ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กามเทพน้อย “คิวปิด” จิตรกรรมผสมผสานใน “วิหาร” วัดบุปผาราม ฝั่งธนบุรี  (อ่าน 497 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ภาพเขียน “คิวปิด” บางองค์ จากกามเทพน้อยทั้งหมด ๖ องค์


กามเทพน้อย “คิวปิด” จิตรกรรมผสมผสานใน “วิหาร” วัดบุปผาราม ฝั่งธนบุรี

วัดบุปผาราม พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดดอกไม้” ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ต่อมาเป็นวัดร้าง ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ท่านผู้หญิงจันทร์ ภรรยาเอกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งเป็นมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ทำการปฏิสังขรณ์เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านของท่าน

ต่อมาปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๙๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อครั้งยังเป็นจมื่นไวยวรนาถ และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นจมื่นราชามาตย์ ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งสำคัญนี้ เมื่อขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงช่วยในการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดบุปผาราม”


พระวิหาร วัดบุปผาราม ภาพ “คิวปิด” กามเทพน้อยอยู่ที่พระวิหารหลังนี้

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ปฏิสังขรณ์วัดบุปผารามนั้นปรากฏหลักฐานว่า ท่านได้สร้างถาวรวัตถุสำคัญๆ ของวัดขึ้น คือ พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และหมู่กุฎี เมื่อปฏิสังขรณ์เรียบร้อยแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้กราบทูลของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปครองวัด แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานครั้งนั้น มีพระอมรโมลี (นพ พุทธิสัณหเถระ) เป็นปฐมเจ้าอาวาสวัดบุปผาราม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ วัดบุปผารามถูกระเบิดทำลาย ทำให้พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎีตึกโบราณ และกำแพงวัด ได้รับความเสียหายยากแก่การซ่อมแซม พระธรรมวราลังการ (กล่อม อนุภาสเถระ) เจ้าอาวาสในขณะนั้น ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎี และกำแพงวัดขึ้นมาใหม่


ชมภาพ “คิวปิค” ต้องแหงนหน้าขึ้นมองหาบนเพดานพาไลด้านนอกพระวิหาร

เมื่อก่อสร้างพระอุโบสถใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางวัดได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เนื่องจากย้ายสถานที่ก่อสร้างจากที่เดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯทรงเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗

แต่มีถาวรวัตถุอาคารสำคัญๆ ๑ หลังที่มิได้ถูกระเบิดทำลายในช่วงสงคราม คือ พระวิหาร รูปแบบสถาปัตยกรรมศิลปกรรมงานช่างในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ยังคงเดิมเด่นชัดแม้ในปัจจุบันจะผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่ง กามเทพน้อย “คิวปิด” อยู่ที่พระวิหารหลังนี้


ภาพเขียน “คิวปิด” บางองค์ จากกามเทพน้อยทั้งหมด ๖ องค์

“คิวปิด” ที่ว่านี้ปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมบนเพดานพาไลด้านนอกของพระวิหาร ซึ่งหากไม่ได้แหงนหน้าขึ้นมองหาแล้ว คงพลาดโอกาสในการชมภาพกามเทพน้อย เด็กรูปร่างจ้ำม่ำ เปลือยกาย พร้อมกับมีปีกเล็กๆ งอกจากส่วนหลังทั้ง ๒ ข้าง ซึ่งมีภาพเขียนกามเทพน้อย ๖ องค์ และยังมีนางฟ้าฝรั่งอีก ๒ องค์ เหาะลอยบนเพดานพระวิหาร

กามเทพน้อย “คิวปิด” มาอยู่ที่บนเพดานพระวิหารวัดบุปผารามนี่ได้อย่างไร สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) น่าจะให้ช่างเขียนไว้เป็นภาพเทพฝรั่ง เทวดาต่างชาติเหาะลอยแบบเทวดาไทยๆ โดยได้รับแรงบันดาลใจรูปแบบศิลปกรรมมาจากชาติตะวันตก แสดงถึงความแปลกตาและทันสมัยในยุคนั้น และมีการนำมาผสมผสานเข้ากับการประดับตกแต่งในศิลปกรรมไทย

หากมีโอกาสได้ไปเที่ยวฝั่งธนบุรีเข้าวัดเข้าวาชมวัดบุปผาราม อย่าลืมมองหากามเทพน้อย “คิวปิด” เหล่านี้ว่าซ่อนตัวอยู่ตรงไหนบ้างบนเพดานพาไลของพระวิหาร เป็นกามเทพน้อยรูปร่างจ้ำม่ำที่เหาะลอยสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ที่พบเห็นได้เป็นอย่างดี จะหลงรักลูกศรปักอกหรือเปล่าต้องไปพิสูจน์


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ผู้เขียน : ทิพย์ฉัตร
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_15476
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ