ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เชื่อหรือไม.? เอตทัคคะ ๒ องค์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา เคยแต่งงานกัน.!!  (อ่าน 1254 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :96: :96: :96:

พระนันทเถระ เอตทัคคะในทางผู้สำรวมอินทรีย์

พระนันทศากยะเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับ พระนางมหาปชาบดีโคตรมี พระน้านาง เป็นพุทธอนุชาร่วมพระบิดาเดียวกัน เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดา บรรดาพระประยูรณาติปรารถนาจะได้เห็น ต่างก็มีความปีติยินดีร่างเริงบันเทิงใจ เมื่อประสูติออกมาจึงขนานนามว่า “นันทกุมาร”

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา บำเพ็ญเพียร ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณแล้ว เสด็จโปรดพระประยูรญาติ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ และในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูรณาตินั้น พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในนิวาสสถานแห่งนันทกุมาร เนื่องในการอาวาหมงคลอภิเษกสมรส ระหว่างนันกุมารกับนางชนปทกัลยาณี

อุ้มบาตรตามเสด็จ

ครั้งเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์ประทานบาตรส่งให้นันทกุมารถือไว้ตรัสมงคลกถาแก่พระประยูรญาติในสมาคมนั้นโดยสมควรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จลงจากนิวาสสถานโดยมิได้รับบาตรคืนจากนันทกุมาร ส่วนนันทะเองก็ไม่กล้ากราบทูลเตือนให้ทรงรับบาตรคืน ด้วยความเคารพในพระเชษฐาเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ถือบาตรตามเสด็จลงมาโดยมิได้ตรัสอะไร ได้แต่นึกอยู่ในใจว่าพระองค์คงจะรับบาตรคืนเมื่อถึงพื้นล่าง เมื่อพระองค์ไม่ทรงรับบาตร จึงดำริต่อไปว่าเมื่อเสร็จถึงประตูพระราชวังก็คงจะทรงรับ ครั้นเห็นว่าไม่ทรงรับก็ถือบาตรตามเสด็จไปเรื่อย แล้วก็ดำริอยู่ในใจว่า ถึงตรงนั้นก็คงจะทรงรับ ถึงตรงนี้ก็คงจะทรงรับ แต่พระพุทธองค์ก็มิทรงรับบาตรคืนเลย

ส่วนนางชนปทกัลยาณี เมื่อได้ทราบจากนางสนมว่า พระผู้มีพระภาค ทรงพานันทกุมารไปด้วยก็ตกพระทัย รีบเสด็จตามไปโดยเร็วแล้วร้องทูลสั่งว่า “ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบเสด็จกลับโดยด่วน”


จำใจบวช

นันทราชกุมาร ได้สดับเสียงของนางแล้วประหนึ่งว่า เสียงนั้นเข้าไปขวางอยู่ในหฤทัยให้รู้สึกปั่นป่วนอยากจะหวนกลับ แต่ก็กลับไม่ได้ ด้วยมีความเคารพในพระบรมศาสดาเป็นอย่างมาก ต้องทนฝืนพระทัยถือบาตรตามเสด็จจนถึงนิโครธาราม เมื่อเสด็จถึงพระคันธกุฏี พระผู้มีพระภาค ทรงรับบาตรคืนแล้วตรัสแก่นันทกุมารว่า “นันทะ เธอจงบรรพชาเถิด”
 
สำหรับนันทกุมารนั้น เรื่องการบวชไม่มีอยู่ในความคิดเลยแม้สักนิดหนึ่ง ภายในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่ถ้อยคำและพระพักตร์ของนางชนปทกัลยาณีที่มาร้องสั่งเตือนให้รีบเสด็จกลับ แต่เพราะความเคารพยำเกรงในพระเชษฐาเป็นยิ่งนักไม่สามารถจะขัดพระบัญชาได้ จึงจำใจรับพระพุทธฏีกา บวชในวันนั้น

พระนันทะ นับตั้งแต่บวชแล้ว ในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่นางชนปทกัลยาณีเจ้าสาวของตนที่เพิ่งจะแต่งงานกัน แล้วก็ต้องจำพรากจากกันด้วยความเคารพในพระศาสดา ไม่มีแก่ใจที่จะประพฤติพรตพรหมจรรย์ มีแต่ความกระสันที่จะลาสิกขาอยู่ตลอดเวลา ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ก็ได้แต่เล่าความในใจนั้นให้เพื่อสหธรรมมิกด้วยกันฟัง

เปรียบอดีตเจ้าสาวเหมือนลิงแก่

พระบรมศาสดา ทรงทราบความจึงทรงพาพระนันทะเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อให้พระนันทะได้เห็นสตรีที่มีรูปร่างต่าง ๆ กัน ตั้งต้นแต่ให้เห็นสิ่งที่อัปลักษณ์ที่สุด โดยให้ได้เห็นนางลิงแก่ที่หูแหว่ง จมูกโหว่ และหางขาด นั่งอยู่บนตอไม้ที่ไฟไหม้ดำเป็นตอตะโก จนกระทั่งให้ได้เห็นนางเทพอัปสรบนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ที่สวยโสภายิ่งนักจนหาที่สุดมิได้ ทำให้เกิดความกระสันอยากได้นางเทพอัปสรเหล่านั้นมาเป็นคู่ครอง พระบรมศาสดาทรงทราบวาระจิตของท่าน จึงตรัสถามว่า

“นันทะ เธอมีความเห็นอย่างไร ระหว่างนางเทพอัปสร เหล่านี้ กับนางชนปทกัลยาณี เจ้าสาวของเธอ.?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า นางชนปทกัลยาณีนั้นเปรียบเสมือนนางลิงแก่ที่นั่งอยู่บนตอไม้ จะนำมาเปรียบเทียบกับนางเทพอัปสรเหล่านี้มิได้เลย พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดา ทรงรับรองว่า ถ้าเธอตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว เธอก็จะได้นางเทพอัปสรเหล่านั้นตามต้องการ ตั้งแต่นั้นมาพระนันทะได้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังจะได้นางเทพอัปสรตามที่พระบรมศาสดา ทรงรับรองไว้ เพื่อนภิกษุทั้งหลายทราบความแล้ว ต่างก็พากันพูดจาเยาะเย้ยว่า “พระนันทะ บวชเพราะรับจ้างบ้าง พระนันทะ ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังจะได้นางเทพอัปสรบ้าง” จนทำให้พระนันทะเกิดความละอายใจไม่กล้าเข้าสมาคมกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกันและเกิดความคิดขึ้นว่า

“ความรักไม่มีที่สิ้นสุด ความรักทำให้เกิดความทุกข์ และความเศร้าโศกเสียใจไม่มีที่สิ้นสุด”
“อนึ่ง สตรีที่มีความงามก็ไม่มีที่สิ้นสุด คนใหม่ย่อมดูงามกว่าคนเก่า คนนั้นก็ดูสวยดีแต่คนนี้ก็งามกว่า จึงเป็นสิ่งที่หาที่สุดมิได้”

ท่านจึงตัดสินใจปลีกตัวออกจากหมู่ภิกษุตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อุตสาหะเจริญสมาธิกรรมฐาน ตั้งจิตไว้โดยไม่ประมาท ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรอัตผล เป็นพระขีณาสพในพระพุทธศาสนา จากนั้นท่านได้กลับมากราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจอันใดที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาจะช่วยสงเคราะห์ให้ได้นางฟ้านั้น กิจอันนั้นข้าพระองค์เปลื้องปลดจนหมดสิ้นสมประสงค์แล้ว พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดา ตรัสอนุโมทนาและตรัสธรรมกถาว่า
“อันเปือกตมคือกามคุณ และเสี้ยนหนามคือกองกิเลส อันบุคคลใดกำจัดทำลายได้แล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามีใจไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ทั้งปวง”

อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนภิกษุถามท่านว่า “เมื่อก่อนนี้ท่านพูดว่ามีจิตปรารถนาจะสึก มาบัดนี้ท่านยังปรารถนาอย่างนั้นอยู่หรือไม่.?"
ท่านตอบว่า “ไม่มีความปรารถนาอย่านั้นอยู่อีกแล้ว”
ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนแล้ว ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระนันทะพูดไม่เป็นความจริง พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดา ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า
“ภิกษุทั้งหลายเมื่อก่อนนี้ อัตภาพของพระนันทะเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาไม่ดี ฝนตกลงมาย่อมรั่วรดได้ แต่บัดนี้ เธอได้สำเร็จกิจแห่งบรรพชิตแล้ว จึงเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาดีแล้ว ฝนตกลงมาย่อมไม่อาจรั่วรดได้ฉันใด จิตที่บุคคลเจริญสมาธิภาวนาดีแล้ว กิเลสราคาทั้งหลายย่อมย่ำยีไม่ได้ ฉันนั้น”


ได้รับยกย่องในทางสำรวมอินทรีย์

พระนันทเถระ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้สำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มิให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ มิให้ตกอยู่ในอำนาจโลกธรรม ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้สำรวมอินทรีย์

ท่านพระนันทเถระ ดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระพุทธศาสนาอยู่ พอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน



ขอบคุณที่มา : https://84000.org/one/1/07.html


 :96: :96: :96:

พระนันทาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้แพ่งด้วยฌาน

พระนันทาเถรี เป็นธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นกนิษฐภคินีของเจ้าชายนันทะ พระนามเดิมว่า “นันทา” แต่เพราะนางมีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก น่าทัศนา น่ารัก น่าเลื่อมใส พระประยูรญาติจึงพากันเรียกว่า “รูปนันทา” บ้าง “อภิรูปนันทา” บ้าง “ชนปทกัลยาณี” บ้าง

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้นับเนื่องเป็นพระเชษฐาของนาง เสด็จออกบรรพชา ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแล้ว เสด็จมาโปรดพระประยุรญาติ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ เทศนาสั่งสอนให้ได้บรรลุมรรคผลตามวาสนาบารมี ทรงนำพาศากยกุมารทั้งหลายมีพระนันทะ พระราหุล และพระภัททิยะ เป็นต้น ออกบรรพชา

ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะมหาราชพุทธบิดา เสด็จเข้าสู่พระนิพพานแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตรมีพระมารดา และพระนางยโสธราพิมพาพระมารดาของพระราหุล ต่างก็พาสากิยกุมารีออกบวชในพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น นางจึงมีพระดำรัสว่า

“เหลือแต่เราเพียงผู้เดียว ประหนึ่งไร้ญาติขาดมิตร จะมีประโยชน์อะไรกับการดำรงชีวิตในฆราวาสวิสัย สมควรที่เราจะไปบวชตามพระประยูรญาติผู้ใหญ่ของเราจะประเสริฐกว่า”

เพราะรักญาติจึงออกบวช

เมื่อพระนางมีพระดำริดังนี้แล้ว จึงจัดเตรียมผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จไปสู่สำนักพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี กราบแทบเท้ากล่าวขอบรรพชาอุปสมบทพระเถรี ก็โปรดให้บรรพชาตามปรารถนา แต่การบวชของพระนางนันทานั้นมิใช่บวชด้วยความศรัทธา แต่อาศัยความรักในหมู่ญาติจึงออกบวช

ครั้นบวชแล้ว พระรูปนันทาเถรีได้กราบว่า พระพุทธองค์ทรงตำหนิติเตียนเรื่องรูปกาย จึงไม่กล้าไปเฝ้าพระศาสดา เพื่อรับพระโอวาท เมื่อถึงวาระที่ตนจะต้องไปรับโอวาทก็สั่งให้ภิกษุณีรูปอื่นไปรับแทน พระบรมศาสดาทรงทราบว่าพระนางหลงมัวเมาในพระสิริโฉมของตนเอง จึงตรัสรับสั่งว่า
“ต่อแต่นี้ ภิกษุณีทั้งหลาย ต้องมารับโอวาทด้วยตนเอง จะส่งภิกษุณีรูปอื่นมารับแทนไม่ได้”

ตั้งแต่นั้น พระรูปนันทาเถรี ไม่มีทางอื่นที่จะหลีกเลี่ยงไปได้ จึงจำเป็นและจำใจไปรับประโอวาท ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรารถนา ไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย แต่มิกล้าแม้กระทั่งจะนั่งอยู่แถวหน้า จึงนั่งหลบอยู่ด้านหลัง

พระพุทธองค์ ทรงเนรมิตรูปหญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งให้มีรูปสิริโฉมสวยงามสุดที่จะหาหญิงใดในปฐพีมาเปรียบได้ ให้หญิงนั้นดูประหนึ่งว่าถือพัดวีชนีถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังของพระพุทธองค์ และให้สามารถมองเห็นเฉพาะพระพุทธองค์กับพระรูปนันทาเถรีเท่านั้น

พระรูปนันทาเถรี ได้เห็นหญิงรูปเนรมิตนั้นแล้วก็คิดว่า เราหลงผิดคิดมัวเมาอยู่ในรูปโฉมของตนเองโดยใช่เหตุ จึงมิกล้ามาเฝ้าพระพุทธองค์ หญิงคนนี้มีความสนิมสนมอยู่ในสำนักพระบรมศาสดา รูปโฉมของเรานั้นเทียบไม่ได้ส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ ของหญิงนี้เลย ดูนางช่างงามยิ่งนัก ผมก็สวย หน้าผากก็สวย หน้าตาก็สวย ทุกสิ่งทุกอย่างช่างสวยงามพร้อมทั้งหมด


พอเบื่อหน่อยก็ได้สำเร็จ

เมื่อพระรูปนันทาเถรี กำลังเพลิดเพลินชื่นชมโฉมของรูปหญิงเนรมิตอยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานให้รูปหญิงนั้นปรากฏอยู่ในวัยต่าง ๆ ตั้งแต่เป็นหญิงวัยรุ่น เป็นหญิงสาววัยมีลูกหนึ่งคน มีลูก ๒ คน จนถึงวัยกลางคน วัยชราและวัยแก่หง่อม ผมหงอก ฟันหัก หลังค่อม และล้มตายลงในขณะนั้น ร่างกายมีหมู่หนอนมาชอนไชเจาะกินเหลือแต่โครงกระดูก พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระรูปนันทาเถรี เกิดความสังเวชสลดจิตเบื่อหน่ายในรูปกายที่ตนยึดถือแล้วจึงตรัสว่า

“ดูก่อนนันทา เธอจงดูอัตภาพร่างกายอันเป็นเมืองแห่งกระดูกนี้ (อฏฺฐีนํนครํ) อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด อันบูดเน่านี้เถิด เธอจงอบรมจิตให้แน่วแน่มั่นคง มีอารมณ์เดียวในอสุภกรรมฐาน จงถอนมานะละทิฏฐิให้ได้แล้วจิตใจของเธอก็จะสงบ จงดูว่ารูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอก็เป็นฉันนั้น รูปของเธอเป็นฉันใดรูปนี้ก็เป็นฉันนั้น รูปอันมีกลิ่นเหม็นบูดเน่านี้ ย่อมเป็นที่เพลิดเพลินอย่างยิ่งของผู้โง่เขลาทั้งหลาย”

พระรูปนันทาเถรี ส่งกระแสจิตไปตามพระพุทธดำรัส เมื่อจบลงก็สิ้นกิเลสาสวะ บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าเมื่อพระนางสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วเป็นผู้มีความชำนาญพิเศษในการเพ่งด้วยฌานด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องเธอไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้แพ่งด้วยฌาน หรือ ผู้ทรงฌาน

ฌาน การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ มี ๔ คือ

   ๑. ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
   ๒. ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ ปีติ สุข เอกัคคตา
   ๓. ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
   ๔. จตุถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคต



ขอบคุณที่มา : https://84000.org/one/2/05.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



พระศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ 
             
ความพิสดารว่า พระศาสดาทรงมีพระธรรมจักรบวรให้เป็นไปแล้ว เสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน. บรรดาทูต ๑๐ คน มีบริวารคนละพัน อันพระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงส่งไปด้วยรับสั่งว่า “ท่านทั้งหลายจงนำบุตรมาแสดงแก่เราเถิด”

พระกาฬุทายีเถระไปทีหลังกว่าทูตทั้งหมด บรรลุพระอรหัตแล้ว ทราบกาลเป็นที่เสด็จมาแล้ว พรรณนาหนทางด้วยคาถาประมาณ ๖๐ คาถา นำเสด็จ (พระศาสดา) ผู้มีพระขีณาสพสองหมื่นแวดล้อมแล้ว ไปสู่กบิลพัสดุ์บุรี, ทรงทำฝนโบกขรพรรษให้เป็นเหตุเกิดแห่งเรื่องแล้วตรัสมหาเวสสันดรชาดกในสมาคมพระญาติ,

วันรุ่งขึ้น เสด็จเข้าไปบิณฑบาต โปรดพระบิดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ด้วยพระคาถาว่า “ อุตฺติฏฺเฐ นปฺปมชฺเชยฺย ” เป็นต้น, โปรดพระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล และโปรดพระราชา (พระบิดา) ให้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล ด้วยพระคาถาว่า “ ธมฺมญฺจเร สุจริต ” เป็นต้น.

ก็ในกาลเสร็จภัตกิจ ทรงอาศัยการพรรณนาพระคุณของราหุลมารดา ตรัสจันทกินนรีชาดก

ในวันที่ ๓ แต่วันนั้น ครั้นเมื่อวิวาหมงคลเป็นที่เชิญเสด็จเข้าเรือนเพื่ออภิเษกของนันทกุมาร เป็นไปอยู่, เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสมงคล (อวยพร) เสด็จลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป หาได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารไม่.

นันทะพุทธอนุชาออกบวช   
           
ฝ่ายนันทกุมารนั้น ด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงมิอาจทูล(เตือน)ว่า “ขอพระองค์รับบาตรไปเถิด พระเจ้าข้า” แต่คิดอย่างนี้ว่า “พระศาสดาคงจักทรงรับบาตรที่หัวบันได” แม้ในที่นั้นพระศาสดาก็มิได้ทรงรับ. นันทกุมารนอกนี้ก็คิดว่า “คงจักทรงรับที่ริมเชิงบันได” แม้ในที่นั้น พระศาสดาก็ไม่ทรงรับ นันทกุมารก็คิดว่า “จักทรงรับที่พระลานหลวง” แม้ในที่นั้น พระศาสดาก็ไม่ทรงรับ.

พระกุมารปรารถนาจะเสด็จกลับ (แต่)จำเสด็จไปด้วยความไม่เต็มพระทัย ด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงไม่สามารถทูลว่า “ขอพระองค์ทรงรับบาตรเถิด” ทรงเดินนึกไปว่า “พระองค์จักทรงรับในที่นี้. พระองค์จักทรงรับในที่นี้”

ในขณะนั้น หญิงพวกอื่นเห็นอาการนั้นแล้ว จึงบอกแก่นางชนบทกัลยาณีว่า “พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพานันทกุมารเสด็จไปแล้ว, คงจักพรากนันทกุมารจากพระแม่เจ้า.”

ฝ่ายนางชนบทกัลยาณีนั้นได้ยินคำนั้นแล้ว มีหยาดน้ำยังไหลอยู่เทียว มีผมอันเกล้าได้กึ่งหนึ่ง รีบไปทูลว่า
“ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์พึงด่วนเสด็จกลับ.”
คำของนางนั้น ประหนึ่งตกไปขวางตั้งอยู่ในหทัยของนันทกุมาร.

แม้พระศาสดาก็ยังไม่ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารนั้นเลย ทรงนำนันทกุมารนั้นไปสู่วิหารแล้วตรัสว่า
“นันทะ เธออยากบวชไหม.?”

นันทกุมารนั้น ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงไม่ทูลว่า “จักไม่บวช”
ทูลรับว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จักบวชพระเจ้าข้า.”
พระศาสดารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากระนั้น เธอทั้งหลายจงให้นันทะบวชเถิด.”



ที่มา : เรื่องพระนันทเถระ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=9




พระนันทะรับบาตรส่งเสด็จ นางคู่วิวาห์ร้องสั่งให้รีบกลับ พอถึงวัดกลับชวนให้ผนวช

ในวันที่ ๕ นับแต่วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก มีพิธีวิวาหมงคลระหว่างเจ้าชายศากยะที่ชื่อว่า 'นันทะ' กับเจ้าหญิงที่มีชื่อว่า 'ชนบทกัลยาณี'

นันทะเป็นพระอนุชาหรือน้องชายของพระพุทธเจ้า แต่เป็นพระอนุชาต่างมารดา กล่าวคือ ภายหลังพระมารดาของพระพุทธเจ้า คือ พระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติได้ไม่กี่วันแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงได้พระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นน้องสาวของพระนางสิริมหามายาเป็นชายา

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชแล้ว รัชทายาทของพระเจ้าสุทโธทนะจึงตกอยู่แก่นันทะ พระเจ้าสุทโธทนะทรงหมายพระทัยว่า  เมื่อนันทะอภิเษกสมรสแล้ว จะได้ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์

ในงานวิวาหมงคลนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จมาตามคำทูลอาราธนาของพระพุทธบิดา เมื่อทรงฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าได้เสด็จกลับ ได้ทรงมอบบาตรของพระองค์ให้เจ้าชายนันทะทรงถือตามส่งเสด็จ นันทะทรงดำริว่า เมื่อถึงประตูพระราชนิเวศน์ พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระเชษฐาคงจะทรงหันมารับบาตรคืนไปจากตน แต่ครั้นไปถึงที่นั่น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงทำอย่างนั้นเลย

ครั้นนันทะจะมอบบาตรถวายพระพุทธเจ้าก็ไม่กล้า ด้วยเกรงพระทัยผู้ทรงเป็นพระเชษฐา จนไปถึงพระอารามที่ประทับ พระพุทธเจ้าจึงหันมาตรัสกับพระอนุชาว่า "บวชไหม" นันทะจะปฏิเสธก็เกรงใจพี่ชาย นี่ว่าตามภาษาสามัญ  จึงทูลตอบพระพุทธเจ้าว่า "บวชพระเจ้าข้า"

นันทะไม่ได้ยอมบวชด้วยน้ำใสใจจริง เพราะกำลังจะแต่งงาน ทั้งตอนที่จะออกจากพระราชนิเวศน์นำบาตรมาส่งพระพุทธเจ้า นางชนบทกัลยาณีผู้เป็นเจ้าหญิงคู่อภิเษกสมรส ยังร้องเรียกสั่งตามมาว่า "เจ้าพี่ไปแล้วให้รีบเสด็จกลับ" แต่ที่ตอบเช่นนั้น ก็เพราะความเกรงใจพระพุทธเจ้าดังกล่าวแล้ว



ขอบคุณที่มา : https://84000.org/tipitaka/picture/f51.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28362
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ภาพวาดพุทธประวัติ : พระเจ้าสุทโธทนะทรงอุ้มเจ้าชายสิทธัตถะ(พระราชโอรส) ให้กาฬเทวินดาบสทำนายมหาบุรุษลักษณะของพระราชกุมาร


พระเจ้าสุทโธทนะ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าสุทโธทนะ (บาลี: สุทฺโธทน; สันสกฤต: ศุทฺโธทน (शुद्धोदन); อักษรโรมัน: Suddhodana) มักเรียกว่า พระเจ้าสิริสุทโธทน์สุทรรศน์มีพระนามราชสกุลว่าโคตมะ เป็นพระมหากษัตริย์แคว้นสักกะ (ซึ่งมีนครหลวงคือกรุงกบิลพัสดุ์) เป็นพุทธบิดาของพระโคตมพุทธเจ้า

พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีหหนุกับพระนางกัญจนา มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระชนกชนนีอีก 6 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าสุกโกทนะ พระเจ้าอมิโตทนะ โธโตทนะ ฆนิโตทนะ ปมิตา และอมิตา พระเจ้าสุทโธทนะมีพระอัครมเหสีนามว่าพระนางสิริมหามายา เจ้าหญิงโกลิยวงศ์จากกรุงเทวทหะ และมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือ เจ้าชายสิทธัตถะ

ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระโคตมพุทธเจ้า และหลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายาก็สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะจึงอภิเษกสมรสใหม่กับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระกนิษฐาร่วมชนนีกับพระนางสิริมหามายา และมีพระโอรสคือ เจ้าชายนันทะ และพระธิดาคือ เจ้าหญิงรูปนันทา

พระเจ้าสุทโธทนะเป็นกษัตริย์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม และยึดมั่นในราชประเพณีอย่างเคร่งครัด ในการปกครองบ้านเมือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงมุ่งหวังที่จะให้พระโอรสโดยเฉพาะสิทธัตถะได้รับเลือกจากสภาศากยะให้เป็นราชาสืบต่อจากตน แต่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช และพอทราบว่า เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระโคตมพุทธเจ้าแล้ว จึงเชิญพระโคตมพุทธเจ้ากลับมาที่กรุงกบิลพัสดุ์

เมื่อพระโคตมพุทธเจ้าเสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์คราวนี้ พระเจ้าสุทโธทนะได้สดับรับฟังพระธรรมเทศนา ทรงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา บรรลุพระโสดาบันเป็นอุบาสก

ในพรรษาที่ 5 ของพระโคตมพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนัก พระโคตมพุทธเจ้าจึงเสด็จจากกูฎาคาร ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี มายังเมืองกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ 7 วัน ในวันสุดท้าย พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุพระอรหัตผลและนิพพาน



กษัตริย์แห่งแคว้นสักกะ

ก่อนหน้า : พระเจ้าสีหหนุ
ถัดไป   : พระเจ้ามหานามะ

คู่อภิเษก : พระนางสิริมหามายา และพระนางมหาปชาบดีโคตมี
พระราชบุตร : พระโคตมพุทธเจ้า พระนันทะ และพระรูปนันทาเถรี

ราชวงศ์ : ศากยะ
พระราชบิดา : พระเจ้าสีหหนุ
พระราชมารดา   : พระนางกัญจนา

ประสูติ : กบิลพัสดุ์ สักกชนบท (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอินเดียหรือประเทศเนปาล)
สวรรคต : กบิลพัสดุ์ สักกชนบท




ขอบคุุณที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าสุทโธทนะ



:96: :96: :96:

ผมยกเอาประวัติของพระเจ้าสุทโธทนะมาให้อ่าน เพื่อชี้ให้เห็นพระนันทะเถระและพระนันทาเถรี เป็นพี่น้องที่มีพ่อแม่เดียวกัน คือ พระเจ้าสุทโธทนะและพระนางมหาปชาบดีโคตมี

สงสัยไหมครับว่า ทำไมพี่น้องท้องเดียวกันแต่งงานกันได้.?
ตอบว่า อาจเป็นเพราะหาคู่ที่เหมาะสมไม่ได้ ด้วยขัตติยมานะ ต้องการให้สายเลือดของศากยะวงศ์บริสุทธิ์ ระบบวรรณะในสมัยพุทธกาลเป็นอะไรที่เข้มข้นเคร่งคัดมาก ขอยกเอาเรื่องวิฑูฑภะ (เขียนโดยเสฐียรพงษ์ วรรณปก) มาแสดงดังนี้...

@@@@@@@

พวกศากยะพระญาติของพระพุทธเจ้านั้น มีข้อด้อยอยู่ประการหนึ่ง คือ ความหยิ่งในสายเลือดของตน มักดูถูกคนอื่นว่าชาติตระกูลต่ำ ขนาดพระเจ้าปเสนทิโกศลเจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือพวกศากยะยังถูกพวกศากยะดูหมิ่นลึกๆ เลยครับ (แต่ไม่ได้แสดงให้ปรากฏเด่นชัด เพราะกลัวปเสนทิโกศลเล่นงานเหมือนกัน)

เมื่อครั้งปเสนทิโกศลต้องการจะเป็นญาติทางสายเลือดกับพระพุทธองค์ ทรงส่งทูตไปขอนางกษัตริย์จากศากยวงศ์มาอภิเษกสมรส พวกศากยะแอบส่งลูกนางทาสีที่เกิดจากเจ้ามหานามไปให้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสถาปนาให้เป็นอัครมเหสี มีโอรสองค์หนึ่งชื่อวิฑูฑภะ

ต่อมาความลับแตก พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิโรธมากกำลังจะยกทัพมาบดขยี้พวกศากยะอยู่พอดี พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามไว้ ทรงอธิบายว่า เชื้อสายทางมารดาไม่สำคัญ ถึงมารดาจะเป็นนางทาสี โอรสก็เป็นของพระองค์ย่อมเป็นโอรสของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อยู่ดี

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อพระพุทธองค์ ทั้งแม่ทั้งลูกจึงรอดไป แต่ผู้เป็นลูกคือเจ้าชายวิฑูฑภะ ต่อมาไปเยี่ยมพระเจ้าตาที่เมืองกบิลพัสดุ์ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามขนาดว่า นั่งที่ไหน เขาจะเอาน้ำนมมาล้างที่นั่งตรงนั้น เพื่อขับไล่เสนียด

วิฑูฑภะทราบภายหลังจึงผูกอาฆาตว่า เป็นใหญ่มาเมื่อใดจะเอาเลือดในลำคอพวกศากยะล้างตีนตนให้ได้ รอให้เสด็จพ่อยกราชบัลลังก์ให้ไม่ทันใจ จึงปฏิวัติพ่อตั้งตนเป็นกษัตริย์ วันดีคืนดีก็ยกทัพไปหมายจะล้างแค้นให้สาแก่ใจ พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามไว้

เสด็จไปประทับใต้ต้นไม้เงาโปร่งในแดนของพวกศากยะ วิฑูฑภะเข้าไปทูลถามว่า ทำไมไม่ประทับใต้ต้นที่เงาหนาทึบ (ซึ่งอยู่แดนแคว้นโกศล)
พระองค์ตรัสเป็นปริศนาว่า “มหาบพิตร ร่มเงาของญาติ ย่อมเย็นกว่า”
วิฑูฑภะรู้ทันทีว่า พระองค์เสด็จมาปกป้องพระญาติ จึงถอยทัพกลับด้วยเกรงพระบารมีพระพุทธองค์

มากี่ครั้งๆ ก็พบพระพุทธองค์ ณ จุดนั้น ครั้งสุดท้าย พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นกรรมเก่าของพวกศากยะตามทันสุดจะห้ามไว้ได้ จึงไม่ได้เสด็จไปประทับ ณ จุดนั้นอีก วิฑูฑภะจึงได้โอกาสทำลายล้างพวกศากยะเกือบหมดสิ้น ที่เหลือก็หนีกระเจิดกระเจิงไปอยู่ที่อื่น เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดก่อนพุทธปรินิพพานไม่กี่ปี

พระพุทธองค์ตรัสกับเหล่าสาวกในภายหลังว่า “พวกศากยะหยิ่งเพราะชาติและโคตร ดูหมิ่นแม้กระทั่งญาติตนเอง จึงประสบความพินาศปานฉะนี้”

จบเรื่องวิฑูฑภะ (เขียนโดยเสฐียรพงษ์ วรรณปก)

@@@@@@@

จากเรื่องวิฑูฑภะ คงเข้าใจนะครับว่า ศากยะวงศ์มีความหยิ่งในสายเลือดของตนขนาดไหน
ถามว่า พี่น้องท้องเดียวกันแต่งงานกัน มีบุตรจะเป็นอย่างไร.?
ตอบว่า ส่วนมากลูกที่ออกมา จะมีความบกพร่องทางสมอง(พิการทางปัญญา) มีตัวอย่างราชนิกูลของประเทศหนึ่ง สมัยปัจจุบันนี้แหละครับ พี่ชายรักน้องสาวมากเลยแต่งงานกัน มีลูกกี่คนก็ปัญญาอ่อนทุกคน แต่ฝ่ายชายก็รักน้องสาวและลูกๆมาก เลี้ยงดูอย่างดี

ลักษณะที่พี่น้องแต่งงานกันเอง โบราณเรียกว่า "งูกินหาง" หากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ สายพันธุ์ของตระกูลก็จะอ่อนแอ โชคดีที่คู่ของพระนันทะ แต่งงานกันยังไม่เสร็จ ยังไม่ได้เข้าหอ ด้วยอำนาจแห่งบุญบารมีที่ทำไว้ในชาติก่อน ทำให้ทั้งสองสำเร็จอรหันต์ในที่สุด

คุยเป็นเพื่อนเท่านี้ครับ ขอบพระคุณที่ติดตาม

 :25:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 11, 2020, 04:04:17 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ