ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บรรเทาความโกรธ ด้วยการพิจารณา "กรรมของตนและคนอื่น"  (อ่าน 1167 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




บรรเทาความโกรธ ด้วยการพิจารณา "กรรมของตนและคนอื่น"
(อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๕ ด้วยพิจารณาถึงกรรม)

ก็แหละ.! แม้โยคีบุคคลจะได้พยายามพร่ำสอนตนเองด้วยประการดังกล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ความโกรธแค้นก็ยังไม่สงบลง แต่นั้นโยคีบุคคลจงใช้วิธีพิจารณาถึงภาวะที่ตนและคนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนต่อไป ในการพิจารณาถึงกรรมนั้น จงพิจารณาถึงภาวะที่ตนเองเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนเป็นอันดับแรก ดังต่อไปนี้

    "นี่แน่.! พ่อมหาจำเริญ เจ้าโกรธคนอื่นเขาแล้วจักได้ประโยชน์อะไร.? กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเจ้านี้ มันจักบันดาลให้เป็นไปเพื่อความฉิบหายแก่เจ้าเองมิใช่หรือ.? ด้วยว่า เจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เจ้าได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ เจ้าจักต้องได้รับผลของกรรมนั้น

     อนึ่ง กรรมของเจ้านี้ มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิ มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาสมบัติต่างๆ เช่น ความเป็นพระพรหม พระอินทร์ พระเจ้าจักพรรดิ และพระเจ้าประเทศราชได้เลย

     ตรงกันข้าม กรรมของเจ้านี้ มันจักขับไล่ไสส่งให้เจ้าออกจากพระศาสนาแล้วบันดาลให้ประสบผลอันประหลาดต่างๆ เช่น ทำให้บังเกิดเป็นคนขอทาน กินเดนของคนอื่น หรือประสบทุกข์อย่างใหญ่หลวง เช่น ทำให้บังเกิดในนรกเป็นต้นอย่างแน่นอน

     อันตัวเจ้านี้นั้น เมื่อขืนทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเผาตัวของตัวเองทั้งเป็น และทำตัวเองให้มีชื่อเสียงเน่าเหม็นเป็นคนแรกนั่นเทียว เหมือนบุรุษผู้จับถ่านเพลิงอันปราสจากเปลวก็ดี จับคูถก็ดี ด้วยมือทั้งสอง หวังจะประหารคนอื่นฉะนั้น"


@@@@@@

เมื่อได้พิจารณาถึงภาวะที่ตัวเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตนอย่างนี้แล้ว จงพิจารณาถึงภาวะที่คนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของแห่งตน ในอันดับต่อไป ดังนี้

    "แม้เขาผู้นั้นโกรธเจ้าแล้ว เขาจักได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเขาผู้นั้น มันจักบันดาลให้เป็นไป เพื่อความฉิบหายแก่เขาเองมิใช่หรือ.? เพราะว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้มีกรรมเป็นทายาท เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่ง เขาจักได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ เขาจักต้องได้รับผลของกรรมนั้น

     อนึ่ง กรรมของเขาผู้นั้น มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิได้ มันไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาสมบัติต่างๆ เช่น ความเป็นพระพรหม พระอินทร์ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพระเจ้าประเทศราชได้เลย

     ตรงกันข้าม กรรมของเขาผู้นั้น มันมีแต่จะขับไล่ไสส่งให้เขาออกจากพระศาสนา แล้วบันดาลให้ประสพผลอันประหลาดต่างๆ เช่น ทำให้บังเกิดเป็นคนขอทาน กินเดนของคนอื่น หรือทำให้ประสบทุกข์อย่างใหญ่หลวง เช่น ทำให้บังเกิดในนรกเป็นต้นอย่างแน่นอน

     เขาผู้นั้น เมื่อขืนทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าโปรยธุลีคือความโกรธใส่ตนเอง เหมือนบุรุษผู้โปรยธุลีใส่คนอื่น แต่ไปยืนอยู่ทางใต้ลมฉะนั้น"


@@@@@@

ข้อนี้สมด้วยพระพุทธนิพนธ์สุภาษิตในสคาถวรรค สังยุตตนิกายว่า

    โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ
    สุทฺธสฺส โปสสฺส อนงฺคณสฺส
    ตเมว พาลํ ปจฺเจติ ปาปํ
    สุขุโม รโช ปฏิวาตํว ขิตฺโต


    "ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่มีความผิด ทั้งเป็นคนบริสุทธิ์หมดจดหมดกิเลส บาปจะส่งผลให้เขาผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลเสียเอง เหมือนธุลีอันละเอียดที่คนขัดไปทวนลม ย่อมจะปลิวกลับมาถูกเขาเองฉะนั้น"


ขอบคุณข้อธรรมจาก : คัมภีร์วิสุทธิมรรค ฉบับแปลโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ) และคณะ
https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๒_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๙_พรหมวิหารนิเทศ_หน้าที่_๙๑_-_๙๕
https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๒_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๙_พรหมวิหารนิเทศ_หน้าที่_๙๖_-_๑๐๐ 
ขอบคุณภาพจาก : https://www.papaiwat.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ