ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เวลากรวดน้ำ นั้นทำไมต้องแตะแขนกันด้วย  (อ่าน 14819 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

wiriya

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 53
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ผมไปทำบุญที่วัด ก็ไม่ค่อยบ่อย แต่ทุกครั้งที่ทำบุญถวาย เครื่องไทยธรรม เสร็จ

ช่วงกรวดน้ำนั้น ก็จะกรวดน้ำกัน โดยมีที่ กรวด อยู่ ชุด หรือ สองชุด แล้วแต่

ก็จะนั่งจับกลุ่ม และจับแขนกัน เหมือนสะพานไฟฟ้า ไปยังคนที่กำลังกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล

พอดีผมกำลังทำ รายงานเรื่องประเพณี ในส่วนนี้ก็ยังหาข้อมูลไม่ได้

   1.ทำไม ต้องจับแขน แตะตัว กรวดน้ำ เป็นวิธีปฏิบัติ ที่ถูกหรือผิด

   2.ถ้าไม่แตะตัวกัน แตะแขน พนมมือเฉย ๆ และส่งจิตแทน จะได้หรือไม่

   3.ประเพณี แบบนี้ มีวิธีปฏิบัติ ในครั้งพุทธกาลหรือป่าว หรือ เป็นประเพณีไทย

   4.ถ้าเป็นประเพณีไทย มีหลักฐาน เช่นใด เริ่มปฏิบัติมาสมัยไหน

   5.การหลั่ง น้ำสิโนทก และ การกรวดน้ำ เหมือนกันหรือป่าว

 :c017: :c017: ขอบคุณล่วงหน้า ครับ

     :25: :25: :25:
บันทึกการเข้า
รักครอบครัว ห่วงลูกหลาน ต้องช่วยต้าน ภัยยาเสพติด
รักตนเอง หนีสงสาร ต้องภาวนาให้ มาก ๆๆๆๆๆ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: เวลากรวดน้ำ นั้นทำไมต้องแตะแขนกันด้วย
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 09, 2010, 03:11:37 pm »
0
การอุทิศส่วนกุศล
คัดลอก จากหนังสือ การอุทิศส่วนกุศล โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน


ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ ลูกทำสังฆทานให้ สัมภเวสี ถ้ากลับไปแล้วจะ กรวดน้ำ ให้ได้ไหมค่ะ...?

หลวงพ่อ : การอุทิศส่วนกุศล ในพระพุทธศาสนานี่ไม่มีน้ำ แต่ว่าที่ พระเจ้าพิมพิสาร ทำเป็นองค์แรก เพราะว่าศาสนาพราหมณ์เขาถือว่า ถ้าจะให้อะไรกับใคร ต้องให้คนนั้นแบมือแล้วเอาน้ำราดลงไป และตอนที่พระเจ้าพิมพิสารทำ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ห้ามเพราะเป็นพระเพณีนิยม

เวลาที่พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนกุศลต้องใช้น้ำ เพราะว่าท่านเพิ่งพบพระพุทธเจ้า ประเพณีของพราหมณ์ยังชินอยู่ แต่ว่าใจท่านตั้งตรง เวลาอุทิศส่วนกุศลจริงๆ ในพระพุทธศาสนาไม่ต้องใช้น้ำ ผีกับเปรตต้องรีบวิ่งกลับ เพราะไม่ได้กินแน่ เพราะฉันเคยพบมาแล้ว แต่ไม่มีน้ำนะว่า "อิมินา" เพลินไปยังไม่ถึงครึ่งก็มีคน ๒ คน ถือโซ่มาคล้องคอปั๊บลากไปเลย

ผู้ถาม : มีบางคนเขาบอกว่า "กรวดน้ำแบบแห้ง" ตายไปชาติหน้าจะแห้งแล้งเพราะไม่มีน้ำ โบราณพูดอย่างนี้จะจริงหรือเปล่าค่ะ...?

หลวงพ่อ : เขาพูดได้ยินหรือเปล่า คนที่พูดมาได้ยินหรือเปล่า... คนโบราณพูดอย่างนี้ คนโบราณเขาพูดหรือเปล่า... ถ้าได้ยินแสดงว่าเขาพูดจริง แต่ก็ไม่ได้แห้งแล้งจริง การอุทิศส่วน กุศล พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใช้น้ำ ฉันใช้น้ำวันเดียววันบวช ว่าไม่ถูกเลย ฉันไม่เคยใช้น้ำเลยก็เห็นผีได้รับ แต่ชาติหน้าถ้าจะทำอย่างนั้น ถ้าฉันยังไม่ตายก็ไม่ได้เหมือนกัน แต่ไม่เป็นไรนะ! กินน้ำเกลือเผื่ออยู่แล้ว เผื่อชาติหน้าจะอด!

ผู้ถาม : อ้อ..มินาล่ะ! หลวงพ่อถึงให้น้ำเกลือบ่อยๆ

หลวงพ่อ : ใช่! มีทั้งน้ำสะอาด น้ำเกลือ น้ำหวาน เผื่อไว้ตลอด

รวมความว่า เวลาจะอุทิศส่วนกุศล ให้ใช้ภาษาไทยสั้นๆ อย่างทำบุญสังฆทาน เราก็ตั้งใจว่า

"การบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ผลนี้จะมีแก่ข้าพเจ้าเพียงใด ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่ ...(บอกชื่อ)... ขอให้มาโมทนารับผลเช่นเดียวกับข้าพเจ้า"

และตอนที่พระสงฆ์ให้พรนี้ ก็ขอให้เจ้าภาพและทุกท่านที่บำเพ็ญกุศลแล้ว ตั้งจิตปราถนาเอาตามประสงค์ สมมติว่าท่านทั้งหลายตั้งใจเพื่อ "พระ นิพพาน" อันนี้ก็ต้องเผื่อไว้ด้วยว่าหากสมมติเราตายจากชาตินี้ไปแล้วยังไม่ถึงซึ่ง พระนิพพานเพียงไร สมมติว่าเราตาย ถ้าเราไม่เผื่อไว้ละก็มันจะขลุกขลัก

ฉะนั้นการอธิษฐานจิต คือตั้งจิตอธิษฐานเขาเรียกว่า "อธิษฐานบารมี" เจริญพระกรรมฐานก็ดี ถวายสังฆทานก็ดี อธิษฐานว่า


"ขอผลบุญนี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าถึงซึ่งพระนิพพานใน ชาติปัจจุบันนี้ แต่ทว่าถ้าหากข้าพเจ้าไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด จะเกิดใหม่ไปในชาติใดก็ตาม ขอคำว่า "ไม่มี" จงอย่าปรากฎแก่ข้าพเจ้า"

ถ้าเราต้องการอะไรให้มันมีทุกอย่าง จะไม่รวยมากก็ช่าง! เท่านี้ก็พอแล้ว...

ผู้ถาม : ถ้าทำบุญแล้ว ถ้าจะอุทิศส่วนกุศลภายหลังจะได้ไหมค่ะ...?

หลวงพ่อ : การทำบุญไปแล้วครั้งหนึ่งสักกี่ปี ๆ บุญก็ยังมีอยู่ ถ้าทำไปแล้วสัก ๓๐ ปี ก็ยังอุทิศส่วนกุศลได้ บุญมันไม่หาย ไม่ใช่เราทำบุญแล้วเดี๋ยวเดียวมันหายไปไม่ใช่อย่างนั้นนะ!

ผู้ถาม : แล้วถ้าเผื่อทำบุญแล้ว ไม่ได้อุทิศส่วนกุศลจะได้บุญเต็มที่ไหมค่ะ...?

หลวงพ่อ : ก็ได้เต็มที่อยู่แล้ว เราเป็นผู้ได้สมบูรณ์แบบ แต่อยู่ที่ว่าเราจะให้เขาหรือไม่ให้ การอุทิศส่วนกุศลนี่นะ ถ้าเราไม่ให้ เราก็กินคนเดียวใช่ไหม.. ทีนี้ถ้าเราให้เขาของเราก็ไม่หมดอีก ส่วนที่เราให้ไปไม่ได้ยุบไปจากของเดิม

อย่างเรื่องของ พระ อนุรุทธ สมัยที่ท่านเกิดเป็นคนเกี่ยวหญ้าช้างของมหาเศรษฐี เวลาที่ท่านทำบุญแล้วเจ้านายขอแบ่งบุญ ท่านก็สงสัยว่าการแบ่งบุญน่ะจะได้ไหม จึงไปถาม พระปัจเจกพุทธเจ้า ที่ท่านมารับบาตรนะ

ท่านก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า

"สมมติว่าโยมมีคบ แล้วก็มีไฟด้วย คนอื่นเขามีแต่คบไม่มีไฟ ทุกคนต้องการแสงสว่าง ก็มาขอต่อไฟที่คบของโยม แล้วคบทุกคนก็สว่างไสวหมด อยากทราบว่าไฟของคุณโยมจะยุบไปไหม...?"

ท่านอนุรุทธก็บอกว่าไม่ยุบ! แล้วท่านก็บอกว่า

"การอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนกัน ให้เขา เขาโมทนา
แต่ บุญของเราเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์"


เรื่องของการทำบุญนี้ เวลาทำผู้ที่เป็นเจ้าภาพได้ครบ เวลาอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย ถ้าผู้นั้นเขาได้มากสักเท่าใดก็ตามทีผลบุญของเราไม่ได้ลดลงเลย แต่ว่าการอุทิศส่วนกุศลมันเป็นผลกำไรของเราอีกทางหนึ่ง คือได้ เมตตาบารมี ทีนี้พวกเราก็ขยันให้กันบ่อยๆ เมตตาบารมี จะได้เต็มเร็วขึ้น.



อานิสงส์กรวดน้ำ

ในครั้งหนึ่ง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ เชตะวันมหาวิหาร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มีพราหมณ์ผู้หนึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถีนั้น มีทรัพย์สมบัติอยู่ 80 โกฎิ พราหมณ์ผู้นั้นมีบุตรชายอยู่คนหนึ่ง เป็นที่รักมากเพราะมีบุตรคนเดียว พอบุตรชายมีอายุได้ประมาณ 17 ปี ก็เกิดโรคาพยาธิมาเบียดเบียน ก็ถึงซึ่งความตายไป

พราหมณ์ผู้เป็นพ่อและแม่ บังเกิดความทุกขเวทยาโทมนัสเศร้าโศกเสียใจ เพราะอาลัยรักในบุตรที่ตายไปอย่างยิ่ง จึงให้สั่งคนใช้ที่เป็นบริวาร นำเอาศพไปเผาในป่าช้าและสั่งให้ปลูกศาลาขึ้นหนึ่งหลัง มีเสื่อสาดอาสนะ แล้วจัดทาสคนหนึ่งไปคอยปฏิบัติรักษาอยู่ในป่าช้านั้น เพื่อจะได้ส่งข้าวน้ำอาหารเข้าและเย็นให้แก่ลูกชายของตนทุก ๆ วันมิได้ขาด ทำเหมือนกับบุตรชายของตนมีชีวิตอยู่ ทาสผู้นั้นก็ทำตามคำสั่งอยู่เสมอมิได้ขาดเลยสักวันเดียว อยู่มาวันหนึ่ง

บังเอิญฝนตกหนักมากน้ำก็ท่วมหนทางที่จะไปนั้นทาสผู้นั้นจะข้ามไปก็ไม่ได้จึง กลับมาในระหว่างทางพบพระภิกษุรูปหนึ่งมาบิณฑบาตก็เลยเอาอาหารนั้นใส่บาตรให้ เป็น ทานแก่พระภิกษุ แล้วก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญนั้นส่งให้แก่ผู้ตาย ลูกชายที่ตายไปนั้นมานิมิตฝันให้พราหมณ์ผู้เป็นพ่อว่า ข้าพเจ้าได้ตายไปนานแล้วไม่เคยได้กินข้าวเลยสักวันเดียว เพิ่งจะมาได้กินข้าวแต่วันนี้วันเดียวเท่านั้น


ครั้นพราหมณ์ผู้เป็นพ่อได้นิมิตฝันอย่างนี้ก็ใช้ให้คนไปตามทาสผู้ไปคอยเฝ้า ปฏิบัติมาไถ่ถามดูทาสผู้นั้นก็ตอบว่าข้าพเจ้าไปส่งข้าวทุก ๆ วัน แต่วันนี้ข้าพเจ้าไปไม่ได้ฝนตกหนัก น้ำท่วมก็กลับมาพบพระภิกษุรูปหนึ่งมาบิณฑบาต ข้าพเจ้าก็เลยเอาข้าวนั้นใส่บาตร แก่ภิกษุรูปนั้น

แล้วอุทิศส่วนบุญนี้ไปให้บุตรของท่าน บุตรของท่านก็คงจะได้กินข้าวแต่วันนี้วันเดียวดังนี้แล ครั้นพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้วก็คิดว่าเราจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเสียก่อน จะทูลถามพระพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างไร พราหมณ์ก็ถือดอกไม้ธูปเทียนของหอมเข้าไปสู่สำนักพระพุทธเจ้าแล้วบูชาเครื่อง สักการะนั้น แล้วนั่งที่สมควรแก่ตน ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

"ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า คนหญิงชายทั้งหลายในโลกนั้นครั้นเขาตายไปปรโลกแล้วผู้อยู่ภายหลังได้ แต่งข้าทาสชายหญิงให้ไปปฏิบัติแล้วปลูกศาลาไว้ให้ เอาเสื่อสาดอาสนะช้างม้าวัวควายไปในป่าชั้นนั้น จะเป็นอานิสงส์แก่ผู้ภายไปนั้นหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า"

องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสพระธรรมเทศนาว่า

"ดูกรพราหมณ์จะให้เป็นอานิสงส์แก่ผู้ตายนั้น ควรถวายสังฆทานให้แก่ พระภิกษุสงฆ์สามเณร ตรวจน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลที่ตนได้กระทำนั้นให้แก่ผู้ตาย จึงจะเป็นผลอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาลผู้ที่ตายไปแล้วนั้นครั้นได้รับส่วน อุทิศอันให้แล้วก็จะพ้นทุกข์ทั้งมวลนั้นได้อย่างแน่แท้"

ครั้นพราหมณ์ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วก็ชื่นชมยินดีอย่างมาก แล้วทูลอาราธนาพระพุทธเจ้ากับทั้งพระภิกษุสงฆ์ไปสู่บ้านเรือนของตน เพื่อฉันภัตตาหารครั้นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ ฉันภัตตาหารเสร็จ ได้ถวายปัจจัย 4 มี จีวร เป็นต้น แล้วตรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปให้แก่ลูกชายของตน องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาว่า

"ดูกรพราหมณ์ตั้งแต่นี้ต่อไปอย่าได้ไปปฏิบัติ อยู่ในป่าช้านั้นอีกเลยท่าน จงรักษาศีลภาวนาอย่าได้ขาด บุตรของท่านก็จะได้พ้นทุกข์ ขึ้นไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์"


พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาจบลงแล้ว บุตรชายของพราหมณ์ผู้ตายไปแล้วนั้นก็พ้นจากเปรตวิสัยได้ไปอุบัติบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีวิมานทองสูง 12 โยชน์ มีนางฟ้าเทพอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวารพราหมณ์ผู้เป็นบิดาก็ตั้งอยู่ในศีล 5 ศีล 8 ตราบเท่าสิ้นชีวิตแล้วได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีปราสาททองและเทพกัญญา หนึ่งหมื่นเป็นบริวาร ดังนี้เป็นต้น

ที่มา  http://board.palungjit.com/f23/การอุทิศส่วนกุศล-โดย-หลวงพ่อพระราชพรหมยาน-248750.html#post3556291
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: เวลากรวดน้ำ นั้นทำไมต้องแตะแขนกันด้วย
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 09, 2010, 03:22:15 pm »
0
“กรวดน้ำ” ไม่ใช่แค่ อุทิศส่วนกุศล


คนไทยเป็นคนใจบุญสุนทาน นอกจากบางท่านจะถือศีลนั่งสมาธิด้วยตนเองเป็นประจำแล้ว เรามักมีการทำบุญต่างๆ ทั้งทำบุญย่อย เช่น ตักบาตร บริจาคทาน ปล่อยนกปล่อยปลา และทำบุญใหญ่ เช่น พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ พิธีทำบุญบ้าน พิธีทำบุญครบรอบวันตายบุพการีและพิธีทำบุญวันเกิด เป็นต้น และในการทำบุญ ทุกๆครั้ง ทุกๆ พิธีจะต้องมีการกรวดน้ำ เพื่ออุทิศผลบุญที่ได้กระทำในครั้งนี้ให้แก่ญาติสนิทมิตรสหายผู้ล่วงลับ และให้แก่เจ้ากรรมนายเวร เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้ประสบความสุขในสัมปรายภพ สิ้นอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน

ซึ่งการกรวดน้ำนั้นถ้าเป็นในการทำบุญใหญ่ เจ้าภาพจะต้องเตรียมน้ำและภาชนะสำหรับใช้กรวดน้ำให้พร้อมสรรพสักหลายๆ ชุด คะเนให้พอเหมาะกับจำนวน แขกว่าจะกรวดน้ำกันกี่กลุ่ม

โดยภาชนะที่ใช้ในการกรวดน้ำอาจเป็นชุดกรวดน้ำที่วางขายทั่วไปตามร้านสังฆ ภัณฑ์ เป็นคนโทใบน้อย รูปร่างคล้ายน้ำต้น ทำด้วยทองเหลือง พร้อมจอกทองเหลืองใบเล็กสำหรับรองรับน้ำที่กรวด หรืออาจเป็นแก้วน้ำ ๑ ใบ พร้อมจานหรือถาดสำหรับรับน้ำก็ย่อมได้

การกรวดน้ำจะกระทำเมื่อเสร็จพิธีทำบุญ และพระภิกษุองค์ที่เป็นประธานในพิธีจะสวดนำการกรวดน้ำว่า “ยถา วาริวหา ปุราปริปูเรนฺติ.....” และว่าต่อไปอีกยืดยาว ผู้กรวดน้ำก็เริ่มค่อยๆ เทรินน้ำลงภาชนะรองรับผ่านนิ้วมือของตน

พร้อมกับตั้งจิตอุทิตส่วนกุศลไปด้วย และถือกันว่าการเทน้ำเมื่อกรวดนั้นต้องมิให้น้ำขาดสายจะรินๆหยุดๆ ไม่ได้ ต้องค่อยๆรินน้ำเรื่อยไปให้พอดีกับพระคาถา “ยถา” จบ เมื่อพระองค์รองรับว่า “สัพพี.....” น้ำก็หมดพอดี หรือถ้ายังไม่หมดก็เทให้หมดตอนนั้น

ในงานบุญพิธีที่เจ้าภาพและแขกมีความสนิทสนมเป็นกันเอง บรรยากาศตอนกรวดน้ำจะดูสนุกสนานครึกครื้น โดยเมื่อใกล้เวลาที่จะต้องกรวดน้ำก็จะพากันมานั่งรวมกลุ่มเตรียมเครื่องกรวด น้ำกันไว้ ซึ่งบางทีก็เป็นแก้วน้ำดื่ม และจานหรือถาดเล็กๆ ที่คว้าเอาแถวนั้น แล้วก็จะเรียกหากันให้มาร่วมกรวดน้ำ บางคนอยู่ในครัวก็ต้องรีบวางมือมา เด็กเล็กตัวเล็กตัวน้อยกำลังเล่นอยู่ พ่อแม่ก็จะเรียกมา กรวดน้ำ เพราะถือกันว่า เมื่อทำบุญแล้วก็ต้องอุทิศส่วนกุศลด้วย จึงจะครบถ้วนกระบวนความ

เมื่อรวมกลุ่มกันได้ ก็จะมีคนคนหนึ่งถือเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ถือเครื่องกรวดน้ำ ส่วนคนอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันบางคนอยู่ใกล้ก็เอาปลายนิ้วสักนิ้วหนึ่งไปวางไว้ใต้นิ้วของ ผู้กรวดน้ำ เพื่อรอสัมผัสน้ำที่กรวด

ครั้นมีนิ้วมือหลายนิ้วของคนหลายคนไปกระจุกรอน้ำกันอยู่จนไม่มีที่อีก คนถัดๆมาก็จะเปลี่ยนเป็นแตะมือ แตะแขน แตะเสื้อผ้าของผู้กรวดน้ำ แต่ถ้าวงกรวดน้ำใหญ่มากเข้าไม่ถึงตัว ก็เปลี่ยนมาแตะตัวคนอื่นในวงแทน หรืออาจแยกไปตั้งกลุ่มกรวดน้ำใหม่ต่างหากเลยก็ได้ การสวดที่พระองค์แรกขึ้นต้นว่า “ยถา” และพระองค์รองรับว่า “สัพพี” นี้ มีคำเรียกเป็นสามัญว่า “ยถาสัพพี”

สำหรับญาติโยม ในขณะกรวดน้ำจะมีคำคาถาภาษาบาลีสำหรับว่าในตอนนั้นด้วย ขึ้นต้นว่า ยงฺกิญฺจิ กุสลํ กมฺมํ..... แปล ว่า “การกระทำที่เป็นกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งสัตว์จะพึงกระทำด้วยกาย วาจาและใจ อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในไตรทศเทวสถานโดยง่าย เราได้ทำแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดทั้งที่มีสัญญาและไม่มีสัญญา

ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่เราทำแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่รู้แล้วว่าเราให้ส่วนบุญก็จงรับส่วนบุญนั้น ที่ยังไม่รู้ขอให้เทพยดาจงช่วยไปบอกให้รู้ สัตว์ทั้งหลายในโลกที่เลี้ยงชีวิตด้วยอาหาร ขอจงได้อาหารที่ชอบใจด้วยจิตอุทิศให้ของเราเถิด”

เมื่อกล่าวคาถาบาลีนี้แล้ว ก็ตั้งจิตรำลึกว่า จะอุทิศผลบุญนี้ให้แก่ใคร หรือหากจะอุทิศผลบุญนั้นโดยทั่วไปไม่ระบุเจาะจง ก็ให้กล่าวว่า “อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” แปลว่า “ขอผลทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุข”

แต่สำหรับบางท่านที่จำคาถาบาลีที่ต้องกล่าวตอนกรวดน้ำไม่ได้ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพียงตั้งจิตอธิษฐานด้วยข้อความตามแต่จะนึกได้ เช่น ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้ทำในครั้งนี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ญาติสนิทมิตรสหายผู้ล่วงลับ หรืออาจจะบุชื่อผู้รับผลบุญก็ได้ ขอให้เขาเหล่านั้นจงเป็นสุข อย่าได้ทุกข์กายทุกข์ใจเลย...และกล่าวต่อไปคล้ายกับการแผ่เมตตาก็ได้

ทั้งนี้เพราะบท คาถาบาลีไม่ใช่ข้อใหญ่ใจความสำคัญในการกรวดน้ำ สิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่จิตเจตนา คนเรามีใจเป็นประธาน หากใจไม่มุ่งมั่น ต่อให้ท่องจำคาถาได้ขึ้นใจ ก็ไม่ได้ผลเท่ากับคนที่ตั้งมั่น

เมื่อกรวดน้ำและกล่าวคำอุทิศส่วนกุศลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ จะนำน้ำที่กรวดนั้นไปเทลงที่พื้นดินนอกชายคาบ้าน คือ กลางแจ้ง และนิยมกันว่าจะเทลงที่โคนต้นไม้ เพื่อที่ให้น้ำนั้นได้บำรุงเลี้ยงต้นไม้ให้เจริญงอกงามต่อไป ด้วย ซึ่งต้นไม้ที่จะนำน้ำไปเทที่โคนต้นนั้น มิได้เฉพาะเจาะจง จะเป็นต้นอะไรก็ได้ แต่บางท่านก็ทำตนเป็นเจ้ากรมพิธีการ คือกำหนดรูปแบบให้ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น

ด้วยการกำหนดว่าควรรดที่ต้นไม้มงคล อาทิต้นสัก ต้นวาสนา ต้นขนุน ต้นมะยม ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ถ้ามีอยู่ในบ้านที่ทำบุญก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีขอแนะนำว่า เป็นต้นอะไรก็ได้ รดไปเถิด เพราะหัวใจต้นเหตุแห่งบุญกุศล เราได้ทำไปแล้ว ขั้นตอนนี้เป็นเพียงตอนจบของพิธีกรรมเท่านั้น

เหตุที่ต้องให้เอาน้ำจากการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลรดลงยังพื้นดินนั้น ก็เพื่อให้แม่พระธรณีได้รับรู้และเป็นพยานในการอุทิศส่วนกุศล เพราะแม่พระธรณีคือเทพแห่งแผ่นดิน คำว่า“ธรณี” แปลว่า โลก ดิน แผ่นดิน

แม่พระธรณีมีพระฉวีสีดำ ดวงพระพักตร์รูปไข่ มวยพระเกศาสีครามเหมือนกลุ่มเมฆ เนตรสีดั่งบัวสายสีน้ำเงิน ทรงพระสิริโฉมงดงามทั่วสรรพางค์กาย มีพระทัยเยือกเย็นไม่หวั่นไหว ทำหน้าที่ดังมารดาเลี้ยงโลก และคอยรับน้ำที่มีผู้กรวดน้ำเก็บไว้ในมวยพระเกศา

ความจริงแล้วแม่พระธรณีเป็นอรูปคือไม่มีตัวตน เมื่อเกิดเหตุสำคัญจึงปรากฏเป็นตัวตนขึ้น เช่น เมื่อครั้งพญาวสวัตตีมารเข้าขัดขวางมิให้พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีธรรมบรรลุ โพธิญาณ โดยอ้างว่ารัตนบัลลังก์ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่นั้นเป็นของตน ให้ลุกไปเสีย เมื่อพระพุทธจ้าตรัสถามหาพยาน พญาวสวัตตีมารก็อ้างเอาหมู่มารปีศาจทั้งหลายซึ่งมีจิตอกุศลเป็นพยาน เหล่ามารก็รับสมอ้างเป็นพยานสิ้น

แล้วพญาวสวัตตีมารก็ถามหาพยานฝ่ายพระพุทธเจ้า พระพุทธ-องค์จึงตรัสว่า รัตนบัลลังก์นี้เป็นของพระองค์ เกิดขึ้นเป็นผลแห่งพระโพธิญาณ หากชาติใดไม่บำเพ็ญกุศล ก็จะไม่เกิดมีขึ้น และพยานที่พญาวสวัตตีมารอ้างมานั้น ล้วนแต่มีเจตนาคือ มีจิตใจเอนเอียงด้วยเหตุต่างๆ แต่พระองค์นั้นจะขออ้างเอาแม่พระธรณีผู้ปราศจากเจตนาเป็นพยาน แล้วทรงร้องเรียกแม่พระธรณี


แม่พระธรณีก็อุบัติขึ้นเป็นรูปนารีผุดขึ้นจากพื้นพสุธา กล่าวเป็นพยานว่า น้ำทักษิโณทกที่พระพุทธเจ้าทรงหลั่งเมื่อบำเพ็ญทานบารมีทุกพระชาติรวมกันนี้ มากมายเหลือคณานับ เฉพาะพระชาติพระเวสสันดรชาติเดียวก็มากนักหนา

ซึ่งเราจะแสดงให้ประจักษ์บัดนี้ ตรัสแล้วแม่พระธรณีก็บิดมวยพระเกศาเกิดเป็นกระแสธารพัดพาเอาหมู่มารลอยไป สิ้น จากตำนานเรื่องนี้คนจึงนิยมที่จะกรวดน้ำเพื่อให้แม่พระธรณีเป็นพยานในผลบุญ

นอกจากในเรื่องแม่พระธรณีบีบมวยผมดังกล่าว ในสมัยพุทธกาลก็ปรากฏว่าได้มีการกรวดน้ำ คือ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก ก็ทรงหลั่งทักษิโณทกอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับไป การกรวดน้ำจึงถือเป็น ประเพณีทำสืบต่อกันมา

โดยความมุ่งหมายของการกรวดน้ำมีอยู่ ๓ ประการ คือ

1. เป็นการแสดงกิริยายกให้ เช่น ของที่ใหญ่โตเกินไปไม่สามารถหยิบยกให้ได้ ก็จะใช้วิธีหลั่งน้ำใส่มือผู้รับ หรือหลั่งลงบนแผ่นดิน ดังเช่น ตอนพระเวสสันดรพระราชทานช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์ ช้างคู่บ้านคู่เมืองคู่บุญบารมีของพระองค์แด่พราหมณ์ ก็ทรงหลั่งน้ำบนมือพราหมณ์

2. เป็นการตั้งปรารถนาให้ผลบุญที่ทำไป จงอำนวยให้ประสบผลสมกับที่อนุโมทนา

3. เพื่อให้การทำบุญครั้งนี้เป็นปัตติทานมัย แสดงความเป็นผู้ไม่ตระหนี่ในผลบุญ และอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่สรรพสัตว์


นอกจากการกรวดน้ำในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังมีการกรวดน้ำอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแม้จะเรียกว่ากรวดน้ำ แต่ก็แตกต่างโดยสิ้นเชิงในด้านวัตถุประสงค์ เพียงแต่มีรูปแบบวิธีการที่คล้ายคลึงกัน จึงเรียกว่ากรวดน้ำ ตามอย่างการกรวดน้ำในงานบุญประเพณี ซึ่งการกรวดน้ำแบบนี้ผู้กรวดจะตั้งสัตย์อธิษฐาน ยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นความดีงามเป็นที่ตั้ง

เช่น อธิษฐานเอาบุญบารมีที่ได้ทำมา หรืออธิษฐานเอาสัจจวาจาเป็นที่ตั้ง เพื่อดลให้ความปรารถนาของตนสมประสงค์ หรือเพื่อประกาศเจตนารมณ์ อย่างเช่นเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพด้วยการหลั่งน้ำ ทักษิโณทกลงเหนือแผ่นดินที่เมืองแครง เป็นต้น

ในสำนวนไทยมีสำนวนเกี่ยวกับการกรวดน้ำว่า“กรวดน้ำคว่ำขัน” หรือ “กรวดน้ำคว่ำกะลา” ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับสำนวน “คว่ำบาตร” แปลว่า ถือเป็น เด็ดขาดว่าจะไม่สมาคมด้วย มีที่มาจาก เมื่อใส่บาตรพระและพระรับบาตรแล้ว ท่านก็คว่ำบาตรเทของที่คนใส่บาตรนั้นทิ้งเสีย เขาก็จะไม่ได้บุญ

เช่นเดียวกันเมื่อกรวดน้ำเสร็จ หากคว่ำขันหรือกะลาซึ่งหมายถึงภาชนะที่รองรับน้ำทิ้งเสีย ก็จะไม่ได้บุญเช่นกัน เพราะมิได้รินรดให้แม่พระธรณีได้ประจักษ์ในผลบุญนั้น

อย่างไรก็ดี การกรวดน้ำนับเป็นวัฒนธรรมอันดีงาม แสดงออกถึงจิตใจงดงาม บริสุทธิ์ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ตระหนี่ในผลบุญ ดังนั้นผู้ที่ได้ทำบุญกรวดน้ำแล้วมักจะมีหน้าตาผ่องใสมีราศี เนื่องด้วยผลจากที่จิตใจอิ่มเอิบอิ่มบุญนั่นเอง

(จากหนังสือหมื่นร้อยพันผสาน ของกรมศิลปากร)

ที่มา  http://board.palungjit.com/f8/“กรวดน้ำ”-ไม่ใช่แค่-อุทิศส่วนกุศล-195446.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: เวลากรวดน้ำ นั้นทำไมต้องแตะแขนกันด้วย
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 09, 2010, 03:28:13 pm »
0
มากรวดน้ำและทำบุญร่วมชาติ กันหน่อยเร็วๆ

“ สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน
เพราะเป็นสิ่งที่ ล่วงไปแล้ว อย่างแท้จริง
แม้กระทำความผูกพัน และหมายมั่น
ให้สิ่งนั้น กลับมาเป็นปัจจุบัน ก็เป็นไปไม่ได้

ผู้ทำความสำคัญ มั่นหมายนั้น เป็นทุกข์แต่ผู้เดียว
โดยความไม่สมหวัง ตลอดไป อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น
เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยว เกี่ยวข้องเช่นกัน ”


“ อดีตปล่อยไว้ตามอดีต
อนาคตปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้
เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย ”


(คำสอนของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต)...สาธุ..

* * * * * * * * * * * * * * *

........แฮ่ะๆๆ.........
วันนี้ข้าน้อย นามว่าตาติ๊ก
นำพระธรรม คำสอน มาเกริ่นนำ ซ้ะเทห์เชียว น๊ะเนี๊ยะ.
แต่ซักประเดี๋ยว พระธรรมะ ก็ตะบะแตกตามเคย..
ตามสไตล์ ของตาติ๊ก เหมียนเดิมน่ะ...ไม่ต้องเครียดหรอก
เห็นว่าดี ก็เลยเก็บมาฝาก พี่น้อง ผองเพื่อน....
เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง และถ้าชาติหน้ามีจริง
ก็จะได้ มาเป็นเพื่อนกันอีกไงล่ะ....เน๊าะๆ

แถมท้ายด้วย เรื่อง
ความเป็นมาของการ "กรวดน้ำ"
มาเล่าสู่กันฟัง .....เอ๊า.เชิญ...ตามมา...เร็วๆๆ

เรื่องมีอยู่ว่า............กาลครั้งหนึ่ง.....แถ่มแทม.......

พระเจ้าพิมพิสาร เป็นกษัตริย์ครองเมืองราชคฤห์แคว้นมคธ
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ออกผนวช
ที่ปัณฑวบรรพต แคว้นมคธ ก็จึงเสด็จไปนมัสการ
และชักชวนให้ สละเพศบรรพชิต มาครองราชย์ด้วยกัน
แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ จากเจ้าชายสิทธัตถะ....
เมื่อได้รับคำปฏิเสธ จึงขอคำปฏิญญาว่า
หากทรงค้นพบ สิ่งที่แสวงหาเ มื่อใด
ขอให้มาสอนพระองค์เป็นคนแรก

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้า เมื่อโปรดปัญจวัคคีย์
โปรดพระยสะ และสหาย มีพระอรหันต์ จำนวน ๖๐ องค์
ทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ยังแคว้นต่าง ๆ แล้ว
พระองค์จึงเสด็จ มุ่งตรงไปยังเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
เพื่อเปลื้องคำปฏิญญา ที่ประทานให้กับ พระเจ้าพิมพิสาร นั่นเอง

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า
พระเจ้าพิมพิสาร เป็นผู้นำแคว้นใหญ่
ถ้าพระเจ้าพิมพิสาร ทรงเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนาแล้ว
ประชาชนคนอื่น ๆ ก็จะดำเนินรอยตาม
ทรงดำริเช่นนี้จึงเสด็จไปยังเมืองราชคฤห์ ........

สมัยนั้นพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมือง
ทรงเคารพนับถือ ชฏิล สามพี่น้อง อยู่
พระองค์ จึงต้องไปโปรด สามพี่น้อง ซ้ะก่อน

เมื่อพระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมโปรด ชฎิล สามพี่น้อง
ก็ได้สละลัทธิความเชื่อดังเดิมนั้น มาเป็นสาวกของพระองค์
แล้วก็ได้พา สาวกใหม่ จำนวน 1000 รูป
ไปพักยังสวนตาลหนุ่ม ใกล้เมืองราชคฤห์

เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร ได้สดับข่าวนี้
จึงเสด็จพร้อมประชาชนจำนวนมาก
ไปยังสวนตาลหนุ่ม ก็ได้เห็นอาจารย์ของตน นั่งคุกเข่า
ครองอัญชลี (ประนมมือไหว้) ต่อพระพุทธเจ้า
ประกาศเหตุผล ที่สละลัทธิความเชื่อถือเดิม
หันมานับถือพระพุทธศาสนา ก็จึงหายสงสัย
ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว นับถือพระรัตนตรัย
และถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า พร้อมภิกษุสงฆ์
ที่พระราชวังในวันรุ่งขึ้น

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็ถวายสวนไผ่นอกเมือง
ให้เป็นวัดแห่งแรก ในพระพุทธศาสนา
เรียกว่า วัดเวฬุวัน



พระเจ้าพิมพิสารเลื่อมใส ทรงหลั่งน้ำ
ถวายวัดเวฬุวันเป็นปฐมสังฆาราม



หลังจากถวายวัดเวฬุวันแล้วคืนนั้น
พระเจ้าพิมพิสารทรงฝันร้าย
เห็นพวกเปรตมาร่ำร้องอยู่ต่อหน้า
น่าเกลียดน่ากลัวมาก รุ่งเช้าขึ้นมา
พระองค์เสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อทรงทราบว่าเปรตเหล่านั้น
เคยเป็นพระญาติของพระองค์
มาขอส่วน บุญ และได้รับคำแนะนำให้
กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้พวกเขา



วันต่อมาพระเจ้าพิมพิสาร
จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์
ไปเสวยภัตตาหารในพระราชวัง
แล้ว กรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล
แก่พวกเปรตเหล่านั้น ตกดึกคืนนั้น
พวกเปรตมาปรากฏโฉมอีก
แต่คราวนี้หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส
ขอบคุณที่แบ่งส่วนบุญให้
แล้วก็อันตรธานหายวับไป

*************************
สำหรับ เรื่อง กรวดน้ำ นี้
( ท่าน ว.วัชรเมธี) พระมหาวุฒิชัย
เคยตอบคำถามของญาติโยม เอาไว้ว่า

“ การกรวดน้ำ ”

เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการทำบุญ
เมื่อปักใจถวายหรือให้ทานอะไรแล้วก็ตาม
ถ้าอยากให้ผลบุญที่เกิดขึ้นไปตกอยู่ที่ใคร
ก็ให้ตั้งจิตอธิษฐานแล้วกรวดน้ำไปให้


(ว่าแล้วท่านก็ยกตัวอย่าง เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร ขึ้นมา
จากชาดกที่สาธยายมาข้างบนนั้น พระเจ้าพิมพิสาร
ทำบุญ ถวายวัดเวฬุวันแด่พระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้อุทิศ
ส่วนบุญส่วนกุศลให้ใคร เหล่าญาติที่เป็นเปรตจึงมาเข้าฝัน
พระพุทธเจ้าจึงแนะนำให้กรวดน้ำ แผ่ส่วนกุศลไปให้ดังกล่าว )

ท่าน ว. ได้อธิบายให้ญาติธรรมฟังต่อว่า
“ ถ้าเราทำบุญโดยตั้งจิตอธิษฐานให้ใครอยู่แล้ว
จะกรวดน้ำหรือไม่ ส่วนบุญนั้นก็ไปถึง
จุดหมายปลายทางอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่จะถึงผู้รับ
ไม่ใช่ “น้ำ” แต่เป็น “เจตนา”
แต่ถ้าจะกรวดน้ำ ก็ดี พิธีกรรมจะทำให้
เราตั้งสมาธิได้แน่วแน่ยิ่งขึ้น ”


**********************
เพราะฉะนั้น อย่าไปเข้มงวดกวดขัน
กับ ลูกๆ หลานๆ ว่า " ต้อง" มากรวดน้ำ
ต้องมาแตะไหล่ แตะเอว เวลาทำพิธีกรวดน้ำ..เด้อ
(เดี๋ยวบุญไม่ไหลไปถึง ทำอย่างกับบุญมันไหลไปตามแขนตามขาได้)
ขอแค่...ตั้งจิตอธิษฐานอุทิศหรือแผ่ส่วนกุศลไปให้ ก็ใช้ได้แล้ว

เพราะถ้าส่วนบุญ ที่จะไปถึงผู้รับขึ้นอยู่กับ "น้ำ"
เราอาจลำบากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่
เพราะถ้ามีญาติเป็นเปรตเยอะ
คงต้องกรวดน้ำกันแบบนี้แน่ๆเลย..ฮิฮิ



ท้ายนี้ ขอนำเพลงนี้ มาฝากพี่น้องทุกท่าน..เด้อ..
และขอให้มีความสุข กันทุกๆคน ทั่วๆกัน เชียว..จุ๊บๆๆ


เพลง  ทำบุญร่วมชาติ / ชาย เมืองสิงห์

ชาติก่อนเราเพียง คู่เคียง เก็บดอกไม้ร่วมต้น
แต่ว่าเราสองคน ไม่สนใจ ใส่บาตรร่วมขัน
ชาตินี้เราสอง เราสอง จึงต้องโศกศัลย์
รักกันชอบกัน ไม่ได้กัน บุญเรานั้นไม่มี

พี่จะทำบุญ ก่อทุน ไว้ตามน้องชาติหน้า
ชาตินี้พี่ต้องลา ก่อนหนา น้องจ๋าคนดี
ก่อนลาน้องจ๋า น้องจ๋า จงได้ปราณี
ขอหอมซักที เถิดคนดี ก่อนพี่จะจากไป

พี่จากน้องไป น้องเอ๋ย อย่าได้กังวล
พี่จะอุทิศตน โกนหัว นุ่งห่มผ้าไตร
อโหสิกรรม เถิดหนา ถ้าพี่พลั้งไป
บุญมีพบกันชาติใหม่ อย่าได้ อย่าได้อาวรณ์

พี่บวชเป็นพระ จะมา บิณทบาตรโปรดเจ้า
ถ้าหากนงเยาว์ ใส่ข้าว พี่ก็จะให้พร
ชาตินี้วันนี้ บุญพี่ ไม่ถึงบังอร
ขอลางามงอน ด้วยอาวรณ์ ด้วยรักซ้อน พี่อ่อนใจ

SOLO 15 bars..14...15...

พี่จากน้องไป น้องเอ๋ย อย่าได้กังวล
พี่จะอุทิศตน โกนหัว นุ่งห่มผ้าไตร
อโหสิกรรม เถิดหนา ถ้าพี่พลั้งไป
บุญมีพบกันชาติใหม่ อย่าได้ อย่าได้อาวรณ์

พี่บวชเป็นพระ จะมา บิณทบาตรโปรดเจ้า
ถ้าหากนงเยาว์ ใส่ข้าว พี่ก็จะให้พร
ชาตินี้วันนี้ บุญพี่ ไม่ถึงบังอร
ขอลางามงอน ด้วยอาวรณ์ ด้วยรักซ้อน พี่อ่อนใจ


ที่มา  http://gotoknow.org/blog/tata-tick/269055
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: เวลากรวดน้ำ นั้นทำไมต้องแตะแขนกันด้วย
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: สิงหาคม 09, 2010, 03:41:34 pm »
0
ตอบคำถามครับ

1.ทำไม ต้องจับแขน แตะตัว กรวดน้ำ เป็นวิธีปฏิบัติ ที่ถูกหรือผิด

อยากให้มองว่า ถูกหรือผิด เป็นเรื่องของกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือวินัย ที่มีบทลงโทษ

สิ่งนี้ควรจะเป็น สิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบๆกันมาจนเป็นแบบแผน ที่สังคมส่วนหนึ่งยอมรับ เราไม่สามารถเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน ตัดสินถูกหรือผิดได้
 
ผมไม่กล้าบอกว่าเป็นประเพณี เพราะอย่างน้อยในพระไตรปิฎกไม่ปรากฏว่ามีเรื่องนี้


   2.ถ้าไม่แตะตัวกัน แตะแขน พนมมือเฉย ๆ และส่งจิตแทน จะได้หรือไม่

ขอตอบว่าได้ จากบทความที่ผมได้นำเสนอไป ให้อธิษฐานในใจได้ครับ

3.ประเพณี แบบนี้ มีวิธีปฏิบัติ ในครั้งพุทธกาลหรือป่าว หรือ เป็นประเพณีไทย
    
การกรวดน้ำมีมาก่อนพุทธกาล แต่การแตะตัว แตะแขน ในพุทธกาลไม่ปรากฏว่ามีการทำแบบนี้ ส่วนเป็นประเพณีไทย หรือไม่  ตอบไม่ได้ครับ เอาเป็นว่า คนส่วนหนึ่งนิยมทำกัน

4.ถ้าเป็นประเพณีไทย มีหลักฐาน เช่นใด เริ่มปฏิบัติมาสมัยไหน

    ตอบไปแล้วในข้อ 3 แต่ถ้าจะถามว่าปฏิบัติแบบนี้มาตั้งแต่สมัยไหน
    คำถามนี้หนักเกินไป ที่ผมจะตอบ คุณวิริยา ควรต้องไปค้นคว้าหนังสือหลายๆเล่ม


   5.การหลั่ง น้ำสิโนทก และ การกรวดน้ำ เหมือนกันหรือป่าว

ทักษิโณทก น. นํ้าที่หลั่งในเวลาทําทานเพื่ออุทิศผลให้แก่ผู้ตาย, นํ้าที่หลั่งลงเป็นการแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด,
 
นํ้ากรวด คือ นํ้าที่ใช้แทนสิ่งของที่ให้ซึ่งใหญ่โตหรือไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้ เช่นวัด ศาลา บุญกุศล เป็นต้น,

เมื่อเป็นชื่อของพระเต้า เรียกย่อว่า พระเต้าษิโณทก. (ส.).


ที่มา  พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

   อย่างไรก็ตาม การหลั่งน้ำทักษิโณทก ของพระนเรศวร ในหนังสือ “เคล็ดไม่ลับในการเข้าวัด”ของพระพยอม กัลยาโณ ได้กล่าวไว้ว่า 

“เป็นการตั้งความปรารถนา” ถือว่าเป็นความมุ่งหมายของการกรวดน้ำเช่นกัน




ขอแนะนำให้คุณวิริยา ไปอ่านหนังสือเล่มนี้



ที่กระทู้ของหมวยนีย์ ตามลิงค์นี้ครับ
การประเคนของพระ ทำไมต้องผ่านการวางผ้า คะ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=842.0

บทความที่โพสต์นี้คุณวิริยา อาจทราบมาก่อนแล้ว ต้องขออภัย

ขอให้ถือว่า ให้คนไม่เคยทราบ ได้ทราบก็แล้วกัน

บางคำถามผมจะตอบแบบออมๆหน่อย เพื่อให้คุณวิริยาใช้

"โยนิโสมนสิการ" หรือ พิจารณาอย่างแยบคลาย เอาเอง

เพราะนี้เป็นเพียง คุยเป็นเพื่อนเท่านั้น


ขอให้ได้เกรด A+นะครับ
 :25: :25: :25:
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
เพลง"ทำบุญร่วมชาติ" - ชาย เมืองสิงห์
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: สิงหาคม 09, 2010, 03:51:21 pm »
0




เพลง  ทำบุญร่วมชาติ
คำร้อง/ทำนอง  สมเศียร  พานทอง
ขับร้อง  ชาย เมืองสิงห์

ชาติก่อนเราเพียง คู่เคียง เก็บดอกไม้ร่วมต้น
แต่ว่าเราสองคน ไม่สนใจ ใส่บาตรร่วมขัน
ชาตินี้เราสอง เราสอง จึงต้องโศกศัลย์
รักกันชอบกัน ไม่ได้กัน บุญเรานั้นไม่มี

พี่จะทำบุญ ก่อทุน ไว้ตามน้องชาติหน้า
ชาตินี้พี่ต้องลา ก่อนหนา น้องจ๋าคนดี
ก่อนลาน้องจ๋า น้องจ๋า จงได้ปราณี
ขอหอมซักที เถิดคนดี ก่อนพี่จะจากไป

พี่จากน้องไป น้องเอ๋ย อย่าได้กังวล
พี่จะอุทิศตน โกนหัว นุ่งห่มผ้าไตร
อโหสิกรรม เถิดหนา ถ้าพี่พลั้งไป
บุญมีพบกันชาติใหม่ อย่าได้ อย่าได้อาวรณ์

พี่บวชเป็นพระ จะมา บิณทบาตรโปรดเจ้า
ถ้าหากนงเยาว์ ใส่ข้าว พี่ก็จะให้พร
ชาตินี้วันนี้ บุญพี่ ไม่ถึงบังอร
ขอลางามงอน ด้วยอาวรณ์ ด้วยรักซ้อน พี่อ่อนใจ


SOLO 15 bars..14...15...

พี่จากน้องไป น้องเอ๋ย อย่าได้กังวล
พี่จะอุทิศตน โกนหัว นุ่งห่มผ้าไตร
อโหสิกรรม เถิดหนา ถ้าพี่พลั้งไป
บุญมีพบกันชาติใหม่ อย่าได้ อย่าได้อาวรณ์

พี่บวชเป็นพระ จะมา บิณทบาตรโปรดเจ้า
ถ้าหากนงเยาว์ ใส่ข้าว พี่ก็จะให้พร
ชาตินี้วันนี้ บุญพี่ ไม่ถึงบังอร
ขอลางามงอน ด้วยอาวรณ์ ด้วยรักซ้อน พี่อ่อนใจ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 09, 2010, 03:54:48 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ประสิทธิ์

  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +14/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 639
  • จิตว่าง ก็เป็นสุข
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: เวลากรวดน้ำ นั้นทำไมต้องแตะแขนกันด้วย
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: มกราคม 05, 2011, 02:07:50 pm »
0
อาจจะเพราะเป็นสะพานเชื่อมใจ ต่อใจก็ได้นะครับ

 :25:
บันทึกการเข้า
ใครชอบ ใครชัง ช่างเถิด
ใครเชิด ใครชู ช่างเขา
ใครด่า ใครบ่น ทนเอา
ใจเรา ร่มเย็น เป็นพอ

:;