ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นาคี นาคา ฉบับวาไรตี้ และเกร็ดความแตกต่างของ นาคแต่ละจุด ที่ปราสาทพนมรุ้ง  (อ่าน 506 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
นาคปลายสะพานนาคราช สมัยนครวัด


นาคี นาคา ฉบับวาไรตี้ และเกร็ดความแตกต่างของ นาคแต่ละจุด ที่ปราสาทพนมรุ้ง

ผู้เขียนเคยทำงานที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ 2 คราว คราวแรกระหว่างปลายปี 2530-2533 คราวที่ 2 อยู่ระหว่างปี 2534-2535

นาคปลายสะพานนาคราชชั้นในสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ปราสาทเขาพนมรุ้ง (นาคผู้ชาย)

การปฏิบัติงานในคราวแรก เป็นช่วงที่มีการรณรงค์เรียกร้องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงมีผู้คนเข้าเยี่ยมชมปราสาทพนมรุ้งกันมากมาย จนถึงพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2531 และปลายปีนั้นทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จึงกลับคืนสู่ประเทศไทย และนำไปติดตั้งประดิษฐานตามตำแหน่งเดิม จังหวะเวลาดังกล่าวทำให้สถิติผู้เข้าเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลให้ผู้เขียนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องผลัดกันทำหน้าที่บรรยาย และนำชมประวัติความเป็นมาของปราสาทพนมรุ้งให้แก่แขกผู้มีเกียรติวันละหลายๆ คณะ

การที่ผู้เขียนเดินขึ้นเดินลงทำให้สังเกตเห็นความผิดแผกแตกต่างของนาค

โดยเฉพาะนาคที่สะพานนาคราชชั้นล่าง นาคที่สะพานนาคราชชั้นบน และนาคที่สะพานนาคราชชั้นบนด้านในของระเบียงคด ปราสาทพนมรุ้ง

การศึกษาศิลปะขอม อาศัยความแตกต่างของศิลปกรรมเป็นเครื่องกำหนดอายุ โดยเฉพาะนาค ไม่ว่าจะประดับอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโบราณสถาน เช่น นาคปลายซุ้มหน้าบัน ของศิลปะสมัยบันทายศรี-ศิลปะคลัง ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 16 มีลักษณะเป็นหน้ากาล มีแขน 2 ข้าง คายนาคที่มีรัศมีเล็กๆ บนเศียรคล้ายๆ มงกุฎเล็กๆ ที่ไม่ติดกันในแต่ละเศียร นาคปลายซุ้มหน้าบันและนาคประดับทางเดิน ของศิลปะสมัยบาปวนครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16 เช่น ที่ปราสาทเขาพระวิหารและปราสาทเมืองต่ำ มีลักษณะเศียรเกลี้ยงๆ คล้ายๆ หัวงูธรรมชาติ หรืออาจจะเรียกให้จำง่ายๆ ว่านาคหัวโล้นก็ได้

ส่วนนาคสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 เช่น ที่ปราสาทพิมาย และพนมรุ้ง มีลักษณะเป็นนาคแผ่พังพาน แต่ละเศียรมีเครื่องประดับเป็นรัศมีที่ติดกันตามแนวนอน และเช่นเดียวกันเพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น ให้นึกถึงนาคสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 ว่า เป็นนาคที่ใส่มงกุฎแบบนางงามจักรวาลก็แล้วกัน


นาคปลายซุ้มหน้าบัน ศิลปะบันทายศรี-คลัง ครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๖

ผู้เขียนลองนึกเล่นๆ ว่า หากตั้งปัญหาถามผู้ที่เคยไปชมทั้งปราสาทพิมายและปราสาทพนมรุ้งว่า นาคปลายราวสะพานนาคราชของพิมาย และพนมรุ้งมีเศียรกี่เศียร คงมีไม่มากนักที่จะตอบถูก

เพื่อมิให้เป็นปัญหาค้างคาใจ ขอตอบแทนไว้ ณ ที่นี้ว่า นาคพิมายมี 7 เศียร นาคพนมรุ้งมี 5 เศียร หากถามว่าเพราะอะไรจึงมีจำนวนเศียรไม่เท่ากัน ขอตอบว่าไม่ทราบครับ


นาคสมัยบาปวน ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ปราสาทเมืองต่ำ

เมื่อผู้เขียนสังเกตเห็นความผิดแผกแตกต่างของนาคตามที่ต่างๆ ณ ปราสาทพนมรุ้ง ได้ตั้งเป็นข้อสมมติฐาน แล้วกำหนดให้เป็นนาคผู้หญิงและนาคผู้ชาย รวมทั้งเป็นการเล่นคำให้คล้องจองมากยิ่งขึ้น จึงเป็นอย่างหัวข้อเรื่องนี้

ก่อนอื่นผู้เขียนขอซักซ้อมความเข้าใจให้ตรงกันของวิวัฒนาการการสร้างปราสาท ศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลขอม ดังนี้คือ เมื่อเลือกสรรทำเลหรือชัยภูมิเพื่อสร้างปราสาทศาสนสถานได้แล้ว จึงทำการถมอัดปรับพื้นรากฐานให้มั่นคง บรรจุวัตถุมงคลในหลุมศิลาฤกษ์ วางผังให้ตรงแกนทิศตามที่ต้องการ นำก้อนศิลามาวางเรียงก่อซ้อนในส่วนฐาน วางกรอบวงกบประตู ก่อผนังขึ้นเรือนธาตุ ชั้นหลังคา จนถึงบัวยอดปราสาท จนได้รูปร่างทรวดทรงตามที่ต้องการ โดยปรับผิวด้านข้างของก้อนศิลาทั้ง 4 ด้าน รวมทั้งด้านหน้าเป็น ๕ ด้านให้เรียบ แล้วจึงปีนขึ้นไปแกะสลักลวดลาย เช่น เสาประดับผนัง เสาประดับกรอบประตู ทับหลัง หน้าบัน นาคปลายซุ้มหน้าบัน กลีบขนุน บันแถลง เป็นต้น

มิน่าล่ะโบราณเขาจึงกล่าวไว้ว่า “เป็นช่างไม่ตกต่ำ” ซึ่งการแกะสลักลวดลายนี้จะแกะด้านหน้าด้านนอกก่อนเป็นเบื้องต้น ในระยะเวลาต่อมาจึงย้อนมาแกะสลักด้านในและด้านหลัง พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เมื่อสร้างปราสาทประธานได้รูปร่างทรวดทรงเรียบร้อยตามต้องการ แกะสลักลาย แล้วจึงทำสิ่งก่อสร้างเป็นวงๆ เป็นชั้นๆ ถัดออกไปจนแล้วเสร็จบริบูรณ์ แต่ส่วนใหญ่แล้วปราสาทศาสนสถานที่สร้างด้วยศิลาอิทธิพลขอมในประเทศไทยไม่เคยทำสำเร็จเสร็จสิ้นในคราวเดียวเลย มักจะทิ้งร้างค้างคาความไม่สำเร็จให้เห็นอยู่เกือบทุกแห่งไป


(ซ้าย) นาคปลายสะพานนาคราชชั้นในสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ปราสาทพิมาย
(กลาง) นาคปลายสะพานนาคราชชั้นในสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ปราสาทพนมรุ้ง
(ขวา) นาคปลายสะพานนาคราชชั้นในสมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ปราสาทพนมรุ้ง (นาคผู้หญิง หรือนาครีเซฟชั่น)

สะพานนาคราชชั้นบน ด้านหน้าโคปุระของระเบียงคดปราสาทพนมรุ้ง นาคปลายราวสะพาน ที่แผ่พังพาน 5 เศียรอยู่นั้น หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส สวยสดงดงาม ฟันเรียบเรียงเป็นระเบียบ มีเขี้ยวล่างบนข้างละ 2 รวมเป็น 4 ผู้เขียนกำหนดให้เป็นนาคผู้หญิง ตำแหน่งพนักงานต้อนรับ หรือรีเซฟชั่น ถัดเข้าไปภายใน คือสะพานนาคราชชั้นใน นาคปลายราวสะพาน ที่แผ่พังพาน 5 เศียรเช่นเดียวกัน หน้าตากลับถมึงทึงบนหัวมีเขา ตาพองโต เครายาว มีเขี้ยวล่างบนข้างละ 4 รวมเป็น 8 ผู้เขียนกำหนดให้เป็นนาคผู้ชาย ไว้คอยไล่แขก คู่กันกับฝ่ายรับแขก ซึ่งอยู่ด้านหน้าข้างนอก

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง โปรดสังเกตสิงห์

ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นนักโบราณคดีคนหนึ่งเหมือนกัน ขอเสนอข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นไว้ ณ ที่นี้ว่า นาคปลายราวสะพานนาคราชด้านหน้าโคปุระระเบียงคดด้านทิศตะวันออก ปราสาทพนมรุ้ง ที่แผ่พังพาน 5 เศียร มีรัศมีติดกันเป็นพืดตามแนวนอนเหมือนมงกุฎนางงามจักรวาล เป็นนาคในศิลปะสมัยนครวัด เป็นนาคผู้หญิง ฝ่ายต้อนรับหรือรีเซฟชั่น

ส่วนนาคปลายราวสะพานนาคราชชั้นใน ที่แผ่พังพาน 5 เศียร มีรัศมีติดกันเป็นพืดตามแนวนอนเหมือนกัน แต่ตาพองโต มีเครา เป็นนาคนครวัดชั้นหลังกว่า เนื่องจาก นาคพนมรุ้งมี 5 เศียรครึ่งหลังของสมัยนครวัดนิยมและยอมรับอิทธิพลจีนที่เข้ามาแพร่หลายในอาณาจักรขอมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหน้าตาของนาคผู้ชายคอยไล่แขกจึงไปละม้ายคล้ายคลึงกับสิงห์ ที่พระนารายณ์ประทับบรรทมบนทับหลังปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งนักวิชาการทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า นั่นคือการยอมรับอิทธิพลทางศิลปะจีนที่เข้าไปในเขมร เมื่อครึ่งหลังของสมัยนครวัด

นี่คือที่มาของนาคี นาคา วาไรตี้

ท่านผู้อ่านเคยเห็นกลักไม้ขีดไฟตราพระยานาคหรือไม่ ถ้าเคยเห็นผู้เขียนขอถามว่าเป็นนาคผู้ชายหรือผู้หญิง

จริงๆ แล้วเป็นคำถามที่มีคำตอบอยู่แล้ว โดยดูจากคำหน้านาม แน่นอนว่าพระยานาคต้องเป็นผู้ชาย มิฉะนั้นคงไม่เป็นพระยา ถ้าผู้ผลิตประสงค์จะให้เป็นนาคผู้หญิงคงจะใช้คำว่าไม้ขีดไฟตรานางพญานาค

ถ้าจะถามต่อไปว่า แล้วทำไมพระยานาคจึงต้องทำตัวงอๆ โต้คลื่น คำตอบก็คือถ้าทำตัวตรงๆ ตัวจะยาวเลยกลักไม้ขีดไฟไป

คำถามสุดท้าย พระยานาคที่โต้คลื่นอยู่นั้นเป็นน้ำจืดหรือน้ำเค็ม หมายความว่าเป็นน้ำทะเลในมหาสมุทร หรือน้ำจืดในทะเลสาบ

คำตอบคือเป็นน้ำทะเลครับ โดยสังเกตจากลักษณาการของพระยานาค ที่คายน้ำออกจากปากนั่นไงครับ เพราะเค็มจัด



ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2546
ผู้เขียน : สามารถ ทรัพย์เย็น ผู้ชำนาญการด้านโบราณคดี กรมศิลปากร
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/culture/article_7817
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2560
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 06, 2020, 07:10:03 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7249
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ