ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เผยที่มาของ "มนต์อาลัมพายน์" และข้อเท็จจริงเรื่องพญานาคกลัวมนต์นี้ จริงหรือไม่.?  (อ่าน 1562 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




เผยที่มาของ "มนต์อาลัมพายน์" และข้อเท็จจริง เรื่องพญานาคกลัวมนต์นี้ จริงหรือไม่.?

มีละครถึง 2 เรื่องแล้วที่กล่าวถึง มนต์อาลัมพายน์ คือเรื่อง นาคี และ เพลิงนาคา เป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัยอยู่ไม่น้อยว่าทำไมพญานาคถึงกลัวมนต์บทนี้ และมนต์บทนี้มีที่มาอย่างไร ซีเคร็ตจึงหาคำตอบมาฝาก เพื่อคลายข้อสงสัยนี้แก่ชาวซีเคร็ตทุกท่าน

หากยังจำกันได้กับละครเรื่อง นาคี ที่หมอเมืองอินทร์ใช้มนต์อาลัมพายน์สะกดเจ้าแม่นาคี และละครเรื่อง เพลิงนาคา ที่ภุมภนาคราชสะกดสิงหนาคราชผู้เป็นพี่ชายไว้ด้วยมนต์อาลัมพายน์ เราลองมาทำความรู้จักกับมนต์บทนี้กันดีกว่า

@@@@@@

ความเป็นมาของมนต์อาลัมพายน์

ในชาดกเรื่อง ภูริทัตตชาดก ไม่ได้กล่าวถึงมนต์บทนี้ หากมีใกล้เคียงก็คือ ” ครุฑมาบอกวิชาหมองูอย่างสูง แก่ฤาษีโกสิยโคตรผู้อยู่ในป่า ประพฤติตบะอยู่สิ้นกาลนาน เราเข้าไปหาฤาษีตนหนึ่งซึ่งนับเข้าในพวกฤาษีผู้บำเพ็ญตนอาศัยอยู่ในระหว่างภูเขา ได้บำรุงท่านโดยเคารพ มิได้เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ในกาลนั้น ท่านบำเพ็ญวัตรและพรหมจรรย์ เป็นผู้มีโชค เมื่อได้สมาคมกับเรา จึงสอนมนต์ทิพย์ให้แก่เราด้วยความรัก เราทรงไว้ซึ่งผลอันวิเศษในมนต์นั้น จึงไม่กลัวต่อนาค เราเป็น อาจารย์ของพวกหมอฆ่าพิษ ชนทั้งหลายรู้จักเราว่าอาลัมพายน์ “

ข้อความที่ยกมาจากภูริทัตตชาดกในพระไตรปิฎกนี้ แสดงให้เห็นว่า ไม่มีคำว่า “มนต์อาลัมพายน์” แต่มีชื่อของอาจารย์ของหมอฆ่าพิษ หรือหมองู ชือว่า “อาลัมพายน์” ดังนั้นมนต์อาลัมพายน์จึงอาจหมายความว่าเป็นมนต์ของอาลัมพายน์ ที่มาของมนต์ที่พราหมณ์คนนี้เรียนมาจากฤาษีโกสิยโคตรคือ ครุฑตนหนึ่งมาบอกวิชา (มนต์) หมองูอย่างสูง (ไม่บอกว่าชื่อมนต์อะไร) แด่พระฤาษี ซึ่งพราหมณ์คนนี้ก็ดูแลรับใช้พระฤษีเป็นอย่างดีจนกระทั่งท่านเมตตาให้มนต์หมองูนี้มา อาลัมพายน์พราหมณ์จึงใช้มนต์นี้หาเลี้ยงชีพ


@@@@@@

คัมภีร์อรรถกถาได้ขยายถึงสาเหตุที่ครุฑมอบมนต์นี้ให้แด่พระฤาษี ครุฑตนนี้คือพระยาสุบรรณได้จับพญานาคตนหนึ่งมาจากมหาสมุทรเพื่อกินเป็นอาหาร ครุฑจับที่หัวของพญานาค พาบินผ่านป่าหิมพานต์ หางของนาคจึงไปเกี่ยวกับต้นไทร ซึ่งเป็นจุดที่พระฤาษีตนนี้ใช้เดินจงกรม พอครุฑกินนาคเข้าไปแล้วจึงทราบว่านาคตนนี้เกี่ยวต้นไทรมาด้วย ครุฑนึกขึ้นได้ว่าเป็นต้นไทรที่อยู่ในบริเวณอาศรมของพระฤาษี จึงเกรงว่าตนจะบาปที่ได้ทำลายที่เดินจงกรมของผู้ทรงศีล

จึงจำแลงกายเป็นมาณพเข้าไปหาพระฤาษี ได้ทำการขอขมาและบอกความจริงว่าตนคือ ครุฑที่ทำให้ต้นไทรของพระฤาษีเสียหาย และกลัวว่าจะเป็นบาปจึงเข้ามาขอขมา พระฤาษีจึงสอนว่า บาปจะมีขึ้นได้ต่อเมื่อคนนั้นมีเจตนา ถ้าครุฑไม่มีเจตนาก็ถือว่าไม่บาป พญาครุฑซึ้งในโอวาทจึงมอบมนต์อาลัมพายน์ (ปรากฏชื่อมนต์นี้ในอรรถกถาภูริทัตตชาดก) ไว้ เมื่อพราหมณ์ (ชื่อว่า อาลัมพายน์พราหมณ์) เข้ามาปรนนิบัติดูแลพระฤาษีเป็นอย่างดีจึงได้เรียนมนต์นี้จากพระฤาษี

@@@@@@

พญานาคกลัวมนต์อาลัมพายน์ จริงหรือไม่.?

ขณะที่อาลัมพายน์พราหมณ์เรียนมนต์จากพระฤาษีแล้ว ก็เดินไปตามฝั่งของแม่น้ำยมุนา ซึ่งเป็นที่อยู่ของนาค ได้บริกรรมมนต์นี้ไปตลอดทาง เหล่านางนาคมาวิกาได้ยินมนต์ก็คิดว่ าครุฑจะบินมาจับพวกตนกินเป็นอาหาร จึงพากันรีบหนีลงนาคพิภพ ทำให้ลืมแก้วมณีไว้ตามหาดทราย อาลัมพายน์พราหมณ์จึงเก็บอัญมณีเหล่านี้มาเป็นของตน

จากเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่านาคกลัวมนต์อาลัมพายน์จริง เพราะมนต์นี้จะกลายเสียงของครุฑขึ้นมา ทำให้นาคคิดว่า ครุฑบินมาจะจับตนกิน
    แล้วที่ใครๆ เชื่อว่า อาลัมพายน์พราหมณ์ใช้มนต์นี้จับพระภูริทัตต์ได้จริงไหม.?
    ขอตอบว่า ไม่ ในตอนหนึ่งของอรรถกถาภูริทัตตชาดกเล่าว่า พราหมณ์เนสาทได้บอกทางไปยังที่ถือศีลของพระภูริทัตต์ อาลัมพายน์พราหมณ์ทาตัวด้วยทิพยโอสถ เพื่อป้องกันพิษของนาค แล้วสานกระโปรงขึ้นเพื่อใส่พญานาค แล้วร่ายมนต์จึงเข้าไปจับพระภูริทัตต์ซึ่งกำลังพันขนดอยู่บนจอมปลวก


@@@@@@

พระภูริทัตต์ไม่ได้ถูกจับได้โดยง่ายเพราะฤทธิ์แห่งมนต์อาลัมพายน์ แต่เพราะพระองค์ไม่อยากทำร้ายอาลัมพายน์พราหมณ์ให้ถึงแก่ความตาย นาคมีจิตที่เป็นโทสะ พิษของนาคสามารถสังหารคนให้ตายได้ในทันที แต่พระภูริทัตต์ไม่อยากให้ศีลที่ตนเองบำเพ็ญมากขาดจึงข่มโทสะไว้

อาลัมพายน์พราหมณ์จึงจับพระภูริทัตต์ใส่กระโปรง (ภาชนะสานชนิดหนึ่ง) ได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังดูหมิ่นสัตว์ทิพย์ชั้นสูงด้วยการใช้เท้าเขี่ยเศียรของพระภูริทัตต์เข้ากระโปรงอีกด้วย

แสดงว่าพญานาคจริงๆแล้วไม่ได้กลัวมนต์อาลัมพายน์ ตามพระราชปุจฉาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ถามสมเด็จพระสังฆราชและราชาคณะทั้งหลายถึงเรื่องนี้ว่า
     “นาคทั้งปวงกลัวมนต์อาลัมภายน์ แต่เจ้าสุทัสน์แลนางอัจจมุขีนั้นไม่กลัวฤๅ”
พระราชปุจฉาแห่งรัชกาลที่ 1 แสดงให้เห็นว่า มนต์อาลัมพายน์เป็นที่รู้จักกันมานานแล้วว่าเป็นมนต์ที่พญานาคกลัว

     @@@@@@

สมเด็จพระสังฆราชและราชาคณะถวายวิสัชชนาโดยมีใจความว่า
    “ทิพยมนต์ของอาลัมภายน์นั้นเป็นทิพยมนต์ครุฑ ได้มาแต่สำนักดาบส แต่นาคทั้งหลายที่เกิดในสกุลทั้ง 7 มีสกุลธตรฐ เป็นต้น หากลัวครุฑทำอันตรายไม่ นาคที่กลัวครุฑจำเพาะแต่ที่เกิดในสกุลต่ำกว่าสกุลทั้ง 7 นั้น พระภูริทัตเกิดในสกุลธตรฐ จึงไม่กลัวทิพยมนต์ แต่เพราะเหตุที่จำศีล จึงไม่ทำอันตรายแก่อาลัมพายน์ ๆ จึงทำได้ตามปราถนา เพราะกลัวศีลขาด และพระสุทัศน์กับนางอัจจมุขีก็เกิดสกุลเดียวกับพระภูริทัตจึงมิได้กลัว”


 

ที่มา : ภูริทัตตชาดก, อรรถกถาภูริทัตตชาดก, ประชุมพระราชปุจฉา โดยกรมศิลปากร ,ขันตปริตร
ภาพ : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/155515.html
By nintara1991 ,17 May 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ