ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สถานที่ถวายพระเพลิง พระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่ที่ไหน.  (อ่าน 476 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


สถานที่ถวายพระเพลิง พระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่ที่ไหน.?

บรรดาพระมหากษัตริย์ในอดีต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2098-2148) พระมหากษัตริย์ผู้กู้อิสระภาพให้แก่กรุงศรีอยุธยา เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์จึงเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก ในวงกว้าง หลากหลายรูปแบบ รวมถึงบางครั้งก็มีการค้นพบหลักฐานใหม่ หรือข้อโต้แย้งใหม่ที่หักล้างความเชื่อเดิมๆ

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2562

เช่นนี้นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ ที่นำเสนอบทความเรื่อง “ไขปริศนาวัดร้างอยุธยา : ตอนสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพและบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่ที่ไหน อย่างไร และมำไม” โดยกำพล จำปาพันธ์

หากครั้งนี้กำพลไม่ได้พบข้อมูลใหม่ แต่ข้อโต้แย้งของเขามาจาก “การอ่านหลักฐานเก่าด้วยมุมมองใหม่” และเป็นมุมมองใหม่ที่ละเอียดถี่ถ้วน ที่ไม่ละเลยแม้แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

จากเดิมที่คนส่วนใหญ่มักคิด, รับรู้กันว่า วัดที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ทำพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระนเรศวรมหาราชคือวัดวรเชษฐ์  ซึ่งในเขตเมืองเก่าอยุธยามีวัด 2 แห่งที่ออกเสียงดังกล่าว หนึ่งคือ วัดวรเชษฐาราม (วัดวรเชษฐ์ในเกาะ)  อีกหนึ่งคือวัดวรเชตุเทพบำรุง (วัดวรเชษฐ์นอกเกาะ)

@@@@@@

แต่ดูเหมือนว่ารัฐจะให้น้ำหนักไปที่วัดวรเชษฐารามในตัวเกาะมากกว่า ดังจะเห็นได้จากป้ายข้อมูลหน้าวัดที่หน่วยงานราชการเขียนไว้ว่า

“วัดวรเชษฐาราม เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของพระราชวังหลวง และด้านหลังของพระราชวังหลัง ภายในกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยา วัดนี้ ตามพระราชพงศาวดาร สมเด็จพระเอกาทศรถทรงสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2136 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเชษฐาของสมเด็จพระเอกาทศรถได้ยกทัพไปตีเมืองตองอู และขณะเคลื่อนทัพถึงเมืองหาง ทรงพระประชวรหนักและเสด็จสวรรคต

สมเด็จพระเอกาทศรถจึงโปรดให้อัญเชิญพระศพมายังกรุงศรีอยุธยา และให้แต่งพระเมรุสูงเส้น 17 วา  แล้วเสด็จไปถวายพระเพลิงศพให้นิมนต์พระสงฆ์มาร่วมในพิธีจำนวน 10,000 องค์ เข้าใจว่าได้ถวายพระเพลิงพระศพ ณ วัดวรเชษฐารามแห่งนี้ ภายในกำแพงวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงลังกาแบบสุโขทัย พระวิหารจำนวน 3 หลัง พระอุโบสถ และพระเจดีย์ย่อมุมขนาดเล็ก 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เชื่อกันว่าน่าจะมีการบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ภายในเจดีย์องค์ใดองค์หนึ่งภายในวัดนี้”


 
วัดวรเชษฐาราม หรือ “วัดวรเชษฐ์ในเกาะ”

พระราชพงศาวดารเองก็บันทึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระราชพิธีไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวร บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชโองการตรัสสั่ง แก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย ให้แต่งการพระศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว แต่งพระสุเมรุมาศสูงเส้น 17 วา ประดับเมรุทิศเมรุรายราชวัติฉัตรทอง ฉัตรนาก ฉัตรเบญจรงค์นานาเสร็จ ก็เชิญพระศพเสด็จเหนือมหากฤษฎาธาร อันประดับด้วยอภิรุมกลิงกลดรจนา และท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขลูกขุนทั้งหลาย มาประดับแห่ห้อมล้อมมหากฤษฎาธาร

ก็อัญเชิญพระศพเสด็จลีลา โดยรัถยาราชวัติไปยังเมรุมาศด้วยยศบริวารและเครื่องสักการบูชาหนักหนา พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวร บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จไปถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ให้นิมนต์พระสงฆ์สบสังวาส 10,000 ถวายพระราชทานเครื่องอัฐบริขารทักษิณาบูชาพระสงฆ์ทั้งปวงเป็นมเหาฬาร”

หากคำให้การขุนหลวงหาวัดเอกสารเพียงชิ้นเดียวที่ระบุถึงสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่าคือที่ “วัดสพสวรรค์” ซึ่งตรงกับวัดสวนหลวงสบสวรรค์ กล่าวคือ

“พระองค์ [สมเด็จพระเอกาทศรถ – ผู้อ้าง] จึงมีพระบัญฑูรตรัสสั่งให้หามพระโกศทองทั้งสองใบที่ใส่พระศพขึ้นสู่บนพระราชรถแล้วก็แห่แหนเปนกระบวรมหาพยุหยาตราอย่างใหญ่มาจนถึงกรุงศรีอยุธยาธานี แล้วจึงสั่งให้ทำพระเมรุทองอันสูงใหญ่ยิ่งนัก

@@@@@@

อันการพระบรมศพครั้งนั้นเปนการใหญ่หลวงนักหนาเกินที่เกินทางแต่ก่อนมา ทั้งเครื่องไชยทานก็มากนักหนา แล้วให้ประชุมกษัตริย์ทุกประเทศน้อยใหญ่ทั้งสิ้น จึงเชิญศพแห่แหนไปแล้วถวายพระเพลิงที่วัดศพสวรรค์…

ครั้นพระนเรศวรสวรรคตแล้ว พระเอกาทศรถจึงครอบครองกรุงฉลองพระเดชพระคุณพระเชษฐาสืบไป จึงทำการราชาภิเศกอันครบครัน จึงถวายพระมเหษีพระนามชื่อพระสวัสดี พระองค์จึงสร้างวัดไว้ที่ [ต้นฉบับสมุดไทย ‘มีลายมือเขียนเพิ่มเติมว่า ถวายพระเพลิงพระนเรศแล้วจึงสมมตินามเรียกวัดสบสวรรค์ พระองค์จึงสร้างวัดไว้ที่’ – ผู้อ้าง]

สวนฉลองพระเชษฐาวัดหนึ่ง จึงสมมตินามเรียก วัดวรถาราม [ต้นฉบับสมุดไทย ‘มีลายมือเขียนแก้ไขคำ วัดวรถาราม เป็น วัดวรเชษฐาราม’ – ผู้อ้าง] แล้วพระองค์จึงถวายที่เขตอาราม”


6. แผนที่แสดงที่ตั้งวัดวรเชตุเทพบำรุง “วัดวรเชษฐ์นอกเกาะ”, วัดวรเชษฐาราม “วัดวรเชษฐ์ในเกาะ”, วัดสพสวรรค์ และแนวถนนมหารัถยาจากท่าประตูไชยไปยังหน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ อันเป็นเส้นทางขบวนแห่พระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช [แผนที่ภูมิสถานอยุธยา (ปรับปรุง พ.ศ. 2553) กรมศิลปากร พิมพ์แจก พ.ศ. 2557]

แต่ผู้เขียน (กำพล จำปาพันธ์) เห็นว่าวัดต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นไปไม่ได้ กำพลเห็นว่า เมื่อพิจารณาจำนวนผู้มาร่วมงาน เฉพาะพระภิกษุสงฆ์ในพิธีก็มีมากถึง 10,000 รูป หากนับร่วมบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์, ขุนนางราชสำนัก, พ่อค้า, ไพร่ราษฎร ฯลฯ ผู้คนเรือนหมื่นเรือนแสนที่จะมาร่วมงาน พื้นที่ของวัดวรเชษฐาราม (วัดวรเชษฐ์ในเกาะ) และวัดสพสวรรค์ ไม่น่าจะเพียงพอ

หากเป็นวัดวรเชตุเทพบำรุง (วัดวรเชษฐ์นอกเกาะ) ที่อยู่กลางทุ่งก็ดูสมเหตุสมผลกว่า



2. เจดีย์ประธานของวัดวรเชตุเทพบำรุง “วัดวรเชษฐ์นอกเกาะ” ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

แต่โดยธรรมเนียมกรุงศรีอยุธยาก่อนการสร้างวัดไชยวัฒนารามในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว ไม่ปรากฏการถวายพระเพลิงพระบรมศพที่บริเวณนอกเกาะเมือง นิยมทำในเมืองกันมาโดยตลอด

แล้ววัดไหนที่ใช้จัดงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตลอดจนข้อมูลที่หนักแน่นครบถ้วนกว่านี้ ขอได้โปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้

ลองดูกันว่าหลักฐานเก่าที่ กำพล จำปาพันธ์ นำมาให้ท่านอ่านด้วยกัน ด้วยมุมมองใหม่จะเห็นอะไรได้กว้าง ได้ลึกกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ



ประวัติศาสตร์ : สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่ที่ไหน.?
ผู้เขียน : วิภา จิรภาไพศาล
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_41777
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 17, 2019, 06:29:50 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ