ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ อ่านว่า อา-ยุ วัน-โน สุ-ขัง พะ-ลัง  (อ่าน 7306 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ อ่านว่า อา-ยุ วัน-โน สุ-ขัง พะ-ลัง

“อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ” เป็นข้อความในคาถาที่พระสงฆ์สวดอนุโมทนา อยู่ในบทที่เรียกกันติดปากว่า “ยะถา-สัพพี” ข้อความเต็มๆ ในคาถาบทนี้มีดังนี้

     อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
     จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ.
     (อะภิวาทะนะสีลิสสะ  นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
     จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ  อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง.)

     คำแปล :-
     บุคคลผู้มีปรกติไหว้กราบ มีปรกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์
     ธรรมสี่ประการย่อมเจริญ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

@@@@@@

รากศัพท์และความหมาย

(๑) “อายุ”
รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น อา, แปลง ณ ที่ ณุ เป็น อย (ณุ : ณ + อุ : ณ > อย + อุ = อยุ) : อิ > อา + ณุ > อยุ : อา + อยุ = อายุ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น

“อายุ” หมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน (life, vitality, duration of life, longevity)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“อายุ : (คำนาม) เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง, ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว, ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน. (ป.; ส. อายุสฺ หรือ อายุษฺ เมื่อนําหน้าบางคํา, แต่เมื่อนําหน้าอักษรตํ่ากับตัว ห เปลี่ยน สฺ เป็น รฺ เช่น อายุรเวท, แต่ถ้าใช้อย่างบาลีก็ไม่ต้องมี ส หรือ ร).”

(๒) “วณฺโณ”
คำเดิมเป็น “วณฺณ” (วัน-นะ) รากศัพท์มาจาก วณฺณ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + อ ปัจจัย : วณฺณ + อ = วณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประกาศเนื้อความ”

“วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :
(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)
     (1) สี (colour)
     (2) รูปร่าง (appearance)
     (3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)
     (4) ความงาม (beauty)
     (5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)
     (6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)
     (7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)
     (8) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)
     (9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)
     (10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)
     (11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)

บาลี “วณฺณ” ภาษาไทยใช้เป็น “วรรณ” (วรรณะ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“วรรณ-, วรรณะ : (คำนาม) สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ; ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ; ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร; หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”

(๓) “สุขํ”
คำเดิมเป็น “สุข” (สุ-ขะ) รากศัพท์มาจาก
     (1) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ม ที่สุดธาตุ : สุ + ขมฺ = สุขม + กฺวิ = สุขมกฺวิ > สุขม > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย”
     (2) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ น ที่สุดธาตุ : สุ + ขนฺ = สุขน + กฺวิ = สุขนกฺวิ > สุขน > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี”
     (3) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ท ที่สุดธาตุ, ลดเสียง อา ที่ ขา-(ทฺ) เป็น อะ : สุ + ขาทฺ = สุขาท + กฺวิ = สุขาทกฺวิ > สุขาท > สุขา > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี”
     (4) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + อ ปัจจัย : สุขฺ + อ = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย”
     (5) สุ (ง่าย, สะดวก) + ข (โอกาส) : สุ + ข = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย”

“สุข” เราแปลทับศัพท์กันจนอาจจะไม่เคยคิดว่าหมายถึงอะไร พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุข” ไว้ดังนี้
     (1) agreeable, pleasant, blest (เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร)
     (2) wellbeing, happiness, ease (ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย)
     (3) ideal, success (อุดมคติ, ความสำเร็จ)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“สุข, สุข- : (คำนาม) ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ. (คำวิเศษณ์) สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).”

(๔) “พลํ”
คำเดิมเป็น “พล” (พะ-ละ) รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + อ ปัจจัย : พล + อ = พล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู”

“พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ
     (1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)
     (2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“พล, พล- : (คำนาม) กำลัง, มักใช้ประกอบคำอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มีฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น; ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก; สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ; ยศทหารและตำรวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล). (ป., ส.).”



ปัญหาในการเขียน
    - ถ้าจะเขียนแบบบาลีบาลี ก็เขียนว่า “อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ”
    - ถ้าจะเขียนแบบบาลีไทย หรือเขียนคำอ่าน ก็เขียนว่า “อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง”
    - ถ้าจะเขียนแบบภาษาไทย ก็เขียนว่า “อายุ วรรณะ สุขะ พละ”
เขียนแบบภาษาไทยนั้นยึดตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “วรรณ-, วรรณะ” บอกไว้ว่า “… ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ …”

ระวัง อย่าเขียนผิด
คำว่า “วรรณะ” ถ้าจะเขียนแบบบาลี สะกดว่า “วณฺโณ” หรือ “วัณโณ” – ณ เณร ไม่ใช่ น หนู
คำว่า “สุขะ” ถ้าจะเขียนแบบบาลี สะกดว่า “สุขํ” หรือ “สุขัง” สุ- ข ไข่ตัวเดียว ไม่ใช่ สุข+ขัง
คำว่า “พละ” ถ้าจะเขียนแบบบาลี สะกดว่า “พลํ” หรือ “พะลัง” ไม่ใช่ “พลัง”

@@@@@@

"ดูก่อนภราดา ไม่มีพรใดสัมฤทธิ์ผล ถ้าไม่บำเพ็ญบุญกุศลด้วยตนเอง"



ขอบคุณที่มา : dhamma.serichon.us/อายุ-วณฺโณ-สุขํ-พลํ-อ่านว/ 
โพสต์โดย ทองย้อย แสงสินชัย ,มิถุนายน 20, 2018   
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ