ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เส้นทางสู่อรหัตตผลของพระ อุบลวรรณาเถรี : สตรีผู้ทำบุญด้วยดอกบัวมาหลายชาติ  (อ่าน 1069 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



เส้นทางสู่อรหัตตผลของพระ อุบลวรรณาเถรี : สตรีผู้ทำบุญด้วยดอกบัวมาหลายชาติ

อุบลวรรณาเถรี เป็นหนึ่งในภิกษุณีที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะผู้มีฤทธิ์ฝ่ายพระสาวิกา ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเถรีรูปหนึ่งปรารถนามานานตั้งแต่สมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

เท้าความกลับไปก่อนสมัยเจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้งพระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร พระองค์ทรงมีพระธิดานามว่า “กัณหา” เพราะตอนประสูติ พระญาตินำหนังหมีมารับพระกุมารี (คำว่า “รับ” ในที่นี่อาจหมายถึง ของขวัญ หรือ ห่มทารกด้วยหนังหมีก็ได้)

@@@@@@

ทำไมพระกัณหาไม่ได้เกิดร่วมวงศ์กับพระพุทธเจ้า

หลังจากพระเวสสันดรทรงถูกเนรเทศออกจากเมือง พระองค์พร้อมด้วยพระนางมัทรี พระชาลีและพระกัณหาเดินทางไปเขาวงกต ชูชกเข้าเฝ้าพระเวสสันดรเพื่อทูลขอทาส พระองค์จึงประทานสองกุมารให้ พระชาลี-พระกัณหาพากันไปซ่อนที่สระบัว พระเวสสันดรทรงขอร้องให้สองกุมารช่วยให้ปุตตทาน (การยกลูกเป็นทาน) ครั้งนี้สำเร็จ พระกัณหาต่อว่าพระบิดาว่าไม่รักตนแล้วจึงยกให้เป็นทาส วิบากกรรมแห่งวจีทุจริตนี้ ทำให้พระกัณหาไม่ได้เกิดร่วมวงศ์กับพระเวสสันดร (เจ้าชายสิทธัตถะ) พระมัทรี (เจ้าหญิงยโสธราพิมพา) และ พระชาลี (พระราหุล) อีกต่อไป


ภาพพระบถ ชูชก กัณหา-ชาลี วัดปงสนุกเหนือ ขอบคุณภาพจาก http://cmhop.finearts.cmu.ac.th

สตรีผู้มีผิวพรรณเหมือนดอกบัวขาบ

พระกัณหาได้มาเกิดเป็นสตรีงามที่มีผิวเหมือนดอกบัวขาบ (ดอกบัวสีเขียว) บิดาจึงตั้งชื่อว่า “อุบลวรรณา” เมื่อเติบโตเป็นสาว ก็กลายเป็นหมายปองของบรรดาชายหนุ่ม แม้กระทั่งพระราชาจากทั่วชมพูทวีปส่งทูตมาสู่ขอ บิดาเล็งเห็นแล้วว่าไม่อาจทำตามใจทุกคนได้ จึงขอให้นางอุบลวรรณาออกบวช ด้วยอานิสงส์แห่งกุศลที่สั่งสมมา ทั้งเคยเกื้อกูลพระโพธิสัตว์ (เจ้าชายสิทธัตถะ) มาหลายชาติ จนกระทั่งชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ได้เดี๋ยวบันดาลให้นางตกลงรับคำบิดาทันที และความปรารถนาของนางในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้ากำลังจะเป็นจริงในไม่ช้า



พระเถรีเพ่งเตโชกสิณจนสำเร็จอรหัตตผล

บิดาพานางไปบวชที่สำนักภิกษุณี เวลาผ่านไปไม่ถึงครึ่งเดือน พระเถรีเป็นเวรดูแลพระอุโบสถ จึงจุดดวงประทีปแล้วกวาดโรงอุโบสถ นางได้ถือนิมิตในเปลวประทีปนั้นทำเตโชกสิณจนเกิดฌาน ทำฌานเป็นบทเจริญวิปัสสนา จนบรรลุอรหัตตผลในที่สุด

@@@@@@

พระเถรึถูกข่มขืน

แม้จะบวชแล้ว พระอุบลวรรณาเถรียังต้องประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ ช่วงที่พระพุทธเจ้ายังไม่ออกกฎห้ามภิกษุณีอยู่ในป่า พระอุบลวรรณาเถรีเที่ยวจาริกไปในชนบท เมื่อกลับมาที่ป่าอันธวัน เขตกรุงสาวัตถี ได้อาศัยกระท่อมที่ชาวบ้านทำไว้ รุ่งเช้าพระเถรีอออกไปบิณฑบาต นันทมาณพ ลูกชายของลุง ซึ่งแอบรักพระเถรีมาตั้งแต่ตอนเป็นฆราวาส ได้แอบเข้าไปซ่อนตัวอยู่ใต้เตียงในกระท่อม พอพระเถรีกลับมาก็ข่มขืนพระเถรีแล้วหนีไป

สุดท้ายถูกธรณีสูบลงไปสู่อเวจีมหานรก ก่อนที่นันทมาณพจะเข้ากระทำลามกพระเถรี พระอุบลวรรณาเถรีได้เตือนเขาแล้วว่า “เธอจะวินาศ ๆ” แต่เขาไม่สนใจ ด้วยบาปที่กระทำชั่วต่อพระอรหันต์ซึ่งเป็นหนึ่งในบาปหนัก 5 ประการของพระพุทธศาสนา ทำให้ต้องไปชดใช้กรรมในอเวจีมหานรกทันที ในคัมภีร์กล่าวถึง 5 บุคคลด้วยกันที่สร้างบาปหนักจนถูกธรณีสูบ (ติดตามอ่านได้ใน >>> 5 บุคคลบาปหนาจน หนักแผ่นดิน ในสมัยพุทธกาล)

กรณีของพระอุบลวรรณาเถรีถูกข่มขืนได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า “พระอรหันต์พึงพอใจในการเสพกามเช่นนั้นหรือ“ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงตรัสอธิบายเรื่องนี้ว่า “พระอรหันต์ย่อมไม่ยินดีในกามสุข ไม่เสพกามแล้ว เปรียบประดุจหยดน้ำที่หยดลงบนใบบัว แล้วน้ำไม่ติดใบบัว ย่อมกลิ้งตกลงไปจากใบ เหมือนเมล็ดผักกาดที่ไม่ติดปลายเหล็กแหลม หากเป็นเช่นนี้กามยังไม่ซึมซาบในจิตของพระอรหันต์ฉันนั้น“ หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าจึงขอให้พระเจ้าปเสนทิโกศลจัดสร้างที่อยู่ให้ภิกษุณีภายในพระนคร พระราชาก็สนองพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี


ภาพพระอุบลวรรณาเถรีและนันทมาณพ ขอบคุณภาพจาก http://ld2541.blogspot.com

พระอุทายีขอสบง

วันหนึ่งเมื่อพระเถรีทำอาหารด้วยเนื้อแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้า แต่ไม่พบ พบแต่พระอุทายี พระเถรีจึงฝากถวายเนื้อแด่พระพุทธเจ้าด้วย แต่พระอุทายีกล่าวว่า “น้องหญิงกระทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอิ่มเอิบด้วยเนื้อ เธอควรถวายผ้าอันตรวาสก (สบง) เพื่อให้อาตมาอิ่มเอิบผ้าอันตรวาสกเหมือนกัน“ แต่พระเถรีปฏิเสธคำขอนี้

พระอุทายีก็ไม่ยอมเช่นกัน สุดท้ายพระอุบลวรรณาเถรีต้องยอมถวายผ้าอันตรวาสกไป ภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง พระองค์จึงทรงบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุรับจีวร (ไตรจีวร) จากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นแต่แลกเปลี่ยนกันอีกด้วย

ครั้งพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ปราบพยศเดียรถีย์ พระเถรีขออาสาแสดงฤทธิ์ช่วยพระพุทธเจ้าโดยเนรมิตรถเทียมด้วยม้า 4 ตัวขึ้นมา จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตั้งเอตทัคคะเป็นผู้มีฤทธิ์ และเป็นพระอัครสาวิกาเบื้องซ้ายคู่กับพระเขมาเถรี ผู้เป็นพระอัครสาวิกาเบื้องขวา แก่พระอุบลวรรณาเถรี


พระเถรีทำบุญด้วยดอกบัวมาหลายภพชาติ

ทำบุญด้วยดอกบัว จึงมีผิวงามดุจดอกบัว

ในอรรถกถาอุบลวรรณาเถรีคาถา เล่าย้อนอดีตชาติของพระอุบลวรรณาเถรีไปถึงสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า นางเกิดเป็นกุลธิดาของเศรษฐีในกรุงหังสวดี ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และในวันนั้นเองพระองค์ทรงแต่งตั้งเอตทัคคะผู้มีฤทธิ์แก่พระเถรีรูปหนึ่ง นางเกิดจิตเลื่อมใส และปรารถนาได้เป็นพระเถรีผู้เป็นเอตทัคคะด้านนี้ในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคต จึงทำมหาทานถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นเวลานานถึง 7 วัน

ครั้งสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า นางเกิดเป็นธิดาของพระเจ้าแผ่นดินทำบุญและดูแลพระภิกษุจนกระทั่งสิ้นอายุขัย จากนั้นนางเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อหมดอายุขัยก็ลงมาเกิดเป็นลูกสาวของคนใช้แรงงาน นางได้ถวายข้าวตอกและดอกบัวแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผลบุญนี้ส่งผลให้นางเกิดเป็นนางปทุมวดี สตรีผู้เกิดจากดอกบัวหลวง เมื่อสิ้นอายุขัยก็มาเกิดเป็นลูกสาวของคนใช้แรงงานในหมู่บ้านใกล้เมืองกรุงราชคฤห์ ได้ใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยดอกบัวขาบ 8 ดอก เมื่อสิ้นอายุขัยก็มาเกิดเป็นนางอุบลวรรณาผู้มีผิวกายงามดังบัวขาบนั่นเอง


 

ที่มา :-
อรรถกถาเวสสันดรชาดก
อรรถกุถาอุบลวรรณาเถรีคาถา
ประวัติพระอุบลวรรณาเถรี
อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
https://lotusbywuthikorn.wordpress.com

ภาพ :-
https://pixabay.com
http://cmhop.finearts.cmu.ac.th
http://ld2541.blogspot.com

ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/162491.html
By nintara1991 ,5 July 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

suchin_tum

  • ไม่กลับมาเกิด
  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 486
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
ขอน้อมอาราธนากำลังแห่งครูอาจารย์กรรมฐานมัชฌิมาจงมาประสิทธิ์ประศาสตร์