ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: รู้ยัง 'หลวงพ่อโต' ในไทยมี 3 องค์  (อ่าน 593 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
รู้ยัง 'หลวงพ่อโต' ในไทยมี 3 องค์
« เมื่อ: กรกฎาคม 01, 2020, 05:54:45 am »
0



รู้ยัง 'หลวงพ่อโต' ในไทยมี 3 องค์

ทุกคนจะต้องคุ้นเคยและรู้จัก "พระพุทธไตรรัตนนายก" หรือที่คนจีนเรียกกันติดปากว่า “ซำปอกง” ส่วนคนไทยมักเรียกว่า “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” กันอย่างดี เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนทั้งคนจีน คนไทย และชาวไทยเชื้อสายทั่วประเทศ นิยมไปกราบไหว้ขอพรกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่างเช่นเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ หรือวันตรุษจีน โดยผู้ที่ไปกราบไหว้สักการบูชาส่วนใหญ่นอกจากจะกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังนิยมไปกราบไหว้เพื่อให้รุ่งเรืองทางด้านการค้าพาณิชย์ มีโชคลาภ และประสบแต่โชคดีในการเดินทางด้วย

ปัจจุบัน พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต หรือชำปอกง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มีประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยเพียง 3 วัดเท่านั้น

@@@@@@

หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง องค์ที่โด่งดังองค์แรก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก ตรงข้ามกับมุมตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย เป็นวัดที่มีมาแต่โบราณก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ตามหนังสือพงศาวดารเหนือได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์ไทยก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้สร้างวัดและหลวงพ่อโต เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระมเหสีพระนางสร้อยดอกหมาก



สำหรับ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ ซำปอกง วัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง 20 เมตรเศษ สูง 19 เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เคยได้รับความเสียหายในสมัยเสียกรุง และมีการกล่าวกันว่า "เมื่อคราวจะเสียกรุงศรีอยุธยาได้ปรากฎมีน้ำพระเนตรไหลออกมาจากพระเนตรทั้งสองข้างเป็นที่อัศจรรย์" แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2394 ได้โปรดเกล้าให้บูรณะใหม่หมดทั้งองค์ ถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวกรุงเก่าและประชาชนทั่วไปให้ความเคารพนับถือมาช้านานหลายร้อยปี

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโต ถูกนำมาเล่าขานกันต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เมืองกรุงเก่าได้เกิดโรคอหิวาตกโรคขึ้น ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจนวัดไม่มีที่จะเผาศพ ชาวบ้านจึงได้ไปขอให้หลวงพ่อโต ช่วยเมตตารักษาโรคภัย พร้อมกับนำน้ำมนต์กับขี้ธูปบนพื้นวิหารไปทาตัว ไปอาบ ไปกินเพื่อป้องกันโรค ปรากฏว่าหายจากโรคจริงๆ



จากความเชื่อและเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อโต หรือชำปอกง โด่งดังไปทั่วทุกสารทิศ ทำให้มีคนเดินทางมาสักการะบูชาขอพรกันต่อเนื่องไม่ขาดสาย

มีเรื่องเล่าขานสืบต่อๆ กันมาว่า เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเครื่องบินพยายามจะทิ้งระเบิดสะพานปรีดีธำรง แต่แล้วก็ทำไม่สำเร็จเพราะระเบิดที่ทิ้งลงมากลับไม่ระเบิด โดยมีคนเล่าว่าในคืนที่เครื่องบินมาทิ้งระเบิด เป็นคืนข้างขึ้นค่อนข้างสว่าง ทันทีที่เครื่องบินทิ้งระเบิดลงมาก็มีชายชราคนหนึ่งขี่ม้าสีขาวเหาะขึ้นไปปัดระเบิดลูกนั้นไม่ให้ถูกสะพาน เมื่อชายชราผู้นั้นปัดระเบิดหมดแล้ว ก็หายวูบตรงโบสถ์หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร พอรุ่งเช้าชาวบ้านจึงพากันไปดูหลวงพ่อโต ปรากฏว่าที่แขนขวาแตกร้าว จึงเป็นที่เล่าขานกันว่าหลวงพ่อโตช่วยปัดลูกระเบิดเพื่อช่วยชาวกรุงศรีอยุธยา ให้พ้นภัย



หลวงพ่อโต หรือชำปอกง องค์ที่ 2 อยู่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดกัลยาณมิตร ตั้งอยู่ที่เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร วัดนี้ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สร้างโดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ หรือ โต กัลยาณมิตร ต้นสกุลกัลยาณมิตร ได้อุทิศที่ดินของตัวเองและซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อสร้างวัดนี้ขึ้น และน้อมเกล้าฯถวายแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และได้รับพระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร"

เมื่อแรกสร้างวัด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างพระวิหารหลวง พร้อมกับโปรดให้สร้างพระโต หรือหลวงพ่อโต หรือที่คนจีนเรียกว่า ซำปอกง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11.75 เมตร สูง 15.46 เมตร พระราชทานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง ด้วยพระราชประสงค์ให้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ริมน้ำในกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับที่กรุงเก่า คือที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร



หลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ ซำปอกง ที่วัดกัลยาณมิตรแห่งนี้เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ องค์พระมีสีเหลืองทองอร่ามทั้งองค์ ถือเป็นที่เคารพสักการระของคนไทย และคนจีนในประเทศเป็นอย่างมากโดยเฉพาะช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ตรุษจีน และวันทิ้งกระจาด ซึ่งแต่ก่อนจะมีการสร้างเทวดากระดาษเพื่อใช้ในพิธีวันทิ้งกระจาดด้วย แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว

ส่วนพิธีห่มผ้าหลวงพ่อโตนั้นได้ยกเลิกแล้ว เนื่องจากหลวงพ่อโต หรือซำปอกง เป็นพระพุทธรูปที่องค์ใหญ่มาก ดังนั้น การทำพิธีห่มผ้าต้องใช้คนขึ้นไปยืนบนพระพุทธรูป ซึ่งดูแล้วไม่เหมาะสมและทำให้สีของพระพุทธรูปเสียหาย ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากในการบูรณะซ่อมแซม ซึ่งปัจจุบันได้มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนไปสักการะกันจำนวนมาก ยิ่งในช่วงหน้าเทศกาลอย่างวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ หรือวันตรุษจีนด้วยแล้วจะหนาแน่นไปด้วยผู้คนและนักท่องเที่ยวกันเลยทีเดียว

มีเรื่องเล่าเช่นกันว่า เมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินได้มาทิ้งระเบิดลงตรงวัดพอดี ชาวบ้านแถวนั้นเชื่อกันว่าด้วยบารมีของหลวงพ่อโต หรือชำปอกง ได้เอามือรับระเบิดแล้วเหวี่ยงระเบิดไปที่สะพานพุทธฯ จึงทำให้คนที่มาหลบอยู่ในวิหารปลอดภัย



หลวงพ่อโต หรือ ชำปอกง องค์ที่ 3 อยู่ที่วัดอุภัยภาติการาม ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดนี้ตั้งอยู่ริมบนถนนศุภกิจใกล้กับตลาด 100 ปี หรือตลาดบ้านใหม่ ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนเดินทางไปสักการบูชากันจำนวนมากเช่นกันโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน วันสำคัญทางศาสนา

สำหรับ หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง วัดอุภัยภาติการาม ตามประวัติเล่าว่า เมื่ออดีตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในชุมชนชาวตลาดบ้านใหม่ล่าง มีเศรษฐีชาวจีน 2 พ่อลูก คือ หลงจู๊ฮี้ (พ่อ) และหลงจู๊แดง (ลูก) ได้ไปศักการะหลวงพ่อโต ที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุะยา และเกิดความศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก ซึ่งในสมัยนั้นชาวจีนในเมืองไทยนิยมไปกราบไหว้หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง ที่วัดพนัญเชิงฯ เพราะมีความเชื่อว่าสามารถนำโชคดีเกี่ยวกับเรื่องการค้าขาย จะทำให้ประสบความสำเร็จ

ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าในปี พ.ศ. 2449 จึงทำให้หลงจู๊ฮี้ และหลงจู๊แดง (ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ขุนพิพิธพานิชกรรม) ได้สละทรัพย์ส่วนตัวสร้าง หลวงพ่อโต หรือซำปอกง ไว้ที่เมืองแปดริ้ว โดยหลงจู๊แดง หรือขุนพิพิธพานิชกรรม ได้สละที่ดินส่วนตัว บริเวณตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างวิหาร และให้ช่างไปจำลององค์หลวงพ่อโต มาจากวัดพนัญเชิงฯ

หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง ที่วัดอุภัยภาติการาม เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 6.5 เมตร สูง 12 เมตร สร้างโดยใช้ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ เอามาก่อซ้อนกันเป็นรูปองค์พระ ด้านนอกฉาบด้วยปูน แล้วจึงลงรักปิดทอง พุทธลักษณะเป็นปางมารวิชัย พระพักตร์ทรงเหลี่ยม พระกรรณยาว (หูยาว) รูปหน้าซำปอกง ที่วัดอุภัยภาติการาม จะคล้ายจะพระพุทธรูปจีนมากกว่า และที่ระหว่างคิ้วจะไม่มีเครื่องหมายอุณาโลมเหมือนกับหลวงพ่อโต ที่วัดพนัญเชิงฯ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวจีน ชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวต่างชาติ เช่นชาวสิงคโปร์ ที่มักจะมากราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลให้มีความรุ่งเรืองด้านการค้า ทำมาค้าขายดี กิจการรุ่งเรืองก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ มีโชคลาภ



ต่อมาในปี พ.ศ.2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเสด็จมาเมืองแปดริ้ว เพื่อทรงเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทราและได้ทรงเสด็จมาที่วิหารหลวงพ่อโตแห่งนี้ ทรงมีพระราชศรัทธาบริจาคเงินจำนวน 200 บาทเพื่อร่วมสมทบในการสร้างอารามและปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป และในครานั้นเองทรงพระราชทานนามวัดนี้ว่า "วัดอุภัยภาติการาม" เนื่องจากวัดนี้มักประสบความเสียหายจากน้ำท่วมอยู่บ่อยๆ และบางปีน้ำได้ซึมเข้าองค์พระ โดยเฉพาะบริเวณฐานและตอนล่างขององค์พระ ทำให้ต้องทำการซ่อมแซมอยู่เสมอ

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงทราบว่าพระพุทธรูปได้มีการจำลองแบบมาจากอยุธยา จึงทรงพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระพุทธไตรรัตนายก" เช่นเดียวกับที่วัดพนัญเชิงฯ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ทางวัดได้มีการนำพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 พร้อมลงพระปรมาภิไธย ที่ทรงพระราชทานไว้เมื่อครั้งเสด็จมาด้วย

สรุปในประเทศไทยมีหลวงพ่อโต หรือซำปอกง เพียงแค่ 3 วัดเท่านั้น คือ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร และวัดอุภัยภาติการาม ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพบูชาแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก และด้วยวัดแห่งนี้เเป็นวัดญวน มหายานฝ่ายอนัมนิกาย จึงมีความเชื่อแบบวัดจีน ภายในวิหารจะมีพระโพธิสัตว์กวนอิม, พระอรหันต์ และเทพเจ้าที่สำคัญของชาวจีน ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตที่เป็นที่กล่าวขวัญถึง คือการนำโชดีมาให้แก่คนทำมาค้าขายขึ้น กิจการรุ่งเรืองก้าวหน้า





ขอบคุณที่มา :-
ภาพจาก wikipedia
https://www.naewna.com/likesara/320672
วันพุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561, 10.28 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ