ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระมหาเจดีย์ศรีชัยมงคล...ศักดิ์สิทธิ์ “ชุธาตุ” เสริมราศีเกิดชาวล้านนา  (อ่าน 513 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



พระมหาเจดีย์ศรีชัยมงคล...ศักดิ์สิทธิ์ “ชุธาตุ” เสริมราศีเกิดชาวล้านนา

ความเชื่อ...ความศรัทธา “คนล้านนา” ทางภาคเหนือในเรื่องการสักการบูชา “พระบรมเจดีย์ธาตุ” ประจำปีเกิดนั้นมีมากล้น เสมอเหมือนกับว่า...เป็นหนึ่งในการสร้างบุญกุศลอันใหญ่ยิ่ง

อาจจะกล่าวได้ว่า ผู้แสวงบุญต่างก็แสวงหาหนทางเพื่อที่จะได้มีโอกาสสักครั้งหนึ่งในชีวิตเข้าไปกราบสักการบูชาองค์พระบรมธาตุนั้นๆ ให้ก่อเกิดความเป็นสิริมงคลกับตัวและครอบครัว

อีกทั้งการได้สักการบูชา “พระบรมเจดีย์ธาตุ” ประจำปีเกิดยังเชื่อมโยงไปถึงความเชื่อเกี่ยวกับการสะเดาะเคราะห์อีกด้วยเช่นกัน ตามตำราพื้นเมืองระบุว่า

ผู้ที่เกิดปี ชวด พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่...
ผู้ที่เกิดปี ฉลู พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง...
ผู้ที่เกิดปี ขาล พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่...
ผู้ที่เกิดปี เถาะ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน...
ผู้ที่เกิดปี มะโรง พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุพระสิงห์ จังหวัดน่าน...
ผู้ที่เกิดปี มะเส็ง พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระมหาเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย...
ผู้ที่เกิดปี มะเมีย พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า...
ผู้ที่เกิดปี มะแม พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่...
ผู้ที่เกิดปี วอก พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม...
ผู้ที่เกิดปี ระกา พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน...
ผู้ที่เกิดปี จอ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (วัดเกตุเชียงใหม่)...
ผู้ที่เกิดปี กุน พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย

ความเลื่อมใสศรัทธาที่ผูกโยงต่อเนื่องมานับแต่อดีตเหล่านี้สะท้อนให้เห็นร่องรอยแห่งอารยธรรมที่ดีงามที่ไม่อาจลบล้างลืมเลือนด้วยกาลเวลาที่ผ่านมา เป็นกระแส “พลังศรัทธา” ที่พุทธศาสนิกชนมีมั่นคงสืบไป



“ชุธาตุ” หมายถึง เจดีย์หรือสถูปที่มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เพราะว่าคำว่า “ชุ” ตรงกับภาษาล้านนา ออกเสียงว่า “จุ” หมายถึง “บรรจุ” หรือทุกๆ เช่น จุวันจุยาม คือทุกๆ วัน ทุกๆ ยาม หรือจุใส่หมายความว่า เอาพระสถูปเจดีย์องค์นี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ชาวล้านนาเรียกสั้นๆ ว่า...ชุธาตุ

ข้างต้นนี้บันทึกไว้ใน “คติความเชื่อชุธาตุของชาวล้านนา” สารนิพนธ์ ผศ.ดร.วันชัย พลเมืองดี อาจารย์ประจำวิทยาเขตพะเยา กล่าวไว้อีกว่า...การที่พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าแหนพระพุทธเจ้าหลังพุทธปรินิพพาน สิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนได้มีคติความเชื่อในการระลึกถึงพระพุทธเจ้าคือ

สถูป เจดีย์ กู่ ธาตุ เป็นประติมากรรมเชิงสัญลักษณ์คือ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า

ผสมกับแนวคติความเชื่อของชาวพุทธล้านนาที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถูป เจดีย์ กู่ธาตุเข้ากับราศีเกิด ล้านนาเรียกว่า “นามเปิ้ง” หมายถึง นามสัตว์ประจำปีเกิด



“ทุกคนเกิดมามีนามปีเป็นของตนเองและคนเกิดในนามปีใดก็จะต้องไปนมัสการ สถูป เจดีย์ กู่ หรือธาตุประจำปีเกิดของตนเอง ก็จะเกิดความสุขสวัสดี เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต”

โดยคติความเชื่อดังกล่าว พบว่าเป็นกุศโลบายอันแยบยลของโบราณปราชญ์อาจารย์ที่ให้ชาวพุทธล้านนาได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พร้อมกับการทำนุบำรุงพระศาสนาสืบนานต่อไป

ความเป็นมาความเชื่อเรื่อง “พระธาตุ” ปรากฏครั้งแรกในพระไตรปิฎกมหาปรินิพพานสูตร ครั้นถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว มัลละกษัตริย์จัดการอารักขาพระสรีรธาตุเป็นอย่างดี

ทำการสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยการฟ้อนรำขับร้องเป็นเวลา 7 วัน ข่าวเรื่องพระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานแพร่ไปถึงกษัตริย์และพราหมณ์ในนครและแคว้นต่างๆ ทั้ง 7 นคร ...พระเจ้าอชาตศัตรู แคว้นมคธ, กษัตริย์ลิจฉวี นครเวสาลี, กษัตริย์ศากยะ นครกบิลพัสดุ์, กษัตริย์ถูลิ แคว้นอัลลกัปปะ, กษัตริย์โกลิยะ แคว้นรามคาม, พราหมณ์ เวฎฐทีปกะ แคว้นเวฎฐทีปกะ, กษัตริย์มัลละ นครปาวา



ต่อมา...พุทธศาสนิกชนก็ได้ขยายแนวคิดในการที่จะสักการะจึงเกิดสิ่งระลึกถึงพระพุทธเจ้าในคัมภีร์กล่าวถึง...“สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่เป็นเครื่องระลึกถึง “พระพุทธเจ้า” ที่ “ปรินิพพาน” ไปแล้ว 4 อย่าง นั่นก็คือ...

“ธาตุเจดีย์”...เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“บริโภคเจดีย์”...สังเวชนียสถาน 4 แห่งที่พระพุทธองค์ตรัสให้มหาชนไปปลงธรรมสังเวชเมื่อระลึกถึงพระองค์คือ ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ประทานปฐมเทศนาและที่ปรินิพพาน

“ธรรมเจดีย์”...จารึกข้อพระธรรมไว้บูชาในชั้นเดิมมักเลือกเอาข้อพระธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เช่น คาถาแสดงพระอริยสัจ 4 มาจารึกไว้บูชา

“อุเทสิกเจดีย์”...พระพุทธเจดีย์อย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสามอย่างข้างต้น เช่น พระพุทธรูปธรรมจักร รอยพระพุทธบาท พระแท่นวัชรอาสน์ หรือสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า


สำหรับความเชื่อ...ศรัทธาในเรื่อง “ชุธาตุ” กับ “ปีเกิด” นั้น ต้องย้ำว่า...การได้ไปนมัสการพระธาตุ หรือเจดีย์ประจำปีเกิดของเราแล้วอย่างน้อยๆ สักครั้งหนึ่งในชีวิต ตามความเชื่อของชาวล้านนาที่ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมา....“ถ้าได้ไปกราบไหว้ตั้งจิตอธิษฐานขอสิ่งใดแล้ว ย่อมเกิดผลสำเร็จเป็นมงคลของชีวิต”

“พระมหาเจดีย์ศรีชัยมงคล” วัดเจดีย์ชัยมงคล หมู่ 6 ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นอีกแห่งที่พุทธศาสนิกชนผู้เปี่ยมล้นมากด้วยศรัทธาดั้นด้นเดินทางไปเพื่อกราบสักการะ

“พระมหาเจดีย์ศรีชัยมงคล” บันทึกการสร้างระบุว่าออกแบบโดยกรมศิลปากร เป็นศิลปะผสมผสานของศิลปะแบบอีสานและไทยภาคกลาง

วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2539 ได้ทำพิธียกยอดฉัตรที่สร้างด้วยทองคำ น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ต่อมา...ได้ทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ที่ หลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้รับมาเป็นกรณีพิเศษและองค์ที่ได้เดินทางไปรับมาจากสมเด็จพระสังฆราชของประเทศศรีลังกา รวมทั้งองค์ที่สมเด็จพระสังฆราชของประเทศศรีลังกาได้อัญเชิญเสด็จมาส่งให้ด้วยพระองค์เอง อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ชัยมงคล บนชั้นที่ 6



เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทุกคนได้เคารพกราบไหว้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตนตลอดไป

“ความเชื่อ” และ “ศรัทธา”...ย่อมนำพามาด้วยความสุข ความสำเร็จไม่ช้าก็เร็ว

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

                                       รัก–ยม





ขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1938038
คอลัมน์ รัก-ยม ,27 ก.ย. 2563, 05:06 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ