ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "สันโดษกับความมักน้อย" มันคนละเรื่องกัน  (อ่าน 874 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




สูตรสำเร็จในชีวิต (27) : สันโดษ (1)

คราวนี้มาว่าด้วยสูตรสำเร็จแห่งชีวิตข้อที่ว่าด้วย สันโดษ เรื่องที่คนไทยเข้าใจผิดมากเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องคือ สันโดษนี่แหละครับ คนส่วนมากมักเข้าใจกันว่า สันโดษคือความมักน้อย จึงมีคำพูดติดปากว่า “มักน้อยสันโดษ”แล้วก็เข้าใจต่อไปว่า คนที่สันโดษคือคนที่ไม่ทำอะไร ไม่ต้องการอะไร ปล่อยชีวิตไปตามเรื่องตามราว เรียกว่าคนไม่เอาไหนนั่นแหละ คือ คนสันโดษ

เมื่อเข้าใจอย่างนี้ก็พาลพาโลหาว่า พระพุทธศาสนาสอนสิ่งที่ขัดต่อการพัฒนาตนและสังคมbมีอย่างหรือ ชาติกำลังต้องการพัฒนาคน ยังมาสอนไม่ให้ต้องการอะไรมากๆ ไม่ให้สร้างสรรค์สอนให้มักน้อยสันโดษอยู่ได้

@@@@@@@

มีอยู่สมัยหนึ่ง คือสมัยท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คุณหลวง (อย่าให้เอ่ยชื่อเลยนะครับ เอาเป็นว่า “คุณหลวง” ก็แล้วกัน) ผู้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของท่านนายกฯ สฤษดิ์ประกาศว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีมากมายที่ดีๆ แต่บางข้อก็ไม่เหมาะสมกับสังคมยุคพัฒนา พระไม่ควรนำไปสอนชาวบ้าน เช่น สันโดษ เป็นต้น

พอคุณหลวงประกาศออกมา พระสงฆ์องค์เจ้า “เต้น” เป็นการใหญ่มีการเทศนาชี้แจงว่า ไม่ใช่อย่างนั้น สันโดษจริงๆ มิใช่ความมักน้อย ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากสร้างสรรค์อะไร ทำให้มีการ “ตื่นตัว” หาทางอธิบายธรรมให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น

ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นผลดีและน่าขอบคุณคุณหลวงเป็นอย่างยิ่ง หาไม่แล้ว พระท่านก็คงไม่ใส่ใจจะมาทำความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ปล่อยให้เขาเข้าใจผิดๆ ถูกๆ ไปตามเรื่อง ว่างๆ ผมอาจจะประกาศอย่างคุณหลวงขึ้นมาบ้างก็ได้เผื่อจะช่วย “กระตุ้น” ให้พระคุณเจ้าท่านหันมาสนใจอธิบายธรรมะให้ชาวบ้านเขาเข้าใจมากกว่านี้

บอกกันตรงๆ ว่า วงการพระศาสนาเรายังต้องการพระนักเทศน์ นักบรรยาย นักเขียนที่คนอยากฟัง อยากอ่าน มากกว่าที่มีอยู่ กองทัพทั้งกองทัพ มีขุนพลทหารฝีมือดีอยู่เพียงสามสี่คนจะไปสู้รบกับใครได้ครับ


@@@@@@@

ความจริง สันโดษกับความมักน้อย มันคนละเรื่องกัน ความมักน้อยนั้น เป็นคำแปลของคำบาลีว่า “อปปิจฺฉตา” พระพุทธองค์ทรงสอนพระให้ปฏิบัติเกี่ยวกับปัจจัยสี่คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ว่าสิ่งเหล่านี้ให้พระต้องการแต่น้อย พออาศัยยังชีพ เพราะชีวิตพระมิใช่ชาวบ้าน จะได้สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้มากมาย

ส่วน สันโดษ หรือ สนฺตฎฐี นั้น หมายถึง ความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ด้วยความสามารถ ด้วยความพากเพียรพยายามของตน ในทางที่สุจริตชอบธรรม

ฟังดูดีๆ จะเห็นว่า คนสันโดษคือ คนที่ขยันหา ขยันสร้างสรรค์ (ยถาลาภ) ทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญาเต็มที่ (ยถาพล) ในสิ่งที่สุจริตถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม (ยถาสารุปฺป) เมื่อได้ผลสำเร็จขึ้นมาแล้วก็ภาคภูมิใจในผลสำเร็จนั้น

ธรรมะที่ตรงข้ามกับสันโดษ คือ ความโลภและความเกียจคร้าน คนโลภและขี้เกียจ คือคนที่ไม่สันโดษ ท่านเห็นหรือยังว่า สันโดษขัดขวางหรือส่งเสริมการพัฒนาล่ะขอรับ




ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4-10 กันยายน 2563
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน: เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_344342
ขอบคุณภาพจาก : https://insidewatthai.com/สวนป่า-วัดปทุมวนาราม/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 10, 2020, 06:45:25 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ