ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ช่วยคณะสงฆ์รามัญกันเถอะ.?  (อ่าน 1223 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ช่วยคณะสงฆ์รามัญกันเถอะ.?
« เมื่อ: มิถุนายน 15, 2016, 12:45:35 pm »
0





ช่วยคณะสงฆ์รามัญกันเถอะ.?

หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าใน ประเทศเมียนมาร์ มี “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” ยังคงดำรงและขับเคลื่อนในการเผยแผ่พุทธศาสนาตามฉบับรามัญอยู่ยังต่อเนื่อง หรือแม้กระทั้ง ประเทศไทย เราเองก็มี


หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าใน ประเทศเมียนมาร์ มี “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” ยังคงดำรงและขับเคลื่อนในการเผยแผ่พุทธศาสนาตามฉบับรามัญอยู่ยังต่อเนื่อง หรือแม้กระทั้ง ประเทศไทย เราเองก็มีทั้ง “คณะสงฆ์ธรรมยุตรามัญ” หรือแม้กระทั้งคณะสงฆ์มหานิกายที่มีเชื้อรามัญ ที่พยายามคงไว้ในการสวดแบบฉบับรามัญ

อดีต ประเทศไทย เคยมี “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” และได้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเนื่องด้วยเหตุผลวัตรปฎิบัติคล้ายๆ กันกับคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ที่มีต้นตอกำเนิดมาจากรามัญหรือมอญเหมือนกัน แต่เหตุผลสำคัญหากอ้างถึงพระลิขิต ที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสนอให้ยุบเลิก “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” คือ

“…เห็นว่าการเล่าเรียนของภิกษุสามเณรรามัญเสื่อมลง...การที่อนุญาตให้แปลในภาษารามัญนั้น ไม่เป็นไปเพื่อเจริญความรู้แห่งพวกรามัญเลย ฝ่ายเราก็จัดการบำรุงไม่ถนัด ฝ่ายเขาก็ไม่สามารถพอจะบำรุงความรู้ของพวกตนเอง แลเป็นเหตุไม่ให้พวกรามัญเอาใจใส่ภาษาสำหรับบ้านเมือง...”

แม้ลายพระหัตถ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ระบุไว้เช่นนั้น แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าน่าแปลกที่ “จีนนิกาย” และ “อานัมนิกาย” (เวียดนาม) ยังคงดำรงอยู่ได้ในสังคมไทยตราบจนปัจจุบัน



แม้ “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” จะถูกยุบไป ปัจจุบันยังมีวัดรามัญหรือวัดมอญ ทั้งของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย และมหานิกาย ตามชุมชนคนไทยเชื้อสายรามัญหลายวัด ก็ยังคงรักษาการทำวัตรเย็น วัตรเช้า และสวดแบบฉบับรามัญตามปกติ

และที่สำคัญการอนุรักษ์ สืบสานสิ่งเหล่านี้ ตอนนี้มีองค์กรรามัญ หรือมอญองค์กรหนึ่งชื่อ “มูลนิธิรามัญรักษ์” ซึ่งเป็นการรวมตัวของพระสงฆ์ไทยเชื้อสายรามัญ และคนไทยเชื้อสายรามัญกลุ่มหนึ่งพยายามเดินสายลงไปตามชุมชนมอญต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เห็นคุณค่า และนำอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งศิลปวัฒนธรรม ภาษา การแต่งกาย ประเพณี การละเล่น กลับมาฟื้นฟู และสืบทอดต่อไป ผ่านแนวคิดที่ว่า “นำผีมอญกลับบ้าน”

หรือแม้แต่ “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” ซึ่งมีพระสงฆ์ไทยเชื้อสายรามัญอยู่จำนวนมาก บางรูปก็ประกาศตัวว่าเป็นรามัญ บางรูปก็ไม่ประกาศตน (ไม่รู้กลัวอะไร) ท่านตั้งกลุ่มวัดของท่านเอง ประมาณ 30 - 40 วัด จะจัดประชุมกันในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ แถวๆ วัดปทุมธานี ก็เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน วัฒนธรรมประเพณี การสวดมอญตามแบบฉบับของพระธรรมยุตรามัญ

ส่วน “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” ใน ประเทศเมียนมาร์ มีวัดอยู่ประมาณ 1,000 วัด มีพระสงฆ์อยู่ประมาณ 10,000 รูป มีการเรียนการสอนบาลีอย่างเข้มแข็ง การสอนการสอบบาลี ทุกอย่างเป็นภาษามอญทั้งหมด และที่สำคัญเป็นคณะสงฆ์ชาติพันธุ์เดียวที่รัฐบาลเมียนมาร์ ให้ยอมรับและรับรองในการสอบ ซึ่งปีนี้ครบ 100 ปีพอดี

ความสัมพันธ์กับคณะสงฆ์ประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมา “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” ไม่ได้ออกสู่สังคมโลกภายนอกมากนัก อาจเป็นเพราะมีปัญหาด้านภาษาและบริบทของสังคมใน ประเทศเมียนมาร์



ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มพระสงฆ์และฆราวาส ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายรามัญกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น “มูลนิธิรามัญรักษ์” หรือพระสงฆ์รามัญที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย พยายามเชื่อมโยงให้ “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” มีความสัมพันธ์กับคณะสงฆ์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ไทยทั้ง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ในฐานะทั้ง 2 สถาบันแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในทางพระพุทธศาสนาที่คณะสงฆ์ทั่วโลกยอมรับ

อย่างเช่น เมื่อวันที่ 21 เมษายน - 31 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” ได้ส่งพระภิกษุจำนวน 11 รูป ฆราวาสจำนวน 4 คน มาอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการองค์กร ณ สถาบันบันภาษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการขับเคลื่อนการทำงาน และเพื่อเตรียมพร้อมเปิด มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในรัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ อีกด้วย

หรือแม้กระทั้งงานวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 22 - 23 พฤษภาคม 2559ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” ก็เดินทางมาร่วมด้วย 15 รูป

เท่าที่คุยกับ “คณะสงฆ์รามัญ” ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์ไทยเชื้อสายมอญ หรือสงฆ์รามัญขนานแท้ ความผิดพลาดสำคัญที่ทำให้คณะสงฆ์เชื้อสายรามัญกำลัง “จะสูญสิ้น” คือ ไม่ได้สร้างศาสนทายาท เพราะมัวแต่ไปหาเงิน “สร้างศาลา สร้างโบสถ์” สุดท้ายวัดบางวัดก็ร้างไป วัดบางวัดก็จำต้องเอาคนต่างถิ่นมาเป็นเจ้าอาวาส หรือเจ้าอาวาสรามัญบางแห่งก็ “ไม่เอามอญหรือรามัญ” ไม่มีการสวดภาษารามัญ ไม่อนุรักษ์ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมแบบรามัญๆ



เมื่อศูนย์กลางชุมชน หมู่บ้าน คือ วัด คือ เจ้าอาวาส ไม่อำนวยความสะดวก ทอดทิ้งธุระที่ควรจะทำ สุดท้ายสิ่งดีงามของชุมชน ของหมู่บ้านก็หายไปหมด เหลือแต่ “ไทยก็ไม่ใช่ รามัญก็ไม่เชิง” ชุมชนไปทาง เจ้าอาวาสไปทาง ศูนย์กลางชุมชน คือ “วัด” ตอนนี้บางแห่งจึง “บรรลัย” อย่างที่เห็นนี้แหละ

และลักษณะนี้ไม่ใช่ชุมชน หมู่บ้านรามัญอย่างเดียว เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย เพราะบางแห่งเจ้าอาวาสมาจากไหนก็ไม่รู้มาเป็นเจ้าอาวาส หรือบางวัดแม้เจ้าอาวาสจะเป็นลูกหลานคนในชุมชน แต่ก็ “ไม่เอาชาวบ้าน” ส่วน “คณะสงฆ์รามัญ” ที่ ประเทศเมียนมาร์ เท่าที่ทราบ “เจ้าอาวาส” คือทุกอย่างของชุมชน สามารถ “ตำหนิ ด่าชาวบ้าน” ได้

เจ้าอาวาสบางท่านอาจจะบ่นว่า “ เปรียญ 10” ว่าพระเกินไปหรือเปล่า มีอคติต่อพระสงฆ์หรือไม่ รู้หรือเปล่า เดี๋ยวนี้อย่าว่าแต่สร้างศาสนทายาทเลย คนบวชเพื่อจำพรรษาแทบไม่มี หรือบางคนบวชจำพรรษา แต่ให้มันรอรับกฐิน แค่นี้มันก็ทนไม่ไหวแล้ว แต่ที่สำคัญเวลาไปบอกบุญโยมถวายทุนสร้าง “คน” นี่โยมไม่ค่อยให้หรอก เพราะคนไทยชอบสร้างอิฐ สร้างปูน มากกว่าสร้าง “คน” เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า ซ้ำบางคนก็มองว่า ไปส่งเรียนทำไม ไม่ใช่ลูกหลานเรา ส่วนเหตุผลอาตมาไม่ค่อยอยู่วัด เพราะต้องไปบอกบุญ หากรอแต่เงินชาวบ้านมา สร้างศาลา สร้างโบสถ์ คงไม่ไหวหรอก



ก็จริงของท่านนะ หากท่านตอบมาแบบนี้ เพราะเวลาท่านไป “ขอตำแหน่ง ขอสมณศักดิ์” จะต้องส่งผลงานการก่อสร้างไปด้วยว่า “สร้างอะไรไปแล้วบ้าง” อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะได้ตำแหน่งครองสมณศักดิ์ แต่ระยะ 15 - 20 ปีนี้ ต้องกราบขอบพระคุณแนวคิดของ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ที่พระภิกษุรูปใดจะขอสมณศักดิ์ ต้องมีผลงานมอบทุนให้กับพระภิกษุ - สามเณร และเด็กนักเรียนในชุมชนแนบมาด้วย ขอกราบๆ

สุดท้ายกลับมาที่ “คณะสงฆ์รามัญ” ไม่ว่าจะเป็น “คณะสงฆ์ธรรมยุตรามัญ” ใน ประเทศไทย หรือ “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” ใน ประเทศเมียนมาร์ หากมองในภาพรวม ความอยู่รอดและความมั่นคงของท่าน คือ ความเจริญก้าวหน้าและความอยู่รอดของ “พระพุทธศาสนา” พวกเราๆ ท่านๆ คงจะต้องช่วยกันคนละไม้คนมือ ในการ “พยุง” ท่านขึ้นมา เพราะถึงอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์ไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา หรือชาติไหน พวกเราก็คือ “ลูกพระพุทธเจ้าเหมือนกัน”



คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย “เปรียญ10” riwpaalueng@gmail.com...
ขอบคุณภาพและบทความจาก : http://www.dailynews.co.th/article/502585
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ