ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เยือน “สกลนคร” เข้าวัดเข้าวา เที่ยวป่าเที่ยวเขา ชมวิถีคริสตชน บนแผ่นดินพ่อหลวง  (อ่าน 817 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ประตูเมืองสกลนคร

เยือน “สกลนคร” เข้าวัดเข้าวา เที่ยวป่าเที่ยวเขา ชมวิถีคริสตชน บนแผ่นดินพ่อหลวง

        ทางภาคอีสานของเรานั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่จะได้เรียนรู้อารยธรรมโบราณต่างๆ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และยังเป็นพื้นที่ในตำนานทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวในภาคอีสานนั้นเป็นการท่องเที่ยวที่หลากหลายสไตล์ ตามความชื่นชอบของนักท่องเที่ยว
       
       อย่างในครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” มีโอกาสมาเยือนอีกหนึ่งจังหวัดที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย นั่นก็คือ “สกลนคร”
       
       ด้วยระยะทางที่ห่างจากกรุงเทพมหานครกว่า 600 กิโลเมตร แต่การเดินทางมาจังหวัดนี้ก็เรียกว่าสะดวกสบาย สามารถโดยสารรถยนต์ส่วนตัว หรือจะเลือกนั่งรถประจำทางก็มีหลายบริษัทที่ให้บริการ แถมตอนนี้ยังมีเครื่องบินบินตรงมาลงที่สนามบินสกลนครอีกด้วย


พระธาตุเชิงชุม พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสกลนคร

        สำหรับทริปการท่องเที่ยวในสกลนครครั้งนี้ ขอเริ่มต้นกับที่ “ประตูเมืองสกลนคร” หรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า “ประติมากรรมหนองหารหลวง” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางเข้าเมืองสกลนคร สุดถนนสกลนคร-อุดรธานี หระตูเมืองแห่งนี้ตั้งเด่นเป็นสง่า ใครผ่านไปผ่านมาก็เห็นได้อย่างชัดเจน
       
       บริเวณด้านบนสร้างเป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปปราสาทผึ้ง 3 หลัง ภายในปราสาทผึ้งองค์กลางประดิษฐานพระพุทธรูปจำลอง หลวงพ่อองค์แสน พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร ส่วนปราสาทผึ้งองค์ซ้ายประดิษฐานรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และปราสาทผึ้งองค์ขวาประดิษฐานรูปเหมือนพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดสกลนคร จึงทำให้ประตูเมืองแห่งนี้เป็นเสมือนศูนย์รวมความศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมใจของชาวสกลนครนั่นเอง


หลวงพ่อองค์แสน

        และเมื่อมาถึง จ.สกลนคร แล้ว ก็ต้องไม่พลาดที่จะมาสักการะ “พระธาตุเชิงชุม” ที่ “วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร” อันเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวสกลนครรวมถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไป
       
       คำว่า “เชิงชุม” หมายถึง การมีรอยเท้ามาชุมนุมกันอยู่ ซึ่งหมายถึงรอยพระพุทธบาท 4 รอย ที่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์เสด็จมาพระทับไว้บนแผ่นหิน และเชื่อกันว่าแผ่นหินนั้นถูกเก็บรักษาไว้ใต้บาดาลโดยพญาสุวรรณนาค เพื่อรอพระศรีอริยเมตไตรยมาประทับรอยเป็นองค์สุดท้าย และจากความเชื่อนี้ จึงทำให้ผู้คนนิยมมาสักการะองค์พระธาตุ เพราะถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หากมาไหว้แล้วจะเป็นสิริมงคล เนื่องจากพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเยือนถึง 4 พระองค์
       
       สำหรับองค์พระธาตุเชิงชุมที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมไว้ ภายในองค์พระธาตุจึงมีลักษณะคล้ายถ้ำ มีพระพุทธรูปหลายองค์ประดิษฐานอยู่ ซึ่งสามารถมองเห็นปากทางเข้าได้จากภายในวิหารด้านหน้าองค์พระธาตุ โดยภายในวิหารแห่งนี้ก็ยังประดิษฐาน “หลวงพ่อองค์แสน” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร


บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวัดพระธาตุเชิงชุม

        หากใครไปไหว้หลวงพ่อองค์แสน จะสังเกตว่ามีพระพุทธรูปอยู่สององค์ ด้านหน้านั้นคือหลวงพ่อองค์แสนองค์เดิม ส่วนด้านหลังคือหลวงพ่อองค์แสนที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งที่จะทำการบูรณะวัดครั้งใหญ่ เมื่อสร้างหลวงพ่อองค์แสนองค์ใหม่ ประดิษฐานไว้ที่ด้านหลังแล้ว ก็จะมีการทุบหลวงพ่อองค์เดิมทิ้ง แต่เกิดปาฏิหาริย์ ทำให้ไม่สามารถทุบทิ้งได้ ในเวลาต่อมาจึงประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนทั้งสององค์ไว้ในลักษณะเดิม
       
       นอกจากพระธาตุเชิงชุม และหลวงพ่อองค์แสนแล้ว ก็ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งภายในวัด นั่นก็คือ “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่อยู่ใกล้ๆ กับองค์พระธาตุ เดิมนั้นเป็นบ่อน้ำที่ก่อกำแพงด้วยศิลาแลงธรรมดา ต่อมามีการบูรณะและสร้างเป็นรูปปั้นพญานาคพ่นน้ำบริเวณรอบบ่อ เพื่อเป็นรูปแทนพระยาสุวรรณนาค พญานาคตามความเชื่อของชาวสกลนคร ที่เป็นนาคผู้ทรงคุณธรรม ทรงศีลและอิทธิฤทธิ์ มีเกล็ดเป็นทองคำ ทำหน้าที่คอยปกป้องและรักษารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์


รูปหล่อพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภายในพิพิธภัณฑ์บริขารอาจารย์มั่น

        อย่างที่บอกไว้ว่าภาคอีสานมีความเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งใน จ.สกลนคร แห่งนี้ ก็มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย อีกทั้งยังเป็นถิ่นกำเนิดและที่พำนักของพระเกจิสำคัญหลายรูป อาทิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์วัน อุตตโม หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น
       
       อย่างที่ “วัดป่าสุทธาวาส” ซึ่งถือเป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของสกลนคร ก็เป็นวัดป่าที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกทั้งยังเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่นมามรณภาพที่นี่ด้วย ภายในวัดจึงมีการสร้าง “พิพิธภัณฑ์บริขารอาจารย์มั่น” เพื่อเป็นที่รวบรวมเครื่องอัฐบริขารและสิ่งของเครื่องใช้ของพระอาจารย์ ตัวอาคารสร้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับบ้านทรงไทยประยุกต์ ภายในประดิษฐานรูปหล่อพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในท่านั่งสมาธิ และมีตู้กระจกบรรจุอัฐิของท่านที่แปรสภาพเป็นแก้วผลึกใสสีขาว และตู้แสดงเครื่องอัฐบริขาร พร้อมทั้งมีประวัติความเป็นมาของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ


กุฏิหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

        ได้สักการะรูปหล่อพระอาจารย์มั่นภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็ออกมาภายนอก เดินชมบรรยากาศภายในวัดที่ร่มรื่นและเงียบสงบ ทำให้รู้สึกว่ามีสติและมีสมาธิมากขึ้นตามไปด้วย หากเดินไปด้านข้างพิพิธภัณฑ์ ก็จะมี “กุฏิหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” ซึ่งเป็นกุฏิที่หลวงตามหาบัวเคยจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ เป็นกุฏิไม้ธรรมดาที่ดูเรียบง่าย สมถะ ตั้งอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น

หุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนของหลวงปู่หลุย จันทสาโร

        นอกจากนี้ ภายในวัดป่าสุทธาวาสก็ยังมี “จันทรสารเจติยานุสรณ์” หรือ เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ที่จัดสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระราชทานรูปแบบของเจดีย์ไว้ด้วย ซึ่งบริเวณชั้นบนของเจดีย์มีหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนของหลวงปู่หลุย อัฐิธาตุ และมีการจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของท่านไว้ด้วย

อาคารเก่าแก่ในชุมชนท่าแร่

        นอกเหนือจากจะเป็นเมืองพุทธแล้ว ที่ จ.สกลนคร ยังมีชุมชนชาวคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอยู่ที่ “ชุมชนท่าแร่” บ้านท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งภายในชุมชนแห่งนี้ มีประชากรที่นับถือคาทอลิกนับหมื่นคน โดยคริสตชนท่าแร่ดั้งเดิมนั้นอพยพมาจากเวียดนามในราวปี พ.ศ. 2427 หรือ ค.ศ.1884
       
       หมู่บ้านนี้มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมตารางหมากรุก คล้ายกับบ้านเมืองในแถบประเทศตะวันตก มีบ้านเรือนสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสผสมเวียดนามที่งดงาม เรียงรายสองข้างทางในถนนสายหลักของหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งบ้านเรือนเก่าๆ แต่ละหลังก็มีอายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไป แม้ว่าอาคารบางหลังจะรกร้าง ขาดการดูแล บางหลังอาจเหลืองเพียงโครงสร้างให้เห็น แต่เราก็ยังสามารถมองเห็นความสวยงามของอาคารจากฝีมือของช่างในสมัยก่อน


อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

        ภายในชุมชนท่าแร่ ยังมีสถานที่สำคัญอีกแห่งนั่นก็คือ “อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล” ซึ่งเป็นโบสถ์ขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายเรือ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของคริสตชนในหมู่บ้านท่าแร่แห่งนี้ เนื่องจากเมื่อครั้งที่มีการอพยพมานั้น ได้ใช้เรือลำเล็กหลายๆ ลำผูกติดกันเป็นแพขนาดใหญ่ และใช้ผืนผ้าขึงใบให้ลมพัดพาไป จนกระทั่งข้ามฝั่งหนองหารมาอยู่ที่บ้านท่าแร่ในปัจจุบัน

สีสันในงานเทศกาลแห่ดาว

        เนื่องจากเป็นชุมชนชาวคริสต์ขนาดใหญ่ ในช่วงวันคริสต์มาสจึงมีการจัดงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังไปทั่วประเทศ นั่นก็คือ “ประเพณีแห่ดาว” ซึ่งชาวชุมชนจะจัดขบวนแห่งดาว อันเป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จลงมาประสูติบนโลกมนุษย์ของพระเยซู ในขบวนรถจะตกแต่งและประดับประดาด้วยดาวขนาดใหญ่ เพิ่มแสงสีสดใสด้วยดวงไฟหลากสี อีกทั้งบ้านแต่ละหลังก็จะประดับตกแต่งด้วยดวงดาวและแสงไฟ เรียกว่าเป็นงานเทศกาลที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก หากใครมีโอกาสต้องลองมาสัมผัสกันสักครั้ง

อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ

        ห่างจากชุมชนท่าแร่ไปไม่ไกลมากนัก ก็มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสกลนคร นั่นคือ “อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ” หากว่ามาที่นี่ในช่วงแดดร่มลมตก จะเห็นว่ามีชาวสกลนครมานั่งพักผ่อนชมบรรยากาศสบายๆ กันอยู่มากมาย เพราะที่นี่เป็นบึงบัวขนาดใหญ่ มีสะพานไม้เป็นทางเดินตัดผ่านกลางบึง และยังมีศาลาให้นั่งเล่นรับลมสบายๆ
       
       จุดมุ่งหมายในการสร้างอุทยานบัวก็เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมบัวพันธุ์ต่างๆ มาไว้ด้วยกัน เป็นแหล่งศึกษาวิจัยและค้นคว้า แบ่งออกเป็นส่วนรวบรวมพันธุ์บัวไว้ในบึงบัวขนาดใหญ่ มีส่วนแสดงพันธุ์บัวในกระถาง และมีส่วนของนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับบัว ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังมีประโยชน์อีกด้านคือ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้าน ที่สามารถจูงลูกจูงหลานมานั่งเล่นริมน้ำ ชมบรรยากาศยามเย็นได้อย่างสบายใจ


ทางเดินเข้าสู่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์

        ใน จ.สกลนคร นอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นวัดวาอารามและชุมชนต่างๆ แล้ว ก็ยังมีป่าเขาที่ยังอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในเขตเทือกเขาภูพาน ที่ในอดีตเป็นพื้นที่แร้นแค้น ป่าไม้ก็ถูกตัดออกไป จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาเยือน และเกิดการพัฒนาพื้นที่ตามพระราชดำริ จนทำให้ทุกวันนี้เทือกเขาภูพานกลายเป็นป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์
       
       และด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่มีความเหมาะสม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงเลือกพื้นที่นี้เป็นสถานที่สร้าง “พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์” โดยปัจจุบัน เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมภายในได้ หากมิได้มีการเสด็จพระราชดำเนินมาประทับ

กระท่อมไม้ใกล้กับพระตำหนักที่ประทับ

        เส้นทางการเดินเข้าไปชมพระตำหนักนั้นจะเป็นเนินสูงต่ำสลับกันไป ภายในมีป่าไม้ร่มรื่นตลอดเส้นทางเดิน ระหว่างทางก็มีพรรณไม้ต่างๆ ให้ชมมากมาย มีการจัดภูมิทัศน์ที่สวยงาม เดินไปตามทางเดินเรื่อยๆ พอเหงื่อเริ่มซึมก็ถึงตัวพระตำหนักที่ประทับที่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายและลงตัว กลมกลืนกับสภาพป่าเขาโดยรอบ
       
       ใกล้ๆ กับพระตำหนักที่ประทับ มีการสร้างกระท่อมเล็กๆ หลายๆ หลัง ลักษณะคล้ายกับบ้านของชาวบ้านในอดีต ซึ่งนอกจากจะสร้างกระท่อมไว้แล้ว ก็ยังมีการจัดวางเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องมือประมง เครื่องมือเกษตรไว้ด้วย ทำให้ประชาชนที่เข้าชมพระตำหนักสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในแถบนี้ได้ด้วย


งานพัฒนาการประมง ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน

        สำหรับการพัฒนาพื้นที่ในเขตเทือกเขาภูพาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาพื้นที่ โดยมีโครงการจัดหาน้ำ สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ส่งไปทำการศึกษาและทดลองด้านการเกษตร และยังมีโครงการพระราชดำริที่เป็นการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ คือ พัฒนาด้านป่าไม้ การเกษตร และการเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่มาของ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”
       
       ปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ก็ยังคงเป็นโครงการศึกษาและทดลองในการพัฒนางานด้านต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและชาวบ้านทั่วไป และยังเปิดให้ประชาชนเข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมส่วนงานต่างๆ ได้ด้วย
       
       การเข้าชมศูนย์นั้นจะมีรถรางวิ่งพาชมโดยรอบ ซึ่งภายในศูนย์ก็จะแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ อาทิ แปลงปลูกข้าว แปลงปลูกพืชสวน พืชไร่ บ่อเลี้ยงปลา ทดลองเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ซึ่งสิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของศูนย์ก็คือเรื่องสามดำ อันได้แก่ ไก่ดำภูพาน หมูดำภูพาน และ โคเนื้อภูพาน โดยเฉพาะโคเนื้อภูพาน หรือโคดำภูพานนั้นมีชื่อเสียงอย่างมาก เพราะเป็นเนื้อที่มีไขมันแทรกมาก ลายเนื้อคล้ายหินอ่อน รสชาติดี เนื้อนุ่ม เหมาะกับการทำเป็นสเต๊ก ซึ่งโคเนื้อภูพานนี้มีขายอยู่ใน จ.สกลนคร เพียงไม่กี่แห่ง ใครที่มาที่นี่ต้องลองมาชิมให้ได้


ชมการทอผ้าย้อมคราม ที่กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย

        การมาท่องเที่ยวแต่ละครั้ง นอกจากจะไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ลองชิมอาหารท้องถิ่นแล้ว ที่สำคัญก็อย่าลืมที่จะซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย ซึ่งที่ จ.สกลนคร ก็มีของฝากที่ขึ้นชื่อนั่นคือ “ผ้าย้อมคราม” และหากอยากมาเลือกซื้อผ้าย้อมครามถึงแหล่งต้นกำเนิดจริงๆ ก็ต้องมาที่ “กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย” อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
       
       กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย เป็นอีกหนึ่งแห่งที่เลือกใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถวางขายได้ในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นผ้าย้อมครามแบบเป็นผืนใหญ่ ผ้าพันคอ ผ้าตัดเสื้อ และยังประยุกต์เป็นสินค้าอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง ใครที่มาถึงกลุ่มทอผ้าฯ นอกจากจะมาเลือกซื้อผ้าย้อมครามสวยๆ แล้ว ก็ยังได้มาเรียนรู้ขั้นตอนการทำผ้าย้อมคราม ตั้งแต่การปั่นฝ้าย ย้อมฝ้ายด้วยต้นคราม มาจนถึงการทอผ้าจนสำเร็จเป็นผืน ทำให้เห็นว่าผ้าหนึ่งผืนนั้นต้องใช้เวลาและความพยายามมากเพียงใด
       
       แม้ทริปนี้จะมีเวลาเพียงน้อยนิดในการมาสัมผัส จ.สกลนคร แต่สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ได้ไปนั้นทำให้ได้รู้จักจังหวัดนี้มากกว่าความรู้ที่ว่า สกลนครเป็นหนึ่งจังหวัดในภาคอีสาน เป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจมากมาย และหากมีโอกาสเมื่อใดก็ต้องกลับมาเยือนนครแห่งนี้อีกแน่นอน

             
       :49: :49: :49: :49:

       การเดินทางไปยัง จ.สกลนคร สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ รถประจำทาง และเครื่องบิน โดยล่าสุดนี้ สายการบินแอร์เอเชีย เปิดเที่ยวบิน กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - สกลนคร วันละ 2 เที่ยวบิน ทั้งเช้าและเย็น โดยใช้เวลาบินประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที
       
       สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยว จ.สกลนคร ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม (ดูแล จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และ จ.สกลนคร) โทร. 0-4251-3790-1, 0-4251-3492


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000115055
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ