ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “พุทธชยมงคลคาถา” ถวายพรพระ นำชัยชนะแห่งพุทธะมาสู่ตน  (อ่าน 1233 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


มองเป็นเห็นธรรม : “พุทธชยมงคลคาถา” ถวายพรพระ นำชัยชนะแห่งพุทธะมาสู่ตน

ในการเจริญพระพุทธมนต์หรือสวดพระพุทธมนต์ เมื่อจบบทสวดตามแบบแล้ว นิยมสวด “บทถวายพรพระ” เป็นที่สุด สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงอธิบายบทถวายพรพระ ไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “พุทธชยมงคลคาถาบรรยาย” ดังนี้
       
       “จะแสดงตำนานถวายพรพระ คือธรรมเนียมบำเพ็ญกุศลในครั้งก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่า ก่อนเก่านักหนา ในเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ การบำเพ็ญกุศลนิยม ๓ วัน คือสวดมนต์เย็นวันหนึ่ง รุ่งขึ้นเช้าก็ถวายอาหารบิณฑบาตพระสงฆ์ผู้ที่มาสวดมนต์เมื่อวานนี้ ในการสวดมนต์เย็นนั้น ก็นิยมสวดเจ็ดตำนานเป็นพื้น ในการบำเพ็ญกุศลพิเศษจึงจะมีสวดสิบสองตำนานกันบ้าง ส่วนในวันรุ่งขึ้น ตอนเช้าที่ถวายอาหารบิณฑบาตนั้น พระสงฆ์ผู้มาเจริญพระพุทธมนต์เมื่อวานนี้ จะสวดถวายพรพระ คือจะสวด นโมฯ, พุทฺธํฯ, อิติปิ โสฯ สฺวากขาโตฯ สุปฏิปนฺโนฯ, พาหุํฯ มหากาฯ, ภวตุ สพฺฯ. ทั้ง ๕ บทนี้ก็เรียกรวมๆกันว่า ถวายพรพระ แต่ว่าบทพิเศษคือ พาหุํ ซึ่งเรียกว่าเป็นบทถวายพรพระ
       
       บท พาหุํ นี้ เป็นคาถาวสันตดิลก แต่งขึ้นในลังกา เป็นบทที่อ้างพระพุทธเจ้าผู้ทรงชนะในคราวต่างๆ มาเป็นสัจวาจาขอให้บังเกิดชัยมงคล และก็สันนิษฐานกันว่า แม้บทสวดถวายพรพระนี้ ก็มุ่งแต่ถวายพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ปกครองประเทศ เช่นเดียวกับที่จัดรวบรวมบทสวดเจ็ดตำนานและสิบสองตำนาน จึงเรียกว่า จุลราชปริตร และ มหาราชปริตร คือเป็นพระราชปริตรทั้งเจ็ดตำนานทั้งสิบสองตำนาน

        ans1 ans1 ans1

       บทสวดถวายพรพระนี้ก็เช่นเดียวกัน จึงได้มีคำตอนท้ายที่ขอให้พระองค์ทรงชนะในชัยมงคล และคำว่า ชนะ นี้มีปรากฏในอรรถกถาธรรมบทบางเรื่อง ว่าเป็นถ้อยคำจำเพาะพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ปกครองประเทศ ซึ่งทรงเป็นผู้ชนะ และเมื่อชนะในที่ใด จึงปกครองในที่นั้น เพราะฉะนั้น คำว่า “ชนะ” นี้ จึงใช้เป็นชื่อของท้องถิ่นด้วย คือท้องถิ่นหรือประเทศที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดทรงปกครองก็เรียกว่าเป็น วิชิตะ คือเป็นแว่นแคว้นที่พระองค์ทรงชนะแล้ว ทรงได้วิชัย คือความชนะแล้ว
       
       เพราะฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์จึงทรงปกครองอยู่ในวิชิตรัฐหรือในวิชิต คือถิ่นที่ทรงชนะแล้ว ฉะนั้นใครๆในถิ่นนั้นไม่บังควรที่จะกล่าวว่าตนเป็นผู้ชนะหรือเราชนะ ต้องพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวเท่านั้น จึงจะเป็นผู้กล่าวได้ว่า เราชนะแล้ว
       
       เพราะฉะนั้น คำว่า ชนะ นี้จึงเป็นคำที่ทุกๆคนต้องระมัดระวังที่จะไม่พูด ถ้าพูดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้เกิดความแสลงใจว่า คนนี้น่าจะมีความคิดไม่สุจริตต่อแผ่นดินแล้ว
       
       ฉะนั้น ในบรรดาคาถาทั้งหลาย ที่แต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน จึงมีคำนี้อยู่มาก แต่ว่าต่อมาเมื่อชาวบ้านนิมนต์พระไปสวด ก็ไม่ได้แต่งแก้ไขขึ้นใหม่ ก็ใช้สวดไปตามที่ท่านแต่งถวายพระเจ้าแผ่นดินไว้ และเมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ไปตามประเทศต่างๆ เช่นประเทศไทย คนฟังก็ไม่รู้ความ ไม่รู้ธรรมเนียม ก็นำมาสวดกันไป และไม่ได้ถือความหมายของคำว่าชนะไว้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น โดยที่ใช้ความหมายผ่อนลงมา ถึงความหมายว่า ได้รับผลดีต่างๆ ก็เป็นความชนะอย่างหนึ่งๆ ชนะโรคภัยไข้เจ็บ ชนะศัตรู ชนะความยากจนข้นแค้น อะไรเป็นต้นเหล่านี้ ก็มีความหมายกันไปอย่างนี้ ก็เลยใช้กันได้

        st12 st12 st12 st12

       สำหรับคำว่า ถวายพรพระ นี้ ในชื่อที่เป็นบาลีว่า พุทธชยมงคลคาถา คือ คาถาที่กล่าวถึงความชนะที่เป็นมงคลของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ ๙ คาถาด้วยกัน ๘ คาถาแรกเป็นคาถาที่แสดงถึงเรื่องต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงชนะมา อ้างมาก็ ๘ เรื่อง เรื่องละ ๑ คาถา ก็เป็น ๘ คาถา ส่วนคาถาที่ ๙ นั้น เป็นคาถาที่แสดงผลของการสวดที่ระลึกถึงพุทธชยมงคลคาถาทั้ง ๘ เหล่านี้ทุกๆวัน ว่าจะทำให้ละเสียได้ซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลาย และถึงซึ่งโมกขะคือความพ้นอันเป็นสุข
       
       สำหรับพุทธชยมงคลคาถาเหล่านี้ ได้มีธรรมเนียมสวดดังที่เล่ามา สำหรับการสวดมนต์เย็นที่สวดเจ็ดตำนานเป็นพื้นดังกล่าว มีคำอาราธนาพระปริตร แต่ว่าการสวดถวายพรพระก่อนที่จะถวายอาหารบิณฑบาตพระ ไม่มีคำอาราธนา มีธรรมเนียมว่า ผู้บำเพ็ญกุศลขอศีล พระให้ศีลแล้วก็สวดทีเดียว ตั้งแต่ นโมฯ, อิติปิ โสฯ แล้วก็มา พาหุํ ซึ่งเป็นบทถวายพรพระ มหากาฯ, ภวตุ สพฺฯ. และก็น่าจะชี้แจงถึงถ้อยคำแปลในภาษาไทย
       
       เพราะได้บอกชื่อในภาษาบาลีมาแล้วว่า พุทธชยมงคลคาถา ส่วนในภาษาไทยมาใช้คำเรียกว่า ถวายพรพระ คำนี้ก็น่าจะติดมาจากที่เล่ากล่าวมาเบื้องต้นว่า เป็นคำสวดถวายพระเจ้าแผ่นดิน ก็คือเป็นคำสวดถวายพรพระเจ้าแผ่นดิน และถวายพรของพระเจ้าแผ่นดินนี้ ก็เป็นคำถวายพรที่อ้างพระพุทธเจ้า จึงเท่ากับว่าเป็นพรของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จึงเรียกกันสั้นๆว่า พรพระ คือบททั้ง ๙ นี้เป็นพรพระ เป็นพรของพระพุทธเจ้า เป็นพรที่อ้างพระพุทธเจ้า แล้วก็นำเอาพรนี้มาสวดถวายพระเจ้าแผ่นดิน จึงเรียกว่าถวายพรพระ จึงได้ใช้คำนี้กันต่อมา เป็นชื่อธรรมเนียม ในบัดนี้การบำเพ็ญกุศลมักจะย่นเป็นวันเดียว และมักจะทำในเวลาเพล เพราะฉะนั้น การสวดมนต์ก็สวดเจ็ดตำนานและสวดถวายพรพระนี้ต่อท้าย...”
       
       พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ได้พรรณนาถึงบทถวายพรพระ ในหนังสือกฎแห่งกรรมธรรมปฏิบัติ เล่ม ๕ ไว้ว่า
       
       “...อาตมาจึงได้พบว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่สมเด็จพระวันรัตน์ วัดป่าแก้ว ท่านได้จารึกถวายพระพรก็คือ บทสวดมนต์ที่เรียกว่า พาหุง มหาการุณิโก ท้ายของนิมิตนั้นระบุว่า เรา(สมเด็จพระวันรัตน์ วัดป่าแก้ว ศรีอโยธยา) คือผู้จารึกนิมิต รจนาเอาไว้ถวายพระพรแด่พระมหาบพิตรเจ้า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช...”

        :25: :25: :25: :25:

       ด้วยเหตุนี้ บทถวายพรพระ หรือพุทธชยมงคลคาถา ก็คือ คาถาที่กล่าวถึงความชนะที่เป็นมงคลของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ ๘ ประการ ดังนี้
       
       คาถาที่ ๑ พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ ฯ พระพุทธเจ้าทรงชนะข่มขู่จากพญามารและเสนามาร ด้วยบารมี ๓๐ ทัศ มีทานบารมี เป็นต้น     
       คาถาที่ ๒ มาราติเรกมภิยุชฺ ฌิตสพฺพรตฺตึ ฯ พระพุทธเจ้าทรงชนะผู้ที่มีอำนาจหรือจิตใจที่โหดร้าย ด้วยขันติบารมีและปฏิภาณไหวพริบ     
       คาถาที่ ๓ นาฬาคิรึ คชวรํ อติมตฺตภูตํ ฯ พระพุทธเจ้าทรงชนะช้างนาฬาคิรี ด้วยเมตตาจิต     
       คาถาที่ ๔ อุกฺขิตฺตขคฺคมติหตฺถสุทารุณนฺตํ ฯ พระพุทธเจ้าทรงชนะโจรองคุลิมาลที่หลงผิดด้วยการฝึกให้ได้สติก่อนที่จะให้คำสอน     
       คาถาที่ ๕ กตฺวาน กฏฺฐมุทรํ อิว คพฺภีนียา ฯ พระพุทธเจ้าทรงชนะการถูกใส่ร้ายป้ายสี จากนางจิญจมานวิกา ด้วยการใช้ความสงบนิ่งเพื่อระงับเหตุ     
       คาถาที่ ๖ สจฺจํ วิหายน มติสจฺจกวาทเกตุํ ฯ พระพุทธเจ้าทรงชนะสัจจนิครนถ์ ด้วยปัญญา     
       คาถาที่ ๗ นนฺโทปนนฺทภุชคํ วิพุธํ มหิทฺธึ ฯ พระพุทธเจ้าทรงชนะนันโทปนันทนาคราช ด้วยการใช้บุคคลากรที่ชำนาญ คือ พระมหาโมคคัลานะ     
       คาถาที่ ๘ ทุคฺคาหทิฏฺฐิภุชเคน สุทฏฺฐหตฺถํ ฯ พระพุทธเจ้าทรงชนะพกาพรหม ด้วยการแสดงฤทธิ์     
       ในคาถาที่ ๙ ได้แสดงถึงอานิสงส์แห่งการสวดคาถาทั้ง ๘ ข้างต้นว่า นรชนใด มีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี ระลึกก็ดี ซึ่งพระพุทธชัยมงคล ๘ คาถา แม้เหล่านี้ ทุกๆวัน นรชนนั้นจะพึงละเสียได้ ซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลาย มีประการต่างๆ เป็นเอนก ถึงซึ่งวิโมกสิวาลัย อันเป็นบรมสุขแล


        st11 st11 st11

       อรรถาธิบายแห่งพุทธชยมงคลคาถา ในแต่ละคาถา ย่อมนำให้ได้ทัศนะแห่งการดำเนินชีวิตบนทางสันติสุขอยู่เสมอ นำตนให้เป็นผู้มีชัยชนะตามรอยบาทแห่งพระพุทธเจ้า สมฐานะแห่งพุทธสาวกของตนตลอดไป

       

จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 198 มิถุนายน 2560 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9600000055710
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ