ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วยความตาย ตอนที่ ๒. "ภาวนาหัดตาย"  (อ่าน 6100 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ว่าด้วยความตาย ตอนที่ ๒. "ภาวนาหัดตาย"
โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

เทศนาอบรมนักเรียน โรงเรียนสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
และโรงเรียนวรคุณอุปภัมภ์ อ.อุทุมพรพิสัย จ.นครราชสีมา
ณ วัดวะภูแก้ว อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๓๕


ขอให้ตั้งใจฟัง การฟังให้มีสติกำหนดรู้จิตของตัวเอง ความรู้สึกอยู่ที่ไหนจิตอยู่ที่นั่น เพียงแต่เรากำหนดรู้จิตของเรา เพียงอย่างเดียว เมื่อกายกับจิตยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จิตเขาย่อมทำหน้าที่รับรู้โดยธรรมชาติของเขา โดยลำพังของกายนั้น เป็นแต่เพียงสื่อหรือเป็นเครื่องมือของจิตเท่านั้น

ดังนั้น ในขณะที่เราฟัง เรามีสติกำหนดรู้จิตของเราเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าอะไรจะผ่านเข้ามา ทางตา หู จมูก สิ้น กาย และใจ จิตเขาจะทำหน้าที่รู้ของเขาเองโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะรู้

อันนี้คือธรรมชาติของจิต ถ้าหากไม่มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งภายนอกมิได้ผ่านเข้ามา เขาก็จะรู้อยู่ที่ตัวของเขาเอง คือตัวจิต ถ้าเขาออกนอกมาหน่อย ก็จะรู้ลมหายใจ รู้ความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้นที่กาย อันนี้เป็นธรรมชาติของจิต ตราบใดที่กายกับจิต ยังมีความสัมพันธ์ไม่แยกจากกัน สิ่งที่มีร่างกายและมีจิตวิญญาณจะต้องดำรงชีพอยู่ตลอดไป ถ้าหากว่ากายกับจิตแยกจากกันเมื่อไร เช่นอย่างเวลาคนเราตายแล้ว วิญญาณจิตแยกไปจากกาย ส่วนกายก็กลายเป็นซากศพ ส่วนจิตวิญญาณก็เป็นความรู้สึกอีกประเภทหนึ่ง

คนเราตายนี่มีอยู่ ๒ ลักษณะ ถ้าคนตายอย่างธรรมดา ก่อนที่จะตาย จิตมันจะรวมพลัง ลงสู่จุดหนึ่ง ซึ่งมันรวมลงไปแล้ว มันได้ได้ยึดในร่ายกายันนี้ แต่ความรู้สึกมันยังรู้สึกว่ามีกายอยู่ เมื่อจิตวิญญาณออกจากร่างไป จะรู้สึกว่ามีกายเดินออกไป บางทีก็ย้อนกลับมา มองดูกายเดิมนิดหน่อยแล้วก็หันหลังเดินต่อไป ในช่วงนี้เขาอาจจะเดินชมนกชมไม้ชมป่าชมเขา สารพัดจิปาถะที่เขาจะไปตามคติของเขา


แม้แต่ในขณะที่เรานั่งสมาธิภาวนาอยู่ก็เหมือนกัน ถ้าในช่วงใดทำสมาธิจิตสว่างขึ้นมาแล้ว ถ้ากระแสจิตส่งออกไปข้างนอก จะมองเห็นนิมิตภาพต่าง ๆ เกิดขึ้น ถ้าหากว่าจิตวิญญาณดวงนี้ ไปติดในนิมิตภายนอก ก็จะมีรูปร่างเดินออกไปบางทีก็ไปเที่ยวชมนก ชมไม้ ชมภูเขา หรือบางที อาจจะเตลิดเลยไปถึงนรกสวรรค์ เช่น เขานั่งสมาธิภาวนา ดูนรก สวรรค์ หรือมโนมยิทธิ เป็นต้น ในเมื่อไปสุดช่วงแล้ว ก็ย้อนกลับมาสู่กายเดิมไม่ได้ไปเลย เหมือนคนที่จะตายหรือคนที่ตายแล้ว ที่ต้องย้อนกลับมาสู่กายเดิม ก็เพราะว่ากรรมที่ผูกพันกับร่างกายยังมีอยู่ จิตวิญญาณนี้จึงไม่ไปเลย เหมือนคนที่หมดอายุขัยแล้ว อันนี้เป็นลักษณะอย่างหนึ่ง

แต่ถ้าหากว่านักสมาธิภาวนา ถ้าหากลมหายใจหายขาดไป คือตายในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิ ขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งจะรู้สึกว่ามีแต่จิตดวงเดียวใสสว่าง ถ้าตายในขณะนั้นก็จะมีแต่ดวงใส ๆ ลอยออกไปเท่านั้น ร่างกายตัวตนไม่ปรากฏ

เช่นเดียวกันกับเวลาเรานั่งสมาธิ เมื่อจิตเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ เราจะรู้สึกว่า ร่างกาย ตัวตนของเรา หายไปหมด ยังเหลือแต่จิตวิญญาณดวงเดียวซึ่งลอยเด่นสว่างไสวอยู่ ซึ่งในขณะนั้นเราจะเรียกว่าตายแล้วก็ได้ ถ้าหากว่าจิตวิญญาณดวงนี้ ไม่ยอมกลับคืนมาสู่ร่าง ก็ต้องตาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะอาศัยกรรมซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับร่างกาย อายุขัยยังไม่สิ้น แม้จิตวิญญาณจะทอดทิ้งร่างกายไป ก็ต้องย้อนมาสู่ความมีกายอีกตามเดิม ถ้าหากว่าผู้มีอายุขัยสิ้นแล้ว ก็ไปเลยไม่ย้อนกลับมาอีก
 
ในหลวงสนทนาธรรมกับหลวงพ่อพุธ ฐานิโย

อันนี้คือลักษณะของความเป็นไปตามธรรมชาติของผู้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น ที่เรามาหัดนั่งสมาธิภาวนากันนี่ จะได้ชื่อว่าเรามาหัดตาย หัดตายเล่น ๆ ก่อนที่เราจะตายจริง เพราะความตายมีลักษณะเหมือนจิตเข้าสมาธิ เพียงแต่จิตวูบลงไป นิ่ง สว่าง มีปีติ มีความสุข ถ้าหากพลังของสมาธิยังไม่เข้มแข็งพอที่จะดำรงอยู่ในปฐมฌาน จิตท่องเที่ยวอยู่ในกามาวจรกุศล ช่วงนั้นจิตวิญญาณของเราอยู่บนสวรรค์ ๖ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าจิตของเรา มีสมาธิ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ทรงอยู่ในฌานเป็นเวลานาน ๆ ในขณะนั้นจิตวิญญาณของเราก็อยู่ในพรหมโลก อยู่พรหมโลกขั้นปฐมฌาน ซึ่งก็หมายความว่าเราได้ตายแล้วเหมือนกัน
[/color]
ขอให้สังเกตดูว่า เราทำสมาธิ ถ้าจิตของเราเปลี่ยนไปจากสภาวะปกติที่เรารู้ ๆ กันอยู่นี่ แล้วไปสู่อีกสภาวะหนึ่งซึ่งไม่ใช่อย่างนี้ ก็แสดงว่าจิตวิญญาณเราจุติ หรือเคลื่อนจากความเป็นอยู่เดิม คือความเป็นมนุษย์ ไปสู่สภาวะเป็นเทพหรือเป็นพระพรหม แล้วแต่ภูมิจิตจะดำเนินไปถึงขั้นไหน อย่างไร

เพราะฉะนั้นที่เรามาฝึกสมาธิภาวนานี่จะได้ชื่อว่าเรามาหัดตาย หัดตายเพื่อให้มันรู้ว่าความตายคืออะไรก่อนที่เราจะตาย ทีนี้เรื่องของการบำเพ็ญสมาธิภาวนาตามกิจวัตรของผู้ปฏิบัติ เมื่อเราจะปฏิบัติตามหลักและวิธีการที่มีบัญญัติไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ หลักและวิธีการนั้นเราจำเป็นจะต้องรักษาไว้ ถ้าจะว่าไป การทำสมาธิย่อมไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมายนักหนา เพียงแต่พยายามฝึกสติให้รู้อยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เพียงอย่างเดียว ก็ได้ชื่อว่าเป็นการฝึกสมาธิ แต่ถ้าหากว่าเราไม่มีหลักและวิธีการบ้าง มันก็คล้าย ๆ กับว่าเราทำอะไรไม่มีระเบียบ

ดังนั้น ตามจารีตประเพณีหลังพุทธกาลคือหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ไม่ว่าเราจะทำพิธีกรรมอันใด เช่น การจะบำเพ็ญทาน การจะภาวนา ต้องขึ้นต้นด้วยการปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ คือ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจจามิ นั่นเอง แล้วก็สมาทานเบญจศีล คือ ศีล ๕ ข้อ ดังที่นักเรียนทั้งหลายก็ได้สมาทานมาแล้ว อันนี้เป็นกฎหรือระเบียบในเบื้องต้น เป็นจาริตประเพณีของชาวพุทธที่จะต้องปฏิบัติอย่างนั้น

คุณธรรมที่มีอยู่ภายในจิต ถ้าหากว่าภูมิไม่ถึงกัน หรือภูมิไม่รู้ถึงกัน ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ใครมีภูมิจิต ภูมิธรรม เพียงใด แค่ไหน ดังนั้นจารีตประเพณีที่แสดงออกนั้น บ่งบอกถึงความมีอยู่แห่งพระสัจธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของศีลเป็นกฎหรือระเบียบ เป็นวิธีการที่เราจะต้องยึดมั่นเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อฝึกหัดตนให้เป็นอุบาสก อุบาสิกา ผู้เข้าไปนั่งอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และศีลตามขั้นตอน ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ของพระสงฆ์ ก็เป็นกฎหรือระเบียบ จารีตประเพณีของความประพฤติเป็นเช่นนั้น ๆ ตามชั้นตามภูมิของตนเอง ผู้บวชเป็นแม่ขาว นางชี ดาบส ยึดศีล ๘ เป็นหลักปฏิบัติ บวชเป็นสามเณรยึดศีล ๑๐ เป็นหลักปฏิบัติ พระภิกษุยึดศีล ๒๒๗ ข้อเป็นหลักปฏิบัติ คือ ๔ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ล้วนแต่เป็นระเบียบประเพณีหรือจารีต เป็นคลองเป็นแนวทางที่เราจะยึดไว้เป็นหลักปฏิบัติเพื่อความเป็นอุบาสก อุบาสิกา เพื่อความเป็นแม่ขาว นางชี หรือตาเถร เพื่อความเป็นสามเณร เพื่อความเป็นพระภิกษุ

ที่ท่านบัญญัติไว้อย่างนั้นก็เพื่อให้มีความประพฤติแตกต่างกัน ซึ่งมีความละเอียดและสูงขึ้นไปตามลำดับขั้นตอน ที่นี้ศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ จะปรากฏเด่นชั้นอยู่ที่จารีตประเพณี หรือวิธีการ ศาสนพิธี
 
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ศีล ๕ เป็นพิธีการทำตนให้เป็นอุบาสก อุบาสิกา ศีล ๘ เป็นพิธีการทำตนให้อุบาสก อุบาสิกาประเภทนักบวชในขั้นต้น ศีล ๑๐ เป็นพิธีการทำผู้บวชให้เป็นสามเณร ศีล ๒๒๗ เป็นพิธีการทำบุคคลผู้อุสมบทเป็นพระให้เป็นพระตามพระวินัย ล้วนแต่เป็นศาสนพิธีทั้งนั้น

ศีลนี่เป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติ เพราะกายวาจาของคนเราเปรียบเหมือนเปลือกสำหรับหุ้มไข่ ส่วนจิตหรือใจเปรียบเหมือนไข่แดงซึ่งซ่อนอยู่ภายในเปลือกไข่ เราจะนำไข่ของเราไปฟักให้มันเกิดเป็นตัว เราต้องทะนุถนอมเปลือกไข่ให้อยู่ในสภาพปกติ ไม่มีรอยแตก รอยร้าว รอยบุบมันจึงจะฟักให้เป็นตัวได้ ไม่เช่นนั้น มันก็มีแต่เน่าท่าเดียว
ดังนั้น นักปฏิบัติที่จะทำจิตทำใจของตนเองให้ก้าวขึ้นไปสู่ภูมิจิต ภูมิธรรมขั้นสูง เราจำเป็นต้องรักษากาย วาจา อันเปรียบเหมือนเปลือกหุ้มไข่ ให้บริสุทธิ์สะอาดด้วยกฎหรือระเบียบ ข้อปฏิบัติตามขั้นภูมินั้น ๆ ซึ่งเรียกว่าศีลนั่นเอง

เมื่อเรามารักษากาย วาจา ให้บริสุทธิ์ปราศจากโทษทางสิกขาบทวินัย เมื่อเราจะมาบำเพ็ญสมาธิภาวนา สมาธิของเราก็เจริญงอกงาม สมาธิที่เกิดขึ้นก็เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิย่อมทำให้เกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสมาธิย่อมเป็นสัมมาทิฎฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง


ดังนั้น การปฏิบัติศีลจึงเป็นคุณภาพ ประกันความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติ เมื่อเรารักษาศีลสิกขาบทวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี กายวาจาของเราก็เป็นปกติ ก็เป็นศีล ทีนี้เมื่อกายวาจาเป็นศีลโดยสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยหนุนส่งให้จิตของเรากลายเป็นสภาวะปกติ เป็นศีลอีกเช่นเดียวกัน ดังนั้น ศีลนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักปฏิบัติ

แม้ว่าพระเจ้าพระสงฆ์จะเดินธุดงค์ไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ เมื่อเวลาไม่มีไวยาวัจกร ไปจับต้องปัจจัย จตุปัจจัย เงินทอง หรือเอาเงินเอาทองใส่ลงไปในย่ามแล้วก็สะพายไปเอง ก็เป็นการละเมิดสิกขาบทวินัย ข้อว่าด้วยห้ามจับต้องเงินและทอง ทีนี้เมื่อมีปัจจัยอยู่ในย่ามก็ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เมื่อควักออกจากย่ามมาจับจ่ายใช้สอยก็เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์อีกตัวหนึ่ง เมื่อของที่ได้มาจากเงินซึ่งเป็นนิสสัคคีย์ พระสงฆ์เอามาบริโภคใช้สอย ก็เป็นอาบัตินิสสัคคิย์อีกตัวหนึ่ง ตกลงว่าเงินบาทเดียวเป็นอาบัติถึง ๓ ตัว ในเมื่อพระคุณเจ้าท่านละเมิดสิกขาบทวินัยเพียงตัวเดียวและ ๓ จังหวะ เป็นการต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓ ตัว แม้จะเดินธุดงค์ไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพราะอาศัยสิกขาบทวินัยไม่บริสุทธิ์สะอาดนั่นเอง การเดินธุดงค์กรรมฐานของท่าน จึงเปรียบเหมือนกรรมฐานไข่เน่า แม้จะเที่ยวเตร่ไปประกาศตนว่าเป็นพระธุดงค์กรรมฐาน ก็เป็นแค่หลอกลวงชาวโลกให้หลงเชื่อ
 

เพราะฉะนั้น นักเรียนทั้งหลายซึ่งเรามาปฏิบัติสมาธิภาวนา มาอบรมธรรมะตามหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าหากมีศรัทธาที่จะเอาเงินเอาทองไปถวายพระ อย่าไปประเคนกับไม้แบมือท่าน ปวารณาว่าหนูมีศรัทธาถวาย จตุปัจจัยแด่พระคุณเจ้า จำนวนเท่านั้นเท่านี้จบแล้ว ก็เอาวางไว้ต่อหน้าท่าน อย่าไปยื่นใส่มือท่าน เพราะพระท่านจับสตางค์ไม่ได้ ถ้าขืนจับก็ต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ทีนี้นักเรียนทั้งหลายได้มาฝึกฝนอบรมสมาธิภาวนา ในเมื่อสรุปหลักของการปฏิบัติสมาธิภาวนา การปฏิบัติตามแบบและวิธีการนั้น ๆ นักเรียนได้รับการอบรมมาพอสมควร แต่อยากจะขอย้ำหลัก และวิธีการทำสมาธิในห้องเรียน เราสามารถที่จะปฏิบัติสมาธิในห้องเรียน หรือปฏิบัติสมาธิในเรื่องชีวิตประจำวันได้ หลักของการปฏิบัติสมาธิในเรื่องชีวิตประจำวัน เราพยายามฝึกสิตให้รู้อยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เมื่อเวลาเรานอนลงไป จิตเราคิดอะไรปล่อยให้คิดไป เราจะท้าทายว่าเธอจะคิดไปไหน ฉันจะนอนดูเธออยู่อย่างนี้ แล้วก็กำหนดดูไปจนกว่าจะนอนหลับ ถ้าหากว่าเรายังไม่ได้สมาธิ เมื่อเรามีสติกำหนดรู้ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อยู่เป็นปกติ เราจะได้พลังงานทางสติ ทำให้สติของเราดีขึ้น

แต่เมื่อปฏิบัติต่อเนื่องกันไป สมาธิจะเกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับ เมื่อเรานอนหลับ เมื่อจิตหยุดคิด เรานอนหลับแล้วแทนที่จะมืดไปอย่างธรรมดา พอหลับแล้วจิตของเราจะรู้สึกตัวแจ่ม ๆ อยู่ภายใจจิต บางทีก็รู้สึกว่ามีความสว่างไสว ซึ่งในขณะนั้นถ้าจิตสงบนิ่ง รู้ตัว สว่างไสวอยู่ตลอดคืน ก็ได้ชื่อว่าจิตอยู่ในสมาธิ เป็นสมาธิขั้นสมถะเพราะจิตหยุดนิ่ง ทีนี้ถ้าหากว่านอนหลับปุ๊บลงไป จิตเป็นสมาธิสว่างขึ้นมา มีอารมณ์อันใดที่ตกค้างอยู่ ปัญหาใดที่เราแก้ยังไม่ตก ก็จะวิ่งเข้าไปเป็นอารมณ์จิต จิตจะทำหน้าที่แก้ปัญหานั้น ๆ ซึ่งลักษณะเหมือนนอนหลับแล้วฝันไป แต่ว่าแก้ปัญหาตก

อันนี้ก็คือลักษณะของสมาธิที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นหลักการปฏิบัติสมาธิซึ่งเป็นหลักสาธารณะทั่วไป ถึงแม้ว่าจะมอง ๆ ดูแล้วเป็นสิ่งที่ตื้นเขินหรือเผิน ๆ จนเกินไป แต่โดยความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าใครจะปฏิบัติสมาธิจิตมีความละเอียดถึงไหนก็ตาม เมื่อปฏิบัติไปจนคล่องตัวชำนิชำนาญแล้ว จิตจะมาป้วนเปี้ยนอยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด จะไม่ยอมเข้าไปสู่ที่สงบละเอียด หรือลึกซึ้งเหมือนอย่างก่อน เพียงแต่กำหนดจิตลงไป จิตจะวูบลงไปนิดหน่อย แล้วก็จะมีความรู้ ความคิดผุดขึ้นเป็นระยะ ๆ เมื่อเวลาเราขยับยืน เดิน นั่ง นอน สติสัมปชัญญะสมาธิของเราจะกับอยู่กับอิริยาบถตลอดไป ซึ่งจิตจะไม่ยอมเข้าไปสู่ความสงบแน่นิ่งเหมือนอย่างแต่ก่อนบ่อยนัก ถึงแม้ว่าเข้าไปสู่ความสงบนิ่งก็จะไม่ยั้งอยู่นานเหมือนเมื่อก่อน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะจิตมีพลังงาน เมื่อมีพลังงานแล้ว เขาก็จะต้องการทำงาน เขาจะต้องมีความคิด งานของจิตก็คือความคิด ความคิดนอกจากเป็นงานของจิตแล้ว ยังเป็นอาหารของจิต เป็นการบริหารจิตให้เกิดมีพลังงาน เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด เป็นสิ่งที่เป็นเครื่องหมาย ให้เราสามารถกำหนดรู้ว่า อะไรเกิดขึ้นดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

แล้วถ้าเรามีสติปัญญาเข้มข้น เราก็จะสามารถมองเห็นว่าความคิดนี่แหละเป็นสิ่งมายั่วยุให้เราเกิดความยินดียินร้าย ถ้าหากสมาธิของผู้มีปัญญาก็จะกำหนดหมายว่า ความยินดีคือกามตัณหา ความยินร้ายคือวิภวตัณหา เข้าไปยึดติดอยู่กับสิ่งนั้นก็คือภวตัณหา ในเมื่อจิตมีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาอยู่พร้อม ความสุขและความทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นสลับกันไป เมื่อจิตดวงนี้มีสติปัญญาเข้มแข็ง เขาสามารถจะกำหนดหมายรู้ว่านี่คือทุกขอริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วก็จะได้รู้ความเกิด ความดับของทุกข์เรื่อยไป ในที่สุดจิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นดับไป ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับท่านอัญญาโกณฑัญญะ ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลง ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อจิตของท่านอัญญาโกณฑัญญะ ได้สมาธิก้าววูบลงไป นิ่ง สว่าง

 
พระธาตุหลวงปู่พุธ ฐานิโย

จักขุง อุทะปาทิ จักษุบังเกิดขึ้นแล้ว จิตจะรู้พร้อมอยู่ที่จิต หยั่งรู้อยู่ภายในจิตเป็นลักษณะของญาณ

ญาณัง อุทะปาทิ ญาณได้บังเกิดขึ้นแล้ว ในเมื่อญาณ การหยั่งรู้แก่กล้า มีพลังขึ้นกลายเป็นปัญญา จิตไหวตัวกลายเป็นความรู้ เกิดความคิดขึ้นมา

ปัญญา อุทะปาทิ ปัญญาบังเกิดขึ้นแล้ว จิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก ซึ่งจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติทุกขณะจิต และมีสติรู้พร้อมอยู่กับความคิดที่เกิดดับ รู้แจ้งเห็นจริงว่าความคิดมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นดับไป เพราะอาศัยที่มีสติรู้เท่าทันเหตุการณ์ จิตกำหนดรู้อยู่ที่จิต สติพร้อมอยู่ที่จิต สิ่งที่รู้มาปรากฎขึ้นกับสติมาพร้อมกัน ไม่มีความพลั้งเผลอ คือไม่เผลอยินดี

วิชชา อุทะปาทิ วิชชาบังเกิดขึ้นแล้วในเมื่อมีวิชชาความรู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพแห่งความเป็นจริง จิตก็ปล่อยวาง ในขณะนั้นวูบลงไปอีก มีความสว่างไสวโพลงขึ้นมา

อาโลโก อุทะปาทิ ความสว่างไสวได้บังเกิดขึ้นแล้ว นี่คือวิถีทางที่จิตจะเป็นไปซึ่งเป็นจิตที่ดำเนินสมาธิในทางที่ถูกต้อง


อ้างอิง http://www.luangpee.org/forum/index.php?topic=3847.0

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ