ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วยเรื่องของกรรม  (อ่าน 10360 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ว่าด้วยเรื่องของกรรม
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 26, 2010, 09:50:41 pm »
0

ว่าด้วยเรื่องของกรรม

ลางแห่งกรรม

เมื่อเราได้ศึกษาถึงขบวนการแห่งกรรมในเบื้องต้นแล้วก็คงพอจะเข้าใจว่า อะไร ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเราก็เป็นมาจาก วิบากแห่งกรรมนั่นเอง ดังนั้นชะตาชีวิตของคนเราจึงขึ้นอยู่กับ "กรรมลิขิต" แต่ชะตาชีวิตของคนเรานั้นสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ หาใช่สิ่งตายตัวแต่อย่างใดไม่ มันย่อมเป็นไปตามดุลยภาพแห่งการกระทำและแรงปฏิกิริยาของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง นั่นคือมันสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงกว่าเดิมก็ได้ ชะตาชีวิตของคนเราจึงขึ้นอยู่กับ กรรมเก่าและกรรมใหม่

การที่เราจะแก้ไขปัญหาชะตาชีวิตของตนเองจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงค้นคว้าหาวิถีทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงหาทาง สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา ตัดกรรม โดยไม่พึ่งพาตนเอง เพราะถึงเราจะมีเงินทองก็คงจะซื้อบุญหรือกรรมไม่ได้แน่นอน แต่ถ้ารู้จักพิจารณาถึงสาเหตุหรือองค์ประกอบดังกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ตนเองมีเวรกรรมใดผูกพันอยู่ ก็จะสามารถลดแรงกรรมเหล่านั้นได้โดยไม่ยาก


ความเชื่อในเรื่องกรรม

หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงความศรัทธาของชาวพุทธไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง 4 ประการด้วยกัน

ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ

กัมมสัทธา เชื่อเรื่องกรรม คือเชื่อว่ากรรมมีจริง

วิปากสัทธา เชื่อเรื่องผลของกรรม คือเชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมให้ผลเสมอ

กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตนเอง คือเชื่อว่าผลที่เราได้รับ เป็นผลแห่งการกระทำของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ

ความเชื่อหรือความศรัทธาในพระพุทธศาสนาทั้ง 4 ประการนั้น เป็นความเชื่อในเรื่องของกรรมเสีย 3 อย่าง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กฏแห่งกรรม จึงเป็นหลักคำสอนที่สำคัญยิ่งในทางพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะผู้ที่เชื่อกฏแห่งกรรมย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เชื่อในเรื่องกฏแห่งกรรม ย่อมสามารถทำใจได้ในทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าชีวิตจะทุกข์ยากลำบาก ผิดหวังขมขื่น โรคภัยไข้เจ็บจะมาเบียดเบียน ถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรในอดีตมาเบียดเบียน ไม่ตีโพยตีพายโวยวายเรียกร้องหาความยุติธรรม


กรรมให้ผลตามกาล

1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้
2. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า
3. อปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
4. อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล หรือยุติการให้ผลต่อไป


กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่

1. ชนกกรรมกรรมที่แต่งมาดีหรือชั่ว
2. อุปถัมภกรรม กรรมที่สนับสนุน คือ ถ้ากรรมเดิมหรือ ชนกกรรมแต่งดี ก็ส่งให้ดียิ่งขั้นไป ถ้าชั่วก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น
3. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นหรือขัดขวางกรรมเดิม คอยเบียดเบียนชนกกรรม เช่นเดิมแต่งมาดี เบี่ยงเบนให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่ว ก็เบี่ยงเบนให้ดี
4. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน เป็นกรรมที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเดิมชนกกรรมแต่งไว้ดีเลิศ กลับที่เดียวเป็นขอทานหรือตายทันที หรือของเดิมแต่งไว้เลว ก็กลับทีเดียวเป็นมหาเศรษฐีไปเลย


กลไกแห่งกรรม

เมื่อเราได้ศึกษาในกลไกแห่งกรรมจนพอจะเข้าใจแล้วว่า อำนาจแห่งกรรมสามารถจะส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การก่อเกิดภพชาติของคนเราได้ ถ้ากรรมดีให้ผลก็แล้วไป แต่ถ้าวิบากกรรมให้ผลที่ไม่ดีต่อเราแล้ว เราจะมีหนทางใดในการเบี่ยงเบนวิบากกรรมที่ไม่ดีออกไปให้พ้นตนได้

นั่นก็คือเราต้องรู้เหตุเบื้องต้นเสียก่อนว่า เรากำลังตกอยู่ในเหตุการณ์ที่ผิดปกติ โดยอาศัยสิ่งที่เราเรียกว่า “ลางบอกเหตุ” หรือสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้า เพื่อจะได้หาหนทางหรือกุศโลบายที่แยบยลในการที่จะเข้าไปแก้ไขสิ่งที่เลวร้ายให้กลับกลายเป็นดีได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นลางบอกเหตุดังกล่าวจึงพออนุมานให้เป็นหนทางในการสังเกตุและพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

เจ็บป่วยผิดปกติ แม้จะหาแพทย์แผนปัจจุบันหรือแผนโบราณแล้วก็ตาม อาการดังกล่าวก็ยังไม่ดีขึ้น หรือแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุความผิดปกติได้ นอกจากจ่ายยาให้กินเท่านั้น เช่น เจ็บหลัง เจ็บเอว เจ็บไหล่ ปวดในช่องท้อง หรือแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง เนื้องอก เป็นต้น ถึงแม้กรรมจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ธาตุขันธ์ความเป็นมนุษย์ จนเกิดเวทนาอย่างแรงกล้า เราก็ต้องทำความเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งเป็นไปตามสภาวะธรรมชาติ แต่บางส่วนก็เป็นไปตามวิบากกรรม

จิตใจผิดปกติ แม้จะหาจิตแพทย์หรือบำบัดในโรงพยาบาลก็ยังไม่ดีขึ้น เช่น ปวดศรีษะรุนแรง เบลอ พูดจาเพ้อเจ้อ

ชีวิตวุ่นวายผิดปกติ มีปัญหาในเรื่องการทำมาหากิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงิน-การค้า เครียดผิดปกติ


พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สิ่งที่เป็นอจินไตยมีอยู่ 4 ประการด้วยกันคือ

1. วิสัยของพระพุทธเจ้า
2. ความคิดเรื่องการสร้างโลก
3. วิสัยของผู้มีฤทธิ์
4. กฏแห่งกรรม



คำว่า “ อจินไตย ” แปลว่า ไม่ควรคิด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้คิด ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดกั้นไม่ให้ใช้ปัญญา ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้คิดด้วยหลักของตรรกศาสตร์ เนื่องจากการคิดแบบนี้เป็นการคิดแบบอนุมาน คือ คาดคะเน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดได้ง่าย เพราะอาศัยพื้นฐานความรู้ที่เกิดจากอายตนะภายนอกที่เป็นประสาทสัมผัส คือ ตาเห็น หูได้ยิน เป็นต้น

แต่ความเป็นจริงแล้ว เรื่องราวในโลกนี้เป็นความจริง ทั้งที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยประสาทสัมผัส และที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัส เช่น เรื่องราวในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ และ กฎแห่งกรรม ที่เป็นความจริงที่ไม่อาจสามารถพิสูจน์ได้เพียงประสาทสัมผัสเท่านั้น แต่จะต้องมีความรู้ที่นอกเหนือพิเศษจากประสาทสัมผัสธรรมดา คือ อภิญญาด้วย จึงจะสามารถพิสูจน์ได้ คำว่า “อภิญญา” แปลว่า ความรู้ยิ่งยวด มี 6 อย่างด้วยกันคือ อิทธิวิธี ทิพยโสต เจโตปริยญาณ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทิพพจักขุ และอาสวักขยญาณ


ดังนั้นแม้ว่า “กรรม” จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายหรือธาตุขันธ์ในความเป็นมนุษย์ จนเกิดเวทนาอย่างแรงกล้า เราก็ต้องอดทนและต้องเข้าใจว่า”สัตย์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะงอมืองอเท้ารอรับ “ชะตากรรม” แต่เพียงอย่างเดียว จนกลายเป็นคนสิ้นคิดไม่หาหนทางแก้ไขชีวิตของตนให้ดีขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นท่านก็คงเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่เป็นสัตว์อันประเสริฐเสียแล้ว ดังนั้นถึงแม้จะมองไม่เห็นทางก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะยอมจำนนต่อกรรมนั้นเอาง่าย ๆ เราจะต้องพยายามหาหนทางแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นให้ได้ วิธีการเบื้องต้นง่าย ๆ ก็คือ การสร้างกรรมใหม่เพื่อเบี่ยงเบนกรรมเก่าที่กำลังให้ผลให้อ่อนตัวลงไป


ถ้าวันหนึ่งวันใดชีวิตของเราต้องผกผันตกต่ำ ด้อยโอกาสในวาสนาบารมี จะได้ไม่เกิดท้อใจ จนย่อหย่อนในการดำเนินชีวิต ปล่อยชีวิตให้ระหกระเหินตกต่ำโดยไม่คิดสู้ ยิ่งมีวิบากกรรมมากทุกข์ทรมานมาก ก็ยิ่งต้องดิ้นรนให้มาก หาทางสร้างคุณงามความดีชดเชยให้แก่เจ้ากรรมนายเวรเหล่านั้น เพราะถ้าเป็นกรรมที่เบาบางก็อาจหายไปได้ ถ้าเป็นกรรมหนักก็จะบรรเทาเบาบางลงไป


ความตาย

บทสุดท้ายสำหรับมนุษย์ก็คือ ความตาย ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดแห่งกรรมที่สามารถเห็นได้ในปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายกลัวว่าวันนั้นจะมาถึงตัว จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชนะกฏแห่งธรรมชาติเพื่อจะอยู่เหนือความตาย แต่ดูเหมือนว่าความพยายามนั้นจะไร้ผล เพราะหลักของความตายนั้นเกิดจากเหตุ 2 ประการ คือ

1. ถึงเวลาที่จะต้องตาย
2. ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องตาย

แต่ความจริงความตายที่เราเข้าใจก็คือการเกิดขึ้นใหม่ต่างหาก องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวแสดงถึงความตายไว้ 4 ประเภทคือ

* อยุกขยะ หมายถึงตายโดยสิ้นอายุขัย

* กัมมักขยะ หมายถึงตายโดยสิ้นกรรม

* อุภยักขยะ หมายถึงตายโดยสิ้นอายุขัยและสิ้นกรรม

* อุปัจเฉทกมรณะ หมายถึงตายเพราะกรรมมาตัดรอน


โรคมิใช่เกิดจากกรรมเท่านั้น

ในอดีตความเชื่อของคนเรามีความแตกต่างกันไปตามลัทธิ ความเชื่อบางอย่างก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผล แต่บางอย่างก็ยังไม่ถูกต้อง เช่น บางคนเชื่อว่ามนุษย์นั้นตายแล้วสูญ จึงทำอะไรก็ได้สุดแท้แต่จะพอใจ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เพราะคิดว่าตายแล้วก็สูญไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง


แต่บางคนก็เชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ ชีวิตหลังความตายยังมีสิ่งที่เร้นลับรอเราอยู่ จึงไม่กล้าทำสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรม นอกจากนี้ก็ยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ ปนแทรกเข้ามาในชีวิตอีกมากมาย จนกลายเป็นความเชื่อตามลัทธิที่ผิดไปจากหลักแห่งกรรมคือ

1. ปุพเพกตวาท เชื่อว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่า ความจริงแล้วยังมีกรรมใหม่ที่มาเกี่ยวข้องอีกต่างหาก จึงถูกเพียงบางส่วน
2. อิศวรนิรมิตวาท เชื่อว่าเทพบันดาล บางคนเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตย่อมเป็นไปตามเทพบั นดาล
3. อเหตุวาท เชื่อว่าเป็นไปตามดวง บางคนเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตย่อมเป็นไปตามโชคชะตาหรือฟ้าลิขิต


องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้กล่าวว่า หากใครเห็นว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น เกิดมาจากกรรมทั้งสิ้น ย่อมเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะโรคภัยไข้เจ็บนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ กรรมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ในทางพระพุทธศานาได้แบ่งกฎเกณฑ์การเจ็บป่วยไว้อย่างแยบคาย 5 ประการดังนี้

อุตุนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น ร้อนหรือหนาวเกินไป อุทกภัย วาตภัย

พีชนิยาม เป็นกฎธรรมชาติของพืชพันธ์ หรือ พันธุกรรม เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเอดส์ ที่สามารถถ่ายทอดได้กรรมพันธ์

จิตตนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับสภาพจิตใจ หรืออุปทานความนึกคิดที่อาจปรุงแต่งจนเกินไปได้ อาจมีผลกระทบต่อภาวะร่างกาย

กรรมนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เกิดจากการกระทำหรือการแสดงเจตนา เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง

ธรรมนิยาม เป็นกฎที่ว่าด้วยเรื่องเหตุและผล เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป


หลักของการเผชิญกรรม

ในเมื่อเรารู้จักความน่ากลัวของกรรมแล้ว ก็ควรใช้สติป้ญญาในการแก้ไขวิบากกรรมเหล่านั้นให้บรรเทาเบาบางลงไป เมื่อไม่รู้ก็หาผู้รู้ชี้แนะแนวทางให้ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปโดยไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นจึงขอชี้แนะหนทางหรือแนวทางการแก้ไขวิบากกรรมดังนี้

1. สติป้ญญา ในกรณีที่กรรมดีกำลังให้ผล ก็อย่าหลงระเริงจนตกอยู่ในความประมาท หมั่นทำบุญให้ทาน รักษาศึล ภาวนา อยู่เนืองนิตย์แต่ในขณะเดียวกันเมื่อตกอยู่ในวิบากกรรม ก็อย่าท้อแท้จนสิ้นหวัง คิดมากเกินไปจนเกิดความเครียดจนกลายเป็นโรคประสาท อาจทำให้ขาดสติและป้ญญา เพ้อคลั่งอารมณ์ฉุนเฉียวจนเกินเหตุ และแก้ไขโดยวิธีที่ผิด

2. เจริญภาวนา การเจริญพระกรรมฐานก็เป็นหนทางหนึ่งในการสร้างบุญบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เหมือนทำดีหนีชั่ว เพราะถ้าผู้ใดปฏิบัติจนได้ฌาณสมาบัติ ร่างกายจะหยุดทำงานชั่วคราว เป็นการแยกกายกับจิตออกจากกัน จนเป็นเหตุให้กายระงับพ้นจากวิบากกรรมไปชั่วขณะ จนผ่านพ้นช่วงวิบากกรรมไปตามวาระ อีกทั้งเป็นการสร้างกรรมใหม่ที่ดี ยังให้เกิดกุศลกรรมเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้วิบากกรรมไม่อาจให้ผลได้ในช่วงขณะนี้ ดังนั้นวัดและสำนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงเป็นแหล่งที่จะช่วยให้พ้นจากกรรมวิบัติที่เกิดขึ้นได้

3.การแทรกแซงกรรม คือการแก้ไขวิบากกรรมให้เบาบางลงไป โดยพิจารณาว่าอกุศลกรรมใดกำลังให้ผลเราอยู่ และควรแก้ไขโดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะสม เพื่อคลายกรรมนั้น เช่น การถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ บวชชีพราหมณ์ สร้างพระพุทธรูป อุทิศส่วนกุศลแก้แก่เจ้ากรรมนายเวรที่กำลังให้ผลเราอยู่ในขณะนั้น ดังนั้นการสร้างกุศลเป็นพิเศษในช่วงนี้ จึงเป็นการเข้าไปแทรกแซงผลของกรรม หรือขออโหสิกรรมซึ่งกันและกัน ถ้าหากเจ้ากรรมนายเวรยอมรับก็จะคลายกรรมให้เราเอง

เนื่องจากกรรมทั้งหลายมากันต่างกรรมต่างวาระ บางครั้งก็หนัก บางครั้งก็เบา และส่งผลไม่พร้อมเพรียงกัน ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้กระทำ และความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกระทำ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

4. การคลายขันธ์ คือการปรับธาตุทั้ง 4 ในร่างกายให้เป็นปกติ ยามเมื่อเราเจริญสมาธิภาวนา เบญจขันธ์ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะได้รับการผ่อนคลายระงับอยู่ในช่วงขณะหนึ่ง กรรมเล็กกรรมน้อยที่มีอยู่จะถูกขับออกจากขันธ์โดยการผ่อนคลายบางส่วนให้ แต่ก็จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และจะเกิดปิติสุขติดตามมา


ขุททกาปิติ
คลายขันธ์ที่ระบบประสาททั้ง 5
มีอาการน้ำตาไหล ขนลุกชูชัน

ขณิกาปิติ
คลายขันธ์ในเส้นประสาทภายใน
รู้สึกแปลบ ๆ

โอกันตปิติ
คลายขันธ์ตามเซลล์
รู้สึกซู่ซ่าแผ่ซ่านไปทั้งตัว

อุเพ็งคาปิติ
คลายขันธ์ในโครงสร้าง
รู้สึกตัวลอยขึ้นจากพื้น

พรรณาปิติ
คลายขันธ์ตามอวัยวะต่าง ๆ
รู้สึกเย็นเอิบอาบไปทั่วทั้งตัว


5. ก้าวล่วงกรรม คนเราบางคนในอดีตเคยกระทำกรรมบางอย่างที่เป็นมโนกรรม โดยมีตนเองเป็นเจ้ากรรมนายเวร คิดถึงความผิดพลาดในอดีต แล้วเกิดทุกข์ใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ทุกข์อยู่คนเดียว หากเราสำนึกผิดและคิดว่าจะไม่กระทำอีก พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ใช้ การอธิษฐานจิตออกจากกรรมเอง โดยการให้สัจจะว่า จะไม่คิดทำกรรมชนิดนี้อีกต่อไป

6. การอโหสิกรรม หรือการให้อภัยทาน เป็นผลให้กรรมนั้นเป็นโมฆะกรรม หลุดพ้นจากบ่วงกรรมนั้นทันที ดังนั้นหากเจ้ากรรมนายเวรใดมาก่อนปรากฏตนต่อหน้าในขณะนั้น ก็พึงประกาศขออโหสิกรรม ให้อภัยซึ่งกันและกันถ้ายินยอมกรรมนั้นก็หลุดไป ถ้าไม่ยินยอมแม้เราซึ่งเป็นลูกกรรมจะขอแล้ว กรรมนั้นย่อมจะส่งผลต่อไป สุดแท้แต่ลักษณะกรรมที่กระทำกันมา



เรื่องของกรรมในอดีต

วิบากกรรมของพระพุทธเจ้า

ก่อนที่เราจะได้ศึกษาถึงเรื่องของกรรมกันต่อไป ก็อยากขอหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับวิบากกรรมที่ปรากฏในครั้งพุทธกาล เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจเราท่านทั้งหลาย ว่าเรื่องของกรรมเป็นเรื่องสำคัญเพียงไร

แม้องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว กรรมในปุเรนชาติก็ยังติดตามให้ผลจนถึงวาระสุดท้ายก่อนดับขันธปรินิพพาน ดังที่ตรัสเล่าไว้ใน พุทธปาทาน ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังถึงกรรมที่เราได้กระทำไว้แล้ว"

เราเห็นภิกษุผู้อยู่ป่ารูปหนึ่ง จึงได้ถวายผ้าท่อนเก่า ในกาลนั้นเราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก ผลแห่งกรรมอันเนื่องด้วยผ้าท่อนเก่านั้น ได้สำเร็จแม้ในความเป็นพระพุทธเจ้า

เราเคยเป็นนักเลงสุราชื่อ ปุนาลิ ในชาติก่อน ๆ ได้กล่าวใส่ความพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า สุรภี ผู้มิได้ทุษร้าย ผลแห่งกรรมนั้น เราจึงท่องเที่ยวไปในนรกสิ้นกาลนาน เสวยทุกขเวทนาสิ้นพันปีเป็นอันมาก ด้วยกรรมที่เหลือนั้น ในภพสุดท้ายนี้ก็ถูกใส่ความ เพราะเหตุนางสุนทริกา


ในกาลก่อนเราได้เคยฆ่าน้องชายต่างมารดา ด้วยเหตุแห่งทรัพย์ ผลักลงในซอกเขาเอาหินทุ่ม ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เทวทัตจึงเอาหินทุ่มเราสะเก็ดหินมาถูกหัวแม่เท้าเรา

เราเคยเป็นเด็กในหมู่บ้านชาวประมง เห็นชาวประมงฆ่าปลา ก็มีความชื่นชอบ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราจึงเกิดการเจ็บที่ศรีษะ

เราเป็นผู้มีชื่อว่า โชติปาละ ได้เคยกล่าวกับพระสุคตพระนามกัสสปะว่า การตรัสรู้เป็นได้โดยยาก ท่านจะได้จากต้นไม้ที่ไหนกัน ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราได้บำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นอันมาก สิ้นเวลา 6 ปี ต่อจากนั้นจึงได้บรรลุการตรัสรู้ เรามิได้บรรลุการตรัสรู้โดยตรง ได้แสวงหาไปในทางที่ผิด เพราะถูกกรรมเก่าทวงเอา

เราสิ้นบุญสิ้นบาปแล้ว เว้นแล้วแต่จากความเดือดร้อนทั้งปวง ไม่มีความโศก ไม่มีความคับแค้น ปราศจากอาสวะ จักปรินิพพาน


เราจะเห็นได้ว่าแม้องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดาของเรา ก็ยังมิอาจหลีกเลี่ยงผลของกรรมที่ตนได้กระทำไว้ แม้ยินดีในการฆ่าปลาของเขา ยังต้องรับผลมโนกรรมนั้นด้วยการปวดศรีษะ แม้ได้กล่าวร้ายต่อผู้อื่นไว้ก็จะต้องถูกใส่ร้ายในชาตินี้ กรรมสนองกรรมจึงเป็นกลไกที่สลับซับซ้อนเกินกว่าจะคิดถึง


อิทธิฤทธิ์ก็ยังแพ้กรรม แม้จะมีฤทธิ์อำนาจขนาดไหน ก็ไม่มีใครหนีกฏแห่งกรรมพ้นได้ เช่น พระโมคคัลลานะ อัครสาวกฝ่ายซ้าย อรหันต์ผู้เรืองฤทธิ์ ขนาดม้วนแผ่นดิน ยกภูเขาทั้งลูกได้ สามารถเหาะไปเที่ยวสวรรค์หรือนรกได้ ประสานกระดูกที่แตกหักให้ติดกันได้ ก็ยังถูกวิบากกรรมติดตามทวงเอาในปั้นปลายชีวิต


สมัยที่ท่านมีชาติกำเนิดเป็นชาวบ้าน พ่อแม่ตาบอดทั้งสองข้าง แต่ท่านยังตาบอดยิ่งกว่าทั้งที่ตาดี เพราะหลงเมียจนลืมพระคุณพ่อแม่ ด้วยเหตุที่เมียรังเกียจพ่อแม่ที่ตาบอด จึงแสร้งหาเหตุใส่ร้ายป้ายสีต่าง ๆ นา ๆ แล้วตีอกชกตัวเองร่ำไห้ฟ้องสามี และแนะนำให้พาพ่อแม่ที่ตาบอดไปฆ่าทิ้งในป่า ทิ้งร้างให้สัตว์ร้ายกิน เหมือนหนึ่งว่าสัตว์ทำร้ายถึงแก่ชีวิต ฝ่ายสามีก็หลงเชื่อ นำพ่อแม่ขึ้นเกวียนทำทีไปทำกิจที่อื่น พอถึงกลางป่าก็ทำเป็นเสียงโจรเข้าปล้น แล้วลงมือทุบตีพ่อแม่หมายให้ตายอแทนที่พ่อแม่จะร้องให้ลูกช่วย กลับบอกให้ลูกไปเสียไม่ต้องเป็นห่วง เพราะตนเองก็ตาบอด ส่วนลูกยังมีภาระครอบครัวที่จะต้องรับผิดชอบอยู่ จงหนีไปเสีย ทำให้ท่านฆ่าไม่ลง ทำทีเป็นขับไล่โจรให้หนีไป กลับนำพ่อแม่มาเลี้ยงดูตามเดิม

ผลจากกรรมนั้นทำให้ท่านถูกทุบตีตายมาถึงห้าร้อยชาติ ดีแต่ว่ายังไม่พลั้งมือทำร้ายพ่อแม่ถึงตาย ถือเป็นอนันตริยกรรม คือห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน เพราะยั้งมือไว้ทันไม่ได้ถึงขั้นฆ่า นำลับมาเลี้ยงดูตามเดิม จึงทำให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติสุดท้าย เข้าสู่พระนิพพานได้ แต่ก็ถูกโจรป่ารุมทำร้ายกระดูกแหลกละเอียด และเข้าใจว่าท่านตายก็เลยทิ้งไว้ในป่า ท่านก็อาศัยอิทธิฤทธิ์ประสานกระดูกร่างกายขึ้นมาใหม่ ไป ๆ มา ๆ ก็พบโจรเหล่านี้อีก มันก็ทำร้ายท่านอีกเหมือนเดิม จนเกิดขึ้นในครั้งที่ 3 ท่านจึงอดแปลกใจไม่ได้ว่า บุพกรรมใดหนอท่านจึงต้องถูกโจรเหล่านี้ทุบตีทำร้ายท่าน จนได้รู้ความจริงในอดีต จึงประสานกายขึ้นมามาใหม่ แล้วเหาะไปทูลลาพระพุทธเจ้าเข้าสู่พระนิพพาน


ดังนั้นเมื่อกรรมจะเริ่มให้ผลก็จะมีการเตือนกันล่วงหน้า โดยแสดงอาการผิดปกติทางจิตใจหรือทางกายให้เริ่มปรากฏ และเมื่อมันปรากฏแล้วก็ต้องรีบศึกษาทำความเข้าใจ วิเคราะห์ให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม จนถูกรุมเร้าดิ้นไม่ออก ส่วนวิธีการนั้นจะได้แนะนำกันในโอกาสต่อไป


หลักการแก้ไขวิบากกรรม

เหตุแห่งกรรมนั้นไม่ใช่จะยุติกันได้ง่าย เพราะเหมือนคนสองคนมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันและทำร้ายห้ำหั่นกันโดย โลภะ โทสะ โมหะ ตั้งแต่ทำร้ายกันด้วยคำพูด ทำร้ายร่างกาย แม้ในที่สุดทำร้ายถึงแก่ชีวิต ดังนั้นผลของกรรมย่อมแตกต่างหนักเบาไม่เท่ากัน แม้ในทางโลกก็มีการตัดสินคดีและการลงโทษที่แตกต่างกันไปตามเจตนาและลักษณะการกระทำผิด

เหตุแห่งกรรมจะระงับลงได้นั้นย่อมมีสาเหตุที่สำคัญเพียง 2 ประการเท่านั้น

กรรมนั้นให้ผลเต็มที่แล้วจึงยุติ ซึ่งแน่นอนในประการนี้ไม่มีผู้ใดปรารถนาที่จะรอให้ผลถึงที่สุดแล้วจึงยุติ มีการให้อโหสิกรรม ก่อนที่กรรมจะให้ผลเต็มที่

ดังนั้นถ้าพิจารณากันจริง ๆ แล้วจะเห็นว่าวิธีการที่เหมาะสมที่สุด คือ การให้อโหสิกรรมต่อกัน ปัญหามีอยู่ว่า เราขออโหสิกรรมได้ แต่เจ้ากรรมนายเวรจะยอมรับหรือเปล่าเท่านั้น เพราะความอาฆาตรพยาบาทมันมีมาก ก็จะทำให้เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ คือไม่ยอมรับและให้อโหสิกรรมแน่นอน

บางคนกล่าวว่าสามารถตัดกรรมได้ ท่านว่าจริงหรือไม่? หากเป็นกรรมเบา ๆ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ก็อาจจะได้ผล คือบรรเทาลงไปหรือหมดไป พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ท่านยังหนีกรรมไม่พ้นเลย แล้วพวกเราปุถุชนคนกิเลสยังหนาจะพ้นได้อย่างไร ประเด็นนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่ใครเก่งถึงขนาดตัดกรรมของคนอื่นได้ กรรมตัวเองตัดได้หรือยัง ? ในที่นี้จึงไม่บังอาจใช้คำว่า "ตัดกรรม" แต่จะขอใช้คำว่า "แก้ไขวิบากกรรม" หมายถึงแก้ไขให้ดีขึ้นหรือหมดไป โดยอาศัยหลักธรรมขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักในการแก้ไข จึงมิใช่ไสยศาสตร์ดังเช่นที่บางคนคิด ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้นขอให้ท่านติดตามศึกษาต่อไป
แนวทางสำหรับการแก้ไขวิบากกรรมให้เบาบางลงไป

คำแนะนำในการแก้กรรม

สำหรับท่านที่ผิดพลาดไปแล้ว ก็อยากขอแนะนำหนทางแก้ไข วิบากกรรม เหล่านั้นให้บรรเทาลงไปหรือหมดไปในที่สุด ใช้ได้กับ กรรม ทุกประเภท มีข้อแนะนำดังนี้

1.ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรที่กำลังติดตามให้ผลเราอยู่ทุกรูปแบบ เพื่อให้ดวงวิญญาณนั้นเห็นว่า เรามีความตั้งใจจริงและสำนึกในผลกรรมที่ได้กระทำลงไป เช่น การทำบุญใส่บาตร ถวายสังฆทาน ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ถวายพระพุทธรูป ถวายผ้าไตร ไถ่ชีวิตสัตว์ ฯล แล้วตั้งใจกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรที่อยู่ในตัวของเราเท่านั้น แต่ท่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่านี่เป็นเพียงทานกุศล เป็นกุศลเบื้องต้นที่ยังหยาบอยู่ซึ่งอาจจะไม่พอเพียงสำหรับการไถ่โทษฑัณฑ์ที่ได้กระทำผิดไว้กับเจ้ากรรมนายเวรตนนั้นก็ได้


2. การบวชพราหมณ์หรือการบวชพระ การถือศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ตามเพสภาวะ ส่วนจะเป็นการบวชกี่วันย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เมื่อบวชแล้วควรสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเช้า-เย็น เจริญสมาธิภาวนาให้มาก เพราะเป็นกุศลที่ละเอียดสูงกว่าการให้ทานข้างต้น เพราะการบวชชีพราหมณ์หรือการถือศีล 8 เป็นระดับของบุญที่สูงกว่าการให้ทาน นอกจากจะมีโอกาสทำวัตรเช้าเย็น ก็ยังได้นั่งสมาธิแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลที่เป็นทิพย์ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรอีกด้วย หรือ ถ้าเป็นกรรมหนักและเป็นผู้ชายก็อาจบวชพระ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรก็ยิ่งดีมาก


3. เจริญสมาธิภาวนา แม้เราจะไม่มีเวลาไปบวชถือศีลที่วัดก็ตาม เราก็ควรจะทำบ้านให้เป็นวัด ด้วยการสวดมนต์และเจริญสมาธิภาวนาให้เป็นนิจ เพราะบุญจากการเจริญสมาธิภาวนา เป็นกุศลที่ละเอียดมากและสูงที่สุด ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของทุกดวงจิดดวงวิญญาณ เพราะผู้มีกายทิพย์หรือกายละเอียดย่อมอยากได้บุญที่ละเอียดเช่นกัน

อีกประการหนึ่ง จะเป็นการคลายขันธ์หรือปรับปรุงธาตุขันธ์ให้ผ่อนคลายระงับ เบญจขันธ์อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กรรมเล็ก กรรมน้อย จะถูกขับผ่อนคลายออกจากขันธ์ได้บางส่วน ทำให้ดีขึ้นและเกิดปิติสุขตามมา พยายามให้จิตแน่วแน่มั่นคง จนจิตดิ่งวูบจนเกิดความสงบและสุขในใจ แล้วแผ่เมตตาให้ดวงจิตดวงวิญญาณนั้นมาอนุโมทนา และให้เป็นอโหสิกรรมต่อกัน
เพราะองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กล่าวว่า หากเราทำจิตให้นิ่งสงบได้เพียงช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ย่อมสามารถปิดอบายภูมิได้ คือ ทำความดีหนีความชั่ว ดังนั้นแม้ไม่อาจจะไปบวชชีพราหมณ์ได้ ก็อยู่ปฏิบัติเอาเองที่บ้านก็ได้ แต่ขอให้ทำจริงเท่านั้น



4. การขออโหสิกรรม หรือ การให้อภัยทาน ในบรรดาทานทั้งหลายอันประกอบด้วย วัตถุทาน ธรรมทานและอภัยทาน ถือว่าอภัยทานเป็นทานในระดับปรมัตถทานบารมี หากมีการให้อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน กรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะ หลุดพ้นจากบ่วงกรรมนั้นทันที ดังนั้นหากเจ้ากรรมนายเวรใดปรากฏตนต่อหน้าในขณะนั้น ก็พึงประกาศขออโหสิกรรมกันทันที หากแม้ว่าอีกฝ่ายไม่ยอม กรรมนั้นก็ย่อมดำเนินการส่งผลต่อไป สุดแท้แต่ลักษณะแห่งกรรมที่กระทำกันมา

ดังนั้น ทุกครั้งที่ทำบุญแล้วให้กรวดน้ำแผ่เมตตา ระบุถึงเจ้ากรรมนายเวรที่อยู่ในตัวข้าพเจ้า หรือ ที่ติดตามข้าพเจ้า ให้มาอนุโมทนาในส่วนบุญส่วนกุศลที่ข้าพเจ้าอุทิศให้นี้ และกรรมอันใดที่ได้กระทำไปโดย เจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี ขอให้เป็นอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อเป็นการแสดงความตั้งใจที่จะอุทิศให้แก่เขาจริง ๆ และด้วยความสำนึกผิด
5.ขอร้องไกล่เกลี่ยเมื่อทำทุกอย่างที่แนะนำแล้ว เหตุการณ์รอบ ๆ ตัว หรือ สุขภาพการเจ็บป่วยไม่ดีขึ้น ก็ต้องหาคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยให้ ดังนั้น “พระสงฆ์”ผู้ทรงศีล จึงเป็นทางออกที่ดี เพราะท่านเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และมีศีล 227 ย่อมมีวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ เพราะเราเป็นจำเลย แต่วิญญาณที่อาฆาตเป็นโจทก์

ดังนั้นถึงแม้เราจะพยามสร้างบุญสร้างกุศลทุกรูปแบบแล้ว เจ้ากรรมนายเวรอาจจะยังไม่ยอมก็ได้ เพราะความโกรธยังมีอยู่จึงไม่ยอมฟังเสียงร้องขอของเรา จึงจำเป็นต้องอาศัยคนกลางที่เป็นที่เคารพนับถือหรือเกรงใจกันไกล่เกลี่ยให้ โดยอาศัยจิตสำนึกในบาปบุญที่ได้กระทำมา และสร้างกุศลอยู่เสมอเป็นสำคัญ ประกอบด้วยพระสงฆ์ที่มีบุญฤทธิ์และเมตตาจิตที่แผ่เมตตาโปรดสัตว์ผู้ทุกข์ยากทั้งหลาย ให้เกิดปัญญาดวงตาเห็นธรรม จนยอมละวางและให้อโหสิกรรมต่อกัน


ท่านทั้งหลายอ่านมาถึงตรงนี้ คงจะมีคำถามมากมายว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เจ้ากรรมนายเวรยอมอโหสิกรรมให้ ถ้าท่านอยากทราบคำตอบสุดท้ายตรงนี้ ก็ต้องติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ทุกตัวอักษร แล้วท่านจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่ท่านสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง แล้วจะเข้าใจเรื่องราวของ “กรรม” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจทำให้ท่านเกิดความรู้สึกกลัว “กรรม” กว่าที่เคยกลัวมาว่า “เจ้ากรรมนายเวร” ไม่ใช่แค่คำพูดที่ไว้หลอกคนให้กลัว แต่เป็นเรื่องจริง ๆ ที่ยังไม่เคยได้รับคำอธิบายให้ชัดเจนจากที่ไหนมาก่อนเท่านั้น
เจ้ากรรมนายเวร ก็คือ ดวงจิตดวงวิญญาณที่มีความอาฆาตพยาบาทกันมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะมากหรือน้อยก็ย่อมขึ้นอยู่กับ บุพกรรม ของแต่ละคน บางดวงจิตดวงวิญญาณหากมาจุติเป็นมนุษย์เหมือนกัน ก็จะคอยจองล้างจองพลาญ หาทางทำลายเราในทุกโอกาสทุกสถานที่ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ต่างกรรมต่างวาระ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเราแปรเปลี่ยนไป หมุนเวียนกันไป ดีบ้างแย่บ้าง สุดแท้แต่กรรมดีหรือกรรมชั่วจะส่งผล

ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท เราจึงควรสั่งสมบุญไว้ หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา เอาบุญเป็นตัวนำ เพื่อถ่วงดุลความชั่วให้ส่งผลช้าหรือไม่สามารถให้ผลได้ทัน เพราะน้ำหนักบุญมากกว่าน้ำหนักบาปนั่นเอง


ประเภทแห่งกรรม สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท นั่นคือ

1. กรรมที่ว่าโดยหน้าที่
2. กรรมที่ว่าโดยลำดับการให้ผล
3. กรรมที่ว่าโดยเวลาให้ผล



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 08, 2014, 10:06:39 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ว่าด้วยเรื่องของกรรม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 26, 2010, 09:56:11 pm »
0
กรรมที่ว่าโดยหน้าที่ เป็นไฉน กรรมที่ว่าโดยหน้าที่ สามารถแบ่งออกเป็น 4 หมวดด้วยกันคือ

1. ชนกกรรม คือ กรรมที่เป็นตัวนำเกิด
2. อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมสนับสนุน หรือกรรมที่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม
3. อุปปีฬกกรรม คือ กรรมบีบคั้น หรือกรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรม และอุปัตถัมภกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน
4. อุปฆาตกกรรม คือ กรรมตัดรอน เป็นกรรมที่แรง ฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม และอุปัตถัมภกรรมเข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเลยทีเดียว


กรรมที่ว่าโดยลำดับการให้ผล เป็นไฉน กรรมที่ว่าโดยลำดับการให้ผล หรอ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามความยักเยื้อง หรือลำดับความแรงในการให้ผล สามารถแบ่งออกเป็น 4 หมวดคือ

1. ครุกรรม คือกรรมหนัก ให้ผลก่อน เช่น อนันตริยกรรม
2. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม คือ กรรมทำมาก หรือกรรมชิน ให้ผลรองจากครุกรรม
3. อสันนกรรม คือ กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมทำเมื่อจวนจะตายจับใจอยู่ใหม่ๆ
4. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม คือ กรรมสักว่าทำ หรือ กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้วกรรมนี้จึงจะให้ผล
กรรมที่ว่าโดยเวลาให้ผล เป็นไฉน กรรมที่ว่าโดยเวลาให้ผล หรือว่าโดยปากกาล คือกรรมที่จำแนกตามเวลาให้ผล แบ่งออกเป็น อีก 4 หมวด คือ

1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจะบัน คือในภพนี้
2. อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
3. อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมใหผลในภพต่อๆ ไป
4. อโหสิกรรม คือ กรรมที่เลิกให้ผล ไม่มีผลอีก


--------------------------------------------------------------------------
ที่มา: หนังสือ กรรมทีปนี ของ พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)
http://board.palungjit.com/f2/ว่าด้วยเรื่องของกรรม-42790.html

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 08, 2014, 10:07:21 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
หลักของการเผชิญกรรม
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มกราคม 08, 2014, 10:03:14 am »
0


 :s_good: :s_good: :s_good: แนะนำครับ
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ