ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ระหว่างธรรมทาน กับ ปรนนิบัติบำรุงพระสงฆ์อาพาธ  (อ่าน 11879 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

saithong

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +13/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 108
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ธรรมทาน ก็ชื่อว่าเลิศ กว่าการให้ทาน
แต่การดูแลพระสงฆ์อาพาธ พระพุทธเจ้า ก็ตรัสว่าเลิศเช่นเดียวกัน

ระหว่างธรรมทาน กับ การไปดูแลพระสงฆ์อาพาธ นั้นเราควรเลือกจะทำอย่างไรก่อนดีจ๊ะ

กำลังจะไปทำบุญสร้างธรรมทาน แต่เพื่อนมาชวนให้ไปทำบุญกับพระสงฆ์อาพาธ แทน

ช่วยให้คำแนะนำหน่อย
บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
การทำทานที่สมบูรณ์แบบ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 12, 2010, 03:07:40 pm »
0
การทำทานที่สมบูรณ์แบบ
(บางส่วนจากหนังสือ วิถีชาวพุทธ )
 

ที่มา  http://main.dou.us/                                                                                                                                                                                                                                   
3.5.2 ผลของทานแต่ละประเภท
           ผลของการทำทานโดยทั่วไปแล้ว ย่อมทำให้ผู้ให้เกิดความอิ่มใจ มีความสุขสบายใจ แม้จะทำเพียงเล็กน้อยก็ตาม ก็ให้อานิสงส์แก่ผู้ทำทานนั้นได้ ที่จะไม่ให้ผลนั้นเป็นไม่มี ไม่ว่าสิ่งของที่ต้องการจะทำทานนั้นเป็นอะไรก็ตาม ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ยิ่งทำทานถูกเนื้อนาบุญด้วยแล้ว ยิ่งได้รับอานิสงส์มาก
       
           ดังนั้น เมื่อเราทำทาน จึงมักตั้งจิตอธิษฐานขอให้ผลบุญที่ได้จากการทำทานนั้น ส่งผลให้เราได้ในสิ่งที่ปรารถนา ซึ่งนอกจากการอธิษฐานจิตกำกับแล้ว ทานบางอย่างก็ให้อานิสงส์โดยตัวของทานเอง ดังที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงอานิสงส์ของทานในกินททสูตร ดังนี้
       
           ครั้งหนึ่งเทวดาทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
             
                      "บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้อะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้อะไรชื่อว่าให้ความสุข
           ให้อะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถาม
           ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"
       
           พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
             
                      "ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง
                      ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ
                      ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข
                      ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ
                      และผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
                      ส่วนผู้ให้ธรรมทาน ชื่อว่าให้อมฤตธรรม

           ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง
           อัตภาพของคนเรานั้น จะดำรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยอาหาร ขาดอาหารแล้วชีวิตไม่อาจดำรงอยู่ได้ แม้บุคคลจะมีรูปร่างใหญ่โตแข็งแรง มีกำลังมากปานใด หากไม่ได้รับประทานอาหาร ร่างกายก็ขาดกำลัง ส่วนบุคคลผู้มีกำลังน้อย ถ้าได้รับประทานอาหารบริบูรณ์แล้ว ย่อมมีกำลังขึ้นมาได้ ดังนั้น พระผู้มีพระภาค-เจ้าจึงตรัสว่า "ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง"

        ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ              
 
           บุคคลแม้จะมีผิวพรรณดี มีรูปงามเพียงไร หากแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สกปรก ขาดรุ่งริ่ง หรือไม่มี เสื้อผ้าเลย ย่อมไม่น่าดู ทั้งยังน่าเกลียดและถูกเหยียดหยามได้ ส่วนผู้ที่นุ่งห่ม ด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด เรียบร้อย ย่อมดูงาม เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า"ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ"
       
          ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข              

           บุคคลที่เดินทางไกล บางครั้งอาจพบกับความยากลำบาก จากถนนหนทางที่ยาวไกลบ้าง ถนนที่ ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อบ้าง หรือรกไปด้วยหญ้าหรือขวากหนามที่แหลมคม หรือได้รับอันตรายจากสัตว์มี พิษที่หลบซ่อนตัวอยู่บ้าง ต้องเผชิญกับแสงแดดที่แผดกล้า หรือมีฝนลมแรงบ้าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อม ทำให้เกิดความทุกข์ ความไม่สะดวกสบาย หากมีผู้ให้ยานพาหนะไว้ใช้สอย ให้อุปกรณ์ในการเดินทาง เช่น ร่ม รองเท้า หรือคอยถากถางหนทางให้เดินได้สะดวกยิ่งขึ้น สร้างบันได หรือสร้างสะพานไว้ให้ ผู้นั้นย่อม ได้ชื่อว่าให้สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย คือให้ความสุข พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข"

         ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ               
           บุคคลทั้งหลาย แม้มีดวงตาก็ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้ ต่อเมื่อมีประทีปโคมไฟให้แสงสว่าง จึงสามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความปรารถนาได้ ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ผู้ให้ประทีป โคมไฟ ได้ชื่อว่าให้จักษุ"
         
           ผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง              

           ตามธรรมดาของคนเดินทางไกล ย่อมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเสียกำลังไป และย่อมปรารถนาที่จะ เข้าสู่ที่พักอาศัย เมื่อพักผ่อนสักครู่ก็จะได้กำลังคืนมา หรือผู้ที่ออกสู่กลางแจ้งต้องตากแดดตากลม ทำให้ผิวพรรณหมองคล้ำลงได้ ต่อเมื่อได้เข้ามาพัก ผิวพรรณจึงกลับงดงามดังเดิม ผู้ที่เดินทางผ่านแดดร้อน อันตรายต่างๆ ในระหว่างทาง เมื่อได้พักอาศัยจะมีความสุขสบายปลอดภัยขึ้น หรือเดินอยู่ในท่ามกลาง แสงแดดร้อนจ้า นัยน์ตาย่อมพร่ามัวไม่แจ่มใส เมื่อได้พักสักครู่ ดวงตาก็ใช้การได้ดีดุจเดิม ดังนั้น พระผู้มี-พระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ผู้ให้ที่อยู่อาศัย เป็นผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง"
         
          ผู้ให้ธรรมทาน ชื่อว่าให้อมฤตธรรม             

           ผู้ให้ธรรมะเป็นทาน ได้ชื่อว่าชนะการให้ทั้งปวง เหตุเพราะว่าเมื่อบุคคลได้ฟังธรรม ย่อมเกิดความ ศรัทธาเลื่อมใส รู้จักว่าสิ่งใดเป็นบาป สิ่งใดเป็นบุญ บุคคลจะละบาปได้ก็เพราะได้ฟังธรรม จะทำบุญถวาย ทานได้ก็เพราะได้ฟังธรรม ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ก็จะไม่มีศรัทธา เมื่อไม่มีศรัทธา ก็กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้สิ่งของ สักเล็กน้อยเพียงข้าวทัพพีหนึ่ง ก็มิอาจจะให้ได้ จะรักษาศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 หรือจะเจริญภาวนา ไหว้พระสวดมนต์ บูชาพระรัตนตรัย ล้วนทำไม่ได้ทั้งสิ้น แต่จะทำได้ก็เพราะว่าได้ฟังธรรม เพราะฟังแล้วรู้จักบุญบาป ว่าทำอย่างนี้จะได้บุญมาก ทำอย่างนี้จะได้มนุษย์สมบัติ ได้ทิพยสมบัติ ได้นิพพานสมบัติ  ฉะนั้น การให้ธรรมทาน จึงชื่อว่าชนะการให้ทั้งปวง

           ส่วนผู้ใดมีสติปัญญา นำธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสั่งสอนให้แก่ชนทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่า ได้ให้น้ำอมฤตธรรม เพราะว่าชนทั้งหลายจะสำเร็จมรรคผลนิพพาน จะล่วงชาติกันดาร ชรากันดาร  พยาธิกันดาร มรณกันดารได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระสัทธรรม จะถึงอมตมหานิพพานเป็นที่สุขเกษม ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เป็นเอกันตบรมสุข (สุขอย่างยิ่งโดยส่วนเดียว) เพราะได้อาศัยการฟังพระสัทธรรม
         
           ผู้ที่ได้ฟังธรรมย่อมมีจิตที่ผ่องใส ยกใจของตนเองให้สูงขึ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย มีกำลัง ใจทำความดีต่อไป และคุณความดีนั้นก็จะเจริญงอกงาม จนทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด ส่วนผู้แสดงธรรม ก็ได้ชื่อว่าให้สิ่งที่ประเสริฐ ให้เส้นทางของการสร้างความดี พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ผู้ให้ธรรมทาน ชื่อว่าให้อมฤตธรรม"



3.5.3 ทำทานต่างกันให้ผลไม่เหมือนกัน       

           การทำทานทุกครั้งย่อมมีอานิสงส์ดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น แต่ผลที่เกิดขึ้นก็ใช่ว่าจะเหมือนกันทุก ครั้งไป เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบข้างหลายประการ ตั้งแต่ความต่างแห่งวัตถุ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ  ที่ให้เจตนาที่ให้ทาน กาลเวลาที่ให้ทาน หรือผู้รับทานแตกต่างกัน เป็นต้น ซึ่งจะได้ยกความแตกต่างในการทำทานมาดังนี้
       
           ความแตกต่างที่เจตนา 3 กาล               

           ผู้ใดก่อนที่จะให้ทานเกิดความดีใจ (ปุพพเจตนาบริสุทธิ์) อานิสงส์แห่งบุญย่อมส่งผลในภพชาติหน้า ให้ชีวิตในปฐมวัย (ตั้งแต่เกิดถึงอายุ 25 ปี1) ของผู้นั้นพบแต่ความสมบูรณ์พูนสุขเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งดีงาม
               
           ผู้ใดขณะที่ให้ทาน เกิดความเลื่อมใส (มุญจนเจตนาบริสุทธิ์) อานิสงส์แห่งบุญย่อมส่งผลในภพชาติ หน้า ให้ชีวิตในมัชฌิมวัย (อายุ 26-50 ปี) ของผู้นั้น พบกับความสุข ความสบาย บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติ
               
           ผู้ใดหลังจากที่ให้ทานแล้ว เกิดความเบิกบานใจ ไม่เสียดายทรัพย์ (อปราปรเจตนาบริสุทธิ์) อานิสงส์แห่งบุญย่อมส่งผลในภพชาติหน้า ให้ชีวิตในปัจฉิมวัยของผู้นั้น (อายุ 51 ปี ขึ้นไป) ถึงพร้อมด้วย ความสุข สมหวังในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ สามารถใช้ทรัพย์ได้อย่างเบิกบานใจ ไม่เป็นเศรษฐีที่มีความตระหนี่ถี่เหนียว
         
           และเมื่อผู้ใดสามารถรักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ครบทั้ง 3 ระยะอย่างนี้ได้ ก็ย่อมได้บุญมาก และมีความสุขสมบูรณ์ไปจนตลอดชีวิต
         
           จะเห็นได้ว่าเจตนามี 3 ระยะ แต่ละระยะจะส่งผลในแต่ละวัย ถ้าเจตนาดีจะส่งผลดี แต่ถ้าเจตนา ระยะใดเสียไป วัยนั้นก็จะเสียไปด้วย เช่น ก่อนจะให้ทาน ผู้ให้รู้สึกไม่ค่อยเต็มใจนัก แต่ครั้นถึงเวลาให้ เห็นพระภิกษุจำนวนมากมาย จึงเกิดความเลื่อมใสขึ้น ยินดีในการให้นั้น และหลังจากให้แล้ว นึกถึงบุญทีไร ก็เกิดความปีติเบิกบานใจทุกครั้ง บุญที่ทำนี้จะส่งผลให้เกิดในภพชาติหน้า คือ ในช่วงปฐมวัย จะมีชีวิตที่ลำบาก ต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ มากมาย ต่อเมื่อถึงมัชฌิมวัย จึงจะเริ่มประสบกับความสุข ความสำเร็จ และ   ปัจฉิมวัยก็มีความสุขความสบาย สามารถใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สุข และสร้างบุญกุศลได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น
         
           อีกนัยหนึ่ง ในภพชาตินี้ ถ้าในช่วงปฐมวัยเรามีความสุขดี มัชฌิมวัยก็เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน แต่ปัจฉิมวัยกลับพบแต่อุปสรรค มีทรัพย์ก็เสียดาย ไม่กล้าทำบุญ ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย แสดงว่าในอดีตนั้น เวลาทำบุญ ปุพพเจตนาและมุญจนเจตนาดี แต่อปราปรเจตนาเสียไป ทำบุญแล้วใจไม่เลื่อมใส เสียดายทรัพย์ ดังนี้เป็นต้น
         
           ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า การให้ทานจะมีผลมากนั้น ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาที่บริสุทธิ์ของผู้ให้ทั้ง 3 ระยะ เป็นสำคัญ คือ ก่อนให้ก็ดีใจ ขณะให้ก็เลื่อมใส และหลังจากให้แล้วก็ปีติเบิกบานใจ หากสามารถประคองเจตนาทั้ง 3 ระยะนี้ได้  นั่นย่อมหมายถึงอานิสงส์ผลบุญที่จะเกิดขึ้นอย่างสุดประมาณ ดังที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ทานสูตร ว่า
         
                      "ภิกษุทั้งหลาย ทานที่ประกอบด้วยองค์ 6 คือ
    องค์ของผู้ให้ 3 อย่าง
    องค์ ของผู้รับ 3 อย่าง

                      องค์ของผู้ให้ 3 อย่าง (เจตนา 3) คือ ก่อนให้ก็ดีใจ กำลัง ให้ก็มีใจผ่องใส ครั้นให้เสร็จแล้วมีความเบิกบานใจ
         
                      องค์ของผู้รับ 3 อย่าง คือ เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อความไม่มีราคะ เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อความไม่มีโทสะ เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือ ปฏิบัติเพื่อความไม่มีโมหะ
         
     ทานที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 6 ประการนี้ เป็นบุญใหญ่ นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ยิ่งใหญ่นัก เหมือนน้ำในมหาสมุทร นับหรือคำนวณไม่ได้ว่ามี ขนาดเท่าใด ทานที่พรั่งพร้อมด้วยคุณลักษณะ
           เหล่านี้ ย่อมเป็นที่หลั่งไหลแห่งบุญ หลั่งไหลแห่งกุศล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์เลิศด้วยดี
           มีวิบากเป็นสุข เป็นไปพร้อมเพื่อการเกิดขึ้นในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่น่าปรารถนา     
           น่ารักใคร่ น่าพอใจ"
         
           แต่หากไม่สามารถประคับประคองเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง 3 ระยะได้ ผลบุญย่อมลดหย่อนลงไป ตามส่วนที่ควรจะเป็น



            แตกต่างที่เนื้อนาบุญ       

           นอกจากเจตนาที่บริสุทธิ์ทั้ง 3 ระยะแล้ว ปฏิคาหกหรือผู้รับทานนั้นก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการ หนึ่ง ที่ทำให้ผลแห่งทานมีมากหรือน้อยแตกต่างกัน การให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล มีความบริสุทธิ์ เป็นทักขิไณยบุคคล ชื่อว่าเป็นทานที่มีผลมาก มีผลไพศาล ส่วนทานที่ให้ในบุคคลผู้ทุศีล หามีผลมาก มีอานิสงส์มากไม่ ดังที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปสาทสูตร ว่า
       
                      "สงฆ์ทั้งหลายก็ดี คณะทั้งหลายก็ดี มีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของตถาคต
           ปราชญ์กล่าวว่าเป็นยอดแห่งสงฆ์ แห่งคณะทั้งปวงนั้น สงฆ์สาวกของตถาคตคือใคร
           คือคู่แห่งบุรุษ 4 บุรุษ บุคคล 8 (หมายถึงพระอริยเจ้า) นี่สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระ
           ภาคเจ้า ผู้ควรของคำนับ ผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรของทำบุญ ผู้ควรทำอัญชลี
           ผู้เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า สัตว์เหล่าใดเลื่อมใสในพระสงฆ์ สัตว์เหล่า
           นั้นจึงชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ เมื่อเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ก็ย่อมได้ผลอันเลิศ"
 


           แตกต่างที่เวลา        

           เวลาในการให้ทานก็มีผลต่ออานิสงส์ที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน บางคนเมื่อเกิดความเลื่อมใสในที่ใดก็  ให้ทานทันที แต่กับบางคนจะให้ทานก็ต่อเมื่อตนเองมีความพร้อม หรือบางคนคิดจะให้ก็บังเกิดความลังเล เพราะความตระหนี่เข้าครอบงำ กว่าจะตัดใจให้ได้ก็ล่วงเลยเวลาไปนาน
       
           การให้ทานในเวลาที่แตกต่างกัน ย่อมมีอานิสงส์แตกต่างกันไม่น้อย นั่นคือ ผู้ที่ให้ทานทันทีที่จิต เลื่อมใส โดยไม่รีรอว่าจะต้องพร้อมก่อน ไม่ลังเลหรือนึกเสียดาย ในเวลาบุญให้ผล ก็ย่อมได้รับอานิสงส์  ก่อนใคร และได้อย่างเต็มที่ไม่มีตกหล่น แต่หากทำบุญช้าหรือลังเลอยู่ บาปอกุศลก็ได้ช่อง ถึงคราวบุญ  ส่งผลก็ส่งให้ช้า และได้อย่างไม่เต็มที่อีกด้วย    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า
                 
                      "บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี  พึงห้ามจิตเสียจากบาป
                       เพราะว่า  เมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่  ใจจะยินดีในบาป


                 
           แตกต่างที่ทำตามลำพังหรือทำร่วมกันเป็นหมู่คณะ
       
           คนบางคนแม้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีทรัพย์มาก แต่กลับขาดเพื่อนพ้องบริวาร เวลาทำกิจการงานหรือ ประสบอุปสรรคอันใด ก็ไม่มีใครช่วยเหลือเกื้อกูล
       
           คนบางคนแม้ยากจนไม่มีทรัพย์สมบัติ แต่กลับมีเพื่อนพ้อง และญาติพี่น้องบริวารมากมายที่คอยช่วยเหลือให้พึ่งพาได้ในยามที่ต้องการ
       
           คนบางคนไม่มีทั้งทรัพย์สมบัติ ไม่มีทั้งเพื่อนพ้องบริวาร จะทำมาหาเลี้ยงชีพหรือทำกิจการงาน ก็ลำบากยากแค้น
       
           แต่คนบางคนกลับสมบูรณ์พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติ ทั้งบริวาร จะทำกิจการงานอันใด ก็สำเร็จ สมปรารถนา ชีวิตจึงมีความสุขอย่างเต็มที่
       
           เหตุที่ทำให้คนเหล่านี้มีความแตกต่างกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงเหตุนั้นไว้ว่า
               
                      "คนบางคนให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆ
                      ย่อมได้แต่โภคทรัพย์สมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
               
                      คนบางคนไม่ให้ทานด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่น ไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆ
                      ย่อมไม่ได้โภคทรัพย์สมบัติ แต่ได้บริวารสมบัติ
               
                      คนบางคนไม่ให้ทานด้วยตนเอง และไม่ชักชวนผู้อื่น ไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆ
                      ย่อมไม่ได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติ
               
                      คนบางคนให้ทานด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นด้วย ไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆ
                      ย่อมได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติ
         
           จากพุทธพจน์ที่กล่าวในเบื้องต้น ทำให้เห็นอานิสงส์ของการทำ และไม่ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้ กับตนเองและผู้อื่นว่า "บุคคลที่ทำบุญเอง แต่ไม่ได้ชักชวนผู้อื่นทำบุญ จะไปเกิดเป็นผู้ที่ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ แต่ไม่มีพวกพ้องบริวาร" เพราะว่า เมื่อบุคคลทำบุญด้วยตนเอง ชื่อว่าเขาได้รักษาทรัพย์สมบัติ ของตนไว้ แต่เขาไม่ได้ชักชวนผู้อื่นทำบุญ ชื่อว่าเขาไม่ได้ติดตามรักษาทรัพย์สมบัติให้ผู้อื่น เสมือนปล่อยให้ทรัพย์นั้นถูกไฟไหม้จนหมดสิ้น ฉะนั้นเวลาไปเกิดในภพชาติใด จึงมีโภคทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ไม่มีบริวาร เมื่อทำกิจการใดๆ ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยยากลำบากมาก ไม่มีคนช่วยเหลือ เพราะขาดพวกพ้อง
       
           "บุคคลที่ไม่ได้ทำบุญเอง ได้แต่ชักชวนผู้อื่นทำบุญ จะไปเกิดเป็นคนยากจน แต่มีพวกพ้องบริวาร"
       
           เพราะว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติของตนเองไว้ ได้แต่ตามรักษาทรัพย์สมบัติให้คนอื่น ฉะนั้นไปเกิดใน ภพชาติใด ตนจึงต้องลำบาก และยากจนข้นแค้น แต่เวลาจะทำอะไร ก็มีคนคอยช่วยเหลือสนับสนุนตลอดเวลา
       
           "บุคคลที่ไม่ได้ทำบุญด้วยตนเอง และไม่ชักชวนผู้อื่นทำบุญ จะไปเกิดเป็นคนยากจน ทั้งไม่มีพวกพ้องบริวาร"
 
           เพราะว่า ไม่รักษาทั้งทรัพย์สมบัติของตนเองและผู้อื่น บางทีถึงกับขัดขวางคนอื่นไม่ให้ทำอีก ฉะนั้นไปเกิดในภพชาติใด ก็พบแต่ความลำบากยากจน ต่ำต้อย ไม่มีพวกพ้อง จะทำอะไรก็ลำบากมาก และไปเกิดกับกลุ่มชนที่มีความลำบากด้วยกัน มีแต่คนรังเกียจ
         
           ส่วน "บุคคลที่ทำบุญเอง และชักชวนผู้อื่นทำบุญด้วย ย่อมร่ำรวยด้วยโภคทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติ"         
           เพราะว่า นอกจากตนเองได้รักษาทรัพย์สมบัติของตนไว้ดีแล้ว ยังติดตามไปรักษาทรัพย์สมบัติให้ผู้อื่น ฉะนั้นไปเกิดในภพชาติใด ก็จะมั่งคั่งร่ำรวย และมีแต่คนที่ซื่อสัตย์สุจริต บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ มาเป็นพวกพ้องบริวาร คนภัยคนพาลเข้าใกล้ไม่ได้ จะทำสิ่งใดก็สำเร็จได้โดยง่าย
         
           อานิสงส์ของทานมีคุณอย่างไม่อาจประมาณหรือนับได้ เราต่างโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนรู้และเข้าใจ ว่าจะต้องใช้เวลาของชีวิตที่ค่อยๆ หมดไปด้วยความไม่ประมาท ด้วยการสั่งสมบุญ มีทานกุศลเป็นต้น
         
           ดังนั้น จงอย่านิ่งนอนใจ พึงขวนขวายในการให้ทาน ทั้งทำด้วยตนเอง ทั้งชักชวนผู้อื่น ทำจนกระทั่งเกิดเป็นนิสัยรักการให้ติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ และพึงระลึกไว้เสมอว่า เมื่อเรามีจิตเลื่อมใสในที่ใด ก็ต้องรีบให้ในที่นั้น อย่ามัวแต่ชักช้าชะล่าใจ จนกิเลสหรือความตระหนี่เข้ามาครอบงำใจได้เด็ดขาด เมื่อมีมากก็ให้มาก มีน้อยก็ให้น้อย ค่อยๆ สั่งสมบุญไปอย่างเต็มกำลัง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
         
                      "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อย จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำ
           ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา (ทีละหยาดๆ) ได้ฉันใด ธีรชน (ชนผู้มีปัญญา)   
           สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น"


บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ธรรมทาน
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มกราคม 12, 2010, 03:16:49 pm »
0
ธรรมทาน
(บางส่วนจากหนังสือวิถีชาวพุทธ)
 

ที่มา  http://main.dou.us/                                                                                                                                                                                                                                   
4.1 ประเภทของธรรมทาน
           ธรรมทาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ วิทยาทาน และ อภัยทาน

           4.1.1. วิทยาทาน
           วิทยาทาน คือ การให้ความรู้ ยังแบ่งออกได้อีกเป็นวิทยาทานทางโลก และวิทยาทานทางธรรม

           วิทยาทานทางโลก คือ การสั่งสอนให้เกิดความรู้ความสามารถในเชิงศิลปวิทยาการ เพื่อนำไปประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงชีวิต และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยความสะดวกสบายทุกอย่าง ดังนั้น ทางพระพุทธศาสนาได้จัดความรู้ว่าเป็นขุมทรัพย์อย่างหนึ่ง ชื่อ องฺคสมนิธิ แปลว่า ขุมทรัพย์ติดตัวได้ บุคคลผู้มีความรู้ดี จึงเปรียบได้ว่ามีขุมทรัพย์ติดตัวไป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เชื่อมั่นได้ ว่าจะสามารถใช้ปัญญา รักษาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้แน่นอน
                   
           วิทยาทานทางธรรม (จัดเป็นธรรมทานแท้) คือ การให้ความรู้ที่เป็นธรรมะนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ด้วยเหตุที่ว่า การดำเนินชีวิตของแต่ละคนนั้น ถ้าขาดเสียซึ่งหลักธรรม ชีวิตก็จะพบแต่ความทุกข์ เดือดร้อน ผิดหวังตลอดไป ต่อเมื่อได้ยินได้ฟังธรรม และนำมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม ย่อมเกิดความเจริญงอกงามในชีวิตของตน ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ในที่สุดก็ทำให้รู้แจ้งเห็นแจ้งในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้
           
           การให้คำสอนที่ถูกต้องที่เป็นธรรมะนั้น เปรียบได้กับการให้ขุมทรัพย์ที่เป็นอมตะติดตัวไว้ หรือให้ประทีปแสงสว่างที่คอยติดตามไป ดังนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่า การให้ธรรมทาน เปรียบเหมือนการให้ ขุมทรัพย์ หรือประทีปที่จะเป็นเครื่องส่องทางชีวิต ให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้องดีงาม นำชีวิตไปสู่ความสุข ความเจริญ
         
           และเมื่อยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ย่อมเป็นผู้ไม่ตกต่ำ มีชีวิตที่ดีงาม ได้เกิดในสุคติภพ เมื่ออบรมบ่มบารมีแก่กล้าแล้ว ย่อมสละละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง เข้าถึงพระนิพพานได้ เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง"

           4.1.2 อภัยทาน
           อภัยทาน คือ การให้ความปลอดภัย ให้ความไม่มีภัยแก่ตนและผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธเคือง ในการล่วงเกินของผู้อื่น ไม่มีเวร ไม่ผูกเวรกับผู้ใด ทั้งยังมีจิตเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นนิตย์
           
           การให้อภัย เป็นการให้ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เป็นการให้ที่ง่าย แต่ที่บางคนทำได้ยาก เพราะมีกิเลสอยู่ในใจ ต้องอาศัยการฟังธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรมบ่อยๆ จนเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง เห็นคุณประโยชน์ของการให้อภัย แล้วจะให้อภัยได้ง่ายขึ้น

           หากมองเผินๆ จะดูเหมือนว่าการให้อภัยเป็นการให้ประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นมีความสุขสบายใจ แต่แท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์สุขมากที่สุดก็คือตนเอง เพราะทุกครั้งที่ให้อภัยได้ จะรู้สึกปลอดโปร่ง เบากายเบาใจ สดชื่นแจ่มใส มีความสุข

           นอกจากนี้ การช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายให้ปลอดภัย หรือพ้นจากอันตรายนั้นได้ เช่น การช่วยปล่อยสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่าให้พ้นจากการถูกฆ่า ดังประเพณีปล่อยสัตว์ปล่อยปลา ก็นับว่าเป็นอภัยทานเช่นกัน เพราะได้ให้ความไม่มีภัย ให้ความเป็นอิสระแก่สัตว์เหล่านั้น
                 
           การให้ความปลอดภัย ให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการไม่เบียดเบียน จัดเป็นการให้ที่สูงขึ้นไปอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า มหาทาน ซึ่งท่านจัดไว้ในเรื่องศีล (บทที่ 6)
                 
           ส่วนการให้อภัย คือ ทำตนเป็นผู้ไม่มีภัยกับตนเอง ใครที่สามารถสละภัย คือโทสะออกจากใจได้ มีจิตใจสงบ สะอาด จิตจะประกอบไปด้วยเมตตา  เมื่อทำไปแล้วถึงระดับหนึ่ง จัดว่าเป็นการภาวนา ที่เรียกว่า เมตตาภาวนา ซึ่งมีอานิสงส์สูงยิ่ง
บทที่4 ธรรมทาน


4.2 อานิสงส์ของธรรมทาน         
           ธรรมทานนี้มีอานิสงส์มาก ดังที่มีการพรรณนาคุณไว้ในอรรถกถาธรรมบท ว่า
                   
           แม้ทายกจะถวายจีวรอย่างดีที่สุดแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้า ทั้งหลาย ที่นั่งติดๆ กันเต็มห้องจักรวาลนี้  ก็ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าการอนุโมทนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ด้วยพระคาถาเพียง 4 บาท และจีวรทานนั้นมีค่าไม่ถึง 1 ใน 16 แห่งพระคาถาที่พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา
                 
           แม้ทายกจะถวายโภชนะข้าวสาลี กอปรด้วยสูปะพยัญชนะ (แกงและกับข้าว) อันประณีต เป็นต้น ให้เต็มบาตรพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี จะถวายเภสัชทาน มี เนยใส เนยเหลว น้ำผึ้ง เป็นต้น ให้เต็มบาตรพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นั่งติดๆ เต็มห้องจักรวาลก็ดี ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าธรรมทานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนุโมทนาด้วยพระคาถาเพียง 4 บาท
 
                 
           อนึ่ง  ทายกจะถวายเสนาสนะ  มีมหาวิหาร  หรือโลหปราสาทหลายแสนหลัง   ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าธรรมทาน  ที่พระพุทธเจ้าอนุโมทนาด้วยพระคาถาเพียง 4 บาท
                 
           การแสดงธรรม  การบอกธรรม  การฟังธรรม  มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่และประเสริฐกว่าจีวรทาน  บิณฑบาตทาน  เสนาสนทานทุกอย่าง  เพราะว่าชนทั้งหลายที่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ไม่รู้ถึงคุณของพระรัตนตรัย  จะทำบุญมากมายขนาดนั้นได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังธรรม  เพราะถ้าไม่ได้ฟังธรรมจนมีศรัทธา  และรู้ถึงคุณค่าของการทำทานแล้ว  จะถวายข้าวสวยสักทัพพี  ข้าวต้มสักกระบวยก็ยังยาก  แต่หากได้ฟังธรรมจนมีศรัทธา  ความอยากทำทานหรือการทำความดีอื่น ๆ ก็จะเกิดตามมาโดยง่าย  ดังตัวอย่างเรื่องของโรชะมัลลกษัตริย์1  ดังนี้
         
           ครั้งนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปทางพระนครกุสินารา  พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ 1,250 รูป
         
           พวกมัลลกษัตริย์ชาวกุสินารา  ได้ทรงทราบข่าว  จึงได้ตั้งกติกาไว้ว่า  ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน  500  กษาปน์
         
           โรชะมัลลกษัตริย์ซึ่งเป็นพระสหายของพระอานนท์ไม่มีศรัทธา  แต่เพราะกลัวว่าจะถูกปรับสินไหมจึงให้การต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น อย่างดี  ครั้นรับเสด็จแล้ว  จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์
           
           ท่านพระอานนท์ชื่นชมเขาว่า
           
           "ท่านโรชะ   การรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของท่านโอฬารแท้"
           
           โรชะมัลลกษัตริย์ตรัสว่า
           
           "พระ คุณเจ้าอานนท์  พระพุทธเจ้าก็ดี  พระธรรมก็ดี  พระสงฆ์ก็ดี  ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าใหญ่โต  พวกญาติต่างหากได้ตั้งกติกาไว้ว่า  ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน 500 กษาปน์  ข้าพเจ้านั้นแล  ได้ต้อนรับสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นนี้  เพราะกลัวญาติปรับสินไหม"   
           
           ท่านพระอานนท์แสดงความไม่พอใจว่า  ไนโรชะมัลลกษัตริย์จึงได้ตรัสอย่างนี้  แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  กราบทูลว่า
           
           "พระพุทธเจ้าข้า  โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นี้  เป็นคนมีชื่อเสียง  มีคนรู้จักมาก  และความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้  ของคนที่มีผู้รู้จักมากเช่นนี้  มีอิทธิพลมากนัก  ขอประทานพระวโรกาส  ขอพระองค์ทรงกรุณาโปรดบันดาลให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ ด้วยเถิด  พระพุทธเจ้าข้า"           
           
            พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับคำพระอานนท์แล้ว  ทรงแผ่เมตตาจิตไปยังโรชะมัลลกษัตริย์  แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จเข้าพระวิหาร  ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์อันพระเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกต้องแล้ว  ได้เที่ยวค้นหาตามวิหารไปทั่วทั้งบริเวณทุกแห่ง  แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
             
           "ท่านเจ้าข้า เวลานี้พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองคืนั้นประทับอยู่ที่ไหนเพราะข้าพเจ้าใคร่จะเฝ้าพระองค์"       

           ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า
             
           "ท่านโรชะ  พระวิหารนั่นเขาปิดพระทวารเสียแล้ว  ขอท่านโปรดสงบเสียง  เสด็จเข้าไปทางพระวิหารนั้น  ค่อยๆย่องเข้าไปที่หน้ามุข  ทรงระแอม  แล้วทรงเคาะพระทวารเถิด  พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงเปิดพระทวารรับท่าน  ถวายพระพร"
       
           โรชะมัลลกษัตริย์ทรงทำตามที่ได้รับแนะนำ  เมื่อเขานั่งต่อเบื้องพนะพักตร์พระศาสดาเรียบร้อยแล้ว  พระพุทธองค์จึงทรงแสดงอนุปุพพิกถา  คือ ทรงประกาศเรื่องทาน  ศีล  สวรรค์  โทษของกามอันต่ำช้า  อันเศร้าหมอง  และอานิสงส์ในการออกจากกามให้เขาฟัง   เมื่อทรงทราบว่าโรชะมัลลกษัตริย์มีจิตคล่อง  มีจิตอ่อน  มีจิตปราศจากนิวรณ์  มีจิตเบิกบาน  มีจิตผ่องใสแล้ว  จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนา  คือ  อริยสัจที่ลุ่มลึกยิ่งขึ้นไป  จนโรชะมัลลกษัตริย์มีดวงตาเห็นธรรม  บรรลุเป็นพระโสดาบัน ณ ที่นั้นเอง
       
           โรชะมัลลกษัตริย์ได้ทรงเห็นธรรมแล้ว  ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้ง  ได้หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว  ข้ามความสงสัยได้แล้ว  ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย  ถึงความเป็นผู้องอาจ  ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา  ได้กราบทูลคำนีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
         
           "ขอประทานพระวโรกาส  ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย  โปรดรับจีวร  บิณฑบาต  เสนาสนะ  และคิลานปัจจัย  เภสัชบริขาร  ของข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว  อย่ารับของคนอื่น"         
           
           พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
         
           "ดูก่อนโรชะ   แม้อริยบุคคลผู้ใดได้เห็นธรรมแล้วด้วยญาณของพระเสขะ  ด้วยทัสสนะของพระเสขะเหมือนอย่างท่าน  ก็คงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า  โอ  พระคุณเจ้าทั้งหลายคงกรุณารับจีวร  บิณฑบาต  เสนาสนะ  คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของพวกเราเท่านั้น  คงไม่รับของผู้อื่นเป็นแน่  เพราะฉะนั้นแล  ภิกษุทั้งหลายจักรับปัจจัยของท่านด้วย  ของคนอื่นด้วย"         

           จากเรื่องข้างต้นจะเห็นได้ว่า  การได้ฟังธรรม  สามารถน้อมนำจิตใจ  และเปลี่ยนบุคคลจากที่ไม่มีความเลื่อมใส  ให้หันกลับมาเลื่อมใส  และยังทำให้เขามีโอกาสที่จะได้สั่งสมบุญใหญ่ติดตัวไปอีกด้วย
         
           อานิสงส์ของธรรมทานอีกประการหนึ่ง  คือ  ยกเว้นพระพุทธเจ้า  และพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว  แม้พระสาวกทั้งหลาย  เช่น  พระสารีบุตร  ผู้เป็นเลิศด้วยปัญญาญาณ  ขนาดสามารถนับเม็ดฝนที่ตกอยู่ตลอดกัปได้  ก็ยังไม่สามารถบรรลุอริยผล  มีโสดาปัตติผล  เป็นต้น  โดยลำพังตนเองได้  ต่อมาเมื่อได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ  และพระศาสดา  จึงสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบัน  และเป็นพระอรหันต์ได้  ดังนั้น  "ธรรมทานจึงประเสริฐที่สุด"  ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบท้าวสักกเทวราชและเทวดาทั้งหลายที่มาทูลถามว่า
                                   
                                 " การให้อะไร                    ชนะการให้ทั้งปวง
                                  รสแห่งอะไร                     ชนะรสแห่งทั้งปวง
                                 ความยินดีในอะไร             ชนะความยินดีทั้งปวง
                                 ความสิ้นไปแห่งอะไร        ชนะทุกข์ทั้งปวง"         
           

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบว่า
                                     
                                 สพฺพทานํ         ธมฺมทานํ     ชินาติ
                                 สพฺพรสํ             ธมฺมรโส      ชินาติ 
                                 สพฺพรตึ             ธมฺมรติ        ชินาติ
                                 ตณฺหกฺขโย       สพฺพทุกฺขํ    ชินาติ 

                     
                               การให้ธรรมทาน                   ชนะการให้ทั้งปวง
                                 รสแห่งธรรม                          ชนะรสทั้งปวง
                                 ความยินดีในธรรม                 ชนะความยินดีทั้งปวง
                                 ความสิ้นไปแห่งตัณหา         ชนะทุกข์ทั้งปวง
                                 ผู้ใดให้ธรรมเป็นทาน            ผู้นั้นชื่อว่าให้พระนิพพานแก่คน           


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 12, 2010, 03:19:13 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
อานิสงส์ของสังฆทาน จากเวลามสูตร
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มกราคม 12, 2010, 03:23:56 pm »
0
อานิสงส์ของสังฆทาน
(บางส่วนจากหนังสือ วิถีชาวพุทธ)
   

ที่มา  http://main.dou.us/                                                                                                                                                                                                                                         
           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์ของสังฆทานว่ามีผลมาก ดังเรื่องต่อไปนี้
                                                                             เวลามสูตร
           พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่าเวลามะ อยู่ในชมพูทวีป เวลามพราหมณ์นั้นเป็นคนมีจิตใจเลื่อมใสต่อการบริจาค ทาน ได้จัดสร้างโรงทานขึ้นที่บ้านของตน และประกาศให้คนทั้งหลายที่อยู่ในชมพูทวีปนี้มารับทาน คือ  รับอาหารที่โรงทานนี้ได้ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน หรือถ้าหากบุคคลใดไม่มีที่พักอาศัยหรือเครื่องนุ่งห่มแล้ว ขอให้มาแจ้งความประสงค์ต่อตน จะได้จัดการให้ทานแก่ผู้นั้นโดยทั่วถึงทั้งหมด และในวันสุดท้ายได้ให้ถาดทอง ถาดเงิน ถาดสำริด ซึ่งมีทองและเงินอยู่เต็มถาด อย่างละ 84,000 และช้าง รถ หญิงสาว บัลลังก์ ซึ่งประดับอย่างงดงาม อย่างละ 84,000 โคนมอีก 84,000 ตัว และผ้าคู่อีก 84,000 คู่ ทานที่เวลาม-พราหมณ์ทำนั้นได้ชื่อว่า "มหาทาน" อานิสงส์ของการให้มหาทาน มีมากน้อยเพียงไร พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบเป็นข้อๆ ไว้ ดังนี้

           1. การทำทานของเวลามพราหมณ์นี้ ย่อมได้อานิสงส์ถึงอสงไขยภพ

           2. อานิสงส์ที่เวลามพราหมณ์ได้รับนี้ ยังสู้อานิสงส์ของผู้ถวายอาหารแด่พระโสดาบันบุคคลเพียง องค์เดียว และ
               ครั้งเดียวไม่ได้

           3. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระโสดาบันบุคคล 100 องค์  ยังสู้อานิสงส์ของการ ถวายอาหารแด่
               พระสกทาคามีบุคคลเพียงองค์เดียว และครั้งเดียวไม่ได้

           4. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระสกทาคามีบุคคล 100 องค์ ยังสู้อานิสงส์ของการ ถวายอาหาร
               แด่พระอนาคามีบุคคลเพียงองค์เดียว และครั้งเดียวไม่ได้

           5. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระอนาคามีบุคคล 100 องค์ ก็ยังสู้อานิสงส์ของการ ถวายอาหาร
               แด่พระอรหันต์บุคคลเพียงองค์เดียว และครั้งเดียวไม่ได้

           6. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระอรหันต์ 100 องค์ ก็ยังสู้อานิสงส์ของการถวายอาหารแด่พระ
               ปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียว และครั้งเดียวไม่ได้

           7. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า 100 องค์ ก็ยังสู้อานิสงส์ของการ ถวายอาหาร
               แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว และครั้งเดียวไม่ได้

           8. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวนั้น ก็ยังสู้อานิสงส์ของการ ถวาย
               อาหารแด่ภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย (สังฆทาน) มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขไม่ได้

           9. อานิสงส์ที่ได้รับจากการถวายอาหารแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขนั้น ก็ยัง สู้อานิสงส์ของ
             การสร้างวิหารทาน (ถาวรทาน) แด่ภิกษุสงฆ์ที่อยู่ทั่วทั้ง 4 ทิศไม่ได้ (การถวายอาหารเป็น  สังฆทาน มี
             อานิสงส์น้อยกว่าการถวายถาวรทานเป็นสังฆทาน)

           จากนั้นพระศาสดาทรงแสดงอานิสงส์ของการสร้างบุญที่มีมากยิ่งกว่าสังฆทานขึ้นไป ดังนี้

          อานิสงส์ที่ได้รับจากการสร้างวิหารเพื่อสงฆ์ทั้ง 4 ทิศนั้น ก็ยังสู้อานิสงส์ของการเข้าถึงไตรสรณ-คมน์ไม่ได้

อานิสงส์ที่ได้รับจากการเข้าถึงไตรสรณคมน์นั้น ก็ยังสู้อานิสงส์ของการสมาทานศีล 5 ศีล 8 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์นั้นไม่ได้

           อานิสงส์ที่ได้รับจากการสมาทานศีล 5 ศีล 8 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ ก็ยังสู้อานิสงส์ของการ แผ่เมตตาให้แก่สัตว์ทั้งหลายมีความสุขเพียงชั่วครู่หนึ่งไม่ได้

           อานิสงส์ที่ได้รับจากการแผ่เมตตาให้แก่สัตว์ทั้งหลายมีความสุข เพียงชั่วครู่นั้น ก็ยังสู้อานิสงส์ ของการเจริญวิปัสสนาเพียงชั่วครู่ไม่ได้

           จะเห็นได้ว่าอานิสงส์ของการบำเพ็ญสังฆทานจะมีผลมากกว่าปาฏิปุ คคลิกทาน แต่อานิสงส์ของ  การรักษาศีล และการเจริญวิปัสสนามีมากกว่านั้นอีก แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะมุ่งแต่เจริญวิปัสสนา เพียงอย่างเดียวโดยไม่ทำทาน เพราะการให้ทานย่อมมีประโยชน์แก่บุคคลทุกจำพวก
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
สรุปอานิสงส์ของทาน
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มกราคม 12, 2010, 03:27:50 pm »
0
สรุปอานิสงส์ของทาน
(บางส่วนจากหนังสือ วิถีชาวพุทธ)
   

ที่มา  http://main.dou.us/                                                                                                                                                                                                                                         
สรุปท้ายบท           

           จากที่ได้ศึกษาเรื่องทานมาทั้งหมดนั้น เราอาจสรุปสาระสำคัญที่ผู้ทำทานจะได้รับดังต่อไปนี้ คือ
           

           ผลในปัจจุบัน (เป้าหมายระดับต้น)

           1. ได้ความสุข ความสบายใจทันทีหลังจากที่ได้ให้ไปแล้ว
           2. ได้อานิสงส์ในปัจจุบัน  ที่เป็นเหตุนำให้ชีวิตมีความสุข และความสำเร็จทั้งปวง
           3. ได้ฝึกนิสัยรักในการทำทาน โดยการกำจัดความโลภ หรือความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป ซึ่งนิสัยนี้จะทำให้กลายมาเป็นผู้ที่ไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของนอกตัวใดๆ คือมีปกติพร้อมจะสละให้เป็นทาน ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอามิส เช่น ทรัพย์สินเงินทองของนอกตัว เลือดเนื้ออวัยวะ หรือแม้กระทั่งชีวิตก็    สละได้ ถ้าเป็นไปเพื่อการสั่งสมบุญบารมี เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันสร้างบารมีมา จนได้ตรัสรู้ธรรม
          4. ได้ตอกย้ำความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) ของตนเองให้มั่นคง ว่าการให้ทานเป็นความดี และเป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยหมั่นให้ทานเพื่อตอกย้ำจนความเห็นนี้เข้าไปติดอยู่ในใจ จนกระทั่งไม่ว่าจะไปเกิด ในภพชาติไหน ก็ยังคงมีความเห็น และนิสัยรักการให้ทานอยู่นั่นเอง



          ผลในอนาคต (เป้าหมายระดับกลาง)

          5. ผู้ให้ทานย่อมมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป
          6. หากกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ครั้งใด ทานกุศลที่สั่งสมไว้ ย่อมจะกลายมาเป็นหลักประกันให้ได้เสบียง คือ มีโภคทรัพย์สมบัติเกิดขึ้นมารองรับเอาไว้ ชีวิตก็จะมีแต่ความสุขสบาย ไม่ต้องลำบากหรือยากจน ดังที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

                                      "ผู้ไม่มีบุญ จะเป็นผู้มีศิลป์หรือไม่ก็ตาม
                                      ย่อมขวนขวายรวบรวมทรัพย์ไว้เป็นอันมาก
                                      ผู้มีบุญย่อมใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น"           
 
           ดังนั้น ผู้ที่สั่งสมทานกุศลไว้ดี เกิดมาจึงมีเวลาและโอกาสจะทำความดี ทั้งให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญสมาธิภาวนา ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปได้มากกว่า และง่ายกว่าคนอื่นๆ ทั่วไป หรืออาจกล่าวอีก  นัยหนึ่งได้ว่า ทาน ก็คือพื้นฐานสำคัญ ที่รองรับการทำความดีทุกรูปแบบของมนุษย์นั่นเอง
         


          ผลที่สุด (เป้าหมายระดับสูงสุด)

          7. บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
          การทำทาน จึงเป็นหัวใจของความสำเร็จในชีวิตมนุษย์ทุกคน เพราะนอกจากจะทำได้ง่ายแล้ว ทานยังเป็นพื้นฐานให้สามารถทำความดีอื่นๆ ตามมาได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้น จึงควรขวนขวายในการ ทำทาน เพราะไม่นานทุกชีวิตก็ต้องจากโลกนี้ไป ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน อาทิตตสูตร ว่า

                                   "เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออกไปได้ ภาชนะนั้น
                         ย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่ขนออกไปไม่ได้ ย่อมถูกไฟไหม้ ฉันใด
                                   โลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผาแล้ว   ก็ฉันนั้น    ควรนำออก (ซึ่ง
                        โภคทรัพย์สมบัติ) ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุที่บุคคลให้แล้ว   ได้ชื่อว่านำ
                        ออกดีแล้ว ทานวัตถุที่บุคคลให้แล้วนั้น   ย่อมมีสุขเป็นผล  ที่ยังมิได้ให้ ย่อมไม่
                        เป็น เหมือนเช่นนั้น โจรยังปล้นได้ พระราชายังริบเอาไปได้ ไฟยังไหม้ได้ หรือ
                        สูญหายไปได้
                                   อนึ่ง   บุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมด้วยสิ่งเครื่องอาศัยด้วยตายจากไป
                        ผู้มีปัญญารู้ชัดดังนี้แล้ว ควรใช้สอยและให้ทาน เมื่อได้ให้ทานและใช้สอยตาม
                        ควรแล้ว จะไม่ถูกติฉิน เข้าถึงสถานที่อันเป็นสวรรค์"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 12, 2010, 04:08:48 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
อาจารย์สายทอง อ่านแล้วคงเข้าใจ จุดประสงค์โดยรวมนะครับ

ว่าผมต้องการสื่ออะไรให้อาจารย์เข้าใจ


  ผมคิดว่าธรรมทานมีผลกระทบแบบโดมิโน และที่สำคัญมีพุทธภาษิต รับรองไว้ชัดเจน

                 สพฺพทานํ  ธมฺมทานํ  ชินาติ
                 "การให้ธรรมทาน    ชนะการให้ทั้งปวง"



  ส่วนการไปดูแลพระสงฆ์ที่อาพาธ โดยส่วนตัวผมขอคิดง่ายๆว่า
                 
      การถวายอาหาร ทำให้เรามีกิน
      การถวายยา     ทำให้เราเจ็บป่วยน้อยลง
      การรับใช้        ทำให้เรามีคนช่วยเหลือ

      การถวายปัจจัยอื่นๆ ก็มีผลตามสมควรแก่เหตุนั้นๆ

  การที่จะเปรียบเทียบว่า อย่างไหนอานิสงส์มากกว่ากันนั้น

  เป็นการยาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
 
  เรื่องนี้เป็นผลของการทำกรรมดี เป็นเรื่องของอจินไตย

  ที่คนธรรมดาคิดไม่ได้ครับ  ต้องถามพระพุทธเจ้าคนเดียว

  หรือถามผู้มีญาณทัสนะอันยิ่ง



  ถ้าผมเป็นอาจารย์ผมจะทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน

  จะทำในรูปของสังฆทาน ต้องมีพระสงฆ์ ๔ รูปขึ้นไป

  นอกจากปัจจัยต่างๆที่ควรถวายแล้ว

  ผมจะถวายหนังสือธรรมะหรือสื่อธรรมะต่างๆ

  ให้คณะสงฆ์เป็นจำนวนมากพอ ที่ท่านสามารถจะนำไปแจกต่อได้
                                     



  อย่างไรก็แล้วแต่ ที่อาจารย์ถามว่าควรทำอย่างไหนก่อน

  อันนี้อาจารย์ควรเลือกเอง ทำอย่างไหนสะดวก มีความสุข

  และเบียดเบียนผู้อื่นน้อยที่สุด ทำไปเลยครับ  ส่วนผมขออนุโมทนา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 12, 2010, 04:19:25 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ