ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ๑ ทศวรรษ ประชาชนได้อะไรจากกระทรวงวัฒนธรรม  (อ่าน 1575 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
๑ ทศวรรษ ประชาชนได้อะไรจากกระทรวงวัฒนธรรม


   “วัฒนธรรม” เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นชาติ และอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เปรียบเสมือน “รากแก้ว” ที่หยั่งรากลึกและหล่อหลอมความเป็นไทยให้คงอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ที่นำพาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยอย่างมากมาย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญของคนไทย ทุกคนที่จะต้องช่วยกันธำรงรักษา “วัฒนธรรมของไทย” ให้สืบทอดต่อไปและนั่นก็คือ ภารกิจหลักของกระทรวงวัฒนธรรม
 
           ด้วยเหตุผลดังกล่าว “กระทรวงวัฒนธรรม” จึงตั้งขึ้นมาตามนโยบายการปฏิรูประบบราชการตั้งแต่เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ โดยปัจจุบัน มีหน่วยงานในสังกัดประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ซึ่งมีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตั้งอยู่ในภูมิภาคทุกจังหวัด)  กรมการศาสนา กรมศิลปากร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นอกจากนี้ยังมีองค์การมหาชน ๓ หน่วยงาน คือ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร หอภาพยนตร์ และศูนย์คุณธรรม
 
           เนื่องจากทุกวันนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้มีวัฒนธรรมต่างชาติแพร่หลายเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งในบางครั้งก็สวนทางกับขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทย ดังนั้น งานด้านเฝ้าระวังของกระทรวงวัฒนธรรม จึงมีความสำคัญและมีบทบาทมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้รองรับงานที่มากขึ้นนี้ จึงมีการยกฐานะกลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมให้เป็นสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มีศูนย์ฮอตไลน์ ๑๗๖๕ เปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อรองรับการแจ้งเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
 
 “งานด้านเฝ้าระวัง” จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและเครือข่ายทางสังคมในการชี้เบาะแสและ ให้ข้อมูล ซึ่งจากการสรุปผลข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่อาจส่งผลทางวัฒนธรรม ในช่วงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ พบว่า การร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาของสื่อที่เป็นช่องทางสร้างความเบี่ยงเบนทาง วัฒนธรรม มีจำนวน ๗๙.๒% เช่นในกรณีที่ประชาชนร้องเรียนผ่านหมายเลข ๑๑๑๑ ว่าเว็บไซต์แห่งหนึ่ง เผยแพร่ข้อความของภาพยนตร์เรื่องน้ำตาลแดงมีความไม่เหมาะสม และการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาด้านการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสมมีจำนวน ๒๐.๘๓% เช่น ในกรณีที่กลุ่มเชียงใหม่อารยะร้องเรียนเรื่องการให้สัมภาษณ์ของผู้หญิงไทย ที่ถ่ายภาพนู้ดในปฏิทินของบริษัทขายน้ำเมายี่ห้อหนึ่ง โดยระบุถึงการแก้ผ้าถ่ายนู้ด หลังจากที่ใช้ผ้าปิดบังของสงวนเพียงแค่ ๑๐ วินาทีเป็นต้น
 
 หรือ อย่างกรณีของความไม่เหมาะสมในการเล่นสงกรานต์ปี ๒๕๕๔ ซึ่งเกิดจากกรณีหญิงสาววัยรุ่นเต้นโชว์หน้าอกที่ถนนสีลม ก็เป็นเรื่องตัวอย่างหนึ่งของงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เพราะเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงและส่งผลให้เกิดการติติงจากสังคมอย่างมาก จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สั่งให้ “วัฒนธรรมจังหวัด” ไปตรวจตราและสอดส่องการเล่นสงกรานต์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และพบว่ามีจังหวัดที่มีการเล่นสงกรานต์ไม่เหมาะสมมากถึง ๘ จังหวัด

และ ยังมีกรณีที่เครือข่ายผู้ปกครองและประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน ๑๗๖๕ ของกระทรวงวัฒนธรรม ถึงความไม่เหมาะสมของตัวละครในเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ สุดท้ายผู้จัดละครต้องตัดฉากที่ไม่เหมาะสมออกไป
 
 กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
 พ.ศ. .... มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมและพัฒนาภาพยนตร์ โดยเฉพาะรายการเกี่ยวกับเด็ก โดยภาครัฐจะเข้าไปสนับสนุนเงินทุนผ่านทางกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้าง สรรค์ ซึ่งในเบื้องต้นเงินมาจากกองทุนของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จำนวน ๕๐๐ ล้านบาท และในระยะต่อไปเงินที่นำมาสมทบในกองทุนฯ อาจจะนำมาจากการเก็บภาษีร้านคาราโอเกะ ร้านเกม และสื่อต่างประเทศ ๑%
 
 แต่สิ่งที่น่ากังวลใจมากสิ่งหนึ่งก็คือการที่เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูก “มอมเมา” หรือรับวัฒนธรรมจากนานาประเทศได้ง่าย ดังนั้น ในหลายโครงการของกระทรวงวัฒนธรรมจึงมีการใช้อายุเด็กและเยาวชนตั้งแต่ ๑๘ - ๒๐ ปี มาเป็นเกณฑ์กำหนดในการดูแลและดำเนินงาน อย่างเช่นการจัดเรตติ้ง (Rating) ของภาพยนตร์ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ชมแต่ละวัย ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดเรตติ้งภาพยนตร์ โดยแบ่งระดับเป็น ๗ ประเภท ประกอบด้วย ประเภทที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้ดู ประเภทที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป ประเภทที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ ๑๓ ปี ๑๕ ปี ไปจนถึง ๑๘ ปีขึ้นไป ประเภทที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีดู และ ประเภทที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร เนื่องจากมีเนื้อหาหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายความมั่นคงของประเทศ ก่อให้แตกความสามัคคี

ซึ่งเมื่อมีการจัดเรตติ้งภาพยนตร์แล้ว ทางกระทรวงวัฒนธรรมยังเห็นว่าควรจะมีการจัด “เรตติ้งเกม” ในหลักเกณฑ์เดียวกัน เพื่อสะดวกในการดูแลและตรวจสอบ โดยมีการกำหนด “เรตติ้งเกม” ทั้งหมด ๗ ประเภท ประกอบด้วย เกมที่เหมาะสำหรับผู้เล่นทุกวัย เกมที่เหมาะสำหรับผู้เล่นในช่วงอายุ   ๓ - ๕ ปี และ ๖ - ๑๒ ปี เกมที่เหมาะสำหรับผู้เล่นอายุตั้งแต่ ๑๓ ปี ๑๕ ปี ไปจนถึง ๑๘ ปีขึ้นไป และเกมที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีเล่น

และจากปัจจุบันที่ปัญหาร้านเกมกลายเป็นแหล่ง “มั่วสุม” ของเด็กและเยาวชน ทางกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยจัด “โครงการร้านเกมสีขาว” ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานร้านเกมโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดในการร่วมมือกับภาคเอกชนจัดโปรแกรมติวเตอร์ออนไลน์ ซึ่งเป็นโครงการที่ให้นักเรียนที่มาเข้าใช้ร้านเกมสีขาวสามารถเข้ารับการติว ฟรีผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เกิดแรงจูงใจต่อผู้ประกอบการร้านเกมจำนวนมากยิ่งขึ้น
 
 นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังได้เล็งเห็นถึงการให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของ “คน”ในสังคม ซึ่งนำมาสู่การมอบ “รางวัล” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ “บุคคลสำคัญ” และสร้างขวัญและกำลังใจให้กับ “บุคคลที่ทำความดีให้แก่สังคม” ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ยึดถือและปฏิบัติมาช้านาน อาทิเช่น
 
 ·  กระทรวงวัฒนธรรมโดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  ได้ร่วมจัดพิธีการเฉลิมฉลองในโอกาส ๑๐๐ ปี ชาตกาล ตามที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านศาสตราจารย์ (พิเศษ)  พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ๔ สาขา คือ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล พ.ศ. ๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔
 
 ·  โครงการ คนดี คิดดี สังคมดี ที่เป็นการยกย่องและให้รางวัลแก่ผู้ทำความดี กล้าหาญ เสียสละ มีน้ำใจต่อสังคม และเพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นมีความกล้าที่จะทำความดี โครงการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้มอบโล่เชิดชูเกียรติแก่ตำรวจและแท็กซี่พลเมืองดีจำนวน ๓ ราย จากเหตุการณ์คนร้ายคลั่งก่อเหตุจี้รถและขับรถชนตำรวจ ใช้อาวุธทำร้ายตำรวจ แท็กซี่พลเมืองดี และจับแพทย์หญิงเป็นตัวประกัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย
 
 กระทรวงวัฒนธรรม ยังได้จัดให้มีรางวัลแก่ศิลปินในสาขาต่าง ๆ ที่ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทย ให้สืบทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง อย่างเช่น
 
 ·  รางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” ถือ เป็นรางวัลที่สร้างขวัญกำลังใจแก่ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะของชาติ และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีการพิจารณาใน ๓ สาขา คือ สาขาทัศนศิลป์ สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง ทั้งนี้ รางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” เกิดขึ้นในสมัยที่นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และด้วยความที่นายชวนเป็นผู้ก่อตั้งโครงการศิลปินแห่งชาติ จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “ฐาปนันดรศิลปิน” ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี ๒๕๒๘

·  รางวัล “ศิลปาธร” มี วัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริม สนับสนุน และเชิดชูเกียรติศิลปิน ร่วมสมัย รุ่นกลางที่มีอายุระหว่าง ๓๐ - ๕๐ปี ใน ๙ สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์ และการออกแบบ โดยรางวัล “ศิลปาธร” ในความรับผิดชอบของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี ๒๕๔๗

          การผลิตบุคลากรเฉพาะสาขาศิลปวัฒนธรรมรับใช้สังคมโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่ง จัดการศึกษาและส่งเสริมวิชาการตั้งแต่ระดับพื้นฐานวิชาชีพถึงวิชาชีพชั้นสูง ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ ทั้งไทยและสากล รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทำการสอน ทำการแสดง ทำการวิจัยและให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนส่งเสริม สืบสาน สร้างสรรค์ ทำนุบำรุง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนในท้องถิ่น โดยผลิตบุคลากรแบ่งเป็น  ๓ ระดับ

·       เป็นช่างฝีมือประณีตทางนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์ ช่างศิลป์ระดับผู้ปฏิบัติ
 
 ·       เป็นครูระดับชำนาญที่สามารถถ่ายทอดศิลปะสาขาต่างๆ ได้
 
 ·       เป็นระดับผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะ เป็นศิลปินในศิลปะสาขาต่างๆ และมีฝีมือเชี่ยวชาญเป็นระดับชาติ
 
          ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นองค์การมหาชนในกระทรวงวัฒนธรรม ที่ดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาข้อมูลทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลทางมานุษยวิทยาสำหรับการศึกษา ค้นคว้า และนำความรู้ทางมานุษยวิทยาขับเคลื่อนสังคมเพื่อฟื้นคุณค่าความเป็นมนุษย์  ให้มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งมวล มนุษย์จะได้เข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจอันดีและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยให้บริการทางวิชาการด้านข้อมูลประเภทต่างๆ ผ่านสื่อผสม จัดทำสื่อวิชาการและสื่อโสตทัศนวัสดุ จัดแสดงนิทรรศการถาวรและหมุนเวียน  และให้บริการห้องสมุดเพื่อการสืบค้นข้อมูล

การอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถาน ถือเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมศิลปากร ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงโบราณสถานที่เกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติด้วย อย่างเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางภาคเหนือของไทยและประเทศพม่าเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งทางกรมศิลปากรพบว่ามีโบราณสถานที่เสียหายในจังหวัดน่าน พะเยา แพร่ ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย โบราณสถานที่สำคัญเสียหายถึง ๔ แห่ง

การเสนอขึ้นทะเบียนโบราณสถาน/โบราณวัตถุให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งของกรมศิลปากร ซึ่งล่าสุดกรมศิลปากรได้เตรียมเสนอภูมิทัศน์โบราณสถาน ๒ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ขึ้นบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ของมรดกโลก ต่อ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทาง วัฒนธรรมแล้ว ๓ แห่ง คือ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร  นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา  และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ในส่วนของการปกป้อง คุ้มครอง และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อนำไปเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกนั้น กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปกป้องคุ้มครอง ส่งเสริม และสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้วยการจัดทำบัญชีรายชื่อ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” เพื่อขึ้นทะเบียนคุ้มครองโดยใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จำนวน ๒๕ รายการ ได้แก่

สาขาศิลปะการแสดง  ๖ รายการ  ได้แก่  ปี่พาทย์  ละครใน  หุ่นกระบอก  ลิเกทรงเครื่อง  รำเพลงช้า-เพลงเร็ว แม่ท่ายักษ์ - ลิง 
 
 สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ๓ รายการ ได้แก่ ผ้ายก ผ้ามัดหมี่ การปั้นหล่อพระพุทธรูป 
 
 สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน ๑๕ รายการ เช่น นิทานศรีธนญชัย สังข์ทอง ขุนช้างขุนแผน ตำนานพระแก้วมรกต เป็นต้น

สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย ๑ รายการ คือ มวยไทย
 
 การอนุรักษ์และสืบทอดพระราชพิธี  กระทรวง วัฒนธรรมเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษา อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงพระราชพิธีต่างๆ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดพระราชพิธีที่สำคัญต่างๆ อาทิ โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ นอกจากนี้ ยังมีพระราชพิธีต่างๆ สำคัญประจำปี เช่น พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฉัตรมงคล ฯลฯ  และพระราชพิธีที่สำคัญอื่นๆ เช่นกระบวนพยุหยาตราชลมารค และงานรำลึก ๑๐๐ ปี พระปิยะมหาราช เป็นต้น
 
 งานด้านการศาสนา  กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมการศาสนา  ทำหน้าที่ในการรับสนองงานพระราชพิธี พระราชกุศล รัฐพิธี และศาสนพิธี เพื่อให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี และเพื่อดำรงความเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย   ตลอดจนส่งเสริมให้ศาสนามีบทบาทนำในการร่วมเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ  ศาสนา พระมหากษัตริย์    ให้ความอุปถัมภ์คุ้มครองกิจการด้านศาสนา ส่งเสริมการเผยแพร่หลักธรรม   และพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม  รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจอันดีและสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา  เพื่อนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ส่งเสริมศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต  เพื่อ สร้างภูมิคุ้มกันและให้เกิดความเข้มแข็งต่อสถาบันครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ โดยมีเป้าประสงค์สำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงในสถาบันหลักของชาติ  และนำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางสังคม และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยมี “ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์”  “ ลานบุญ ลานปัญญา” “ศูนย์การเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรม”และองค์การทางศาสนา  เป็นแหล่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนซึ่งเป็นรากฐานของประเทศให้มีคุณธรรม จริยธรรม บนพื้นฐานแห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทย  เพื่อสร้างความสุขและความสมานฉันท์ ตลอดจนเพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่อยู่ที่สบาย  เป็นสวรรค์แห่งเอเชีย ที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงคงอยู่เป็นอัตลักษณ์ของไทยสืบไป
 
           นอกจากนี้  ศูนย์คุณธรรม องค์การมหาชนในกระทรวงวัฒนธรรม ยังทำ หน้าที่ในการบริหารจัดการและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนประสานงานและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรด้านการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ให้มีพลังในการพัฒนาคุณภาพประชากรของชาติในด้านคุณธรรมจริยธรรม เพื่อรักษาดุลยภาพในการพัฒนาสังคมไทย โดยจัดกระบวนการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา ด้านคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งจัดต่อเนื่องมาแล้ว ๖ ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๕๔ เพื่อให้เกิดการยอมรับและมีความมุ่งมั่นในการยึดถือนำไปสู่การปฏิบัติ การวิจัยและจัดการความรู้ เพื่อสืบค้น แสวงหา        องค์ ความรู้และต้นแบบด้านคุณธรรมและจริยธรรม มากกว่า ๒๐๐ รายการ อาทิ ต้นแบบจิตอาสา แผนที่ความดี ที่นำไปสู่นโยบายบริหารราชการแผ่นดินตามมติคณะรัฐมนตรี การจัดงานเปิดขอบฟ้าคุณธรรม จริยธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนผู้สนใจ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานวิชาการวิจัยด้านคุณธรรมจริยธรรม และการสื่อสาร รณรงค์ และเผยแพร่องค์ความรู้ อาทิ กิจกรรมทำดีไม่ต้องเดี๋ยว เครือข่ายศูนย์เรียนรู้เชิงคุณธรรม ที่สอดคล้องกับพื้นที่และบริบทแต่ละแห่ง จัดทำภาพยนตร์สารคดีสั้น ๓ นาที ชื่อ ดอกไม้บาน...สื่อสารความดี เพื่อเผยแพร่กิจกรรมและกระบวนการสร้างคุณธรรมความดีในสังคมเผยแพร่ทางสถานี โทรทัศน์ และมีผลผลิตด้านสื่อสาธารณะจำนวน ๒๐๔ เรื่อง
 
 นอกเหนือจากภารกิจทางด้านสังคมและวัฒนธรรมแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมยังมีภารกิจในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยสามารถทำรายได้ให้กับประเทศกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท แอนิเมชั่น และเกมของไทยสร้างรายได้กว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท กระทรวงวัฒนธรรมจึงจัดทำโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์และวี ดิทัศน์แห่งชาติ เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ผลิตภาพยนตร์ทุกประเภท รวมถึงเกมและแอนิเมชั่น โดยมีคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์เป็นผู้พิจารณาจัดสรรเงินสนับสนุน

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมโดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ยัง ได้จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มีระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิต เผยแพร่ ถ่ายทำ จัดจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่สำคัญในตลาดโลก รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะการนำทุนมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ซึ่งมีอยู่มากมายไปใช้ในการสร้างภาพยนตร์ เช่นเดียวกับประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาเพิ่มมูลค่าด้านเศรษฐกิจนั้น กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากมรดกวัฒธรรมขึ้น เพื่อเผยแพร่ให้แก่ชุมชนหรือผู้สนใจได้ใช้เป็นแนวทางไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน ตามความเหมาะสมกับเอกลักษณ์ของชุมชน โดยดำเนินการสร้างต้นแบบด้านศิลปกรรม จำนวน ๒๐ แบบ เช่นโคมไฟ ที่เสียบปากกา กระถางธูป ชุดถ้วยกาแฟ และแจกันรูปช้าง เป็นต้น
 
 อีกทั้ง ได้จัดทำเว็บไซต์ www.creativeculturethailand.com เพื่อเป็นฐานข้อมูลและเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ผลงานของผู้ผลิตไทย ตามโครงการวัฒนธรรมสรรค์สร้าง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ช่วยให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเข้าถึงสินค้าทางวัฒนธรรมได้ง่ายยิ่ง ขึ้น โดยมีฐานข้อมูลของผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมในท้องถิ่นทั้งประเทศกว่า ๒,๐๐๐ รายการ แบ่งเป็น ๔ กลุ่มสินค้า คือ  กลุ่มสืบทอดทางวัฒนธรรม เช่น งานหัตถกรรม ท่องเที่ยว แพทย์แผนไทย และอาหาร เป็นต้น  กลุ่มศิลปะ เช่น ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์  กลุ่มสื่อ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อกระจายเสียง และกลุ่มงานสร้างสรรค์ เช่น งานออกแบบแฟชั่น โฆษณา ดนตรี และซอฟแวร์ เป็นต้น
 
 สุดท้าย เพื่อให้การดำเนินงานด้านต่างๆ ของกระทรวงในอนาคต สอดรับกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมปรับบทบาทภารกิจในหลายๆ ด้าน อาทิ
 
 การถ่ายโอนงานการดูแลโบราณสถาน/พิพิธภัณฑ์ ไปให้ชุมชนหรือท้องถิ่น โดยกรมศิลปากรเองก็มีหน้าที่เสริมสร้างและส่งเสริมงานเครือข่ายการบูรณาการ เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาการอนุรักษ์แหล่งมรดกทางศิลปกรรมในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในท้องถิ่นนั้นเป็นสำคัญ เพราะโบราณสถาน / พิพิธภัณฑ์ ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของชุมชนที่ประชาชนในท้องถิ่นจะต้องหวงแหน และร่วมกันรักษาให้ดีที่สุด โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมถ่ายโอนงานการดูแลโบราณสถาน/พิพิธภัณฑ์ ไปให้ชุมชนหรือท้องถิ่นดำเนินการ จำนวน ๑๔๐ แห่งในช่วงปี ๒๕๕๔ - ๒๕๕๖

การปรับปรุงสถานที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เพื่อใช้อนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ ซึ่งมีจำนวนมาก คือ ภาพยนตร์ไทยประมาณ ๑,๕๐๐ เรื่อง ภาพยนตร์สารคดีประมาณ ๘,๐๐๐ เรื่อง ภาพยนตร์ข่าวประมาณ ๕๐,๐๐๐ ข่าว จึงเห็นว่าควรมีการโอนย้ายภารกิจการส่งเสริมและสนับสนุนภาพยนตร์ในส่วนของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไปไว้ที่หอภาพยนตร์ เนื่องจากหอภาพยนตร์เป็นองค์การมหาชนสามารถกำหนดหลักเกณฑ์และบริหารการส่ง เสริมภาพยนตร์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
 
  “วัฒนธรรม” เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ เป็นรากฐานของการสร้างสรรค์ ความสามัคคี และความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น คนไทยทุกคนจะต้องหวงแหน ช่วยกันรักษาไว้ ซึ่งพลังที่สำคัญก็คือความร่วมมือของชุมชนและเครือข่ายของสังคม ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเพียงอีกกลไกหนึ่งทางสังคม  ที่ช่วยขับเคลื่อนในการอนุรักษ์ รักษาขนบธรรมเนียม และมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้ สืบทอดต่อไป

จาก:http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=3160
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม