ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บาลีวันละคำ‬ ถือเอ้กา  (อ่าน 2337 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ปัญญสโก ภิกขุ

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 403
  • อริยสโก
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บาลีวันละคำ‬ ถือเอ้กา
« เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2016, 01:46:54 pm »
0
‪บาลีวันละคำ‬
ถือเอ้กา
ถืออะไร?
“ถือเอ้กา” อ่านว่า ถือ-เอ้-กา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“เอกา, เอ้กา : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง, คนเดียว, โดดเดี่ยว; ถือกินข้าวหนเดียวในเวลาระหว่างเช้าถึงเที่ยงเป็นกิจวัตร เรียกว่า ถือเอ้กา.”
“เอ้กา” ตัดมาจากคำเต็มว่า “เอกาสนิกังคะ” (เอ-กา-สะ-นิ-กัง-คะ) บาลีเขียน “เอกาสนิกงฺค”
“เอกาสนิกงฺค” แยกศัพท์เป็น เอก + อาสนิก + องฺค
(๑) “เอก”
บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก
: อิ > เอ + ณฺวุ > อก = เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” หมายถึง “หนึ่ง” ใช้ใน 2 สถานะ คือ -
(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”
(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
(๒) “อาสนิก” (อา-สะ-นิ-กะ) ประกอบด้วย อาสน + อิก ปัจจัย
๑) “อาสน” (อา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก -
(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง”
(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > ส, ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน)
“อาสน” หมายถึง การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, บัลลังก์ (sitting, sitting down; a seat, throne)
อาสน + อิก = อาสนิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ ณ อาสนะ” คือผู้นั่งอยู่ ณ ที่นั่ง
(๓) “องฺค” (อัง-คะ) รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ”
“องฺค” ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol); ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)
: เอก + อาสนิก = เอกาสนิก แปลว่า “ผู้อยู่ ณ อาสนะเดียว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า one who keeps to himself
: เอกาสนิก + องฺค = เอกาสนิกงฺค แปลว่า “องค์แห่งผู้อยู่ ณ อาสนะเดียว” หมายถึง ภิกษุผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก (one-sessioner’s Practice)
เอกาสนิกงฺค > เอกาสนิกังคะ เป็นธุดงค์ข้อหนึ่งในบรรดาธุดงค์ 13 ข้อ (ดูเพิ่มเติมที่ “ธุดงค์” บาลีวันละคำ (993) 5-2-58)
เอกาสนิกังคะ (เอ-กา-สะ-นิ-กัง-คะ) เรียกไปเรียกมา ตัดเหลือแค่ “เอกา” แล้วออกเสียงแบบคนเก่าเป็น “เอ้กา”
พระรูปไหน (หรือแม้แต่คนวัดๆ ทั่วไป) ถือฉันมื้อเดียว เรียกว่า “ถือเอ้กา” ก็เป็นอันเข้าใจกัน
: คนส่วนมากไม่ได้ตายเพราะไม่มีจะกิน
: แต่ตายเพราะไม่รู้จักกิน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
บันทึกการเข้า