ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “อิทํ โน ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” ไม่ต้องเอานิ้วจับชายเสื้อของคนรินน้ำ  (อ่าน 1062 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (40) : การเกิดขึ้นแห่งประเพณีกรวดน้ำครั้งแรก

บอกไว้ก่อนว่า เป็นข้อมูลภายหลัง จะได้ไม่เถียงกัน ว่ากันว่าตอนแรกๆ ก็ไม่มีธรรมเนียมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายหรือบรรพบุรุษของผู้กระทำกุศล มามีขึ้นเพราะพระเจ้าพิมพิสารเป็นสาเหตุ

ว่ากันว่าเมื่อครั้งพระเจ้าพิมพิสารถวายพระเวฬุวันให้เป็นวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้า อันนับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนานั้น พระองค์มิได้ทรงอุทิศกุศลให้ผู้ตาย เพราะไม่ทรงทราบธรรมเนียม

ตกดึกคืนนั้นพระสุบินนิมิตเห็นพวกเปรตมากหน้าหลายตามาปรากฏตนขอส่วนบุญ พระเจ้าพิมพิสารจึงนำความไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสให้พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายทานแก่พระสงฆ์ใหม่ พร้อมกับให้ตั้งจิตอุทิศส่วนบุญแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารทรงกระทำตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ คืนนั้นพวกเปรตทั้งหลายมาปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่ง นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย หน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ขออนุโมทนาในส่วนบุญที่พระองค์ทรงอุทิศไปให้


@@@@@@

เมื่อทรงกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่าพวกเปรตนั้นในอดีตชาติอันยาวไกลโพ้น เคยเป็นพระญาติของพระองค์ ครั้งนั้นพระองค์พร้อมทั้งหมู่ญาติได้ตระเตรียมถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข ต่างก็ตระเตรียมการเป็นใหญ่ มีของเคี้ยวของฉันอันประณีตเตรียมไว้พร้อมมูล

เมื่อภิกษุสงฆ์ยังมิทันได้ฉันภัตตาหารนั้น พวกญาติบางพวกเกิดหิวขึ้นมา จึงหยิบเอาอาหารขึ้นมารับประทานก่อนภิกษุสงฆ์ ด้วยผลกรรมนั้นพวกเขาจึงเกิดเป็นเปรตเรียกว่า “ปรทัตตูชีวิต” (เปรตผู้อาศัยส่วนบุญที่คนเขาอุทิศให้ยังชีพ) เมื่อไม่มีญาติพี่น้องอุทิศส่วนบุญไปให้จึงผอมโซไปตลอดกาล ดังกรณีญาติของพระเจ้าพิมพิสารนี้

แต่เมื่อพระองค์ทรงอุทิศส่วนบุญไปให้ พวกเขาก็ได้รับดังกล่าวแล้ว ว่ากันว่านี้คือที่มาแห่งธรรมเนียมการทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ที่ถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้

@@@@@@

คุณค่าทางจริยธรรมที่ได้จากธรมเนียมนี้ก็คือ เป็นการสร้างสำนึกแห่งความละอายชั่วกลัวบาปได้อย่างดี ของที่เขาตั้งใจอุทิศถวายพระนั้นถือว่าเป็น “ของสงฆ์” ปู่ย่าตาทวดจะสอนลูกหลานมิให้แตะต้อง เพราะจะเป็นบาป ตายไปจะไปเกิดเป็นเปรต ใครจะหาว่าเอาเปรตมาขู่ก็ตามเถอะ มองอีกมุมหนึ่งนี่คือวิธีควบคุมจริยธรรมของคนให้มีหิริโอตตัปปะ รู้จักอายชั่วกลัวบาปได้อย่างดี

ผิดจากคุณสมัยนี้ อย่าว่าแต่อาหารเลย แม้สมบัติของสงฆ์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์เช่นที่ธรณีสงฆ์ ยังเอามาทำสนามกอล์ฟเลยครับ

เดิมทีคงเพียงตั้งใจอุทิศส่วนบุญเท่านั้นเอง ส่วนการจะเอาน้ำมารินอันเรียกว่า กรวดน้ำนั้น คงเพิ่มมาภายหลัง เพื่อให้เป็น “สัญลักษณ์” ตามธรรมเนียมของคนสมัยโน้น

อาจารย์บางท่านกล่าวว่า สมัยก่อนโน้น เขาใช้น้ำรินลงที่มือคนรับ ตั้งกรณีพระเวสสันดรตอนพระราชทานสองกุมารแก่พราหมณ์ชูชก ทรงยกคนโทน้ำรินน้ำลงที่มือของพราหมณ์ เป็นสัญลักษณ์ว่าให้เป็นการเด็ดขาด


@@@@@@

แต่ปัจจุบันนี้ใช้น้ำริน อันเรียกตามภาษา (ว่ากันว่าเขมร) “กรวด” จึงเรียกธรรมเนียมนี้ว่า “กรวดน้ำ”

แล้วก็มีระเบียบปฏิบัติว่า ให้รินน้ำตอนที่พระรูปแรกสวด “ยถา วาริวหา…” เมื่อพระสงฆ์รับพร้อมกัน ก็ให้รินน้ำที่ยังเหลือให้หมด แล้วประนมมือรับพรจากพระสงฆ์ โดยไม่ต้องเอานิ้วจับชายเสื้อของคนรินน้ำ

แบบนี้ก็เห็นจะมีเฉพาะวงการพุทธไทยอย่างที่ประเทศศรีลังกา พระท่านว่าอนุโมทนาพร้อมกัน ขณะรินน้ำ ก็เพียงตั้งจิตอุทิศกุศลเท่านั้น ไม่ต้องสวดอะไรให้รุงรัง

ถ้าจะกรวดน้ำโดยไม่มีพิธีการทำบุญอย่างอื่น เช่น ใส่บาตรแล้ว อุทิศส่วนบุญแล้ว ยังไม่สบายใจ คล้ายๆ จะขาดอะไรไปสักอย่างจะกรวดน้ำแถมท้าย โดยนำพุทธวจนะสั้นๆ มาสวดว่า “อิทํ โน ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” ก็ได้


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มกราคม 2563
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_265065
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ