ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติการสวดมนต์  (อ่าน 10491 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28332
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ประวัติการสวดมนต์
« เมื่อ: มีนาคม 08, 2012, 12:57:43 pm »
0

บทที่ ๑
ประวัติการสวดมนต์

        การสวดมนต์ไหว้พระเป็นการสร้างมนต์ชีวิตไว้ประจำตัว เป็นการดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาทและสร้างพลังจิต ยังความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับตนเอง ในการดำรงชีวิตประจำวันให้มีสติระลึกอยู่เสมอ ในการที่จะประพฤติชอบในกรอบของศีลธรรม อันเป็นการนำความสุขความเจริญมาสู่ตนเอง เป็นชีวิตที่มั่นคง และจักส่งผลให้เกิดความมั่นคงต่อประเทศชาติด้วย

        การสวดมนต์นั้นมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยที่พระสงฆ์สาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว เพื่อป้องกันความหลงลืม  ท่านก็จะนำเอาคำสั่งสอนนั้นมาทบทวนด้วยตนเองบ้าง เป็นคณะบ้าง จนคล่องปาก จำได้ขึ้นใจที่เรียกว่า “วาจุคคโต”

       เพราะในสมัยนั้นตัวหนังสือที่จะใช้บันทึกยังไม่มี พอเวลานานเข้าเกรงว่าพระธรรมวินัย อันเป็นคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะวิปริตผิดเพี้ยนไป ก็จัดให้มีการประชุมกันมีการทบทวนสอบทานที่เรียกว่า การทำสังคายนา

       ในหนังสือสวดมนต์สิบสองตำนานของกองทัพอากาศ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๔ อ้างหนังสือเรื่องตามตำนานพระปริตร ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าประเพณีที่พระสงฆ์สวดพระปริตร(สวดมนต์) เกิดขึ้นในลังกาทวีปประมาณว่า เมื่อพุทธกาลล่วงแล้วราว ๕๐๐ ปี

      สาเหตุที่ทำให้เกิดประเพณีสวดพระปริตรตามบ้านนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “ในพงศาวดารปรากฏว่า พวกทมิฬมีอำนาจปกครองบ้านเมือง(ลังกา) อยู่นานๆ หลายครั้ง พวกทมิฬนับถือไสยศาสตร์ พาศาสนาพราหมณ์เข้ามาสั่งสอนในลังกาทวีปด้วย

       อย่างไรก็ตาม คติศาสนาพราหมณ์นั้นนิยมว่าผู้ทรงพระเวทอาจร่ายมนต์ให้เกิดสิริมงคลหรือป้องกันแก้ไขภยันตรายแก่มหาชนได้ สันนิษฐานว่าพวกชาวลังกาแม้ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ย่อมมีเวลาปรารถนาสิริมงคล และมีเวลาหวาดหวั่นต่อภยันตรายตามธรรมดาสามัญมนุษย์ คงจะขอให้พระสงฆ์เถรานุเถระชาวลังกา ช่วยหาแนวทางในพระพุทธศาสนาสงเคราะห์เพื่อให้เกิดสิริมงคลหรือป้องกัน อันตรายให้แก่ตนบ้าง

      พระสงฆ์มีความกรุณา จึงคิดวิธีการสวดพระปริตรขึ้น ให้สมประสงค์ของประชาชน ก็แต่วิธีร่ายเวทมนต์ของพราหมณ์นั้น เขาวิงวอนขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า คติทางพระพุทธศาสนาห้ามการทำเช่นนั้น

      พระสงฆ์จึงค้นในพระไตรปิฎกเลือกเอาพระสูตรและปาฐะพระคาถาสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยอันมีตำนานอ้างว่า เกิดขึ้นเนื่องด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ มาสวดเป็นมนต์   การสวดมนต์ดังกล่าวนั้นเรียกว่าสวดพระปริตร หมายถึงสวดพระพุทธวจนะที่มีอานุภาพคุ้มกันอันตรายต่างๆได้




การสวดมนต์ของชาวพุทธมีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ
     ๑. สวดพระสูตร เช่น บทธรรมจักรกัปปวัตนสูตร มงคลสูตร เป็นต้น
     ๒. สวดพระปริตร เช่น บทโมรปริตร  ขันธปริตร เป็นต้น
     ๓. สวดสัจกิริยา เช่น บทมงคลจักรวาลใหญ่ มงคลจักรวาลน้อย หรือบทที่ลงท้ายด้วยคำว่า “อานุภาเวน” เป็นการตั้งสัตยาธิษฐานให้เกิดประโยชน์ ถึงอย่างไรก็ตามการสวดมนต์ก็เป็นส่วนให้เกิดสมาธิ พลังจิตและสิริมงคลแก่ผู้สวดและผู้ฟัง



การสวดมนต์มีอยู่ ๒ แบบ คือ
      ๑. การสวดเป็นบทๆ เป็นคำๆ ไป เรียกว่าแบบปทภาณะ นี้อย่างหนึ่ง เช่น อย่างที่พระสงฆ์สวดกันอยู่ทั่วไปในวัดหรือในงานพิธีต่างๆ
     ๒. การสวดแบบใช้เสียงตามทำนองของบทประพันธ์ ฉันทลักษณ์ต่างๆ เรียก ว่าสรภาณะอย่างหนึ่ง เช่น พระสงฆ์ในงานพิธีรับเทศน์หรือในเทศกาลพิเศษ เช่น ในคราวเทศน์ในวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา เป็นต้น วิธีการสวดแบบสรภาณะนี้เอง เรียกอย่างหนึ่งว่า “สรภัญญะ” (อ่านว่า สะระภัญญะ)
     และต่อมาได้วิวัฒนาการให้พระสงฆ์เทศน์เป็นทำนองแหล่ขึ้นในบททำนองร่ายยาว เช่น ในเรื่องพระเวสสันดรชาดกจนถึงปัจจุบัน


     ทั้งนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้วโดยท่านพระโสณะกุฏิกัณณะเป็นผู้สวดถวายพระพุทธเจ้า ในคราวมาเฝ้าพระพุทธเจ้า และพักอยู่ในพระเชตวันวิหารกับพระพุทธเจ้า มีเรื่องปรากฏเป็นหลักฐานในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ ข้อ ๑๗ หน้า ๒๗ (พระวินัยปิฎกภาษาบาลี ฉบับทยยรฏสส เล่มที่ ๕ พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว ว่า

    อถโข ภควา  รตฺติยา ปจฺจูสสมยํ  ปจฺจุฏฺาย  อายสฺมนฺตํ  โสณํ  อชฺเฌสิ
    “ปฏิภาตุ ตํ  ภิกฺขุ ธมฺโม  ภาสิตุนฺติ”. “เอวํ  ภนฺเตติ”
    โข อายสฺมา โสโณ  ภควโต ปฏิสฺสุณิตฺวา สพฺพาเนว อฏฺกวคฺคิกานิ สเรน อภาสิ.     
    อถโข  ภควา อายสฺมโต  โสณสฺส  สรภญฺญปริโยสาเน  อพฺภานุโมทิ, 
    “สาธุ สาธุ  ภิกฺขุ, สุคฺคหิตานิ โข เต ภิกฺขุ  อฏฺกวคฺคิกานิ สุมนสิกตานิ  สูปธาริตานิ,
    กลฺยาณิยาสิ วาจาย  สมนฺนาคโต วิสฺสฏฺาย  อเนลคลาย  อตฺถสฺส  วิญฺญาปนิยา,
    กติวสฺโสสิ ตฺวํ ภิกฺขูติ”.


     พระไตรปิฎกภาษาไทยพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ เล่มที่ ๕ ข้อ ๑๗ หน้า ๓๓ ว่า
    “ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่แจ้งจนดึก จึงเสด็จเข้าพระวิหาร ฝ่ายท่านพระโสณะก็ยับยั้งอยู่ในที่แจ้งจนดึกจึงเข้าพระวิหาร ครั้นเวลาปัจจุสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคทรงตื่นพระบรรทมแล้วทรงอัชเฌสนาท่านพระโสณะว่า


     ดูกรภิกษุ เธอจงกล่าวธรรมตามถนัด ท่านพระโสณะกราบทูลสนองพระพุทธบัญชาว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วได้สวดพระสูตรทั้งหลายอันมีอยู่ในอัฏฐกวรรค จนหมดสิ้นโดยสรภัญญะ

     ครั้นจบสรภัญญะของพระโสณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปราโมทย์ประทานสาธุการว่า
     ดีละ ดีละ ภิกษุ สูตรทั้งหลายในอัฏฐกวรรคเธอเล่าเรียนมาดีแล้ว ทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงจำไว้แม่นยำดี เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจาไพเราะเพราะพริ้ง ไม่มีโทษ ให้เข้าใจรู้ความได้แจ่มชัด  เธอมีพรรษาเท่าไร ภิกษุ”




     การสวดมนต์ทำนองสรภัญญะด้วยภาษาบาลีนั้น ได้มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว
    ส่วนการสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัย ทำนองสรภัญญะ ที่เป็นภาษาไทย สันนิษฐานได้ว่า น่าจะมีขึ้นประมาณในรัชกาลที่ ๕
     ด้วยเหตุผลว่า คำประพันธ์สวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัย ที่เป็นภาษาไทย (คือ องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ ญ ภาพนั้นนิรันดร, ธรรมะคือคุณากร ฯลฯ ด้วยจิตและกายวาจา และ สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ จงดับและกลับเสื่อมศูนย์) ที่เป็นบทฉันทลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งใช้สวดในปัจจุบันนี้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร) ท่านเป็นผู้ประพันธ์


     ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ ปรากฏหลักฐานในหนังสือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่ง ประพัฒน์ ตรีณรงค์ เป็นผู้เขียนใจความว่า
     สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ผนวชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระองค์ได้จัดโรงเรียนขึ้นที่วัดนั้น ได้ทรงจัดให้มีตำราเรียนเร็วขึ้น ทรงนิพนธ์แบบเรียนเร็วขึ้นใช้สอย พระนิพนธ์เรื่องนี้ต่อมาได้ใช้เป็นตำราเรียนของเด็กนักเรียนด้วย

     นอกจากจะทรงคิดแต่งตำราเพื่อให้เรียนหนังสือได้เร็วแล้ว ยังทรงสังเกตเห็นว่าในโรงเรียนขาดการสอนคดีธรรม ครั้งแรกทรงคิดที่จะให้พระเทศน์ให้เด็กฟัง ก็ทรงเกรงว่าจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร? เพราะเด็กฟังแล้วไม่เข้าใจ สำหรับข้อนี้ทรงแก้ไขด้วยวิธีเล่าไว้ในหนังสือประวัติอาจารย์ว่า

    “แต่จะเทศน์ให้เด็กฟังก็ไม่เข้าใจ เห็นว่า ถ้าแต่งเป็นคำกลอนให้เด็กท่องสวดจะดีกว่า ข้าพเจ้าบอกความที่ปรารถนาไปยังพระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ขอให้ท่านแต่งคำนมัสการส่งขึ้นไปให้ ท่านก็แต่งให้ตามประสงค์ เป็นคำนมัสการ ๗ บท ขึ้นด้วยบทบาลีแล้วมีกาพย์กลอนเป็นภาษาไทยทุกบท นมัสการพระพุทธเจ้า ขึ้นต้นว่า
   
    องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน เป็นต้น บท ๑
    นมัสการพระธรรมเจ้าบท ๑
    นมัสการพระสงฆ์เจ้าบท ๑
    สามบทนี้ให้เด็กสวด

    เมื่อเริ่มเรียนตอนเช้า
    มีคำบูชาคุณบิดามารดาบท ๑
    บูชาคุณครูบท ๑ 
    สำหรับใช้สวดเมื่อเริ่มเรียนตอนบ่าย

    และมีคำบูชาพระคุณพระบุรพกษัตริย์บท ๑
    คำขอพรเทวดาบท ๑
    สำหรับใช้สวดเมื่อจะเลิกเรียน
    เริ่มสวดกันในโรงเรียนนิเวศน์ฯ ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังบวชอยู่”
    (ปัจจุบันคำสอนดังกล่าวนี้ก็ยังใช้ในโรงเรียนในวันประชุมสุดสัปดาห์ของโรงเรียน)


    การสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัย ทำนองสรภัญญะ ได้ใช้สวดกันต่อมาเป็นประจำในวันสุดสัปดาห์ ถ้าโรงเรียนหยุดวันพระก็ให้สวดในวันโกน
    ต่อมาโรงเรียนหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ให้สวดในวันศุกร์เป็นกิจกรรมสืบสานมรดกวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาสืบต่อๆ กันมา

    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ทางกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้วางระเบียบว่าด้วยการสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียนเพื่อส่งเสริมศีลธรรมจรรยามารยาท และฝึกอบรมจิตใจและนิสัยอันดีงาม ประพฤติตนในทางที่ดีที่ชอบ 
    ซึ่งระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการ สวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน พ.ศ. ๒๕๐๓




วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมสวดมนต์หมู่
    ๑. เพื่อน้อมใจรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ที่มีต่อตนเองและชาวโลกและได้ฝึกพุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ
   ๒. เพื่อปลูกฝังคุณธรรมวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย แก่เด็กและเยาวชนของชาติให้มั่นคง

   ๓. เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรักษาสืบสานวัฒนธรรมไทยและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
   ๔. เพื่อให้เกิดปัญญา ตระหนักถึงคุณค่าของการประพฤติพระธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
  ๕. เพื่อนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อความ ก้าวหน้ามั่นคงแก่ตนเอง
   ๖. เพื่อสร้างความสามัคคีอันดีงามระหว่างหมู่คณะและคนในชาติ

   ๗. เพื่อส่งเสริมความเป็นผู้กล้าหาญทางด้านจริยธรรม และสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจ
   ๘. เพื่อให้เกิดความซาบซึ้งในสุนทรียรสของบทประพันธ์และภาษาไทย



อานิสงส์ของการสวดมนต์
    ๑. ขจัดนิวรณ์ อันเป็นอุปสรรคต่อการทำความดี ก่อให้เกิดความสดชื่นแจ่มใส จิตใจ   เบิกบาน
   ๒. ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามหลักไตรสิกขา เพราะในขณะสวดมนต์มีกายวาจาปกติ(มีศีล) มีใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับบทสวดมนต์(มีสมาธิ) ได้รู้คุณความดีของพระรัตนตรัยตามคำแปลของบทสวด(มีปัญญา)

   ๓. ตัดรากเหง้าความเห็นแก่ตัว เพราะขณะสวดมนต์จิตจดจ่ออยู่ที่บทสวด ไม่คิดถึงตัวเอง ความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงไม่ได้โอกาสเข้ามาแทรกในจิตได้
   ๔. จิตไม่ขุ่นมัว เกิดสมาธิมั่นคง เพราะขณะสวดมนต์ผู้สวดจะต้องสำรวมใจแน่วแน่ ด้วยเกรงว่าจะสวดผิด จิตจึงเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิความสงบเยือกเย็นย่อมเกิดขึ้น
  ๕. ได้เสริมส่งปัญญาบารมี การสวดมนต์ได้รู้คำแปล รู้ความหมาย ย่อมทำให้ผู้สวดได้ปัญญาบารมี ทำให้คำสอนมั่นคง ไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
   ๖. เป็นการสืบสานความดีสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะการสวดมนต์ ผู้สวดย่อมได้รู้แนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ดี เมื่อปฏิบัติตามย่อมได้รับผลเป็นความสะอาด สว่าง สงบของจิตใจ นั่นคือพระพุทธศาสนามั่นคงอยู่กับผู้สวดมนต์และถือได้ว่าได้ปฏิบัติบูชาสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไปโดยแท้จริง

   ๗. ทำหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกาให้สมบูรณ์ ผู้สวดมนต์ย่อมได้ชื่อว่า ได้ทำหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกาให้สมบูรณ์ เป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม เกิดความสามัคคีในสังคมและหมู่คณะ



อ้างอิง
หนังสือคู่มือสวดมนต์หมู่ฯ
จำมาจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น  ชุตินธโร) วัดสามพระยา
http://www.kusolsuksa.com/webboard/index.php?topic=8.0
โพสต์โดย w.e.b Administrator
ขอบคุณภาพจาก http://pr.prd.go.th/,http://www.mscs.nu.ac.th/,http://www.firodosia.com/,http://123.242.164.132/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 08, 2012, 01:01:50 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ