ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “อุปทฺทูตํ วต โภ อุปสฏฐ” - ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ  (อ่าน 2426 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (10) : อุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา มีอุบาสกอุบาสิกา 4 คู่ คู่หนึ่งเป็นอุบาสกล้วน ถึงรัตนะ 2 คือ พระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ คู่ที่สองเป็นอุบาสกกับอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ขอเล่าโดยย่อดังนี้

@@@@@@

(1)ผู้ถึงรัตนะสองคู่แรก

อุบาสกคู่นี้มีนามว่า ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ ว่ากันว่าเธอทั้งสองมาจากอุกกลชนบท (หรืออุกกลาชนบท) อยู่แห่งหนตำบลใดไม่แจ้ง แต่น่าจะจากภาคเหนือของชมพูทวีปแถวตักสิลาโน่นแหละครับ ทั้งสองคนนี้เป็นพ่อค้าเดินทางมาค้าขายผ่านมาทางตำบลคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้พบพระพุทธเจ้าขณะประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) ในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากตรัสรู้ หลักฐานฝ่ายอรรถกถาว่าเป็นสัปดาห์ที่ 7

เมื่อเห็นพระพุทธองค์ก็มีจิตเลื่อมใส ได้น้อมนำเอา “ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง” (ความจริงต้องพูดสับลำดับเป็น “สัตตุผง สัตตุก้อน”) ไปถวาย ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร ร้อนถึงท้าวโลกบาลทั้ง 4 ได้น้อมนำบาตรมาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์ทรงดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง 4 ใบประสานเป็นใบเดียว ทรงรับข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนจากพ่อค้าทั้งสอง เสวยเสร็จแล้วก็ประทานอนุโมทนา

สัตตุผงนั้นบาลีเรียกว่า “มันถะ” คือข้าวตากที่ตำละเอียด สัตตุก้อนบาลีเรียกว่า “มธุบิณฑิกะ” คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อน

@@@@

พ่อค้าทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ ไม่เปล่งวาจาถึงพระสงฆ์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ ทั้งสองจึงเรียกว่าอุบาสกผู้ถึงรัตนะสองเป็นสรณะ (เทววาจิกอุบาสก) ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดเพียงว่า เมื่อถวายสัตตุผง สัตตุก้อนแด่พระพุทธเจ้าแล้ว พ่อค้าทั้งสองก็กลับมาตุภูมิเรื่องจบแค่นี้ครับ

แค่นี้จริงๆ แต่พี่หม่องไม่ยอมให้จบ ได้แต่งต่อว่าพ่อค้าทั้งสองก่อนกลับได้กราบทูลขอของที่ระลึกเพื่อไปสักการบูชาเมื่อจากพระพุทธองค์ไป พระพุทธองค์ทรงเอาพระอรหัตถ์ลูบพระเศียร เส้นพระเกศา 8 องค์หลุดติดพระหัตถ์มา พระพุทธองค์ประทานให้พ่อค้าทั้งสอง พ่อค้าทั้งสองได้นำพระเกศาธาตุ 8 องค์นั้นไปก่อเจดีย์บรรจุไว้บูชาที่บ้านเมืองของตน พระเจดีย์นั้นรู้กันในปัจจุบันนี้ว่าชเวดากอง ตปุสสะกับภัลลิกะจะเป็นใครไม่ได้นอกจากชาวพม่าหงสาวดี พี่หม่องอ้างปานนั้นแหละครับ ส่วนท่านจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่จะพิจารณา


@@@@

การแต่งตำนานเพิ่มเติมจากต้นฉบับเดิมทำกันทั่วไป พี่ไทยเราก็แต่งเติมครับ อย่างเรื่องนาคแปลงกายเป็นคนมาบวช ภายหลังความลับเปิดเผยขึ้น พระพุทธองค์รับสั่งให้ลาสิกขา แล้วบัญญัติข้อห้ามว่าสัตว์เดียรัจฉานห้ามบวชเป็นภิกษุ ถึงกับมีคำซักถามตอนจะบวชว่า “มนุสฺโสสิ = เจ้าเป็นมนุษย์หรือไม่”

เรื่องเดิมมีแค่นี้ แต่พี่ไทยแต่งเพิ่มว่า นาคแกเสียอกเสียใจมากที่ไม่มีวาสนาบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา จึงกราบขอพรพระพุทธองค์ ขอฝากชื่อไว้ในพระพุทธศาสนา ต่อไปใครจะมาบวชขอให้เรียกว่า “นาค” เถิด พระพุทธองค์ก็ทรงรับ

เพราะเหตุนี้แล ผู้จะเข้ามาบวชจึงเรียกว่านาค และการบวชเรียกว่าบวชนาค มิใช่บวชนาย ก. นาย ข. เห็นหรือยังครับพี่ไทยก็ “ตัดต่อ” เก่งไม่แพ้พี่หม่องเหมือนกัน ดีเท่าไรแล้วที่ไม่แย่งเอาตปุสสะ ภัลลิกะมาเป็นคนไทยเพราะฟังชื่อแล้วน่าจะใกล้มาทางไทยมากกว่าพม่า ตปุสสะ ก็ “ตาบุตร” ภัลลิกะ ก็ “ตาพัน” ยังไงล่ะครับ



(2)ผู้ถึงพระรัตนตรัยคู่แรก

บิดามารดาของยสกุมาร บิดาชื่อเรียงเสียงใดไม่แจ้ง บอกแต่ว่าเป็นเศรษฐีเมืองพาราณสี ส่วนมารดานั้น แม้พระไตรปิฎกจะไม่เอ่ยนาม แต่อรรถกถาก็โยงว่าคือนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระบรมโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้นั้นแล (ดังได้เล่าไว้แล้วในตอนที่ 3)

เมื่อยสกุมารผู้บุตร เกิดเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส มองเห็นแต่ความทุกข์ที่รุมเร้าจิตใจ จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านกลางดึก หลังจากตื่นขึ้นมาเห็นภาพอันน่าสังเวชของเหล่านางรำที่นอนหลับใหล แสดง “ทัศนะอุจาด” ต่างๆ เช่น บางนางก็นอนกรนเสียงดัง น้ำลายไหลจากปาก บางนางก็กัดฟัน ละเมอฟังไม่ได้ศัพท์ บางนางผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเปิดอวัยวะที่ควรปิด เป็นต้น

@@@@

ถ้าสมัยที่ยสกุมารยังสนุกอยู่กับความทุกข์ทางกาม ก็คงเห็นภาพเหล่านั้นน่าดูน่าชมดุจน้องนัทน้องแนทอะไรนั้น แต่บังเอิญว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ยสกุมารเอือมกับความสุขทางเนื้อหนังมังสาเสียแล้ว ภาพเหล่านี้จึงปรากฏต่อเธอดุจซากศพในป่าช้าปานนั้น

จึงเดินลงเรือไป พลางเปล่งอุทานด้วยความสลดใจว่า “อุปทฺทูตํ วต โภ อุปสฏฐ” สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงแปลว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” ถ้าจะแปลให้ถึงใจก็ต้องว่า “วุ่นวายจริงโว้ย กลุ้มจริงโว้ย” ประมาณนั้น

@@@@

เขาเดินบ่นไปจนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะพระพุทธองค์เสด็จจงกรมอยู่ พระองค์ตรัสตอบว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ ยสะ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง” เขาจึงเข้าไปกราบพระบาท สดับพระเทศนาจนกระทั่งได้ดวงตาเห็นธรรมและทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ

บิดามารดาของยสกุมารตามหาบุตรมายังป่าอิสิปตนมฤคทายวันพบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมเทศนา ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่บิดามารดาของตนนั้น พระยสะนั่งอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์โดยต่างฝ่ายต่างก็มองไม่เห็นกัน ด้วยการบันดาลฤทธิ์ของพระพุทธองค์ เมื่อพระเทศนาจบลง พระยสะได้บรรลุพระอรหัต บิดามารดาได้ดวงตาเห็นธรรม

ทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต นับเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัย


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_203296
ขอบคุณภาพจาก : http://www.84000.org/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 22, 2019, 01:53:17 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ