ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ภาษาที่ใช้” บอกให้รู้ว่าบรรพชนไทยสายหนึ่งเป็น “ลาว”  (อ่าน 437 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ชาวอีสาน ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2449 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)


“ภาษาที่ใช้” บอกให้รู้ว่าบรรพชนไทยสายหนึ่งเป็น “ลาว”

ภาษาพูดในชีวิตประจําวันของชาวอีสานคือภาษาลาว อยู่ในตระกูลภาษาไทย-ลาว เป็น 1 ใน 5 ของตระกูลภาษาใหญ่ของสุวรรณภูมิ (หรือภูมิภาคอุษาคเนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ทั้งยังเป็นต้นเค้าภาษาไทยและฉันทลักษณ์ในวรรณคดีไทย ตลอดจนทํานองร้องรับขับลํา เช่น ร่าย-โคลงโองการแช่งน้ำ สวด-เทศน์มหาชาติ เจรจาโขน ขับเสภา ฯลฯ

ชาวอีสานก็เหมือนคนทั้งหลายในโลก มีภาษาพูดก่อน หลังจากนั้นอีกนานมากถึงมีภาษาเขียนด้วยตัวอักษร ฉะนั้นภาษาลาวจึงเป็นตระกูลภาษาเก่าแก่ตระกูลหนึ่งในสุวรรณภูมิ มีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว หลักฐานชัดเจนอยู่ในกลุ่มชนดั้งเดิมบริเวณมณฑลกวางสี ที่เมืองจีน

คนที่พูดภาษาลาวมีหลายกลุ่ม ล้วนตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจาย ปะปนอยู่กับคนที่พูดภาษาตระกูลอื่นๆ เช่น ตระกูลม้ง-เย้า, จีน-ทิเบต, ทิเบต-พม่า, มอญ-เขมร, มาเลย์-จาม, รวมทั้งภาษาจีนฮั่น ฉะนั้น ถ้อยคําสํานวนภาษาของตระกูลอื่นๆ จึงมีเคล้าคละปะปนอยู่ในภาษาลาวด้วย

@@@@@@

การผสมกลมกลืนทางภาษามีมาแต่ยุคดึกดําบรรพ์ บางที่จะตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว และต่อเนื่องถึงสมัยหลังๆ ลงมาจนถึงปัจจุบัน แล้วจะยังมีต่อไปในอนาคต ไม่มีวันจบสิ้น มีแต่จะผสมกับตระกูลภาษาอื่น ๆ หลายภาษามากขึ้นกว่าแต่ก่อน เป็นเหตุให้ภาษามีความเจริญงอกงาม ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่จะเคลื่อนไหวไปตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม-วัฒนธรรม

ที่เรียกภาษาลาวเป็นชื่อสมมุติเรียกตามชื่อประเทศลาวทุกวันนี้เท่านั้น ถ้าสมมุติตามชื่อประเทศอื่นหรือชนกลุ่มอื่นก็ต้องเรียกอย่าง อื่น เช่น ภาษาไทย ภาษาลื้อ ภาษาจ้วง เป็นต้น แต่ทั่วไปแล้วเรียกคู่กัน เช่น ตระกูลภาษาไทย-ลาว หรือ ลาว-ไทย ฯลฯ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะกลุ่มชนคนพูดภาษาตระกูลนี้แล้วถือเป็นเครือญาติภาษามีจํานวนมาก แต่เรียกชื่อต่างกัน เช่น ลื้อ จ้วง ต้ง หลี ผู้ไท ผู้นง ฯลฯ

คนพวกนี้ล้วนมีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน จนถึงบางหมู่เกาะ ซึ่งเป็นขอบเขตสุวรรณภูมิสมัยโบราณมาแต่ดึกดําบรรพ์

@@@@@@

นอกจากพูดจาตามประสาชีวิตประจําวันแล้ว คนดึกดําบรรพ์ยุคแรกๆ ยังมีเรื่องราวบอกเล่าด้วยภาษาพูดปากต่อปากด้วย ถ้อยคําบอกเล่าเหล่านั้น ต่อมาเรียกกันว่า นิทาน

คําบอกเล่ายุคแรกๆ ไม่ยืดยาว มักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ (ภายหลังต่อมาเรียกว่าประวัติ) อํานาจเหนือธรรม ชาติ พิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ จนถึงวิถีชีวิตของโคตรตระกูล ผู้คนทั้งชุมชนเชื่อถือร่วมกันอย่างศรัทธาว่า คําบอกเล่าเหล่านั้นล้วน เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ใครจะละเมิดมิได้ จึงแสดงออกร่วมกันด้วยพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พิธีขอฝน เพราะมีคําบอกเล่า ว่ามีแถนอยู่บนฟ้า เป็นผู้มีฤทธิ์มีอํานาจบันดาลให้เกิดฝนตกลงมาเพื่อ ความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน

ไม่มีใครรู้ ไม่พบหลักฐานคําบอกเล่าครั้งแรกของกลุ่มชนที่พูดตระกูลภาษาไทย-ลาว ว่าด้วยเรื่องอะไร.? แต่มีคําบอกเล่าที่ส่อเค้าเก่าแก่มาก และอยู่ในความทรงจําของกลุ่มชนพูดภาษาลาวที่มีหลักแหล่งบริเวณสองฝั่งโขง ว่าด้วยแถนและกําเนิดคนจากน้ำเต้าปุง

ต่อมาภายหลังอีกนานมีผู้จดบันทึกความทรงจําคําบอกเล่านั้นไว้ แล้วจัดรวมอยู่ต้นเรื่องพงศาวดารล้านช้าง ภาษาไทยและวรรณคดีไทยของคนไทยก็มีภาษาลาว เพราะเกือบทั้งหมดมีรากจากคําลาว


@@@@@@

กลุ่มชนที่เรียกตัวเองว่า คนไทย แล้วเรียกประเทศของตนว่าเมืองไทย มีหลักฐานเก่าสุดอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่รัฐอยุธยาและรัฐสุพรรณภูมิ ถึงรัฐสุโขทัย โดยลักษณะเด่นชัดที่บอกความเป็นคนไทยคือ พูดภาษาไทย เขียนอักษรไทย ล้วนจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทย-ลาว

ภาษาพูดมีมาก่อนหลายพันปีหรือมีมาพร้อมกําเนิดคน แต่อักษรไทยเพิ่งมีเมื่อหลัง พ.ศ.1700 โดยรับแบบแผนจากอักษรเขมร หรือที่รู้จักทั่วไปว่าอักษรขอมแห่งรัฐละโว้ (ลพบุรี) หมายความว่าแต่เดิม เมื่อตระกูลไทย-ลาว เคลื่อนย้ายมาอยู่ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มจากราว 3,000 ปีมาแล้ว ปะปนกับตระกูลมอญ-เขมร ที่พัฒนาอักษรขึ้นใช้ก่อน จากอักษรปัลลวะ (ทมิฬ อินเดียใต้) พวกไทย-ลาวก็ใช้อักษรเขมร แต่เขียนเป็นภาษาไทย แล้วเรียกอักษรขอมไทย

ภาษาไทยยุคแรกๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1700 หรือก่อนมีอักษรไทย จนหลัง พ.ศ.1700 หรือหลังมีอักษรไทยยุคต้นๆ ยังจัดอยู่ในวัฒนธรรมลาว หรือภาษาลาว เพราะมีหลักฐานประวัติศาสตร์ โบราณคดีว่า คนพวกนี้มีบรรพชนเป็นลาวตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว

@@@@@@

สอดคล้องกับเอกสารลาลูแบร์ที่เป็นราชทูตจากราชสํานักฝรั่งเศส เข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แล้วจดคำปากชาวสยาม พระนครศรีอยุธยา บอกว่า มีบรรพบุรุษเป็นไทยน้อย คือ ลาว แล้วยังมีคนอีกพวกหนึ่งเป็นไทยใหญ่ ที่ไม่ใช่บรรพชนของตน

แสดงว่า ชาวกรุงศรีอยุธยามีความทรงจําว่า บรรพชนเป็นคนลาว แต่เรียกพวกลาวทั้งหมดว่าไทยเหมือนพวกตน คือ ไทยน้อยกับไทยใหญ่ ส่วนคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สืบมาจากลาวล้วนเป็นไทยสยาม

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีบรรพชนสายหนึ่งเป็นลาว ก็คือ ภาษาลาวยังมีเค้าอยู่ในภาษาไทยในกลุ่มคําซ้อนที่ประกอบด้วยคําอย่าง น้อย 2 คํามารวมกัน คําหนึ่งจะเป็นคําลาว แต่อีกคําหนึ่งอาจเป็นมอญ หรือเขมรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยใกล้ชิด เช่น

ทองคํา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า gold คํามอญใช้ “ทอง” คำเดียวก็เท่ากับ gold ส่วนลาวใช้ “คํา” เท่านั้น
ฝาละมี ฝาเป็นคําลาว ละมีเป็นคํามอญ หมายถึง ฝาหมอดิน
สั่นคลอน สั่นคําลาว คลอนคํามอญ หมายถึง หลวม ง่อนแง่น
ฟ้อนรํา ฟ้อนคําลาว รำเป็นคําเขมร
เต้นระบํา เต้นคําลาว ระบําเป็นคําเขมร
ดั้งจมูก ดั้งคําลาว จมูกเป็นคําเขมร ฯลฯ


@@@@@@

ลักษณะคําซ้อนคําซ้ำดังกล่าวมา อธิบายว่าภาษาไทยพวกหนึ่ง ประกอบขึ้นจากภาษาลาว หรือคําลาว และคําของชาตืพันธุ์อื่น เช่น มอญ เขมร ฯลฯ และอาจมีมลายู เปอร์เซีย อีกก็ได้

สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อพวกลาวเคลื่อนย้ายไปบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วตั้งแหล่งอยู่ร่วมกับพวก มอญ พวกเขมร จําเป็น ต้องสื่อสารพูดจากันในชุมชนท้องถิ่น ถ้าพูด คําลาวโดดๆ แล้วพวก มอญ-เขมรฟังไม่เข้าใจ ต้องเอาคํามอญ-เขมร มาซ้ำซ้อนกํากับไว้ด้วย ถึงจะเข้าใจกัน เลยกลายเป็นสิ่งใหม่เรียกภาษาไทย หรือคําไทย สืบจนทุกวันนี้

แต่จําเป็นต้องเข้าใจด้วยว่า ตระกูลภาษาไทย-ลาวที่ว่านั้น ต่างจากปัจจุบัน จะเอาลักษณะภาษาไทยทุกวันนี้เป็นมาตรฐานไม่ได้ ฉะนั้นต้องทําความเข้าใจ ความเคลื่อนไหวไปมาของกลุ่มชนเผ่าเหล่ากอดึกดําบรรพ์ที่มีตระกูลไทย-ลาวเป็นส่วนหนึ่งเสียก่อน แล้วจะพบว่าสําเนียงกับภาษารวมทั้งระบบความเชื่อของกลุ่มชนตระกูล ไทย-ลาว ยุคที่ใช้โองการแช่งน้ำ ล้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกลุ่มชน สองฝั่งโขงที่ปัจจุบันเรียกวัฒนธรรมลาว



ที่มา : "พลังลาว" ชาวอีสาน มาจากไหน?, สนพ.มติชน, 2549
ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ.
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 30 กรกฎาคม 2562
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_36443
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 19, 2020, 08:21:32 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ