ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เพลงเชิญผีสัตว์ในหน้าสงกรานต์ เครื่องมือสื่อสารของมนุษย์ถึงเทวดา  (อ่าน 318 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

การเข้าผีลิงลม ขณะคนทรงนั่งบนครกตำข้าว ราว พ.ศ. ๒๕๔๓ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี (ภาพจาก ปรานี วงษ์เทศ. “ประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม เพื่อความอยู่รอดของคน”. สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๘)


เพลงเชิญผีสัตว์ในหน้าสงกรานต์ เครื่องมือสื่อสารของมนุษย์ถึงเทวดา

เมื่อ “สงกรานต์” ในวัฒนธรรมไทยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นวันแห่งการรดน้ำ สาดน้ำแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ได้เพิ่มหน้าที่ของการเป็น “วันขึ้นปีใหม่” แทนที่วันปีใหม่เดิมในเดือนอ้าย เหตุนี้สงกรานต์จึงเป็น “ต้นปี” หรือ “หัวปี” ที่ต้องมีการทำพิธีเพื่อให้เกิดสิริมงคลต่างๆ รวมถึงการพยากรณ์ประจำปี เพื่อนำไปสู่การวางแผนเพื่อรับมือกับสิ่งที่ต้องประสบในอนาคต

พิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ผู้คนในภาคกลาง ทั้งคนไทยและคนกลุ่มอื่นๆ ในภาคกลาง นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์คือ “การเล่นเข้าผี” หรือ “การเล่นเชิญผี” เป็นการละเล่นกึ่งพิธีกรรมที่มุ่งให้เกิดความสนุกสนาน ขณะเดียวกันก็มีการสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติควบคู่กันไป บทร้องมักเป็นรหัสที่ยากจะเข้าใจ ในบรรดาผีที่เชิญมาลงทรงนั้น มีทั้งผีคน (แม่ศรี) ผีข้าวของเครื่องใช้ (ผีลอบ ผีไซ ผีครก ผีสาก) และผีสัตว์ (ผีลิงลม ผีนางควาย ผีนางช้าง) โดยเฉพาะผีสัตว์นี้มีความน่าสนใจในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ เพื่ออธิบายความคิดเรื่องการเข้าทรงข้ามสายพันธุ์ ซึ่งในบทความนี้จึงจะได้เน้นศึกษาเฉพาะพิธีและเพลงเชิญผีสัตว์ในเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น

เมื่อ “(ผี) สัตว์กลายเป็นคน” : ร่องรอยความคิดเรื่องมนุษย์กำเนิดจากสัตว์

ผู้คนในดินแดนแถบอุษาคเนย์มีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์มาแต่สังคมบรรพกาล มีตำนานและนิทานหลายเรื่องที่เล่าว่า มนุษย์มีกำเนิดมาจากสัตว์ เช่น ตำนานน้ำเต้าปุง กล่าวถึงแถนให้ควายลงมาแก่โลก ต่อมาควายก็ตาย แล้วเกิดเครือหมากน้ำเต้าออกมาจากรูจมูกควาย มีผู้คนมากมายเกิดออกมาจากผลน้ำเต้านั้น หรือในตำนานพระพุทธศาสนาพื้นบ้าน เรื่องพญากาเผือก กล่าวถึงพญากาเผือกออกไข่ ๕ ฟอง

ภายหลังฟักออกมาเป็นมนุษย์ ต่อมาเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ในตำนานพระนอนจักรสีห์ สิงหพาหุ ผู้สร้างพระนอนจักรสีห์มีบิดาเป็นสิงห์ ขณะเดียวกันมีตำนานและนิทานที่กล่าวถึงมนุษย์ออกลูกเป็นสัตว์เช่นกัน เช่น เรื่องกำพร้าหมาดำ กล่าวถึงหมาตัวหนึ่งออกลูกมาเป็นหญิง ๓ คน เรื่องนังอ้น กล่าวถึงนางสุชาดาชายาพระอินทร์กลับชาติมาเกิดเป็นตัวอ้น และออกลูกมาเป็นคน

หรือเรื่องหมาขนคำ กล่าวถึงหมาขนคำออกลูกมาเป็นเด็กแฝด ซึ่งในทางมานุษยวิทยามีการศึกษาแนวคิดที่เรียกว่า Totemism คือ สัญลักษณ์เกี่ยวกับบรรพบุรุษ โดยมากเป็นสัตว์ ซึ่งในบางกลุ่มจะห้ามฆ่าสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของบรรพบุรุษ เช่น ชาวโอจิบวา (Ojibwa) ในอเมริกา ห้ามฆ่าหมี เนื่องจากหมีเป็นสัญลักษณ์บรรพบุรุษ ชาวโอจิบวาจึงไม่กิน และไม่ฆ่าหมี


การเข้าผีลิงลม ขณะคนทรงนั่งบนครกตำข้าว ราว พ.ศ. ๒๕๔๓ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี (ภาพจาก ปรานี วงษ์เทศ. “ประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม เพื่อความอยู่รอดของคน”. สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๘)

ในคติพระพุทธศาสนาในสังคมไทยยังปรากฏความคิดเรื่อง “คนเคยเกิดเป็นสัตว์” และ “สัตว์มาเกิดเป็นคน” ดังปรากฏในชาดกและคำสอนต่างๆ เช่น ฉัททันตชาดก กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพญาช้าง มหาโมรชาดก กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพญานกยูง หรือในคัมภีร์พระอนาคตวงศ์ กล่าวถึงช้างนาฬาคิรี ในพุทธประวัติ ได้รับการพยากรณ์ว่าจะเกิดเป็นพระอนาคตพุทธเจ้าในภายภาคหน้า คือพระติสสสัมพุทธเจ้า ในไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงการตายจากคนไปเป็นสัตว์เดียรัจฉาน

นอกจากนี้ในนิทานหลายเรื่องกล่าวถึง “การรู้ภาษาสัตว์” ของคน และ “การรู้ภาษาคน” ของสัตว์ ดังเช่นในตำนานสงกรานต์ กล่าวถึงธรรมบาลกุมาร ที่มีสติปัญญารู้ภาษานก และแอบฟังนกแก้ปริศนา จนนำปริศนานั้นไปตอบกบิลพรหม สุดท้ายกบิลพรหมต้องตัดเศียรของตนและให้นางสงกรานต์ทั้ง ๗ นาง ซึ่งเป็นธิดา เชิญออกมาเป็นประจำทุกปี

ข้อมูลเชิงวัฒนธรรมดังยกมาข้างต้นไม่ใช่เรื่องไร้สาระที่ควรมองข้าม และปฏิเสธว่าไม่ใช่เรื่องจริง หากแต่ข้อมูลดังกล่าวเป็น “ชุดความจริง” อีกชุดหนึ่งที่เป็นหลักฐานทางความคิดของมนุษย์ และทำให้เห็นว่าแม้มนุษย์จะมองว่าตนเป็น “ผู้เหนือกว่า” สัตว์ หากแต่ยังมีความคิดอีกชุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เท่ากับสัตว์ หรือชุดความคิดที่ว่าสัตว์ก็สามารถเป็น “ผู้เหนือกว่า” มนุษย์ได้เช่นกัน ทั้งยังทำให้เห็นมุมมองที่มนุษย์มองตัวเองและสัตว์ในฐานะที่ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติด้วยกัน

การเล่นเชิญผีสัตว์ : พื้นที่ของ (ผี) สัตว์ในพิธีกรรมของมนุษย์

การเล่นเชิญผีสัตว์เป็นการละเล่นที่สร้างความสนุกสนานให้แก่ชาวบ้านในภาคกลางเป็นอย่างมาก ชาวบ้านนิยมเล่นในตอนกลางคืนหรือบางแห่งก็เล่นตอนเย็น หลังจากกินข้าวเย็นแล้วก็จะนัดหมายให้ไปรวมกันที่ลานบ้านแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วเลือกคนที่จะเป็นคนทรง ซึ่งจะหาคนที่ใจอ่อนหรือเคยเข้าทรงมาแล้ว บางแห่งนิยมใช้หญิงพรหมจรรย์ การเล่นเชิญผีสัตว์ในภาคกลาง ปรากฏผีสัตว์ ๖ ชนิด ได้แก่

๑. ลิงลม สถานที่พบการเล่น คือ จังหวัดลพบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ระยอง

๒. อึ่งอ่าง สถานที่พบการเล่น คือ จังหวัดชลบุรี ตราด

๓. ควาย สถานที่พบการเล่น คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตราด

๔. ช้าง สถานที่พบการเล่น คือ จังหวัดลพบุรี พิษณุโลก ตราด

๕. ปลา สถานที่พบการเล่น คือ จังหวัดลพบุรี

๖. จระเข้  สถานที่พบการเล่น คือ จังหวัดตราด

บรรดาสัตว์ที่เชิญลงมาทรงในช่วงสงกรานต์นั้น จะเห็นได้ว่าแบ่งได้เป็น สัตว์ในตำนาน ได้แก่ ลิงลม หงส์ สัตว์ใช้แรงงาน ได้แก่ ควาย ช้าง และสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำหรือฝน ได้แก่ อึ่งอ่าง ปลา จระเข้ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งสัตว์จริง และสัตว์ในตำนานที่อยู่ในรูปของงานศิลปกรรมและลายสักยันต์ต่างๆ อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ เฉพาะผีลิงลมเท่านั้นที่ใช้ชายเป็นผู้ทรง ส่วนผีสัตว์อื่นๆ รวมถึงผีภาชนะเครื่องใช้ ผีแม่ศรี ล้วนใช้ผีผู้หญิงทั้งสิ้น





ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2561
ผู้เขียน   : อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ.2564
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 14 เมษายน พ.ศ.2561
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/culture/article_16818
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 13, 2021, 07:27:39 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ