ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "อุบลราชธานี" กับร่องรอยอิทธิพลของเมืองหลวง ภัยจากฝรั่งเศส ถึงผ้าทอที่ ร.5 ทรงชม  (อ่าน 482 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 
ภาพประกอบเนื้อหา - การเดินทางสำรวจล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส



"อุบลราชธานี" กับร่องรอยอิทธิพลของเมืองหลวง ภัยจากฝรั่งเศส ถึงผ้าทอที่ ร.5 ทรงชม

ความเป็นมาของอุบลราชธานีมีร่องรอยที่น่าสนใจและน่าค้นหามากมาย ในช่วงเวลาหนึ่งต้องยอมรับว่า อุบลราชธานีมีความสัมพันธ์กับเมืองหลวงมาตลอดโดยเฉพาะช่วงระยะแรก ดังเห็นได้จากร่องรอยทั้งในการเมืองการปกครอง สังคม และวัฒนธรรม อาทิ การเรียกชาวอุบลราชธานีเป็นคน “ชาติไทยบังคับสยาม” จนถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างผ้าทอ

หากจะกล่าวถึงพัฒนาการของจังหวัดอุบลราชธานี สามารถสืบค้นย้อนไปได้ถึงหลักฐานบรรพชนที่ผู้ค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า เป็นพวกเดียวกับบรรพชนคนสุวรรณภูมิไปจนถึงคนอีสานและคนไทย สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรยายไว้ว่ามีอายุราว 5 แสนปีมาแล้ว

หากย้อนกลับไปไม่ต่ำกว่าหมื่นปีมาแล้วพบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการอยู่อาศัยตามเพิงผาที่บ้านไร่ (ไฮ่) ต.สบป่อง กับถ้ำลอด ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นกลุ่มขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายไปตามแหล่งทรัพยากรและตั้งถิ่นฐานตามถ้ำหรือเพิงผา

อ่านเพิ่มเติม : พระวอ พระตา บรรพบุรุษผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภูและเมืองอุบลราชธานีในประวัติศาสตร์ไทย – ลาว

@@@@@@

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของอุบลราชธานีเปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยหลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2325 รัชกาลที่ 1 โปรดให้ยกฐานะบ้านห้วยแจระแมเป็นเมืองอุบลราชธานี

ในช่วง พ.ศ. 2335 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งเมืองอุบลราชธานี รวบรวมผู้คนที่กระจายตามที่ต่างๆ ให้เป็นปึกแผ่น เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มตั้งเมืองในอาณาบริเวณในเขตปกครองใกล้เคียงอีกหลายเมืองนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 จนถึงรัชกาลที่ 4 ซึ่งเหตุผลในการตั้งเมืองในภายหลังก็มีปัจจัยอื่นเพิ่มเข้ามา อาทิ การเก็บภาษีอากร

ในยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 เริ่มปรากฏความเปลี่ยนแปลงภายนอกทั้งในทางเศรษฐกิจ และการเมือง เริ่มมีมหาอำนาจต่างชาติที่คุกคามประเทศเล็กจากพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน บอกเล่าว่าเมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้หลวงภักดีณรงค์ (ทัต ไกรฤกษ์) ปลัดบัญชีกระทรวงมหาดไทยเป็นข้าหลวงกำกับราชการที่เมืองอุบลราชธานี สุจิตต์ วงษ์เทศ มองว่า ครานี้ถือเป็นครั้งแรกที่เมืองอุบลราชธานีถูกควบคุมกำกับราชการโดยข้าหลวงที่ราชธานีกรุงเทพฯ จัดส่งไปดูแลโดยที่คณะผู้ปกครองสูงสุดของเมืองยังคงทำหน้าที่ปกครองเมืองตามปกติ


@@@@@@

สืบเนื่องมาจากการคุกคามของฝรั่งเศสในดินแดนใกล้เคียงตั้งแต่ พ.ศ. 2310 เป็นต้นมา เมื่อมีการแผ่อิทธิพลยึดดินแดนญวน เขมร ลาว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นว่าควรจัดข้าหลวงที่มีความสามารถไปประจำการรักษาพระราชอาณาเขต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชาการ เป็นข้าหลวงใหญ่ ตั้งกองบัญชาการที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2434

กรมหลวงพิชิตปรีชาการ ทรงตรวจราชการแล้วจึงเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบหลายด้าน อาทิ ระบบบัญชี เร่งรัดการเก็บเงินส่วยอากร จัดระบบกองทหารใหม่ ออกประกาศให้เกณฑ์ทหาร จ่ายเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนให้ทหาร และยังปราบโจรผู้ร้ายที่อาละวาดในหัวเมือง

ในช่วงพ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสนำกำลังจากเขมรยึดด่านเสียมโบก กลายเป็นเหตุการณ์บานปลายระหว่างสยามกับฝรั่งเศส อย่างกรณี ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสนำเรือรบปิดอ่าวไทย ลงเอยด้วยการลงสนธิสัญญา ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงรวมทั้งเกาะแก่งแก่ฝรั่งเศส เมื่อ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 เมื่อเหตุการณ์สงบลง รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (เมื่อครั้งเป็นกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์) เป็นข้าหลวงใหญ่ต่อจากกรมหลวงพิชิตปรีชากร

@@@@@@

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงดำเนินการปรับเปลี่ยนอีกหลายประการ อาทิ เปลี่ยนการเรียกตำแหน่งผู้ปกครอง ปราบปรามนักพนันและโจร มีตำแหน่ง “ตาแสง” สำหรับตรวจจับผู้ร้ายหมู่บ้านละ 3 คน ระยะต่อมาก็ปรับปรุงการปกครองเมืองอุบลราชธานี ให้เรียกชื่อตำแหน่งเจ้าเมือง เป็น ผู้ว่าราชการเมือง อีกทั้งยังมีการสำรวจสำมะโนครัว จดทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษร

เมื่อพ.ศ. 2442 ยังมีประกาศให้เรียกเมืองอุบลราชธานี ว่าสังกัดอยู่มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และเรียกชาวอุบลราชธานีว่า คน “ชาติไทยบังคับสยาม” สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายสาเหตุการเปลี่ยนชื่อเรียกว่าเป็นผลมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตกเป็นของฝรั่งเศส ฝั่งขวาเป็นของสยาม จึงต้องแสดงลักษณะสยามให้เป็นทางการเพื่อมิให้ถูกฝรั่งเศสคุกคาม

การเปลี่ยนแปลงในหลายระยะตลอดช่วงที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงปฏิบัติงานเมื่อเสด็จมาประทับที่เมืองอุบลราชธานีส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างมาก ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อเจ้าเมืองและข้าราชการผู้ใหญ่บางรายที่เสียหมดอำนาจหรือเสียผลประโยชน์ ภายหลังจึงเกิดเหตุ “ขบถผู้มีบุญ” ในช่วงพ.ศ. 2444


@@@@@@

นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงในเชิงการปกครองแล้ว ในด้านวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตทั่วไปนั้นก็มีหลักฐานเกี่ยวกับการถวายรายงานดังพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ หลังจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ส่งผ้าไหมเมืองอุบลฯ ไปทูลเกล้าฯ ถวายว่า

    “…ส่งผ้าเยียรบับลาวมาให้นั้นได้รับแล้ว ผ้านี้ทอดีมากเชียงใหม่สู้ไม่ได้เลย ถ้าจะยุให้ทำมาขายคงจะมีผู้ซื้อ ฉันจะรับเป็นนายหน้า ส่วนที่ส่งมาจะให้ตัดเสื้อ ถ้ามีเวลาจะถ่ายรูปให้ดู แต่อย่าตั้งใจคอยเพราะจะถ่ายเมื่อใดบอกไม่ได้…”

ใจความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ย่อมแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของการทอผ้าในพื้นที่อุบลราชธานี เอกสารด้านวัฒนธรรมที่จัดทำและรวบรวมข้อมูลโดยหน่วยงานราชการบรรยายว่า แต่ละท้องถิ่นในอุบลฯ มีประเพณีปฏิบัติหลากหลาย แต่วัฒนธรรมการแต่งกายส่วนใหญ่เป็นไปตามชาวอุบลฯ เชื้อสายลาวนิยมแต่ง

อ่านเพิ่มเติม : “ซิ่น” แห่งนครเชียงใหม่ วัฒนธรรมการแต่งกายสตรีชาวยวน

@@@@@@

เสื้อผ้าในอดีตก็ได้รับอิทธิพลจากกรุงเทพฯ ภาพถ่ายและผ้าที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า สุภาพสตรีชาวอุบลฯ ในสมัยก่อนนั้นนิยมนุ่งผ้าซิ่นลายล่องทอด้วยไหมเงินหรือไหมคำ (ทอง) สวมเสื้อลูกไม้แบบยุโรป อันเป็นเครื่องแสดงฐานะของสตรีชั้นสูงของเมืองอุบลฯ แทนการนุ่งผ้าโจงกระเบนและสวมเสื้อลูกไม้เช่นเดียวกับสตรีชาววังในกรุงเทพฯ ทำให้เห็นว่าผ้าซิ่นไหมเงินหรือไหมคำลายล่องเป็นเอกลักษณ์ของสตรีชั้นสูงในสมัยนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้นำสตรีชั้นสูงในสมัยนั้นอย่างหม่อมเจียงคำ ชาวอุบลฯ ผู้เป็นชายาในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ก็ทรงรักษาเอกลักษณ์การแต่งกายของชาวอุบลฯ ไว้

สำหรับผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวอุบลฯ มีหลายแบบ กรรมวิธีการทอก็แตกต่างกัน ผ้าซิ่นในท้องถิ่นก็มีหลากหลายชนิด อาทิ ผ้าซิ่นทิว ซิ่นคั่น ซิ่นหมี่ การทอผ้าที่นี่ล้วนมีกรรมวิธีที่ละเอียดประณีต ผ้ามีคุณภาพมาแต่โบราณ จึงไม่แปลกที่จะมีความเชื่อหรือข้อห้ามเกี่ยวกับการทอผ้าตกทอดกันมา


@@@@@@

นิวัติ กองเพียร ยกตัวอย่างความเชื่อเกี่ยวกับการทอผ้าของชาวอุบลฯ ไว้ว่า ห้ามสาวไหมในวันพระ ขณะที่ย้อมสีครั่ง ห้ามคนท้อง คนหัวหงอก หรือพระเข้าใกล้ในขณะที่ย้อม เพราะสีของไหมจะกระดำกระด่างหรือไม่ติดสีเลย ห้ามย้อมสีในวันศีลคือวันพระ สีจะด่าง

ห้ามนุ่งซิ่นหรือเสื้อใหม่ในวันอังคารหรือวันเดือนดับ ห้ามเอาผ้าซิ่นตากไว้ในที่สูงหรือหน้าบ้าน ผ้าที่ใช้กับร่างกายที่ต่ำกว่าสะดือลงไปจะไม่เอามาตัดเป็นเสื้อใส่ เพราะถือเป็นเรื่องไม่ดี แต่ผู้ชายสมัยใหม่ก็มีบ้างที่เอาผ้าถุงผู้หญิงมาตัดเสื้อใส่กันโดยที่อาจรู้หรือไม่รู้ก็ได้



ขอบคุณที่มา : https://www.silpa-mag.com/history/article_38847
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ.2562

อ้างอิง :-
สุจิตต์ วงษ์เทศ. อุบลราชธานี มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2555
นิวัติ กองเพียร. ของชิ้นเอก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2537
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุบลราชธานี. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่9) จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 17, 2019, 06:52:18 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ