ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วัดโสมนัสฯ “ทัชมาฮาล” เมืองไทย ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง  (อ่าน 402 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28437
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




"ภาพแผนผังวัดโสมนัสราชวรวิหาร" ที่จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถของวัดโสมนัสฯ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงออกแบบไว้ (ภาพจาก "โสมนัสสาร ฉบับพิเศษ ครบรอบ 25 ปี ฯ")


วัดโสมนัสฯ “ทัชมาฮาล” เมืองไทย ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง

วัดโสมนัสราชวรวิหาร เป็นวัดหลวงและวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2394 และพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2396 นอกเหนือจากนี้การสร้างวัดโสมนัสราชวรวิหารยังมีพระราชประสงค์สำคัญ คือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสีพระองค์แรกที่สิ้นพระชนม์ ตั้งแต่ต้นรัชกาล (ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2395)

นับเป็น “วัดประจำพระองค์” แห่งที่ 2 ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

ส่วนวัดประจำพระองค์แห่งแรกคือ “วัดราชนัดดารามวรวิหาร” ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2389 และพระราชทานเป็นเกียรติแก่ “พระราชนัดดา-พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี”

นั่นแสดงว่าพระองค์ทรงที่เป็นรักยิ่งของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์

ผู้เขียนเห็นว่าวัดโสมนัสราชวรวิหารนั้นน่าจะเทียบได้อนุสรณ์รักอย่าง “ทัชมาฮาล” โดยขอใช้ข้อมูลอ้างอิง จากบทความชื่อ “วิเคราะห์แนวคิดรัชกาลที่ 4 ที่สะท้อนผ่านจิตรกรรมเรื่อง ‘อิเหนา’ ในพระวิหารหลวง วัดโสมนัสวิหาร” ของจุฑารัตน์ จิตโสภา ที่ตีพิมพ์ในวารสารดำรงวิชาการ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2555)

บทความของจุฑารัตน์ จิตโสภา ตั้งใจวิเคราะห์ว่าเหตุใดรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้นำวรรณคดีที่มีเนื้อหาประโลมโลกมาเขียนไว้ภายในพระอาราม และประเด็นอื่นๆ หากในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะการเลือกวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” มาเขียนเป็นภาพจิตกรรมฝาผนัง


จิตรกรรมฝาผนังเรื่องอิเหนาในพระวิหารหลวงวัดโสมนัสฯ (ภาพจาก http://www.watsomanas.com)

ซึ่งอาจมีเหตุผลดังนี้ เพราะสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงฝึกหัดคณะละครส่วนพระองค์ และคณะละครของพระนางได้มีโอกาสเล่นถวายในพระราชพิธีสมโภชพระวิสุทธิรัตนกิริณี-ช้างเผือกช้างที่ 2 ในปี 2397 นอกจากนี้บทละครที่ใช้แสดงกันในขณะนั้นก็มีเพียง 3 เรื่อง คือ รามเกียรติ์, อุณรุท และอิเหนา นอกจากนี้ “อิเหนา” ยังเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ที่ได้รับนิยมในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดไปจนถึงเหล่าเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชบริพาร ตั้งแต่ในสมัยของพระบรมชนกนารถ และอาจเป็นไปได้ว่านี้คือบทละครที่พระนางโปรดด้วยก็เป็นได้

วรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” อาจจะมีหลายตอนที่แพร่หลายและเป็นที่นิยม หากรัชกาลที่ 4 ทรงเลือกเอาตอน “อุณากรรณ” มาแปลงนั้นสันนิษฐานว่าเป็นเพราะ “ชะตาชีวิต” ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี กับอุณากรรณคล้ายคลึงกัน คือ “กําพร้า”

สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับหม่อมงิ้ว พระบิดาของพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาบาง พระนางทรงกำพร้าพระบิดาตั้งแต่มีพระชนมายุเพียง 6 เดือน พระอัยกาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเสด็จจากวังพระบิดามาอุปถัมภ์เลี้ยงดูในพระบรมมหาราชวังอย่างพระราชธิดาของพระองค์ และทรงเป็นพระราชนัดดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 3 ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าหลานเธอ” ส่วนอุณากรรณก็ได้รับการอุปถัมภ์จากท้าวประมอตัน กับท้าวกาหลังเสมือนพระราชบุตรแท้ๆ

บทละครเรื่องอินเหนาตอนอุณากรรณ ที่รัชกาลที่ 4 ทรงนํามาเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวง วัดโสมนัสราชวรวิหาร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระนาง ด้วยสาเหตุเช่นนี้

หากพิจารณาในพระราชดำริที่เคร่งครัดต่อเรื่องข้อกําหนดการเขียนภาพจิตรกรรมที่ระบุไว้ในพระวินัย เช่นครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดผ้าพระกฐินที่วัดทองนพคุณ ได้ทอดพระเนตรเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทศพร ภายในพระอุโบสถ ที่ช่างวาดเป็นภาพเหล่านางอัปสรที่กำลังเล่นน้ำ บ้างนั่งถ่ายปัสสาวะ บ้างโป๊เปลือย ก็ทรงรับสั่งให้ลบและวาดใหม่ทันที


จิตรกรรมฝาผนังเรื่องอิเหนาในพระวิหารหลวงวัดโสมนัสฯ (ภาพจาก http://www.watsomanas.com)

หลักฐานอีกหนึ่งอย่างที่ยืนยันถึง “ความอาลัยรัก” ของรัชกาลที่ 4 คือ หนังสือเกี่ยวประวัติและอาการป่วยของพระนางเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ “An Account of the Most Lamentable Illness and Death of Her Young and Amiable Majesty,the Queen Somanass Waddhanawatty” ตีพิมพ์ครั้งวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2395 เป็นฉบับพิมพ์หิน ที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เอง เพื่อพระราชทานไปยังราชสํานัก เหล่าพสกนิกร

ตลอดไปจนถึงพระราชหัตถเลขาเป็นภาษาอังกฤษที่มีไปยังชาวต่างชาติ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2395 ว่าพระองค์ทรงกระทําทุกวิถีทางเพื่อยื้อชีวิตของพระนางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิท หมอบรัดเลย์ และหมอเฮ้าส์เข้ามาถวายการรักษาตามแบบ แพทย์แผนใหม่ ควบคู่ไปกับการรักษาแบบโบราณ หรือการที่ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ป่าวประกาศพระราชทานบําเหน็จเงินตรา 2 หาบ ให้แก่ผู้ที่สามารถรักษาพระนางให้กลับมาเป็นปกติได้

สุดท้ายหลังจากขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูพระนครชั้นนอกแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีวัดเรียงรายอยู่ตามชายคลองเหมือนที่กรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริ ให้สร้าง “วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร” ขึ้นเคียงคู่กับวัดโสมนัสราชวรวิหาร


ผู้เขียน : คนไกล วงนอก
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 18 พฤษภาคม 2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_33002
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ