เรื่องทั่วไป > ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน)

พรหม ที่ปรากฏใน พระไตรปิฏก มีกี่พรหม คะ

<< < (2/2)

raponsan:
อ้างจาก: sunee ที่ พฤศจิกายน 22, 2011, 06:37:30 pm>>>>อยากทราบ พรหม ที่ปรากฏในพระไตรปิฏก มีกี่พรหม และ กี่ประเภท คะ
พรหม เหล่านี้ได้บรรลุ เป็นพระอริยะบุคคลด้วยหรือไม่ คะ

  :c017: :25: :88: :58:
<<<<
พรหม ผู้ประเสริฐ,
       เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี ๒ พวก คือ
           รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น
           อรูปพรหมมี ๔ ชั้น;
       ดู พรหมโลก;
       เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

พรหมโลก ที่อยู่ของพรหม
       ตามปกติหมายถึง รูปพรหม ซึ่งมี ๑๖ ชั้น (เรียกว่า รูปโลก) ตามลำดับดังนี้
           ๑. พรหมปาริสัชชา
           ๒. พรหมปุโรหิตา
           ๓. มหาพรหมา
           ๔. ปริตตาภา
           ๕. อัปปมาณาภา
           ๖. อาภัสสรา
           ๗. ปริตตสุภา
           ๘. อัปปมาณสุภา
           ๙. สุภกิณหา
           ๑๐. อสัญญีสัตตา
           ๑๑. เวหัปผลา
           ๑๒. อวิหา
           ๑๓. อตัปปา
           ๑๔. สุทัสสา
           ๑๕. สุทัสสี
           ๑๖. อกนิฏฐา;

       นอกจากนี้ยังมีอ อรูปพรหม ซึ่งแบ่งเป็น ๔ ชั้น (เรียกว่า อรูปโลก) คือ
           ๑. อากาสานัญจายตนะ
           ๒. วิญญาณัญจายตนะ
           ๓. อากิญจัญญายตนะ
           ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ

สุทธาวาส ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือ ที่เกิดของพระอนาคามี
       ได้แก่ พรหม ๕ ชั้นที่สูงสุดในขั้นรูปาวจร คือ  อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา

ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

        ขอให้คุณสุนีย์อ่านให้เข้าใจนะครับ โดยเฉพาะเรื่อง สุทธาวาสภูมิ ๕ เพราะภูมินี้เป็นที่อยู่ของอริยบุคคลในชั้นอนาคามีและอรหันต์ แต่ไม่ได้หมายความว่า แดนนิพพานจะอยู่ชั้นนี้นะครับ
        พรหมชั้นสุทธาวาสนี้มีอายุขัยที่แน่นอน อรหันต์ที่อยู่ชั้นนี้แค่เสวยผลกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น เมื่อสิ้นอายุขัยก็จะปรินิพพาน
         :49:
     

อัจฉริยะ:
พรหมพุทธแท้ที่สำคัญนี้  ขอแนะนำสามท่าน คือ

          ๑)  ฆฏิการพรหม

          พรหมท่านนี้  ก่อนที่จะมาเกิดเป็นพรหม ท่านเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ   มีชื่อว่า ฆฏิการะ เป็นคนวรรณะต่ำ  มีอาชีพปั้นหม้อ  ในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าของเรา บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีชื่อว่า  โชติปาละมาณพ

          ท่าน ฆฏิการะ ได้ฟังธรรมในสำนักของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ จนได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ไม่ได้ออกบวชเพราะต้องเลี้ยงดูบิดามารดา 

          ส่วนโชติปาละมาณพ ได้ออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้ากัสสปะ  ได้ บำเพ็ญสมณธรรมจนบรรลุวิปัสสนาญาณในขั้น "อนุโลมญาณ" แล้วจึงหยุด (เพราะผู้จะเป็นพระพุทธเจ้า จะไม่เป็นพระอริยสงฆ์สาวกในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง)  และเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก 

          เมื่อทั้งสองท่านได้กระทำกาละ (คือ ตาย) แล้ว  ฆฏิการมาณพ ก็ได้อุบัติในชั้นสุทธาวาสพรหมโลก  เป็นพรหมอนาคามี  (ส่วนโชติปาละมาณพ ในชาติสุดท้ายก็คือพระพุทธเจ้าของเรา)

          ในคราวที่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะเสด็จออกผนวช  ฆฏิการพรหมผู้นี้ ได้นำเอาบาตรและจีวรของบรรพชิตมาถวายแด่พระโพธิสัตว์   และได้นำผ้าภูษาที่พระโพธิสัตว์ทรงเปลื้องออก ไปบรรจุในเจดีย์ ประดิษฐานในพรหมโลก  มีชื่อว่า ทุสสะเจดีย์

          ขอเสริมเนื้อหาตรงนี้ว่า   ชื่อ ทุสสะเจดีย์ นี้ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลัง ในคัมภีร์ วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาแห่งขุททกนิกาย พุทธวงศ์  ไม่ปรากฏชื่อเจดีย์นี้  แต่ได้กล่าวว่า ฆฏิการพรหม ได้นำผ้าทรงของพระโพธิสัตว์ ไปที่พรหมโลก แล้วสร้างเจดีย์ที่สำเร็จด้วยรัตนะ  ขนาด ๑๒ โยชน์ขึ้น   แล้วนำผ้านั้นประดิษฐานในเจดีย์     

          ดังนั้น คำว่า ทุสสะเจดีย์ จึงเป็นคำที่เรียกขึ้นในภายหลัง  ตามลักษณะของเจดีย์ในพรหมโลก ที่ประดิษฐานผ้าทรงของพระโพธิสัตว์นั่นเอง (ทุสสะเจดีย์ แปลว่า เจดีย์ที่บรรจุผ้า)

          เรื่องของฆฏิการพรหมนี้  ปรากฏในฆฏิการสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อที่ ๔๐๓


       ๒) สหัมบดีพรหม

          พระพรหมท่านนี้ ก็เป็นพรหมอนาคามี และเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนามาก  บ่อยครั้งที่ท่านจะมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  ตามที่เราทราบกันดีว่า ท่านเป็นผู้ที่มาทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม  แต่มีพระสูตรหนึ่ง ในสังยุตตนิกาย ที่ผู้เขียนอ่านแล้วรู้สึกประทับใจ คือ สหัมบดีพรหม  ได้ มาแก้ทิฏฐิของนางพราหมณีคนหนึ่ง ที่ชอบบูชาพระพรหมด้วยอาหารต่างๆ ให้เลิกเสีย แล้วหันมาถวายทานแด่พระอรหันต์ผู้เป็นยิ่งกว่าพรหม ดังปรากฏใน พรหมเทวสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อที่  ๕๖๓

          เนื้อหาย่อ ๆ ก็มีอยู่ว่า นางพราหมณีคนหนึ่ง มีบุตรชื่อว่า พรหมเทวะ  ได้ออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า ได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์  ส่วนนางพราหมณีผู้เป็นแม่ ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เคยทำบุญใส่บาตรกับพระภิกษุสงฆ์ แต่ชอบทำพิธีถวายอาหารแด่พระพรหมอยู่เสมอ

          ครั้งหนึ่ง พระพรหมเทวะ เที่ยวบิณฑบาตในเวลาเช้า เข้ามาในเรือนของนางพราหมณีผู้เป็นมารดา  แต่นางพราหมณีก็ไม่ถวายแม้ข้าวสักกระบวยหนึ่ง มัวแต่วุ่นอยู่กับการทำพิธีถวายอาหารพระพรหม

          สหัมบดีพรหมเห็นเรื่องนี้แล้ว จึงคิดว่าจะทำให้นางเกิดความสังเวช ทำนองจะให้เห็นความไร้สาระของพิธีกรรมที่ทำอยู่         นางจะได้เลิกทิฏฐิผิด และหันมานับถือพระพุทธศาสนา  คิด ดังนั้น ท่านจึงได้หายตัวจากพรหมโลก มาปรากฏที่เบื้องหน้าของนางพราหมณี แล้วกล่าวกับนางพราหมณี ว่า.... (ขอยกเนื้อความมาจากพระไตรปิฎก)

 

          ดูก่อนนางพราหมณี    ท่านถือการบูชาด้วยก้อนข้าวแก่พรหมใด  มั่นคงเป็นนิตย์  พรหมโลกของพรหมนั้นอยู่ไกลจากที่นี้


          ดูก่อนนางพราหมณี  ภักษาของพรหม ไม่ใช่เช่นนี้  ท่านไม่รู้จักทางของพรหม  ทำไมจึงบ่นถึงพรหม.


          ดูก่อนนางพราหมณ์    ก็ท่านพระพรหมเทวะของท่านนั้น    เป็นผู้หมดอุปธิกิเลส  ถึงความเป็นอติเทพ  ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล  มีปกติขอ  ไม่เลี้ยงดูผู้อื่น


          ท่านพระพรหมเทวะที่เข้าสู่เรือนของท่าน เพื่อบิณฑบาต  เป็นผู้สมควรแก่บิณฑะที่บุคคลพึงนำมาบูชา  ถึงเวท มีตนอบรมแล้ว    สมควรแก่ทักษิณาทานของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย  ลอยบาปเสียแล้ว  อันตัณหาและทิฐิไม่ฉาบทาแล้ว  เป็นผู้เยือกเย็น  กำลังเที่ยวแสวงหาอาหารอยู่.


          อดีตอนาคตไม่มีแก่ท่านพระพรหมเทวะนั้น   ท่านพระพรทมเทวะเป็นผู้สงบระงับ    ปราศจากควัน    ไม่มีทุกข์     ไม่มีความหวัง  วางอาชญาในปุถุชนผู้ยังมีความหวาดหวั่นและในพระขีณาสพผู้มั่นคงแล้ว


          ขอท่านพระพรหมเทวะนั้นจงบริโภคบิณฑบาตอันเลิศที่สำหรับบูชาพรหมของท่าน.

 

          ท่านพระพรหมเทวะซึ่งเป็นผู้มีเสนามารไปปราศแล้ว   มีจิตสงบระงับ   ฝึกตนแล้ว  เที่ยวไปเหมือนช้างตัวประเสริฐ  ไม่หวั่นไหว  เป็นภิกษุมีศีลดี   มีจิตพ้นวิเศษแล้ว   ขอท่านพระพรหมเทวะนั้น   จงบริโภคบิณฑบาตอันเลิศที่สำหรับบูชาพรหมของท่าน.


          ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระพรหมเทวะนั้น      เป็นผู้ไม่หวั่นไหว  ตั้งทักษิณาไว้ในท่านผู้เป็นทักษิเณยยบุคคล


          ดูก่อนนางพราหมณี  ท่านเห็นมุนีผู้มีโอฆะอันข้ามแล้วจงทำบุญ    อันจะนำความสุขต่อไปมาให้.


          ท่านจงเป็นผู้เลื่อมใสในท่านพระพรหมเทวะนั้น เป็นผู้ไม่หวั่นไหว   ตั้งทักษิณาไว้ในท่านผู้เป็นทักษิเณยยบุคคล


          ดูก่อนนางพราหมณี  ท่านเห็นมุนีผู้มีโอฆะอันข้ามแล้ว    ได้ทำบุญอันจะนำความสุขต่อไปมาให้แล้ว.


ในอรรถกถาพรหมเทวสูตรได้กล่าวถึงความคิดของท่านสหัมบดีพรหมไว้อย่างน่าสนใจ ว่า

         

 

          "นางพราหมณีนั้น  ให้พระมหาขีณาสพผู้เป็นอัครทักขิไณยบุคคลเห็นปานนี้   นั่งแล้ว  มิได้ถวายอาหารแม้เพียงข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง   คิดว่า เราจักให้มหาพรหมบริโภค   ดุจทิ้งตาชั่งเสียแล้วใช้มือชั่ง    ดุจทิ้งกลองเสียแล้วประโคมท้อง   ดุจทิ้งไฟเสียแล้วเป่าหิ่งห้อย    เที่ยวทำพลีแก่ภูต   เราจักไปทำลายมิจฉาทิฏฐิของนาง  ยกนางขึ้นจากทางแห่งอบาย  จะกระทำโดยวิธีให้นางหว่านทรัพย์๘๐  โกฏิ  ลงในพระพุทธศาสนา  แล้วขึ้นสู่ทางสวรรค์."

 

 

          หมายความว่า ท่านสหัมบดีพรหม เห็นนางพราหมณีไม่ถวายอาหารแด่พระอรหันต์ขีณาสพผู้เป็นยอดแห่งทักขิเณยยบุคคล (ยอดแห่งผู้ควรรับถวายทาน)  แต่กลับไปสนใจแต่จะถวายอาหารแด่พระพรหม การทำอย่างนี้ เท่ากับทิ้งสิ่งมีประโยชน์ ไปคว้าเอาสิ่งไม่มีประโยชน์  เหมือนคนทิ้งตาชั่ง แล้วเอามือมาชั่งน้ำหนักแทน  เหมือน คนทิ้งกลอง แล้วเอามือตีท้อง หวังจะให้เกิดเสียงดังแทนกลอง เหมือนคนทิ้งคบเพลิง ทิ้งไฟ แล้วไปเป่าหิ่งห้อย หวังจะให้เกิดแสงสว่างแทนคบเพลิง

 

          หลังจากนั้นท่านสหัมบดีพรหมจึงได้ไปกล่าวกับนางพราหมณี  ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปก็คือ ท่านบอกว่า  การที่นางพราหมณีทำเช่นนี้ ไม่ถูกต้อง  เพราะพระพรหมทั้งหลายนั้นอยู่ห่างไกลจากโลก แล้วพระพรหมก็ไม่ได้กินอาหารอย่างที่นางกำลังทำเพื่อบูชาอยู่

 

          แล้วจึงบอกว่า ขอให้นางพราหมณีถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพรหมเทวะแทน จะดีกว่า เพราะพระพรหมเทวะนั้น  เป็นยอดแห่งพรหม เป็นผู้ไม่มีกิเลส เป็นผู้ถึงเวท คือบรรลุอริยสัจ ถึงที่สุดทุกข์แล้ว

 

 

 

          เมื่อ อ่านเรื่องท่านสหัมบดีพรหมได้มาให้สติแก่นางพราหมณีนี้ ทำให้น่าพิจารณาได้ว่า การที่มนุษย์ทั้งหลาย ไปมัวเที่ยวแสวงหา เที่ยวบูชาพระพรหมอยู่นั้น  นับว่าเป็นการทิ้งสิ่ง ที่เป็นประโยชน์ ไปคว้าเอาสิ่งไม่มีประโยชน์ เพราะสิ่งที่เหนือกว่าพรหม คือธรรมะ คือพระรัตนตรัยนั้น เป็นสิ่งยอดสุดอยู่แล้ว  คนกลับไม่สนใจ

          ท่านสหัมบดีพรหม ในฐานะที่เป็นพระพรหมองค์หนึ่ง จึงเหมือนกับมาเตือนว่า  พรหมทั้งหลายเขาไม่ได้กินอาหารที่คนบูชาอย่างนี้ แล้วผู้ที่เหนือกว่าพรหมทั้งหลายก็มีอยู่  คือพระอรหันต์ทั้งหลาย และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น นั่นเอง

         

 

          ๓) สนังกุมารพรหม

 

          ท่านสนังกุมารพรหมนี้  เป็นพระพรหมที่มีลักษณะแปลกกว่าพรหมองค์อื่น คือมีรูปลักษณะเป็นเด็ก ไว้ศีรษะเกล้าจุก ๕ จุก  เนื่องจากว่า ในสมัยโบราณนานไกล  สนังกุมารพรหม  แม้เมื่อสมัยเป็นเด็ก ไว้จุก ๕ จุก ก็ได้ปฏิบัติสมาธิจนได้ฌาน ได้บังเกิดยังพรหมโลก   

 

          คำว่า สนังกุมาร แปลว่า  เด็กโบราณ , เด็กเก่าแก่   ก็เพราะในสมัยก่อน ท่านเป็นเด็ก นั่นเอง

 

          ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานว่า สนังกุมารพรหมเป็นพระอนาคามีด้วยหรือไม่ แต่ที่แน่นอนก็คือ ท่านเป็นพรหมพุทธองค์หนึ่ง  เมื่อถึงวันอุโบสถ (วันพระ) ๑๕ ค่ำ  ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในสุธัมมาเทวสภา  พวกเทวดาจะมาฟังโอวาทธรรมจากพระอินทร์บ้าง จากเทวดาผู้เป็นปราชญ์ เป็นอริยบุคคลบ้าง   และสนังกุมารพรหม  ก็จะมาที่สุธัมมาเทวสภา  บางครั้งก็มากล่าวธรรมให้พวกเทวดาฟัง บางครั้งก็อนุโมทนาการแสดงธรรมของพระอินทร์ หรือของเทวดา เป็นต้น

 

          มี พระสูตรหนึ่ง ชื่อ สนังกุมารสูตร (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อที่ ๖๐๖)ได้กล่าวถึงสนังกุมารพรหม มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และกล่าวธรรมภาษิตบทหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ทรงพอพระทัยในพระธรรมภาษิตนั้น  (คือ ทรงเห็นด้วยกับธรรมภาษิตนั้น ว่ามีความถูกต้อง เข้ากันได้กับคำสอนของพระองค์) ธรรมภาษิตนั้น มีใจความว่า

 

 

                             ขตฺติโย เสฏฺโฐ ชเนตสฺมึ    เย โคตฺตปฏิสาริโน

                             วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน           โส เสฏฺโฐ เทวมานุเสติ ฯ

 

(แปลว่า)                           กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด   

                                      ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร

                                       แต่ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
                                       เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในเทวดาและมนุษย์.

ธรรมภาษิตนี้มีความหมายว่า   ในกลุ่มคนทั่วไป ที่ยังยึดติดกันเรื่องวรรณะ เรื่องโคตร คือชาติตระกูลนั้น  เขาก็จะยอมรับกันว่า กษัตริย์ก็เป็นผู้ประเสริฐที่สุด   แต่ถ้าใครก็ตาม ถึงพร้อมด้วยวิชชา คือความรู้ดี และจรณะ คือความประพฤติดี   (นี่คือความหมายในระดับล่างสุด เพราะความหมายในระดับสูง หมายถึงผู้ได้วิชชา ๘ และจรณะ ๑๕ อันเป็นองค์คุณของพระอรหันต์)  ย่อมประเสริฐที่สุด ในหมู่เทวดาและมนุษย์

 

          ธรรมภาษิตนี้ เป็นการยืนยันหลักการของพระพุทธศาสนาที่สำคัญ ก็คือ  พระพุทธศาสนา จะเน้นที่ศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีวิถีชีวิตที่ประเสริฐ  มากกว่าเหตุปัจจัยภายนอกเช่นชาติตระกูล หรือยศถาบรรดาศักดิ์     และยังบอกอีกด้วยว่า   ความเป็นกษัตริย์หรือคนวรรณะสูง  ก็เป็นที่ยกย่องกันเฉพาะในกลุ่มคนที่ยังติดเรื่องชาติชั้นวรรณะ  แต่ผู้ใด พัฒนาตนเองได้สูงสุด ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ แล้ว   เขาเป็นผู้ประเสริฐ ทั้งในหมู่ของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย   คือแม้เทวดา ก็ยังต้องเคารพบูชา

 

         

          พรหม ที่เป็นชาวพุทธยังมีอีกหลายท่าน ที่ยกมาแสดงนี้ก็เฉพาะท่านที่มีชื่อปรากฏบ่อยในพระไตรปิฎก และมีเนื้อหาที่น่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตาม   การที่นำเรื่องพรหมพุทธมาแสดงนี้  ผู้เขียนไม่ได้มีจุดประสงค์ให้ชาวพุทธ  หันไปอ้อนวอนเคารพบูชาท่านที่เป็นพรหมพุทธเหล่านี้ แทน ท้าวชปจร. แต่อย่างใด  แต่ให้เป็นข้อพิจารณาว่า   พรหมพุทธนั้น ท่านเป็นพระพรหม เป็นเทพประเภทที่คนเชื่อถือกันมากว่ายิ่งใหญ่  แต่ท่านเหล่านี้  ก็ไม่ได้ถือว่าตัวท่านยิ่งใหญ่พิเศษมากมายอะไร  ท่านก็ยังถือธรรมะเป็นสิ่งสูงสุด เคารพบูชาพระรัตนตรัย   ให้ความสำคัญกับพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า มากกว่าอย่างอื่น

 

          ข้อแตกต่างของพรหม(แบบ)พราหมณ์ กับพรหม (แบบ)พุทธ ก็คือ

         

พรหมพราหมณ์

          - มีการอ้อนวอนขอร้องให้ท่านช่วยบันดาลโน่นบันดาลนี่ (แต่ไม่ได้ปรากฏเป็นผลสำเร็จอะไร)

 

          - เชื่อว่าท่านยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นผู้คอยบังคับ ลิขิตควบคุมชีวิตมนุษย์  (ซึ่งก็ไม่จริงอีกเช่นเดียวกัน)

 

พรหมพุทธ

          - ไม่ต้องไปอ้อนวอนอะไร  เพราะท่านก็เป็นเพื่อนร่วมสังสารวัฏฏเหมือนกันกับเรา

 

          - ท่านให้ความสำคัญกับธรรมะ และยกธรรมะเหนือกว่าสิ่งอื่น  มนุษย์ที่ปฏิบัติตามธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เหมือนกับพระพรหม ไม่แตกต่างอะไรกันเลย

 

          - ถ้ามนุษย์มีความเห็นผิดจากหลักธรรม (เช่นกรณีมารดาพระพรหมเทวะ) ท่านจะลงมาช่วยชี้แนะแก้ไขให้ความเข้าใจธรรมะอย่างถูกต้อง

 

          ซึ่งแน่นอนว่า คุณลักษณะของพรหมพุทธ  เป็นคนละเรื่อง และแตกต่างอย่างยิ่งเลย กับท้าวชปจร. ที่ไม่สนใจธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า  มัวแต่วุ่นวายกับเรื่องพิธีการ พิธีกรรมอะไรก็ไม่รู้

 

          ดังนั้น  ต่อ ให้ ท้าวชปจร. จะมีจริงก็ตาม ก็เป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งที่จะเป็นอรหันต์ตามที่คนแต่งเขียนเอาไว้ เพราะไม่สนใจธรรมะเลย แตกต่างกับพรหมพุทธที่ท่านเป็นอนาคามี ที่ให้ความสำคัญกับธรรมะมากกว่าอย่างอื่น

sunee:
ขอบคุณ มากคะ มีเนื้อเรื่อง ที่ยาวมากคะ จะอ่านก่อนนะคะ

 :25: :c017:

raponsan:

 แถมให้คุณสุนีย์ เผื่อจะเอาไปทำวิทยานิพนธ์ :93:

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว