรียกป่าแฮ่ว หรือป่าเฮ่ว, ป่าเห้ว (กลายคำจากป่าเรี้ยว ทางภาคใต้เรียกเปลว)

ที่อยู่ของคนตายในภาคกลาง เรียกป่าช้า คำว่า “ช้า” เป็นคำลาว แปลว่า คนตาย, ซากศพ (บางทีเรียกขอนช้า)



หลุมฝังศพตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว บ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด (ภาพของกรมศิลปากร)’


ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกแบบต่างๆ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ขุดพบบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ (ลายเส้นของกรมศิลปากร) และเป็นต้นแบบของโกศสมัยหลัง สืบจนปัจจุบัน

บริเวณลานกลางบ้าน พื้นที่ฝังศพครั้งที่ 2 อยู่ใต้ “เฮือนแฮ่ว” จึงมีของมีค่าและเครื่องมือเครื่องใช้หลากหลายพร้อมเศษอาหารคล้าย “กองขยะ” อยู่ทั่วไป ดังนี้

(1.) ในหลุมศพหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ฝังของมีค่าและเครื่องมือเครื่องใช้จำนวนมากและหลากหลาย

(2.) หลุมฝังศพหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ถัดไปเป็นพื้นที่ฝังศพหัวหน้าเผ่าพันธุ์คนก่อนๆ อีกหลายคน จึงมีอีกหลายหลุมศพชนชั้นนำอยู่เรียงราย รวมแล้วเป็นพื้นที่ “เฮี้ยน” อย่างยิ่ง และมีเครื่องมือเครื่องใช้รวมทั้งเศษอาหาร ฯลฯ เซ่นผีบรรพชนทับซ้อนไม่ขาดสาย



โกศยุคปัจจุบัน และพระลองหุ้มประกอบพระโกศ (อยู่ข้างใน)


โกศใส่ศพไม่พบในอินเดีย เพราะมีต้นตอจากศาสนาผีพื้นเมืองหลายพันปีมาแล้ว (ในภาพ) พระปิ่นเกล้าฯ พระบรมศพนั่งงอเข่าอยู่ในพระโกศ หลังเสด็จสวรรคต พ.ศ.2409 (ค.ศ.1866) [ลายเส้นจำลองตามจินตนาการของเคาน์โบวัว ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมากรุงเทพฯ เมื่อมกราคม พ.ศ.2409 (ค.ศ.1866)] (ได้จาก ไกรฤกษ์ นานา)

(3.) ลานกลางบ้านมีพิธีกรรมตลอดปี จึงมีเครื่องใช้ไม้สอยและเศษอาหารสารพัดเป็น “ขยะ” อยู่บนพื้นที่บริเวณกว้าง เพราะเป็นศูนย์กลางชุมชน มีคนเข้าร่วมจำนวนมากทำกิจกรรมเลี้ยงผีครั้งละหลายวันต่อเนื่องกัน บางกิจกรรมนานเป็นเดือน

ใต้ “เฮือนแฮ่ว” ไม่ใช่ใต้ถุนเรือน เนื่องจาก “เฮือนแฮ่ว” เป็นเรือนเสาสูงเลียนแบบเรือนจริงสำหรับปลูกคร่อมหลุมศพ อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าฝังศพใต้ถุนเรือนจริง



ผีขวัญใน “เฮือนแฮ่ว” เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว [ภาพสลักบนหน้ากลองทองสําริด (มโหระทึก) พบที่เมืองดงซอน เวียดนาม]


เฮือนแฮ่ว ปลูกคร่อมหลุมฝังศพ เป็นเรือนเสาสูงมีสี่เสา ขนาดย่อส่วนเรือนจริง มีเสาประดับเครื่องรางหรือเครื่องเซ่นคล้าย “เสาชูโคมฟ้า” ในตำนานของผู้ไทในเวียดนาม

ฝังศพไว้ใต้ถุนเรือนโดยไม่ใส่โลงศพ ชุมชนบางแห่งฝังศพทับซ้อนบริเวณเดียวกันเพราะอยู่สืบต่อกันมานานหลายชั่วคน พบคำอธิบายอยู่ในเอกสาร 2 ชุด ได้แก่ (1.) สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของ ชิน อยู่ดี (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510) และ (2.) รายงานการขุดค้นที่บ้านเชียง (จ.อุดรธานี) ของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา มีลายเส้นประกอบเป็นรูปโครงกระดูกฝังใต้ถุนเรือน มีสิ่งของเครื่องใช้และเศษอาหารเหมือน “ขยะ” ฝังรวมกับโครงกระดูก •





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 ธันวาคม 2565
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_629827
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ