ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ประมวลสมาธิ | ปุจฉา-วิสัชชนา 7 ข้อ | สมาธิ 50 ประเภท  (อ่าน 617 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ประมวลสมาธิทั้งสิ้น | ปุจฉา-วิสัชชนา 7 ข้อ | สมาธิ 50 ประเภท

เป็นความจริงว่า ในทางโลกทุกวิชาการควรเรียนรู้จากผู้รอบรู้และเชี่ยวชาญ ในทางธรรมก็ควรเรียนจากพระสัมมาสัมพุธเจ้าผู้เป็นพระสัพพัญญู ที่รอบรู้เชี่ยวชาญสัพพสิ่ง แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า เป็นผู้ต้นรู้(ค้นพบเป็นคนแรก) เป็นผู้ตรัสรู้เอง(สัมมาสัมโพธิ) ก็ด้วยความสามารถที่ตั้งประเด็นถามตอบที่ประกอบชอบด้วยเหตุผล(ยุติ) และหลักฐานที่มาที่ไป(อาคม)

ตัวอย่าง เช่น เรื่องสมาธิ ทรงตั้งประเด็นเป็นปัญหาถามตอบ เพื่อความรอบรู้และความเชี่ยวชาญ ได้รอบด้าน ดังนี้

1. อะไรคือ สมาธิ
คือ ภาวะที่กุศลจิตมีอารมณ์แนบแน่นในอารมณ์เดียวไม่มีโทษมีวิบากเป็นสุข(สงบสุขไม่ดิ้นพล่าน)

2. ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่าอะไร
เพราะมีอรรถว่า สมาธานะ คือ ภาวะที่จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวได้ต่อเนื่อง(ไม่ซัดซ่าย)

3. อะไรเป็นลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานของสมาธิ
คือ คำถามถึงลักษณะเฉพาะที่มีประจำในสมาธิ(เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า ธรรมนี้ คือสมาธิ) มีหน้าตา ดังนี้
– มีความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นลักษณะ
– มีการกำจัดความฟุ้งซ่าน เป็นกิจ(รส)
– มีความไม่หวั่นไหว เป็นผลปรากฏ(ปัจจุปัฏฐาน)
– มีความสุขที่ปราศจากอามิส(กาม) เป็นเหตุใกล้(ปทัฏฐาน)

4. สมาธิมีกี่ประเภท
คือ คำถามถึงการจำแนกสมาธิเป็นประเภทต่างๆ

5. สมาธิมีอะไรเป็นความมัวหมอง มีอะไรเป็นความผ่องแผ้ว

มีหานภาคิยธรรม(ธรรมที่พัวพันกับความเสื่อม)เป็นความมัวหมอง มีวิเสสภาคิยธรรม(ธรรมที่พัวพันกับคุณวิเศษ)เป็นความผ่องแผ้ว

6. สมาธิพึงเจริญอย่างไร
คือ คำถามถึงการเจริญกรรมฐาน 40 โดยอาการ 10 มี
    - โดยการแสดงไขด้วยการนับจำนวน เป็น 7 หมวด 40 ประเภท
    - โดยเป็นกรรมฐาน ที่นำมาซึ่งอุปจารฌาน และอัปปนาฌาน
    - โดยประเภทแห่งฌาน
    - โดยการก้าวล่วง
    - โดยเป็นกรรมฐานที่ควรขยาย และไม่ควรขยาย
    - โดยอารมณ์
    - โดยภูมิ
    - โดยการถือเอา
    - โดยปัจจัย
    - โดยเป็นกรรมฐานที่อนุกูลต่อจริยา

7. การเจริญสมาธิ มีอะไรเป็นอานิสงส์ มี 5 อย่าง คือ
    - ทิฏฐธรรมสุขวิหาร
    - วิปัสสนา
    - อภิญญา
    - ภพวิเศษ
    - นิโรธ


@@@@@@@

ข้อมูลที่ตั้งเป็นประเด็นถามตอบ(ปุจฉาวิสัชชนา)ทั้ง 7 หัวข้อนี่แหละ ที่ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจสมาธิได้ทุกแง่ทุกมุมอย่างรอบด้าน แม้นจะเลือกศึกษาเฉพาะการประมวลสมาธิทั้งสิ้น ก็เพียงแค่อาศัย หัวข้อที่ 3 กับหัวข้อที่ 4 ท่านก็จะเข้าใจได้ตามคันลองที่พระตถาคตผู้เป็นพระสัพพัญญูประทานไว้ให้ และที่พระเถระผู้สือทอด มี พระอรรถกถาจารย์ พระฏีกาจารย์ และพระนิสสยาจารย์ เป็นต้น รักษาไว้ พร้อมทั้งรู้เหตุผลที่เป็นไปครบรอบด้าน ดังนี้
     
1. เอกกะ สมาธิหมวดเดียว มีได้ 1 หมวด
เพราะลักษณะที่เป็นหน้าตาบ่งบอกความเป็นสมาธิ มีได้เพียงหนึ่งเดียว

2. ทุกะ สมาธิหมวดสอง มีได้ 4 หมวด คือ

– ทุกะ ที่ 1 อาศัยความแนบแน่นในอารมณ์เดียวจำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ
     1. อุปจารฌาน สมาธิที่มีความแนบแน่นใกล้ฌาน(นิวรณ์ยังเกิดแทรกได้)
     2. อัปปนาฌาน สมาธิที่มีความแนบแน่นหนักแน่นแล้ว(นิวรณ์เกิดแทรกไม่ได้)

– ทุกะ ที่ 2 อาศัยวัฏฏะ(โลก) จำแนก มี ได้ 2 ประเภท คือ
     1. โลกิยสมาธิ สมาธิที่เป็นไปเพื่อวัฏฏะ คือในโลกอยู่
     2. โลกุตตรสมาธิ สมาธิที่เป็นไปเพื่อวิวัฏฏะ คือ หลุดพ้นโลก

– ทุกะ ที่ 3 อาศัยปิติจำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ
     1. สมาธิที่สัมปยุตกับปิติ ได้แก่ สมาธิในฌานที่ 1(จตุกนัย) สมาธิในฌานที่ 1 ที่ 2 (ปัญจกนัย)
     2. สมาธิที่วิปปุตกับปิติ ได้แก่ สมาธิในฌานที่ 2 ที่ 3 ที่ 4(จตุกนัย) สมาธืในฌานที่ 3 ที่ 4 ที่ 5(ปัญจกนัย)

– ทุกะ ที่ 4 อาศัยเวทนาจำแนก มีได้ 2 ประเภท คือ
     1. สมาธิที่สัมปยุตกับสุขเวทนา ได้แก่ สมาธิในฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 (จตุกนัย) สมาธืในฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 (ปัญจกนัย)
     2. สมาธิที่สัมปยุตกับอุเบกขาเวทนา ได้แก่ สมาธิในฌานที่ 4 (จตุกนัย) สมาธิในฌานที่ 5 (ปัญจกนัย)
   
3. ติกะ สมาธิหมวดสาม มีได้ 4 หมวด คือ

– ติกะ ที่ 1 อาศัยกำลังของสมาธิในฌานที่ได้จำแนก มีได้ 3 ประเภท คือ
    1. สมาธิอย่างเลว คือ สมาธิสักแต่ว่าได้มา ยังไม่เสพคุ้น กำลังจึงอ่อนแอ
    2. สมาธิอย่างกลาง คือสมาธิที่เสพคุ้นพอประมาณ แต่ยังไม่ได้วสี(ความชำนาญ) กำลังจึงพอประมาณ
    3. สมาธิอย่างปราณีต คือสมาธิที่ทั้งการเสพทั้งวสีถึงความเต็มที่(บริบูรณ์)แล้ว กำลังจึงปราณีต

– ติกะ ที่ 2 อาศัยองค์ฌานที่ใกล้ชิดต่อกาม คือ วิตก วืจาร จำแนก มีได้ 3 ประเภท คือ
    1. สมาธิที่มีทั้งวิตกวิจาร คือ สมาธิ คือสมาธิในปฐมฌาน กับในอุปจารฌาน(จตุกนัย)
    2. สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร คือสมาธิในทุติยฌาน (ปัญจกนัย)
    3. สมาธิที่ไม่มีทั้งวิตก ไม่มีทั่งวิจาร คือ สมาธิในทุติยฌาน ตติยฌาน จตุกฌาน (จตุกนัย) และในตติยฌาน จตุกฌาน ปัญจกฌาน (ปัญจกนัย)

– ติกะ ที่ 3 อาศัยการสัมปยุตกับองค์ฌานที่เป็นฝ่ายชื่นชอบ มี ปิติ(ความปลื้มใจ) สุข(ความสุขใจ) และอุเบกขา(ความสบายใจ) มีได้ 3 ประเภท คือ
    1. สมาธิที่สัมปยุตกับปิติ คือ สมาธิในปฐมฌาน(จตุกนัย) และในปฐมฌาน ทุติยฌาน(ปัญจกนัย)
    2. สมาธิที่สัมปยุตกับสุข คือสมาธิในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน(จตุกนัย) และในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุกฌาน(ปัญจกนัย)
    3. สมาธิที่สัมปยุตกับอุเบกขา คือ สมาธิในจตุกฌาน(จตุกนัย) และในปัญจมฌาน(ปัญจกนัย)

– ติกะ ที่ 4 อาศัยระดับชั้น(ภูมิ)จำแนก มีได้ 3 ประเภท คือ
    1. สมาธิที่เป็นปริตตะมีอานุภาพน้อย(ปริตตสมาธิ) คือ สมาธิในอุปจารภูมิ(กามาวจรภูมิ)
    2. สมาธิที่เป็นมหัคคตะ มีอานุภาพมากกว่า(มหัคคตสมาธิ(มหัคคตสมาธิ) คือสมาธิในรูปาวจรกุศล และในอรูปาวจรกุศล ซึ่งจัดอยู่ในชั้น(ภมูิ) มหัคคตภูมิ นั่นเอง
    3. สมาธิที่เป็นอัปปมาณะ มีอานุภาพหาประมาณไม่ได้ คือ สมาธิในอริยมรรค ซึ่งตามกิจแห่งอริยมรรคก็เป็นโลกุตตรภูมินั้นนั่นแหละ

4. จตุกะ สมาธิหมวดที่สี่
มีได้ 6 หมวด คือ

– จตุกะ ที่ 1 อาศัยการปฏิบัติ(ปฏิปทา)ที่ลำบากที่สะดวก และการบรรลุฌาน ที่ช้าที่เร็วคละกัน มีได้ 4 ประเภท คือ
    1. ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา คือ สมาธิที่ปฏิบัติลำบากบรรลุฌานได้ช้า
    2. ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา คือ สมาธิที่ปฏิบัติลำบากบรรลุฌานได้เร็ว
    3. สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา คือ สมาธิที่ปฏิบัติสะดวกบรรลุฌานได้ช้า
    4. สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา คือ สมาธิที่ปฏิบัติสะดวกบรรลุฌานได้เร็ว
อภิญญา ในที่นี้แปลว่า บรรลุ มีหลักในคัมภีร์ธาตุ เช่นคัมภีร์ธาตวัตถสังคหะ คาถาที่ 19 กล่าวไว้ว่า เย คตฺยตฺถา เต พุทฺธฺยตฺถา ปวตฺติปาปุณตฺกถา แปลว่า ธาตุเหล่าใดมีอรรถว่าไป ธาตุเหล่านั้นมีอรรถว่ารู้ มีอรรถว่าถึง(บรรลุ) มีอรรถว่าเป็นไป

– จตุกะ ที่ 2 อาศัยอานุภาพของฌานที่น้อยที่มาก กับอารมณ์ของฌานที่ยังไม่ได้ขยายที่ขยายแล้ว คละกัน มีได้ 4 ประเภท คือ
    1. ปริตตปริตตารัมมณะ คือ สมาธิที่มีอานุภาพน้อยอารมณ์ยังไม่ได้ขยาย
    2. ปริตตอัปปมาณารัมมณะ คือ สมาธิที่มีอานุภาพน้อย อารมณ์ขยายแล้ว
    3. อัปปมาณปริตตารัมมณะ คือ สมาธิที่มีอานุภาพมาก อารมณ์ยังไม่ขยาย
    4. อัปปมาณอัปปมาณารัมมณะ คือ สมาธิที่มีอานุภาพมาก อารมณ์ขยายแล้ว
       คำว่า มีอานุภาพน้อย(ปริตตะ) เพราะยังไม่ได้วสี(ความชำนาญ)
       คำว่า มีอานุภาพมาก เพราะเป็นปัจจัยให้ฌานที่สูงขึ้นเกิดขึ้นได่

– จตุกะ ที่ 3 อาศัยองค์ฌานที่บ่งบอกสถานภาพของฌานจำแนก มีได้ 4 ประเภท คือ
    1. สมาธิในปฐมฌานที่มีองค์ฌาน 5 ครบ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา ฌานจึงข่มนิวรณ์ได้
    2. สมาธิในทุติยฌานที่มีองค์ฌาน 3 คือ ปิติ สุข เอกัคคตา เพราะละ วิตก วิจาร ที่เป็นองค์ใกล้ต่อกาม ฌานจึงห่างไกลจากกามได้
    3. สมาธิในตติยฌานที่มีองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา เพราะละปิติที่เป็นองค์ทำให้หวั่นไหวจากการแผ่ซ่านจิตตชรูปทั่วกาย ฌานจึงนิ่งไม่หวั่นไหว
    4. สมาธิในจุตถฌานที่มีองค์ 2 คือ อุเบกขา เอกัคคตา เพราะเปลี่ยนเวทนาเป็นอุเบกขาได้ ฌานจึงสงบนิ่งเฉยได้

– จตุกะ ที่ 4 อาศัยการมีส่วนพัวพันจำแนก มีได้ 4 ประเภท คือ
    1. หานภาคิยะ คือ สมาธิที่มีส่วนเสื่อม เพราะพัวพันกับธรรมที่เป็นปฏิปักษ์
    2. ฐิติภาคิยะ คือ สมาธิที่มีส่วนดำรงอยู่ได้ เพราะพัวพันกับสตืที่กำหนดรู้สัมปชัญญะเนืองๆ
    3. วิเสสภาคิยะ คือ สมาธิที่มีส่วนบรรลุฌานที่สูงขึ้น เพราะพัวพันกับคุณวิเศษ
    4. นิพเพธภาคิยะ คือ สมาธิที่มีส่วนแทงตลอดอริยสัจจะ 4 เพราะพัวพันกับความน่าเบื่อหน่ายสังขารธรรมด้วยความตระหนัก(สัญญา) และความใส่ใจ(มนสิการ)เนืองๆ

– จตุกะ ที่ 5 อาศัยระดับชั้น(ภูมิ)จำแนก มีได้ 4 ประเภท คือ
    1. กามาวจรสมาธิ คือ สมาธิในกามาวจรกุศลจิต มีกุศลกรรมบถ 10 เป็นต้น และสมาธิระดับชั้นอุปจาระก่อนบรรลุฌานทุกระดับชั้นเพราะยังข่มนิวรณ์ไม่ได้เต็มที่(สมาธิในอกุศลจิต เช่น สมาธิยิงนกตกปลาเป็นต้นไม่นับรวมด้วยเพราะเป็นสมาธิที่ไม่พึงเจริญ)
    2. รูปาวจรสมาธิ คือ สมาธิในรูปาวจรกุศลจิต มีรูปฌาน 5 เป็นต้น
    3. อรูปาวจรสมาธิ คือ สมาธิในอรูปาวจรกุศลจิต มี อรูปฌาน 4 เป็นต้น
    4. อปริยาปันนสมาธิ คือ สมาธิที่ไม่นับเนื่องในภูมิ 3 (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) หมายถึงสมาธิในโลกุตตรภูมิ มี มรรคจิต 4 ผลจิต 4 เป็นต้น

– จตุกะ ที่ 6 อาศัย อธิบดี 4 จำแนก มีได้ 4 ประเภท คือ
    1. ฉันทสมาธิ คือ สมาธิที่สำเร็จด้วยฉันทะเป็นใหญ่
    2. วิริยสมาธิ คือ สมาธิที่สำเร็จด้วยวิริยะเป็นใหญ่
    3. จิตตสมาธิ คือ สมาธิที่สำเร็จด้วยจิตเป็นใหญ่
    4. วิมังสาสมาธิ คือ สมาธิที่สำเร็จด้วยปัญญาเป็นใหญ่

5. ปัญจกะ สมาธิหมวด 5 มีได้ 1 หมวด อาศัยการก้าวล่วงองค์ฌานได้จำแนก มีได้ 5 ประเภท (ตามศักยภาพของปัญจกนัยที่ละได้ทีละองค์ ซึ่งต่างกับจตุกนัยที่ทุติยฌานละได้ทั้งวิตกทั้งวิจารพร้อมกัน จึงเป็นที่มาแห่งนัยทั้งสอง คือ จตุกนัย(นัยฌานมี 4)และปัญจกนัย(นัยฌานมี 5)ที่บ่งบอกศักยภาพความสามารถในการเจริญฌานของบุคคลนั่นเอง) คือ

    1. ปฐมฌานสมาธิ คือ สมาธิในปฐมฌานภูมิ
    2. ทุติยฌานสมาธิ คือ สมาธิในทุติยฌานภูมิ
    3. ตติยฌานสมาธื คือ สมาธิในตติยฌานภูมิ
    4. จตุตถฌานสมาธิ คือ สมาธิในจตุตถฌานภูมิ
    5. ปัญจมฌานสมาธิ คือ สมาธิในปัญจมฌานภูมิ

@@@@@@@

สรุปรวมประเภทสมาธิ มี 50 ประเภทดังนี้
    เอกกะ มี 1 หมวด =1×1=1 ประเภท
    ทุกะ มี 4 หมวด = 2×4=8 ประเภท
    ติกะ มี 4 หมวด = 3×4=12 ประเภท
    จตุกะ มี 6 หมวด = 4×6=24 ประเภท
    ปัญจกะ มี 1 หมวด = 5×1= 5 ประเภท
    รวมทั้งหมด 50 ประเภท





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
URl : dhamma.serichon.us/2022/05/04/ประมวลสมาธิทั้งสิ้น/
Posted date : 4 พฤษภาคม 2022 ,By admin.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 09, 2022, 07:50:40 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ