ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ท่อนไม้ลอยไหลสู่ทะเลได้ฉันใด จิตก็โน้มเอียงสู่นิพพานได้ฉันนั้น”  (อ่าน 3117 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
“ท่อนไม้ลอยไหลสู่ทะเลได้ฉันใด จิตก็โน้มเอียงสู่นิพพานได้ฉันนั้น”


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘
พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค   
                     
               
ทารุขันธสูตรที่ ๑
[๓๒๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งหนึ่ง  พระผู้มีพระภาค
ได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง อันกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่งแม่น้ำคงคา
แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นหรือไม่ ท่อนไม้ใหญ่โน้น
อันกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จมเสียในท่ามกลาง
จักไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้ แลท่อนไม้นั้น จักลอยไหลเลื่อนไปสู่สมุทรได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า กระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคา ลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น
ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนๆไว้
จักไม่เป็นผู้เสียในภายในไซร้


ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายจักโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเหตุว่า สัมมาทิฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ


[๓๒๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ฝั่งนี้ได้แก่อะไร
ฝั่งโน้นได้แก่อะไร
การจมลงในท่ามกลางได้แก่อะไร
การเกยบนบกได้แก่อะไร
มนุษย์ผู้จับคืออะไร
อมนุษย์ผู้จับคืออะไร
เกลียวน้ำวนๆ ไว้คืออะไร
ความเป็นของเน่าในภายในคืออะไร


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ
คำว่า ฝั่งนี้ เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖
คำว่าฝั่งโน้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖
คำว่าจมในท่ามกลาง  เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ
คำว่าเกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ


ดูกรภิกษุ ก็มนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์
เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย
ย่อมถึงการประกอบตน ในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา
ดูกรภิกษุ นี้เรียกว่ามนุษย์ผู้จับ

ดูกรภิกษุ อมนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้
ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า
ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ  หรือด้วยพรหมจรรย์นี้
เราจักได้เป็นเทวดา หรือเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
ดูกรภิกษุ นี้เรียกว่าอมนุษย์ผู้จับ


ดูกรภิกษุ คำว่า เกลียวน้ำวนๆไว้ เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕
 

ดูกรภิกษุ ความเป็นของเน่าในภายในเป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ
มีการงานปกปิดไว้ไม่เป็นสมณะ ก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ
ไม่เป็นพรหมจารี ก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี
เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย
ดูกรภิกษุ นี้เรียกว่าความเป็นผู้เน่าในภายใน ฯ


อ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  บรรทัดที่ ๔๙๐๘ - ๔๙๖๓.  หน้าที่  ๒๑๒ - ๒๑๔.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=4908&Z=4963&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=322



อายตนะ ที่ต่อ, เครื่องติดต่อ, แดนต่อความรู้, เครื่องรู้และสิ่งที่รู้
เช่น ตา เป็นเครื่องรู้ รูปเป็นสิ่งที่รู้, หูเป็นเครื่องรู้ เสียงเป็นสิ่งที่รู้ เป็นต้น,
จัดเป็น ๒ ประเภท คือ อายตนะภายใน ๖ และ อายตนะภายนอก ๖


อายตนะภายนอก เครื่องต่อภายนอก, สิ่งที่ถูกรู้มี ๖ คือ
๑) รูป รูป
๒) สัททะ เสียง
๓) คันธะ กลิ่น
๔) รส รส
๕) โผฏฐัพพะ สิ่งต้องกาย
๖) ธัมมะ ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ หรือสิ่งที่ใจรู้ ;

อารมณ์ ๖ ก็เรียก

อายตนะภายใน เครื่องต่อภายใน, เครื่องรับรู้มี ๖ คือ
๑) จักขุ ตา
๒) โสต หู
๓) ฆาน จมูก
๔) ชิวหา ลิ้น
๕) กาย กาย
๖) มโน ใจ;

อินทรีย์ ๖ ก็เรียก


สัมผัส ความกระทบ,การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก,ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณ มี ๖ เริ่มแต่จักขุสัมผัส สัมผัสทางตา เป็นต้น จนถึง มโนสัมผัส สัมผัสทางใจ (เรียงตามอายตนะภายใน ๖); ผัสสะ ก็เรียก

นันทิ น. ผู้มีความยินดี. (ส.).

ราคะ ความกำหนัด, ความยินดีในกาม, ความติดใจหรือความย้อมใจติดอยู่ในอารมณ์

อัสมิมานะ การถือตัวว่านี่ฉัน นี่กู กูเป็นนั่นเป็นนี่, การถือเราถือเขา


กามคุณ ๕ (ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม)
๑. รูปะ (รูป)
๒. สัททะ (เสียง)
๓. คันธะ (กลิ่น)
๔. รสะ (รส)
๕. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย)
๕ อย่างนี้ เฉพาะส่วนที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เรียกว่า กามคุณ


อ้างอิง
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ