ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
  • สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน
แสดงกระทู้
This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.
    Messages   Topics Attachments  

  Messages - raponsan
หน้า: [1] 2 3 ... 707
1  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:11:49 am
.



มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (3) เงื่อนงำ ‘กำแพงเพชร’ ผ่าน ‘พระซุ้มกอ’

สําหรับตอนที่ 3 นี้ เส้นทางของพระแก้วมรกตได้เคลื่อนมาสู่เมืองสำคัญยิ่ง เป็นเมืองที่เชื่อมคั่นตั้งอยู่กึ่งกลางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับล้านนา นั่นคือ “กำแพงเพชร”

ดังนั้น วิทยากรผู้ที่จะมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนนี้จะเป็นใครอื่นใดไปมิได้ นอกเสียจาก “อาจารย์สันติ อภัยราช” ครูภูมิปัญญาด้านภาษาและวรรณกรรม ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้เป็นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชรหลายสมัย



อาจารย์สันติ อภัยราช ปราชญ์ใหญ่เมืองกำแพงเพชร ผู้ร่วมเปิดประเด็นเสวนาให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างในบทความชิ้นนี้


วัดพระแก้ว VS วัดอาวาสใหญ่ : วัดใดประดิษฐานพระแก้วมรกต.?

อาจารย์สันติ อภัยราช เปิดประเด็นว่า ทุกวันนี้ชาวกำแพงเพชรมีความเชื่อเป็นกระแสหลักไปเรียบร้อยแล้วว่า “วัดพระแก้ว” ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น คือสถานที่ที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกต องค์ที่เรากำลังเสวนาหาความจริงกันอยู่นี้มาก่อน

การสืบเสาะค้นหาว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ที่ไหนในกำแพงเพชรเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2446 โดย “พระวิเชียรปราการ” ขุนนางที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ส่งไปปกครองเมืองกำแพงเพชรนั้น ได้ทำการศึกษาสำรวจวัดร้างซากโบราณสถานโบราณวัตถุต่างๆ ในเขตเมืองเก่า แล้วพยายามตั้งชื่อสถานที่นั้นๆ ให้ใกล้เคียงกับตำนาน เท่าที่ความรู้ความสามารถของปราชญ์ยุคเมื่อ 130 ปีจักทำได้ คำว่า “วัดพระแก้ว” จึงปรากฏขึ้นครั้งแรกในบันทึกของพระวิเชียรปราการ

อย่างไรก็ดี 2 ปีถัดมาคือ พ.ศ.2448 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 สมัยที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือที่เรานิยมเรียกย่อๆ ว่า “พระยุพราช” ได้เสด็จพระดำเนินเลียบเมืองกำแพงเพชร (ในอดีตสังกัดมณฑลนครสวรรค์)

ครั้งนั้นเองทรงวินิจฉัยว่า “พระแก้วมรกต หากเคยประดิษฐานที่กำแพงเพชรจริง ก็น่าจะเป็นวัดอาวาสใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอรัญญิก”

พระวินิจฉัยนี้หนุนเนื่องมาจากช่วงที่พระยุพราชเสด็จกำแพงเพชรเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ พระองค์ท่านยังมิทันได้เห็นจุดที่เรียกว่าวัดพระแก้ว ด้วยเหตุที่อาณาบริเวณของวัดอาวาสใหญ่นั้นกว้างขวางใหญ่โตกว่าวัดอื่นๆ



วัดอาวาสใหญ่ จุดที่รัชกาลที่ 6 สมัยเป็นพระยุพราช ได้เสด็จมากำแพงเพชร แล้วทรงเห็นว่าเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด จึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นวัดพระแก้ว


ครั้นอีกเพียง 1 ปีให้หลัง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2449 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นมายังเมืองกำแพงเพชรด้วยพระองค์เองอีกครั้ง คราวนี้พระวิเชียรปราการได้ทูลเชิญล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จไปทอดพระเนตรสถานที่ที่ปัจจุบันเรียกกันว่าวัดพระแก้ว

รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุประพาสต้นครั้งที่ 2 ว่า “ถ้าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่กำแพงเพชรจริง ก็น่าจะเป็นวัดแห่งนี้แน่ๆ”

การที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยเช่นนี้ก็เนื่องมาจากทรงทอดพระเนตรเห็นพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับพระวิหาร ทรงตรัสชมว่า เป็นเจดีย์ที่งดงามมาก เมื่อก้มลงมองฐานเจดีย์ พบปูนปั้นรูปสิงห์แบก (จมอยู่ใต้ชั้นดิน ครั้นเมื่อทำการขุดค้นทางโบราณคดีจึงพบพระพิมพ์รูปสิงห์แบกที่ฐานพระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมาก)



วัดพระแก้ว ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จุดที่พระวิเชียรปราการทูลเสนอต่อรัชกาลที่ 5 ว่าน่าจะเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตมากกว่าวัดอาวาสใหญ่


การพบรูปสิงห์ที่ล้อมฐานเจดีย์นี้เองยิ่งทำให้ปราชญ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าสมเด็จพระน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระน้องยาเธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต่างเห็นคล้อยว่า วัดแห่งนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับ “พระแก้ว-พระสิงห์” หรือ พระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระคู่กัน มีตำนานใกล้เคียงกัน เป็นแน่แท้ ควรเชื่อได้ว่าที่นี่น่าจะเป็น “วัดพระแก้ว” มากกว่าบริเวณวัดอาวาสใหญ่

เหนือสิ่งอื่นใด ในส่วนท้ายที่ต่อเชื่อมกับเจดีย์ยังมี “มณฑป” ขนาดใหญ่ตั้งอยู่อีกด้วย สะท้อนว่าครั้งหนึ่งต้องเคยมีการประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญยิ่งอย่างแน่นอน ทำให้ทุกวันนี้ชาวกำแพงเพชรเรียกที่นี่ว่า “มณฑปพระแก้วมรกต”

ในความเป็นจริง พระแก้วมรกตจักเคยประทับในกำแพงเพชรหรือไม่ และหากเคยประทับจริง สถานที่แห่งนั้นควรอยู่ที่ไหน ยังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงได้ เพราะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือข้อสันนิษฐานจากรุ่นสู่รุ่น



เจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาขนาดใหญ่ ณ วัดพระแก้ว กำแพงเพชร


เชื่อตำนานเล่มไหนดี จะให้กำแพงเพชรเป็น “ฮีโร่” หรือ “ผู้ร้าย”.?

ในส่วนความเกี่ยวข้องระหว่างเมือง “กำแพงเพชร” กับ “พระแก้วมรกต” ที่ปรากฏในตำนานล้านนาสองฉบับนั้น อาจารย์สันติ อภัยราช กล่าวว่า น่าแปลกทีเดียว แม้นตำนานทั้งสองเล่มจักเขียนขึ้นในเมืองเหนือเหมือนกัน และแต่งโดยพระภิกษุในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ไฉนเลยตำนานทั้งสองฉบับกลับให้ข้อมูลต่างกันราวฟ้ากับเหว

รัตนพิมพวงศ์ กล่าวว่า ขณะที่พระแก้วมรกตประทับอยู่ที่กรุงอโยธยา/อโยฌปุระนั้น (หมายเหตุ อาจารย์สันติก็ตั้งข้อสังเกตเหมือนกับ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ว่าดูจากศักราชและปูมแวดล้อมแล้ว ย่อมไม่ใช่กรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน เพราะช่วงนั้นน่าจะอยู่ในรอบพุทธศตวรรษที่ 16-17 กรุงศรีอยุธยายังไม่ได้สร้าง และกำแพงเพชรก็ยังไม่เกิด) น่าสนใจว่าตำนานเรียกเมืองแห่งนี้ว่า “วชิรปราการ” แล้ววงเล็บสำทับว่า “กำแพงเพชร”

รัตนพิมพวงศ์ระบุว่าวชิรปราการเป็นเมืองใหญ่ สามารถกรีธาทัพไปยังอโยธยาในทำนองประกาศแสนยานุภาพถึงความเกรียงไกร จนเจ้าเมืองอโยธยายอมยกพระแก้วมรกตให้โดยดี

ความที่เจ้าเมืองวชิรปราการมีพระโอรสองค์หนึ่งปกครองเมืองละโว้อยู่ (น่าคิดไม่น้อย หากเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริง สะท้อนว่ากำแพงเพชรค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดส่งโอรสไปนั่งเมืองใหญ่อย่างละโว้ได้) พระโอรสได้ทูลขอยืมพระแก้วมรกตไปเป็นขวัญแก่พระนครชั่วคราวด้วย

สรุปว่า พระแก้วมรกตประทับ ณ กรุงละโว้ประมาณ 1 ปีเศษๆ เจ้าเมืองวชิรปราการได้ขอคืนกลับมา จากนั้นพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เมืองกำแพงเพชรนานนับร้อยปี

จนกระทั่ง “ท้าวมหาพรหม” จากเชียงรายได้ยกกองทัพถึง 80,000 นายมาข่มขู่กดดันให้เจ้าเมืองกำแพงเพชรต้องยกพระแก้วมรกตให้ (ซ้ำรอยเดิมกับตอนที่กำแพงเพชรยกทัพไปประกาศศักดานุภาพที่อโยธยา โดยเหตุการณ์ทั้งสองครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ) กำแพงเพชรจำต้องยอมยกพระแก้วมรกตให้เชียงรายไป



ฐานเจดีย์วัดพระแก้ว เคยมีรูปสิงห์แบกโดยรอบ (ปัจจุบันมีแต่ช้างแบก) ทำให้ปราชญ์ยุค 130 ปีก่อนเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ “พระสิงห์” หรือพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งคู่กับพระแก้วมรกต


ทฤษฎีของรัตนพิมพวงศ์นี้ อาจารย์สันติ อภัยราช มองว่าเป็นการเขียนแบบให้เกียรติเมืองกำแพงเพชร คือตอนที่เราได้พระแก้วมรกตมา ก็ไปเอามาอย่างผู้มีอำนาจเหนือกว่าแว่นแคว้นที่เริ่มอ่อนแอ และเมื่อพระแก้วมรกตจะต้องจากไป ก็เป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมคือผู้มีอำนาจเหนือกว่าเราก็ใช้วิธีเดียวกัน คือดูแล้วค่อนข้างสมน้ำสมเนื้อ

เมื่อหันมามองชินกาลมาลีปกรณ์ กลับให้ข้อมูลแปลกๆ พิลึกพิลั่น คือกล่าวถึงคนที่ชื่อ “ติปัญญามหาเถร” (บ้างเรียกติยะอำมาตย์) ถูกส่งจากอโยธยามาครองกำแพงเพชร (เข้าใจว่า “อโยธยา” ในที่นี้ หมายถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว) ในช่วง พ.ศ.1900 กว่าๆ

ติปัญญามีแม่เป็นสนมคนโปรดของกษัตริย์อโยธยานาม “ขุนหลวงพ่องั่ว” (พะงั่ว) ติปัญญาอยากได้พระแก้วมรกตมาครอง ขอให้แม่ใช้กลอุบายลวงขอพระแก้วมรกตจากขุนหลวงพะงั่วในฐานะที่หลงใหลในเสน่ห์ของนางอย่างเนียนๆ ชนิดที่ว่าอย่าให้พระองค์รู้ตัวเป็นอันขาด

แม่ของติปัญญายอมเสี่ยง ทำทีทำท่าว่าอยากได้พระปฏิมาสักองค์ไว้บูชา ขุนหลวงพะงั่วยินดีแบ่งให้ โดยบอกว่าให้นางไปเลือกเอาเองว่าต้องการองค์ไหน นางจึงไปติดสินบนพนักงานหอพระว่าช่วยเอาดอกไม้ไปวางหน้าพระแก้วมรกตให้หน่อย ตอนนางเลือกจะได้รู้ว่าองค์ไหน ในที่สุดก็พาพระแก้วมรกตองค์จริงหนีไปให้โอรสที่กำแพงเพชร

ตำนานหน้านี้อาจารย์สันติบอกว่า เหมือนกันมากราว “แพะกับแกะ” เมื่อเทียบกับตำนานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งหากยึดตามทฤษฎีต้องถือว่ากำแพงเพชรเสียเครดิตพอสมควร ที่ใช้เล่ห์เพทุบายอันไม่ค่อยสุจริตนัก เพื่อให้ได้มาซึ่งพระแก้วมรกต (รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์)

อย่างไรก็ดี หากดูไทม์ไลน์ตามท้องเรื่องของชินกาลมาลีปกรณ์แล้ว พบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เริ่มใกล้ตัว ติปัญญาเป็นบุคคลร่วมสมัยกับขุนหลวงพะงั่วและท้าวมหาพรหม ซึ่งช่วงนี้มีการสร้างเมืองกำแพงเพชรแล้ว (ในขณะที่เนื้อหาของรัตนพิมพวงศ์ กำหนดท้องเรื่องเก่าเกินไป คือยุคอโยฌปุระ ยุคละโว้ยังเรืองอำนาจ ซึ่งกำแพงเพชรยังไม่ได้เกรียงไกรขนาดนั้น)

ด้วยเหตุที่ตำนานสองฉบับซึ่งเขียนขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน บนแผ่นดินเดียวกันยังตีกันให้สับสนถึงขนาดนี้ น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงไม่เชื่อเหตุการณ์อันโกลาหลช่วงนี้เลย ทรงข้ามไปมองว่า พระแก้วมรกตควรจะเริ่มต้นที่เชียงรายมากกว่ากระมัง



พระกำแพงเพชรซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ ภาพจากไฟล์เพาเวอร์พอยต์บรรยายของคุณ “น้อย ไอยรา” (อาจารย์นิพนธ์ สุขสมมโนกุล)


พิมพ์ทรงพระซุ้มกอกับพระแก้วมรกต

กรณีพิมพ์ทรงด้านพุทธศิลป์ของพระแก้วมรกตที่นักวิชาการมองว่าเหมือนกับพระพุทธรูปเชียงแสน-พะเยานั้น อาจารย์สันติ อภัยราช เสนออีกแนวทางว่า “โปรดอย่าได้มองข้ามรูปแบบพระซุ้มกอกำแพงเพชรโดยเด็ดขาด” ซึ่งพระซุ้มกอนี้ขุดพบครั้งแรกในกรุพระธาตุนครชุม ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง กำหนดอายุราวสมัยพระญาลิไท?

พระพักตร์กลม พระวรกายอวบอ้วน พระเศียรเกลี้ยงไม่แสดงเม็ดพระศก พระเมาลีต่ำเป็นกรวยสามเหลี่ยมคล้ายกลีบบัว ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี พระศอเป็นปล้อง นั่งขัดสมาธิราบแบบลังกา เอาพระหัตถ์ทั้งสองประสานที่หน้าตักในปางสมาธิ

ทั้งหมดนี้คือพุทธลักณะของพระพิมพ์กำแพงเพชรซุ้มกอ และพระแก้วมรกต! เหมือนกันโดยบังเอิญหรือเช่นไร?



เปรียบเทียบพุทธศิลป์ของพระแก้วมรกตกับพระซุ้มกอกำแพงเพชร พบว่าคล้ายคลึงกันมาก


เราควรตั้งคำถามว่า หากกำแพงเพชรไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับพระแก้วมรกต (รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์) แล้วไซร้ ไฉนตำนานต้องลากให้ท้าวมหาพรหมจากเชียงราย ลงมาพันพัวเอาพระแก้วมรกตจากที่นี่ไปอวดอ้างต่อชาวเชียงใหม่ด้วยเล่า ซ้ำเมื่อเอาไปแล้ว กลับกลายเป็นว่า “เสียของ” เข้าไปอีก

คือแทนที่จะให้ประชาชนเชียงใหม่-เชียงรายได้กราบไหว้ อย่างออกหน้าออกตา กลับกลัวหาย ต้องเอาไปหลบซ่อนไปพอกปูนจนตัวเองก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระแก้วมรกตจักหวนกลับมาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอีกครั้ง

เงื่อนงำของตำนานหน้านี้ต้องช่วยกันถอดรหัสขบคิดวิเคราะห์กันอีกให้มาก อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเหตุการณ์จริงที่เกี่ยวกับพระแก้วมรกตทั้งหมดจักต้องเริ่มต้นที่เชียงรายเท่านั้น •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2567
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_757564
2  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ เมื่อ: วันนี้ เวลา 05:48:17 am
.
มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (2) รอยต่อระหว่างตำนานกับประวัติศาสตร์






ในตำนานมีประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์มีตำนาน

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ได้อธิบายถึงเรื่องเส้นทางของ “พระแก้วอมรโกฏ” (พระแก้วมรกต) จากปาฏลีบุตรสู่สยาม ต่อไปว่า

มีทั้งการนำ “เรื่องจริง” เหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ มาผสมปนเปกับ “เรื่องเล่า” หรือตำนาน ที่กระโดดไปมา ต่างยุคต่างสมัยกัน ตลอดทั้งเรื่อง

จากตอนที่ 1 เราค้างถึงเหตุการณ์ที่ “พระนาคเสน” ได้บูชาพระแก้วมรกต จนกระทั่งเข้านิพพานไปแล้ว

ต่อมาพระแก้วมรกตได้รับการอัญเชิญให้ไปประดิษฐาน ณ เกาะลังกาประมาณ พ.ศ.800 ตำนานระบุชื่อพญามหากษัตริย์ของอินเดีย 3 องค์สุดท้ายในช่วงกลียุคและมหากลียุค ผู้ไม่สามารถรักษาพระแก้วมรกตไว้ได้

อันนามเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่จริง (ชินกาลมาลีปกรณ์ใช้ชื่อว่า พระเจ้าพันธุ พระเจ้ากลันธรรม และพระเจ้าสิริธรรมกิตติ ในขณะที่รัตนพิมพวงศ์ใช้ชื่อ บัณฑุราช ตักกลาธรรม และศิริธรรมกิตติราช) หรือหากมีชื่อที่พอจะเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์จริงได้อยู่บ้าง ก็ถือว่าไม่ได้เรียงลำดับรัชกาลตามนี้ ทั้งศักราชก็คลาดเคลื่อน

ในที่สุดได้มีผู้นำเอาพระรัตนปฏิมาหนีไปอยู่เกาะลังกา หรือลังกาทวีป ดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญขึ้นแทนชมพูทวีปตามคำนาย



นัตของชาวพม่า ในรูปแบบที่เชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของพระเจ้าอนิรุทธมหาราช


เพิ่มอิทธิฤทธิ์ด้วยยี่ห้อ “อนิรุทธ” บลั๊ฟฟ์ “สูริยวรมันที่ 2” ไม่ทศพิธราชธรรม

พระแก้วมรกตอยู่ที่เกาะลังกาได้สักระยะ มีกษัตริย์ชื่อ อนิรุทธ หรือ อนุรุทธราช เสวยราชย์ในเมือง “มลานปุระ” แต่ชินกาลมาลีปกรณ์เรียก “อริมัททนะ” (ทั้งสองชื่อหมายถึงพุกาม) โดยระบุว่าตรงกับปี พ.ศ.1200 ในขณะที่รัตนพิมพวงศ์ให้ศักราชเก่ากว่านั้นอีก ตรงกับปี พ.ศ.1000

พระเจ้าอนิรุทธตั้งใจนั่งเรือสำเภามาขอ “พระไตรปิฎก” จากลังกา ลังกาเห็นว่ากองทัพของอนิรุทธนั้นเกรียงไกรนัก จึงยอมให้พระไตรปิฎกไป แถมอนิรุทธเมื่อทราบว่าลังกามีพระแก้วมรกตจึงรวบอัญเชิญพระรัตนปฏิมาไปอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า พระเจ้าอนิรุทธมหาราช เป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนอยู่จริงในสมัยพุกาม แต่ตรงกับ พ.ศ.1500-1600 และในความเป็นจริงนั้น พระองค์จะยกทัพไปลังกาจริงหรือไม่ ก็ยังไม่มีความแน่ชัด ยุคของพระองค์กำลังก่อสร้างอาณาจักรพุกาม ตามหลักฐานมีการยกทัพไปขอพระไตรปิฎกจากเมืองสะเทิม (สิริธรรมนคร) จากชาวมอญนี่แน่นอน

ทำให้เข้าใจได้ว่า ชินกาลมาลปกรณ์และรัตนพิมพวงศ์ ได้นำชื่อของพระเจ้าอนิรุทธมหาราช เข้ามาเกี่ยวข้องก็เพื่อช่วยเสริมบารมีของพระแก้วมรกตให้ทรงอิทธิฤทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก เพียงแต่ว่าผู้เขียนอาจไม่มีความแม่นยำทางประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้าน จึงระบุให้อนิรุทธเป็นโอรสของพระเจ้าสิริธรรมราช ทั้งๆ ที่พระเจ้าสิริธรรมราชนั้นเป็นชาวมอญ ปกครองเมืองสิริธรรมนคร (สะเทิม) เมืองที่อนิรุทธยกทัพมาตีเพื่อขอพระไตรปิฎก

ตำนานกล่าวต่อไปว่า เมื่ออนิรุทธได้พระรัตนปฏิมาจากลังกาไปแล้ว แต่เรือสำเภากลับแตก ทั้งพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกพลัดหลงขึ้นไปยังฝั่งชายหาดแห่งหนึ่งของเมืองที่ชื่อ “มหานคร” แห่ง “กัมโพชทวีป” บ้างเรียก “นครอินทปัตถ์”

เมื่อเราเห็นชื่อเมืองเหล่านี้ ไม่ว่าจะใช้คำใด คงพอจะเดาออกว่า ตำนานต้องการสื่อถึงเมืองสำคัญยิ่งคือ เมืองพระนคร Angkor Thom ในกัมพูชา เพิ่มความเข้มข้นของตำนานให้ขลังยิ่งขึ้นไปอีก

แต่น่าแปลก หลังจากที่พระเจ้าอนิรุทธยกพลขึ้นบกที่เมืองมหานครได้แล้ว แทนที่จะเอาทั้งพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกซึ่งอุตส่าห์บากบั่นไปแย่งมาชิงมาจากลังกาได้ เอากลับคืนกรุงอริมัททนา (พุกาม) ไว้ทั้งหมด

กลับกลายเป็นว่า พระเจ้าอนิรุทธพอใจที่จะขนเอาแค่พระไตรปิฎกลงสำเภาอย่างเดียวเท่านั้น ทิ้งพระแก้วมรกตไว้ที่กัมโพชนคร

น่าสนใจทีเดียวที่บทบาทของพระเจ้าอนิรุทธช่วงนี้ตั้งใจ “ลืมพระแก้วมรกต” ให้ตกค้างอยู่ที่กัมโพช

ซ้ำร้ายฉากนี้ยังวาดให้ “พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์” กษัตริย์แห่งกัมโพช ไม่มีทศพิธราชธรรมเข้าไปอีก เหตุที่ไปสั่งประหารเด็กเล็กๆ ลูกของปุโรหิต ด้วยเหตุผลเพียงแค่เด็กสองคนทะเลาะกันเรื่องเอาสัตว์เลี้ยง (พวกแมลงวันหัวเขียว แมลงวันหัวเสือ) มาชนแข่งกัน แล้วแมลงวันของลูกพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แพ้แก่แมลงวันของลูกปุโรหิต

ตำนานเล่าเหตุการณ์ว่าเกิดอาเพศ น้ำท่วมทะเลสาบเมืองกัมโพชมหานคร แต่โชคดีที่มีพระภิกษุรูปหนึ่งทันเห็นเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลตั้งแต่กษัตริย์สั่งประหารเด็กเล็กๆ ด้วยเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง เกิดไหวตัวทัน รีบเอาพระแก้วไปลอยน้ำ ทำให้พระรัตนปฏิมาไม่จมหายไปในทะเลสาบ

เรื่องราวช่วงแรกนี้พระแก้วมรกตยังไม่เข้ามาสู่สยามประเทศ เห็นได้ว่าผู้รจนาตำนานตั้งใจหยิบยกเอาเหตุการณ์บ้านเมืองในรัฐจารีต 4 รัฐอันยิ่งใหญ่ หรือในตำนานใช้คำว่า “ทวีป” คือชมพูทวีป ลังกาทวีป อริมัททนะทวีป กัมโพชทวีป มารองรับความสำคัญของพระแก้วมรกตว่าเป็นของสูงของสำคัญ จนเกิดการช่วงชิงกันไปมาระหว่างรัฐต่อรัฐ

หรือมาตรแม้นว่ารัฐไหนหรือทวีปใดได้ครอบครองไปแล้ว หากผู้ปกครองบ้านเมืองไม่อยู่ในศีลในธรรม พระแก้วมรกตก็จักอันตรธานหายไปจากทวีปนั้นๆ ไม่ด้วยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง เช่น ไม่สำเภาแตกก็น้ำท่วมเมือง



รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยากรท่านแรกที่เปิดประเด็นเรื่องพระแก้วมรกต ในรายการคลับเฮาส์


ปริศนาอาทิตยราช VS กรุงอโยฌปุระ

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์หลังจากนี้ จะเริ่มเข้าสู่โหมดการเดินทางของพระแก้วมรกตในดินแดนสยามแบบเต็มๆ แล้ว (หมายเหตุ สยามคำนี้ควบรวมรัฐโยนกตอนเหนือด้วย) อีกทั้งตัวละครต่างๆ ก็เป็นบุคคลจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ผู้เขียนตำนานอาจผูกเรื่องแบบผิดฝาผิดตัวไปบ้าง

หลังจากนครอินทปัตถ์ล่มจมใต้ทะเลสาบเพราะพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ (ตั้งใจจะสื่อถึง สูริยวรมันที่ 2) ลงโทษผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว ในช่วงเวลานั้น มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อ “พระญาอาทิตยราช” ครองราชย์ ณ กรุงอโยฌยา (อโยฌปุระ) ได้เดินทางมายังมหานคร เป็นผู้มีบุญญาธิการสามารถครอบครองพระแก้วมรกตได้ และนำไปไว้ในกรุงอโยฌปุระ

คำว่า “อโยฌปุระ” หรือ “อโยธยา” ทันทีที่ทุกคนได้ยินชื่อนี้ปั๊บ มักปิดตานึกถึง กรุงศรีอยุธยาช่วงต้นๆ ในยุครอยต่อตอนปลายของรัฐรัฐละโว้ รัฐสุพรรณภูมิที่กำลังล่มสลายแล้วกำลังจะเริ่มก่อเกิดกรุงศรีอยุธยา ซึ่งช่วงนั้นเรียกกันว่า อโยธยา

ทว่า คำว่า “อโยฌปุระ” หรือ “อโยธยา” ในตำนานกลับมีนัยยะซับซ้อนมากกว่านั้น มิได้หมายถึงแค่ช่วงต้นของกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใดเลย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ฝากให้พินิจพิเคราะห์ว่า ชื่อกษัตริย์ “อาทิตยราช” นั้น เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงของนครรัฐหริภุญไชย มีอายุร่วมสมัยไล่เลี่ยกับพระเจ้าอนิรุทธแห่งพุกาม และพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 แห่ง Angkor Thom

ดังนั้น ตำนานน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในการประพันธ์ ไปเอาชื่ออโยธยาเข้ามาใส่ให้แก่กษัตริย์ผู้มีอำนาจเกรียงไกรอย่างสูงสุดในแว่นแคว้นเมืองเหนือ ซึ่งพระญาอาทิตยราชนี้ก็เคยกรีธาทัพลงมาสู้รบกับรัฐละโว้ (ลพบุรี) หลายครั้งอีกด้วย

การเขียนตำนานแบบผิดฝาผิดตัวในช่วงนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ อธิบายว่า อย่าว่าแต่ยุคสมัยของเราเลยที่อ่านแล้วสับสน แม้แต่ผู้ปริวรรตตำนานรัตนพิมพวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ พระธรรมปรีชา (แก้ว) เอง ก็ไม่ทราบว่าจะหาคำอธิบายให้คนอ่านเข้าใจอย่างไรดีต่อข้อความในตำนานช่วงนี้

ได้แต่ทำคำขยายเพิ่มว่า “พระเจ้าอาทิตยราช คือผู้ครองแว่นแคว้นแดนสยามประเทศฝ่ายเหนือ ซึ่งเมืองโบราณนั้นเรียกว่า กรุงอโยธยา แต่จักตั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งใดนั้น ยังมิอาจทราบชัดถนัดแน่”

เห็นได้ว่าปราชญ์รัตนโกสินทร์ ช่วงที่ต้องจัดทำคำอรรถาธิบายเกี่ยวกับความย้อนแย้งของกษัตริย์ที่ชื่อ “อาทิตยราช” (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-ต้น 17) กับการที่พระองค์ครองเมืองอโยธยา (เป็นที่รับรู้กันว่า เมืองนี้หมายถึงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีขึ้นไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 19) ปราชญ์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ทำได้เพียงแค่

“ปฏิเสธเช่นกัน ว่าอโยธยาในตำนานพระแก้วมรกตมิใช่กรุงศรีอยุธยาตามที่เรารู้จัก แต่ต้องเป็นเมืองที่อยู่หนไหนสักแห่งในภาคเหนือ”



ชินกาลมาลีปกรณ์ เขียนขึ้นก่อน รัตนพิมพวงศ์


พระแก้วมรกต-พระพุทธสิหิงค์ เริ่มมาบรรจบกันที่กำแพงเพชร

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐาน ณ กรุงอโยฌยาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่า “พระเจ้าติปัญญา” แห่งกำแพงเพชร (ในรัตนพิมพวงศ์ใช้ชื่อว่า “ภูบดี” เสวยราชย์ในวชิรปราการปุระ)

เมื่อทราบถึงเดชานุภาพของพระรัตนปฏิมา ได้เดินทางมาเอาพระแก้วอมรโกฏนั้นไปจากอโยฌยา โดยไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมจึงสามารถเอาไปได้โดยง่าย?

หลังจากกำแพงเพชร (ซึ่งเป็นรอยต่อของรัฐสุโขทัยแห่งลุ่มน้ำปิง) แล้ว พระแก้วมรกตได้ถูกอัญเชิญขึ้นไปยังนครเชียงราย โดย “ท้าวมหาพรหม” พระอนุชาของกษัตริย์กือนา ทั้งสองพี่น้องเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์

และท้าวมหาพรหมท่านนี้เอง เป็นคนเดียวกันกับที่อัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” จากกำแพงเพชรขึ้นสู่ดินแดนโยนกล้านนาเป็นครั้งแรกอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อของ “เจ้าติปัญญา” แห่งกำแพงเพชรคนเดียวกันนี้ ยังได้ไปปรากฏซ้ำ แบบสอดคล้องกันกับตำนานพระพุทธสิหิงค์

อาจารย์รุ่งโรจน์จึงสรุปว่า นับแต่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเชียงรายเป็นต้นไปนับต่อจากนี้ เริ่มน่าจะมีเค้าโครงจริงทางประวัติศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เพราะพระแก้วมรกตสร้างขึ้นในล้านนานี่เอง

ทว่า เรื่องเล่าก่อนหน้านั้นทั้งหมด เป็นการรวบรวมเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของบุคคลผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ของรัฐเพื่อนบ้าน มาเชื่อมโยงให้มีสีสันจนดูเสมือนจริง เพื่อให้พระแก้วมรกตมีความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้นนั่นเอง •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_755984
3  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 02:09:23 pm
.
 :25: :25: :25:

รูปวิเคราะห์ชื่อแห่งนิพพานที่เขียนพรรณนามาทั้งหมดมีปรากฏในอนาสาวาทิสูตรและคัมภีร์อภิธานทั้งสอง ชื่อแห่งนิพพานดังต่อนี้ไปมีปรากฏเฉพาะในคัมภีร์อภิธานเท่านั้น ซึ่งพระโมคคัลลานะเถระกล่าวไว้ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาว่า มี 46 บท โดยเพิ่มหรือมากกว่าในอนาสาวาทิสูตร 12 บท ( 2536 : 4) ดังต่อไปนี้

    (1) โมกฺโข แปลว่า ธรรมเป็นที่หลีกเร้น ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสมีราคะ เป็นต้น
    (2) นิโรโธ แปลว่า ความดับ พระบาลีว่า นิโรโธ มีใช้จำนวนมากในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ที่สำคัญที่สุดพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้เป็นจุดสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาว่า นิโรธ สจฺจํ ซึ่งหมายถึงนิพพานนั่นเอง พระบาลีว่า นิโรธ ซึ่งหมายถึงสิ้นจากกิเลส ราคะ
    (3) อรูปํ(น + รูป) แปลว่า ธรรมที่ไม่มีรูปลักษณ์, อรูปธรรม
    (4) อมตํ (น + มร ธาตุ ปราศจากชีวิต + ต ปัจจัย = อมตะ) แปลว่า สภาพที่พ้นจากความตาย พระบาลีว่า อมตํ เป็นภาวะแห่งนิพพาน ที่ปฏิเสธความตาย เหตุคือการปฏิเสธการเกิดนั่นเอง

    (5) อกตํ แปลว่า อกตธรรม พระพุทธองค์ตรัสว่า อชาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขต (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 25 ข้อ 73 : 213) แปลว่า นิพพานเป็นธรรมชาติไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกปัจจัยกระทำ ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 25 ข้อ 73 : 323) พระบาลีว่า อกตํ เป็นภาวะที่ปฏิเสธการสร้างขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ในโลกนี้ จึงเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน
    (6) เกวลํ (เกว ธาตุ เป็นไปในความไม่ประกอบ หมายถึงนิพพาน, นอกจากนี้ยังมีความหมายว่า โดยมาก มั่นคง พอประมาณ ทั้งหมดทั้งสิ้น) ธรรมที่ไม่มีสังขารปรุงแต่ง พระบาลีว่า เกวลํ เป็นสภาพแห่งนิพพานที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้

    (7) อปวคฺโค ธรรมเว้นจากสังขารปรุงแต่ง พระบาลีว่า อปวคฺโค เป็นสภาพแห่งสังขารโลกทั้งปวง
    (8) อจฺจุตํ ธรรมที่ไม่มีจุติของพระอรหันต์ ดังมีพระบาลีว่า อจฺจุตํ อมตํ ปทํ ตํ ญาณํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 32 ข้อ 12 : 225) แปลว่า พระองค์ทรงบรรลุอมตบทที่ไม่จุติด้วยพระญาณ พระบาลีว่า อจฺจุตํ เป็นสภาพแห่งนิพพานที่ไม่มีการจุติคือตายอีก ก็คือ อนุปาทิเสสนิพพานเท่านั้น เพราะไม่เกิดและตายอีกต่อไป
    (9) ปทํ แปลว่า ธรรมที่พระอริยะเข้าถึง ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า สนฺตํ ปทํ อชฺฌคมา (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 15 ข้อ 732 : 275)แปลว่า บรรลุนิพพานอันสงบ พระพุทธองค์อธิบายไวพจน์แห่งนิพพานว่า สนฺตํ ปทํ นิพฺพานํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 11 ข้อ 210 : 257) แปลว่า พระบาลีว่า ปทํ นิพพานที่พระอริยเข้าถึงได้

   (10) โยคกฺเขโม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องสิ้นโยคะทั้ง 4 คำว่า โยคกฺเขโม มีปรากฏใพระไตรปิฎกว่า อนุตฺตโร โยคกฺเขโม (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 19 ข้อ 528 : 205) แปลว่า ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม พระบาลีว่า โยคกฺเขโม
   (11) สนฺติ (สมุ ธาตุ ในความสงบ + ติ ปัจจัย) แปลว่า ธรรมที่สงบจากกิเลส พระพุทธองค์ตรัสว่า ผุฏฐสฺส ปรมา สนฺตินิพฺพานํ อกุโตภยํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 21 ข้อ 23 : 31) แปลว่า สัมผัสความสงบอย่างยิ่ง คือ นิพพานอันไม่มีภัยจากที่ไหน ๆ
   (12) นิพฺพุติ (อิตฺถี) แปลว่า ธรรมที่ออกจากตัณหา หรือธรรมที่ปราศจากตัณหาเครื่องกั้นให้ติดอยู่ในสงสาร ดังพุทธวจนะว่า ตถาคเตน สา นิพฺพุติ อธิคตา (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 29 ข้อ 709 : 423) นิพพานนั้นพระตถาคตทรงบรรลุแล้ว

ไวพจน์หรือชื่อแห่งนิพพานตามรูปศัพท์แห่งนิพพานที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มีจำนวนมาก นอกจากอนาสวาทิสูตร และคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ก็มีอีกจำนวนมาก เช่น คำว่า อจลํ เป็นต้น (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 32 ข้อ 293 : 40) ซึ่งก็เป็น ศัพท์ไวพจน์ของนิพพานเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่า น่าจะมีประมาณเกือบ 100 บท แต่ที่มีใช้มากรองจากนิพพาน ได้แก่ อสังขตะ และนิโรธ





2.2 การตีความนิพพานโดยสภาวะ

การตีความโดยสภาวะนั้นยึดพยัญชนะทั้งหมดนั่นแหละ แล้วนำมาตีความโดยความเป็นจริง ที่มีอยู่โดยธรรมชาติ หรือ โดยสภาวะธรรม มีอยู่ 2 ระดับ คือ ระดับที่ยังมีชีวิตอยู่หรือพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน และระดับชีวิตดับสิ้นหรือพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน ดังนี้

    2.2.1. สอุปาทิเสสนิพพาน
พระนววิมลเถระ กล่าวว่า “กิเลสปรินิพฺพานเหตุโต สห อุปาทิสงฺขาเตน เสเสน ขนฺเธนาติ สอุปาทิเสสา นิพพานธาตุ” (2542: 120) แปลว่า เพราะกิเลสปรินิพพาน แต่ยังเหลือขันธ์ 5 ที่เป็นเศษกรรมแห่งอุปาทานยึดไว้ จึงชื่อว่า สอุปาทิเสสนิพพาน

การที่พระพุทธองค์จะอธิบายภาวะทางจิตแห่งการสัมผัสนิพพาน อันเป็นโลกุตตระ มาบอกแก่ชาวโลก ซึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกันอย่างไร จึงตรัสอุบายวิธีว่าบรมสุข ดังมีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “นิพฺพานํ  ปรมํ สุขํ” แปลความว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 25 ข้อ 203-204 : 95)

คำว่า นิพพานเป็นบรมสุข คือสุขที่เกิดจากการพ้นจากกิเลส ไม่มีกิเลสเกิด อันเป็นนิโรธสัจ ได้แก่ ความสุขที่เป็นความพ้นทุกข์ นิพพานไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการเสวยปัญจารมณ์ หรือไม่ใช่สุขที่เกิดจากการดื่มด่ำในปัญจารมณ์แต่เป็นสุขที่พ้นจากกิเลส พ้นจากความเป็นขันธ์ (ขันธวิมุตติ) เรียกว่าสันติสุข สันติสุของค์ธรรมคือนิพพาน และเป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

ดังนั้น จากคัมภีร์พระพุทธศาสนาดังกล่าวมาจึงตีความได้ว่า สอุปาทิเสสนิพพาน คือ สภาวะทางจิตใจภายในของบุคคลที่กำจัดกิเลส ความชั่ว อกุศลธรรมได้ทั้งหมดที่เรียกว่า กิเลสตาย หรือ กิเลสปรินิพพาน แต่ยังมีชีวิตดำรงอยู่เหมือนคนทั่วไปตามปกติ บุคคลนั้นเรียกว่า อรหันต์ แปลว่า ผู้กำจัดวงล้อแห่งกิเลสได้ สภาพแห่งจิตที่หมดจากกิเลสขณะมีชีวิตอยู่นี้พระพุทธองค์สื่อให้คนทั่วไปรู้ว่า บรมสุข (ปรมํ สุขํ)

     2.2.2. อนุปาทิเสสนิพพาน
นิพพานที่เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน ชื่อว่าเป็นคติสุดท้ายแห่งพระอรหันต์พระนววิมลเถระ กล่าวถึงอนุปาทิเสสนิพพานว่า “ขนฺธปรินิพฺพานเหตุตาย ขนฺธสงฺขาต อุปาทิ เสเสน วิรหิตตฺตา อนุปาทิเสสา, ทฺวิธา นิพฺพานธาตุภาวโต” (2542, น.120) แปลว่า ชื่อว่า อนุปาทิเสส นิพพาน เพราะไม่มีเศษแห่งอุปาทานยึดได้ กล่าวคือ ขันธ์ 5 เพราะเหตุแห่งขันธ์ 5 ปรินิพพาน โดยที่นิพพานโดย 2 ส่วน คือ กิเลสและขันธ์ 5 หมายถึง กิเลสดับและขันธ์ 5 ดับ

การตีความนิพพานที่สุญสิ้น ดับสิ้นจากสังขารโลกทั้งปวง ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน คือ การที่บุคคลทำลายกิเลสทั้งหมดให้สิ้นไปจากจิตสันดานจนจิตบริสุทธิ์ (สุทฺธิ) ที่เรียกว่า อรหันต์ และพระอรหันต์นั้นนั่นเอง ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณดับพร้อมกัน แล้วไม่เกิดอีกต่อไป เป็นการนิพพาน 2 ประการ คือ กิเลสปรินิพพานและขันธปรินิพพาน พร้อมกันทีเดียว เป็นคติสุดท้ายของพระอรหันต์หลังสิ้นชีวิตแล้ว





2.3 การตีความนิพพานโดยอุปมา

นิพพานเป็นโลกุตตระ แปลว่า พ้นจากโลก นิพพานจึงไม่สามารถอธิบายด้วยสิ่งใดๆ ในโลกนี้ได้ พระบรมศาสดาจึงพยายามสื่อให้มนุษย์ได้ทราบด้วยวิธีการต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการอุปมานิพพาน การอุปมาที่ชัดเจนที่สุดมี 3 เรื่อง คือ
    (1) จิตผู้สัมผัสนิพพานเปรียบ ดังหยาดน้ำบนใบบัว
    (2) เมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดปลายเหล็กแหลม
    (3) เปลวประทีปดับ หมดทั้งเปลวประทีป ไข และไส้

    2.3.1. จิตผู้สัมผัสนิพพานเปรียบดังหยาดน้ำบนใบบัว
บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์นั้นไม่ติด คือ ไม่ติดแน่น ไม่ติดพันได้แก่ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้วไม่เกี่ยวข้องแล้วกับกิเลสเหล่านั้น มีใจเป็นอิสระอยู่ เหมือนหยาดนไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 29 ข้อ 46-47 : 164)

    2.3.2. เมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดปลายเหล็กแหลม
ขันธ์ทั้งหลายถึงการทรงตัวอยู่ไม่ได้แตกไปแล้วกองขันธ์ในอนาคตก็ไม่มีส่วนขันธ์ที่เกิดแล้วในปัจจุบันก็ดำรงอยู่เหมือนเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น(พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 29 ข้อ 10 : 52) จิตของพระอรหันต์เปรียบดังเหล็กแหลม ส่วนอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ ประดุจดังเมล็ดผักกาด เมื่อเอาเมล็ดผักกาดวางบนปลายเหล็กแหลม เมล็ดผักกาดได้โอกาสเพียงสัมผัสปลายยอดเหล็กแหลมเท่านั้น ย่อมกลิ้งตกทันที ฉันใด จิตอรหันต์ก็ฉันนั้น

    2.3.3. เปลวประทีปดับ
พระพุทธองค์ตรัสอุปมาอนุปาทิเสสนิพพาน ประดุจดังเปลวประทีปดับลงว่า พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืชสิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นปราชญ์ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 25 ข้อ 13 : 15)หมายความว่า เมื่อเปลวประทีปดับลง ย่อมหมดทั้งไขและไส้เทียน เมื่อพระอรหันต์เสียชีวิต จิตและรูปกายย่อมดับลง ไม่มีเกิดในภพภูมิ อีกต่อไป

การอุปมาทั้ง 3 ประการนี้ เป็นการตีความสภาวะแห่งนิพพานได้ด้วยเช่นกัน การอุปมาน้ำบนใบบัวและเมล็ดพันธุ์ผักกาดปลายเหล็กแหลม คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ส่วนเปลว แห่งประทีบที่ดับ คือ อนุปาทิเสสนิพพาน จากการอุปมาทั้ง 3 ประการนี้ ทำให้มนุษย์ปุถุชนตีความสภาพแห่งนิพพานได้ใกล้เคียงที่สุดแม้ภาวะจิตไม่สามารถถึงหรือสัมผัสนิพพานได้

@@@@@@@

อภิปรายผล

สภาพแห่งนิพพานอันเป็นโลกุตตระนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่สามารถอธิบายด้วยสภาวะใดๆ ทั้งสิ้นที่มีอยู่ในโลกนี้ พระองค์จึงตรัสหลังจากตรัสรู้ครั้งสมัยก่อนจะโปรดสอนสรรพสัตว์ว่า ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ คือ การดับไปแห่งกิเลส ตัณหาอย่างยั่งยืน ไม่เกิดอีกต่อไป ขณะตรัสรู้พระองค์เรียกว่า นิโรธ ต่อมาเรียกว่า นิพพาน อสังขตะ และคำอื่นๆอีกจำนวนมาก ที่เป็นเช่นนี้เข้าใจว่า ต้องการสื่อสารกับผู้ฟังในท้องถิ่นนั้นๆ ให้เข้าใจและปฏิบัติตามเพื่อให้เข้าถึงภาวะพ้นทุกข์อย่างยั่งยืน คือ สอุปาทิเสสนิพพานและอนุปาทิเสสนิพพาน

กระบวนการที่เข้าถึงนิพพาน เรียกว่า สันติบท เป็นไปเพื่อบรรลุความสงบระงับกิเลส ความแจ่มแจ้งของจิต สันติบทนั้นได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสหมวดธรรมเหล่านี้ว่า โพธิปักขิยธรรม ธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งการตรัสรู้พระนิพพาน หมวดใดหมวดหนึ่ง ที่จะเหมาะสมแก่จริตของผู้ปฏิบัติ

เมื่อบรรลุถึงสันติบทแล้ว มรรค ผล นิพพานก็เป็นเรื่องเดียวกัน ภาษาบาลีว่า อาโลโก ญาณํ จกฺขุํ นิพพานํ อังกฤษว่า Enlightenment นิพพานพอมีสภาพให้ปุถุชนรู้ได้ด้วยบทพยัญนะ อักขระ ชื่อ ไวพจน์ต่าง ๆ อันประกอบด้วยกาล เวลา สถานที่ บุคคล อุปมา มาเกี่ยวข้องเพื่อให้ปุถุชนหาแนวทางที่เหมาะสมกับจริตอันจะนำไปสู่ความเข้าใจหลักแห่งบรมธรรม คือ การไม่เกิดแห่งทุกข์อีกต่อไป

แต่พอถึงกาลเวลาผ่านไป 2,500 กว่าปี นิพพานอันเป็นอุดมธรรมอาจผิดเพี้ยนไปจากพุทธประสงค์ จึงต้องอาศัยการตีความจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิมาช่วยในการไขรหัสเข้าไปสู่ความจริงที่พระพุทธเจ้าประสงค์จะให้ถึงเป้าหมายนั้นอย่างถูกต้องที่สุด

@@@@@@@

สรุป

ชื่อหรือไวพจน์ของนิพพานที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรววาทนั้นมีจำนวนมาก บท แต่ที่ใช้ในพระไตรปิฎกจำนวนมากได้แก่ นิโรธ แปลว่า ดับทุกข์ , นิพพาน แปลว่า ไม่มีเครื่องผูกมัด อสังขตะ มีปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานเมื่อว่าโดยสภาวะ 2 ประเภท คือ สอุปาทิเสสนิพพาน กิเลสตายแต่ชีวิตยังไม่ตาย และ อนุปาทิเสสนิพพาน กิเลสตายและชีวิตตาย

สมัยปัจจุบันการจะเข้าถึงนิพพานตามพุทธประสงค์ต้องอาศัยศาสตร์แห่งการตีความมาช่วย การตีความนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท สรุปโดยย่อแล้วมี 3 ประการ คือ
    (1) โดยพยัญชนะ
    (2) โดยสภาวะ
    (3) โดยอุปมา กล่าวเปรียบเทียบสภาพแห่งนิพพาน

แท้จริง นิพพานเป็นโลกุตตระไม่สามารถอธิบายด้วยภาษาโลกได้ พระพุทธเจ้าจึงพยายามอธิบายได้ด้วยภาษาแห่งโลกิยะ อันเป็นกุศโลบายให้สรรพสัตว์เข้าไปสู่โลกุตตระ คือ นิพพาน







ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
บทความจาก : วารสารพุทธศาสตร์ศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 | มกราคม - มิถุนายน 2562

บรรณานุกรม :-
กัจจายนเถระ. (2536). คัมภีร์ปทรูปสิทธิแปลและอธิบาย. กรุงเทพมหานคร : อุษาการพิมพ์.
คันถรจนาจาริยเถระ. (2552). สัมภารวิบาก. กรุงเทพมหานคร: ส.ธรรมภักดี.
นววิมลเถโร. (2542). อภิธมฺมตฺถสงฺคหฎีกา. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2538). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
________. (2541). พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม.
________. 2542. กรณีธรรมกาย. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสารจำกัด.
________.(2554). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา.
________. (2555). พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร. กรุงเทพมหานคร : คิงออฟแอนด์เวอร์ไทซิ่ง.
พระมหากัจจายนเถระ. (2550). เนตติปกรณ์. พระคันธสาราภิวงศ์ แปลและอธิบาย. กรุงเทพมหานคร : ไทยรายวันการพิมพ์.
พุทธโฆสมหาเถระ. (2539). วิสุทฺธิมคฺคปกรณํ (ปฐโม ภาโค). กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พุทธทาส อินทปญฺโญ. (2553). เทศนาชุดสุดท้ายของพุทธทาส : หัวใจนิพพาน กรุงเทพมหานคร : ฐานการพิมพ์.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2545), พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาเตปิฎกํ 2500 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
โมคคัลลานเถระ.(2550). คัมภีร์อภิธานวรรณนา. พระมหาสมปอง มุทิโต แปลและเรียบเรียง. กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา
โมคคัลลานเถระ.(2536). พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา. กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.
หลวงเทพดรุณานุศิษย์. (2550). ธาตุปฺปทีปกา. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย.
อัคควังสเถระ. (2546). ธาตุมาลา. กรุงเทพมหานสิริมงฺคลาจาริโย (2535). มงฺคลตฺถทีปนี(ทุติโย ภาโค). กรุงเทพมหานคร : มหามกุฎราชวิทยาลัย.
สุมาลี มหณรงค์ชัย. (2546). ฮินดู-พุทธ จุดยืนที่แตกต่าง. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิพม์ศยาม
4  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 09:36:46 am
.



1. นิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

นิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2555 : 74) ปุถุชนไม่สามารถจะรู้อธิบายได้ เพราะเป็น โลกุตตรธรรม คือ ธรรมที่พ้นจากโลก ปุถุชนไม่สามารถจะเข้าถึงได้อธิบายได้ด้วยแนวคิดหรือ ตรรกของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามสามารถศึกษาได้จากคัมภีร์ คือ พระไตรปิฎกและอรรถกาได้ แต่ผู้วิจัยได้ศึกษาสภาพแห่งนิพพานจากชื่อหรือไวพจน์ ความหมายของนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนานั้นมีจำนวนมากที่ปรากฏในพระไตรปิฎกโดยเฉพาะปรากฏในอนาสวาทิสูตร (พระไตรปิฎกภาษาบาลีเล่ม 18 ข้อ 409: 328)

พระพุทธองค์ตรัสชื่อหรือไวพจน์แห่งนิพพานไว้ดังนี้

     อสงฺขตํ อนตํ อนาสวํ   สจฺจญฺจ ปารํ นิปุณํ สุทุทฺทสํ
     อชชฺชรนตํ ธุวํ อปโลกินํ   อนิทสฺสนํ นิปฺปปญฺจสนฺตํ
     ปณีตญฺจ สิวญฺจ เขมํ   ตณฺหกฺขโย อจฺฉริยญฺจ อพฺภุตํ
     อนีติกํ อนีติกธมฺมํ   นิพฺพานเมตํ สุคเตน เทสิตํ
     อพฺยาปชฺโฌ วิราโค จ   สุทฺธิ มุตฺติ อนาลโย
     ทีปํ เลณญฺจ ตาณญฺจ   สรณญฺจ ปรายนํ

นอกจากยังมีปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ฎีกา ยังมีไวพจน์อีกจำนวนมาก ในคัมภีร์อภิธาน และธรรมบท ผู้วิจัยจึงได้รวบรวมสรุปดังนี้

   (1) ปรมตฺถสารํ สาระประโยชน์สูงสุดคือนิพพาน
   (2) วิปลฺลํ ความสุขอันไพบูลย์ หมายถึงนิพพาน
   (3) วิวฏํ /วิวฏฺฏํ นิพพาน คือธรรมที่ออกไปจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ ธมฺมมุตฺตมํ นิพพานคือธรรมอันสูงสุด
   (4) สปฺปุริสธมฺมํ นิพพานคือธรรมของสัตบุรุษ
   (5) เนกฺขมฺมาภิรติ นิพพานคือความยินดีในเนกขัมมะ
   (6)อคตํ ทิสํ นิพพานคือทิศที่ไม่เคยไป
   (7) สารํ นิพพานชื่อว่าสาระ
   (8) ปรมตฺถํ ประโยชน์อย่างยิ่งคือนิพพาน
   (9) อโรคํ นิพพานคือความไม่มีโรค
 (10) ราควิราโค นิพพานเป็นธรรมเพื่อสำรอกราคะ
 (11) มทนิมฺมทฺทโน นิพพานเป็นธรรมที่ย่ำยีความมัวเมา
 (12) ปิปาสวินโย นิพพานเป็นธรรมที่บรรเทาเสียซึ่งความกระหายในกามคุณอารมณ์
 (13) อาลยสมุคฺฆาโต นิพพานเป็นธรรมที่ถอนเสียซึ่งความอาลัยในกามคุณอารมณ์
 (14) วฎฺฎปจฺเฉโท นิพพานเป็นธรรมที่ตัดเสียซึ่งการเวียนไปในวัฏฏะทั้ง 3 (กิเลส กรรม วิบาก) ให้ขาด
 (15) เสฎฺฐํ นิพพานเป็นธรรมที่ควรสรรเสริญโดยพิเศษ เป็นต้น

พระบาลีที่ปรากฎในพระไตรปิฎกใช้จำนวนมาก ได้แก่ นิโรธ นิพพาน อสังขตะ ทั้ง ๓ คำนี้ มีปรากฏตามกาลที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นตามลำดับ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 4 ข้อ 13 : 11) และ อสังขตะ ใช้หลังจากสอนปัญจวรรคีย์ต่อๆมา





2. การตีความนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

ผู้วิจัยได้สังเคราะห์การตีความในคัมภีร์พระพุทธศาสนาออก เป็น 3 ประเภทคือ

(1) การตีความโดยพยัญชนะ
(2) การตีความโดยสภาวะ คือ ระดับความเป็นจริงที่มีอยู่โดยธรรมชาติ มี 2 คือ
     (2.1) สอุปาทิเสสนิพพาน
     (2.2) อนุปาทิเสสนิพพาน
(3) อุปมา เปรียบเทียบ

ดังมีความสังเขปดังนี้




    2.1 การตีความนิพพานโดยพยัญชนะ

    ในพระไตรปิฎกนิพพานที่เป็นชื่อหรือไวพจน์มีปรากฏในอนาสวาทิสูตร ถือว่ามากที่สุด ดังกล่าวแล้วว่า นิพพานเป็นเป้าหมายอุดมสูงสุดของพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังตรัสรู้และได้ใช้ระยะเวลา 45 พรรษาในการใช้ภาษามนุษย์หรือภาษาบาลีเพื่อให้สรรพสัตว์เข้าสู่อุดมธรรม ดังนั้น ภาวะแห่งการดับกิเลสอย่างหมดจดมีอยู่ มีภาวะเดียวก็ตามแต่ภาษาที่ทำให้เข้าใจได้นั้นมีจำนวนมาก เช่นเดียวกัน นิพพาน ยังมีการตั้งชื่อไวพจน์ไว้เป็นจำนวนมาก
     ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้ตีความแห่งนิพพานโดยใช้รูปวิเคราะห์ด้วยภาษาบาลีการตีความนิพพานลักษณะนี้เรียกอีกอย่างว่า “วิจยหาระ” (พระมหากัจจายนเถระ, 2550 : 93) ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการตีความอีกประเภทหนึ่งในบรรดา 16 หาระ ผู้วิจัยจึงได้แสดงวิจยหาระแห่งนิพพานดังนี้

     อสงฺขตํ แปลว่า ธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีรูปวิเคราะห์บท อสังขตะ ว่า “น สงฺขตํ สงฺขตลกฺขณรหิตนฺติ อสงฺขตํ นิพพาน ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง และเว้นจากลักษณะที่ถูกปรุงแต่ง จึงชื่อว่า อสังขตะ” (โมคคัลลานเถระ, 2550: 23) อสังขตธรรม ไม่ได้เกิดจากปัจจัย 4 คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร ปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน (และบัญญัติ) พระพุทธองค์ทรงอธิบายอสังขตะว่า ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ และความสิ้นโมหะ (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 366 : 448) อสังขตะธรรมจึงไร้สิ่งที่ปราศจากเหตุปัจจัยในโลกิยะ ได้แก่ โลกุตระนั่นเอง

     อนนฺตํ ธรรมที่ไม่พินาศ มีรูปวิเคราะห์บท อนนฺตํ ว่า น กทาจิปิ ยสฺส อนฺโต วินาโส อตฺถิ ตํ อนนฺตํ นิพพานไม่มีความเสื่อมสลายไปตลอดกาล จึงชื่อว่า อนันตะ และ ปริยนฺตปริจฺเฉทภาวรหิตตฺตา อนนฺตํ วุจฺจติ นิพฺพานํ แปลว่า นิพพาน เรียกว่า อนันตะ เพราะไม่มีที่สุดและไม่มีกำหนดขอบเขต (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 27) อนันตะ เมื่อเข้าถีงอนันตธรรมจึงไม่เสื่อมถอยกลับมาส่ธรรมอันเลว คือ โลกิยะอีกต่อไป

     อนาสวํ แปลว่า อนาสวธรรม มีรูปวิเคราะห์บท อนาสวํ ว่า จตุนฺนํ อาสวานํ อภา เวน อนาสวํ นิพพาน ชื่อว่า อนาสวะ เพราะไม่มีอาสาวะ 4 (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 27) คำว่า อนาสวะ เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ อาสวะ 4 อย่าง คือ
           (1) กามาสวะ
           (2) ภวาสวะ อาสวะ คือภพ
           (3) ทิฏฐาสวะ
           (4) อวิชชาสวะ
อาสวะเหล่านี้ นรชนเหล่าใด ละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ นรชนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 30 ข้อ 51 : 211) พระพุทธองค์ตรัสอธิบายนิพพานคือ อนาสวะว่า บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละ ความถือมั่นบัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้วมีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 24 ข้อ 117 : 270) พระบาลีนี้จึงหมายถึง จิตของพระอรหันต์ที่ไม่มีอาสวะ

     สจฺจํ แปลว่า สัจจธรรม มีรูปวิเคราะห์บท สจฺจํ ว่า ราคกฺขยเหตุภาเวน สจฺจํ นิพพาน ชื่อว่า สัจจะ เพราะเป็นเหตุสิ้นไปแห่งราคะ จึงชื่อว่า สัจจะ และ อวิปรีตตฺตา สจฺจํ นิพพาน ชื่อว่า สัจจะ เพราะไม่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 27) นิพพานจึง เป็นสัจจ ธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ใดมีบารมีธรรม ผู้นั้นย่อมเข้าถึงสัจจธรรมนั้น

     ปารํ แปลว่า ธรรมที่สามารถสงบความเร่าร้อนเพราะทุกข์ในสงสาร มีรูปวิเคราะห์บท ปารํ ว่า ปาเรติ สกฺโกติ สํสารทุกฺขสนฺตาปํ สเมตุนฺติ ปารํ แปลว่า นิพพาน สามารถดับความเร่าร้อนคือทุกข์ในสงสาร จึงชื่อว่า ปาระ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 27) ดังพุทธวจนะตรัสไว้ว่า ปารญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ ปารคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลีข้อ 18 เล่ม 378 : 325) แปลว่า ภิกษุทั้งหลายเราจักแสดงฝั่งนิพพานและทางดำเนินไปสู่ฝั่งนิพพานแก่พวกเธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 378 : 460) ปาระ ที่หมายถึงนิพพานนี้ มีความหมายคือตรงกันข้ามกับโลกทั้ง 3 ได้แก่ กามโลก รูปโลก อรูปโลก เป็นฝั่งทำลายวัฏฏะเสียได้

    นิปุณํ แปลว่า ธรรมอันละเอียด มีรูปวิเคราะห์ว่า เยน จตฺตาโร มคฺคา โอธิโส กิเลเส นิสฺเสสโต ปุนนฺติ โสเธนฺติ ตํ นิปุณํ แปลว่า นิพพานเป็นเครื่องชำระกิเลสของมรรค 4(โสดาบัน สกทาคามี อนาคมี อรหันต์) ให้หมดจด จึงชื่อว่า นิปุณะ (โมคคัลลานเถระ, 2550: 28) ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า นิปุณญฺ จ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ นิปุณคามิญฺ จ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 325) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ละเอียดอ่อนและทางดำเนินไปสู่ธรรมที่ละเอียดแก่พวกเธอ (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408:461) คำว่า นิปุณะ จึงเป็นนิพพานที่ลึกซึ้งยากที่ปุถุชนจะเข้าถึงได้ และเป็นมรรคจิตมีสภาพชำระกิเลสออก

     สุทุทฺทสํ แปลว่า เป็นธรรมที่ปุถุชนมองเห็นได้ยากยิ่ง มีรูปวิเคราะห์บท สุทุทฺทสํ ปสฺสิตุํ สุทุกฺกรตาย สุทุทฺทสํ แปลว่า นิพพานชื่อว่าสุทุททสะ เพราะเป็นธรรมที่มองเห็นได้ยากยิ่ง (โมคคัลลานเถระ, 2550: 24) ดังมีพระบาลีว่า สุทุทฺทสญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ สุทุทฺทส คามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 325) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เห็นได้ยากยิ่งและทางที่ให้ถึงธรรมที่เห็นได้ยากยิ่งแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 461) คำว่า สุทุทฺทสํ จึงเป็นนิพพานที่ปุถุชนไม่สามารถจะไปหยั่งรู้ได้ จึงมีสภาพที่เห็นได้ยากยิ่ง

     อชชฺชรํ แปลว่า ธรรมที่ไม่คร่ำครึ ในคัมภีร์ไวยากรณ์ไม่ได้ให้รูปวิเคราะห์ไว้ ผู้วิจัย เข้าใจว่า ชร ธาตุ ในความมีโรคไข้ พระอัคควังสเถระ กล่าวว่า ยตฺถ ตุ อยํ วโย หานิวาจโก ตตฺถ ปโยเค ชีรติ ชราติ จสฺส

     รูปานิ ภวนฺติ แปลว่า ก็ประโยคใด ชร ธาตุนี้มีอรรถว่า วโยหานิ (ความเสื่อมแห่งวัย) ในประโยคนั้น ชร ธาตุนั้นจะมีรูปว่า ชีรติ แปลว่า ย่อมแก่ ย่อมชรา (2546 : 406)

    อชชฺชร (อ+ชชฺชรํ) แปลว่า ธรรมที่ไม่แก่ ไม่คร่ำครึ ธรรมที่ไม่มีโรค ได้แก่นิพพาน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า อชชฺชรญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ อชชฺชรคามิญํจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 325) ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ไม่คร่ำครึและทางที่ให้ถึงธรรมที่ไม่คร่ำครึแก่เธอทั้งหลาย (สํ.สฬา. (ไทย). 18/408/461) พระบาลีนี้แสดงว่าพระนิพพานเป็นสิ่งที่ชาวโลกปรารถนาอยู่ทุกกาลสมัย ไม่ล้าสมัย ผู้ใดเห็นภัยในวัฏฏะสมัยใด สมัยนั้นนิพพานจึงเป็นที่ปราถนาของคนในสมัยนั้นๆด้วย จึงชื่อว่า อชชฺชรํ

     อนตํ แปลว่า ธรรมที่ไม่มีน้อมไป (ในวัฏฏะ) บทนี้ไม่ได้วิเคราะห์ในคัมภีร์ไวยากรณ์ไว้ ประกอบด้วย - อ แปลว่า ไม่ + นมุ ธาตุในความน้อมไป + ต ปัจจัย เพราะ ต ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ คือ มุ = สำเร็จรูปเป็น อนตํ (พระอัคควังสเถระ, 2546 : 360) แปลว่า ธรรมที่ไม่มีความน้อมไป ดังมีพุทธวจนะว่า อนตญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ อนตคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 378 : 325) ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความไม่น้อมไป (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 3 ข้อ 377-409 : 174) และทางที่ให้ถึงความไม่น้อมไปแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 378: 461) คำว่า ไม่น้อมไป คือ ไม่น้อมไปเกิดในวัฏฏสงสารอีกต่อไป คือ นิพพาน





     ธุวํ แปลว่า ธรรมที่มั่นคง มีรูปวิเคราะห์ว่า ธวติ มคฺคานมารมฺมณภาวํ คจฺฉตีติ ธุวํ แปลว่า ธรรมที่ไปสู่ความเป็นอารมณ์ของมรรคจิต จึงชื่อว่า ธุวะ (โมคคัลลานเถระ, 2550, น. 29) ดังเช่นพระบาลีว่า ธุวํ จ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ ธุวคามินิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลีเล่ม 18 ข้อ 378 : 326) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ยั่งยืนและทางที่ให้ถึงธรรมที่ยั่งยืนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง (พระไตรปิฏกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 461) พระบาลีว่า “ธุวํ ” เป็นการแสดงถึงจิตของผู้เข้าถึงนิพพาน และสภาพแห่งนิพพาน มั่นคงคือ ไม่กลับวนเวียนไปในวัฏฏะอีก

     อปโลกิตํ (อปโลกิตํ น + ป +สช นสฺสเน + อิ อาคม + ต ปัจจัย, บางแห่งเป็น อปโลกินํ ลง ยุ ปัจจัย) แปลว่า ธรรมที่ไม่เลือนหาย พระโมคคัลลานเถระได้แสดงรูปวิเคราะห์บท อปโลกิตํ ว่า สทา วิชฺชมานตฺตา อปลุชฺชนสภาวํ คจฺฉตีติ อปโลกิตํ แปลว่า นิพพานถึงความเป็นธรรมไม่เลือนหายเพราะมีอยู่ตลอดกาลใน (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 30) บทนี้พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกว่า อปโลกิตํ จ โว ภิกฺขเว เทสสิสฺสามิ อปโลกิตคามิญฺ จ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 378 : 326) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ไม่เสื่อมสลายและทางที่ให้ถึงธรรมที่ไม่เสื่อมสลายแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม18 ข้อ 408: 461) พระบาลีว่า อปโลกิตํ มี 2 ประเด็น คือ
     (1) ไม่เลือนหลายไปไหน เพราะเป็นสัจจธรรมสากล
     (2) เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ อะไรที่โลกนี้มี แต่นิพพานไม่มี ปราศจากสภาพที่อยู่บนโลกนี้

     อนิทสฺสนํ แปลว่า ธรรมที่มองไม่เห็นด้วยตา มีรูปวิเคราะห์ว่า นตฺถิ จกฺขุนา ทสฺสนเมตฺถาติ อนิทสฺสนํ นิพพานเป็นธรรมที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา จึงชื่อว่า อนิทัสสนะ(โมคคัลลานเถระ, 2550 : 26) ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า อนิทสฺสนญฺ จ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ อนิทสฺสนคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษบาลี เล่ม 18 ข้อ 378 : 326) แปลว่า ภิกษุทั้งหลายเราจักแสดงธรรมที่ใครๆ ไม่พึงเห็น (ด้วยจักขุวิญญาณ) และทางที่ให้ถึงธรรมที่ใคร ๆ ไม่พึงเห็นแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 461) พระบาลีว่า อนิทสฺสนํ เป็นการปฏิเสธการเข้าถึงนิพพานโดยการประจักษ์นิยมทางประสาทสัมผัสทางกาย แต่มีสภาพเข้าถึงโดยการน้อมใจเข้าไปรู้ได้เท่านั้น

     นิปฺปปญฺจา (นิ + ป ทฺเวภาวธาตุ ปจิ ธาตุ + อ ปัจจัย) แปลว่า ธรรมที่ไม่ทำให้สงสารของสัตว์ให้เนิ่นช้า มีรูปวิเคราะห์ว่า เอตา อตฺตนิสฺสิตานํ สตฺตานํ สํสารํ ปปญฺเจนฺติ วิตฺถินฺนํ กโรนฺตีติ ปปญฺจา แปลว่า ที่ชื่อว่า ปปญฺจา เพราะทำสงสารของเหล่าสัตว์ที่อาศัยตนเนิ่นช้า คือ ยืดยาว เอตฺถ ปปญฺจาติ ตณฺหามานทิฏฺฐิโย แปลว่า ในบทว่า ปปญฺจา ได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ (พระอัคควังสเถระ, 2546 : 748) ส่วน คำว่า นิปฺปปญฺจา ใส่ นิ อุปสรรค ซึ่งมีความหมายว่า ไม่ , จึงแปลว่า "ไม่มีธรรมที่ทำให้สัตว์เนิ่นช้า" , หรือ "ไม่ทำให้กระแสจิตยืดยาวในสังสารวัฏเข้าไปสู่วิวัฏฏะ" พระบาลีว่า นิปฺปปญฺจา เป็นการสื่อถึงจิตของพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสที่ทำให้เนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ จึงทำให้พ้นจากชาติ คือ การเกิดในชาติต่อไป

     สนฺตํ (ในรูปวิเคราะห์นี้ประกอบด้วย สมุ ธาตุในความเข้าไปสงบ + ต ปัจจัย ( ลบสระที่สุดธาตุ คือ อุ ที่ มฺ เสีย อาเทศ ที่สุดธาตุ คือ ม เป็น นฺ + ต ) สำเร็จรูปเป็น สนฺตํ ) ธรรมเครื่องสงบจาก (จากราคะเป็นต้น) พระโมคคัลลานะได้แสดงรูปวิเคราะห์ สนฺตํ ว่า ราคาทีนํ สนฺตกรณตฺตา สนฺตํ แปลว่า นิพพานชื่อว่า สันตะ เพราะกระทำให้ราคะเป็นต้น สงบลงได้ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 21) พระบาลีว่า สนฺตํ จึงหมายถึง สอุปาทิเสสนิพพาน ที่กระทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายดับลง

     ปณีตํ แปลว่า ธรรมที่ถึงความเป็นประธาน คือ ประเสริฐสุด มีรูปวิเคราะห์ ปณีตํ ว่า ปธานภาวํ นีตํ = ปณีตํ (ในรูปวิเคราะห์นี้ ประกอบด้วย ป อุปสรรค บทหน้า + นี ธาตุ ในความเข้าถึง + ต ปัจจัย ลงในอรรถ อดีตกาล) แปลว่า นิพพานถึงความเป็นประธาน จึงชื่อว่า ปณีตะ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 29) พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีต นฺติ นิพพานํ ทสฺเสนฺโต อาห แปลว่าพระพุทธเจ้าตรัสแสดงนิพพานว่า “เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ อุตฺตมฏฺเฐน ปณีตํ” (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 15 ข้อ 263 : 113) นิพพาน ชื่อว่า ประณีตเพราะมีอรรถว่าประเสริฐสุด (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 13 ข้อ 377 : 174) พระบาลีว่า ปณีตํ เป็นสภาพแห่งนิพพาน ที่ประณีต ที่ปุถุชนใลกนี้สัมผัสไม่ได้

     สิวํ แปลว่า ธรรมอันเกษมหรือผู้กลัวภัยในวัฏฏสงสารพึงเสพ มีรูปวิเคราะห์บท สิวํ ว่า สํสารภีรุเกหิ เสวิตพฺพตฺตา สิวํ (สิ ธาตุ เสวายํ ในความเสพ + ว ปัจจัย = สิวะ) แปลว่า นิพพานเป็นธรรมที่ผู้กลัวภัยในสงสารพึงเสพ จึงชื่อว่า สิวะ (โมคคัลลานเถระ, 2550: 23) พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ปตฺโต สนฺติสุขํ สิวํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 32 ข้อ 393: 497) แปลว่า บรรลุนิพพานอันเป็นสันติสุข พระบาลีนี้จึงหมายถึงพระอรหันต์ที่หมดกิเลส ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขที่เรียกว่า สิวํ

     เขมํ (ขี ธาตุ ในความสิ้นไป+ ม ปัจจัย) แปลว่า เครื่องสิ้นจากโยคะ 4 ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา มีรูปวิเคราะห์ว่า ขยนฺติ เอเตนาติ เขมํ แปลว่า นิพพานเป็นเครื่องสิ้นจากโยคะ ที่ชื่อว่า เขมะ เพราะหมดภัย (นิพฺภยฏฺเฐน เขมํ ) และที่ชื่อว่า เขมะ เป็นเครื่องทำลาย โลภะ โทสะ โมหะ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 30) พระบาลีว่า เขมํ เครื่องทำลายกิเลส การทำลายกิเลสให้หมดสิ้นย่อมมีแก่พระอรหันต์เท่านั้น

     ตณฺหกฺขโย แปลว่า ธรรมที่สิ้นไปแห่งตัณหา มีรูปวิเคราะห์ว่า ตณฺหาณํ ขยเหตุตฺ ตา ตณฺหกฺขโย(ตณฺหา รัสสะ อา เป็น อะ+ ขี ธาตุ ในความสิ้นไป แปลง อี เป็น เอ อาเทศ เอ เป็น อย, ซ้อน ก หน้า ข สำเร็จรูปเป็น ตณฺหกฺขโย) แปลว่า ชื่อว่า ตัณหักขยะ เพราะเป็นเหตุสิ้นไปแห่งตัณหา (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 21) พระบาลีว่า ตณฺหกฺขโย การทำลายตัณหาให้หมดสิ้นย่อมบังเกิดแก่พระอรหันต์เท่านั้น ดังนั้น ตัณหักขยะ จึงเป็นชื่อของสอุปาทิเสสนิพพานเท่านั้น

    อจฺฉริยํ แปลว่า ธรรมที่ต้องประพฤติให้ยิ่ง มีรูปวิเคราะห์ว่า อาภุโส จริตพฺโพติ อจฺฉริโ (อา + จร + อ ปัจจัย) ธรรมที่บุคคลควรประพฤติให้ยิ่ง ชื่อว่า อัจจริยะ ประกอบด้วย อา บทหน้า แปลว่า ยิ่ง รัสสะ อา เป็น อ + จร ธาตุ ในความ ประพฤติ เปลี่ยน จร เป็น จฺฉริย = อจฺฉริยะ แปลว่า ธรรมที่ต้องประพฤติให้มากยิ่ง (โมคคัลลานเถระ, 2550: 888) เพราะนิพพานจะปรากฏแก่บุคคลที่ประพฤติโพธิปักขิยธรรมให้มากเท่านั้น ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “อจฺฉริยญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ อจฺฉริยคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม18 ข้อ 408 : 326) ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่น่าอัศจรรย์และทางที่ให้ถึงธรรมที่น่าอัศจรรย์แก่เธอทั้งหลาย” (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408: 462) พระนิพพาน หากย่อหย่อน จึงไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงมีไว้สำหรับผู้ที่ประพฤติอย่างแรงกล้า ต่อเนื่องเท่านั้น จึงชื่อว่า อัจฉริยะ





     อพฺภุตํ แปลว่า ธรรมที่ไม่เคยมี ปรากฏมาก่อน มีรูปวิเคราะห์บท ว่า ปุพฺเพ น ภ วิตฺถาติ อพฺภุตํ (น แปลง น เป็น อ+ ภู ธาตุ ในความ มี รัสสะ อู เป็น อุ ซ้อนพยัญชนะที่มีรูปไม่เสมอกัน คือ พฺ + ต ปัจจัย สำเร็จรูปเป็น อพฺภุตํ) แปลว่า สิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เคยปรากฏมาก่อน ชื่อว่า อัพภุตะ (ประกอบด้วยเครื่องปรุงไวยากรณ์ดังนี้ เพราะพยัญชนะ (คือ ภู) อยู่หลัง แปลง น เป็น อะ แปลว่า ไม่ +ภู ธาตุ ในความมี รัสสะ อู เป็น อุ เป็น ภุ แล้วซ้อนพยัญชนะที่มีรูป ไม่เสมอกัน สำเร็จรูป อพฺภุ + ต ปัจจัย = อพฺภุตํ) ดังมีพระพุทธวจนะว่า อพฺภุตญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ อพฺภุตคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 326) ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ไม่เคยปรากฏและทางที่ให้ถึงธรรมที่ไม่เคยปรากฏแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 463) พระบาลีว่า อพฺภุตํ เป็นธรรมที่ไม่ปรากฏมาก่อน คือ ศาสนาทั้งหลายในโลกไม่ได้ค้นพบมาก่อน พระองค์ค้นพบนิพพานด้วยพระองค์เดียว จึงชื่อว่า อพฺภุตํ

     อนีติกํ แปลว่า ปราศจากทุกข์ อันตราย บ่วง มีรูปวิเคราะห์บท อนีติกํ ว่า สตฺเต สํสารํ เนตีติ นีตีติ ลทฺธนามาย ตณฺหาย อภาโว อนีติกํ (น เปลี่ยน น เป็น อะ + นีติ + ก ปัจจัย) นิพพานชื่อว่า อนีติกะ เพราะไม่มีตัณหาที่ชื่อนีติ ที่นำสัตว์ไปสู่สงสาร ดังมีพุทธวจนะตรัสว่า ปญฺจนฺนํ ขนฺธานํ นิโรโธ อนีติกํ นิพพานํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 31 ข้อ 735 : 631) แปลว่า ความดับแห่งขันธ์ 5 ชื่อว่า อนีติกะ ได้แก่ นิพพาน แสดงว่า ตัวนำไปสู่ภพคือการเกิดคือ ตัณหา เมื่อหมดตัวนำไปสู่ภพ คือ ตัณหา ที่เรียกว่า อนีติกธรรม ก็เข้าถึงนิพพาน

    นิพฺพานํ สภาวธรรมที่พ้นจากตัณหา มีรูปวิเคราะห์ว่า
     (1) วานสงฺขาตาย ตณฺหาย นิกฺขนฺตตฺตา นิพฺพาติ นิพฺพานํ แปลว่า สภาพที่ดับสนิทเพราะหลุดพ้นจากตัณหาที่เรียกว่า วานะ
     (2) เอเตน ราคคฺคิอาทิโกติ นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมเครื่องดับไฟคือราคะเป็นต้น (โทสะ โมหะ) (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 20)
     พระบาลีว่า นิพฺพานํ เป็นชื่อของนิพพานโดยตรง หมายถึง สภาพที่ไม่มีจิตที่ประกอบด้วยตัณหา ที่ชื่อว่า วานะ อันเป็นเครื่องผูกมัด แท้ที่จริง นิพพานคือ สภาวะที่ปราศจากตัณหา เมื่อหมดตัณหา 3 คือ กาม ภวะ วิภวะ ย่อมเข้าถึงพระนิพพานได้ทันที

     อพฺยาปชฺโฌ แปลว่า ธรรมที่ทุกข์เบียดเบียนไม่ได้ ธรรมที่ไม่มีความพินาศ มีรูปวิเคราะห์บท อพฺยาปชฺโฌ ว่า ตสฺส ภาโว พฺยาพชฺฌํ , ทุกฺขสฺส ปีฬนาทฺยตฺโถ, ตํ ยตฺถ นตฺถิ, ตํ อพฺยาพชฺฌํ แปลว่า ความเป็นธรรมที่บีบคั้น ชื่อว่า พยาพัชฌะหมายความว่า ทุกขสัจมีความบีบคั้นเป็นต้น, นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีทุกขสัจนั้น จึงชื่อว่า อัพยาพัชฌะ (โมคคัลลานเถระ,2550 : 28) พระบาลีว่า อพฺยาพชฺฌํ เป็นสภาพแห่งนิพพานที่หมดจากการบีบคั้นกดดันจากกิเลสและภพชาติ เพราะชาติเป็นทุกขสัจจะ

     วิราโค แปลว่า ธรรมที่ปราศจากราคะ มีรูปวิเคราะห์บท วิราโค ว่า สพฺพสงฺขารส มโถ สพฺพูปธิปฏิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมที่สงบระงับสังขารทั้งปวงสลัดออกซึ่งอุปธิทั้งปวง สิ้นตัณหา คลายกำหนัด ดับสนิท ปราศจากตัณหา (นิพพาน) (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 29) พระบาลีนี้จึงหมายถึงพระอรหันต์ที่หมดจากราคะแล้ว เมื่อหมดราคะก็ถึงนิพพาน

     สุทฺธิ และวิสุทฺธิ (ในรูปวิเคราะห์ วิสุทฺธิ นี้ประกอบด้วย วิ อุปสรรค บทหน้า+สุธ ธาตุ ในความบริสุทธิ์, หมดจด + ติ ปัจจัย + อาเทศ(เปลี่ยน) ตฺ (ที่ ติ ปัจจัย) กับที่สุดธาตุ คือ ธ เป็น ทฺธ (เพราะเป็นวรรคเดียวกัน) = สำเร็จรูป เป็น วิสุทฺธิ ในกรณีที่เป็น สุทฺธิ ขณะที่ตั้งรูปวิเคราะห์ก็ตัด วิ ออกเสีย ว่า สุชฉนฺติ สตฺตา เอตาย ราคาทิมเลหีติ สุทฺธิ) แปลว่า ธรรมหมดจดจากมลทินคือกิเลส พระโมคคัลลานเถระ ได้แสดงรูปวิเคราะห์บท สุทฺธิ และ วิสุทฺธิว่า วิสุชฉนฺติ สตฺตา เอตาย ราคาทิมเลหีติ วิสุทฺธิ แปลว่า นิพพานยังสัตว์ให้หมดจดจากมลทิน มีราคะเป็นต้น จึงชื่อว่า วิสุทธิ (โมคคัลลานเถระ, 2550: 30) มีปรากฏในพระไตรปิฎก เช่น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ (สุทฺธิ) ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมองจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า “หลุดพ้นแล้ว” รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว  อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 13 ข้อ 233 : 275) พระบาลีทั้งสองหมายถึงพระอรหันต์ที่มีจิตบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง ย่อมเข้าถึงนิพพาน

     วิมุตติ และมุตฺติ แปลว่า พ้นจากสังขาร (โลก) พระโมคคัลลานะได้แสดงรูป วิเคราะห์บท วิมุตฺติ ว่า สพฺพสงฺขารา วิโมจนโต = วิมุตฺติ แปลว่า เพราะพ้นจากสังขารทั้งปวง นิพพาน จึงชื่อว่า วิมุตติ ส่วน มุตฺติ นั้น แปลว่า ธรรมอันหลุดพ้นจากกิเลส มีรูปวิเคราะห์ ว่า ตีหิ ภเวหิ มุตฺตาย มุตฺติ นิพพาน ชื่อว่า มุตติ เพราะพ้นจากภพทั้ง 3 (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 30) พระบาลีว่า มุตฺติ และ วิมุตฺติ การหลุดพ้นจากอัตตา อินทรีย์ (อินทรีย์ 22) พระบาลีทั้งสองหมายถึงพระอรหันต์ที่ละสังขารไปแล้ว เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน

     อนาลโย แปลว่า ธรรมที่ปราศจากตัณหา มีรูปวิเคราะห์บท อนาลโย ว่า นตฺถิ อาลโย ตณฺหา เอตฺถาติ อนาลยํ แปลว่า นิพพานไม่มีตัณหา จึงชื่อว่า อนาลยะ (โมคคัลลานเถระ, 2550, น. 23) ดังมีพระพุทธดำรัสว่า อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ โย ตสฺสา เยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย (พระไตรปิฎกภาษาบาลีเล่ม 4 ข้อ 14 : 14.) ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วย วิราคะ ความสละ ความสละทิ้ง ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา (พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่ม 4 ข้อ 14 : 22) ผู้ที่ปราศจากตัณหาคือพระอรหัดำนต์ที่รงชีวิตอยู่ เมื่อปราศจากตัณหา ย่อมสัมผัสพระนิพพาน

     ทีปํ แปลว่า เป็นที่พึ่งแก่หมู่สัตว์ มีรูปวิเคราะห์บทว่า ยถา ปกติทีโป นทีโสเตน วุยฺหมานานํ ปติฏฺฐา โหติ เอวมิทมฺปิ นิพฺพานํ สํสารมโหเฆน วุยฺหมานานํ ปติฏฺฐาติ ทีโป วิยาติ ทีโป แปลว่า นิพพานเป็นที่พึ่งแก่หมู่สัตว์ผู้ถูกห้วงน้ำในสงสารพัดไป ดุจเกาะเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ ผู้ถูกกระแสคลื่นพัดพาไป จึงชื่อว่า ทีปะ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 20) ดังมีพระบาลีตรัสว่า ทีปญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ ทีปคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 326)แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็นเกาะและทางที่ให้ถึงธรรมที่เป็นเกาะแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 464) พระบาลีว่า ทีปะ เป็นที่พึ่งสำหรับภัยวัฏฏสงสารที่น่ากลัว พระนิพพานจึงชื่อว่าเกาะที่พึ่งที่ปลอดภัยในวัฏฏะสงสาร

     เลณํ แปลว่า ธรรมที่หลบซ่อนหรือหลีกจากภัยในสงสาร มีรูปวิเคราะห์บท เลณํ ว่า นิลียนฺติ เอตฺถ สํสารภยภีรุกาติ เลณํ แปลว่า นิพพานเป็นที่หลีกเร้นจากความกลัวคือภัยจากสังสาร จึงชื่อว่า เลณะ (โมคคัลลานเถระ, 2550: 20) ดังมีพุทธองค์ตรัสไว้ในอนาสวาทิสูตรว่า เลณญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ เลณคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 326) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่เร้นและทางที่ให้ถึงธรรมเป็นที่เร้นแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 464) พระบาลีนี้จึงหมายถึงพระนิพพานที่เป็นที่หลีกเร้นภัยแห่งวัฏฏสงสารที่น่ากลัว

     ตาณํ แปลว่า ธรรมเครื่องรักษา หรือ ธรรมเป็นเครื่องต้านทาน มีรูปวิเคราะห์บท ตาณํ ว่า ตายติ รกฺขติ อปายาทิโตติ ตาณํ นิพพานปกป้องบุคคลให้พ้นจากอบายเป็นต้นจึงชื่อว่า ตาณะ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 21) ดังมีพระบาลีว่า ตาณญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ ตาณคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 326) แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ต้านทานและทางที่ให้ถึงธรรมเป็นที่ต้านทานแก่เธอทั้งหลาย”(พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408: 464) พระบาลีว่า ตาณํ ต้านทานอกุศลและไม่ให้ตกไปในอบาย

     สรณํ แปลว่า ธรรม(นิพพาน) เป็นที่พึ่งของพระอริยะ มีรูปวิเคราะห์บท สรณํ ว่าเยน จตฺตาโร มคฺคา โอธิโส กิเลเส สรนฺติ หึสนฺติ ตํ ธมฺมํ สรณํ แปลว่า นิพพานเป็นเครื่องกำจัดกิเลสแต่ละระดับของมรรค 4 หรือ มรรคธรรม 4 เป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยเฉพาะฉะนั้น ธรรมนั้น (นิพพาน) จึงชื่อว่า สรณะ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 25) พระบาลีว่า สรณํ คือ พระนิพพานจึงเป็นเครื่องกำจัดกิเลส ได้แก่มรรคจิต 4 คือ พระโสดาปัตติมรรค สกทาคา มิมรรค อนาคามิมรรค อรหันตมรรค แสดงว่า จิตที่เข้าถึงพระนิพพานนั้นย่อมสัมผัสแต่พระโสดาบันขึ้นไป

    ปรายนํ ธรรมที่พระอริยะเข้าถึง มีรูปดังนี้ ปเรหิ อุตฺตเมหิ อริยปุคฺคเลหิ อยิตพฺพํ คนฺตพฺพนฺติ ปรายนํ แปลว่า นิพพานอันพระอริยะเจ้าผู้ประเสริฐพึงเข้าถึง ชื่อว่า ปรายนะ (โมคคัลลานเถระ, 2550: 24) พระบาลีว่า ปรายนญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ ปรายนคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 409 : 328) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้าและทางที่ให้ถึงธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 409 : 464) พระบาลีว่า ปรายนํ นี้ ที่มีความหมายว่า พระอริยะเจ้าพึงเข้าถึง ปุถุชนเข้าถึงไม่ได้

(ยังมีต่อ...)
5  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 06:40:16 am
.



มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (1)
จาก ‘รัตนพิมพวงศ์’ ถึง ‘พระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 4’


กลางปี 2564 ช่วงที่สถานการณ์โควิดเข้าขั้นวิกฤต ดิฉันได้ชวนเพื่อนพ้องน้องพี่นักวิชาการหลากหลายสำนัก มาเปิดประเด็นถกวิพากษ์เรื่อง “พระแก้วมรกต” กันในคลับเฮาส์ เพราะเป็นหัวข้อที่ “พูดคุยกันกี่ครั้งก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ มีแต่จะเพิ่มมุมมองใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกันได้เรื่อยๆ โดยที่ใครอยากพูดมิติไหนก็เชิญตามสะดวก ไม่มีใครถูกใครผิด”

นำมาซึ่งภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ในแบนเนอร์ที่ท่านเห็น คือโปรแกรมเสวนาคลับเฮาส์ในค่ำคืนของวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ซึ่งเราเสวนากันอย่างเลื่อนไหลมันส์ในอารมณ์ยิ่งนัก ตั้งแต่ 1 ทุ่มถึงเที่ยงคืนครึ่ง นานกว่า 5-6 ชั่วโมง โดยที่คนติดตามฟังสดก็ไม่มีใครยอมล่าถอย

เพื่อให้ความตั้งใจของวิทยากรที่เสียสละเวลาช่วยกันสืบค้นข้อมูลเชิงลึกเรื่องพระแก้วมรกตในมิติต่างๆ ในครั้งนั้นไม่สูญเปล่า ดิฉันในฐานะแม่งานหลัก จึงขอทำหน้าที่ถอดคลิปเสียง จับประเด็นสาระสำคัญมาขยายความต่อ

ตอนแรกนี้ เป็นการเปิดประเด็นของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ผู้คร่ำหวอดเรื่อง “พุทธปฏิมาในสยาม อินเดีย และอุษาคเนย์” แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยากรท่านแรกนี้ได้รับโจทย์จากดิฉันให้อินโทรเรื่อง “เส้นทางของพระแก้วมรกตจากปาฏลีบุตรสู่สยาม”



แบนเนอร์เก่าเมื่อปี 2564 รายการเสวนาคลับเฮาส์ ประเด็น พระแก้วมรกต รวบรวมวิทยากรคับคั่ง


ตำนานฝ่ายล้านนา vs เอกสารฝ่ายรัตนโกสินทร์

ก่อนที่ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จักนำเข้าสู่เรื่องเส้นทางจากปาฏลีบุตร ท่านขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ข้อมูล” หรือ “องค์ความรู้” เกี่ยวกับพระแก้วมรกตที่คนไทยรับรู้ตราบจนทุกวันนี้กันนั้น ว่ามีที่มาจากเอกสารสามส่วนหลักๆ

ส่วนแรก คือตำนานฝ่ายล้านนา จำแนกได้เป็น 2 เล่ม คือ
    1. รัตนพิมพวงศ์
    2. ชินกาลมาลีปกรณ์ ทั้งคู่แต่งเป็นภาษาบาลี

ว่าด้วย “รัตนพิมพวงศ์” รจนาโดย พระพรหมราชปัญญา ภิกษุชาวล้านนา น่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-ต้น 22 ตำนานเล่มนี้มีความตั้งใจที่จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระแก้วมรกตโดยตรง ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยสองครั้ง ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระธรรมปรีชา (แก้ว) ครั้งที่สองสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)

เวอร์ชั่นหลังนี้เอง กรมศิลปากรนำไปตีพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วนภายใต้ชื่อที่เรียบเรียงใหม่ว่า “ตำนานพระแก้วมรกต” จนเป็นที่รู้จักของคนไทยในวงกว้าง

ในขณะที่ “ชินกาลมาลีปกรณ์” รจนาโดย พระรัตนปัญญาเถระ เมื่อปี 2060 (แต่งขึ้นก่อน รัตนพิมพวงศ์) เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ตั้งใจจะเน้นเรื่องประวัติพระพุทธศาสนา กับเหตุบ้านการเมืองในล้านนามากกว่า

ดังนั้น ประเด็นเกี่ยวกับพระแก้วมรกตจึงนำเสนอแบบค่อนข้างย่นย่อ กล่าวคือ มีเรื่อง “พระรัตนปฏิมา” แทรกอยู่เพียง 7 หน้าเท่านั้น

@@@@@@@

ส่วนที่สอง คือเอกสารฝ่ายล้านช้าง เรื่องราวของพระแก้วมรกตมาปรากฏอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากทรงตีเวียงจันท์ได้ และนำพระแก้วมรกตมาถวายแด่พระเจ้ากรุงธนบุรี กระทั่งต่อมาย้ายราชธานีไปอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพฯ พระองค์ยกทัพไปตีล้านช้างอีกครั้งในปี 2331 ได้ตำนานเรื่องพระแก้วมรกตฉบับล้านช้างกลับมาสู่ราชสำนักสยาม ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีการแปลต้นฉบับจากภาษาลาวมาเป็นภาษาไทย

ส่วนนี้ถือเป็น “ภาคขยายความ” ต่อจากรัตนพิมพวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ ที่เล่าเหตุการณ์เรื่องพระแก้วมรกตจบลงเพียงแค่ประทับอยู่ที่ลำปาง (เขลางค์) และพระเจ้าติโลกราชกำลังอัญเชิญมาสู่เชียงใหม่เท่านั้น

ถือว่า ตำนานพระแก้วมรกตฉบับล้านช้าง ช่วยมาเติมเต็มเหตุการณ์อีกช่วงที่ขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของล้านนา นั่นคือ เหตุการณ์หลังจากที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่ไปไว้ที่หลวงพระบาง จนกระทั่งชาวลาวได้สร้างวัดพระแก้วถวายแด่พระแก้วมรกตที่เวียงจันท์



ตำนานพระแก้วมรกต หรือ “รัตนพิมพวงศ์” ของ “พระพรหมราชปัญญา” ฉบับปริวรรตสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เป็นเอกสารที่นำเสนอเรื่องพระแก้วมรกต เชิงอภินิหาร ตำนานกึ่งประวัติศสตร์ จนเป็นที่แพร่หลายในวงกว้างของสังคมไทย


ส่วนที่สาม คือพระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 4 เป็นพระราชนิพนธ์ที่มีความน่าสนใจยิ่งสะท้อนถึง การปะทะสังสรรค์ต่อสู้กันทางความคิดระหว่าง “ความศรัทธาทางพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า” ของคนรุ่นก่อนแบบเน้นให้เชื่อโดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามใดๆ ปะทะกับ “องค์ความรู้ใหม่ของโลกสากล” ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ซึมซับมาจากชาวตะวันตก จึงพยายามจะให้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ต่อองค์พระแก้วมรกตอีกด้วย

อาจารย์รุ่งโรจน์วิเคราะห์ว่า จุดมุ่งหมายของการเขียนรัตนพิมพวงศ์ก็ดี ชินกาลมาลีปกรณ์ก็ดี ล้วนยกย่องเชิดชูว่าพระแก้วมรกตมีความสำคัญอย่างสูงสุด ประหนึ่งว่า “มาตรแม้นใครได้ไหว้พระแก้วมรกตแล้ว ก็เท่ากับได้ไหว้พระพุทธเจ้าองค์จริง”

โดยตำนานทั้งสองชิ้นนี้ระบุว่า มีการบรรจุ “พระบรมสารีริกธาตุ” ถึง 7 ชิ้น ภายในองค์พระปฏิมาแก้วมรกตด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประกาศให้รู้ว่า หินเขียวแก้วมณีองค์นี้ หาใช่ประติมากรรมดาดๆ แบบพระอิฐพระปูนทั่วไปไม่

หากแต่ “มีชีวิตจริงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่” เมื่อมนุษย์กราบไหว้แล้ว สามารถสัมผัสได้ว่า พระแก้วมรกตจักเป็นที่พึ่งของปวงสัตว์โลกได้อย่างแท้จริง

@@@@@@@

ในขณะที่มุมมองต่อพระแก้วมรกตของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 กลับเปลี่ยนแปรไป พระองค์ไม่ได้เน้นว่าพระแก้วมรกตจะต้องเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้าจริงแท้แค่ไหนหรือไม่ หากมองเห็นว่า คุณค่าของพระแก้วมรกตที่แท้จริงคือ เป็นเครื่องสะท้อนถึงบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ครอบครองมากกว่า ดังเช่นบางถ้อยบางประโยคที่พระราชนิพนธ์ไว้

   “ด้วยอำนาจและพระบารมีของสมเด็จพระเจ้ามหากษัตริย์ศึก (หมายถึงรัชกาลที่ 1 แต่การที่รัชกาลที่ 4 เรียกด้วยตำแหน่งนี้ เนื่องจากตอนรัชกาลที่ 1 ได้พระแก้วมรกตมา ยังดำรงพระอิสสริยยศดังกล่าว) ซึ่งควรเป็นผู้ครอบครองปฏิบัติบูชาพระรัตนปฏิมาพระองค์นี้ เจ้าร่มขาวหลวงพระบางมาสวามิภักดิ์ ทั้งยังปราบเวียงจันท์ได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ามหากษัตริย์ศึกได้เวียงจันท์ จึงได้อัญเชิญพระปฏิมาองค์นี้พรอ้มพระบางมาด้วย”

อาจารย์รุ่งโรจน์ชี้ให้เห็นว่า ตัวคัมภีร์ทางศาสนา กับเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกต ผลิตขึ้นต่างสถานที่ ต่างช่วงเวลากัน ตำนานฝ่ายล้านนาเขียนขึ้นเพื่อเน้นว่า พระพุทธเจ้าคือพระแก้วมรกต พระแก้วมรกตคือพระพุทธเจ้า

ในขณะที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 มองว่า ความสำคัญของพระแก้วมรกตไม่ได้อยู่ที่จิตวิญญาณขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าต้องประทับอยู่ในองค์พระปฏิมาหรือไม่ ทว่า อยู่ที่ใครที่ได้ครอบครองพระแก้วมรกตคือผู้ที่มีบุญญาบารมีในการปกครองบ้านเมืองมากกว่า



รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศิลป์อินเดีย ลังกา อุษาคเนย์ สยาม และล้านนา


พระแก้วมรกตสร้างในล้านนา อ้างอิงความเก่าถึงอินเดีย

อาจารย์รุ่งโรจน์ขอให้ทุกท่านช่วยกันพิเคราะห์รูปลักษณ์ “พระแก้วมรกต” กันอย่างละเอียดลอออีกครั้ง เชื่อว่าคงไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า พุทธศิลป์เช่นนี้จักไม่ใช่ “ศิลปะล้านนา” ซึ่งในอดีตเคยมีผู้ศึกษาวิเคราะห์กันไว้แล้วหลายท่าน อาทิ ท่านอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ก็ดี ท่านศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์คนสำคัญแห่งคณะโบราณคดีก็ดี

ความเห็นเรื่องแหล่งผลิตพระแก้วมรกต ณ ปัจจุบันนี้แทบจะเป็นฉันทามติแล้วว่า หากไม่ทำขึ้นที่เชียงแสน เชียงราย ก็อาจทำขึ้นที่เมืองพาน พะเยา 3-4 แห่งที่ประติมากรมีความถนัดในการแกะสลักหินเท่านั้น

เมื่อเรายอมรับทฤษฎีนี้กันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ มีเหตุผลอันใดเล่า จึงได้เขียนตำนานให้ลากยาวไปไกลมากถึงอินเดีย ลังกา พุกาม เขมร ทั้งๆ ที่พระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นของอาณาจักรล้านนาแท้ๆ ดังนั้น เราควรหมายเหตุไว้ว่า น่าจะมีนัยยะหรือวาระซ่อนเร้นบางประการแอบแฝงอยู่

หันมาดูปฐมบทของการศึกษาพระแก้วมรกตในคัมภีร์ “รัตนพิมพวงศ์” มีการเอ่ยถึงนามของพระภิกษุที่มีชีวิตอยู่จริงในยุคหลังพุทธกาลลงมาประมาณ 5-600 ปี นาม “พระนาคเสน” สะท้อนให้เห็นว่า พระพรหมราชปัญญา ได้แรงบันดาลใจจากคัมภีร์ศาสนาเรื่อง “มิลินทปัญหา” (หรือที่เรารู้จักในนาม ตอบปัญหาพญามิลินทร์) แทรกปนอยู่ด้วย

@@@@@@@

เนื้อเรื่องตอนแรกๆ จึงมีบทบาทของ “พระนาคเสน” ปรากฏอยู่ด้วย โดยตำนานระบุว่า พระภิกษุชื่อนาคเสนชาวเมืองปาฏลีบุตร (เป็นการเขียนแบบสันสกฤต หากเขียน “ปาตลีปุต” เป็นแบบบาลี) ต้องการสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นเครื่องสืบอายุพระพุทธศาสนา และประสงค์จะสร้างด้วยวัสดุประเภท “แก้ว”

เมื่อพระอินทร์(ท้าวสักกเทวราช) และพระเวสสุกรรม(วิสสุกรรม) สดับดังนั้น จึงขันอาสาหาแก้วมณีจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์ลูกหนึ่งชื่อ “เขาวิบูล” มาให้ แก้วดวงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “อมรโกฏ” บ้างเขียนว่า “อมรกต” แปลว่าแก้วที่สร้างขึ้นด้วยเทวดา(อมร = พระอินทร์, เทวดา ส่วน โกฏ, กต = การสร้าง ผู้สร้าง การกระทำ)

ไปๆ มาๆ ตัว อ หายไป เหลือแค่ มรโกฏ กร่อนเป็น “มรกต” เท่านั้น ความหมายจึงไปพ้องกับอัญมณีประเภทหนึ่งที่เป็นหินเขียว กลายเป็น Emerald Buddha ซึ่งสอดคล้องกับสีของหินเขียวที่ใช้สร้างพระแก้วพอดี ในความเป็นจริงนั้น วัสดุที่ใช้สร้างพระแก้วมรกตเป็นหินในกลุ่มคล้ายหยก (Jade) มากกว่าที่จะเป็น “มรกต” ตามความหมายของ Emerald

ในขณะที่ท้าวสักกะและพระวิสสุกรรม แปลงกายมาเป็นช่างแกะสลักหินเขียวอยู่นั้น ตำนานระบุว่า พระนาคเสนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 7 องค์ ให้เข้ามาสถิตในองค์พระพุทธรูปด้วย โดยฝังกระจายไว้ 7 จุดดังนี้

    1. พระเมาลี (มวยผม)
    2. พระนลาฏ (หน้าผาก)
    3. พระอุระ (ชินกาลระบุว่า อุระ แต่รัตนพิมพวงศ์ บอกว่า พระนาภี-สะดือ)
    4-5. ข้อพระหัตถ์ 2 ข้าง และ
    6-7. พระชานุ (เข่า) 2 ข้าง

เข้าใจว่าความเชื่อในเรื่องการฝังพระบรมสารีริกธาตุ 7 จุดตลอดองค์พระปฏิมาจากตำนานพระแก้วมรกตเรื่องนี้เอง ต่อมาได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของช่างล้านนากลุ่มหนึ่ง (อาจสังกัดป่าแดงหรือไม่?) ในการสร้างพระพุทธรูป ซึ่งยุคสมัยหนึ่งนิยมฝังหมุดหรือใส่ของมีค่า แล้วเอาสลัก (แส้/เดือย) เชื่อมชิ้นส่วนองค์พระปฏิมาที่หล่อแยก 7 ส่วนบ้าง 9 ส่วนบ้าง ให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว อันเป็นที่มาของ พระบัวเข็ม และพระแสนแส้ต่างๆ

ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เคยพยายามตรวจสอบค้นหาความจริง พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์ไว้ในพระบรมราชาธิบายว่า ไม่พบร่องรอยของการฝังพระบรมสารีริกธาตุ 7 จุดในองค์พระแก้วมรกต ตามที่ตำนานรัตนพิมพวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ระบุไว้แต่อย่างใดเลย •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15-21 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2567
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_753719
6  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 06:22:17 am
.



สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว



สิบฯฯวันฯแอ่วฯหาฅ฿นฯเถั้า เกั้าวันฯแอ่วฯหาฅ฿นฯแก่ เหิลฯอฯอนั้นฯค่อฯยฯแว่หาร้างฯหาสาวฯ



สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นก้อยแว่หาฮ้างหาสาว”

คนเถ้า หมายถึง ผู้สูงวัยที่มีความรู้ หรือเป็นปราชญ์ชาวบ้าน
คนแก่ หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ในทางปกครอง เช่น แก่บ้าน คือ ผู้ใหญ่บ้าน แก่วัด คือ ผู้ที่มีหน้าที่จัดการงานต่างๆ ของวัด แก่เหมืองฝาย คือ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเหมืองฝายต่างๆ
ร้าง หมายถึง หญิงที่หย่ากับผัว

ชาวล้านนามีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ถ้าครอบครัวใดมีบุตรเป็นชาย เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนจบชั้นประถมศึกษาภาคบังคับแล้ว หากไม่ได้ศึกษาต่อ หรือมีเวลาหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว มักจะให้บุตรหลานบรรพชาเป็นสามเณร หากลาสิกขาออกมาเรียกว่า “น้อย” หากไม่ลาสิกขาออกมา เมื่อมีอายุครบก็จะให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

หากบวชไม่นานลาสิกขาออกมาเรียกว่า “หนาน”




ระฯบาฯช์ญฯล้านฯนาฯ “ระฯพสิริมังคฯลาจาร์ยฯ”
อ่านว่า ผาดล้านนา พะสิริมังก๊ะลาจ๋าน
แปลว่า ปราชญ์ล้านนา พระสิริมังคลาจารย์

ล้านนาในอดีต พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจำนวนมาก คัมภีร์ต่างๆ ที่ปราชญ์ได้รจนาขึ้น เป็นต้นแบบของการศึกษาภาษาบาลีสืบมา เช่น คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ที่แต่งโดย พระสิริมังคลาจารย์ เป็นวรรณคดีบาลีที่ได้รับการยกย่อง และเป็นคัมภีร์สำหรับศึกษาของพระภิกษุประโยค เปรียญธรรม 4-7 วัด จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของพระภิกษุ สามเณร

โดยมีผู้สอนที่ได้รับการถ่ายทอดจากตำราโบราณ หรือพระภิกษุที่บวชมานาน ที่เรียกว่า “แก่พรรษา” เมื่อลาสิกขาออกมาแล้ว “น้อย” หรือ “หนาน” เหล่านั้น ก็มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ตามที่ได้รับการถ่ายทอด เพื่อนำมาประพฤติ ปฏิบัติ ในวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมและประเพณีของชาวล้านนา

@@@@@@@

อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ได้รับทางธรรมอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในสังคมของชาวโลก จึงมีคำสอนของพ่อแม่ที่สอนลูกหลานว่า “สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว” เมื่อ “หนาน” ได้ลาสิกขาจากพระมาแล้ว ในเวลา 1 เดือน ถ้านับตามจันทรคติ ใน 30 วัน ในข้างขึ้น หรือ 29 วันในข้างแรม หรือใน 30 วัน หรือ 31 วัน ในปฏิทินสากล

หากต้องการความรู้ด้านต่างๆ ให้ไปศึกษาจากผู้ที่มีอายุ เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ประมาณ 10 วัน อีก 9 วัน ให้ไปหาความรู้ทางด้านการปกครอง จากผู้ที่มีตำแหน่งและได้รับการยอมรับ ให้เป็น “แก่”

ที่เหลือจากนั้นจึงค่อยไปมองหาคู่ครอง ซึ่งอาจจะเป็นสาว หรือแม่ม่ายหย่าผัว เพราะถ้าบวชนานๆ โดยไม่มีคู่หมายมาก่อน ผู้หญิงในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็คงจะแต่งงานไปก่อนแล้ว เหลือแต่ หญิงม่าย ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า “ส้มกับแม่มาน หนานกับแม่ร้าง” หมายถึง ของเปรี้ยวคู่กับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนหนานนั้นคู่กับแม่ม่าย เป็นต้น

แม้ว่าคำสอนของพ่อแม่ล้านนาจะมีมานานแล้วก็ตาม ถ้านำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน ก็ยังคงใช้ได้ เพราะหากไม่มีความรู้ความสามารถ หรือไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนให้เชี่ยวชาญ การที่จะดำรงชีวิตให้มีความสุขสบายก่อนที่จะแต่งงานคงเป็นไปได้ยากในสังคมที่มีการแข่งขัน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น ค่านิยมของผู้คนก็เปลี่ยนไปตามฐานะของแต่ละครอบครัว •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : ล้านนาคำเมือง
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_754883
7  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดแทบแตก แห่ร่วมพิธี เป่ายันต์เกราะเพชร วัดดังนครปฐม เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 06:09:47 am
.



วัดแทบแตก แห่ร่วมพิธี เป่ายันต์เกราะเพชร วัดดังนครปฐม เปิดเลขเด็ด

วัดแทบแตก กว่า 3,000 คน แห่ร่วมพิธี เป่ายันต์เกราะเพชร วัดดังนครปฐม ศิลปิน-ดารามาด้วย เสียงกรีดร้องดังสนั่น รถติดยาว 3 กิโลเมตร เปิดเลขเด็ด

วันที่ 14 เม.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่วัดสว่างอารมณ์ แคแถว ต. ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม พระครูยติธรรมานุยุต หรือ หลวงพ่อแป๊ะ เจ้าอาวาสวัด เกจิชื่อดัง ได้ประกอบพิธีเป่ายันต์เกราะเพชร โดยถือฤกษ์ดี วันเสาร์ 5 เดือน 5 ซึ่งมีเพียงแค่ปีละครั้ง

ประกอบกับเป็นวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ไทยในปี 2567 และยังเป็นวันหยุดเสาร์ด้วย ทำให้สาธุชน และบรรดาข้าราชการ ศิลปิน ดารา นักร้อง ที่ทราบข่าวต่างเดินทางมาป็นจำนวนมากเพื่อเข้าพิธี เป็นการเสริมสร้างความเป็นศิริมงคล





สำหรับพิธีดังกล่าวนั้น จัดขึ้นที่บริเวณข้างเมรุ ลานกว้างทางขึ้นศาลาการเปรียญ ซึ่งบรรจุผู้คนได้ 1,000 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้คนเดินทางมาเข้าพิธีมากจนทางวัดต้องขยายพื้นที่ไปยังใตัถุนศาลาการเปรียญ และยังต้องขยายไปที่ลานไถ่ชีวิตโคกระบือรองรับสาธุชนอีกกว่า 3,000 คน

โยงสายสิญจน์จากที่ประกอบพิธี เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมพิธีนั้นโยงสายสิญจน์สีขาวไว้บนศีรษะผูกกับผ้ายันต์ท้าวเวสสุวรรณสีขาวเพื่อความเข้มขลัง ทำให้บรรยากาศคึกคักผู้คนที่เข้าพิธีถึงแม้จะนั่งตากแดดก็ยอม ส่วนด้านการจรจร รถติดยาวกว่า 3 กิโลเมตร ที่จอดรถแน่นขนัดจนต้องระบายรถไปจอดตามบ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ข้างเคียงวัด

ก่อนพิธีจะเริ่มขึ้นเหล่าศิลปิน ดารา นักร้อง รวมถึงบรรดาข้าราชการได้ทยอยกันเข้ามาภายในพิธี เช่น อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ, โบนัส อโณมา นักร้องศิลปินชื่อดังสังกัด แกรมมี่โกลด์ หรือ โบนัส บุณฑริกา และ ปาร์ค ภัทรพงศ์ นักร้องลูกทุ่งดัง แชมป์ลูกทุ่งไอดอลซีซั่น 4 พ.ต.อ.พายัพ โสธรางกูล ผกก.สภ.นคคชัยศรี เข้าร่วมพิธี

โดยไฮไลต์ที่สาธุชนต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ อาจารย์ธนิสร์ ได้เดินทางมาเป่าขลุ่ยถวายเทพเทวดาในงานนี้อีกด้วย






สำหรับพิธีเป่ายันต์เกราะเพชร พระครูยติธรรมานุยุติ เป็นผู้ประกอบพิธีด้วยตน โดยมีพราหมณ์หลวงเป็นผู้กล่าวองค์การบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน เพื่อความเข้มขลัง ตามตำรับโบราณของ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ต้นตำรับยันต์เกราะเพชร มีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ที่มีขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

หากผู้ที่ได้เข้าพิธีจะช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งอัปมงคลที่อยู่ในร่างกาย ล้างอาถรรพ์ สลายสิ่งที่ไม่ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคภัย ไข้เจ็บ โดนคุณไสยต้องเสน่ห์มนต์ดำ จะมลายหายไป และเป็นการเสริมบารมี

บางรายเกิดอาการกรีดร้องคำราม ไม่รู้สึกตัว บ้างคล้ายลิง หนุมาน บ้างคล้ายเสือคำราม บางรายเป็นฤาษี คนแก่มีอายุมาก บังคับตัวเองไม่ได้ พระเกจิที่เข้าร่วมพิธีต้องประพรมน้ำมนต์ให้อยู่ในอาการสงบด้วย ตามความเชื่อ ผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ จะทำให้แคล้วคลาดปลอดจากภยันตราย ขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้ออกไป








หลังเสร็จสิ้นหลวงพ่อแป๊ะได้ประพรมน้ำมนต์และเจิมหน้าผากให้ เพื่อความเป็นศิริมงคลให้กับผู้เข้าพิธีทุกคน แต่ยังมีสาธุชนที่เดินทางมาไกลจากจังหวัดต่าง ๆ ยังมารอขอให้หลวงพ่อแป๊ะเจิมอักขละยันต์หลังมือให้ด้วยนับร้อยคนในจำนวนนี้เหล่าศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง ต่างก็เข้าเจิมยันต์ด้วย

ที่สาธุชนและบรรดานักเล่นตัวเลขต่างก็เฝ้ารอดูว่า หลวงพ่อแป๊ะจะให้โชคลาภกับใคร โดยก่อนที่ศิลปินจะเดินทางกลับ หลวงพ่อแป๊ะได้เรียกอาจารย์ธนิสร์, โบนัส อโณมาเข้าพบพร้อมกับให้พร

รวมถึงมอบธนบัตรขวัญถุง ฉบับละ 1,000 บาท ผูกไว้ที่ขลุ่ยให้ โดยอาจารยธนิสร์ ได้เลขลงท้าย 3 ตัว 246 ส่วนโบนัส ได้เลขลงท้าย 134 ซึ่งเลขของศิลปินทั้งสองคน นั้นเหล่าเซียนตัวเลขต่างไปเหมาตามแผงหมดในพริบตา




Thank to : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8186963
ทุกทิศทั่วไทย | 14 เม.ย. 2567 - 15:10 น.
8  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 14, 2024, 07:10:04 am
.



"นิพพาน" ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
Nibbàna in Theravàda Buddhism


พระมหาดวงรัตน์ ฐิตรตโน1
สมบูรณ์ ตาสนธิ1, เทวัญ เอกจันทร์1, สุนทรี สุริยรังสี1, ปรุตม์ บุญศรีตัน2,
Phramaha Duangrat Tฺhitaratano1
Somboon tasonthi1, Tewan Eakjan1,
Soontree Suriyarangsee1, Parud Boonsriton2
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่1, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่2
Mahachulalongkornrajavidyalaya University, Chiang Mai Campus1, Chiang Mai University2
Corresponding Author, E-mail : phramahaduangrat@gmail.com




บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง “นิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท” มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
    1) เพื่อศึกษานิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และ
    2) เพื่อศึกษาการตีความนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลการวิจัยพบว่า ชื่อหรือไวพจน์ของนิพพานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกโดยเฉพาะในอนาสาวทิสูตร และคัมภีร์อภิธาน มีจำนวน 46 บท ที่ปรากฏในอรรถกถาและฎีกายังมีจำนาวนมากกว่านี้ ที่ปรากฎในพระไตรปิฎกจำนวนมาก ได้แก่ นิโรธ นิพพาน อสังขตะ โดยสภาวะ 2 ประเภท คือ
    - สอุปาทิเสสนิพพาน กิเลสตายชีวิตยังไม่ตาย และ
    - อนุปาทิเสสนิพพาน กิเลสตายชีวิตตาย

การตีความนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท สรุปมี 3 ประเภท คือ
    1) ตีความโดยพยัญชนะ
    2) ตีความโดยสภาวะ
    3) ตีความโดยอุปมา กล่าวเปรียบเทียบสภาพแห่งนิพพาน

แท้จริงนิพพานเป็นโลกุตตระไม่สามารถอธิบายด้วยภาษาโลกได้ พระพุทธเจ้าจึงพยายามอธิบายได้ด้วยภาษาแห่งโลกิยะ อันเป็นกุศโลบายให้สรรพสัตว์เข้าไปสู่โลกุตตระคือ นิพพาน

คำสำคัญ : นิพพาน ; คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ; การตีความ


@@@@@@@

Research Articles

Received : 2019-02-27
Revised : 2019-06-13
Accepted : 2019-06-29

วารสารพุทธศาสตร์ศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 | มกราคม - มิถุนายน 2562




Abstract

The thematic paper entitled “Nibbàna in TheravàdaBuddhism” consists of 2 objectives ; 1) To study the concept of Theravàda (the Unconditioned) in Theravada Buddhism and 2) To interpret the concept ofNibbàna in Theravàda Buddhism.

From the study, it found that : Names and synonyms of Nibbàna appeared in Tipiţaka, especially in Anàsàvadi-sutta as well as in Abhithànappadip ţkà, were consisted of 46 chapters. In addition, there are many of Nibbàna words in Commentaries and Sub-commentaries. Nirodha, Nibbàna, and Asa ñgata are frequently used in the Tipiţaka. Nibbàna is, by conditions, divided into two categories : Saupàdisesa - Nibbàna and Anupàdisesa- Nibbàna.

The interpretation of Nibbàna in Theravàda Buddhism can be classified into 3 aspects :
    1) By letters interpretation,
    2) By phenomena interpretation,
    3) By metaphors interpretation, all of which indicate a state of Nibbàna in various aspects interestingly.

As a matter of fact, Nibbàna which is transcendental cannot be explained by mundane languages. However, the Buddha has tried to explain for the sake of human beings to reach the Nibbàna deliberately.

Keywords : Nibbàna ; Theravàda Buddhism ; Interpretation



บทนำ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีในอดีตทั้งสิ้น 20 อสงไขยแสนกัป โดยใช้เวลาคิดอยู่ในใจ 7 อสงไขย เปล่งวาจาว่าจักเป็นพระพุทธเจ้า 9 อสงไขย และทรงเปล่งวาจาพร้อมกับทำทางกาย 4 อสงไขย รวม 20 อสงไขยและอีกแสนกัป (พระคันถรจนาจาริยเถระ, 2552: 4) ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ที่ใช้ระยะเวลานานนับไม่ถ้วนเพื่อเป้าหมายสูงสุดอะไรบางอย่าง ขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์นั้น ทรงมีจิตใจที่แน่วแน่ต่อมรรค ผล นิพพาน

สุดท้ายพระองค์ก็ได้ตรัสรู้ความจริงตามธรรมชาติ 4 ประการ เรียกว่าอริยสัจ 4 แปลอีกนัยว่า ความจริงที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องตรัสรู้ หมายถึง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องตรัสรู้ในเรื่องเดียวกัน ดังตรัสว่า

    “ภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลได้ตรัสรู้ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการตามความเป็นจริง แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาลจักตรัสรู้ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดเหล่านั้นจักตรัสรู้อริยสัจ 4ประการตามความเป็นจริง แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาล ย่อมตรัสรู้ตามความเป็นจริง
     พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดย่อมตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการตามความเป็นจริง อริยสัจ 4 ประการ อะไรบ้าง คือ (1) ทุกขอริยสัจ (2) ทุกขสมุทยอริยสัจ (3) ทุกขนิโรธอริยสัจ (4) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ” (พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เล่ม 19 ข้อ 1094: 607-608)

    ในบรรดาอริยสัจ 4 นี้ ธรรมขั้นสูงสุด คือ นิโรธสัจ ได้แก่ นิพพาน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
    “อยํ โข สา ภิกฺขเว มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณ กรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ” (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 4 ข้อ 13: 13)
     แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน(พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 4 ข้อ 14 : 20)

     จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้วทรงมีวัตถุประสงค์หลักคือชี้แนะ พาหมู่สรรพสัตว์ข้ามพ้นจากวัฏฏสงสารเข้าถึงเป้าหมายสูงสุด คือนิพพาน นิพพานจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา (พระพรหมคุณาภรณ์, 2554: 166)

สังคมปัจจุบันรวมถึงนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาหลายรูป หลายท่านให้ความหมายนิพพานไว้หลายนัย เช่น สุข เย็น สงบ สันติ อาจผิดบ้าง ถูกบ้าง ซึ่งก็อันตรายเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา เพราะนิพพานเป็นหลักธรรมหรือเป้าหมายสูงสุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ใช้เวลาแสวงหามาถึง 20 อสงไขย

แม้พระพรหมคุณาภรณ์ก็ได้กล่าวประเด็นนี้ไว้ว่า
    “นิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกหรือผู้ปฏิบัติยังไม่อาจจะรู้ไม่อาจจะเข้าใจหลักการนี้ด้วยประสบการณ์ตนเอง พระศาสดาจึงต้องแสดงหลักการนี้ไว้ให้ชัด เท่าที่จะใช้ภาษาสื่อสารให้สติปัญญาของผู้ปฏิบัติรู้เข้าใจได้ ถ้ามิฉะนั้นผู้ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไปแทนที่จะบรรลุนิพพานของพระพุทธศาสนา ก็จะกลายเป็นนิพพานของฮินดูไป หรืออาจจะเข้าถึงฌานสมาบัติแล้วเข้าใจว่านี่เป็นนิพพาน หรือปฏิบัติไปรู้สึกว่าจิตไปเข้ารวมกับสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็นึกว่านั้นคือนิพพาน” (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต),2542: 17)

แนวคิดเช่นนี้ก็อาจจะเข้าข่ายเป็นมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด แนวคิดเรื่องนิพพานเป็นภูมิที่อยู่ของพระอรหันต์บ้าง แนวคิดเรื่องนิพพานเป็นอัตตาบ้าง อนัตตาบ้าง มีมาตั้งแต่สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงพระชนมายุอยู่การตีความนิพพานต้องตีความจากภาษาบาลีก่อน เพราะภาษาพระบาลี แปลว่า รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า (พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลิ) (หลวงเทพดรุณานุศิษย์, 2550 : 238)

แล้วค่อยมาดูคำอธิบายขยายความจากคัมภีร์อรรถกถา ฎีกาตามลำดับมา พระเถระโบราณจารย์ก่อนจะรจนาคัมภีร์ภาษาบาลีได้เขียนสูตรอันดับที่ 1 ก่อนว่า “อตฺโถ อกฺขรสญฺญาโตแปลว่า เนื้อความ(สภาวะ) จะรู้ได้ด้วยอักขระ” (กัจจายนเถระ, 2536 : 1)

อายุพระพุทธศาสนาผ่านไป ประมาณ 2,500 กว่าปี การตีความนิพพานในยุคปัจจุบันจำนวนมากเป็นการตีความเข้าทิฏฐิของตนเอง การตีความทางพระพุทธศาสนาระดับปฐมภูมิคือ พระไตรปิฎกภาษาบาลี และคัมภีร์อรรถกถาตามกฎเกณฑ์แห่งไวยากรณ์บาลี เป็นต้น ตามลำดับ

เมื่อนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา และเป็นประเด็นปัญหาตั้งแต่ในยุคพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน หากมีการตีความนิพพานผิดกระบวนการหรือผิดวิธี เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาก็ผิดไปด้วย เมื่อเป้าหมายผิด กระบวนการหรือวิธีหรือแนวทางการปฎิบัติเพื่อถึงเป้าหมายก็ผิดด้วย

เมื่อเป้าหมายและกระบวนการสู่นิพพาน(สันติบท)ผิด ก็จะนำไปสู่อันตรานแห่งพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน หรือที่เรียกว่า ปัญหาเชิงปฏิจจสมุบปาท บทความวิจัยนี้จึงเป็นหลักฐานที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกวิธีเป้าหมายสอุดมธรรมที่ถูกต้อง และเป็นหลักฐานอ้างอิง ศึกษา และวิจัยกันต่อไป




วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษานิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
2. เพื่อศึกษาการตีความนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

วิธีดำเนินการวิจัย

การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยในเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยมีวิธีดำเนินการวิจัย ดังนี้
    1. ศึกษารวบรวมข้อมูลหลักฐานจากเอกสารระดับปฐมภูมิ (Primary Source)ได้แก่พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2500 และภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2539
    2. ศึกษารวบรวมข้อมูลหลักฐานเรื่องนิพพานจากเอกสารระดับทุติยภูมิ(Secondary Source) ได้แก่ คัมภีร์อรรถกถาภาษาบาลีและภาษาไทย พจนานุกรมคัมภีร์บาลีและฉบับภาษาไทย และตำราวิชาการด้านพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งหนังสือ บทความเอกสารงานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง
    3. การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ข้อมูลจากข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ เพื่อให้ได้ข้อมูล เรียบเรียง สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และตอบปัญหาที่ต้องการทราบ แล้วนำมาตีความ
    4. เสนอวิธีการตีความตามแนวคิดของผู้วิจัย ออกเป็น 3 ประเภท คือ โดยพยัญชนะ สภาวะและอุปมา
    5. เรียบเรียงเนื้อหาของแต่ละบทๆ ให้สอดคล้องกัน
    6. สรุปผลการศึกษาโดยเขียนรายงานในรูปแบบพรรณนา (Description) นำเสนอผลการศึกษา

ผลการวิจัย

ผู้วิจัยได้สรุปผลการำวิจัยตามวัตถุประสงค์ ออกเป็น 2 ประการคือ
    (1) นิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
    (2) การตีความนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลวิจัยมีดังนี้

(ยังมีต่อ...)
9  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / Re: วิเคราะห์เหตุปัจจัย ทำไมพม่าย้ายเมืองหลวง จาก “ย่างกุ้ง” ไป “เนปิดอว์” เมื่อ: เมษายน 14, 2024, 06:07:10 am
.

กองทัพพม่าสวนสนามในเมืองเพียงมะนา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2007 (Photo by KHIN MAUNG WIN / AFP)

จากการรวบรวมและวิเคราะห์เหตุปัจจัยเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงในรัฐพม่า ทำให้ทราบว่าการย้ายเมืองหลวงในยุคปัจจุบันล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนตลอดจนได้รับอิทธิพลจากสภาวะแวดล้อมแบบใหม่ของสภาพสังคมยุคหลังสงครามเย็น การสถาปนานครเพียงมะนา เนปิดอว์ จัดเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลทหารพม่าซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร การพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ตอนใน และการสร้างเอกภาพทางสังคมและวัฒนธรรม โดยรัฐบาลทหารได้ให้น้ำหนักกับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพและระบอบเผด็จการ

จากบริบทดังกล่าว รัฐบาลทหารได้เผชิญหน้ากับภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบ เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในนครย่างกุ้ง การทำสงครามกลางเมืองกับชนกลุ่มน้อย และความกังวลใจเกี่ยวกับการโจมตีทางทะเลของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงจึงเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงโดยรวมเพื่อการรักษาอำนาจของระบอบทหาร…

ในขณะเดียวกัน การย้ายเมืองหลวงยังมีความสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ตอนใน เช่น การขยายพื้นที่ทางการเกษตรในเขตที่ราบภาคกลาง การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในเขตภูเขา และการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง โดยเมืองหลวงแห่งใหม่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ตอนในซึ่งส่งผลให้รัฐบาลทหารมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

นอกจากนี้การย้ายเมืองหลวงยังถูกผลักดันด้วยปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อปรุงแต่งและเติมเต็มให้กระบวนการเคลื่อนย้ายเมืองหลวงมีความศักดิ์สิทธิ์และชอบธรรมมากขึ้นตามโลกทรรศน์พม่า โดยกลุ่มผู้นำทหารได้ประยุกต์ใช้ธรรมเนียมราชสำนักโบราณ หลักโหราศาสตร์ และลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก เพื่อสร้างความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์และเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลในการเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงจาก ย่างกุ้ง ไป เพียงมะนา จึงประกอบด้วยปัจจัยหลากหลายมิติตลอดจนเป็นยุทธศาสตร์ที่ลุ่มลึกและรอบด้านอันส่งผลให้รัฐบาลทหารสามารถผ่องถ่ายอำนาจในการปกครองประเทศพม่าต่อไปในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม :-

    • ตามรอย “สำหรุดปาน” ผู้แสวงบุญจากสงขลาไป พม่า สู่นิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง
    • ย่างกุ้ง “แบนมอเตอร์ไซค์” ไม่ใช่เพราะลูกสาว “เนวิน” ถูกมอเตอร์ไซค์เฉี่ยว

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เพียงมะนา เนปิดอว์ ราชธานีแห่งใหม่ของสหภาพพม่า” เขียนโดย ผศ. ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2550





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2550
ผู้เขียน : ผศ. ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 30 มีนาคม 2564
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_65062
10  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วิเคราะห์เหตุปัจจัย ทำไมพม่าย้ายเมืองหลวง จาก “ย่างกุ้ง” ไป “เนปิดอว์” เมื่อ: เมษายน 14, 2024, 05:59:47 am
.



วิเคราะห์เหตุปัจจัย ทำไมพม่าย้ายเมืองหลวง จาก “ย่างกุ้ง” ไป “เนปิดอว์”

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศย้ายเมืองหลวงจากนครย่างกุ้งไปยังเมืองเพียงมะนา (Pyinmana หรือ เปียงมะนา) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบน (Upper Sittang Valley) ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางทิศเหนือประมาณ 350 กิโลเมตร โดยให้เหตุผลว่าเมืองเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของสหภาพพม่ามีความเหมาะสมทั้งทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2549 อันเป็นวันกองทัพ พม่า ราชธานีแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่ตรงหมู่บ้านจั๊ตปเย (Kyatpyae) ทางด้านตะวันตกในเขตเมืองเพียงมะนาได้ถูกสถาปนาอย่างเป็นทางการโดยมีชื่อว่า กรุงเนปิดอว์ (Naypyidaw, Nay Pyi Taw หรือ เนปยีดอว์) ซึ่งแปลว่า บัลลังก์แห่งกษัตริย์ จากบริบทดังกล่าว เนปิดอว์ คือ ชื่อของเมืองหลวงแห่งใหม่ซึ่งถูกรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทหารพม่า ในขณะที่เพียงมะนา คือ ชื่อของเมืองและเขตการปกครองอันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงกล่าวโดยรวมแล้ว ราชธานีแห่งใหม่ของพม่ามีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า นครเพียงมะนา เนปิดอว์

สำหรับสาเหตุของการสถาปนาศูนย์อำนาจแห่งใหม่และลักษณะทางกายภาพของเมืองหลวงพม่านั้นจัดว่ามีรายละเอียดและประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ทำไมพม่าต้องย้ายเมืองหลวง.?

การย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนาจัดเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลทหารพม่าที่ประกอบด้วยแรงผลักดันหลากหลายประการตลอดจนได้รับอิทธิพลจากหลักนิยมทางการทหารและสภาวะแวดล้อมของระบบโลกยุคหลังสงครามเย็นซึ่งส่งผลให้นครย่างกุ้งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงและฐานอำนาจของรัฐบาลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการทหาร โดยต่อไปนี้ ผู้เขียนจะขอรวบรวมและวิเคราะห์เหตุปัจจัยว่าด้วยการย้ายเมืองหลวงของรัฐพม่าผ่านการบูรณาการองค์ความรู้เชิงสหวิทยาการอย่างเป็นระบบเพื่อฉายภาพการวิเคราะห์อย่างลุ่มลึกและรอบด้านโดยแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก 9 ปัจจัยย่อย ดังต่อไปนี้

@@@@@@@

1. การรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร

รัฐบาลทหารพม่าชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2550 – กองบก.ออนไลน์) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สภาสันติภาพและพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council-SPDC) ได้ขึ้นครองอำนาจต่อจากระบอบเนวินผ่านการทำรัฐประหารและเข่นฆ่าประชาชนตลอดจนปฏิเสธการคืนอำนาจทางการปกครองให้กับนางอองซาน ซูจี หลังการชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลทหารพม่าได้ให้น้ำหนักกับการสร้างเอกภาพทางการเมืองและการขยายแสนยานุภาพทางการทหารเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพและระบอบเผด็จการ

นอกจากนี้กลุ่มคณะทหารยังได้หวาดระแวงภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบ เช่น การลุกฮือของประชาชนในเขตนครย่างกุ้งซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) การขยายกำลังพลของชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนเพื่อทำสงครามต่อต้านรัฐบาล ตลอดจนการโจมตีจากมหาอำนาจตะวันตกเพื่อล้มระบอบทหารในปัจจุบัน



ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1988 นางอองซานซูจี ปราศรัยต่อต้านระบอบทหารในกรุงย่างกุ้ง (Photo by AFP / AFP FILES / AFP)

ผลจากความกังวลใจดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มรัฐบาลทหารดำเนินนโยบายรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralization) ขยายระบบสายลับเพื่อขจัดศัตรูทางการเมือง ตลอดจนนำหลักนิยมและระบบสายบังคับบัญชาทางการทหารเข้ามาประยุกต์ใช้กับการดำเนินนโยบายสาธารณะ โดยหากยังมีบริเวณใดที่อำนาจการควบคุมของรัฐบาลยังเข้าไปไม่ถึง หรืออำนาจของรัฐบาลในนครย่างกุ้งเริ่มเกิดความผันผวนระส่ำระสาย หรือทำเลที่ตั้งของเมืองหลวงเสี่ยงต่อการโจมตีจากศัตรูภายนอก การย้ายเมืองหลวงไปยังทำเลที่มีความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์จึงจัดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อสถาปนาศูนย์อำนาจทางการเมืองและการทหารที่เข้มแข็งและเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

สำหรับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายเมืองหลวงนั้นสามารถแบ่งแยกย่อยออกได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

1.1 ภัยคุกคามจากการลุกฮือของประชาชน

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันมีความเชื่อว่าการแบ่งสันอำนาจให้กับประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ของพลเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตยจัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและอาจนำมาซึ่งการล่มสลายของสหภาพพม่า ตลอดจนคุกคามการถือครองอำนาจของกลุ่มคณะทหาร จากบริบทดังกล่าว นครย่างกุ้งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นฐานอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เนื่องจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ที่พัดพาเอาแนวคิดประชาธิปไตยและวัฒนธรรมการเมืองแบบตะวันตกตลอดจนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายเครือข่ายทางการเมืองของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยทำให้อำนาจที่เข้มแข็งและมีเอกภาพของกลุ่มคณะทหารเริ่มมีลักษณะเปราะบางและกระจัดกระจายมากขึ้น

ประกอบกับประวัติศาสตร์การเมืองของนครย่างกุ้งยังเต็มไปด้วยการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล เช่น เหตุการณ์ประท้วงปี พ.ศ. 2517 โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลเนวิน เหตุการณ์ 8888 (8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 โดยกลุ่มประชาชนเพื่อขับไล่และโค่นล้มระบอบเผด็จการอันนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาตร์พม่า หรือเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2539 โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งเพื่อขับไล่คณะทหารและเรียกร้องการคืนอำนาจทางการเมืองให้กับนางอองซาน ซูจี

ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มคณะทหารมีความกังวลใจเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองและหวาดระแวงต่อการลุกฮือของประชาชนซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยฉับพลันและสร้างความระส่ำระสายให้กับอำนาจของรัฐบาล โดยคณะผู้นำทหารต่างมีความเชื่อว่าพลังเงียบของประชาชนและจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยล้วนฝังรากลึกและขยายเครือข่ายทางการเมืองทั่วเขตเมืองย่างกุ้ง ประกอบกับสถานที่ราชการและค่ายทหารบางแห่งล้วนตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นและอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการของสถานทูตตะวันตกและองค์กรระหว่างประเทศโดยลักษณะภูมิทัศน์ดังกล่าวย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกปิดล้อมจากประชาชนหากมีการประท้วงทางการเมืองหรือเสี่ยงต่อการถูกจารกรรมข้อมูลจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ดังนั้นการย้ายศูนย์อำนาจทางการเมืองไปยังเพียงมะนา เนปิดอว์ เพื่อการจัดวางโครงสร้างผังเมืองและระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเป็นระบบจึงเป็นการลดความกังวลใจทางการเมือง ถอยห่างจากวงปิดล้อมของประชาชนในนครย่างกุ้ง ตลอดจนเพิ่มสมรรถนะในการเคลื่อนกำลังพลและควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินหากมีการจลาจลเกิดขึ้น

1.2 ภัยคุกคามจากการเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย

ประวัติศาสตร์ พม่า จัดเป็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าพม่าแท้กับชนกลุ่มน้อยโดยมีการทำสงครามขับเคี่ยวยื้อแย่งดินแดนตั้งแต่สมัยจารีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การทำสงครามระหว่างพม่ากับอาณาจักรมอญและกลุ่มเจ้าฟ้าไทยใหญ่ หรือการที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงถูกเกณฑ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษเพื่อกดขี่ชาวพม่าในสมัยอาณานิคม

สำหรับในมุมมองของรัฐบาลทหารพม่านั้นชนกลุ่มน้อยจัดเป็นชนชายขอบและเป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนเสถียรภาพของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลทหารจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อแผ่อำนาจควบคุมดินแดนชนกลุ่มน้อยโดยถึงแม้จะมีการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังของชนเผ่าต่าง ๆ แต่ก็ยังคงหลงเหลือ 3 กองกำลังหลักที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลกลางซึ่งประกอบด้วย กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ (Shan State Army-SSA) กองกำลังกะเหรี่ยงคริสต์ (Karen National Union-KNU) และกองกำลังแห่งชาติคะเรนนีย์ (Karenni National Progressive Party) โดยกองกำลังทั้ง 3 ฝ่ายล้วนมีฐานที่มั่นอยู่ตรงบริเวณชายแดนตะวันออกติดกับประเทศไทย

ในส่วนของการย้ายเมืองหลวงนั้น หากพิจารณาจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จะพบว่าถึงแม้เมืองเพียงมะนาจะตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศแต่ก็มีอาณาเขตชนแดนชนกลุ่มน้อยทั้ง 3 กลุ่มซึ่งการย้ายเมืองหลวงไปยังบริเวณดังกล่าวย่อมส่งผลให้อำนาจของรัฐบาลมีความเข้มข้นและสามารถควบคุมชนกลุ่มน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยถึงแม้จะมีข้อโต้แย้งว่าเมืองเพียงมะนาอาจถูกโจมตีจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยแต่หากพิจารณาจากสมรรถนะทางการทหาร… จะพบว่ากองทัพพม่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์และจำนวนกำลังพลมากกว่ากองกำลังทั้ง 3 ฝ่าย



กองกำลัง Shan State Army (SSA) ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2006 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจึงเป็นผลดีต่อรัฐบาลมากกว่าชนกลุ่มน้อยตลอดจนเป็นยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มคณะทหารเพื่อแผ่กระจายอำนาจให้เข้าถึงทั้งดินแดนตอนกลางและดินแดนชายขอบ ในขณะเดียวกันนครย่างกุ้งก็มีจุดอ่อนตรงที่อยู่ห่างไกลจากฐานที่มั่นของชนกลุ่มน้อยและไม่ได้ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศซึ่งทำให้อำนาจที่แผ่ออกจากเมืองหลวงมีความเบาบางแปรผันไปตามระยะทาง

ดังนั้นการสถาปนาเมืองเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ในเขตทับซ้อนระหว่างดินแดนของกลุ่มชนชาติพม่าแท้แถบภาคมัณฑะเลย์ มาเกว (Magway) และบาโก (Bago) กับดินแดนของชนกลุ่มน้อยแถบรัฐฉาน กะเหรี่ยง และคะยาห์ จะส่งผลให้ปริมณฑลของอำนาจที่แผ่กระจายออกจากเมืองหลวงมีความเข้มข้นและเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

1.3 ภัยคุกคามจากการรุกรานทางทะเลของสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลทหารพม่ามีความเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจทางการเมืองโลกที่ต้องการโค่นล้มระบอบเผด็จการและเปลี่ยนแปลงพม่าไปสู่ประเทศประชาธิปไตยหากมีช่วงจังหวะที่เหมาะสม โดยความกังวลใจเกี่ยวกับการโจมตีจากสหรัฐอเมริกาเริ่มก่อตัวขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ประท้วงในปี พ.ศ. 2531 เมื่อมีการปรากฏตัวของเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐในเขตน่านน้ำพม่าบริเวณอ่าวเมาะตะมะ นอกจากนี้หลังจากการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช สหรัฐอเมริกาได้ประณามรัฐบาลทหารพม่าอย่างต่อเนื่องตลอดจนออกรัฐบัญญัติว่าด้วยอิสรภาพและระบอบประชาธิปไตยพม่า (Burmese Freedom and Democratic Act of 2003) โดยมีเนื้อหาสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและอนุมัติงบประมาณฟื้นฟูพม่าหลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ…

จากบริบทดังกล่าว ทำเลที่ตั้งของนครย่างกุ้งจัดว่ามีความเสี่ยงต่อการรุกรานทางทะเลซึ่งสามารถถูกยึดครองโดยกองทัพเรือต่างชาติในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปยังเพียงมะนาจึงเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่าในการใช้ภูเขาเป็นปราการในการรับศึกตลอดจนเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการตั้งรับเพื่อทำสงครามกองโจรระยะยาว

โดยหากวิเคราะห์ตามหลักภูมิยุทธศาสตร์ (Geo-Strategy) จะพบว่าหากมีสงครามเกิดขึ้นจริงสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องส่งกองกำลังนาวิกโยธินเข้าปฏิบัติการในเขตภาคพื้นทวีปเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหารและแสดงชัยชนะที่เด็ดขาดคล้ายคลึงกับปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งมีการวางกำลังเรือรบในอ่าวเปอร์เซียแล้วส่งกองทหารราบเข้ายึดครองเมืองหลวง

จากกรอบแนวคิดดังกล่าวการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจะทำให้กองทัพพม่ามีโอกาสต้านทานการรุกรานได้มีประสิทธิภาพกว่าการตั้งรับอยู่ในเขตย่างกุ้งตลอดจนสะดวกต่อการได้รับความช่วยเหลือจากจีนผ่านเครือข่ายคมนาคมจากเมืองมัณฑะเลย์มุ่งตรงสู่เพียงมะนา นอกจากนี้การสถาปนาศูนย์บัญชาการภาคแห่งใหม่ในเขตเมืองหลวงยังเป็นการสะท้อนถึงการเลือกใช้กองทัพบกในการประจันหน้ากับศัตรูเนื่องจากกองทัพเรือของพม่ามีความอ่อนแอและเข้มแข็งน้อยกว่ากองทัพบก

@@@@@@@

2. การพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ตอนใน

ถึงแม้ว่าการรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหารจะมีอิทธิพลสำคัญต่อการย้ายเมืองหลวงครั้งล่าสุด แต่การดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตอนในก็จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในฐานะศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มคณะทหาร โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันได้เริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบการตลาดเพื่อพัฒนาพม่าให้เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และทันสมัยตลอดจนนำเงินรายได้จากการขายทรัพยากรจำนวนมหาศาลเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบเผด็จการ

จากบริบทดังกล่าว รัฐบาลทหารได้กำหนดให้บริเวณตอนใต้ของภาคมัณฑะเลย์ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบนเป็นดินแดนหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเกษตรกรรมในเขตลุ่มน้ำอิรวดีและเครือข่ายการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้และพลังงานน้ำจากเขื่อนในเขตลุ่มน้ำสาละวิน แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาในประเทศพม่าก็ยังจัดว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของระบอบทหาร ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนและแร้นแค้น สำหรับประเด็นการวิเคราะห์เพิ่มเติมนั้นจัดว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

2.1 การขยายตัวของการพัฒนาทางการเกษตร

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันได้ดำเนินนโยบายปรับเปลี่ยนเขตแล้งทางตอนกลางของประเทศให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว (Green Area) โดยการขยายเครือข่ายชลประทานครอบลุ่มน้ำสำคัญ เช่น ลุ่มน้ำอิรวดี ลุ่มน้ำสะโตง ลุ่มน้ำมู และลุ่มน้ำมิตแหง่เพื่อพลิกฟื้นแผ่นดินอันแห้งแล้งและรกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นแปลงเพาะปลูกทางการเกษตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดพรมแดนทางการเกษตรในเขตภาคพื้นทวีปแล้วยังเป็นการจัดตั้งเครือข่ายผลิตเสบียงอาหารให้กับค่ายทหารของกองทัพบก ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเขตพม่าภาคกลาง

จากกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลทหารพม่าได้เลือกพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเพียงมะนาแถบลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบนให้เป็นดินแดนหัวใจของการพัฒนาเกษตรกรรม เนื่องจากประกอบด้วยสถานีวิจัยและสถาบันที่มีชื่อเสียงทางการเกษตร รวมถึงเป็นที่ตั้งของเขื่อนสำคัญหลายแห่ง เช่น เขื่อนปองลอง (Paungloung) และเขื่อนเยซิน (Yezin) ตลอดจนมีเครือข่ายชลประทานที่เชื่อมต่อกับลุ่มน้ำอิรวดีและอยู่ไม่ไกลจากลุ่มน้ำสาละวินในเขตที่ราบสูงฉาน

นอกจากนี้การสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ยังทำให้เกิดการกระจายตัวของประชากรในสภาวะสมดุลซึ่งเป็นนโยบายที่คล้ายคลึงกับการย้ายเมืองหลวงจากอิสตัลบูล (Istanbul) ไปอังการา (Ankara) ของประเทศตุรกี และจากลากอส (Lagos) ไปอาบูจา (Abuja) ของประเทศไนจีเรีย โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ย้ายเมืองหลวงเพื่อลดความหนาแน่นของประชากรในเขตชายฝั่งทะเลและเพิ่มจำนวนประชากรในเขตพื้นที่ตอนใน

สำหรับในกรณีของพม่านั้นจะเห็นว่าประชากรส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่หนาแน่นในเขตพม่าตอนล่างแถบเมืองย่างกุ้งและเมาะลำไย (Moulmein) และเขตพม่าตอนบนแถบเมืองเมฆถิลาและมัณฑะเลย์ ซึ่งส่งผลให้บริเวณชายขอบด้านใต้ของเขตแล้งพม่า (Southern Edge of the Dry Zone) มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ค่อนข้างเบาบาง

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงมายังบริเวณดังกล่าวผสมผสานกับการจัดตั้งเครือข่ายทางการเกษตรจึงส่งผลให้ประชากรจากทั้ง 2 ภูมิภาคอพยพเข้าสู่เขตปริมณฑลของเมืองหลวงแห่งใหม่มากขึ้นอันนำไปสู่การสร้างฐานอำนาจที่แข็งแกร่งของรัฐบาลในการคุมพม่าภาคกลาง ตลอดจนยังเป็นการเพิ่มความเข้มข้นให้กับการตั้งถิ่นฐานของชาวพม่าเพื่อแผ่อิทธิพลเข้าดูดกลืนและครอบงำชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนตะวันออก



กองทัพพม่าสวนสนามในเมืองเพียงมะนา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2006 (Photo by KHIN MAUNG WIN / AFP)

2.2 การขยายตัวของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน

นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา รัฐบาลทหารพม่าได้ขยายโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติบริเวณเขตที่ราบและเขตภูเขาตามแนวชายแดนเพื่อรองรับการขยายตัวของยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ตอนในตลอดจนนำรายได้เข้าบำรุงกองทัพเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบทหาร เช่น การสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใต้ดินทางฟากตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี แหล่งเหมืองแร่ดีบุกและทังสเตนบริเวณรัฐฉานและคะยาห์ และแหล่งผลิตแร่ทองคำบริเวณยะแมตีง (Yamethin) ทางตอนเหนือของเพียงมะนา

โดยการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจัดว่าเป็นตัวสะท้อนถึงการแผ่อำนาจของรัฐบาลในการควบคุมทรัพยากรทั้งในเขตที่ราบและเขตภูเขาท่ามกลางการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด สำหรับในส่วนของการพัฒนาพลังงานนั้นจะเห็นว่ารัฐบาลทหารได้วางนโยบายลดการพึ่งพึงก๊าซธรรมชาติและหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนซึ่งจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจพม่าในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โดยเห็นได้จากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ครอบคลุมลุ่มน้ำอิรวดี สะโตง และสาละวิน

ซึ่งหากพิจารณาตามหลักภูมิเศรษฐศาสตร์จะพบว่าเมืองเพียงมะนาตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างลุ่มน้ำอิรวดีซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาทางการเกษตรและลุ่มน้ำสาละวินซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับประเทศไทยและจีน โดยในอนาคตเพียงมะนาจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่าในการขยายเครือข่ายพลังงานครอบคลุมทั้ง 3 ลุ่มน้ำ ตลอดจนรองรับรายได้มหาศาลจากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านผ่านลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งนอกจากจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งแล้วยังทำให้กองทหารพม่าซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวงแห่งใหม่เข้ามาวางกำลังเรียงรายไปตามเครือข่ายพลังงานในเขตชายแดนตะวันออกเพื่อเปลี่ยนสนามรบให้เป็นอ่างเก็บน้ำตลอดจนครอบครองพื้นที่ป่าไม้ของกองกำลังชนกลุ่มน้อย

2.3 การขยายตัวของเครือข่ายคมนาคมขนส่ง

รัฐบาลทหารพม่าชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2550 – กองบก.ออนไลน์) มีความเชื่อว่าการมีระบบโครงข่ายถนนที่โยงใยไปทั่วภูมิภาคจะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งให้กับประเทศ จากแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลทหารได้จัดสร้างเครือข่ายถนนวงแหวนเพื่อเชื่อมโยงหัวเมืองต่าง ๆ ในเขตภาคพื้นทวีปอย่างเป็นระบบ โดยเห็นได้จากการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอิรวดีจำนวนหลายแห่ง ตลอดจนการสร้างทางด่วนสายมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบ ยกตัวอย่างเช่น ทางด่วนจากย่างกุ้งไปมัณฑะเลย์ ตองอูไปยะแมตีง และเพียงมะนาไปพินลวง (Pinlaung)

จากสภาวะแวดล้อมดังกล่าวการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศตลอดจนเป็นชุมทางรถไฟและศูนย์รวมของถนนสายต่าง ๆ ย่อมทำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจในการเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศตลอดจนเคลื่อนกำลังพลอย่างรวดเร็วหากมีศึกสงครามทั้งภายในและภายนอก ในขณะเดียวกัน ระบบเครือข่ายถนนในประเทศพม่ายังมีการเชื่อมโยงกับทางหลวงสายเอเชีย (Trans Asian Highway) ซึ่งส่งผลให้ประเทศพม่ากลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อระหว่างอินเดีย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลจากการขยายตัวของทางหลวงสายเอเชียได้ส่งผลให้เมืองเพียงมะนาในอนาคตกลายเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมในแนวดิ่งที่เชื่อมโยงหัวเมืองตอนใต้ของจีนและมัณฑะเลย์เข้ากับนครย่างกุ้งและท่าเรือสำคัญในอ่าวเมาะตะมะ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในแนวระนาบที่เชื่อมโยงหัวเมืองตะวันออกของอินเดียและรัฐอาระกันเข้ากับหัวเมืองชายแดนในเขตที่ราบสูงฉานและตัดเข้าสู่ประเทศลาว ไทย และเวียดนาม

ดังนั้นการสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในเขตเมืองเพียงมะนาจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ลุ่มลึกของรัฐบาลทหารพม่าเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบการขนส่งภาคพื้นทวีปตลอดจนเสริมสร้างสมรรถนะของรัฐบาลในการเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

@@@@@@@

3. การสร้างเอกภาพทางสังคมและวัฒนธรรม

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2550 – กองบก.ออนไลน์) ได้ดำเนินนโยบายเพื่อที่จะสถาปนาเอกภาพทางจิตวิญญาณให้กับระบอบทหารและสหภาพพม่า (Union Spirit) โดยเห็นได้จากการปลุกระดมลัทธิราชาชาตินิยม (Monarchical Nationalism) เพื่อหวนกลับไปหาความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิพม่ายุคโบราณ การปลุกระดมลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก เพื่อผลักดันการแทรกแซงจากต่างชาติและสร้างความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์ การดำเนินโครงการบูรณปฏิสังขรณ์กลุ่มโบราณสถานและราชธานีเก่าเพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนการใช้หลักโหราศาสตร์ในการประกอบพิธีสำคัญระดับชาติเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์และโน้มน้าวให้ประชาชนมีความศรัทธาในตัวผู้นำ

สำหรับการย้ายเมืองหลวงนั้นจัดเป็นส่วนหนึ่งของจารีตโบราณและเป็นสัญลักษณ์แห่งการเบิกยุคใหม่เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศตลอดจนเป็นการประกาศอำนาจของพลเอกอาวุสโสตันฉ่วย ในฐานะผู้ปกครองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยบารมีทางการเมือง จากบริบทดังกล่าว รัฐบาลทหารพม่าได้ประยุกต์ใช้ธรรมเนียมราชสำนักโบราณ หลักโหราศาสตร์ และลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตกเพื่อปรุงแต่งและเติมเต็มให้กระบวนการเคลื่อนย้ายเมืองหลวงมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นตามโลกทรรศน์พม่า โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้



ภาพถ่ายกรุงย่างกุ้งเมื่อ ค.ศ. 1945

3.1 การปรับใช้และดัดแปลงธรรมเนียมราชสำนักโบราณ

หลังจากเหตุการณ์ประท้วงปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลทหารพม่าได้รื้อฟื้นประเพณีราชสำนักโบราณตลอดจนลอกเลียนแบบพฤติกรรมของกษัตริย์พม่าในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองและเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันกองทัพให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสถาบันกษัตริย์ในยุคจารีต ยกตัวอย่างเช่น การยกยอดฉัตรเจดีย์ชเวดากองและเจดีย์สำคัญต่าง ๆ การบูรณะกลุ่มราชธานีเก่า เช่น พุกาม ตองอู อังวะ และหงสาวดี ตลอดจนการครอบครองช้างเผือกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราชและเป็นเครื่องประดับบารมีของกษัตริย์พม่าในอดีต

จากสภาวะดังกล่าว การย้ายเมืองหลวงไปยังนครเนปิดอว์ซึ่งแปลว่าบัลลังก์แห่งกษัตริย์นั้นจัดว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความพยายามของพลเอกอาวุสโสตันฉ่วยในการประกาศตัวเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นกับกษัตริย์พม่าโบราณ ตลอดจนเป็นการสร้างชื่อในประวัติศาสตร์เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศพม่าประกาศย้ายเมืองหลวงหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ

นอกจากนี้แหล่งข่าวในพม่ายังกล่าวว่าประชาชนบางกลุ่มถูกบังคับให้เดินโดยเท้าเปล่าจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ ซึ่งคล้ายคลึงกับไพร่ราบของกษัตริย์พม่าในอดีต ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงครั้งล่าสุดจึงสะท้อนถึงการปรับใช้และดัดแปลงธรรมเนียมราชสำนักโบราณตลอดจนแสดงถึงมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในระบบความคิดและโลกทรรศน์ของผู้นำพม่าคนปัจจุบัน (พลเอกอาวุสโสตันฉ่วย – กองบก.ออนไลน์)

3.2 การปรับใช้และดัดแปลงหลักโหราศาสตร์

กรณีการย้ายเมืองหลวงในปัจจุบันนั้น แหล่งข่าวลือในพม่ามีความเชื่อว่าโหราจารย์ประจำตัวพลเอกอาวุสโสตันฉ่วยได้ทำนายว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน ปี พ.ศ. 2548 ดาวประจำตัวของผู้นำพม่าเริ่มอับแสงอันส่งผลให้บัลลังก์แห่งอำนาจเริ่มสั่นคลอนโดยหนทางเดียวที่จะรักษาการดำรงอยู่ของระบอบทหารคือการย้ายเมืองหลวงออกจากนครย่างกุ้ง

นอกจากนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2547 เขตปกครองย่างกุ้ง (Yangon Division) และเมืองต่าง ๆ ในเขตพม่าตอนล่างยังได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวอันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียซึ่งทำให้ยอดฉัตรของมหาเจดีย์ Mawdinsoon ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากเขตย่างกุ้งหักพังทลายลงมา ซึ่งส่งผลให้คนพม่าทั่วไปมองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวคือสัญลักษณ์แห่งลางร้ายที่เข้าคุกคามนครย่างกุ้ง

ตลอดจนตามประวัติศาสตร์การเมืองของพม่านั้น การเกิดแผ่นดินไหวมักจะตามมาด้วยการลุกฮือของประชาชนเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น การเกิดแผ่นดินไหวในเมืองพุกาม ปี พ.ศ. 2518 ซึ่งตามมาด้วยการเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานเพื่อต่อต้านรัฐบาล หรือการเกิดแผ่นดินไหว 6.8 ริคเตอร์ แถบชายแดนพม่า-อินเดียซึ่งนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงโค่นล้มระบอบเนวิน ในปี พ.ศ. 2531 ดังนั้นปัจจัยทางโหราศาสตร์จึงมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและเหตุการณ์สำคัญระดับชาติซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้พลเอกอาวุสโสตันฉ่วยตัดสินใจย้ายเมืองหลวงออกจากย่างกุ้ง

สำหรับการปรับใช้และดัดแปลงหลักโหราศาสตร์นั้น สามารถเห็นได้จากการประกาศโยกย้ายข้าราชการออกจากนครย่างกุ้งเวลา 6 นาฬิกา 37 นาที เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน (เดือน 11)  ปี พ.ศ. 2548 โดยรถบรรทุกจากหน่วยงานทหารจำนวน 1,100 คัน ได้เคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนกลุ่มข้าราชการพลเรือนจำนวน 11 กอง และข้าราชการทหารอีก 11 กอง มุ่งตรงสู่เมืองเพียงมะนา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเลข 6 คือเลขนำโชคของพลเอกอาวุสโสตันฉ่วย และเลข 11 คือเลขมงคลที่สัมพันธ์กับดวงเมืองของราชธานีแห่งใหม่

3.3 การปรับใช้และดัดแปลงลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก

ความขมขื่นจากประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมและการพังทลายของจักรวรรดิพม่านับตั้งแต่กองทัพอังกฤษ-อินเดียยาตราทัพเข้าเหยียบย่ำราชธานีมัณฑะเลย์ ยังคงอยู่ในความทรงจำของกลุ่มผู้นำทหารซึ่งยังคงยึดติดอยู่กับลัทธิชาตินิยมและการเสริมภาพลักษณ์ของกองทัพในฐานะผู้ปกป้องมาตุภูมิจากกองกำลังต่างชาติ ยุทธศาสตร์การย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจัดเป็นหนึ่งในกระบวนการต่อต้านและปลดแอกออกจากลัทธิอาณานิคม (Decolonization)

โดยหากพิจารณาตามกรอบประวัติศาสตร์และความผันผวนของระบบโลกจะพบว่า นครย่างกุ้งไม่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงของพม่าตามมุมมองของกลุ่มคณะทหาร เนื่องจากถูกสถาปนาโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษผู้ปล้นเอกราช ตลอดจนเคยเป็นฐานทัพที่กองทัพอังกฤษใช้เป็นหัวหาดในการขยายอิทธิพลเข้ายึดราชธานีมัณฑะเลย์ ดังนั้นกรุงย่างกุ้งจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอัปยศอดสูในประวัติศาสตร์พม่า ประกอบกับย่างกุ้งยังไม่ได้ตั้งอยู่ในดินแดนหัวใจของวัฒนธรรมพม่าแถบลุ่มน้ำอิรวดีและสะโตง แต่ในทางตรงข้ามกลับตั้งอยู่บริเวณชายขอบในเขตพม่าตอนล่างซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลของมอญและเป็นศูนย์กลางทางการค้าเพื่ออำนวยผลประโยชน์ให้กับกองทัพอังกฤษ

ในขณะเดียวกันการถาโถมของวัฒนธรรมตะวันตกที่มาพร้อมกับการขยายตัวทางการค้ารอบอ่าวเมาะตะมะได้ส่งผลให้ลัทธิอาณานิคมสมัยใหม่ (Neo-Colonialism) เริ่มก่อตัวคุกคามอำนาจของรัฐบาลทหารตลอดจนวิถีชีวิตโดยรวมของชาวพม่าในเขตย่างกุ้งประกอบการเริ่มมีตึกระฟ้าสมัยใหม่ผุดขึ้นกลางเมืองเคียงคู่กับกลุ่มอาคารสมัยอาณานิคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งลักษณะทางภูมิทัศน์ดังกล่าวได้ส่งผลให้นครย่างกุ้งคือจุดหลอมรวมของมรดกจากยุคอาณานิคมและการแพร่กระจายของลัทธิจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ (Neo-Imperialism)

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปยังเพียงมะนาจึงเป็นการถอยห่างจากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกและเป็นการสถาปนาศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ท่ามกลางความผันผวนของระบบโลกยุคหลังสงครามเย็น
11  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ไฟไหม้โบสถ์วัดพระธาตุบังพวน วัดคู่บ้านคู่เมืองหนองคายเสียหายทั้งหลัง! เมื่อ: เมษายน 14, 2024, 05:41:30 am
.



ไฟไหม้โบสถ์วัดพระธาตุบังพวน วัดคู่บ้านคู่เมืองหนองคายเสียหายทั้งหลัง.!

เกิดเหตุเพลิงไหม้โบสถ์ วัดพระธาตุบังพวน วัดคู่บ้านคู่เมืองหนองคายเสียหายทั้งหลัง พบบุคคลต้องสงสัยเป็นคนวิกลจริต

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา  ร.ต.ท.หญิง นาถอนงค์ โพธิสาร รอง สารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองหนองคาย รับแจ้งเหตุไฟไหม้โบสถ์ ภายในวัดพระธาตุบังพวน ต.พระธาตุบังพวน อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย หลังรับแจ้งจึงไปตรวจสอบ พร้อม พ.ต.อ.สกล สิทธิวิชัย รอง ผบก.ภ.จว.หนองคาย ,พ.ต.อ.ยุทธนา งามชัด ผกก.สภ.เมืองหนองคาย, นายอุรุยศ เอียสกุล นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย ปลัดอำเภอเมืองหนองคาย และประสานรถดับเพลิงหลายคัน และประสานหน่วยกู้ภัยในพื้นที่ ลงไปยังจุดเกิดเหตุ

เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงพบกลุ่มควันจำนวนมากพวยพุ่งออกมาจากโบสถ์ โดยเพลิงลุกไหม้หลังคา พระสงฆ์ชาวบ้านช่วยกันดับเพลิงอยู่ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ได้เร่งระดมฉีดน้ำเข้าไปไปภายในโบสถ์ ฉีดน้ำที่บริเวณหลังคาเพื่อควบคุมเพลิง ใช้เวลานานกว่า 40 นาที สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้




ทั้งนี้จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่าเพลิงไหม้โบสถ์ถูกความร้อนทำให้สีของโบสถ์ลอกออก ส่วนพระประธานและพระพุทธรูปที่อยู่ในโบสถ์ถูกความร้อนของเพลิงที่ไหม้ทำให้ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ข้าวของภายในโบสถ์ถูกเพลิงไหม้เสียหายหมด

สอบถามพระลูกวัดพระธาตุบังพวน เล่าว่า ขณะเกิดเหตุไม่มีใครอยู่บริเวณโบสถ์ มีชาวบ้านได้มาตะโกนบอกไฟไหม้โบสถ์จึงรีบวิ่งมาดู พบกลุ่มควันจำนวนมากพวยพุ่งออกมาจากโบสถ์ พระสงฆ์ชาวบ้านช่วยกันเอาถังดับเพลิง มาช่วยกันพยายามดับไฟแต่ไม่สามารถดับไฟได้ ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบ

ด้าน พ.ต.อ.ยุทธนา งามชัด ผกก.สภ.เมืองหนองคาย กล่าวว่า จากการตรวจที่เกิดเหตุพบว่าภายในโบสถ์ซึ่งเป็นไม้ ไฟไหม้เสียหายทั้งหมด ซึ่งต้องรอการสอบสวนหาสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่ในเบื้องต้นมีพยานเห็นบุคคลวิกลจริตป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุซึ่งต้องรอรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสอบสวนต่อไป ซึ่งได้กั้นพื้นที่เกิดเหตุไว้เพื่อรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบที่เกิดเหตุเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน และดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป





Thank to : https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/221543
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 13 เม.ย. 2567 ,08:37น.
12  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ศรัทธาแน่นวัด หลวงพ่อสิงห์ สรีระสังขารเหนือกาลเวลา 15 ปี ไม่เน่า ไม่เปื่อย เมื่อ: เมษายน 14, 2024, 05:35:41 am
.



ศรัทธาแน่นวัด หลวงพ่อสิงห์ สรีระสังขารเหนือกาลเวลา 15 ปี ไม่เน่า ไม่เปื่อย

ศรัทธาแน่นวัด ปิดทอง เปลี่ยนผ้าครอง หลวงพ่อสิงห์  1 ปี มีครั้งเดียว สรีระสังขารเหนือกาลเวลา 15 ปี ไม่เน่า ไม่เปื่อย

วันที่ 13 เม.ย.67 ที่วัดไผ่เหลือง ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงาน ลูกศิษย์แน่นวัด แห่ร่วมสักการะกราบไหว้ครู อาจารย์ ในเทศกาลปีใหม่ไทยหรือ วันสงกรานต์ 2567 เปิดโลงแก้วสรีระสังขาร หลวงพ่อสิงห์ อดีตเจ้าคณะตำบลบางม่วง และอดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่เหลือง ปิดทอง เปลี่ยนผ้าครอง




พระครูสมุห์สิทธิโชค อภินนฺโท เจ้าอาวาสวัดไผ่เหลือง กล่าวว่า ได้จัดให้มีการปิดทอง เปลี่ยนผ้าครอง หลวงพ่อสิงห์ เป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย เพื่อเป็นการระลึกนึกถึงครูอาจารย์ ผู้ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา และเป็นผู้ที่ทำให้วัดมีความเจริญในทุกวันนี้ ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฎิบัติชอบ เป็นพระนักพัฒนา ที่มีลูกศิษย์มากมาย จากหลากหลายอาชีพ



ลูกศิษย์ที่นำธรรมะของหลวงพ่อไปปฏิบัติ แล้วได้ดี ประสบความสำเร็จ ก็กลับมาพัฒนาวัด กลับมาดูแลพุทธศาสนา แม้ว่าท่านจะละสังขารไปนานแล้ว แต่ลูกศิษย์ลูกหาก็ยังมากราบไหว้ ขอพรกันไม่ขาด ลูกศิษย์บางคนกลับไปมีโชคมีลาภ จึงทำให้มีการพูดถึงกันไปปากต่อปากอย่างกว้างขวาง

พระครูสมุห์สิทธิโชค อภินนฺโท กล่าวต่อว่า ในเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 นี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เชิญชวนประชาชน เข้าวัดทำบุญกราบขอพร 117 เกจิอาจารย์ สังขารเหนือกาลเวลา (ภาคกลาง) หลวงพ่อสิงห์ วัดไผ่เหลือง ท่านก็มีรายชื่อพระเกจิอาจารย์ สังขารเหนือกาลเวลาอยู่ด้วย




หลวงพ่อสิงห์ เกิดในสกุล วิระยะวงศ์ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2493 หมู่บ้านอองชุนนิ ประเทศเกาหลี บิดาชื่อ นายอนันต์ วิระยะวงศ์ เป็นอดีตทหารไทยที่ถูกส่งไปร่วมรบในสงครามเกาหลี มารดาเป็นชาวเกาหลี และเกิดที่ประเทศเกาหลี ท่านจึงเป็นลูกครึ่งไทย-เกาหลี

หลังบิดาเดินทางกลับประเทศไทย และอาศัยอยู่กับย่าที่ชุมชนหลังวัดบวรนิเวศวิหาร จนอายุได้ 15 ปี จึงย้ายภูมิลำเนาไปอยู่กับครอบครัวแม่บุญธรรมใน อ.บางเลน จ.นครปฐม และได้มีโอกาสเข้าไปรับใช้พระราชธรรมาภรณ์ หรือหลวงพ่อเงิน อดีตพระเกจิอาจารย์ วัดดอนยายหอม ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ได้ถ่ายทอดวิชาวิปัสสนากรรมฐาน การเจริญภาวนาสมาธิ





Thank to : https://www.amarintv.com/news/detail/214023
13 เม.ย. 67
13  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ”เสาร์ 5“ วันแรงตามตำราโบราณสายมู พลาดปีนี้รออีก 10 ปี ข้อห้ามไม่ควรทำ เมื่อ: เมษายน 13, 2024, 06:37:52 am
.



”เสาร์ 5“ วันแรงตามตำราโบราณสายมู พลาดปีนี้รออีก 10 ปี ข้อห้ามไม่ควรทำ

"เสาร์ 5" ตามตำราโบราณ หมายถึง วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินไทย ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 เม.ย. 67 โดยสายมูเชื่อว่าเป็นฤกษ์ ที่เสริมแรงครู ทำให้มีพิธีปลุกเสกเครื่องรางตามความเชื่อมาตั้งแต่อดีต ขณะเดียวกันก็แฝงนัย ข้อห้ามสำคัญที่หลายคนเข้าใจผิดมาตลอด ซึ่งถ้าสายมูพลาดปีนี้ต้องรออีก 10 ปีข้างหน้า

“อัมรินทร์ สุขสมัย” ผู้ศึกษาด้านโหราศาสตร์และไสยเวท กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า เสาร์ 5 เป็นคติความเชื่อตามตำราโบราณด้านไสยเวทอิงกับความรู้ด้านโหราศาสตร์ ซึ่งวันเสาร์ 5 หมายถึง วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินไทย ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 เม.ย. 67




“วันเสาร์ 5 ตามตำราโบราณถือเป็นวันแรงที่พระเกจิมักใช้วันนี้ในการทำพิธีกรรม เป็นวันที่เกิดขึ้นได้ยาก ในชีวิตคนหนึ่งคนอาจเกิดขึ้นแค่ 2 ครั้ง หรือครั้งเดียว จะเห็นว่าวัตถุมงคลที่เป็นฤกษ์เสาร์ 5 พระเกจิ 1 รูป อาจทำได้เพียง 1-2 ครั้งในชีวิต เพราะเป็นวันที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เพราะกว่าฤกษ์เสาร์ 5 จะเวียนมาอีกครั้งต้องใช้เวลา 10-20 ปี แต่มีกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นฤกษ์เสาร์ 5 โดยอิงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ แต่ไม่ใช่เดือน 5 ตามปฏิทินไทย”

ฤกษ์เสาร์ 5 ความหมายด้วยวันเสาร์เป็นวันแข็ง การขึ้น 5 ค่ำ เป็นการอาศัยกำลังของดาวพฤหัสบดี ที่เป็นวันครู ส่วนเดือน 5 ตามแบบไทย มีความหมายถึงครู และตำราโบราณดาวพฤหัสบดี ถือเป็นครูของดาวนพเคราะห์ ดังนั้นดวงดาวที่เป็นตัวแทนครู จะเข้าไปลดทอนดวงดาวที่ทำให้ดวงชะตาสูญเสีย หรือดาวเคราะห์ที่ให้โทษ




ทางไสยเวท การทำพิธีกรรมในวันเสาร์ ถือเป็นวันแข็ง และพอขึ้น 5 ค่ำ ก็ได้อิทธิพลของวันครู บวกกับเดือน 5 แบบไทยที่เป็นวันครู จึงเหมาะที่จะประกอบพิธีกรรม เช่น ปลุกเสกวัตถุมงคล เชื่อว่า จะเพิ่มพูนฤทธิ์ให้ทบทวีมากขึ้น ซึ่งในอดีตใช้วันนี้ในการปลุกเสกเครื่องลาง เน้นความคงกระพัน แคล้วคลาด มากกว่าการเสริมเสน่ห์ หรือโชคลาภ

ยุคปัจจุบัน ฤกษ์เสาร์ 5 ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นทำพิธี เพื่อให้เกิดความคงกระพัน มาเป็นการเสริมสิริมงคลด้านการงาน มหาเสน่ห์ การค้าขาย และโชคลาภ แต่การประกอบพิธีกรรมในวันนี้ยังมีความเชื่อว่าจะทำให้พิธีมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าวันอื่น เป็นการเพิ่มคุณของวิชาให้มากขึ้นด้วยฤกษ์เสาร์ 5




ฤกษ์เสาร์ 5 ในวันเสาร์ที่ 13 เม.ย. 67 ตามตำราความเชื่อว่าการประกอบพิธีต่างๆ เริ่มตั้งแต่พระอาทิตย์เริ่มขึ้น ไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน แต่ในทางไสยศาสตร์การประกอบพิธีกรรมบางครั้งใช้เวลายาวนาน เช่น ระหว่างทำพิธีเข้าสู่วันใหม่ จะมีการต่อฤกษ์ โดยผู้ประกอบพิธีมีการต่อมนต์ ที่ทำให้พิธียังไม่จบสิ้น

“ปกติฤกษ์เสาร์ 5 เป็นพิธีกรรมไสยศาสตร์ ไม่เกี่ยวโยงกับฤกษ์ปกติทั่วไป แต่ด้วยโลกปัจจุบันที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้หลายแห่งมีการจัดพิธีให้คนทั่วไปเข้าไปร่วมได้ เช่น พิธีพุทธาภิเษก มีการจัดขึ้นในวัด หรือสำนักต่างๆ และบางที่มีการเสริมชะตาหรือดวงในช่วงฤกษ์เสาร์ 5”




ข้อห้ามสำคัญในวันฤกษ์เสาร์ 5 ห้ามประกอบพิธีกรรมบูชาดาวเสาร์ เพราะเป็นดาวให้โทษ ไม่เคยให้คุณ ถ้ายิ่งไปบูชาในวันแรงยิ่งเพิ่มโทษ คติความเชื่อนี้สืบทอดมาจากอินเดีย ทำมาอย่างเคร่งครัด ถึงขนาดห้ามมองดาวเสาร์ เชื่อว่าจะให้โทษมากกว่าให้คุณ สิ่งสำคัญอย่าลืมว่าเรื่องคาถาอาคมเปรียบเสมือนมีด ที่ให้คุณกับคนใช้ในการนำไปใช้ปาดเพื่อใช้งาน แต่ขณะเดียวกันคมมีดก็สามารถปาดเนื้อเราได้



ที่ผ่านมามีพระเกจิหลายท่านใช้ฤกษ์เสาร์ 5 ปลุกเสกวัตถุมงคล เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา เช่น หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

ฤกษ์เสาร์ 5 ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ถึงอย่างไรควรมีสติในการใช้ชีวิต ไม่ควรเชื่องมงาย จนส่งผลกระทบต่อชีวิตตัวเองและครอบครัว.





Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2777298
9 เม.ย. 2567 20:12 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > Interview > ไทยรัฐออนไลน์
14  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ๑๐ อันดับของสังฆทานที่ทำแล้ว พระสงฆ์ได้ประโยชน์มากที่สุด เมื่อ: เมษายน 12, 2024, 07:48:17 am
.



๑๐ อันดับของสังฆทานที่ทำแล้ว พระสงฆ์ได้ประโยชน์มากที่สุด

เนื่องจากในปัจจุบันนี้สิ่งของที่อยู่ในถังสังฆทานสำเร็จรูปที่วางขายกันอยู่ทั่วไป พบว่ามากกว่าร้อยละ ๕๐ เป็นของที่ไม่มี คุณภาพไม่สามารถใช้งานได้จริง เช่น

   - ผ้าจีวรที่สั้นและบางมาก
   - ใบชาที่มีกลิ่นเหม็น(บางครั้งใบชาถูกจัดวางไว้ติดกับผงซักฟอก จึงอาจมีกลิ่นของผงซักฟอกผสมอยู่ด้วย)
   - กระดาษชำระที่ไม่มีคุณภาพ เนื้อหยาบและมีกลิ่นเหม็น
   - แปรงสีฟันที่มีขนแปรงที่แข็งมาก จนอาจจะทำให้ผู้ใช้เป็นโรคเหงือกอักเสบได้
   - สบู่หรือแชมพูที่มีกลิ่นหอมแรงและผสมมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ ซึ่งอาจจะทำให้พระสงฆ์ผิดศีลต้องปลงอาบัติ (มีศีลข้อห้ามการประทินผิวและใช้เครื่องหอม)
   - เครื่องชงดื่มที่มักจะหมดอายุ
   - ถ่านไฟฉายหมดอายุแบตเตอรี่เสื่อม ฯลฯ
   - หรือแม้แต่ตัวภาชนะที่ใส่ก็ยังทำจากพลาสติกคุณภาพต่ำ ใส่อะไรได้ไม่นาน ก็ฉีก แตก พัง เป็นต้น




จึงได้มีการจัดอันดับสิ่งของสังฆทานตามความจำเป็นในการใช้งาน จำนวน ๑๐ อันดับ เรียงจากจำเป็นมากสุดไปน้อยที่สุดได้ ดังนี้

   ๑. เครื่องเขียน สมุด ปากกา ดินสอ เนื่องจากพระต้องเรียนพระปริยัติธรรมและจดกำหนดนัดหมายต่าง ๆ
   ๒. ใบมีดโกน เนื่องจากพระต้องโกนผมทุกวันโกน
   ๓. ผ้าไตรจีวร ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับสมณะสงฆ์
   ๔. หนังสือธรรมะ สารคดี นิตยสารหรือที่ให้ความรู้ด้านอื่นๆ เนื่องจากพระสงฆ์มีหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
จึงต้องมีความรู้ที่แตกฉานและรู้ ทันข่าวสารบ้านเมือง
   ๕. รองเท้า พระต้องเดินทางไปกิจนิมนต์ตามที่ต่าง ๆ บางรูปต้องทำงานที่ใช้แรงงานในวัด เช่น ก่อสร้าง ทำสวนทำให้รองเท้ามักจะขาด และเสียหายอยู่บ่อย ๆ
   ๖. ยาสามัญประจำบ้าน ที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวดหัว ปวดท้อง ยาแก้ไอ แก้ไข้ ลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาใส่แผลสด แผลเปื่อย แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลพุพองเป็นหนอง ผิวหนังอักเสบเป็นหนอง
   ๗. ผ้าขนหนู ไม่ต้องสีเหลืองก็ได้เพื่อไว้สำหรับเช็ดทำความสะอาดร่างกาย
   ๘. คอมพิวเตอร์ เพื่ อสืบค้นและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
   ๙. อุปกรณ์ทำความสะอาด เพื่อนำไปทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค บริเวณกุฏิ ศาลา อุโบสถ
  ๑๐. แชมพู เพราะพระสงฆ์ไม่มีผมปกคลุม ทำให้หนังศีรษะของพระมักจะแห้ง และเกิดโรคผิวหนังอยู่เสมอ สิ่งที่จะช่วยบรรเทาได้ ก็คือ แชมพู ยาที่มีสูตรส่วนผสมดูแลปกป้องหนังศีรษะ






ขอขอบคุณ :-
บทความจาก : จุลสารหนังสือ อาหารสุขภาพพระสงฆ์ "บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา" หน้า 15-16
URL : https://e-book.dra.go.th/ebook/2566/health-food-for-monks/mobile/index.html
15  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / 40 ท่วงท่าลีลาสตรีเกี้ยวบุรุษ เมื่อหญิงแพศยาเย้ายวนพระสงฆ์สมัยพุทธกาล เมื่อ: เมษายน 12, 2024, 06:35:44 am
.

(ภาพประกอบเนื้อหา) จิตรกรรมภาพพระภิกษุ วัดบวรนิเวศวิหาร


40 ท่วงท่าลีลาสตรีเกี้ยวบุรุษ เมื่อหญิงแพศยาเย้ายวนพระสงฆ์สมัยพุทธกาล

ท่วงท่าลีลาสตรีเกี้ยวบุรุษ 40 ท่า มีที่มาจากคัมภีร์อรรถกถาชาดก เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ ซึ่งมารดาของพระสงฆ์รูปดังกล่าวต้องการให้สึกจากพระพุทธศาสนา จึงคิดว่าจ้างหญิงแพศยาให้ไปเกี้ยวพระสุนทรสมุทรเถระ

พระสุนทรสมุทรเถระ หรือสุนทรสมุทรกุมาร เดิมเป็นบุตรชายเกิดในตระกูลใหญ่อันมีสมบัติมหาศาล อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี วันหนึ่งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า บังเกิดความอุตสาหะจึงบรรพชาเป็นพระสงฆ์ แม้นบิดามารดาจะเห็นชอบให้บรรพชา แต่ก็สร้างความระทมให้ผู้เป็นมารดามาก

วันหนึ่ง หญิงแพศยาคนหนึ่งเห็นมารดาของพระสุนทรสมุทรเถระกำลังนั่งร้องไห้ สืบสาวราวเรื่องจึงทราบเหตุ จนปรึกษาหารือตกลงว่าจ้างหญิงแพศยานั้นไปออกอุบายล่อลวงให้พระสุนทรสมุทรเถระสึกเสีย หญิงแพศยาก็ออกอุบายเกลี้ยกล่อมต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะการแสดงกิริยา 40 ท่า เกี้ยวพระสุนทรสมุทรเถระ อันเป็นการเย้ายวนหวังให้เกิดกำหนัด รู้สึกปรารถนาในกามคุณ

ธาร ธรรมโฆษณ์ ประพันธ์กวีเกี่ยวกับกิริยาทั้ง 40 ท่า ไว้ดังนี้

@@@@@@@

เรื่องราวมีมาในชาดก   ขอหยิบยกมาเล่ากันเล่นเล่น
ลีลาหญิงเกี้ยวชายหลายประเด็น   ชี้ชัดชัดให้เห็นเป็นท่าไป
ท่าที่หนึ่ง ทำท่าสะบัดสะบิ้ง   เหมือนไม้หลักปักตลิ่งส่ายไหวไหว
ท่าที่สอง ก้มลงทำไฉไล   โก้งโค้งอยู่ใกล้ใกล้หมายให้ชม

ท่าที่สาม กรีดกรายเหมือนนักฟ้อน   นวยนาดอ่อนมือไม้ไม่อยู่สม
ท่าที่สี่ ชมดชม้อยตาปรือกลม   เหมือนลิงลมเอียงอายยั่วสายตา
ท่าที่ห้า เอาเล็บกรีดเล็บถู   นั่งแคะอยู่อย่างนั้นนานนักหนา
ท่าที่หก เหยียบเท้าทับไปมา   ให้ผู้ชายเห็นว่าตนเท้างาม

ท่าที่เจ็ด เอาไม้มาเขี่ยดิน   เหมือนวาดศิลป์ภาพสวยให้วาบหวาม
ท่าที่แปด อุ้มเด็กชูขึ้นตาม   แกว่งส่ายข้ามไปมา อวดทรวดทรง
ท่าที่เก้า อุ้มเด็กลดลงต่ำ   เม้มปากทำเป็นง้อล่อประสงค์
ท่าที่สิบ แกล้งเล่นหมายจำนง   ชี้ตนบ่งเป็นเด็กสาวเบิกบาน

ท่าสิบเอ็ด แกล้งยุให้เด็กเล่น   ทำเป็นวางกะเกณฑ์เน้นเสียงหวาน
ท่าสิบสอง จูบเด็กยิ้มสำราญ   เอาจมูกป้ายผ่านแก้มไปมา
ท่าสิบสาม ยื่นแก้มให้เด็กจูบ   เอาหน้าลูบแก้มเด็กหัวเราะร่า
ท่าสิบสี่ กินของเคี้ยวโอชา   ทำจุ๊บจั๊บปากกว่าจะได้กลืน

ท่าสิบห้า ยื่นของให้เด็กกิน   ป้อนค่อยค่อยยั่วลิ้นแกล้งขัดขืน
ท่าสิบหก ยื่นของให้เด็กยืน   ผ้าเช็ดหน้าหนึ่งผืนยื่นให้ไป
ท่าสิบเจ็ด เอาของจากเด็กคืน   ผ้าเช็ดหน้าที่ยื่นดึงกลับใหม่
ท่าสิบแปด ล้อเลียนเด็กแกว่งไกว   ทำมือไหวไปมาเหมือนล้อเลียน

ท่าสิบเก้า แกล้งพูดเสียงดังดัง   ไม่ยับยั้งดังข่มอารมณ์เปลี่ยน
ท่ายี่สิบ พูดเบาเสียงแผ่วเนียน  กำซาบถ้อยพจน์เลี่ยนเหมือนโอดคราง
ท่ายี่สิบเอ็ด พูดจาคำเปิดเผย   ห้าวห้าวเย้ยเปรยคำทำโผงผาง
ท่ายี่สิบสอง พูดล่อเป็นรางราง   กล่าวนัยอย่างสองแง่ ให้คิดเอา

ท่ายี่สิบสาม ทำท่าร่ายร้องรำ   นัยน์ตาฉ่ำทำส่ายกายกระเส่า
ท่ายี่สิบสี่ ร้องเพลงครวญเบาเบา  บ้างร้อนแรงเริงเร่าเร้าทำนอง
ท่ายี่สิบห้า ทำท่ากระซิกกระซี้   เหมือนกระดี่ได้น้ำกระโดดหนอง
ท่ายี่สิบหก จ้องตาทำเมียงมอง  เล่นตาจ้องจดจ่อล่อเชิงชาย

ท่ายี่สิบเจ็ด ส่ายสะเอวเป็นจังหวะ  ยั่วราคะชายชมสุขสมหมาย
ท่ายี่สิบแปด ไหวของลับประจำกาย  แลบล่อย้ายทรวงทรงนงเนื้อนวล
ท่ายี่สิบเก้า ถ่างขาอ้ากางออก   ให้ระลอกลมล่องของสงวน
ท่าสามสิบ หุบขาเหมือนเย้ายวน  ถ่างหุบให้ปั่นป่วนรัญจวนจินต์

ท่าสามสิบเอ็ด เปิดเสื้อให้เห็นนม   แบะเบิกบ่มบวบบุ๋มบีบถวิล
ท่าสามสิบสอง โชว์รักแร้ยอดโศภิน   ชูแขนเผยจนสิ้นไม่ปิดบัง
ท่าสามสิบสาม เปิดสะดือให้เห็นหลุม   โชว์เนื้อลุ่มกลางกายคล้ายบ่อขลัง
ท่าสามสิบสี่ ขยิบตาเคลิ้มภวังค์   เหมือนจะสั่งวาจาด้วยตาวาว

ท่าสามสิบห้า ยักคิ้วทำหลิ่วเหล่   เหมือนนักเลงเกเรยิ้มเหล่สาว
ท่าสามสิบหก เม้มปากเป็นเส้นยาว   เหมือนไม่อยากกินข้าว เจ้าลีลา
ท่าสามสิบเจ็ด แลบลิ้นออกมาเลีย   น้ำลายเยิ้มไหลเรี่ยริมโอษฐา
ท่าสามสิบแปด ทำทีเป็นเปลื้องผ้า   ให้วับวับวืดพาจะหลุดมือ

ท่าสามสิบเก้า เปลื้องผ้าทำนุ่งใหม่   ตบแต่งให้เข้าทรงเสียดื้อดื้อ
ท่าสี่สิบ สยายผมลมกระพือ   ทั้งหมดคือ ท่าหญิงใช้เกี้ยวชาย
เรื่องราวมีมาในชาดก   สาธกยกมาเขียนขยาย
อ่านเล่นเล่นหน้าร้อนนอนผ่อนคลาย   สาธยายนานแล้ว ขอจบเอย [1]


พระพุทธเจ้าทรงรับรู้เหตุการณ์ขณะที่หญิงแพศยากำลังเกี้ยวพระสุนทรสมุทรเถระ ก็ทรงเห็นกระจ่างชัดว่า “ความชนะจักมีแก่สุนทรสมุทร, ความปราชัยจักมีแก่หญิงแพศยา” [2]

อ่านเพิ่มเติม :-

    • สมัยพุทธกาล ภิกษุณี 2 รูป ถูกชายชั่วชวน “สังวาส”
    • สาวสมัยพุทธกาลเข้าใจผิด คิดว่าช่วยคลายกำหนัดให้พระแล้วจะได้บุญ
    • วัฒนธรรมโสเภณี แก้เหงาไม่เฉามือ..จากสมัยพุทธกาลถึงรัตนโกสินทร์








ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : เสมียนอารีย์
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 11 เมษายน พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 31 มกราคม 2565
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_82345

อ้างอิง :-
[1] ธาร ธรรมโฆษณ์. (กุมภาพันธ์, 2547). ลีลาหญิงเกี้ยวชาย 40 ท่า. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25 : ฉบับที่ 6.
[2] “เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ”. (2548). เข้าถึงเมื่อ 31 มกราคม 2565, จาก https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=36&p=32
16  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / สิ้นแล้ว “สมณะโพธิรักษ์” เจ้าสำนักสันติอโศก ผู้นำกองทัพธรรม เมื่อ: เมษายน 12, 2024, 06:23:44 am
.



สิ้นแล้ว “สมณะโพธิรักษ์” เจ้าสำนักสันติอโศก ผู้นำกองทัพธรรม

MGR Online - สิ้นแล้ว “สมณะโพธิรักษ์” ผู้นำจิตวิญญาณสำนักสันติอโศก มรณภาพแล้ว ลูกศิษย์เศร้าโพสต์อาลัย

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 06.40 น. พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ (ชื่อเดิม มงคล รักพงษ์) เจ้าสำนักสันติอโศก ได้มรณภาพ ด้วยโรคชรา ในวัย 90 ปี

ทั้งนี้ มีรายงานว่า สมณะโพธิรักษ์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวารินชำราบ ด้วยอาการปอดอักเสบ และออกจาก รพ. กลับราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนจะมรณภาพ

@@@@@@@

กำหนดการพิธีเคลื่อนสรีรสังขาร "พ่อครูสมณะโพธิรักษ์"

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ละสังขาร ด้วยโรคชรา เวลา ๐๖.๔๐.๑๐ น.
ชาตะ : วันอังคาร ที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๗๗
มรณภาพ : วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๗
สิริอายุ : อายุ ๘๙ ปี ๑๐ เดือน ๖ วัน
อุปสมบท : วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ , ๕๓ พรรษา ๕ เดือน ๔ วัน

๑๐.๐๐ น. นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และนายแพทย์พงษ์พัฒน์ พิมพ์สะ แพทย์เจ้าของไข้ มากราบขอขมา
๑๐.๓๐ น. เคลื่อนสรีรสังขาร จาก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ไปยังบวรราชธานีอโศก
๑๑.๐๐ น. ถึงราชธานีอโศก ***ตั้งขบวนรับจากสะพานโค้งรุ้ง
๑๑.๓๐ น.พิธีบรรจุสรีรสังขารพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ลงหีบ โดยท่านสมณะ ณ ใต้เฮือนศูนย์สูญ




ประวัติโดยสังเขป

สมณะโพธิรักษ์ เดิมชื่อ มงคล รักพงษ์ ชื่อเล่นว่า แป๊ก เกิดที่จังหวัดศรีสะเกษ วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 บิดา คือ นายทองสุข แซ่โง้ว ถึงแก่กรรมเมื่อ ด.ช.มงคล อายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ ส่วนมารดาชื่อนางบุญโฮม รักพงษ์ ซึ่งได้แต่งงานใหม่กับ สิบโท บุญเฉย รักพงษ์ ด.ช.มงคลเป็นลูกคนเดียวของนายทองสุข ส่วนมารดามีลูกกับบิดาเลี้ยง 10 คน ลุงซึ่งเป็นนายแพทย์ประจําจังหวัดศรีสะเกษ ชื่อ นายแพทย์สุรินทร์ พรหมพิทักษ์ ขอไปเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก และต้องย้ายที่อยู่ต่อมา ขณะที่เด็กชายมงคลเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ได้เกิดสงครามอินโดจีน ลุงจึงนํามาส่งคืนมารดาซึ่งทํางานอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี

ด.ช.มงคล มีความขยันหมั่นเพียรและมีความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเด็ก เดิมฐานะทาง บ้านดี เพราะมารดาค้าขายเก่ง แต่ต่อมามารดาถูกโกงและป่วยเป็นวัณโรค ทําให้ประสบปัญหาทางการเงิน ด.ช.มงคลจึงช่วยมารดาค้าขายเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว นอกจากนั้น ยังชอบขาย ของและหารายได้เอง และเมื่อเดินทางมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ก็ทํางานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 7 (มัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปัจจุบัน) จากโรงเรียนสีตบุตรบํารุง กรุงเทพฯ นายมงคลได้ไปสมัครเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่างในแผนกที่ตั้งใหม่คือแผนกวิจิตรศิลป์ โดยไม่ต้องสอบเข้า ระหว่าง พ.ศ. 2495-2500 จนจบการศึกษา และในขณะที่กําลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างปี 5 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น รัก รักพงษ์

@@@@@@@

เมื่อมารดาถึงแก่กรรม เป็นช่วงเวลาที่นายรัก รักพงษ์ จบการศึกษาเพาะช่างและได้เข้าทํางานที่บริษัทไทยโทรทัศน์จํากัด นายรัก รักพงษ์ได้รับภาระเลี้ยงดูและส่งเสียน้องทุกคนเรียนหนังสือ

นายรัก รักพงษ์ เริ่มทํางานที่บริษัทไทยโทรทัศน์ จํากัด เมื่อ พ.ศ. 2501 โดยเป็นนักจัดรายการ ซึ่งได้แก่รายการเด็ก รายการการศึกษา และรายการทางวิชาการต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นครูพิเศษสอนศิลปะตามโรงเรียนต่างๆ และมีงานประพันธ์ ทั้งสารคดี เรื่องสั้น บทกวี และบทเพลง ใช้นามปากกาแตกต่างกัน เช่น มงคล พงษ์มงคล, เกื้อ ปรียา และโบราณ สนิมรัก งานประพันธ์ที่ ทําให้มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ บทเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง “ผู้แพ้” ซึ่งประพันธ์ขึ้นสมัยที่เป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างระหว่าง พ.ศ.2497-2498 เป็นผู้ประพันธ์ทั้งคําร้องและทํานอง มีเนื้อ หาสาระแฝงคติธรรมในการต่อสู้ชีวิต และใช้นามผู้ประพันธ์ว่า รัก พงษ์มงคล

หลังจากนั้น รัก รักพงษ์ได้สนใจศึกษาเรื่องจิตทําให้หมกมุ่นอยู่กับไสยศาสตร์ไประยะหนึ่ง จนกระทั่งได้มีโอกาสศึกษาพุทธธรรมจนเกิดความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของพุทธศาสนาต่อการดํารงชีวิต ความสนใจในทางศาสนาทำให้นายรัก รักพงษ์ เขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะหลายเล่ม โดยใช้นามปากกาว่า โพธิรักษ์ เช่น ชีวิตนี้มีปัญหา เป็นงานเขียนที่รวบรวมจากบทความต่างๆ ที่เขียนประจําในนิตยสาร “ดาราภาพ" กลางทะเลชีวิต เป็นหนังสือ รวมบทความจากที่เคยเขียนไว้ในนิตยสาร “สตรีสาร” และลําธารชีวิตเป็นหนังสือรวมบทความ จากที่เคยเขียนไว้ในนิตยสาร “ไทยโทรทัศน์”




ต่อมา นายรัก รักพงษ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตที่วัดอโศการาม จังหวัด สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 โดยมีอุปัชฌาย์ คือ พระราชวรคุณ และได้รับ ฉายาจากการอุปสมบทว่า “พระโพธิรักษ์” ซึ่งหมายถึง “ผู้รักษาความตรัสรู้” เป็นฉายาจากนามปากกาขณะที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะเมื่อยังเป็นฆราวาส และได้ขออุปัชฌาย์ใช้นามนี้เป็นฉายา

หลังจากที่มีบุคคลเลื่อมใสศรัทธามาบวชและปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น วัดอโศการามจนกลายเป็นกลุ่มชนใช้นามว่า “ชาวอโศก” พระโพธิรักษ์จึงขอสร้างสถานที่เฉพาะกลุ่มเพื่อปฏิบัติธรรมตามแนวคําสอนของตน แต่พระอุปัชฌาย์ไม่อนุญาตให้อยู่ปนกันทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต เนื่องจากพระโพธิรักษ์เป็นพระฝ่ายธรรมยุต พระโพธิรักษ์จึงไปอุปสมบทใหม่ที่วัดหนองกระทุ่ม จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2516 เป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย มีอุปัชฌาย์ คือ พระครูสถิตวุฒิคุณ ขณะนั้นมีใบสุทธิ 2 ใบ และได้นําใบสุทธิของฝ่ายธรรมยุตมาคืนที่วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2516

การทํางานเผยแพร่ธรรมของพระโพธิรักษ์มีอุปสรรคและมีปัญหามากจากความขัดแย้งกับคณะสงฆ์และชาวพุทธฝ่ายจารีตนิยม เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “นอกรีต” จากการปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระโพธิรักษ์และคณะ ได้แก่ ฉันอาหารมังสวิรัติ, ฉันอาหารวันละ 1 มื้อ, ไม่ใช้เงินทอง, นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก, ไม่มีการเรี่ยไร, ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์, ไม่ใช้การบูชา ด้วยธูปเทียน, ไม่มีไสยศาสตร์ พระโพธิรักษ์จึงประกาศตัวลาออกจากมหาเถรสมาคม หรือที่เรียกว่า นานาสังวาส เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2518 แต่ยังได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย

@@@@@@@

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งได้รุนแรงมากขึ้นจนนําไปสู่กรณีสันติอโศก โดยมหาเถระสมาคม ได้เห็นชอบให้มีการประกาศนียกรรม ให้พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชน มิให้คบหาสมาคมหรือให้ความร่วมมือใด ๆ แก่พระโพธิรักษ์ และคณะที่พระโพธิรักษ์บวชให้  ซึ่งประกาศนียกรรมมีค่าเท่ากับ "บัพพาชนียกรรม" เมื่อครั้งพุทธกาลนั่นเอง อันเป็นผลให้พระโพธิรักษ์ต้องสึกจากพระภิกษุและใช้นามว่าสมณะโพธิรักษ์แทน และยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม นุ่งห่มแตกต่างจากพระสงฆ์ไทยทั่วไป ตั้งแต่ พ.ศ.2532 เป็นต้นมา

ในปี 2533 อัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระโพธิรักษ์และพระชาวอโศก ข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กรณีการแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริง เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2538 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2540

“สมณะโพธิรักษ์” ได้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งยังได้มีบทบาททางการเมือง โดยนำพาผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 รวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐบาลทั้งในปี พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2551 รวมถึงการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในปี พ.ศ. 2556 และพ.ศ. 2557 ด้วย โดยเฉพาะการชุมนุมของ กปปส.นั้นสมณะโพธิรักษ์และผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศก ได้ปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินีตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ. 2555 ก็ได้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) มาแล้ว

ทั้งนี้ “สมณะโพธิรักษ์” ได้นำพากลุ่มชาวอโศกสร้าง “ชุมชนบุญนิยม” ตามปรัชญา แห่งศาสนาพุทธ ที่เชื่อมั่นว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นแกนสำคัญ ของมนุษย์ และสังคมโดย มีความ เป็นอยู่ อย่างเรียบง่าย, พึ่งตนเองได้, สร้างสรร, ขยัน-อดทน, ไม่เอาเปรียบใคร, ตั้งใจเสียสละ จนได้รับ การขนานนามว่า “ชุมชนคนพอเพียง”






Thank to : https://mgronline.com/qol/detail/9670000031661
เผยแพร่ : 11 เม.ย. 2567 08:59 , ปรับปรุง : 11 เม.ย. 2567 17:23 , โดย : ผู้จัดการออนไลน์
17  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 11, 2024, 07:48:10 am
.



บทที่ ๖ : ความจริงสูงสุด

แนวคิดสำคัญ

นิพพานเป็นความจริงสูงสุด เป็นความดีสูงสุด (summum bonum) เป็นสภาวะที่สมบูรณ์ ปราศจากเครื่องร้อยรัดเสียดแทง เป็นนิรันดร์

จุดประสงค์การเรียนรู้

    จุดประสงค์นําทาง
    มีความรู้ความเข้าใจถึงภาวะความมีอยู่ของนิพพาน

    จุดประสงค์น่าทาง
    ๑. อธิบายความหมายของคำว่านิพพานได้
    ๒. อธิบายถึงระดับของนิพพานได้




 :25: :25: :25:

๑. ความหมายของนิพพาน

นิพพาน เป็นภาษาบาลี ในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า “นิรวาน” แปลว่า ความดับตัณหา หรือความดับกิเลส และดับทุกข์ หรือ สภาวะที่ปราศจากเครื่องร้อยรัดเสียบแทง หรือสภาวะที่ออกไปจากตัณหาที่ได้ นิพพานจึงเป็นความดับเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์และนิพพานนั้นเป็นชื่อหนึ่งของนิโรธ ดังนั้นนิพพานกับนิโรธจึงเป็นสิ่งเดียวกัน จัดได้ว่าเป็นความจริงสูงสุด เป็นสภาวะที่สมบูรณ์ เป็นความดีขั้นสูงสุด เป็นสภาวะที่เที่ยงแท้ เป็นสุขนิรันดร์ 

พระอนุรุทอาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ได้พรรณนาคุณของนิพพานไว้ด้วยภาษามคธว่า "ปทมัจจุต  มัจจันตัง อสังขตมนุตตรัง นิพพานมีติ ภาสันติ วานมุตตามเหสโย”

อาจารย์ ทวี ผลสมภพ แปลความว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้พ้นแล้วจากตัณหาเครื่องร้อยรัด ทรงตรัสถึงสภาวธรรมชนิดหนึ่งที่เข้าถึงได้ เป็นธรรมชาติไม่มีจุติ พันจากขันธ์ ๕ ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยอะไรๆเลย หาสภาวธรรมอื่นเปรียบเทียบไม่ได้ ว่าสภาวธรรมนั้นคือ พระนิพพาน”

๒. ลักษณะสำคัญของนิพพาน

การศึกษาเกี่ยวกับนิพพานมีสาระที่ควรให้ความสนใจ ๓ ประการคือ
    ๑. ธรรมชาติที่ไม่มีจุติ
    ๒. พ้นจากขันธ์ ๕
    ๓. ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยอะไร

นิพพานเป็นธรรมชาติไม่มีที่จุติ หมายถึง นิพพาน ไม่มีการเกิด ไม่มีความตาย เพราะความตายจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีการเกิด ดังนั้นเมื่อไม่มีเกิดจึงไม่มีตาย การที่นิพพานไม่มีการเกิด ก็เพราะว่า นิพพานทำลายตัณหาซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดภพต่างๆ อย่างหมดสิ้น

นิพพานพ้นจากขันธ์ ๕ หมายถึง เมื่อไม่มีการเกิด ขันธ์ ๕ ก็ไม่ปรากฏ เพราะความเกิดคือการปรากฏของขันธ์ ๕ ซึ่งธรรมดาสัตว์โลกทุกชนิดเมื่อเกิดแล้วจะต้องมีขันธ์ ๕  อาจจะครบทั้ง ๕ ขันธ์หรือไม่ครบบ้าง เช่น เมื่อมนุษย์เกิดมามีรูปร่าง มีความรู้สึกสุขทุกข์(เวทนา) มีความจำ(สัญญา) มีความคิดปรุงแต่งให้เกิดอารมณ์(สังขาร) และมีจิต(วิญญาณ) แต่ถ้าเกิดเป็นอรูปพรหมก็มีเพียง ๔ ขันธ์ ขาดรูปขันธ์ เป็นต้น ฉะนั้นการที่ไม่มีการเกิดจึงเท่ากับว่าไม่มีขันธ์

นิพพานไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยอะไรๆ หมายถึง ธรรมดาสิ่งทั้งหลายล้วนเกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง คำว่าปรุงแต่งในที่นี้คือสิ่งทั้งหมายมารวมตัวกันเป็นกอง เป็นหมู่ เช่น บ้านรวมตัวขึ้นเพระการรวมตัวของวัตถุต่างๆ มีทั้งไม้ ปูน เหล็ก กระเบื้อง เป็นต้น 

มนุษย์ก็เกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุ ๔ การรวมตัวของวัตถุเป็นบ้าน หรือการรวมตัวของธาตุ ๔ เป็นมนุษย์และสัตว์นี้ เรียกว่าถูกปรุงแต่ง เมื่อนิพพานไม่มีการเกิดจึงเท่ากับว่าไม่มีการรวมตัวกันของธาตุ ๔ เมื่อไม่มีปัจจัยใดๆ รวมตัวกัน จึงไม่มีอะไรเกิด เพราะฉะนั้น นิพพานจึงได้ชื่อว่า อสังขตะ แปลว่า ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยต่างๆ

นิพพานจำแนกได้  ๓  คือ
    ๑). นิพพาน ๑  โดยสภาวะลักษณะ
    ๒). นิพพาน  ๒ โดยการกล่าวถึงเหตุ
    ๓). นิพพาน  ๓  โดยการเข้าถึง
_______________________________________
ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง : หนังสือพุทธปรัชญาเถรวาท (ผศ.วิโรจน์ นาคชาตรี)

@@@@@@@

๓. นิพพาน ๑

นิพพาน ๑ โดยสภาวะลักษณะ คือ สันติลักษณะ หมายถึง นิพพานเป็นสภาวะที่สงบจากกิเลสสงบจากขันธ์  ๕  ซึ่งพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อปรินิพพานแล้วย่อมเข้าถึงสันติสุข 

คำว่า สันติสุขในความหมายนี้ มิได้หมายความว่านิพพานเป็นสุขเวทนา แต่หมายถึง นิพพานเป็นสภาวะที่ปลอดจากเวทนา คือ ไม่มีสุขเวทนา ไม่ทุกขเวทนา และไม่มีความเป็นกลางระหว่างสุขเวทนาและทุกขเวทนา

๔. นิพพาน ๒

นิพพาน ๒ โดยการกล่าวถึงเหตุ ๒ ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ ๑ มีกล่าวในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๒๓๑ แบ่งออกเป็น ๒ ประการ  คือ
    ๑.  สอุปาทิเสสนิพพาน คือ ดับกิเลสทั้งหมดแล้ว แต่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ได้แก่ พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิต เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ทิฏฐธัมมนิพพาน แปลว่า นิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน
    ๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ ดับกิเลสหมดแล้ว พร้อมทั้งดับขันธ์ด้วย ได้แก่ พระอรหันต์ที่ไม่มีชีวิต เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สัมปรายิกนิพพาน แปลว่า นิพพานหลังจากสิ้นชีวิต

ลักษณะที่ ๒ มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ หน้า ๒๑๖ แบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ
    ๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือ ดับกิเลสได้แล้วเป็นบางส่วน ยังเหลือบางส่วน เช่น นิพพานของพระโสดาบัน  พระอนาคามี
    ๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ ดับกิเลสไม่มีส่วนเหลือดับกิเลสได้หมด คือ นิพพานของพระอรหันต์

๕. นิพพาน ๓

นิพพาน ๓ โดยการเข้าถึง ๓ ลักษณะ คือ
    ๑. สุญญตนิพพาน
    ๒. อนิมิตตนิพพาน
    ๓. อัปปณิหิตนิพพาน

สุญญตนิพพาน คือ นิพพานที่เข้าถึงได้ด้วยการพิจารณาขันธ์ ๕ เป็นของว่างเปล่า หมายถึง ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานเห็นขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ในความหมายว่าสูญเปล่า คือ ขันธ์ ๕ ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันได้สูญสิ้นไปแล้ว  ปัจจุบันก็กำลังสูญไปและในอนาคตขันธ์ ๕ ก็จะสูญหายไปด้วย ญาณทัสสนะที่เกิดขึ้นโดยมีอนัตตาเป็นอารมณ์เด่นชัดนี้ เรียกว่า สุญญตนิพพาน หรือเรียกว่า นิพพานเพราะเห็นอนัตตา

อนิมิตตนิพพาน คือ นิพพานที่เข้าถึงได้ด้วยการพิจารณาขันธ์ ๕ ไม่มีเครื่องหมาย หมายถึง ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง จนเกิดญาณทัสสนะเห็นขันธ์ ๕ เกิดแล้วดับติดต่อกัน โดยมิได้มีนิมิตหมายอันใดเหลืออยู่ เห็นแต่รูปนาม มีอนิจจลัษณะปรากฏเด่นชัดจึงหันหน้าไปสู่ความดับไม่กลับหลัง เรียกว่า อนิมิตตนิพพาน หรือ เรียกว่า นิพพานเพราะเห็นอนิจจัง

อัปปณิหิตนิพพาน คือ นิพพานที่เข้าถึงได้ด้วยการพิจารณาขันธ์ ๕ ว่าไม่มีอารมณ์ ที่น่าปรารถนา หมายถึง ผู้ที่เจริญวิปัสสนาพิจารณาขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ คือ ไม่มีสิ่งใดคงทน ไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ ทุกสิ่งปรากฏขึ้นแล้วก็เปลี่ยนแปลงไป มิได้ตั้งอยู่คงเดิม ญาณทัสสนะที่เกิดขึ้นโดยมีทุกขลักษณะปรากฏเด่นชัดนี้เรียกว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรือเรียกว่า นิพพานเพราะเห็นทุกขัง





อย่างไรก็ตาม นิพพานเป็นสิ่งที่ยากแก่การอธิบายให้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง ดังบันทึกในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ หน้า ๑๗๖ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

     “ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยากชื่อว่า นิพพานไม่มีตัณหา นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้  ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ผู้เห็น”

ดังนั้น การที่จะรู้ได้ก็ด้วยเพียงการเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่จะได้รับรู้ถึงนิพพาน ซึ่งมีคำใช้เรียกอยู่มาก เช่น
    วิมุตติ  ความหลุดพ้น เป็นอิสระ   
    วิสุทธิ  ความบริสุทธิ์หมดจด
    สันตะ  ความสงบระงับ                     
    สุทธิ  ความบริสุทธิ์สะอาด
    เขมะ  ความปลอดภัย
    อนุตตระ  ยอดเยี่ยมไม่มีอะไรยิ่งกว่า
    อกิญจนะ  ไม่มีอะไรค้างคาใจ 
    นิปุณะ  ละเอียดอ่อน
    ปณีตะ  ประณีต                     
    ปรมัตถะ  ประโยชน์สูงสุด
    ปรมสุข  สุขอย่างยิ่ง
    ปัสสัทธิ  สงบเยือกเย็น
    สิวะ  แสนเกษมสำราญ
    อรูปะ  ไร้รูป
    เกวละ  สมบูรณ์ในตัว
    วูปสมะ  ความเข้าไปสงบ
    ปณีตะ  สิ่งประณีต
    อนิทัสสนะ  ที่มองไม่เห็นด้วยตา
    อสังขตะ  สิ่งไม่ถูกปรุงแต่ง
    อนาสวะ  สิ่งไม่มีอาสวะ
    อมตะ  สิ่งไม่ตาย
    สัจจะ  ของจริง
    ธุวะ  ยั่งยืน
    อัชชระ  ไม่คร่ำคร่า
    ตัณหักขยะ  ที่สิ้นตัณหา
    วิราคะ  คลายกำหนด
    มุตติ  ความพ้น
    อปโลกิตะ  ตามที่ปรากฏโดยไม่เสื่อม ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายนิพพานในเชิงปฏิเสธอีก
    น ปฐวี  จะว่าดินก็ไม่ใช่
    น อาโป  จะว่าน้ำก็ไม่ใช่
    น เต  จะว่าไฟก็ไม่ใช่
    น วาโย  จะว่าลมก็ไม่ใช่
    นาย ลโก  ไม่ใช่โลกนี้
    น ปร โลโก  ไม่ใช่โลกอื่น
    น อุโภ จนทิมสุริยา  จะว่าพระจันทร์ พระอาทิตย์ก็ไม่ใช่
    อตถิ ภิกขเว ตทายตน  แต่ว่าสิ่งนั้นมีจริง

เป็นการยากในอธิบายให้เห็นถึงความสงบอย่างที่สุด นักปราชญ์ท่านได้เปรียบเทียบไว้เป็นเรื่องเป็นราวว่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่ แต่ขีดความสามารถในการรับรู้ของบุคคลนั้นต่างกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรปฏิเสธสิ่งที่ตนเองไม่เคยพบเห็น เรื่องมีอยู่ว่า

ปลากับเต่าเป็นเพื่อนสนิทสนมกัน ปลาอยู่แต่ในน้ำ รู้จักเรื่องราวความเป็นไปของทุกสิ่งที่อยู่ในน้ำ เต่าเป็นสัตว์ที่อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ วันหนึ่งเต่าไปเที่ยวบนบกและกลับมาในน้ำ เมื่อพบปลาก็เล่าให้ปลาฟังถึงความสดชื่นที่ได้เดินไปบนทุ่งโล่งบ้าง บนพื้นดินที่แห้งบ้าง มีลมพัดเย็นตลอดเวลา ปลาได้ฟังก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือดิน อะไรคือทุ่งโล่งและลมพัดก็ยิ่งไม่เข้าใจ ปลาคิดต่อไปว่าเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีความสุขโดยปราศจากน้ำ ถ้าไม่มีน้ำก็คงจะมีแต่ตายอย่างเดียวเท่านั้น

ปลาก็ซักถามเต่าเพื่อจะได้เข้าใจ เต่าก็เล่าถึงสิ่งที่อยู่บนบกต่างๆ เช่น นก หนู แมว ต้นไม้ ปลาก็ฟัง และให้เต่ายกตัวอย่างว่าอะไรที่อยู่ในน้ำบ้าง สิ่งใดที่คล้ายคลึงกันบ้าง เต่าก็อธิบายไม่ได้เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบ ในที่สุดปลาก็สรุปว่าเต่าโกหก เรื่องเล่ามานั้นไม่เป็นจริงแน่เพราะแม้แต่เริ่มต้นฟังที่เต่าพูด คือ เดินบนทุ่งโล่ง ดินแห้ง ลมพัดเย็น ฉันไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้เลย ไม่น่าที่จะมีสิ่งเหล่านี้อยู่

@@@@@@@

ปัญหาเรื่องนิพพาน เป็นสิ่งที่อธิบายได้ยากอย่างยิ่ง แต่ก็มีภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านได้ตอบคํา ถามเกี่ยวกับนิพพานไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ ซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือมิลินทปัญหา อันเป็นบท สนทนาระหว่างพระนาคเสน กับพระยามิลินท์ หรือ พระเจ้าเมนันเตอร์ (Menander) กษัตริย์ชาวกรีก* ตัวอย่างเช่น

พระยามิลินท์ : คนที่ไม่ได้นิพพานรู้หรือไม่ว่านิพพานเป็นสุข
พระนาคเสน : รู้ได้เหมือนคนที่มีอวัยวะสมบูรณ์ มือ เท้า ไม่ขาด ได้เห็นคนมือเท้าขาด รู้ว่าคนนั้นเป็นทุกข์
พระยามีสินห์ : ท่านนาคเสน.! ท่านก็ดี อาจารย์ของท่านก็ดีไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า แต่ท่านเชื่อว่ามีจริง ทําไมถึงเชื่อเช่นนั้น
พระนาคเสน : ถวายพระพร.! เหมือนแม่น้ำบางสายที่พระองค์ไม่เคยเห็นแต่ได้ยินชื่อ ทรงเชื่อหรือไม่ว่ามีจริง
พระยามีสินห์ : พระพุทธเจ้ามีอยู่หรือ
พระนาคเสน : มีอยู่
พระยามิลินท์ : รู้ได้หรือไม่ว่าอยู่ที่ไหน
พระนาคเสน : นิพพานแล้ว ข้าจนใจ
พระยามิลินท์ : นิมนต์ท่านช่วยอุปมา
________________________
*หลังจากการสนทนาครั้งนั้นพระยามิลินท์เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศตนเป็นผู้อุปถัมภ์ทานุบํารุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ต่อมาได้มอบราชสมบัติให้แก่ราชบุตรและพระองค์ทรงออกบวชในพุทธศาสนา จากนั้นได้มีการนําศิลปการสร้างเทวรูปของกรีกเข้ามาในอินเดียและมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็น ครั้งแรกเรียกว่า “พระพุทธรูปแบบคันธารราฐ”

พระนาคเสน : เปรียบดุจเปลวอัคติ รุ่งโรจน์โชตนาการ เปลวเพลิงคับยังอยู่แต่ถ่าน บพิตร.! พระราชสมภารยังจะชี้แปลวอัคคีได้หรือว่า อยู่ในที่นั้นๆ จะได้หรือไม่เล่า
พระยามิลินท์ : เปลวไฟดับ จะจับเอาที่ไหนมา
พระนาคเสน : ฉันใดก็ดี ข้อความที่ตรัสถามนี้ก็เหมือนกัน...พระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่นิพพานไป สูญแล้ว เหมือนเปลวไฟที่ดับ อาตมาจนอกจนใจ ไม่รู้ที่จะชี้ให้พระองค์ได้โดยแท้

@@@@@@@

นิพพานเป็นสิ่งที่มนุษย์เห็นได้ด้วยตนเอง(สันทิฏฐิกะ) ไม่ขึ้นอยู่กับเวลาที่จะแสดงให้ผู้อื่นเห็น บุคคลเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ผู้ที่เข้าถึงนิพพานแล้วจะมีความสุขตลอดไป ดังข้อความในพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้า ๑๗๗ ว่า

    “ความไม่หวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิอาศัย ไม่มีแก่ผู้ที่ตัณหาทิฏฐิไม่ได้อาศัย เมื่อไม่มีความหวั่นไหวย่อมมีปัสสัทธิ เมื่อมีปัสสัทธิก็ย่อมไม่มีความยินดีเมื่อไม่มีความยินดีก็ย่อมไม่มีการไปการมาเมื่อไม่มีการไปการมาย่อมก็ไม่มีการจุติและอุปบัติ เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ โลกนี้และโลกหน้าก็ไม่มีระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”





๖. ผู้เข้าถึงนิพพาน

บุคคลผู้บรรลุธรรมชั้นสูงหรือนิพพาน เรียกว่า พระอริยบุคคล มี ๔ จำพวก คือ

    ๑) พระโสดาบัน ละสังโยชน์* ได้ ๓ อย่าง คือ ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน ความลังเลสงสัย และความยึดมั่นในศีลพรต
    ๒) พระสกทาคามี ละสังโยชน์ได้เหมือนพระโสดาบันและสามารถทำให้ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง
    ๓) พระอานาคามี ละสังโยชน์ได้เพิ่มอีก ๒ ประการ คือ ความติดใจในกามคุณ และความหงุดหงิดรำคาญใจ หรือการกระทบกระทั่งในใจ
    ๔) พระอรหันต์ ละสังโยชน์ได้ทั้งหมด
_____________________________________________
*สังโยชน์ คือ กิเลสที่ผูกมัดมนุษย์ไว้กับความทุกข์ มี ๑๐ ประการดังนี้
    ๑. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเป็นตัวตน
    ๒. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย
    ๓. สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดมั่นในศีลพรต
    ๔. กามราคะ คือ ความติดใจในกามคุณ
    ๕. ปฏิฆะ คือ ความกระทบกระทั่งในใจ
    ๖. รูปราคะ คือ ความติดใจในรูปธรรมอันปราณีต
    ๗. อรูปราคะ คือ ความติดใจในอรูปธรรม
    ๘. มานะ คือ ความถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่
    ๙. อุทธัจจะ คือ ฟุ้งซ่าน
  ๑๐. อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง


@@@@@@@

๗. ปัญหาเรื่องนิพพาน

เนื่องจากนิพพาน เป็นเรื่องที่มีความละเอียดลึกซึ้งมาก บุคคลไม่สามารถรู้แจ้งได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ไม่สามารถรู้ได้ด้วยกรคิดตามหลักเหตุผล(อตักกาวจระ) และสิ่งบัญญัติรวมทั้งสัญลักษณ์ต่างๆ ก็ไม่สามารถเข้าถึง(อนีรวจะนียะ) เพราะนิพพานเป็นสิ่งที่อยู่เหนือโลก(โลกุตตระ) เป็นสิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง(อสังขตะ) ไม่มีการเกิดดับ อยู่เหนือเหตุผลทั้งปวง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้นักปราชญ์ นักการศาสนาและนักศึกษา ประสบปัญหาในการที่จะเข้าใจนิพพาน โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับนิพพาน ๔ ประการ คือ

    ๑. นิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่
    ๒. นิพพานเป็นสิ่งเที่ยงแท้หรือขาดสูญ
    ๓. ภาวะหรืออนาคตผู้บรรลุนิพพานหลังจากจากโลกไปแล้ว
    ๔. ปัจจุบัน บุคคลจะรู้แจ้งบรรลุนิพพานได้หรือไม่

ปัญหาเรื่องนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่ ปัญหานี้ผู้ที่บรรลุหรือรู้แจ้งนิพพานแล้ว สงสัยใดๆก็หมดสิ้นไป แต่ผู้ที่ศึกษาก็พอที่จะเข้าใจได้บ้าง ก็ด้วยการอาศัยหลักฐานจากคัมภีร์ต่างๆ ที่สำคัญคือ คัมภีร์พระไตรปิฎก รวมทั้งคัมภีร์ที่แต่งขึ้นภายหลัง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งรจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ มีการอธิบายและกล่าวถึงนิพพานในการตอบข้อกล่าวหาของลัทธิอื่นๆ ที่ว่านิพพานเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่หรือเป็นสิ่งที่ขาดสูญ(อุจเฉทะ) โดยพระพุทธโฆษาจารย์ได้กล่าวว่า

    “นิพพานไม่ใช่ไม่มี เหมือนเขากระต่ายไม่มี ถ้านิพพานไม่มี มรรค(สมาธิและปัญญา) ก็จะไร้ความหมาย การที่คนโง่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสไม่ได้ มิได้หมายความว่า สิ่งนี้ไม่มี”

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาควรตระหนักถึงศัพท์บัญญัติที่ว่า “มีอยู่” เพราะคำว่า “นิพพานมีอยู่” มีความหมายที่เทียบเคียงได้ในระดับโลกียบัญญัติ เป็นการชี้ให้เห็นเพียงว่า นิพพานไม่ใช่สิ่งมายาการหรือความฝัน หรือสิ่งที่ไม่มีอยู่เลย เช่น หนวดเฒ่า เขากระต่าย เป็นต้น

ปัญหาเรื่องนิพพานเป็นสิ่งเที่ยงแท้หรือขาดสูญ เป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกับปัญหาแรก แต่ประเด็นนี้จะบ่งชี้ในแง่ที่มีผู้แปลความหมายผิด ทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะนักปราชญ์ชาวตะวันตกส่วนมาก เช่น โอลเดนเบอร์ก(Oldenberg) พอล ดาห์ลห์(Poul Dahlke) ที่เชื่อว่านิพพานเป็นความสูญเด็ดขาด(Complete Nihilism)  รวมทั้งนักปราชญ์สายวัตถุนิยม จักรกลนิยม วิวัฒนาการนิยม คอมมิวนิสต์(วัตถุนิยมวิภาษวิธี) ที่เข้าใจว่า

    นิพพาน คือ การทำลายตนเอง (Self-extinction)
    นิพพาน คือ อัตวินิบาตกรรม (Suicide)
    นิพพาน คือ สูญเด็ดขาด (Absolute zero)

แนวคิดเกี่ยวกับนิพพานดังกล่าวนี้ถ้าจะตีความตามสภาวธรรม อาจจะอธิบายได้ใหม่ เช่น การทำลายตนเอง หมายถึง ทำลายความสำคัญผิดว่ามีตัวตน อัตตาที่เที่ยงแท้ หรือสูญเด็ดขาด หมายถึง ความเห็นแก่ตัวด้วยความโลภ  ความโกรธ ความหลง สูญสิ้นไปเด็ดขาด ไม่ปรากฏในจิตแต่ตามหลักพุทธปรัชญานั้นถือว่า นิพพานไม่ใช่ความขาดสูญหรือดับสูญ ดังไวพจน์ที่ใช้แทนคำว่าสูงสุด(ปรมัตถสัจจะ) ความสุขอย่างยิ่ง(บรมสุข) สิ่งที่อยู่เหนือวิสัยโลก(โลกุตตระ) เป็นต้น

@@@@@@@

ปัญหาภาวะหรืออนาคตผู้บรรลุนิพพานแล้ว และถ้าสิ้นชีวิตลงจะเป็นอย่างไร จะมีชีวิตเป็นอมตะหรือจะสูญเด็ดขาด ซึ่งในเรื่องนี้ในพระไตรปิฎก สังยุตตนิกาย ได้บันทึกคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอนุรุทธะไว้ ดังนี้

พระพุทธเจ้า : เธอคิดไหมว่า ตถาคตมีอยู่ต่างหากจากเบญจขันธ์
พระอนุรุทธะ : ไม่ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : เธอคิดไหมว่า ตถาคตมีอยู่หลังปรินิพพาน
พระอนุรุทธะ : ไม่ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : เมื่อเป็นเช่นนี้ เป็นการเหมาะสม ถูกต้องไหมที่จะกล่าวว่า ตถาคตมีอยู่หลังปรินิพพานแล้ว ตถาคตไม่มีอยู่หลังปรินิพพาน ตถาคตมีอยู่ในรูปอื่น ตถาคตมีอยู่และไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่
พระอนุรุทธะ : ไม่ถูกต้องพระเจ้าข้า

หรือในบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับวัจฉโคตรตะ ที่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ ดังนี้

พระพุทธเจ้า : ไฟที่อยู่ตรงหน้าเธอเมื่อดับแล้วไปไหน ไปทิศตะวันตกหรือทิศตะวันออก ไปทิศเหนือหรือไปทิศใต้
วัจฉโคตรตะ : ไฟเกิดขึ้นก็เพราะเชื้อ เช่น ฟางและไม้ เป็นต้น เมื่อดับก็เพราะหมดเชื้อ จะพูดว่าไฟดับแล้ว ไปทิศใดย่อมไม่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้า : เช่นเดียวกัน วัจฉโคตรตะ.! เบญจขันธ์(บุคคล)มีอยู่หรือดับไป ก็เพราะเชื้อ

ปัญหาเรื่องว่าในปัจจุบัน บุคคลจะรู้แจ้งบรรลุนิพพานได้หรือไม่ ในปัญหานี้พุทธปรัชญาถือว่า ภาวะจิตของผู้บรรลุรู้แจ้งนิพพาน เป็นสิ่งที่บุคคลอื่น แม้พรหมหรือพระเจ้าทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ได้ นอกจากพระอรหันต์ด้วยกันเท่านั้น






 st12 st12 st12

กิจกรรมเสนอแนะ
ให้นักศึกษา กลุ่มประมาณ ๕-๖ คน อภิปรายถึงผลดีผลเสีย ของความเชื่อที่ว่านิพพานมีอยู่จริง

คำถามท้ายบท
    ๑. นิพพาน คืออะไร มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
    ๒. จงวิเคราะห์ข้อความที่ว่า “นิพพานเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะบุคคลไม่สามารถจะ ละตัณหาได้เค็ดขาด"
    ๓. ค่าสอนเรื่องนิพพาน มีลักษณะเป็นสัสสตทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิใช่หรือไม่ จงอธิบาย พร้อมยกตัวอย่าง


หมายเหตุ : บทความนี้เนื้อหาหลักเอามาจากเว็บ https://www.gotoknow.org/posts/215466 โพสต์โดย ปราชญ์ขยะ แล้วนำมาแก้ไขเพิ่มเติม เนื้อหาที่เพิ่มมานั้น นำมาจากเว็บของมหาวิทยาลัยรามคำแหง http://old-book.ru.ac.th/e-book/p/PY313(50)/PY313-6.pdf (pdf file นี้เป็นแบบเรียนเล่มหนึ่ง ขออภัยที่ไม่ทราบชื่อหนังสือเล่มนี้)




ขอขอบคุณ
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
ที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/215466
pdf file : http://old-book.ru.ac.th/e-book/p/PY313(50)/PY313-6.pdf

เขียนใน GotoKnow โดย ปราชญ์ขยะ | ในนิพพาน
เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 11:27 น. (15 ปีที่แล้ว)
แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:36 น. (11 ปีที่แล้ว)
อ่านทั้งหมด ที่เว็บ http://khunsamatha.com/
18  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 10, 2024, 10:58:50 am
.



หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ความสุขใด เสมอจิตสงบไม่มี

จุติแปลว่าความเคลื่อน ภาษาเราว่าตาย แท้ที่จริงนั้นจิตวิญญาณมันไม่ใช่ของแตกของทำลาย แลไม่ใช่ของสูญหาย

ผู้รู้ ไม่ใช่ของแตก ของทำลาย ของตาย ของดับ

เมื่อเราพิจารณาเห็นควมจริง แจ้งประจักษ์ อย่างนี้แล้วจิตมันก็เลยละได้ เมื่อจิตละได้แล้ว มันก็วางจากรูป วางจากรูปมันก็ถึงอรูปภพ อรูปภพคือเป็นอย่างไร คือจิตว่างหมดไม่มีอะไร แต่เหลือผู้รู้ ความรู้นี้แหละ เป็นของสำคัญที่เรียกว่า "พุทธ" คือผู้รู้

พระพุทธเจ้าสอนให้จิตมันเที่ยง เหมือนพระนิพพานเป็นของเที่ยง ไม่แปรผัน ยักย้าย ไม่มีอะไรทั้งนี้เราไม่เที่ยง เราถึงเป็นยังงี้ สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ ตัวตน ท่านจึงสอนให้ทำจิตให้มันเที่ยง

อาจารโรวาท ใน หนังสือ ธรรมโอวาท ๙ หลวงปู่อริยสงฆ์ โดย ธรรมสภา ชมรมนักเรียนเก่าแอล เอส อี 2535

@@@@@@@

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

พระนิพพานมิใช่ผู้รู้ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย พระนิพพานเหนือผู้รู้ไป จนไม่มีที่หมาย ถ้าหมายอยู่ก็พอเหมือนๆ นี่เอง ก็พอหมุนๆ นี่เอง มีปัญหาว่าถ้าอย่างนั้นก็สูญสิ แต่สูญในพระนิพพานมีขอบเขต สูญจากกิเลสเท่านั้น รสของพระนิพพานมีอยู่ ใครเป็นผู้ดื่มรสพระนิพพาน ก็พระนิพพานเท่านั้น จะได้รับรสพระนิพพาน ไม่เป็นหน้าที่ของสังขารจะไปก้าวก่าย พระนิพพานเป็นอนัตตาหรือไม่

พระนิพพานไม่ได้อยู่ในวงแขนของท่านผู้ใดโดยถ่ายเดียว เป็นของกลางอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดไม่ดับไปไหน เป็นอนัตตาธรรม ที่ไม่เกิดไม่ดับไปไหน ไม่มีใครใส่ชื่อล้อนามให้ก็ตาม ก็เป็นจริงทางไม่เกิด ไม่ดับอยู่อย่างนั้น เราจะเอาพระนิพพานมาเป็นอนัตตา เหมือนขันธ์ ๕ และกิเลสทั้งหลายมันก็ไม่ถูก เรียกว่าแยกอนัตตาธรรมไม่ถูก เช่นผู้รู้ดังนี้ จะเอาผู้รู้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเทียบกับพระปัจเจกๆ มาเที่ยบกับสาวก สาวิกา อรหันต์ก็เรียนกว่ายกตนเทียมท่าน สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ ชาวพุทธจะรู้เท่านั้น

@@@@@@@

พระนาคเสน มหาเถระ พระอรหันต์สมัยพุทธปรินิพพานไป ๕๐๐ ปี ผู้ตอบปัญหาพระเจ้ามิลินทราชา

ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพานก็รู้ว่านิพพานเป็นสุข เพราะได้ยินเสียงพวกได้นิพพาน

พระพุทธเจ้ามีจริง แต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานดับขันธ์แล้ว ไม่อาจชี้ด้ว่าอยู่ที่ไหน เหมือนเปลวไฟที่ดับแล้วก็ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน อาจชี้ได้เพียงพระธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

นิพพานมีอยู่จริง แต่ว่าไม่มีใครอาจแสดงให้เห็นได้ว่า นิพพานมีสี สัณฐาน เล็ก ใหญ่ ยาว สั้น อย่างไร เปรียบเหมือน ลม ที่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่มีใครสามารถ แสดงลมให้เห็นด้วย สี สัณฐาน เล็ก ใหญ่ ยาว สั้น ได้

นิพพานเป็นของไม่ควรกล่าวว่าเกิดขึ้นแล้ว หรือยังไม่เกิด จักต้องเกิด ไม่ควรกล่าวว่าเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ไม่ควรกล่าวว่า เป็นของต้องเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู รู้ด้วยจมูก ลิ้นกาย อย่างใดเลย

นิพพานเป็นของต้องรู้ด้วยใจ พระอริยสาวกผู้ปฏิบัติชอบแล้วย่อมได้เห็นนิพพาน ด้วยใจอันบริสุทธิ์ อันสงบประณีต อันเที่ยงตรง ไม่มีเครื่องกั้นกาง อันไม่มีอามิส

นิพพานไม่มีของเปรียบ ไม่อาจชี้รูป หรือสัณฐาน วัย ประมาณ แห่งนิพพานได้ด้วยอุปมา หรือด้วยเหตุ หรือด้วยปัจจัย หรือด้วยนัย

นิพพานธาตุ อันสงบ อันเป็นสุข อันประณีตนั้นมีอยู่ ผู้ปฏิบัติชอบ เมื่อพิจารณาสังขารตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็กระทำให้แจ้งนิพพานธาตุด้วยปัญญา

ที่ตั้งของนิพพานไม่มี นิพพานไม่ได้ตั้งอยู่ในทิศใด แต่นิพพานมี ผู้ปฏิบัติชอบ เมื่อเห็นความตั้งขึ้นและเสื่อมไปของสังขารทั้งหลายด้วยโยนิโสมนสิการแล้ว ก็กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดังเช่น ไฟมีอยู่ แต่ที่ตั้งแห่งไฟไม่มี เมื่อบุคคลเอาไม้มาสีกันเข้าก็ได้ไฟฉันใด

หนังสือ มิลินทปัญหา





ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
บทความ : https://www.nirvanattain.com/สิ่งที่ควรรู้/นิพพาน.html
19  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 10, 2024, 10:50:08 am
.



หนังสือ ทิพยอำนาจ อดีตพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)

ในปกรณ์ของฝ่ายเถรวาท ท่านโบราณาจารย์แบ่งพระกายของพระพุทธเจ้าเป็น ๓ ภาค ดังนี้คือ

   1. พระรูปกาย เป็นพระกายซึ่งกำเนิดจากพระพุทธบิดาและพระพุทธมารดา ที่เป็นมนุษย์ธรรมดาประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔

   2. พระนามกาย เป็นพระกายซึ่งกำเนิดชั้นใน นามกายเป็นของมีทั่วไปแม้แต่สามัญมนุษย์ แต่ดีเลวกว่ากันด้วยอำนาจกุศลที่ตนทำไว้ก่อน ส่วน พระนามกายของพระพุทธเจ้า ท่านดีวิเศษกว่าสามัณมนุษย์ ด้วยอำนาจพระบุญญาบารมี ที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นเวลาหลายอสงไขยกัป

   3. พระธรรมกาย ได้แก่พระกายอันบริสุทธิ์ ไม่สาธารณะทั่วไปแก่เทวดาและมนุษย์หมายถึงจิตที่พ้นจากกิเลสแล้ว เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง พระธรรมกายนี้เป็นพระพุทธเจ้าที่จริงแท้ เป็นพระกายที่พ้นเกิดแก่เจ็บตาย เป็นพระกายที่เที่ยงแท้ถาวรไม่สูญสลาย แต่ท่านมิได้บอกให้แจ้งชัดว่า พระธรรมกายนี้มีรูปพรรณสัญฐานเช่นไรหรือไม่

อนึ่ง ความเชื่อว่าพระอรหันต์นิพพานแล้วยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระอรหันต์นิพพานแล้วยังมีอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระอรหันต์แท้ไม่สลายตามกาย คือความเป็นพระอรหันต์ ไม่สูญ ตัวอย่างเช่น พระยมกะ เมื่อยังไม่บรรลุอรหัตผลได้แสดงความเห็นว่า พระอรหันต์ตายแล้วสูญได้ถูก พระสารีบุตร สอบสวน เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว จึงเห็นตามความจริงว่า “สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมเป็นไปตามปัจจัย คือสลายไป ส่วนพระอรหันต์มิใช่สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งจึงไม่สลายไป แปลว่า ไม่ตาย”

ความเป็นพระอรหันต์นี้ ท่านก็จัดว่าเป็นอินทรีย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า “อัญญินทรีย์” พระผู้มีพระภาคเจ้าคงหมายถึงเอาอินทรีย์นี้เอง บัญญัติเรียกว่า “วิสุทธิเทพ” เป็นสภาพที่คล้ายคลึง “วิสุทธาพรหม” ในสุทธาวาสชั้นสูง (พรหมอนาคามี ชั้น ๑๒ - ๑๖ ) เป็นแต่บริสุทธิ์ยิ่งกว่าเท่านั้น อินทรีย์ของพระอรหันต์ประณีตสุขุม แม้แต่ตาทิพย์ของเทวดาสามัญก็มองไม่เห็น มนุษย์สามัญซึ่งมีตาหยาบ ๆ จะเห็นได้อย่างไร อินทรีย์ของพระอรหันต์นั้นแหละ เรียกว่า “อินทรีย์แก้ว” คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของท่านเป็นแก้ว คือใสบริสุทธิ์ดุจแก้ว มณีโชติ ผู้บรรลุถึงภูมิแก้วแล้ว ย่อมสามารถพบเห็น “พระแก้ว” คือพระอรหันต์ที่ นิพพานแล้วได้...

ความรู้เรื่องนี้ เป็นความรู้ลึกลับในพระธรรมวินัย ผู้สนใจพึงศึกษาค้นคว้าต่อไปถ้ายังรู้ไม่ถึงอย่าพึ่งค้าน อย่าพึงโมทนา เป็นแต่จดจำเอาไว้ เมื่อใดตนเองได้ษึกษาค้นคว้าแล้ว ได้ความรู้ได้เหตุผลที่ถูกต้องดีกว่า เมื่อนั้นจึงค้าน ถ้าได้เหตุผลลงกันจึงอนุโมทนา ถ้ารู้ไม่ถึงแล้ว ด่วนวิพากษ์วิจารณ์ติเตียนผู้พูดเรื่องเช่นนี้ จะเป็นไปเพื่อบอดตาบอดญาณตนเอง ยิ่งจะซึ้าร้ายใหญ่ ดังนี้

หนังสือ ทิพยอำนาจ อดีตพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

@@@@@@@

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

นิพพานมีอยู่จริงในปัจจุบัน ถ้าใครออกจากปัจจุบันไม่เห็นเลย ทุกเขญาณัง มันเกิดขึ้นกับจิตนี่เอง ให้พิจารณากายในมากๆ นิพพานไม่อยู่ตามต้นไม้ อยู่ที่จิตใจหมดอาสวะทั้งหลายนั่นเอง

ศิษย์: หลวงปู่ครับ นิพพานโลกุตระ เป็นอย่างไร
หลวงปู่: มันก็หมดอาสวะซิ อวิชชาไม่เหลือ
ศิษย์: จิตยังอยู่ไหมครับ
หลวงปู่: จิตปรมัตถ์ไป เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์จิตยังอยู่ มันเกิด-ดับ มันเป็นสังคตะไป ไม่ใช่สัตว์คนเป็นสังคตธรรม สังคตธรรมมีอยู่ อสังคตะธรรมมีอยู่ วิราคะธรรมมีอยู่ แต่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่คนเท่านั้น

ศิษย์: หมดสมมุติ หมดความยึดถือไช่ไหมครับ
หลวงปู่: ฮื้อ! มันไม่มีอาสวะ ไม่มีอวิชชาสวะ ไม่มีอวิชชาสังโยชน์ ไม่มีอวิชชานุสัย ล่ะก็ กิเลส กรรม วิบาก มันก็ไม่มี จิตไม่มีนาม-รูปของขันธ์แล้ว มันเหนือนาม-รูปของขันธ์แล้ว สังคตะมันเหนือขันธ์ ๕ วิราคะธรรมมันเหนือขันธ์ ๕ (เหนือ คือ ไม่ถูกครอบงำ ไม่มีอุปาทานขันธ์ ย่อมไม่กลับกำเริบอีก)ขันธ์ ๕ ยังมีนามรูปติดต่อกันทางอายตนะธาตุนี่ ส่วนนิพพาน ปรมัตถ์นี้ไม่เกิดไม่ดับเป็นอสังคตะธรรม แต่ จิต เจตสิก รูป ปรมัตถ์นี้ยังเกิดดับเป็นสังคตะธรรม วิราคะธรรม ไม่มีราคะ หมดราคะถึงโลกุตระแล้วนั่น ไม่มีราคะโทสะ โมหะ เผาลนแล้ว

ศิษย์: เมื่อดับจิต แล้ว นิพพาน สูญ ไม่เหลืออะไรเลยหรือปล่าวครับ
หลวงปู่: นิพพานไม่สูญ เป็นแต่อาสวะกิเลสสูญ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม วิบาก มันสูญ แต่ สังคตะธรรม อสังคะธรรม วิราคะธรรม มันไม่ได้หมดไปด้วย บารมี ๓๐ ทัศน์ที่พระพุทธเจ้าสร้างเป็นของไม่ตาย แต่ว่าตัวบุญต้องเปลี่ยนแปลงไปจนกว่าพระโพธิสัตว์ตรัสรู้ เพราะถ้าเป็นตัวบุญอยู่กับพระเวสสันดรก็ไม่ตรัสรู้ซิ ก็ได้เป็นกษัตริย์ไม่ตรัสรู้ซิ แต่เพราะสละหมดอย่างพระเวสสันดร เที่ยวออกค้นคว้าถึง ๖ ปี(ซึ่งก็ต้องอาศัยบารมี อันเป็นนิสัยที่สั่งสมมา) จึงตรัสรู้ พระพุทธเจ้าบางองค์ก็อายุไม่เท่ากันมาองค์ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี (แล้วแต่บารมี)

ศิษย์: ที่เขาว่าไปเที่ยวเมืองนิพพาน น่ะเขาไปกันได้จริงหรือป่าวครับ
หลวงปู่: เที่ยวได้แต่ปริยัติน่ะซิ พูดเอาภาคปริยัติก็เที่ยวได้ ภาคปฏิเวธเที่ยวได้ที่ไหนล่ะ มันมีบอกเมื่อไหร่ล่ะ
ศิษย์: แล้วอย่างมโนมยิทธิล่ะครับ
หลวงปู่: นั่นมันเรื่อง พุทธนิมิต ธรรมนิมิต สังฆนิมิต ก็ตามใจซิ ก็นิมิตมันมีอยู่ หลับตาลืมตาก็มี มีของพระอริยะเจ้า พระพุทธเจ้าก็แสดงพุทธนิมิต ธรรมนิมิต สังฆนิมิต ได้ ให้เห็นกันทั่ว กามโลก รูปโลก อรูปโลก ให้เขาได้เห็นกันเมื่อครั้งเสด็จลงจากดาวดึงส์นี่ ก็จิตนี่ล่ะมันรับธรรมะ นอกจากกายกับจิตแล้วจะเอาอะไรไปรับล่ะ กายกับจิตนี่ล่ะมันรองรับพระไตรปิฎก

พระพุทธเจ้ารู้นรก ๒ ชั้น นรกชั้นนอก นรกชั้นใน สวรรค์ชั้นนอก สวรรค์ชั้นใน นิพพานชั้นนอก นิพพานชั้นใน มันต้องมีภายนอกภายในพิสูจน์กันดู ดูนิพพานกันอย่างนี้ อ่านพระไตรปิฎกกันอย่างนี้ซิ

นิพพานไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่นามขันธ์ มันเหนือรูปขันธ์ นามขันธ์ สร้างบารมีมาก็เอาเป็นเครื่องมือ สร้างบารมีต่างหากล่ะ นามรูปนี่ตรัสรู้แล้วเอาไปเมื่อไหร่ล่ะ บารมี ๓๐ ทัศน์ ไม่ใช่ตัวขันธ์ ๕ มันเหนือขันธ์ ๕

พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็เหลือขันธ์ ๕ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายตรัสรู้ ละสังโยชน์ แล้วก็เหลือยังขันธ์ ๕ เขายังเขียนรูปโลกไว้ให้ดู แต่อยู่เหนือขันธ์ ๕

@@@@@@@

หลวงพ่อเกษม เขมโก

พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งของคุณปู่ก็กจึง ที่กรุณาเล่าให้ผมฟัง ข้อนี้....คุณปู่เล่าให้ฟังสั้นๆ ว่า เหตุการณ์เมือนานมามากแล้วเช่นกัน จู่ๆ วันหนึ่ง เมื่อคุณปู่ไปนมัสการหลวงพ่อ ท่านได้ถามว่า

"สามก็ก...รู้ไหม ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? "
(หลวงพ่อเรียกคุณปู่ก๊กว่า สามก๊ก มานานแล้ว)

คุณปู่ก๊กจึง สมัยนั้นประณมมือไหว้หลวงพ่อพลางตอบว่า
"ผมไม่ทราบครับ หลวงพ่อ"

ทันใดนั้นหลวงพ่อได้ชี้นิ้วเฉียงไปบนฟ้า พลางกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในโลกนี้ ท่านอยู่นอกโลก

จาก อนุสรณ์ ครบรอบ ๘๐ ปี หลวงพ่อเกษม เขมโก ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ หน้า 146

@@@@@@@

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตโล)

การปฏิบัติ ให้มุ่งเน้นปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อความคลายกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานเป็นของว่าง ไม่มีตัวมีตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง

ดูเพิ่มเติมที่หนังสือ หลวงปู่ฝากไว้ รวบรวมโดย พระโพธินันทมุนี หน้า 82

พระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้เข้าสู่นิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือ นั่งคือพระองค์ดับเวทนาขันธ์ ในภาวะจิตตื่น หรือวิถีจิตอันปกติของมนุษย์ ครอบพร้อมทั้งสติ และสัมปชัญญะ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป้นภาวะแห่งตนเองอย่างสมบูรณ์ ภาวะนันเรียกว่า มหาสุญญตา หรือจักรวาลเดิม หรือเรียกกว่า นิพพาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

@@@@@@@

หลวงปู่ขาว อนาลโย

ให้มีสติคุมดวงจิต สัตว์นรกก็แม่นจิต สัตว์อเวจีก้แม่นจิต พระอินทร์ พระพรหมก็แม่นจิต ที่เข้าพระนิพพานก็แม่นจิต ไม่ใช่ใคร จิตไม่มีตัวมีตน จิตเหมือนลิงนี่แหละ แล้วแต่มันจะไป บังคับบัญชามมันไม่ได้ แล้วแต่มันจะปรุงแต่ง บอกไม่ได้ไหว้ไม่ฟัง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าให้วางมันเสีย อย่าไปยึดถือมัน ก็จิตนั่นแหละมันถือว่าตัวกู อยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี เราถือว่าเราเป็นผู้ชาย เราเป็นผู้หญิง ก็แม่นจิตนั้นแหละ เป็นผู้ว่า มันไม่มีตนมีตัวดอก แล้วพระพุทธเจ้าว่าให้วางเสียให้ดับวิญญาณเสีย ครั้นดับวิญญาณแล้ว ไม่ไปก่อภพก่อชาติอีก ก็นั่นแหละพระนิพพาน

พระพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น มันไม่อยู่ที่อื่น นรกมันก็อยู่นี่ พระนิพพานก็อยู่นี่ อย่าไปค้นที่อื่น อย่าไปพิจารณาที่อื่นให้ค้นที่สกนธ์กายของตน ให้มันเห็นอสุภะ อสุภังให้เห็นเป็นของปฏิกูล ให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายมันนั่นแหละ แต่กี้มันห็นว่าเป้นของสวยของงามก็ดี ดวงจิตนั้นมีมีสติควบคุม มีสัมปชัญญะค้นหาเหตุผล ใครครวญอยู่มันเลยรู้เห็นว่า อัตภาพร่างกายนี้เป็นของปฏิกูลของเน่าเปือยผุพัง แล้วมันจะเกิดนิพพทาความเบื่อหน่าย จิตนั้นแหละเบื่อหน่าย จิตเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นแล้วเรียนว่าจิตหลุดพ้น ถึงวิมุติ วิมุตติคือความหลุดพ้นจากความยึดถือ หลุดพ้นจาอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากภพจากชาติ ตั้งใจทำเอา

@@@@@@@

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินโลกุตตรมนุษย์ ได้เป็นพระอรหันต์เข้าพระนิพพานแล้ว พระนิพพานก็ยังมีอยู่ ไม่เสื่อมสูญ พระพุทธเจ้าเข้าพระนิพพานก็มีอยู่ในพระนิพพาน นั้นแล

พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พระอนุรุทธ พระอานนท์ เข้านิพพาน ก็มีอยู่พระนิพพานนั้นแล นางภิกษุณีทั้งหลายได้บวชกาย วาจา ใจ ใจก็เป็นพระนิพพาน แล้วเข้าพระนิพพานได้ด้วย เหมือนพระจันทร์ พระจันทร์ไม่มีวันแก่ พระจันทร์ไม่มีวันเจ็บ พระจันทร์ไม่มีวันร้อนวันหนาว ดาวไม่มีเกิดไม่มีตาย

คนเรานี้มันเป็นบ้าเป็นบอ คอยาว ตาขาว ลิ้นยาว ใช้ไม่ได้ ส่วนพระธรรมคำสั่งสอนเกิดจากหัวใจของพระพุทธเจ้า เกิดากหัวใจของพระอรหันต์ทั้งหลาย ทำไมพวกเราทั้งหลายและพวกท่านทั้งหลายจึงไม่รู้ เราจึงไม่เห็น ถ้าเราเป็นพระอรหันต์ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอนาคาเมื่อใด ก็เมื่อนั้นแหละ จึงจะเห็นจะรู้ที่อยู่พระพุทธเจ้า ที่อยู่ของพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย

อาจารีธัมโมทยาน พศ.๒๕๓๖ หน้า 127 หอรัตนชัยการพิพม์

@@@@@@@

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

พระนิพพานอุปมาขนาดเท่าเส้นผม ผู้ที่จะผ่านพ้นในขั้นสุดท้ายไปได้หรอืไม่ได้อยู่เพียงนิดเดียวในการทำจิตตัดจุดนี้ได้หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าตอนที่ท่านจะปรินิพพาน ท่านได้ปรินิพพานไประหว่างรูปฌานและอรูปฌาน ผู้ที่ดับขันธ์ในระหว่างทรงรูปฌานย่อมได้เป็นรูปพรหมซึ่งยังไม่วิมุติหลุดพ้น ผู้ที่ดับขันธ์ในขณะทางอรูปฌาน ย่อมได้เป็นอรูปพรหม ซึ่งก็ยังเป็นสมมติอยู่เช่นกัน

ส่วนพระพุทธเจ้าท่านดับขันธ์ระหว่างช่วงทั้งสอง เป็นการดับขันธ์ด้วยความบริสุทธิ์เหนือสมมติโดยสิ้นเชิง ไม่ติดอยู่ในรูปฌานและอรูปฌาน ซึ่งเป็นวิปัสนูกิเลสทั้งสองอย่าง พระอรหันต์บางประเภที่ไม่สามารถเจิรญอรูปสมาบัติ ท่านก็ดับขันธ์ไปด้วยความบริสุทธิ์เช่นกัน แม้อยู่ก็อยู่ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ไม่ติดในสมมติใดๆ เพราะความชำนาญในด้านสมาธิของพระอรหันต์แต่ละประเภทไม่เท่ากัน

หนังสือไตรรัตน์ หน้า 51




หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ดวงจิตนี้ไม่เคยสูญ แดนพระนิพพานมีจริง หลวงปู่มั่น ท่านเล่าว่า พระพุทธเจ้าหลายพระองค์ พร้อมด้วยพระสาวก เสด็จมาเยี่ยมท่าน

นรกมี สวรรค์มี พรหมโลก นิพพานมี พระพุทธเจ้าของเราทรงยืนยันจิตวิญญาณคือใจของคนของสัตว์นี้มีมาดั้งเดิม ตั้งแต่กาลไหนๆ ไม่มีต้นไม่มีปลาย จิตดวงที่ไม่ตายนี้แล ไม่เคยฉิบหาย ไม่เคยสูญ

ดูเพิ่มเติมที่ ตายแล้วย้อนกลับมาบ้านเรือน

จากนั้นบุญกุศลทั้งหลายที่เราสร้างอยู่ไม่หยุดไม่ถอย เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับลำดาเลยสวรรค์ไป เลยพรหมโลกไป จนกระทั่งถึงนิพพาน ดับทุกข์โดยประการทั้งปวงโดยสิ้นเชิงตลอดไป ไม่มีคำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จะเข้าไปเกี่ยวข้องในเมืองนิพพานนั้นได้เลย เรียกว่าเมืองนิพพานก็ได้ มหาวิมุตติ มหานิพพาน หรือธรรมธาตุก็ได้ นี่เรียกว่าสถานที่ดับทุกข์โดยประการทั้งปวง จากความดีของเราที่ได้สร้างมามากน้อย ท่านจึงได้สอนไว้ พระพุทธเจ้าท่านทรงนิพพาน ทุกสิ่งทุกอย่างทรงผ่านไปหมดแล้ว การขึ้นลงสวรรค์ชั้นพรหมไม่มีใครเกินโพธิสัตว์ ที่ได้สร้างคุณงามความดีแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนั้นๆ ควรแก่กาลเวลาแล้วก็ลงมาสร้างบารมี

กฎอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปอย่างโลกทั่วๆ ไปอย่างนี้ ไม่มีในนิพพาน นิพพานสิ้นสุดยุติตั้งแต่ขณะท่านตรัสรู้ปึ๋งขึ้นมา พระอรหันต์ก็บรรลุธรรมปึ๋งขึ้นมา ทราบทันทีเลยว่าพ้นแล้วจากแดนแปรปรวน แดน ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ถึงแล้วซึ่งพระนิพพาน เรียกว่าเมืองเที่ยงตรง เที่ยงไปตลอดอนันตกาล ไม่มีคำที่ว่าจะโยกย้ายผันแปรไปไหนอีกเลย แม้ขณะหนึ่งก็ไม่มีในแดนนิพพาน จึงเรียกว่าเป็นแดนแห่งความเลิศเลอของท่านผู้บรรลุธรรมอันเลิศเลอแล้วสถิตอยู่ในสถานที่นั้น ผู้อื่นผู้ใดไม่สามารถจะไปอยู่ในสถานที่นั้นได้ นอกจากผู้สิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น นี่ก็คือการสร้างบุญสร้างกุศล

สำหรับเราพอทุกอย่าง เอาอะไรมาให้ก็ไม่เอา ปล่อยวางหมด เช่นทองคำทั้งแท่งกับอิฐก้อนหนึ่ง ราคาทองคำทั้งแท่งสูง อิฐก้อนหนึ่งราคาต่ำแต่มันมีน้ำหนักเท่ากัน เมื่อมีน้ำหนักเท่ากัน น้ำหนักนั้นแหละจะเป็นกองทุกข์แก่ผู้แบกหาม ปล่อยเสียทั้งหมด ทองคำก็ไม่เอา อิฐ-ปูนก็ไม่เอา ปล่อยแล้วไม่หนัก นี้ละธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ได้เข้าในหัวใจดวงใดแล้วปล่อยหมดโดยสิ้นเชิง มีแต่ความพอแล้วด้วยความเลิศเลอ ไม่ใช่พอธรรมดาอย่างโลกทั้งหลายพอกัน พอในธรรมทั้งหลายนี้พอด้วยความเลิศความเลอ ถ้าว่าสุขก็ไม่มีสุขใดเสมอเหมือน ว่าเลิศเลอก็หาอะไรไปเทียบไม่ได้ เพราะนั้นเป็นแดนวิมุตติ ไม่ใช่สมมุติพอจะมาเทียบมาเคียงตามสัดตามส่วนได้ นี่ละท่านว่าแดนแห่งความเลิศเลอ

เทศน์อบรมพระสงฆ์และฆราวาส ณ ศาลาใหญ่วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๖ [บ่าย]

ดูเพิ่มเติมที่ เอาธรรมจักรเข้าไปผันหัวกิเลส

ใจนี้ไม่เคยตาย ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็เป็นมาอย่างนี้ แม้จะไปตกนรกตั้งกี่กัปกี่กัลป์ก็ตาม การที่ว่าได้รับความทุกข์ในแดนนรกแต่ละหลุม ๆ นั้นยอมรับ ส่วนที่จะให้ใจนี้ฉิบหายไม่มี ทุกข์ขนาดไหนก็ยอมรับว่าทุกข์ แต่ไม่เคยฉิบหายคือใจดวงนี้ เวลาชำระสะสางแล้วด้วยอำนาจแห่งคุณงามความดีของเรา ก็ค่อยสงบผ่องใสได้บริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงขั้นความบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ทั้งหลาย ท่านถึงนิพพานเลย นั่น ถึงนิพพานก็ไม่สิ้นสูญ

ใจดวงนี้ไม่มีคำว่าสูญ ตกนรกก็ไม่สูญใจดวงนี้ จนกระทั่งบริสุทธิ์เต็มที่แล้วไปถึงนิพพานก็ไม่สูญ นี่แหละท่านว่านิพพานเที่ยง ก็คือจิตดวงที่ไม่สูญนี้แหละเป็นผู้บริสุทธิ์เต็มที่แล้ว เรียกว่าธรรมธาตุ อยู่ในแดนแห่งนิพพาน นี่แหละเป็นผู้เสวยความบรมสุขตลอดไป ท่านจึงเรียกว่านิพพานเที่ยง ๆ ก็เพราะจิตดวงนี้ไม่ตาย มีความเที่ยงตรงอยู่ด้วยบรมสุขตลอดไป นี่คือการสร้างความดีให้ผลแก่เราอย่างนี้ ให้พากันอุตส่าห์พยายามสร้างคุณงามความดี

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดเขาน้อยสามผาน จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ (บ่าย) ดูเพิ่มเติมที่ ความสุขอันแท้จริง

นี่ละตัวพาให้เกิด ก็รู้ได้ชัดละซิ ทีนี้จะเอาอะไรไปเกิด เอ้า เห็นกันอยู่รู้กันอยู่ ตัวนี้จะไปเกิดที่ไหนที่นี่ เอ้า เกิดที่ไหนล่ะ อะไรพาให้เกิด ก็สิ่งที่ดับไปตะกี้นี้พาให้เกิด นั่นมันรู้ชัดขนาดนั้นนะ ทีนี้ไม่เกิดแล้วจะดับไหมจิตดวงนี้ จะเอาอะไรมาดับ นั่น ไม่เกิดด้วยไม่ดับด้วย ไม่มีคำว่าว่ามีอยู่แบบโลกด้วย ไม่สูญแบบโลกด้วย มีอยู่แบบความบริสุทธิ์ ถ้าว่าสูญก็สูญแบบความบริสุทธิ์ เหมือนอย่างที่ว่านิพพาน มีอยู่แบบนิพพาน สูญแบบนิพพาน ไม่ได้สูญแบบโลกสงสาร

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘ ดูเพิ่มเติมที่ ความมุ่งมั่นของนักรบ

ก็กิเลสมันไม่เคยเห็นมรรคผลนิพพาน เกิดมาเต็มอยู่ในหัวใจของสัตว์นับแต่โคตรแต่แซ่ของมันลงมา มันจะเอามรรคผลนิพพานมาอวดสัตว์โลกอย่างไร เพราะคำว่ามรรคผลนิพพานก็คือแดนสุดวิสัยของมันแล้ว มันเอื้อมไม่ถึง จิตดวงใดถ้าได้เข้าสู่แดนนิพพานแล้ว กิเลสประเภทต่าง ๆ เรียกว่ากิเลสมารสุดเอื้อมหมดหวัง หมดอาลัยตายอยากแล้ว มันจะอุตริไปสอนจิตดวงใดโลกใดสัตว์ตัวใดให้ไปสู่สวรรค์นิพพานเล่า นอกจากมันจะกว้านเข้ามาเพื่อผลรายได้ของมันโดยอุบายต่าง ๆ เท่านั้น เช่น บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี นิพพานไม่มี นี่เป็นอุบายที่จะให้เกิดผลรายได้แก่มันโดยถ่ายเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้นหลักความจริงแล้วจึงไม่มีคำว่า พระพุทธเจ้านิพพานไปนานแสนนาน เป็นการตัดขาดจากมรรคผลนิพพาน ที่ทรงแสดงไว้แล้วโดยถูกต้องตามหลักสวากขาตธรรม การนิพพานเป็นเรื่องของพระองค์เท่านั้น และการนิพพานไปก็ไม่ใช่เป็นการขาดทุนสูญดอก สำหรับพระพุทธเจ้าเป็นการเปลี่ยนสภาพในทางธาตุทางขันธ์อันเป็นสมมุติเข้าสู่ตามสมมุติเดิมของตน โดยหมดความเยื่อใยตายอยาก ไม่ยึดมั่นถือมั่น โดยจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้วเท่านั้น จิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ

แล้วอะไรไปเป็นข้าศึกไปทำลายให้พินาศฉิบหายได้ แม้แต่กิเลสก็ไม่สามารถ ไม่มีอำนาจวาสนาที่จะไปทำลายจิตที่บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าให้สูญให้อันตรธานไปได้ แล้วนิพพานจะสูญไปไหน จิตผู้บริสุทธิ์จะสูญไปได้อย่างไร เพราะธรรมชาตินี้นอกเหนือไปจากสมมุติทั้งมวลแล้ว จึงไม่มีอะไรที่จะเข้าไปทำลายจิตที่บริสุทธิ์แล้วให้สูญไปได้ ให้ฉิบหายไปได้

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๗ เพิ่มเติมที่ ความหวังของชาวพุทธ

พระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์เสด็จอนุโมทนา พระอาจารย์มั่น

หลังจากท่านเดินทางถึงแดนแห่งวิมุตติแล้ว คืนต่อ ๆ มามีพระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวกจำนวนมากเสด็จมาอนุโมทนาวิมุตติธรรมกับท่านเสมอมิได้ขาด คืนนั้นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นกับพระสาวกบริวารเป็นจำนวนหมื่นเสด็จมาเยี่ยม คืนนั้นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีสาวกเท่านั้นเสด็จมาเยี่ยมอนุโมทนา จำนวนพระสาวกที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาแต่ละพระองค์นั้นมีจำนวนไม่เท่ากัน ทั้งนี้ท่านว่าขึ้นอยู่กับวาสนาของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ไม่เหมือนกัน ที่พระสาวกตามเสด็จมาด้วยแต่ละพระองค์นั้น มิได้ตามเสด็จมาทั้งหมดในบรรดาพระสาวกของแต่ละพระองค์ที่มีอยู่…

แต่ที่ตามเสด็จมามากน้อยนั้นต่างกันนั้นพอแสดงให้เห็นภูมิพระวาสนาบารมีของแต่ละพระองค์นั้นต่างกันเท่นนั้นบรรดาพระสาวกจำวนมากของแต่ละพระองค์ที่ตามเสด็จมานั้น มีสามเณรติดตามมาด้วยครั้งละไม่น้อยเลย ท่านสงสัยจึงพิจารณาก็ทราบว่า คำว่าพระอรหันต์ในนามธรรมนั้นมิได้หมายเฉพาะพระ แต่สามเณรที่มีจิตบริสุทธิ์หมดจดก็นับเข้าในจำวนสาวกอรหันต์ด้วย ฉะนั้น ที่สามเณรติดตามมาด้วยจึงไม่ขัดกัน ในพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ประทานอนุโมทนาแก่ท่านพระอาจารย์มั่นนั้น

ส่วนใหญ่มีว่า เราตถาคตทราบว่าเธอพ้นโทษจากอนันตรทุกข์ในที่คุมขังแห่งเรือนจำของวัฏฏทุกข์ จึงได้มาเยี่ยมอนุโมทนาที่คุมขังแหล่งนี้ใหญ่โตมโหฬารและแน่นหนามั่นคงมาก และมีเครื่องยั่วยวนชวนให้เผลอตัวและติดอยู่รอบตัวไม่มีช่องว่าง จึงยากที่จะมีผู้แหวกว่ายออกมาได้ เพราะสัตว์โลกจำนวนมากไม่ค่อยมีผู้สนใจกับทุกข์ที่เป็นอยู่กับตัวตลอดมา ว่าเป็นสิ่งที่ทรมานและเสียดแทงร่างกายจิตใจเพียงใด พอจะคิดเสาะแสวงหาด้วยวิธีต่าง ๆ เหมือนคนเป็นโรคแต่มิได้สนใจกับยา ยาแม้มีมากจึงไม่มีประโยชน์สำหรับคนประเภทนั้น ธรรมของเราตถาคตก็เช่นเดียวกับยา สัตว์โลกอาภัพเพราะโรคกิเลสตัณหาภายในใจเบียดเบียนเสียดแทง ทำให้เป็นทุกข์แบบไม่มีจุดหมายว่าจะหายได้เมื่อไร

สิ่งตายตัวก็คือ โรคพรรค์นี้ถ้าไม่รับยาคือ ธรรมจะไม่มีวันหายได้ ต้องฉุดลากสัตว์โลกให้ตายเกิดคละเคล้าไปกับความทุกข์กายทุกข์ใจ และเกี่ยวโยงกันเหมือนลูกโซ่ ตลอดอนันตกาล ธรรมแม้จะมีเต็มไปทั้งโลกธาตุก็ไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ไม่สนใจนำไปปฏิบัติรักษาตัวเต็มไปทั้งโลกธาตุก็ไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ไม่สนใจนำไปปฏิบัติรักษาตัวเท่าที่ควรจะได้รับจากธรรม ธรรมก็อยู่แบบธรรม สัตว์โลกก็หมุนตัวเป็นกงจักรไปกับทุกข์ในภพน้อยภพใหญ่แบบสัตว์โลก โดยไม่มีจุดหมายปลายทางว่าจะสิ้นสุดทุกข์กันลงได้เมื่อใดไม่มีทางช่วยได้ ถ้าไม่สนใจช่วยตัวเองโดยยึดธรรมมาเป็นหลักใจและพยายามปฏิบัติตาม

พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้เพิ่มจำนวนองค์และสั่งสอนมากมายเพียงไร ผลที่ได้รับก็เท่าที่โรคประเภทคอยรับยามีอยู่เท่านั้น ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ว่าพระองค์ใด มีแบบตายตัวอยู่อย่างเดียวกัน คือสอนให้ละชั่วทำดีทั้งนั้น ไม่มีธรรมพิเศษและแบบสอนพิเศษไปกว่านี้ เพราะไม่มีกิเลสตัณหาพิเศษในใจสัตว์โลกที่พิเศษเหนือธรรมซึ่งประกาศสอนไว้ เท่าที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทานไว้แล้วเป็นธรรมที่ควรแก่การรื้อถอนกิลสทุกประเภทของมวลสัตว์อยู่แล้ว นอกจากผู้รับฟังและปฏิบัติตามจะยอมแพ้ต่อเรื่อกิลสตัณหาของตัวเสียเอง แล้วเห็นธรรมเป็นของไร้สาระไปเสียเท่านั้น ตามธรรมดาแล้วกิเลสทุกประการต้องฝืนธรรมดาดั้งเดิม คนที่คล้อยตามมันจึงเป็นผู้ลืมธรรมไม่อยากเชื่อฟังและทำตาม

โดยเห็นว่าลำบากและเสียเวลาทำในสิ่งที่ตนชอบ ทั้งที่สิ่งนั้นให้โทษ ประเพณีของนักปราชญ์ผู้ฉลาดมองเห็นการณ์ไกลย่อมไม่หดตัวมั่นสุมอยู่เปล่า ๆ เหมือนถูกน้ำร้อนไม่มีทางออก ต้องยอมตายในหม้อที่กำลังเดือดพล่าน โลดเดือดพล่านอยู่ด้วยกิเลสตัณหาความแผดเผา ไม่มีกาลสถานที่ที่พอจะปลงวางลงได้… จำต้องยอมทนทุกข์ทรมานไปตาม ๆ กันโดยไม่นิยมสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์อยู่บนอากาศและใต้ดิน เพราะสิ่งแผดเผาเร่าร้อยอยู่กับใจ ความทุกข์จึงอยู่ที่นั่นที่นี่เธอเห็นพระตถาคตอย่างแท้จริงแล้วมิใช่หรือ?… พระตถาคตแท้คืออะไร คือความบริสุทธิ์แห่งใจที่เธอเห็นแล้วนั้นแล

ที่พระตถาคตมาในร่างนี้มาในร่างแห่งสมมติต่างหากเพราะพระตถาคตและพระอรหันต์อันแท้จริงมิใช่ร่างแบบที่มากันนี้ นี่เพียงเป็นเรือนร่างของตถาคตโดยทางสมมติต่างหาก ท่านพระอาจารย์กราบทูลว่า ข้าพระองค์ทราบพระตถาคตและพระสาวกอรหันต์อันแท้จริงไม่สงสัย ที่สงสัยก็คือ พระองค์ทั้งหลายกับพระสาวกท่านที่เสด็จไปด้วยอนุปาทิเสสนิพพานไม่มีส่วนสมมติยังเหลืออยู่เลย แล้วเสด็จมาในร่างนี้ได้อย่างไร ?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งแม้มีความบริสุทธิ์ทางใจด้วยดีแล้ว แต่ยังครองร่างอันเป็นส่วนสมมติยังเหลืออยู่ ฝ่ายอนุปาทิเสสนิพพานก็ต้องแสดงสมมติตอบรับกัน คือต้องมาในร่างสมมติตซึ่งเป็นเครื่องใช้ชั่วคราวได้ถ้าต่างฝ่ายต่างเป็นอนุปาทิเสสนิพพานด้วยกันแล้วไม่มีส่วนสมมติยังเหลืออยู่… ตถาคตก็ไม่มีสมมติอันใดมาแสดงเพื่ออะไรอีก

ฉะนั้นการมาในร่างสมมตินี้จึงเพื่อสมมติเท่านั้น ถ้าไม่มีสมมติเสียอย่างเดียวก็หมดปัญหา พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่องอดีตอนาคตก็ทรงถือเอานิมิต… คือสมมติอันดั้งเดิมของเรื่องนั้น ๆ เป็นเครื่องหมายให้ทราบ เช่น ทรงทราบอดีตของพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่าทรงเป็นมาอย่างไร เป็นต้น ก็ต้องถือเอานิมิตของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น และพระอาการนั้น ๆ เป็นเครื่องหมายพิจารณาให้รู้ ถ้าไม่มีสมมติของสิ่งนั้น ๆ เป็นเครื่องหมาย ก็ไม่มีทางทราบได้ในทาสมมติ เพราะวิมุตติล้วน ๆ ไม่มีทางแสดงได้

ฉะนั้นการพิจารณาและทราบได้ต้องอาศัยสมมติเป็นหลักพิจารณาดังที่เราตถาคตนำสาวกมาเยี่ยมเวลานี้ ก็จำต้องมาในรูปลักษณะอันเป็นสมมติดั้งเดิม เพื่อผู้อื่นจะพอมีทางทราบไดว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ๆ และพระอรหันต์องค์นั้น ๆ มีรูปลักษณะอย่างนั้น ๆ ถ้าไม่มาในรูปลักษณะนี้แล้ว ผู้อื่นก็ไม่มีทางทราบได้เมื่อยังต้องเกี่ยวกับสมมติในเวลาต้องการอยู่ วิมุตติก็จำต้องแยกแสดงออกโดยางสมมติเพื่อความเหมาะสมกัน ถ้าเป็นวิมุตติล้วน เช่นจิตที่บริสุทธิ์รู้เห็นจิตที่บริสุทธิ์ด้วยกันก็เพียงแต่รู้อยู่เห็นอยู่เท่านั้น ไม่มีทางแสดงให้รู้ยิ่งกว่านั้นไปได้

เมื่อต้องการทราบลักษณะอาการของความบริสุทธิ์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ก็จำต้องนำสมมติเข้ามาชวยเสริมให้วิมุตติเด่นขึ้นพอมีทางทราบกันได้ว่าวิมมุตมีลักษณะว่างเปล่าจากนิมิตทั้งปวดมีความสว่างไสวประจำตัว มีความสงบสุขเหนือสิ่งใด ๆ เป็นต้น พอเป็นเครื่องหมายให้ทราบได้โดยทางสมมติทั่ว ๆ ไห้ ผู้ทราบวิมุตติอย่างประจักษ์ใจแล้ว จึงไม่มีทางสงสัยทั้งเรื่องวิมุตติเสดงตัวออกต่อสมมติในบางคราวที่ควรแก่กรณี และทรงตัวอยู่ตามสภาพเดิมขอบงวิมุตติ ไม่แสดงอาการ ที่เธอถามเราตถาคตนั้น ถามด้วยความสงสัยหรือถามพอเป็นกิริยาแห่งการสนทนากัน

ท่านกราบทูลว่า ข้าพระองค์มิได้มิความสงสัยทั้งสมมติและวิมุตติของพระองค์ทั้งหลาย แต่ที่กราบทูลนั้นก็เพื่อถวายความเคารพไปตามกิริยาแห่งสมมติเท่านั้น แม้พระองค์กับพระสาวกจะเสด็จมาหรือไม่ก็มิได้สงสัยว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อันแท้จริงมีอยู่ ณ ที่แห่งใด แต่เป็นความเชื่อประจักษ์ใจอยู่เสมอว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต อันแสดงว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มิใช่ธรรมชาติอื่น ใดจาดที่บริสุทธิ์หมดจดจากสมมติในลักษณะเดียวกันกับพระรัตนตรัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่เราตถาคตถามเธอ ก็มิได้ถามด้วยความเข้าใจว่าเธอมีความสงสัย แต่ถามเพื่อเป็นสัมโมทนียธรรมต่อกันเท่านั้น บรรดาพระสาวกที่ตามเสด็จพระพุธเจ้ามาแต่ละพระองค์และแต่ละครั้งนั้น มิได้กล่าวปราศรัยอะไรกับท่านพระอาจารย์มั่นเลย มีพระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทพระองค์เดียวส่วนพระสาวกทั้งหลายเป็นเพียงนั่งฟังอยู่อย่างสงบเสงี่ยม น่าเคารพเลื่อมใสมากเท่านั้นแม้สามเณรองค์เล็ก ๆ ที่น่ารักมากกว่าจะน่าเคารพเลื่อมใส

เพิ่มเติมประวัติพระอาจารย์มั่น หน้า 127

@@@@@@@

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

นิพพานไม่ได้สูญ ไม่ได้อยู่ตามที่โลกคาดคะเนหรือเดากัน ทำจริงจะได้เห็นของจริง รู้จริง และจะเห็นนิพพานเอง เห็นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านบริสุทธิ์เอง และหายสงสัยโดยประการทั้งปวง

หนังสือชีวประวัติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2535 หน้า 129-130

@@@@@@@

หลวงปู่ลี ธมมฺโร

โลกมนุษย์มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย โลกของเทวดานันมีเกิดกับตาย ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ โลกนิพพาน ไม่มีทั้งเกิด ไม่มีทั้งตาย

กายเป็นของสูญ เปื่อยเน่า จิต เป็นของไม่สูญ ไม่ตาย จิตที่ดับจากกาย ย่อมหายไป เหมือนกับไฟที่ดับจากเทียน ไม่มีรูปร่างลักษณะให้ตาเนื้อของเราแลเห็น แต่ไฟนั้นก็มิได้สูญหายไปจากโลก

ธัมมธโรวาท ใน หนังสือ ธรรมโอวาท ๙ หลวงปู่อริยสงฆ์ โดย ธรรมสภา ชมรมนักเรียนเก่าแอล เอส อี 2535

ยังมีต่อ...
20  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 10, 2024, 10:30:44 am
.



ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาค - มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

นิพพาน โดยอาการที่เข้าถึง

นิพพาน กล่าวโดยอาการที่เข้าถึง หรือกล่าวโดยสภาพที่บรรลุ หรือโดยอาการ ที่เป็นไปแล้ว มี ๓ คือ

ก. อนิมิตนิพพาน หมายถึงนิพพานนั้นไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีรูปร่าง การสงัดจากนิมิตอารมณ์ ที่ยังให้เกิดกิเลส หรือ ชรามรณธรรม เป็นต้น นั้น เรียกว่า อนิมิตตนิพพาน ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นสามัญลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง เห็นความไม่เที่ยง อันปราศจากนิมิตเครื่องหมายเช่นนี้แล้ว และเพ่งอนิจจังต่อไปจน บรรลุมัคคผล มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้ที่เห็นอนิจจังนั้นมี ชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน ผู้มีอนิมิตตนิพพานเป็นอารมณ์ บุญญาธิการแต่ปางก่อนแรง ด้วย สีล
       
ข. อัปปณิหิตนิพพาน หมายถึง นิพพานนั้น ไม่มีอารมณ์เป็นที่น่าปรารถนา การสงัดจากความดิ้นรนอันเป็นเหตุให้เกิดสรรพทุกข์นั้น เรียกว่า อัปปณิหิตนิพพาน ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นไตรลักษณ์ คือ ทุกข์ เห็นความทนอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปรไป อันหาเป็น ปณิธิ ที่ตั้งไม่ได้เช่นนี้แล้ว และเพ่งทุกข์ต่อไปจน บรรลุมัคคผล มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้ที่เห็นทุกข์นั้นมี ชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน ผู้มีอัปปณิหิตนิพพานเป็นอารมณ์ บุญญาธิการแต่ปางก่อน แรงด้วย สมาธิ
       
ค. สุญญตนิพพาน หมายถึง นิพพานนั้นสูญสิ้นจากกิเลสและอุปาทาน และ ขันธ์ ๕ ไม่มีอะไรเหลืออยู่
ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นไตรลักษณ์ คือ อนัตตา เห็นความไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ อันเป็นความว่างเปล่า เช่นนี้แล้ว และเพ่งอนัตตาต่อไปจนบรรลุ มัคคผล มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้เห็นอนัตตานั้น มีชื่อว่า สุญญตนิพพาน ผู้ที่มีสุญญตนิพพานเป็นอารมณ์นี้ บุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วย ปัญญา

ผู้ที่เห็นสามัญญลักษณ์ หรือไตรลักษณ์ คือ อนิจจังกับอนัตตาแล้วก้าวขึ้นสู่ มัคคผลนั้น มีจำนวนมากกว่าผู้ที่เห็น ทุกขัง

            จบปริจเฉทที่ ๖ ชื่อว่า รูปสังคหวิภาค




คำสอนพระอริยเจ้า

หนังสือ ชีวิตนี้สำคัญนัก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระพุทธเจ้าท่านเพียงไม่มีร่างเหลืออยู่เท่านั้น พระบารมีและคุณธรรมยังอยู่

(ยมกสูตร) มีผู้หลงว่า พระอรหันต์ตายแล้วสูญ พระพุทธเจ้าจึงตอบว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ดังนั้น พระอรหันต์ตายแล้วไม่สูญ แต่ไม่ควรถามว่าตายแล้วไปไหน เหมือนกับไฟดับแล้ว ก็ไม่ควรบอกว่าไฟสูญหรือถามว่าไฟดับแล้วไปไหน

@@@@@@@

หนังสือ ๔๕ พรรษา ของพระพุทธเจ้า หน้า 125-126 พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2532 ครั้งที่ 1 ปี 2510

พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วไม่ได้หายไปไหน พระพุทธบารมียังปกปักษ์รักษาโลกอยู่ คนในโลกยังรับพระพุทธบารมีได้ มิได้แตกต่างไปจากเมื่อยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ เพียงแต่ว่าจำเป็นต้องเปิดใจออกรับ มิฉะนั้นก็จะรับไม่ได้ พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอีกต่อไป แต่พระพุทธบารมียังพรั่งพร้อม พระอาจารย์สำคัญองค์หนึ่งท่านเล่าไว้ว่าเมื่อท่านปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นอยู่ในป่าดงพงพีนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงสอนท่านด้วยพระพุทธบารมีเสมอ แล้วท่านพระอาจารย์องค์นั้น ต่อมาก็เป็นที่ศรัทธาเคารพของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ที่เชื่อมั่นว่าท่านปฏิบัติถึงจุดหมายปลายทางแล้ว

พระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ด้วยพระพุทธบารมีได้ เสด็จไปทรงแสดงธรรมโปรดพระอาจารย์องค์สำคัญให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ไม่มีอะไรให้สงสัยว่าเป็นสิ่งสุดวิสัย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เรื่องของท่านพระโมคคัลลาน์เป็นเครื่องให้ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ่มชัดว่าพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันตเจ้าก็ดี แม้ดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านก็เพียงไม่มีร่างเหลืออยู่เท่านั้น บารมีและคุณธรรมทั้งปวงของท่านยังพรั่งพร้อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

@@@@@@@

หนังสือ ประวัติสังเขป พระโพธิสัตว์ สมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์ หลวงปู่ทวด(เหยียบน้ำทะเลจืด) พระเถระสมัยกรุงศรีอยุธยา

พุทธะ อยู่ในกายมนุษย์

อีกจุดหนึ่งที่มนุษย์ไม่ยอมสนใจ คือไม่สนใจค้นในกายของตนเอง สิ่งหนึ่งที่เรียกว่า พุทธะ นั้นอยู่ในกาย ถ้าจิตของผู้นั้นสามารถค้นเข้าไปถึงกายในกายอันบริสุทธิ์ สิ่งนี้ภาษาทางโลกเรียกว่า พลัง ชนิดหนึ่งที่ยอดเยี่ยมอยู่ในตัวเรา แต่เราไม่รู้จักค้นออกมาใช้ เพราะอะไรเล่า ทำไมเราจึงถามว่าเหตุใดองค์สมณะโคดมจึงสามารถระลึกชาติได้ เพราะมีบุพเพนิาสานุสติกญาณ มีอนาคตญาณ หรือมีญาณอะไร สิ่งเหล่านี้เราไม่ต้องไปรับรู้ เราไม่ต้องยุ่ง เราไม่ต้องไปคิดถึงว่าเราจะได้ฌานโน้นฌานนี้ หลักของการปฏิบัติอันหนึ่งมีอยู่ว่า เราจะยึดอะไรเป็นสรณะของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

คำว่า กรรมฐาน นั้นหมายถึงการกำหนดจิตของเราให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อรวมพลังจิตไม่ให้ฟุ้ง เมื่อรวมพลังจิตอันนั้นไม่ให้ฟุ้งแล้ว รวมอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง รวมจนได้อารมณ์แห่งปีติ คือนิ่งเฉยแห่งจุดนั้น เมื่อนั้นให้ขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาคือให้พิจารณาในทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นอนัตตา อนัตตาคือการเดินทางไปสู่โลกแห่งนิพพาน โลกแห่งอรหันต์ โลกแห่งโพธิสัตว์ โลกแห่งอนาคา อนาคามี โลกเรานี้เป็นโลกแห่งอัตตา ทำอย่างไรเราถึงจะไปสู่จุดแห่งการเป็นอนัตตาได้

@@@@@@@

หนังสือ ธรรมะ จากดวงวิญญาณบริสุทธิ์ สมเด็จโต สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี

นิพพาน คือว่างจากกิเลส จิตวิญญาณของพระอรหันต์ไม่สูญ ที่วิญญาณสูญนั่นคือวิญญาณในขันธ์ ๕ เท่านั้น

(คัดจากหน้า 41-43)

ขุนราชฤทธิ์บริรักษ์ (ถาม) : อันว่านิพพาน ปรมัง สุญญัง เป็นอันว่านิพพานเป็นสูญอย่างยิ่ง คือหมายความว่าสูญเลย คำว่าสูญเลยเป็นที่สงสัยอย่างเกล้ากระผมซึ่งมีกิเลสหนา คำว่าสูญเลยตามตำราบอกว่าขันธ์นั่นสูญ รูปขันธ์ก็หายไป วิญญาณขันธ์ก็หายไป แล้วสังขารขันธ์ก็หายหมด ทีนี้เกล้ากระผมไม่ทราบว่าอะไรเหลือ เมื่ออะไรมันหายหมด เพราะนิพพาน ปรมัง สุญญัง นี่ เพราะฉะนั้นในฐานะพระเดชพระคุณสมเดจเป็นนักปราชญ์ผู้มีความเปรื่องในธรรม โปรดได้อธิบายให้เกล้ากระผมเพื่อเป็นแนวทางซักหน่อย ก็จะเป็นพระคุณและได้บุญกับสาธุชนผู้ที่นั่งฟังอีกด้วยเป็นอย่างมาก

สมเด็จ (ตอบ) : คำว่า นิพพาน นี้ต้องเข้าใจว่ามีหลักแห่งความจริงของคำว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ถ้าในหลักแห่งความจริงของพระสัมมาสัมพุทธโคดมแล้ว คำว่า นิพพาน ในโลกมนุษย์นี้ ก็คือว่า มนุษย์ผู้ใดปฏิบัติตนให้อยู่ในจิตแห่งความว่าง ให้อยู่ในจิตแห่งความนิ่ง ให้อยู่ในจิตแห่งความสิ้นจากสรรพกิเลสที่รอบล้อมอยู่ในตัว เขาเรียกว่า ....

ใจกลางแห่งนิพพานตั้งอยู่เมือง
รอบล้อมต่อเนื่องกำแพงอันแสนหนา
ผู้ใดหาทางทะลุอยู่ในเมือง
มนุษย์ผู้นั้นย่อมถึงนิพพาน

นิพพานในโลกมนุษย์นี้เขาเรียกว่าปฏิบัติจิตให้ว่างที่สุด นานเท่านาน ผู้นั้นถึงนิพพานแห่งการเป็นมนุษย์ คือ สุญญัง นี้แหละเขาเรียกว่าสูญจากอาสวกิเลส สูญจากการป็นทาสอารมณ์แห่งการเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณนี้พุ่งสู่แดนอรหันต์ ไม่ใช่สูญทั้งจิตและวิญญาณ ถ้าสูญทั้งจิตและวิญญาณ จะเอาอะไรไปเสวยกรรม สภาพการณ์วิญญาณที่สูญนั้นเขาเรียกว่า วิญญาณธาตุในเบญจขันธ์ วิญญาธาตุนี้เป็นอุปาทาน รูปนี้ประกอบขึ้นด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณธาตุจึงอยู่เป็นกาย แต่วิญญาณอีกอันหนึ่งเขาเรียกว่าวิญญาณซึ่งวนเวียนอยู่ในกฏแห่งวิฏสงสารนั้นแหล่

(คัดจากหน้า 61-62)

เรื่องวิญญาณนี้เป็นเรื่องละเอียด ในหลักการแห่งวิญญาณของเทพพรหมชั้นสูงนั้น เปรียบเสมือนหนึ่งในหลักทั่วไปของมนุษย์ ก็คือว่าเป็นอากาศ สภาวการณ์ท่านรู้ว่ามีอากาศ แต่ท่านไม่สามารถจับอากาศขึ้นมาเป็นตัวตนได้ นั่นคือสภาวะของวิญญาณเทพพรหมชั้นสูง

ทีนี้วิญญาณเหล่าวิสุทธิเทพ วิญญาณเหล่าพรหมสุทธาวาส วิญญาณเหล่าอรหันต์ จะเปรียบให้เข้าใจในโลกมนุษย์นี้จะเปรียบเป็นอะไรเล่า อันนี้อาตมาภาพขอแถลงไขเปรียบเสมือนหนึ่งว่าวิญญาณเหล่านี้เป็นวิญญาณละเอียด สภาวการ์แห่งการเป็นวิญญาณละเอียดเหล่านี้ไซร้ ท่านจะต้องฝึกสมาธิใช้จิตสัมผัสเหสมือนหนี่งเปรียบคือ ลม ท่านลองโบกมือดูสิ ว่ามีลมไหม เมื่อท่านโบกมือย่อมเกิดลม นักวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่าเป็นชั้นด็อกเตอร์ก็ยังไม่สามารถเอาหน้าลมออกมาตีแผ่ให้มนุษย์ดูได้ ทั้งๆ ที่มนุษย์ทุกคนยอมรับว่ามีลม

เพราะฉะนั้นวิญญาณแห่งวิสุทธิเทพ วิญญาณแห่งเทพพรหมชั้นสูง วิญญาณแห่งอรหันต์ จึงเปรียบง่ายๆ เป็นภาษามนุษย์ว่า ลม ทีนี้วิญญาณเหล่าอมรมนุษย์ วิญญาณเหล่าผีเปรต อสรุกาย วิญญาณเหล่าเจ้าที่เจ้าทงเหล่านี้ วิญญาณจำพวกนี้ยังมีกายหยาบ ฉะนั้นต้องเข้าใว่า เมื่อท่านสิ้นจากโลกมนุษย์นี้แล้วไซร้ ท่านจะต้องไปเกิดในปรภพแห่งการเสวยกรรมวิบากที่ไม่เหมือนกัน เพราะต่างกรรมต่างวาระ ต่างคนต่างสร้างมาไม่เหมือนกัน

ทีนี้สภาวการณ์แห่งการสร้างกรรมไม่เหมือนกันก็คือว่าท่านที่สิ้นจากโลกมนุษย์ก็ยังเป็นวิญญาณปุตุนั้นก็จะเป็นกายหยาบหลุดออกจากกายเนื้อ ทีนี้ถ้าท่านบำเพ็ญในหลักแห่งวิสุทธิมรรค แห่งการเป็นพระอรหันต์ แห่งการเป็นพระพรหมสุทธาวาสแล้วไซร็ ท่านต้องละลายกายทิพย์เหลือแต่วิญญาณ ทีนี้วิญญาณแห่งกายที่มีกายหยาบเหล่านี้แหล่ ที่บางครั้งสามารถปรับในการรวมกระแสแห่งอำนาจที่ตนมีเป็นกายเป็นรูปร่างให้มนุษย์เห็นได้เป็นบางครั้งบางคราว

ทีนี้ปัญหาเหล่านี้ ท่านจะถึงหลักแห่งการถึงโลกอีกโลกหึ่ง แห่งโลกทิพยอำนาจนี้ ท่านจะไปได้อย่างไรเล่า ภาวการณ์แห่งการที่จะท่านจะไปโลกเหล่านี้ได้แล้วไซร้ ท่านจะต้องบำเพ็ญในด้านจิตวิญญาณ ตามที่องค์สัมมาสัมพุทธโคดมวางในหลักการให้เราเหล่านุษย์ทั้งหลายเจริญรอยตามท่าน ก็คือว่ามี ศีล สมาธิ ปัญญา

@@@@@@@

พระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย ์( สิริจนฺโท จันทร์ )

บุคคลผู้ไม่รู้แจ้งในพระนิพพานไม่ควรสั่งสอนพระนิพพานแก่ผู้อื่น ถ้าขึ้นสั่งสอนก็จะพาหลงทาง เป็นบาปกรรมแก่ตน

อันตัวที่ไม่ตายนั้นท่านให้ชื่อว่าโพธิสัตว์ พึงสันนิษฐานได้ว่าสัตว์นั้นแลคือตัวเรา เป็นผู้ไม่ตายเหมือนอย่างพระอริยเจ้ามีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อได้สำเร็จพระอรหัตตผลแล้ว ก็เป็นอันได้สำเร็จพระนิพพาน เมื่อท่านสำเร็จพระนิพพานแล้ว สัตว์ที่ตรัสรู้ที่ไม่เคยตายนั้น ก็ยังอยู่ไม่สูญไปข้างไหน สูญแต่กิเลสเครื่องก่อภพก่อชาติเท่านั้นเอง จึงพอสันนิษฐานเห็นได้ว่า พระนิพพานไม่สูญอย่างเอก แต่การที่จักทำให้สำเร็จ ต้องฝ่าฝืนอำนาจของพระยามาร
แสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 8 เรื่องมงคลกถา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2470 ในหนังสือพระธรรมเทศนา





มงคลกถา 38 ธรรมวิจยานุศาสน์ คิริมานนทสูตร พร้อมด้วยอธาตุ ชุดพิเศษ เล่มที่ 5 หน้า 96-97

บุคคลผู้มิได้พ้นจากิเลส ราคะ ตัณหา นั้นจะทำบุญให้ทานสร้างกุศลอย่างแข็งแรงเท่าใดก็ดี ก็จักได้เสวยความสุขในมนุษย์โลกแลเทวดาโลกเพียงเท่านั้น ที่จะได้เสวยความสุขในพระนิพพานนั้นเป็นอันไม่ได้เลย ถ้าจะประสงค์ต่อพระนิพพานแท้ให้โกนเกล้าเข้าบวชในพระศาสนา ในว่าบุรุษหญิงชายถ้าทำได้อย่างนี้ชื่อว่าปฏิบัติใกล้ต่อพระนิพพาน เพราะว่าเมืองพระนิพพานนั้นปราศจากกิเลสตัณหา เมืองมนุษย์แลเมืองสวรรค์เป็นที่ซึ่งทรงไว้กิเลสตัณหา ไม่เหมือนเมืองพระนิพพาน

นิพฺพานํ นครํ นาม อันชื่อว่าเมืองพระนิพพาน ย่อมตั้งอยู่ในที่สุดแห่งโลก โลกมีทีสุดเพียงใด พระนิพพานก็ตั้งอยู่ที่สุดนั้น พระนิพพานเป็นพระมหานครอันใหญ่เป็นที่บรมสุขหาที่เปรียบมิได้ อย่าเข้าใจว่าจะไปนิพพานด้วยกำลังกาย หรือกำลังพาหนะมียานช้างม้าได้ อย่าเข้าใจว่านิพพานตั้งอยู่ในทีสุดโลกเหล่านั้น อย่าเข้าใจว่าตั้งอยู่ที่ใดเลย แต้ว่าพระนิพพานนั้นหากมีอยู่ในที่สุดของโลกเป็นของจริง ไม่ต้องสงสัย ให้ท่านทั้งหลายศึกษาให้เห็นโลกรู้โลกเสียให้ชัดเจน ก็จักเห็นพระนิพพาน พระนิพพานก็หากตั้งอยู่ในที่สุดแห่งโลกนั่นเอง

หนังสือ คิริมานนทสูตร และ อัตตปวัตติ หน้า ๑๐-๑๒ ISBN974-8239-69-1 สนพ.ดวงแก้ว

@@@@@@@

หนังสือ มุตโตทัย พระเดชพระคุณพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

สรณะทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มิได้เสื่อมสูญอันตรธานไปไหน ยังปรากฏอยู่แก่ผู้ปฏิบัติเข้าถึงอยู่เสมอ ผู้ใดยึดถือเป็นที่พึ่งของตนแล้ว ผู้นั้นจะอยู่ในกลางป่า หรือเรือนว่างก็ตาม สรณะทั้งสามก็ปรากฏแก่เราอยู่ทุกเมื่อ

๑๓. วิสุทธิเทวาเท่านั้นเป็นสันตบุคคลแท้

อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต บุคคลผู้มีจิตไม่กำเริบในกิเลสทั้งปวง รู้ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นพหิทธาธรรม ทั้งที่เป็น อัชฌัตติกาธรรม สนฺโต จึงเป็นผู้สงบระงับ สันตบุคคลเช่นนี้แลที่จะบริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ มีธรรมบริสุทธิ์สะอาด มีใจมั่นคงเป็นสัตบุรุษผู้ทรงเทวธรรมตามความในพระคาถาว่า หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร อุปัตติเทวา ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ วุ่นวายอยู่ด้วยกิเลส เหตุไฉนจึงจะเป็นสันตบุคคลได้ ความในพระคาถานี้ย่อมต้องหมายถึง วิสุทธิเทวา คือพระอรหันต์แน่นอน ท่านผู้เช่นนั้นเป็นสันตบุคคลแท้ สมควรจะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ และ สุกฺกธรรม คือ ความบริสุทธิ์แท้

๑๔. อกิริยาเป็นที่สุดในโลก - สุดสมมติบัญญัติ

สจฺจานํ จตุโร ปทา ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา สัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็นกิริยา เพราะแต่ละสัจจะๆ ย่อมมีอาการต้องทำคือ ทุกข์-ต้องกำหนดรู้ สมุทัย-ต้องละ นิโรธ-ต้องทำให้แจ้ง มรรค-ต้องเจริญให้มาก ดังนี้ล้วนเป็นอาการที่จะต้องทำทั้งหมด ถ้าเป็นอาการที่จะต้องทำ ก็ต้องเป็นกิริยาเพราะเหตุนั้นจึงรวมความได้ว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นกิริยา จึงสมกับบาทคาถาข้างต้นนั้น ความว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นเท้าหรือเป็นเครื่องเหยียบก้าวขึ้นไป หรือก้าวขึ้นไป ๔ พักจึงจะเสร็จกิจ

ต่อจากนั้นไปจึงเรียกว่า อกิริยา อุปมา ดังเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ แล้วลบ ๑ ถึง ๙ ทิ้งเสีย เหลือแต่ ๐ (ศูนย์) ไม่เขียนอีกต่อไป คงอ่านว่า ศูนย์ แต่ไม่มีค่าอะไรเลย จะนำไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น แต่จะปฏิเสธว่าไม่มีหาได้ไม่ เพราะปรากฏอยู่ว่า ๐ (ศูนย์) นี่แหละ คือปัญญารอบรู้ เพราะลายกิริยา คือ ความสมมติ หรือว่าลบสมมติลงเสียจนหมดสิ้น ไม่เข้าไปยึดถือสมมติทั้งหลาย คำว่าลบ คือทำลายกิริยา กล่าวคือ ความสมมติ มีปัญหาสอดขึ้นมาว่า เมื่อทำลายสมมติหมดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน? แก้ว่า ไปอยู่ในที่ไม่สมมติ คือ อกิริยา นั่นเอง เนื้อความตอนนี้เป็นการอธิบายตามอาการของความจริง ซึ่งประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ อันผู้ไม่ปฏิบัติหาอาจรู้ได้ไม่

ต่อเมื่อไรฟังแล้วทำตามจนรู้เองเห็นเองนั่นแลจึงจะเข้าใจได้ ความแห่ง ๒ บาทคาถาต่อไปว่า พระขีณาสวเจ้าทั้งหลายดับโลกสามรุ่งโรจน์อยู่ คือทำการพิจารณาบำเพ็ยเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก จนจิตมีกำลังสามารถพิจารณาสมมติทั้งหลายทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้จนเป็นอกิริยาก็ย่อมดับโลกสามได้ การดับโลกสามนั้น ท่านขีณาสวเจ้าทั้งหลายมิได้เหาะขึ้นไปนกามโลก รูปโลก อรูปโลกเลยทีเดียว คงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียวกัน เมื่อจะดับโลกสาม ก็มิได้เหาะขึ้นไปในโลกสาม คงดับอยู่ที่จิต ทิ่จิตนั้นเองเป็นโลกสาม ฉะนั้น ท่านผู้ต้องการดับโลกสาม พึงดับที่จิตของตนๆ จึงทำลายกิริยา คือตัวสมมติหมดสิ้นจากจิต

ยังเหลือแต่อกิริยา เป็นฐีติจิต ฐีติธรรมอันไม่รู้จักตาย ฉะนี้แล

๑๕. สัตตาวาส ๙

เทวาพิภพ มนุสสโลก อบายโลก จัดเป็นกามโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์เสพกามรวมเป็น ๑ รูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จรูปฌานมี ๔ อรูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จอรูปฌานมี ๔ รวมทั้งสิ้น ๙ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ผู้มารู้เท่าสัตตาวาส ๙ กล่าวคือ พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ย่อมจากที่อยู่ของสัตว์ ไม่ต้องอยู่ในที่ ๙ แห่งนี้ และปรากฏในสามเณรปัญหาข้อสุดท้ายว่า ทส นาม กึ อะไรชื่อว่า ๑๐ แก้ว่า ทสหงฺ เคหิ สมนฺนาคโต พระขีณาสวเจ้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ย่อมพ้นจากสัตตาวาส ๙ ความข้อนี้คงเปรียบได้กับการเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ นั่นเอง ๑ ถึง ๙ เป็นจำนวนที่นับได้ อ่านได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วน ๑๐ ก็คือ เลข ๑ กับ ๐ (ศูนย์) เราจะเอา ๐ (ศูนย์) ไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น และ ๐ (ศูนย์) นี้เมื่ออยู่โดยลำพังก็ไม่มีค่าอะไร

แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งปรากฏอยู่ ความเปรียบนี้ฉันใด จิตใจก็ฉันนั้นเป็นธรรมชาติ มีลักษณะเหมือน ๐ (ศูนย์) เมื่อนำไปต่อเข้ากับเลขตัวใด ย่อมทำให้เลขตัวนั้นเพิ่มค่าขึ้นอีกมาก เช่น เลข ๑ เมื่อเอาศูนย์ต่อเข้า ก็กลายเป็น ๑๐ (สิบ) จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อต่อเข้ากับสิ่งทั้งหลายก็เป็นของวิจิตรพิสดารมากมายขึ้นทันที แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมจนฉลาดรอบรู้สรรพเญยฺยธรรมแล้วย่อมกลับคืนสู่สภาพ ๐ (ศูนย์) คือ ว่างโปร่งพ้นจากการนับการอ่านแล้ว มิได้อยู่ในที่ ๙ แห่งอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ แต่อยู่ในที่หมดสมมติบัญญัติคือ สภาพ ๐ (ศูนย์) หรืออกิริยาดังกล่าวในข้อ ๑๔ นั่นเอง

หนังสือ มุตโตทัย

@@@@@@@

หนังสือหลวงพ่อตอบปัญหา เล่ม ๓ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมยาน วีระ ถาวโร ปธ.๔) วัดท่าซุง อุทัยธานี

ความหมายตามบาลี(ยมกสูตร) คนที่เห็นว่าพระอรหันต์ตายแล้วสูญ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเป็นความเห็นผิด แล้วท่านบรรดานักเขียนนักแต่งทั้งหลายท่านเอามาจากไหนว่า นิพพานสูญ อันนี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดอะไรกันสักอย่าง เพราะมีพระบาลีบทหนึ่งว่า นิพพานนัง ปรมังสูญญัง แปลว่านิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง ท่านอาจจะไปคว้าเอา ปรมังสูญญัง โดยเข้าใจว่า สูญโญเข้าให้

ดูเพิ่มเติมที่ หนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน อุปสมานุสสติกรรมฐาน

ผู้ถาม : เกิดมาแล้วทำไมจึงต้องตายครับ…?
หลวงพ่อ : เพราะอยากตาย ไอ้คนอยากเกิดก็อยากตายด้วยใช่ไหม…เกิดแล้วมันก็ต้องตาย เพราะธรรมดาเราฝืนมันไม่ได้ ทีนี้ถ้าเราไม่ต้องการตาย เราก็ไม่ต้องเกิด
ผู้ถาม : ที่นิพพานไม่มีการเกิดใช่ไหมครับ จึงไม่มีการตาย…?
หลวงพ่อ : อันนี้เคยมีพระหรือพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า นิพพานจะไม่มีการเกิดก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าเกิดก็ต้องเกิด ถ้าจะว่าไม่เกิด แต่สภาวะมันมีอยู่ ตอนแรกฉันอ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็เลยย่องไปถามท่าน

ฉะนั้นนิพพานควรเรียกว่าอะไร ท่านบอกว่าควรจะเรียก "ทิพย์พิเศษ" ที่ไม่มีการเคลื่อน เทวดาหรือพรหมยังมีการเคลื่อน ที่เรียกว่า "จุติ" จุติ แปลว่า เคลื่อน ไอ้ศัพท์ที่ว่าตายนี่ พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียก ท่านเรียก กาลัง กัตวา ถึงวาระแล้ว ถึงกาลเวลาแล้ว ท่านไม่เรียกว่าตาย ตาย นี่ มรณะ ตามศัพท์ของบาลีไม่มีคำว่ามรณะ ท่านเรียกว่า กาลัง กัตวา แปลว่าถึงวาระที่จะต้องไปจากร่างกายนี้ ร่างกายนี้มันพังมันไม่ยอมทำงาน

ผู้ถาม : ขอหลวงพ่อโปรดอธิบายเรื่องนิพพาน ให้ผมเข้าใจด้วยครับ
หลวงพ่อ : คำว่า นิพพาน เหรอ…คุณต้องการรู้เรื่องนิพพานไปทำไม…?
ผู้ถาม : (หัวเราะ) เอาไว้ประดับความรู้ครับ
หลวงพ่อ : เอาไว้ประดับความรู้….ดี คำว่า นิพพานเป็นของง่ายเป็นของไม่ยาก นิพพานนี่เขาแปลว่า ดับ นะคุณนะ ถ้าจะถามว่าดับอะไร ก็ขอตอบว่า ดับความชั่ว คนที่จะถึงนิพพานได้ต้องไม่มีความชั่ว ๓ อย่าง คือ
   1. ไม่ชั่วทางกาย
   2. ไม่ชั่วทางวาจา
   3. ไม่ชั่วทางใจ

ถ้าทุกคนดับความชั่วได้หมด บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน

ผู้ถาม : แต่ผมเคยได้ยินมาว่า นิพพาน แปลว่า ดับไปเลย ไม่เหลืออะไรเลยนี่ครับ
หลวงพ่อ : ความจริงคุณจะต้องรู้ว่าอะไรดับ คำว่านิพพานแปลว่าดับ ดับทีแรกคือดับกิเลส ดับที่สองคือดับขันธ์ ๕ แต่ว่าตามพระบาลีไม่ได้บอกว่า จิตดับ ปัญหาของคุณที่ถามนี่ เหมือนกับปัญหาของพระที่ถามพระพุทธเจ้าเคยถามมาแล้ว คือ ท่านผู้นี้มีนามว่า พระโมกขราช ท่านถามพระพุทธเจ้าว่า"นิพพานมีสภาพสูญ ใช่ไหม…พระพุทธเจ้าข้า" หมายความว่า เมื่อถึงนิพพานแล้วก็ดับสูญ มีสภาพคล้ายกับควันไฟที่ลอยไปในอากาศ ไม่มีที่เกาะ ไม่มีที่อยู่ อย่างนั้นองค์สมเด็จพระบรมครูตรัสว่า "โมกขราช เรากล่าวว่า นิพพานนั้นหมายถึงกิเลสดับ และขันธ์ ๕ ดับ"พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า จิตดับทีนี้ถ้าหากว่าคุณจะศึกษาเรื่องนิพพาน ถ้าเราจะพูดกันไปกี่ร้อยปี มันก็ไม่จบ

ฉะนั้น ถ้าต้องการจะรู้เรื่องพระนิพพานจริงๆ คุณจะต้อง
   1. เป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ เป็นอันดับแรก
   2. เป็นผู้ทรงฌานสมาบัติ
   3. ในขณะที่ทรงฌานสมาบัติได้แล้ว คุณจะต้องทำจิตของตนให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณ ที่เรียกกันว่าสังขารุเปกขาญาณ

เมื่อจิตเข้าถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว ก็ต้องชำระกิเลสด้วยการตัดสังโยชน์ ๓ เบื้องต้น คือ
   1. ทำลายสักกายทิฏฐิ
   2. ทำลายวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยให้หมดไป
   3. สีลัพพตปรามาส ทรงศีลให้บริสุทธิ์
   4. มีอารมณ์จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ที่เราเรียกกันว่า โครตภูญาณ

ถ้ากำลังใจของคุณทำได้อย่างนี้ เมื่อจิตเข้าถึงโครตภูญาณ คุณจะทราบว่า คำว่าดับของนิพพานนั้น
   1. ดับกิเลส ในขณะที่มีชีวิตอยู่
   2. ดับขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๕ ดับ
   3. อารมณ์จิตที่บริสุทธิ์ไม่ได้ดับไปด้วย

คำว่าพระนิพพาน ยังมีจุดที่เป็นอยู่อันหนึ่ง ที่เขาเรียกว่าเป็นทิพย์พิเศษ พ้นจากอำนาจของวัฏฏะ

หนังสือหลวงพ่อตอบปัญหา เล่ม ๓

ยังมีต่อ...
21  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 10, 2024, 10:04:51 am
.



นิพพาน
โดย นิรนาม | สิ่งที่ควรรู้ | 01 สิงหาคม 2561



ปริยัติธรรม : พระไตรปิฎก

นิพพาน หมายถึง ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์ เป็นสภาพโลกุตระอันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในศาสนาพุทธ

คำว่า นิพพาน เป็นคำที่ใช้กันในปรัชญาหลายระบบในอินเดีย โดยใช้ในความหมายของการหลุดพ้น แต่การอธิบายเกี่ยวกับสภาวะของนิพพานนั้นแตกต่างกันออกไป ในปรัชญาอุปนิษัทเชื่อว่านิพพานหรือโมกษะ คือการที่อาตมันย่อยหรือชีวาตมันเข้ารวมเป็นเอกภาพกับพรหมัน แต่ในพระพุทธศาสนาอธิบายว่า นิพพานคือการหลุดพ้นจากอวิชชา ตัณหา ซึ่งแสดงออกในรูปของโลภะ โทสะ และโมหะ มิได้หมายความว่าเป็นการหลุดพ้นของอัตตาหรือตัวตนในโลกนี้ ไปสู่สภาวะของนิพพานอย่างคำสอนอุปนิษัท แต่หมายถึงความดับสนิทแห่งความเร่าร้อนและเครื่องผูกพันร้อยรัดทั้งปวง ซึ่งเรียกว่าเป็นความทุกข์

พระพุทธศาสนาถ้าปราศจากนิพพานแล้วก็ไม่เกิดเป็นศาสนา เพราะในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น ๑๖ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา พระองค์ก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม โดยทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ ๔ แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ญาณ ๓ คือ

ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้

ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย

ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยามสุดท้ายที่พระองค์ทรงบรรลุนี่แหละ คือนิพพาน ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับ "อาสวักขญาณ"


@@@@@@@

ในขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธาตุสูตร พระพุทธเจ้ากล่าวถึงนิพพานธาตุ ๒ ประเภท คือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานโดยที่อินทรีย์ ๕ ยังคงอยู่ จึงยังเสวยสุขและทุกข์อยู่เมื่อประสบกับประสบอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานทั้งดับภพและเวทนาได้สิ้นเชิงแล้ว

นิพพานก็อยู่ใน อริยสัจ ๔ ด้วย คือเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ได้แก่ อริยสัจข้อ ๓ ที่เรียกว่า "นิโรธ" คำว่านิโรธนี้เป็น ไวพจน์ คือใช้แทนกันได้กับ "นิพพาน" พระไตรปิฎกเล่ม ๓๑ ระบุว่าอริยสัจ ๔ ทั้งหมดซึ่งรวมทั้งนิโรธ คือนิพพาน ด้วยนั้น เป็นอนัตตา ดังนี้ อนตฺตฏฺเฐน จตฺตาริ สจฺจานิ เอกปฏิเวธานิ . . . นิโรธสฺส นิโรธฏฺโฐ อนตฺตฏฺโฐ. (ขุ.ปฏิ. ๓๑/๕๔๖/๔๕๐) แปลว่า: "สัจจะทั้ง ๔ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) มีการตรัสรู้ด้วยกันเป็นอันเดียว ( คือด้วยมรรค ญาณเดียวกัน ) โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา . . . นิโรธมีความหมายว่าดับ ( ทุกข์ ) ก็มีความหมายว่า เป็นอนัตตา

ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคระบุว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" และในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตมีระบุว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" ซึ่ง "ธรรม" ในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายต่อว่า "หมายรวมถึงนิพพานด้วย" นอกจากนี้ ยังมีข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกอีกหลายแห่งทั้งที่ระบุโดยตรงและโดยอ้อมที่มีนัยบอกว่า "นิพพานเป็นอนัตตา"

พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงอธิบายว่า พระอรหันต์ผู้บรรลุนิพพานเมื่อดับขันธ์แล้วจะอยู่ในสภาพเช่นใด การอธิบายทำได้ในลักษณะเพียงว่า นิพพานคือการดับทุกข์ สิ้นตัณหา เหมือนไฟที่ดับจนสิ้นเชื้อไม่สามารถที่จะลุกลามขึ้นมาได้อีก สำหรับพระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้วนั้น พระพุทธองค์ไม่ตรัสยืนยันถึงความมีอยู่หรือความดับสูญ พระองค์ตรัสแต่เพียงว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ทั้งเทวดาและมนุษย์จะไม่สามารถเห็นพระองค์อีกต่อไป "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต มีตัณหาอันนำไปสู่ภพขาดแล้ว ยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต" ( ที.สี.๑๔/๙๐ )

ในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา ยังมีข้อความแสดงสภาวะของนิพพานอีกหลายแห่ง เช่นในปฏิสัมภิทามรรค มีอธิบายว่า นิพฺพานธมฺโม อตฺตสฺเสว อภาวโต อตฺตสุญฺโญ "ธรรมคือนิพพาน ว่างจากอัตตา เพราะไม่มีอัตตา" (ขุ.ป.อ.๒/๒๘๗) นอกจากนี้ในวิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสะ พยายามอธิบายให้เห็นถึงความไม่มีตัวตนของผู้ได้ชื่อว่าบรรลุนิพพาน ซึ่งเท่ากับว่าไม่มีอัตตา และนิพพานก็มิใช่สิ่งที่จะต้องมีอัตตาถึงจะมีอยู่ได้ ดังที่พระพุทธโฆสะกล่าวว่า "นิพพานมีอยู่ แต่ไม่มีผู้เข้าถึงนิพพาน มรรคามีอยู่ แต่ปราศจากผู้ดำเนินไป" ( วิสุทฺธิ.๓/๑๐๑ ) ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่มีตัวตนบุคคลใด ๆ ที่ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด แล้วบรรลุนิพพาน เมื่อปราศจาก "ตัวตน" ของผู้เข้าถึงนิพพาน นิพพานก็ย่อมไม่ใช่อัตตาไปด้วย

นิพพานเป็นธรรมที่พ้นไปจากโลก ในพาหิยสูตร ความว่า "ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ ( สัจจะ ๔ ) รู้แล้วด้วยตนเอง เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมหลุดพ้นแล้วจากรูปและอรูป จากความสุขและความทุกข์..." ( ขุ.ขุ.อ.๒๕/๕๐ )

    "นิพพานเป็นปรมัตถ์ ว่าโดยความแตกต่างแห่งอาการ มี ๓ อย่าง คือ สุญญตะ ๑ อนิมิตตะ ๑ อัปปณิหิตะ ๑ อาการที่ชื่อว่า สุญญตะ เพราะเป็นสภาพสูญจากสังขารทั้งปวง อาการที่ชื่อว่า อนิมิตตะ เพราะไม่มีนิมิต คือ สังขารทั้งปวง อาการที่ชื่อว่า อัปปณิหิตะ เพราะไม่มีที่ตั้ง คือ สังขารทั้งปวง"




อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

นิพพานสูตรที่ ๑

[๑๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตต์ด้วยนิพพาน ก็ภิกษเหล่านั้นกระทำให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมีกถาด้วยจิตทั้งปวงแล้ว เงี่ยโสตลงฟังธรรม ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

นิพพานสูตรที่ ๒

[๑๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตต์ด้วยนิพพาน ก็ภิกษุเหล่านั้นกระทำให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมีกถาด้วยจิตทั้งปวงแล้ว เงี่ยโสตลงฟังธรรม ฯ

... ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้วได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
... ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยากชื่อว่านิพพาน ไม่มีตัณหา นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ ฯ

นิพพานสูตรที่ ๓

[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ... เงี่ยโสตลงสดับธรรม ลำดับนั้นแลพระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ ฯ

นิพพานสูตรที่ ๔

[๑๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ... เงี่ยโสตลงฟังธรรม ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฐิอาศัย ย่อมไม่มีแก่ผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยเมื่อความหวั่นไหวไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีความยินดี เมื่อไม่มีความยินดี ก็ย่อมไม่มีการมาการไป เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติและอุปบัติ เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ โลกนี้โลกหน้าก็ไม่มี ระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

นิพพาน หมายถึง การดับหรือการหมดสิ้นไปของสังสารทุกข์ อันเป็นวนเวียนของกิเลส (กิเลสวัฏ) เป็นวนเวียนของกรรม (กรรมวัฏ) และวนเวียนของวิบาก (วิปากวัฏ)




พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พาหิยสูตร

ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี

ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ ๔) รู้แล้ว ด้วยตน เมื่อนั้น พราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์ ฯ





พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ภาวะแห่งนิพพาน - บรรลุนิพพาน

เมื่อสังสารวัฏฐ์หายไปก็กลายเป็นวิวัฏฏ ขึ้นเองทันที เป็นของเสร็จพร้อมอยู่ในตัว ไม่ต้องเดินทาง ออกจากสังสารวัฏฏที่แห่งหนึ่ง ไปสู่วิวัฏฏอีกแห่งหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นการพูดในเชิงภาพพจน์ หรืออุปมา เมื่อ อวิชชา ตัณหา อุปาทานดับไป นิพพานก็ปรากฎแทนที่พร้อมกัน จะพูดให้มันเข้าอีกก็ว่า การดับอวิชชา ตัณหา อุปาทานนั่นแหละ คือนิพพาน

ตามปกติของปุถุชน อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ย่อมคอยครอบงําเคลือบแฝงจิตใจ กําบังปัญญา และเป็น ตัวชักใยนําเอากิเลสต่างๆ ให้ไหลเข้ามาสู่จิตใจ ทําใจให้ไหว ให้วุ่น ให้ขุ่น ให้มัว ให้ฝ้าหมอง ทําให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ชัดบ้าง ให้บิดเบือนไปเสียบ้าง ตลอดจนถ่วงดึงเหนี่ยวรั้งไว้ให้วนเวียนติดตั้งข้องขัดและคับแคบอยู่กับ เครื่องผูกมัดหน่วงเหนี่ยวชนิดต่างๆ

เมื่ออวิชชา ตัณหา อุปาทานนั้น ดับหายไปแล้ว ก็เกิดปัญญา เป็นวิชชาสว่างแจ้งขึ้น มองเห็นสิ่งทั้งหลาย กล่าวคือโลกและชีวิต ถูกต้องชัดเจน ตามที่มันเป็นของมันไม่ใช่ตามที่อยากให้มันเป็น หรือตามอิทธิพลของสิ่ง เคลือบแฝงกําบัง การมองเห็น การรับรู้ต่อโลกและชีวิต ก็จะเปลี่ยนไป ความรู้สึกและท่าทีต่อสิ่งต่างๆ ก็จะ เปลี่ยนไป ยังผลให้บุคลิกภาพเปลี่ยนไปด้วย

สิ่งที่ปรากฏอยู่ แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น หรือแม้แต่นึกถึง เพราะถูกปิดกั้นคลุมบังเงาไว้ หรือเพราะมัว สาละวนเพลินอยู่กับสิ่งอื่น ก็ได้รู้ได้เห็นขึ้น เกิดเป็นความรู้เห็นใหม่ๆ จิตใจเปิดเผย กว้างขวาง ไม่มีประมาณ โปร่งโล่ง เป็นอิสระ เป็นภาวะที่แจ่มใส สะอาด สว่าง สงบ ละเอียดอ่อน ประณีต ลึกซึ้ง ซึ่งผู้ยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงําใจอยู่ อย่างที่เรียกกันว่าปุถุชน นึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจ แต่เข้าถึงเมื่อใด ก็รู้เห็นประจักษ์แจ้งเอง เมื่อนั้น ดังคุณบท คือ คําแสดงคุณลักษณะของนิพพานว่า

“นิพพาน อันผู้บรรลุเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาล เรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเอาเข้ามาไว้ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน"

การที่ปุถุชนไม่สามารถนึกเห็น ไม่อาจคิดให้เข้าใจภาวะของนิพพานได้นั้น เพราะธรรมดาของมนุษย์ เมื่อ ยังไม่รู้เห็นประจักษ์เองซึ่งสิ่งใด ก็เรียนรู้สิ่งนั้นด้วยอาศัยความรู้เก่าเป็นพื้นเทียบ คือ เอาสัญญาที่มีอยู่แล้วมากําหนด แล้ววาดภาพขึ้นใหม่จากสัญญาต่างๆ ที่เอามากําหนดเทียบนั้น ได้ภาพตามสัญญาที่เป็นองค์ประกอบ เหมือนอย่างคนไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักช้างเลย เมื่อมีใครพูดขึ้นแก่เขาว่า “ช้าง” เขาจะไม่รู้ไม่เข้าใจ นึกอะไรไม่ได้ เลยอาจจะกําหนดไปตามอาการกิริยาเป็นต้นของผู้พูดแล้ว อาจจะนึกว่าผู้พูดกล่าวผรุสวาทแก่เขา หรืออาจจะ นึกไปว่าผู้พูดกล่าวคําภาษาต่างประเทศคําหนึ่ง หรืออาจจะนึกว่าผู้พูดเสียสติ จึงกล่าวคําไร้ความหมายออกมาหรือนึกคิดอะไรต่างๆ ไปได้มากมาย แล้วแต่สถานการณ์

@@@@@@@

แต่ถ้าผู้พูดกล่าวว่า “ฉันเห็นช้าง” ผู้ฟังนั้น จะมีความเข้าใจขึ้นหน่อยหนึ่งว่า ช้างเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ เห็นได้ด้วยตา ถ้าผู้พูดอธิบายต่อไปว่า “ช้าง เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง” เขาก็เข้าใจเพิ่มขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง โดยอาจจะนึกไปถึงสิ่งทั้งหลายที่เรียกว่าสัตว์ ไม่จํากัดชนิดและขนาด ตั้งแต่มดถึงไดโนเสาร์ ตั้งแต่ปลากัดถึงปลาวาฬ ตั้งแต่ยุง ถึงนกอินทรีย์ เมื่อผู้พูดกล่าวต่อไปว่า “ช้าง เป็นสัตว์บก” เขาก็เข้าใจชัดขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง ครั้นบอกว่า “ช้าง เป็น สัตว์ตัวโตมาก” เขาก็เห็นภาพจํากัดชัดเข้าอีก

จากนั้น ผู้พูดก็อาจบรรยายลักษณะของช้าง เช่น ใบหูโต ตาเล็ก มีงาสองข้าง มีจมูกยาวเป็นงวง เป็นต้น ผู้ฟังก็จะได้ภาพจําเพาะที่ชัดเจนในใจของเขามากขึ้น ภาพนั้นอาจใกล้ของจริงก็ได้ หรือห่างไกลไปมากมาย ชนิดที่ว่า ถ้าให้เขาวาดภาพที่เขาเห็นในใจเวลานั้นออกมาเป็นรูปวาดบนแผ่นกระดาษ เราอาจได้รูปสัตว์ประหลาด เพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง สําหรับนิยายโบราณเรื่องใหม่ก็ได้ เพราะผู้ไม่รู้ไม่เห็นจริงนี่แหละ มักใช้สัญญาต่างๆ สร้างภาพได้วิจิตรพิสดารนัก ทั้งนี้ ภาพในใจของเขาจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นต่อความแม่นยําของสัญญาเกี่ยวกับ ลักษณะอาการต่างๆ ที่ผู้เล่ายกขึ้นมาพูดฝ่ายหนึ่ง และสัญญาที่ผู้ฟังเอามาประสานเป็นองค์ประกอบสร้างสัญญา ใหม่อีกฝ่ายหนึ่ง

จะเห็นว่า คําว่า “เห็น” ก็ดี “สัตว์” ก็ดี “บก” “ตัวโต” เป็นต้น ก็ดี ล้วนเป็นสัญญาที่ผู้ฟังมีอยู่แล้ว ทั้งสิ้น แต่ในกรณีที่สิ่งที่นํามาบอกเล่า แตกต่างไปจากสิ่งที่ผู้ฟังเคยรู้เห็นมีสัญญาอยู่ก่อนแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่มีลักษณะอาการใดที่จะเทียบกันได้เลย ผู้ฟังจะไม่มีทางนึกเห็นหรือเข้าใจได้ด้วยประการใดทั้งสิ้น

เมื่อมีการสอบถามเทียบเคียงขึ้น คือผู้ฟังขอนําเอาสัญญาของตนออกมาต่อความรู้ใหม่ ก็จะทําได้อย่าง เดียว คือปฏิเสธ หรือถ้าผู้เล่าขึ้นพยายามจะชี้แจงด้วยสัญญาที่ผู้ฟังพอจะเอามาเทียบได้บ้าง ก็เสี่ยงอันตรายอย่างมากต่อการที่ผู้ฟังจะสร้างสัญญาผิดๆ ต่อสิ่งที่นํามาเล่านั้น ถ้าผู้ฟังไม่สร้างสัญญาผิด ก็อาจไปสู่สุดทางอีก ข้างหนึ่ง คือปฏิเสธคําบอกของผู้เล่า โดยกล่าวหาว่าผู้เล่ากล่าวเท็จ หลอกลวง สิ่งที่นํามาเล่านั้นไม่มีจริง

แต่การที่ผู้ฟังจะปฏิเสธ โดยกล่าวว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่มีจริง เพียงเพราะเหตุที่ตนไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จัก ไม่ เหมือนกับสิ่งที่ตนเคยรู้จักและตนเองไม่อาจนึกเห็นหรือเข้าใจ ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง

@@@@@@@

นิพพานเป็นภาวะที่พ้นจากสภาพทั้งหลายที่ปุถุชนรู้จัก นอกเหนือออกไปจากการรับรู้ที่ถูกอวิชชา ตัณหา อุปาทานครอบงํา เป็นภาวะที่เข้าถึงทันที พร้อมกับการละกิเลสที่เคลือบคลุมใจ หรือพ้นจากภาวลักษณะต่างๆ ที่เป็นวิสัยของปุถุชน เหมือนเลื่อนฉากออก ก็มองเห็นท้องฟ้า นิพพานไม่มีลักษณะอาการเหมือนสิ่งใด ที่ปุถุชนเคย รู้เคยเห็น ปุถุชนจึงไม่อาจนึกเห็นหรือคิดเข้าใจได้ แต่จะว่านิพพานไม่มี ก็ไม่ถูก มีผู้กล่าวอุปมาบางอย่างไว้ เพื่อให้ปุถุชนพอสํานึกได้ว่า สิ่งที่ตนนึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจ ไม่จําเป็นต้องไม่มี

ข้อเปรียบเทียบที่น่าฟังเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องปลาไม่รู้จักบก มีความย่อของนิทานว่า ปลากับเต่าเป็นเพื่อน สนิทกัน ปลาอยู่แต่ในน้ํา รู้จักแต่เรื่องราวความเป็นไปในน้ํา เต่าเป็นสัตว์สะเทินน้ําสะเทินบก รู้จักทั้งบกทั้งน้ํา

วันหนึ่งเต่าไปเที่ยวบกมาแล้ว ลงในน้ําพบปลา ก็เล่าให้ปลาฟัง ถึงความสดชื่นที่ได้ไปเดินเที่ยวบนผืนดิน แห้ง ในท้องทุ่งโล่งที่ลมพัดฉิว ปลาฟังไปได้สักหน่อย ไม่เข้าใจเลย อะไรกันนะที่ว่าเดิน อะไรกันพื้นดินแห้งอะไร กันทุ่งโล่ง อะไรกันลมพัดผิว แม้แต่ความสดชื่นอย่างนั้น ปลาก็ไม่รู้จัก ความสุขโดยปราศจากน้ํา จะเป็นไปได้ อย่างไร มีแต่จะตายแน่ๆ

ปลาทนไม่ได้ จึงขัดขึ้น และซักถามหาความเข้าใจ เต่าเล่าและอธิบายด้วยศัพท์บก ปลาซักถามด้วยศัพท์ น้ํา เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ ปลาจะให้เต่าอธิบายด้วยศัพท์น้ํา เต่าก็อธิบายไม่ได้ เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเทียบ ในที่สุด ปลาก็ลงข้อสรุปว่า เต่าโกหก เรื่องที่เล่าไม่จริงทั้งสิ้น เดินก็ไม่มี ผืนดินแห้งก็ไม่มี ทุ่งโล่งก็ไม่มี ลมพัดฉิวต้องตัวแล้วสดชื่น ก็ไม่มี

ตามเรื่องนี้ ความจริงปลาเป็นฝ่ายผิด สิ่งที่เต่าเล่า มีอยู่จริง แต่พ้นวิสัยแห่งความรู้ของปลา เพราะปลา ยังไม่เคยขึ้นไปอยู่บก จึงไม่อาจเข้าใจได้

@@@@@@@

ข้อเทียบอีกอย่างหนึ่ง คือ ความรู้ทางอายตนะที่ต่างกัน ธรรมดาว่า ความรู้ทางอายตนะคนละอย่าง ย่อม มีลักษณะอาการที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง และไม่อาจเทียบกันได้ รูปกับเสียงไม่มีอะไรเทียบกันได้ เสียงกับกลิ่นไม่มีอะไรเทียบกันได้ ดังนี้เป็นต้น

สมมติว่า คนผู้หนึ่งตาบอดมาแต่กําเนิด ไม่เคยมีสัญญาเกี่ยวกับรูป ย่อมไม่มีใครสามารถไปอธิบายสี เขียว สีแดง สีส้ม สีชมพู หรือลักษณะอาการต่างๆ ของรูป ให้เขาเข้าใจได้ด้วยความรู้จากสัญญาที่เขามีทางอายตนะอื่นๆ ไม่ว่าจะอธิบายว่า รูปนั้นดัง เบา หุ้ม แหลม เหม็น หอม เปรี้ยว หวาน อย่างไร หรือถ้าใครไม่มี ประสาทจมูกมาแต่เกิด ใครจะอธิบายให้เขาเข้าใจ เหม็น หอม กลิ่นกุหลาบ กลิ่นส้ม กลิ่นมะลิ ได้อย่างไร เพราะคง จะต้องปฏิเสธ เขียว เหลือง แดง น้ําเงิน หนัก เบา อ้วน ผอม ดัง เบา ขม เค็ม เป็นต้น ที่เขาใช้ซักถามทั้งหมด

ยิ่งกว่านั้น มนุษย์มีอายตนะขั้นต้นสําหรับรับรู้ลักษณะอาการต่างๆ ของโลก ที่เรียกว่าอารมณ์ เพียง ๕ อย่าง ถ้ามีแง่ของความรู้ที่นอกเหนือจากนั้นไป มนุษย์ย่อมไม่อาจรู้ และแม้แต่ห้าอย่างที่รู้ ก็รู้ไปตามลักษณะอาการด้านต่างๆ เท่านั้น การไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น หรือนึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจของมนุษย์เพียงอย่างเดียว จึงยัง มิใช่เครื่องชี้ขาดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่มี

@@@@@@@

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ก่อนที่จะทรงประกาศธรรม ได้ทรงมีพุทธดําริว่า

“ธรรมที่เราเข้าถึงแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นยาก หยั่งรู้ตามยาก สงบ ประณีต ตรรกหยั่งไม่ถึง (ไม่อยู่ในวิสัยของตรรก) ละเอียดอ่อน เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงทราบ”

และมีข้อความเป็นคาถาต่อไปว่า

“ธรรม เราลุถึงโดยยาก เวลานี้ ไม่ควรประกาศ, ธรรมนี้ มิใช่สิ่งที่สัตว์ผู้ถูกราคะโทสะ ครอบงํา จะรู้เข้าใจได้ง่าย, สัตว์ทั้งหลายผู้ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองความมืด (อวิชชา) ห่อหุ้ม จักไม่ เห็นภาวะที่ทวนกระแส ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เห็นยาก ละเอียดยิ่งนัก”

    "คําว่า “ธรรม” ในที่นี้ หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท และ นิพพาน (จะว่าอริยสัจ ๔ ก็ได้ใจความเท่ากัน) แต่ ถึงแม้จะยากอย่างนี้ ก็ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงพยายามสั่งสอนชี้แจงอธิบายอย่างมากมาย ดังนั้น คําว่า นิพพานเป็นสิ่งที่ปุถุชนนึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจ จึงควรมุ่งให้เป็นคําเตือนเสียมากกว่า คือ เตือนว่าไม่ควรเอาแต่คิด สร้างภาพและถกเถียงชักเหตุผลมาแสดงกันอยู่ จะเป็นเหตุให้สร้างสัญญาผิดๆ ขึ้นมาเสียเปล่า ทางที่ดีหรือทางที่ถูก ควรจะลงมือปฏิบัติให้เข้าถึง เพื่อรู้เห็นประจักษ์ชัดกับตนเอง เพราะถึงแม้ว่านิพพานนั้น เมื่อยังไม่รู้ไม่เห็น ก็ นึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจ แต่ก็เป็นสิ่งที่รู้ได้ เห็นได้ เข้าถึงได้ เพียงแต่ว่ายากเท่านั้น"

ยังมีต่อ...
22  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / แห่หลวงพ่อพระใส ขอพรสรงน้ำสงกรานต์ 13 เม.ย. 67 เปิดพระอุโบสถให้กราบองค์จริง เมื่อ: เมษายน 10, 2024, 06:50:51 am
.



แห่หลวงพ่อพระใส ขอพรสรงน้ำสงกรานต์ 13 เม.ย. 67 เปิดพระอุโบสถให้กราบองค์จริง

ครั้งแรกของขบวนแห่อัญเชิญหลวงพ่อพระใส จำลอง พระคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย พระพุทธรูปที่คนสองฝั่งโขงเลื่อมใสศรัทธา โดยจะมีการแห่รอบเมืองหนองคาย และกราบขอพรสรงน้ำอย่างใกล้ชิดปีละครั้ง ช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นพิธีกรรมสืบทอดมายาวนาน

"พระครูปริยัติโสภณรัตน์" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ขบวนแห่หลวงพ่อพระใส ปีนี้มีการจัดขบวนแห่งานสรงน้ำและสมโภชหลวงพ่อพระใสวันที่ 13 เมษายน 2567 ณ วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง จ.หนองคาย โดยขบวนแห่ภายในวัดเริ่มเวลา 09.09 น. ซึ่งได้เรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด ถอดเกศหลวงพ่อพระใส และถอดเกศพระบริวาร ทำพิธีอัญเชิญลงมาด้านล่าง วนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำอย่างใกล้ชิด




จากนั้นอัญเชิญหลวงพ่อพระใส ประดิษฐานไว้บนราชรถ เพื่อเตรียมแห่รอบเมือง โดยออกจากวัดเวลา 12.30 น. คาดว่าจะทำการแห่รอบเมืองแล้วเสร็จในเวลา 17.00 น.

ต่อจากนั้นประดิษฐานองค์หลวงพ่อพระใสจำลอง ไว้ที่พลับพลา เพื่อให้ประชาชนที่มาไม่ทันขบวนแห่ได้สรงน้ำ ตั้งแต่ 13-18 เมษายน 2567

ความพิเศษของขบวนแห่ปีนี้มีพิธี "สงกรานต์ผ้าขาวม้า สมมาหลวงพ่อพระใส" โดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการนำผ้าขาวมาที่ร่วมพิธีแห่ในปีนี้ ให้คนที่สนใจได้ร่วมบูชา ซึ่งผ้าขาวม้าจะใช้ในขบวนแห่ในการรองเชือกในขบวนแห่ หรือใกล้ชิดกับองค์หลวงพ่อตลอดการทำพิธี เพราะตามความเชื่อคนโบราณ ที่อาจไม่มีของมีค่าในการขอขมา ลักษณะคล้ายกับของชำร่วย ที่จะเห็นในการแต่งงานทางภาคอีสาน คู่บ่าวสาวจะมอบผ้าขาวม้า ให้เป็นของชำร่วย




ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่นำองค์พระใส จำลองมาในขบวนแห่เพื่อให้ได้สรงน้ำ เนื่องจากพระใสองค์จริง ชำรุดเสียหาย เนื่องจากมีความเก่าแก่ และทางกรมศิลปากร ได้ลงความเห็นว่าไม่อยากให้นำองค์หลวงพ่อพระใสองค์จริงลงมาแห่ เลยมีการสร้างองค์จำลอง ที่มีขนาดเท่ากันกับองค์จริง

โดยพระใสองค์จริงยังตั้งอยู่ในพระอุโบสถ ให้คนที่มาได้กราบไหว้ โดยปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ทางวัดจะเปิดพระอุโบสถให้คนได้เข้าไปกราบไหว้พระใสองค์จริง และสรงน้ำพระใสองค์จำลองด้านล่างบริเวณปะรำพิธี




คนในพื้นที่หรือผู้ที่ศรัทธาองค์หลวงพ่อพระใส จะเดินทางมาสรงน้ำช่วงสงกรานต์ทุกปี เพราะเชื่อว่าจะได้ใกล้ชิดกับองค์หลวงพ่อ และเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตของปีใหม่ไทย ที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุเครื่องบินโดยสารตกที่คลองรังสิต ปี 2523 โดยผู้โดยสารท่านนึงได้บูชาพระพุทธรูปองค์หลวงพ่อพระใส ขึ้นเครื่องบินไปด้วย เมื่อเครื่องบินตก ก็มีผู้เสียชีวิตที่เป็นพระผู้ใหญ่หลายรูป แต่คนที่นำองค์หลวงพ่อพระใสไปด้วยกลับรอดชีวิต และองค์พระพุทธรูปไม่เสียหาย ทำให้ตั้งแต่นั้นมามีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธามากราบไหว้อยู่ตลอด



สำหรับคนที่อยากไปกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อพระใส อยากให้มาช่วงสงกรานต์ เพราะได้สรงน้ำใกล้ชิดกับองค์หลวงพ่อพระใส ซึ่งต่างจากวันทั่วไปที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับองค์หลวงพ่อเหมือนในช่วงสงกรานต์.




Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2777022
8 เม.ย. 2567 , 21:29 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > Interview > ไทยรัฐออนไลน์
23  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เตรียมบูรณะ หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 700 ปี เคยโดนโจรลักไป 3 ครั้ง เมื่อ: เมษายน 10, 2024, 06:34:11 am
.



เตรียมบูรณะ หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 700 ปี เคยโดนโจรลักไป 3 ครั้ง ได้คืนกลับทุกครั้ง

กรมศิลปากร เข้าตรวจสอบ เตรียมบูรณะ หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์700ปี เผยที่ผ่านมา เคยโดนโจรลักไป3ครั้ง ได้คืนกลับทุกครั้ง

วันที่ 9 เม.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านด่าน ต.สร้างปี่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นายขจรศักดิ์ ศรีบุญเรือง ประธานกรรมการ บริษัท นีโอ 727 จำกัด บริษัท นีโอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท ยูเวิร์ค 999 จำกัด เป็นคหบดีลูกหลานชาวบ้านด่าน ได้นำ นายทศพร ศรีสมาน ผอ.สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมคณะเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร และผู้แทนของนายประหยัด ถิลา วัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ มาทำการตรวจสอบ

องค์หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ปางห้ามสมุทร อายุประมาณ 700 ปี ที่ชาวบ้านด่านและชาว อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษให้ความเคารพศรัทธามาก โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้ขึ้นไปทำการตรวจสอบสภาพขององค์พระอย่างละเอียด ทำการวัดขนาด ตรวจสอบสภาพวัสดุพื้นผิวขององค์พระ พร้อมทั้งตรวจสอบรูปแบบลักษณะต่างๆขององค์พระ

เพื่อเตรียมความพร้อมข้อมูลในการที่จะทำการบูรณะซ่อมแซมองค์หลวงพ่อทอง โดยมี นายทอง คำเอี่ยม อดีต ผอ.ร.ร.มาคอยอำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาขององค์หลวงพ่อทองให้คณะเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรได้รับทราบ




นายขจรศักดิ์ ศรีบุญเรือง ประธานกรรมการ บริษัท นีโอ 727 จำกัด บริษัท นีโอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท ยูเวิร์ค 999 จำกัด เป็นคหบดีลูกหลานชาวบ้านด่าน กล่าวว่า คุณแม่ของตนบอกว่าตอนที่โดนขโมยไปท่านมองเห็นเท้าข้างหนึ่งโดนงัดแงะโดนทำลายเพื่อที่คนร้ายจะนำเอาหลวงพ่อทองไป แต่ว่านำเอาไปไม่ได้ จึงทำให้เท้าของหลวงพ่อทองยังบิ่นอยู่ที่ยังไม่สมบูรณ์

ตนจึงเห็นว่าก่อนที่จะอัญเชิญหลวงพ่อทองขึ้นมาประดิษฐานบนวิหารแห่งนี้ ตนจึงให้ชาวบ้านด่าน ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรว่า จะบูรณะยังไงให้องค์หลวงพ่อทองสมบูรณ์แบบ เพราะว่าหลวงพ่อทองมาประดิษฐานอยู่ที่นี่ 72 ปีแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2495 ซึ่งจิตที่เรามีความศรัทธานี้ ตามคำสั่งของคุณแม่ว่าเมื่ออัญเชิญหลวงพ่อทองขึ้นมาบนวิหารแห่งนี้แล้วจะต้องซ่อมบูรณะให้องค์หลวงพ่อทองสมบูรณ์แบบและรักษาสภาพองค์หลวงพ่อให้สมบูรณ์ก่อนที่จะนำขึ้นมา




ซึ่งกรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดูก่อนวันงานที่จะอัญเชิญหลวงพ่อทองขึ้นมาบนวิหารแห่งนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ก็ได้รับหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากรว่าให้เข้ามาตรวจสอบว่า สภาพของหลวงพ่อทองเป็นยังไงบ้างเพื่อที่จะบูรณะ

ก็เลยเป็นที่มาและที่ไปว่าพออัญเชิญองค์หลวงพ่อทองขึ้นมาบนวิหารแห่งนี้ จะเห็นได้ว่าองค์หลวงพ่อทองยังไม่สมบูรณ์แบบ ด้วยจิตของเราที่มีความศรัทธาเราจึงอยากให้บูรณะซ่อมแซมสภาพขององค์หลวงพ่อทองให้สมบูรณ์เหมือนกับที่สภาพที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ให้ดีที่สุด

นายทอง คำเอี่ยม ซึ่งเป็นอดีต ผอ.ร.ร.ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า องค์หลวงพ่อทองเคยถูกขโมยไปครั้งที่ 1 เมื่อปีพ.ศ. 2507 ซึ่งการขโมยหลวงพ่อทองทุกครั้งจะขโมยช่วงหน้าฝนพระจำพรรษา ซึ่งคนที่มาขโมยไม่สามารถนำเอาองค์หลวงพ่อทองไปได้เพราะว่าเกิดป่วยตายก่อน ครั้งที่ 2 ปี 2511 คนร้ายได้ขโมยหลวงพ่อทองไปทาง อ.ราษีไศลแต่ว่านำเอาไปไม่ได้ซึ่งครั้งที่ 2 นี้จะตัดเอาเฉพาะเศียรไป แต่พอตัดไปใช้เวลาอาทิตย์หนึ่งตัดไม่ได้




คนที่จะตัดเศียรขององค์หลวงพ่อทองก็เกิดป่วยตาย ส่วนคนที่สั่งการก็มีอันเป็นไปทุกคน ทาง สภ.ราษีไศลก็เลยได้นำหลวงพ่อทองไปไว้ที่ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษและได้แจ้งให้ชาวบ้าน ให้ไปดูว่าเป็นพระของวัดตนเองหรือไม่

ชาวบ้านจึงมอบให้นายพร ศิริพัฒน์ เป็นคนไปดูก็บอกว่าเป็นของวัดบ้านด่านจริง จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อทองกลับคืนมาไว้ที่วัดแห่งนี้ ครั้งที่ 3 โดนขโมยไปเมื่อปีพ.ศ. 2523 รู้สึกว่าจะเป็นคนมีสีมาจากทาง จ.ลพบุรี แต่ว่ามาขโมยไปไม่ได้ชาวบ้านรู้ตัวก่อน เป็น 3 ครั้งที่หลวงพ่อทองโดนขโมยแต่คนร้ายไม่สามารถขโมยเอาหลวงพ่อทองไปได้

นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้สำนักงานศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาก็ได้ประสานกับทางสำนักช่าง 10 หมู่ของกรมศิลปากร ได้มาตรวจสอบองค์พระพุทธรูปคือมาตรวจสอบสภาพว่าองค์ท่านมีลักษณะอย่างไรมีความชำรุดเสื่อมสภาพตรงไหนที่เราจะต้องนำเอาไปวางแผนสำหรับการบูรณะซ่อมแซม




ซึ่งตรงนี้ทางช่าง 10 หมู่ จะต้องไปทำข้อมูลตรงนี้ขึ้นมาซึ่งหลังจากนี้แล้วก็จะมีนักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากรเป็นส่วนวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จะลงมาอีกทีมหนึ่งเพื่อมาตรวจสอบในเรื่องของเทคนิควิธีการในการที่จะซ่อมแซมบูรณะองค์หลวงพ่อทองในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า จะต้องใช้วิธีการอย่างไร ซึ่งหลังจากทั้งหมดทั้งมวลได้ข้อมูลเรียบร้อยแล้วก็คงจะต้องมาสรุปกันอีกครั้งหนึ่งว่า เราจะดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร

และทำแผนออกมาซึ่งเนื่องจากองค์หลวงพ่อทองเป็นศิลปวัตถุที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเอาไว้แล้ว เป็นศิลปวัตถุสำคัญของชาติซึ่งในการดำเนินการนั้น เราก็ต้องขออนุญาตจากท่านอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อนว่าเราจะดำเนินการในส่วนนี้อย่างไรบ้างมีความเหมาะสมอย่างไร ก็จะต้องมีการเข้าที่ประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง

นายทศพร กล่าวต่อไปว่า ซึ่งกำหนดการนั้นคงจะต้องใช้เวลานิดนึง เพราะว่าอย่างวันนี้จริงๆแล้วอยากให้ทีมช่าง 10 หมู่ และทีมนักวิทยาศาสตร์มาด้วยกันแต่ว่ามันไม่ได้เพราะว่าทางต่างคนต่างมีภารกิจซึ่งจะต้องรอไปสิ้นเดือนเมษายนนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์อีกชุดหนึ่งจึงจะได้เข้ามาดำเนินการ

หลังจากนั้นประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมจะได้พูดคุยกันในรอบแรกก่อนว่าข้อมูลเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรบ้าง คงจะต้องใช้เวลาเนื่องจากว่างานอย่างนี้เป็นงานละเอียดไม่อยากให้รีบร้อนจะต้องดำเนินการให้ดีที่สุด

ชมวิดีโอได้ที่ : https://vdokh.matichon.co.th/videos/public/iframe/8cd4efbc1c2ee4a9a23b19d9f5a1374d/adaptive_hls/?post_id=0&category=





Thank to : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8180667
10 เม.ย. 2567 - 03:59 น.
24  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 09, 2024, 10:19:30 am
.



๑. สัมพาธสูตร
ว่าด้วยวิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ
(๑-)

[๔๒] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพีครั้งนั้นแล ท่านพระอุทายีเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ สนทนาปราศรัยกับท่านพอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า

    “ผู้มีอายุ ปัญจาลจัณฑเทพบุตรได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า
     ‘พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้ทรงหลีกเร้นอยู่ ทรงเป็นพระมุนีผู้ประเสริฐ ได้ตรัสรู้ฌานแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีพระปัญญากว้างขวาง ได้ทรงรู้วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ’           
     ผู้มีอายุ ที่คับแคบ เป็นอย่างไร วิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร”

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ผู้มีอายุ กามคุณ ๕ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ที่คับแคบ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
   ๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
   ๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
   ๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
   ๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
   ๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
             
ผู้มีอายุ กามคุณ ๕ ประการนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ที่คับแคบ


@@@@@@@

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ อยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสวิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบโดยปริยาย(๒-) หนึ่งด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แม้ในปฐมฌานนั้นก็ยังมีที่คับแคบ อะไรชื่อว่าที่คับแคบในปฐมฌานนั้นวิตกและวิจารที่ยังไม่ดับในปฐมฌานนั้น ชื่อว่าที่คับแคบในปฐมฌานนี้

ภิกษุ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสวิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบโดยปริยายหนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แม้ในทุติยฌานนั้น ก็ยังมีที่คับแคบ อะไรชื่อว่าที่คับแคบในทุติยฌานนั้น ปีติที่ยังไม่ดับในทุติยฌานนั้นชื่อว่าที่คับแคบในทุติยฌานนี้

ภิกษุ เพราะปีติจางคลายไป เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสวิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบโดยปริยายหนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แม้ในตติยฌานนั้นก็ยังมีที่คับแคบ อะไรชื่อว่าที่คับแคบในตติยฌานนั้น อุเบกขาและสุขที่ยังไม่ดับในตติยฌานนั้น ชื่อว่าที่คับแคบในตติยฌานนี้

ภิกษุ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสวิธีบรรลุถึงช่องว่างในที่คับแคบโดยปริยายหนึ่งด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แม้ในจตุตถฌานนั้นก็ยังมีที่คับแคบ อะไรชื่อว่าที่คับแคบในจตุตถฌานนั้น รูปสัญญาที่ยังไม่ดับในจตุตถฌานนั้น ชื่อว่าที่คับแคบในจตุตถฌานนี้





ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ อยู่เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา พระผู้มีพระภาคตรัสวิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบโดยปริยายหนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แม้ในอากาสานัญจายตนฌานนั้นก็ยังมีที่คับแคบ อะไรชื่อว่าที่คับแคบในอากาสานัญจายตนฌานนั้น อากาสานัญจายตนสัญญาที่ยังไม่ดับในอากาสานัญจายตนฌานนั้น ชื่อว่าที่คับแคบในอากาสานัญจายตนฌานนี้

ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสวิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบโดยปริยายหนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แม้ในวิญญาณัญจายตนฌานก็ยังมีที่คับแคบ อะไรชื่อว่าที่คับแคบในวิญญาณัญจายตนฌานนั้น วิญญาณัญจายตนสัญญาที่ยังไม่ดับในวิญญาณัญจายตนฌานนั้น ชื่อว่าที่คับแคบในวิญญาณัญจายตนฌานนี้

ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสวิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบโดยปริยายหนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แม้ในอากิญจัญญายตนฌานก็ยังมีที่คับแคบ อะไรชื่อว่าที่คับแคบในอากิญจัญญายตนฌานนั้น อากิญจัญญายตนสัญญาที่ยังไม่ดับในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ชื่อว่าที่คับแคบในอากิญจัญญายตนฌานนี้

ภิกษุล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสวิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบโดยปริยายหนึ่งด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แม้ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ยังมีที่คับแคบ อะไรชื่อว่าที่คับแคบในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญาที่ยังไม่ดับในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ชื่อว่าที่คับแคบในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้


@@@@@@@

ภิกษุล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ อาสวะทั้งหลายของเธอหมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ผู้มีอายุพระผู้มีพระภาคตรัสวิธีบรรลุช่องว่างในที่คับแคบโดยนิปปริยาย(๓-)แล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้

                            สัมพาธสูตรที่ ๑ จบ







เชิงอรรถ
(๑-) ดูเทียบข้อ ๓๔ (นิพพานสุขสูตร) หน้า ๕๐๐ และดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๓๗ หน้า ๕๑๓ ในเล่มนี้ และดู ที.ม. ๑๐/๒๘๘/๑๘๓, ที.ม.อ. ๒/๒๘๘/๒๕๕
(๒-) ปริยาย ในที่นี้หมายถึง เหตุหนึ่งๆ หรือวิธีหนึ่งๆ กล่าวคือ ทรงแสดงว่า วิธีแต่ละอย่าง ต่างก็เป็น“ช่องว่าง”ในที่คับแคบแต่ละอย่าง เช่น ปฐมฌานเป็นช่องว่างในที่คับแคบ คือ กามคุณ ๕ และนิวรณ์ ๕ , ทุติยฌานเป็นช่องว่างในที่คับแคบคือ วิตกและวิจาร (องฺ.นวก.อ. ๓/๔๒/๓๑๕)
(๓-) นิปปริยาย วิธีนี้เป็นวิธีบรรลุช่องว่างคือการสิ้นอาสวะได้อย่างดีเยี่ยม เพราะเป็นวิธีที่ละที่คับแคบได้อย่างสิ้นเชิง (องฺ.นวก.อ. ๓/๔๒/๓๑๕)

ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๕๓๓-๕๓๕
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] , ๕. สามัญญวรรค ๑. สัมพาธสูตร
URL : https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=23&A=14936
25  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 09, 2024, 09:29:51 am
.



๓. นิพพานสุขสูตร
ว่าด้วยนิพพานเป็นสุข
(๑-)


[๓๔] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน(๒-) เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล

ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า
    “ผู้มีอายุทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข นิพพานนี้เป็นสุข”
เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
    “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ผู้มีอายุ นิพพานที่ไม่มีเวทนานั่นแลเป็นสุข 

กามคุณ ๕ ประการนี้ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
   ๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
   ๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
   ๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
   ๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
   ๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
             
ผู้มีอายุ กามคุณ ๕ ประการนี้แล
ผู้มีอายุ สุขโสมนัสที่อาศัยกามคุณ ๕ ประการเกิดขึ้น เรียกว่า กามสุข


@@@@@@@

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยกามยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดัน(๓-) แก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยกามเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยวิตกยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยวิตกเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุบรรลุตติยฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญา-มนสิการที่ประกอบด้วยปีติยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุข เพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยปีติเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอุเบกขายังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอุเบกขาเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร




ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘อากาสหาที่สุดมิได้’ อยู่เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยรูปยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดันแม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยรูปเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานเหล่านั้นยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้นทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดันพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

@@@@@@@

ภิกษุล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ และอาสวะทั้งหลายของเธอหมดสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญาโดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร”

                                     นิพพานสุขสูตรที่ ๓ จบ






เชิงอรรถ
(๑-) ดูข้อ ๔๒ (สัมพาธสูตร) หน้า ๕๓๓ ในเล่มนี้
(๒-) ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๖ (สิลายูปสูตร) หน้า ๔๘๔ ในเล่มนี้
(๓-) ความกดดัน (อาพาธ) หมายถึง ความบีบคั้น (ปีฬนะ) (องฺ.นวก.อ. ๓/๓๔/๓๐๘)

ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๕๐๐-๕๐๒
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] , ๔. มหาวรรค , ๓. นิพพานสุขสูตร
URL : https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=23&siri=197
26  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ต้องเป็น ปชต.ทางความเชื่อ อยากเข้าใจไทยต้องเก็ตศาสนา อ่าน ‘ลอกคราบพุทธแท้’ เมื่อ: เมษายน 08, 2024, 08:33:06 am
.



อาจารย์ ม.ดังอิตาลี ลั่นต้องเป็น ปชต.ทางความเชื่อ อยากเข้าใจไทยต้องเก็ตศาสนา คว้า ‘ลอกคราบพุทธแท้’

‘อาจารย์ ม.ดังอิตาลี’ ลั่นอยากเข้าใจเมืองไทย ต้องเก็ตศาสนาก่อน พุ่งคว้า ‘ลอกคราบพุทธแท้’ ยันต้องเป็น ปชต.ทางศาสนา ไม่เชื่อห้ามดูถูก เผยเจ้าของบ้านเช่าเป็น ‘ร่างทรง’

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยรัฐ (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายนนี้

บรรยากาศเวลา 12.50 น. ที่บูธ ‘สำนักพิมพ์มติชน J47’ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เลือกซื้อหนังสือทยอยเข้ามาหยิบอ่านและเลือกซื้อ ทั้งหนังสือการเมือง ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา หนังสือแปล และวรรณกรรม อีกทั้งยังมีผู้สนใจของแถมเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งกระเป๋าผ้า กระเป๋าถือขนาดใหญ่ สามารถแลกของขวัญได้เมื่อซื้อครบ 500 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ สำพิมพ์มติชนจัดโปรโมชั่นลดราคาหนังสือ หนังสือออกใหม่ลด 15% หนังสือขายดีลด 20% หนังสือเพื่อนสำนักพิมพ์ลด 10-15% และหนังสือชุดลดพิเศษถึง 25-30%

บรรยากาศเวลา 13.00 น. ดร.อาสา คำภา เจ้าของผลงาน “ลอกคราบพุทธแท้ : ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย” เดินทางมาแจกลายเซ็น ท่ามกลางแฟนนักอ่านมาร่วมต่อคิวเป็นจำนวนมาก

โดยหนึ่งในนั้นคือ เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ (Edoardo Siani) อาจารย์มหาวิทยาลัย Ca’ Foscari University of Venice แห่งประเทศอิตาลี




เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ กล่าวว่า ตนเคยอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี แต่วันนี้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ ในวันนี้ได้มาเลือกหนังสือ “ลอกคราบพุทธแท้” กลับไป เพราะคิดว่าศาสนาพุทธมีบทบาทต่อคนไทย และสังคมไทยอย่างมาก

“หากคุณต้องการเข้าใจสังคมไทย คุณต้องเข้าใจพระพุทธศาสนาก่อน”

เมื่อถามถึงสาเหตุที่มีความสนใจทางด้านพระพุทธศาสนาและการเมืองไทย?

เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ เผยว่า ครั้งแรกที่ตนมาประเทศไทยก็เช่าห้องในบ้านที่เป็นร่างทรง

“เมื่อผมย้ายมาจากประเทศอิตาลี เมื่อเจอเจ้าของบ้านและได้รับรู้ว่าเขาเป็น ‘ร่างทรง’ ก็เลยเป็นที่มาของการรู้จักสังคมไทยควบคู่กับศาสนา ความเชื่อต่างๆ จึงเป็นการตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยมีความเชื่อเช่นนี้

จนทำให้ผมนึกถึงตอนเป็นเด็กที่ประเทศอิตาลี ทุกศาสนามีความเชื่อ มีร่างทรง ผมคิดว่ามันเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ”เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ กล่าว




เมื่อถามว่า ส่วนตัวเชื่อเรื่อง “ร่างทรง” หรือไม่?

เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ กล่าวว่า ตนเป็นคนเชื่อทุกอย่างค่อนข้างยาก แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าความเชื่อนั้นสำคัญต่อคนบางคน หรือคนบางกลุ่ม

“เมื่อตอนเด็กๆ แม่ผมก็เลยพาไปหาร่างทรง ‘คาทอลิก’ นิกายหนึ่งของคริสต์ เป็นผู้หญิงที่เหมือนกับว่า สมเด็จพระสันตะปาปาที่เสียชีวิตไปแล้วมาเข้าร่าง และก็จะมีการเขียนจดหมายส่งให้แม่ เพื่อให้เกิดความสบายใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร

ผมน่าจะเชื่อว่ามันเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยคนหลายคนได้ ถึงแม่ว่าเราไม่เชื่อ แต่เราก็ไม่ควรจะห้าม หรือดูถูก ต้องเป็นประชาธิปไตยทางศาสนาและความเชื่อ” เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ กล่าว

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นคนต่างชาติ แต่เลือกที่จะหยิบหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในวันนี้เพราะว่าอะไร?

เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ เผยว่า อยากเห็นมุมมองของนักวิชาการคนไทย ส่วนใหญ่ทฤษฎีมาจากโลกตะวันตก ก็เลยอยากรู้ว่าคนไทยมองเรื่องเกี่ยวกับศาสนาตนเองอย่างไรบ้าง




เมื่อถามว่า ปัจจัยใดที่ทำให้ชื่นชอบในการอ่านหนังสือ?

เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ เผยว่า ตนเป็นคนขี้เกียจมาก่อน ไม่ใช่คนอ่านหนังสือง่าย แต่มีความเชื่อว่าหากเราอ่านหนังสือแล้วจะช่วยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น

“ผมเป็นคนชอบดูภาพยนตร์ ฟังเพลงมากกว่า แต่การอ่านหนังสือก็บางเล่มก็สามารถเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนความคิดได้เหมือนกัน” เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ สามารถเยี่ยมชมบูธสำนักพิมพ์มติชน (J47) ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายน 2567 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 และ เลือกซื้อหนังสือออนไลน์ได้ที่ : www.matichonbook.com




Thank to : https://www.matichon.co.th/book/news_4514963
วันที่ 7 เมษายน 2567 - 15:34 น.   
27  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดแทบแตก ศิษย์หลวงพ่อกวย แบกเสื่อหอบหมอน นอนรอเข้าคิวเช่าวัตถุมงคล เมื่อ: เมษายน 08, 2024, 07:48:42 am




วัดแทบแตก ศิษย์หลวงพ่อกวย แบกเสื่อหอบหมอน นอนรอเข้าคิวเช่าวัตถุมงคล แถวยาวเป็นกิโล

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดโฆษิตาราม หรือวัดบ้านแค อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ได้เปิดให้ลูกศิษย์ และประชาชนทั่วไป เข้าคิวจองซื้อวัตถุมงคลของหลวงพ่อกวย อดีตเจ้าอาวาส ที่ถือว่าเป็นพระเกจิดังของไทยอีกรูปหนึ่ง ซึ่งได้มรณภาพไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2522

ซึ่งวัตถุมงคลของหลวงพ่อกวย ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดพระ และผู้นิยมวัตถุมงคล โดยทางวัดเปิดแจกบัตรคิวเวลา 07.00 น. แต่ก็เป็นที่น่าสนใจเพราะวันนี้มีศิษยานุศิษย์กว่า 1,000 คน มารอต่อคิวเข้าซื้อวัตถุมงคล




โดยเฉพาะกลุ่มแรกๆ ที่มารอคิวเล่าว่า มานอนรอตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 6 เมษายน เพราะต้องการเป็นคิวแรกๆ โดยขนเอาเสื้อและหมอน มานอนกันที่ลานจอดรถ บางรายก็เอาเต็นท์มากางกันยุง เช้ามาก็รีบตื่นอาบน้ำแปรงฟันมานั่งรอบัตรคิว แล้วเดินแถวตอนเรียง 1 เข้าไปภายในศาลาวัดที่เตรียมพื้นที่ไว้ ความยาวของแถวรวมๆ ถึง 1 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม วัตถุมงคลของหลวงพ่อกวยที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงอย่างมากคือ เหรียญหลังยันต์ เหรียญหลังหนุมาน รวมถึงมีดหมอ ตะกรุด รูปหล่อ และภาพถ่ายของหลวงพ่อด้วย





















Thank to : https://www.matichon.co.th/region/news_4514455
วันที่ 7 เมษายน 2567 - 10:46 น.
28  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / สงกรานต์ กับพระสุริยเทพที่ศรีเทพ เมื่อ: เมษายน 07, 2024, 07:12:14 am



สงกรานต์ กับพระสุริยเทพที่ศรีเทพ

“สงกรานต์” เป็นคำที่ไทยเราหยิบยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า “สงฺกฺรานติ” ที่แปลว่า คติหรือการจากไปของดวงอาทิตย์ หรือดาวพระเคราะห์ดวงอื่นจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่ง

หลายครั้งที่ในหนังสือเก่าแก่เล่มต่างๆ ของไทย จะพบคำว่า “ตรุษสงกรานต์” โดยคำว่า “ตรุษ” ก็มีรากมาจากภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกัน คือหมายถึงการ “ตัด”

ดังนั้น คำว่า “ตรุษสงกรานต์” จึงหมายถึงการที่ดวงอาทิตย์โคจร (ตามวิธีคำนวนแบบโหราศาสตร์ เพราะที่จริงแล้วดวงอาทิตย์ไม่ได้โคจร แต่เป็นโลกมนุษย์ต่างหากที่กำลังโคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ทุกขณะจิตต่างหาก) ผ่านจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง แล้วตัดให้เป็นการครบรอบวงโคจรหนึ่งครั้ง คือหนึ่งปีนั่นเอง

นอกเหนือจากนี้ยังมีคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่อีกคำหนึ่ง คือคำว่า “ราศี” โดยหมายถึงการแบ่งขอบฟ้าออกเป็นช่องๆ 12 ช่องเท่าๆ กัน แต่ละช่องมีดาวจักรราศีครองอยู่ โดยพระอาทิตย์จะอยู่ช่องละ 30 วัน เคลื่อนย้ายไปทั้งปีครอบทั้ง 12 ช่องคือ ครบ 1 ปี

พระอาทิตย์ท่านจึงย้ายราศีเป็นประจำทุกเดือน โดยการย้ายแต่ละครั้งก็จะตกราวๆ วันที่ 14-15 ของแต่ละเดือน พระอาทิตย์เข้าไปอยู่ในราศีใด ก็จะเรียกว่าเป็นสงกรานต์ของราศีนั้น เช่น เมื่อพระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร ก็เรียก “มกรสังกรานติ” (มกรสงกรานต์) เป็นต้น


@@@@@@@

ในไทย และวัฒนธรรมอื่นๆ ในอุษาคเนย์นั้น ให้ความสำคัญเฉพาะกับการที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีเมษ คือ “เมษสังกรานติ” (เมษสงกรานต์) เพราะถือเป็น วันขึ้นปีใหม่ อย่างที่รู้กันโดยทั่วไปนั่นแหละครับ โดยเรียกกันว่า “มหาสงกรานต์” เพราะถือกันว่าเป็นสงกรานต์ คือการเคลื่อนย้ายของราศีที่สำคัญที่สุดในรอบปี

แน่นอนว่า ความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นของ made in India ทั้งสิ้น สังเกตง่ายๆ ได้จากการที่ใช้คำแขกเรียกชื่อของเทศกาล ไม่ใช่คำไทย หรือคำในภาษาพื้นเมืองอื่นๆ

และนี่ก็ทำให้อะไรที่เรียกว่า “สงกรานต์” จึงเป็นสิ่งที่ชนชาวอุษาคเนย์สมัยโบราณอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดียพร้อมกันกับเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู จนได้ยังผลให้เราจะมีประเพณีการนับเอา “เดือนห้า” เป็นเดือนขึ้นปีใหม่ แทนที่จะนับว่า “วันแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้าย” (แน่นอนว่า เดือนอ้าย แปลว่า เดือนที่หนึ่ง ซึ่งก็คือเดือนแรกของปีอย่างไม่ต้องสงสัย) ตามปฏิทินแบบพื้นเมืองของอุษาคเนย์ เป็นวันแรกของปี อย่างที่เคยใช้มาก่อนจะรับวัฒนธรรมอินเดีย

วิธีการนับปีจากอินเดียแบบที่ผมกล่าวถึงข้างต้นนี้ เป็นวิธีที่นับเอา “พระอาทิตย์” เป็นสำคัญ อย่างที่เรียกว่า “ปฏิทินสุริยคติ” แตกต่างจากปฏิทินพื้นเมืองของอุษาคเนย์ที่เป็นแบบ “จันทรคติ” ที่ให้ความสำคัญกับ “พระจันทร์”

แน่นอนว่าเมื่อให้ความสำคัญกับ “พระอาทิตย์” แล้ว ก็ย่อมเกิดการนับถือบูชาเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ คือ “พระสุริยเทพ” (หรือ พระสูรยเทพ ในภาษาสันสกฤต) ผู้เป็นหลักสำคัญของวันเวลา และฤดูกาล ซึ่งย่อมดลบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ได้ด้วย

@@@@@@@

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีสิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแพร่กระจายจากอินเดียเข้ามาสู่อุษาคเนย์ในระยะเริ่มแรกเมื่อราวหลัง พ.ศ.1000 นั้น ก็ได้มีการค้นพบรูปพระสุริยเทพในรัฐโบราณเหล่านี้ด้วย

โดยมีทั้งที่พบเป็นประติมากรรมรูปพระสุริยเทพเอง และที่พบประดับอยู่บนศาสนวัตถุอื่นๆ โดยเฉพาะชุดเสาธรรมจักร ในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งพบว่ามีการประดับรูปพระสุริยะอย่างมีนัยยะที่น่าสนใจอยู่จำนวนหนึ่ง

เฉพาะที่มีการสลักเป็นรูปประติมากรรมนั้น พบมากในพื้นที่บริเวณเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีการค้นพบประติมากรรมรูป “พระสุริยเทพ” จำนวนถึง 4 องค์เป็นอย่างน้อย (อันที่จริงแล้ว มีประติมากรรมรูปพระสุริยเทพที่อ้างว่า พบจากเมืองโบราณแห่งนี้อีกหลายองค์ แต่ในข้อเขียนชิ้นนี้จะขอนับเฉพาะองค์ที่มีที่มาที่ไปค่อนข้างชัดเจนเท่านั้น)

รูปพระสุริยะทั้ง 4 องค์นี้ เป็นประติมากรรมสลักหินลอยตัวทั้งองค์เหมือนกันทั้งสิ้น ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า ภายในเมืองศรีเทพจะต้องมีปราสาท หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้สำหรับประดิษฐานรูปพระสุริยะเหล่านี้อย่างต่ำก็ 4 หลัง

รูปพระสุริยะเหล่านี้สามารถกำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยที่ใกล้เคียงกันคือ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1100-1400 อันเป็นระยะเริ่มต้นของการรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีปเข้ามาในอุษาคเนย์เช่นเดียวกันทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยใจอยู่มากว่า ทำไมที่เมืองศรีเทพในยุคสมัยดังกล่าว จึงมีคติการนับถือพระสุริยะอยู่มากกว่าพื้นที่บริเวณอื่น?


@@@@@@@

ประติมากรรมลอยตัวรูปพระสุริยะที่พบในพื้นที่อื่นๆ ในดินแดนอุษาคเนย์นั้น ส่วนใหญ่จะพบเป็นองค์โดดๆ กล่าวคือ ในเมืองหนึ่งนั้นอาจจะพบเพียงองค์เดียว เช่น เมืองพระรถ จ.ชลบุรี หรือที่เขาพนมดา ใน ประเทศกัมพูชา เป็นต้น หลายเมืองไม่มีการค้นพบร่องรอยการนับถือบูชาพระสุริยเทพเลยด้วยซ้ำไป แถมหลายครั้งจะพบรูปพระสุริยะอยู่ร่วมกับกลุ่มเทวดานพเคราะห์ โดยถูกบูชาในฐานะของกลุ่มเทพเจ้าประจำดวงดาวทั้งหลาย ไม่ใช่การนับถือพระสุริยะอย่างเป็นเอกเทศ จึงแตกต่างไปที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในเมืองศรีเทพอย่างเห็นได้ชัด

และนั่นก็แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการนับถือพระสุริยเทพ ในเมืองโบราณแห่งนี้ที่มากพอสมควร จนทำให้มีการสันนิษฐานกันว่า เมืองศรีเทพเมื่อครั้งรุ่งเรืองนั้น มีนิกายเสาระ ซึ่งก็คือ นิกายที่นับถือพระสุริยะเป็นการเฉพาะรุ่งเรืองอยู่เลยทีเดียว

ประเด็นที่สำคัญก็คือ ในบรรดาประติมากรรมพระสุริยเทพที่ค้นพบที่เมืองศรีเทพนี้ มีอยู่องค์หนึ่งที่กรมศิลปากรขุดค้นได้จากปรางค์สองพี่น้อง ในตัวเมิองศรีเทพ โดยรูปพระสุริยะองค์นี้แต่งกายอย่างชนชาวต่างชาติทางตอนเหนือของอินเดียอย่างชัดเจน

และนอกเหนือไปจากนั้นยังมีหนวด และเครา ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการแต่งกายอย่างชนชาวเอเชียกลาง



พระสุริยเทพ กรมศิลปากรขุดพบที่หน้าปรางค์สองพี่น้อง เมืองศรีเทพ ทรงเครื่องอย่างชนต่างชาติทางตอนเหนือของอินเดีย ต้องตรงตามที่คัมภีร์ดาราศาสตร์-โหราศาสตร์ ที่ชื่อ พฤหัสสังหิตา ระบุไว้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นที่น่าสนใจด้วยนะครับว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เอเชียกลางนั้น มีคติการนับถือเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง เทพเจ้าแห่งไฟ และเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ คือพระสุริยเทพ เป็นสำคัญ จนทำให้ในตำราของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บางฉบับถึงกับระบุถึงลักษณะของเสื้อผ้าหน้าผมของพระองค์อย่างละเอียดว่า พระสุริยเทพนั้นทรงเครื่อง (คือ แต่งกาย) อย่างชนต่างชาติทางตอนเหนือของชมพูทวีป (คือเอเชียกลาง) และสวมหมวกทรงกระบอกที่เรียกว่า กิรีฏมกุฏ

(และนี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าสำหรับสายตาของพ่อพราหมณ์ในอินเดียแล้ว พระสุริยเทพเป็นเทพที่มาจากภูมิภาคอื่น ซึ่งก็คือเอเชียกลาง จตามอย่างเครื่องทรงของพระองค์นั่นเอง)

ส่วนตำราพราหมณ์อินเดียบางฉบับที่อ้างว่าพระสุริยเทพทรงเครื่องอย่างชนชาวเอเชียกลางนั้น มีชื่อว่า “พฤหัสสังหิตา” ที่เรียบเรียงขึ้นโดยท่านวราหะมิหิรา เมื่อราว พ.ศ.1050-1100 ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นตำราดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์

(ดังนั้น จึงให้ความสำคัญเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับดวงดาว โดยเฉพาะพระสุริยะเป็นพิเศษจนถึงกับได้พรรณนารูปลักษณะการแต่งกายออกมา) ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวดวงดาว และท้องฟ้า ทั้งในอินเดีย เอเชียกลาง และเปอร์เซีย (คืออิหร่าน) ต่อมาอีกหลายร้อยปีเลยทีเดียว


@@@@@@@

รูปพระสุริยะที่กรมศิลปากรขุดได้จากหน้าปรางค์สองพี่น้ององค์นี้กำหนดอายุได้ไม่ห่างจากอายุของคัมภีร์พฤหัสสังหิตาไม่มากนัก

ประกอบการที่ประติมากรรมรูปพระสุริยเทพองค์นี้แต่งกายต้องตรงกับข้อความที่ระบุอยู่ในคัมภีร์ ก็ชวนให้คิดไปได้ว่า เป็นการสร้างตามรูปลักษณะของพระสุริยะที่ระบุเอาไว้ในคัมภีร์ดาราศาสตร์ ควบโหราศาสตร์ฉบับสำคัญอย่างพฤหัสสังหิตา

และนั่นก็ย่อมทำให้มีความเป็นไปได้ด้วยว่า นักปราชญ์ที่เมืองศรีเทพ (หมายรวมไปถึงเมืองในเครือข่ายอื่นๆ และรัฐขนาดใหญ่ในอุษาคเนย์ยุคโน้นทั้งหลาย) จะรู้จักตำราดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ฉบับสำคัญเล่มนี้

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่า การปรากฏรูปพระสุริยะเป็นจำนวนมากที่เมืองศรีเทพนั้น จะเกี่ยวข้องกับกลุ่มของผู้ใฝ่ใจค้นคว้าในดาราศาสตร์-โหราศาสตร์ อันเป็นศาสตร์ที่สัมพันธ์กันอย่างแยกแทบจะไม่ออกในโลกโบราณ

และการศึกษาเรื่องราวการโคจรของดวงดาวเหล่านี้ ย่อมสัมพันธ์กันกับการนับและคำนวณเวลา โดยเฉพาะปฏิทินแบบสุริยคติ ที่ถือเอาพระอาทิตย์เป็นสำคัญ ต่างจากวิธีนับตามจันทรคติ ที่ถือเอาพระจันทร์เป็นใหญ่

ดังนั้น ความรู้สมัยใหม่ในยุคของการกำเนิดรัฐเริ่มแรกของอุษาคเนย์เมื่อหลัง พ.ศ.1000 อย่างปฏิทินแบบสุริยคตินั้นเอง ที่ทำให้ทั้งพระสุริยเทพ และวันมหาสงกรานต์ คือวันเปลี่ยนศักราชตามแบบของอินเดียกลายเป็นสิ่งที่สำคัญขึ้นมาในราชสำนักโบราณของอุษาคเนย์นั่นเอง •




 
ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 เมษายน 2567
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 4 เมษายน พ.ศ.2567
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_759222
29  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เป็นหนี้ บวชไม่ได้ "พระกู้เงิน" ยิ่งผิดหลักพุทธ เจาะปัญหาเงินในวัด เมื่อ: เมษายน 07, 2024, 06:41:14 am
.



เป็นหนี้ บวชไม่ได้ "พระกู้เงิน" ยิ่งผิดหลักพุทธ เจาะปัญหาเงินในวัด

เจาะปัญหา “เงิน” กับ “วัด” นักวิชาการศาสนา ชี้ “เจ้าอาวาส” กู้เงินกับญาติโยม ผิดหลักพุทธ เพราะแค่เป็นหนี้ ก็บวชไม่ได้แล้ว...

กุฏฐัง – เป็นโรคเรื้อนหรือไม่

คัณโฑ – เป็นโรคฝีชนิดเป็นทั่วตัวหรือไม่

กิลาโส  – เป็นโรคกลากหรือไม่

โสโส – เป็นโรคมองคร่อ (มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านของหลอดลม) 

อะปะมาโร – เป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่

มะนุสโส้สิ๊ – เป็นมนุษย์ ใช่ไหม 

ปุริโส้สิ๊ – เป็นผู้ชาย ใช่ไหม

ภุชิสโส้สิ๊ – เป็นไทแก่ตัวเอง ใช่ไหม

อะนะโนสิ๊ – ไม่เป็นหนี้ใคร ใช่ไหม

นะสิ๊ ราชะภะโต – ไม่ใช่ข้าราชการที่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบ ใช่ไหม 

อะนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ – บิดา มารดา อนุญาต ใช่ไหม

ปะริปุณณะวีสะติวัสโส้สิ๊ – อายุครบ 20 ปี ใช่ไหม

ปะริปุณณัณเต ปัตตะจีวะรัง – มีบาตรและจีวรครบ ใช่ไหม

ข้างต้น คือ คำถามอันตรายิกธรรม หรือ ธรรมอันตรายที่เป็นข้อห้าม 13 ข้อในการบวช โดยชายทุกคนที่ผ่านพิธีอุปสมบท ต้องตอบคำถาม ก่อนก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และหนึ่งข้อจากทั้งหมดนี้ คือ คำถามที่ว่า อะนะโนสิ๊ “ไม่เป็นหนี้ใคร” อะมะ ภัณเต (ใช่ครับ)

และเมื่อมาย้อนดูข่าวดังในเวลานี้ก็พบว่า มีพระระดับเจ้าอาวาสวัดได้มีการกู้หนี้ยืมสินญาติโยม โดยอ้างว่าเอามาใช้จ่ายในวัด และเมื่อค้นดูตัวเลขการเงินในวัด พบว่า เป็นหนี้กว่า 30 ล้าน!! มีการใช้ “บัญชีส่วนตัว” ในการบริหารจัดการวัด ซึ่งเรื่องนี้ถือว่า “ผิดหลักการ” หรือไม่ การใช้จ่ายเงินในวัดควรเป็นอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและสังคม และอดีต ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.พระพุทธศาสนาแห่งโลก มาไขคำตอบ





การจัดการเงินในวัด

ดร.ทวีวัฒน์ กล่าวว่า โดยทั่วไปการจัดการเงินในวัดจะเป็นหน้าที่ของ “เจ้าอาวาส” ซึ่งถือเป็นเรื่องปฏิบัติทั่วไป ส่วนเงินทำบุญทั่วไปภายในวัดควรจะเข้าบัญชีของวัด โดยมี ไวยาวัจกร ฆราวาสที่ดูแลวัดและใกล้ชิดกับเจ้าอาวาส เป็นผู้ร่วมดูแลจัดการ ว่า “วัด” ขาดเหลืออะไรบ้าง ซึ่งนี่ก็คือตัวบุคคล ฉะนั้นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ “ความซื่อสัตย์” ของตัวบุคคล

อย่างไรก็ตาม หลักการในการจัดการเงินในวัดควรจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยมีตัวแทนเป็นเจ้าอาวาส พระลูกวัด ตัวแทนฆราวาสที่ใกล้ชิดกับวัด รวมถึงตัวแทนโรงเรียน เรียกว่า บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) มีตัวแทนฝ่ายสงฆ์ และฆราวาส มีการดูแลการเงินต่างๆ ภายในวัด ผ่านคณะกรรมการ... เป็นชื่อวัด ซึ่งเป็นองค์กร ไม่ใช่ชื่อบุคคล เพราะผ่านบัญชีส่วนบุคคลจะตรวจสอบยาก

กรณี กิจนิมนต์ การถวายปัจจัย นั้นถือเป็นการถวายโดยส่วนตัว แต่ทุกอย่างมันอยู่ที่เจตนาของผู้ถวายปัจจัย แต่ถ้าผู้ถวายอยากจะบำรุงวัด ซ่อมแซมวัด เจ้าภาพต้องระบุให้ชัดเจน หากเป็นค่าสาธารนูปโภค ก็ควรเข้าบัญชีวัด....

ใช้บัญชีเจ้าอาวาสวัด “จัดการวัด” แต่ไม่เหมาะ...

การเปิดบัญชีส่วนตัวของพระ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะพระก็เหมือนบุคคลทั่วไป เพียงแต่เวลาจะเปิดบัญชี เจ้าหน้าที่ธนาคารจะขอดูใบสุทธิ อย่างไรก็ตามหากแต่จะใช้บัญชีพระรูปเดียวจัดการการเงินภายในวัด แม้จะอ้างว่าเพื่อความสะดวก มันก็พอรับฟังได้ เพียงแต่สิ่งที่ทำนั้นไม่เหมาะสม นำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยได้

“หากเป็นวัดเล็กๆ มันก็รับฟังได้ เพราะเงินที่เข้ามาในบัญชี มันอาจจะไม่เยอะมาก และเพื่อจะนำเงินนั้นออกมาจัดการได้ เพียงแต่มันเป็นบัญชีบุคคล มันจะตรวจสอบได้ยาก แต่หากเป็นวัดใหญ่ๆ เงินเข้าหลักล้าน ถึงร้อยล้าน ก็ควรที่จะจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ เพื่อความโปร่งใส”

เมื่อถามว่า หากวัดวัดหนึ่ง “ขาดสภาพคล่อง” ทางการเงินจะมีการแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง พระกู้เงินได้หรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ ตอบว่า พระกู้เงินไม่ได้ เพราะแค่คำสวดตอนบวชที่ถามว่า “ไม่เป็นหนี้ใช่ไหม” ซึ่งหากว่าคนที่จะมาบวชนั้น “เป็นหนี้” หรือ “เคลียร์หนี้” ไม่หมดนั้น จะไม่สามารถบวชได้ สาเหตุเพราะหากห่มผ้าเหลืองไปแล้ ปรากฏว่ามี “เจ้าหนี้” มาทวงเงิน มันก็จะดูไม่งาม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาว่า “คนเป็นหนี้ห้ามบวช” แต่หากเคลียร์หนี้แล้วมาบวชก็อีกเรื่องหนึ่ง...

“วัดจะกู้เงินเพื่อสร้างโบสถ์วิหาร นั้นมันเป็นสิ่งที่ขัดกับเจตจำนงในแบบพุทธ ที่เริ่มต้นจากความศรัทธา ที่สำคัญคือสมัยก่อน (ตั้งแต่สมัย ร.5) พระจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการก่อสร้าง เพราะหลักการคือ หน้าที่ของพระคือ ศึกษาและปฏิบัติธรรม เมื่อมีความรู้ด้านธรรมแล้วก็เอาความรู้เหล่านั้นมาสั่งสอนประชาชน เมื่อพระทำหน้าที่นี้แล้วประชาชนเกิดความเลื่อมใส ประชาชนก็จะช่วยกันสร้างสำนักสงฆ์ หรือวัด โดยมีประชาชนเป็นคนระดมทุนเอง อำนวยความสะดวกกับปัจจัย 4”

การที่พระจะมากู้เงินเพื่อสร้างโบสถ์ วิหารให้สวยงามใหญ่โต มันเป็นเรื่องผิดหลักการ เพราะการจะพัฒนาวัดให้เหมาะสม มันควรจะมาจากความเห็นของประชาชน และชุมชน และเล็งเห็นว่าวัดมีสถานที่ไม่เพียงพอ ขาดแคลน “เสนาสนะ” ไม่ใช่ว่า “เจ้าอาวาส” เห็นว่า “เสนาสนะ” ไม่เพียงพอ แล้วเจ้าอาวาสจะไปกู้เงิน จะมากู้ธนาคาร เขาคงไม่เห็นด้วย เพราะ “พระ” ไม่มีแหล่งรายได้สม่ำเสมอ กู้นอกระบบ กู้ญาติโยม ก็จะผิดวัตถุสงค์





การคอร์รัปชันในวัด กับแนวทางการแก้ไข บ้าน วัด โรงเรียน ต้องร่วมมือ

ทีมข่าวฯ ถามถึงปัญหาการยักย้ายถ่ายเทเงินในวัด และการคอร์รัปชันในวัด รวมถึงการยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัด ซึ่งบางวัดได้ยื่น บางวัดก็ไม่ยื่น เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่า ถ้าทางการไปตรวจสอบ ก็อาจจะเจอปัญหาความโปร่งใส แต่ถ้าให้ชุมชนร่วมตรวจสอบ จะเกิดความชัดเจนมากกว่า

คนที่ใกล้ชิดวัด และพระ จะตรงวัตถุประสงค์หรือไม่ ชาวบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีกับวัด จะรับรู้มากกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะดีกว่าตัวแทนของสำนักพุทธฯ เข้าไปตรวจสอบ

ฉะนั้น ความสัมพันธ์ของ บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน บ้านกับโรงเรียน มีความสัมพันธ์กับวัดลดลง ในขณะที่วัดมีมากขึ้น

เมื่อถามว่า เราควรออกกฎหมายในการตรวจสอบวัดหรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ มองว่า อาจเป็นเรื่องที่ยิบย่อยเกินไป โดยหลักแล้วหน่วยงานราชการก็น่าจะตรวจสอบได้อยู่แล้ว





ชาวพุทธยึดติด เงินกระจุกตัว

ทีมข่าวฯ ถามว่า เพราะอะไร “เงิน” ถึงไปกระจุกอยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแทนที่เป็นบัญชีวัด ดร.ทวีวัฒน์ ยอมรับว่า ชาวพุทธเรานั้นมีหลายแบบ บางคนก็ยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าหลักธรรมคำสอน

และที่สำคัญคือ “กำลังทรัพย์” คนกรุงเทพฯ มีเงินมากกว่าคนต่างจังหวัด ดังนั้นเวลาจะบริจาคเงินทำบุญก็มักจะเลือกวัดหลวง วัดดัง และที่สำคัญคือ บางวัดก็เลือกที่จะแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การใช้วัดเป็นที่จอดรถ สร้างรายได้สม่ำเสมอให้กับวัด, บางวัดทำวัตถุมงคล กลายเป็นพุทธพาณิชย์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่วัดทั่วประเทศมีรายได้เงินหมุนเวียนมากกว่า 4 แสนล้าน

“เงินที่บริจาคเข้าวัด มันควรจะมาจากศรัทธาที่แท้จริงจากสาธุชนที่เห็นการปฏิบัติของวัดแล้วรู้สึกศรัทธา นำเงินมาสร้างเสนาสนะให้ ดีกว่า “พระ” ขายวัตถุมงคล เรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน การเรี่ยไรไม่ควรมาจากพระ ควรมาจากประชาชนที่ศรัทธา”

เราควรตรวจสอบวัดที่เข้มข้นกว่านี้หรือไม่... ดร.ทวีวัฒน์ มองว่า อาจเป็น “ดาบสองคม” เพราะพระบางรูปอาจจะไม่เจตนาในการกระทำผิดในเรื่องการบริหารจัดการการเงิน เพียงแต่ท่านไม่ค่อยมีความรู้ด้านบัญชี การใช้จ่ายผิดประเภทไปบ้าง




หากตรวจสอบเข้มข้นจริงๆ เชื่อว่าพระเกือบจะทุกวัด อาจถูกจับเข้าคุกได้ จากนั้นมันจะสะเทือนศรัทธาของชาวบ้านด้วย

กลับกันถ้ามีการตรวจสอบวัดแบบหละหลวมจะเกิดอะไรขึ้น กูรูด้านศาสนายอมรับว่า วัดเองก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเงินในวัด ทางวัดควรจะมี “นักบัญชี” ของวัดมาร่วมด้วย หากเราคิดว่า “วัด” เป็นแบบนิติบุคคล หรือบริษัท เถ้าแก่จะทำทุกอย่าง หรือทำบัญชีไม่เป็น ใช้เงินแบบปะปนกันไปหมด หากมีการจัดการบัญชีถูกต้อง ถูกต้องประเภท ทุกอย่างโปร่งใส

หากอยากจะแก้ปัญหาเรื่องเงินในวัด จึงจำเป็นต้องมีนักบัญชีคอยดูแล และอาจจะมีคนคอยตรวจสอบบัญชีเข้ามาตรวจสอบเป็นครั้งคราว หรือตามเกณฑ์

“เราต้องดูเรื่องนี้ให้ดี เพราะที่ผ่านมามีข่าวว่ามีคนต่างศาสนาพยายามเข้ามาบั่นทอนศาสนา..”

ทีมข่าวฯ ถามย้ำว่า มีกระบวนการนี้จริงหรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ ไม่ยืนยัน แต่เท่าที่ติดตามข่าว คาดว่า “อาจจะ” มีจริง มีความพยายามดิสเครดิตศาสนาพุทธ วัดพุทธ โดยเฉพาะ “เกจิ” ชื่อดัง โดยการใช้ “นารีพิฆาต” บางเคสมีการวางแผนใส่ร้ายป้ายสีพระ แต่เมื่อเป็นข่าวแล้วคนก็จะเชื่อ และถูกด่าทอพระจนเสียคน เรื่องนี้เราต้องระมัดระวังด้วย

                                       ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน





Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2776124
5 เม.ย. 2567 , 06:16 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > Culture > ไทยรัฐออนไลน์
30  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พุทธไม่ใช่พระสงฆ์ ขอพร ยึดติด ไม่ผิด ไร้ศาสนา คือ ปัจเจกแห่งโลก เมื่อ: เมษายน 07, 2024, 06:32:34 am
.



พุทธไม่ใช่พระสงฆ์ ขอพร ยึดติด ไม่ผิด ไร้ศาสนา คือ ปัจเจกแห่งโลก

แลกเปลี่ยนมุมมองพระพุทธศาสนา กับ 'ผศ.ดร.สมพรนุช ตันศรีสุข' มองการยึดติดตัวบุคคลอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องไม่ลืมศึกษาหลักธรรมที่เป็นแก่นแท้ คนรุ่นใหม่เมินศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก เหตุข่าวเสียพระสงฆ์มีให้เห็นมาก จนภาพจำเริ่มเปลี่ยนไป

'ความไม่ยึดมั่นถือมั่น' เป็นหนึ่งในหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะหากใจปล่อยวางได้แล้ว ย่อมเป็นส่วนประกอบนำไปสู่การหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้ในที่สุด…

อย่างไรก็ตาม เราจะสังเกตเห็นได้ว่าชาวพุทธบางคน ยังยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ โดยเฉพาะ 'ยึดติดในตัวบุคคล' นั่นก็คือพระสงฆ์ผู้สืบทอดศาสนา แต่เมื่อมีการยึดติดและส่งต่อความเชื่อ จนพระบางรูปโด่งดัง ก็ใช่ว่าทุกรูปจะปฏิบัติดีเสมอไป

มีข่าวจำนวนไม่น้อยที่พระสงฆ์ใช้แรงศรัทธาของประชาชน เพื่อช่วงชิงสร้างประโยชน์แก่ตนเอง จนกระทั่งนำมาซึ่งภาพจำไม่ดีที่มีต่อพระพุทธศาสนา ถึงกระนั้น การยึดติดในตัวบุคคลก็ยังมีให้เห็น จนนำมาซึ่งเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ที่ปรากฏภาพเดิมๆ ให้เห็นอยู่ 'ครั้งแล้วครั้งเล่า'

แล้วเพราะเหตุใดเราจึงยึดติดตัวบุคคล?

มีวิธีที่จะสามารถก้าวข้ามความยึดติดนั้นได้หรือไม่?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอนำพาผู้อ่านทุกคน ไปเข้าใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ผ่านการสนทนาและมุมมองจาก 'ผศ.ดร.สมพรนุช ตันศรีสุข' อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





รากฐานการยึดติด :

ผศ.ดร.สมพรนุช มองว่า การบูชาตัวบุคคลเปรียบเสมือน 'ปรากฏการณ์' ของสังคม เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะทางศาสนา แม้แต่ทางการเมืองก็สามารถเห็นเรื่องลักษณะนี้ได้ คนเรามักจะยึดโยงกับตัวบุคคล มากกว่าการดูที่หลักการ อุดมการณ์ หรือความคิดที่เป็นสำคัญ คราวนี้เมื่อคนหนึ่งได้รับความนิยม สิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับคนนั้นก็จะได้รับความนิยมไปด้วย

ทีมข่าวฯ สอบถามต่อไปว่า มีรากฐานใดหรือไม่ ที่ทำให้คนไทยยึดติดกับตัวบุคคล มากกว่าแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา?

ทรรศนะของ ผศ.ดร.สมพรนุช ที่มีต่อคำถามนี้ คือ เรามองว่า เรื่องเชื่อในตัวบุคคล เป็นความคิดทางศาสนาที่มีมาตั้งแต่โบราณ แสดงถึงการยึดมั่น และเชื่อมั่นผู้ที่มีความเกร่งกล้าสามารถ คล้ายกับมองว่าเป็น 'ฮีโร่' ซึ่งถ้ามองดีๆ แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ก็มีความเป็นฮีโร่อยู่เช่นกัน

"อย่างในประเทศไทย ความคิดดั้งเดิมมีผลมาก ที่ทำให้เรายึดตัวติดบุคคล หรือคุณวิเศษบางอย่างที่อยู่ในบุคคลนั้น มากกว่าที่จะไปยึดหลักการของพระพุทธศาสนา"

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการสอน นั่นก็คือหลักการที่พระองค์ทรงค้นพบจากการตรัสรู้ ได้แก่ อริยสัจ 4 ที่พูดถึงเรื่องของความทุกข์ และการหลุดพ้นจากทุกข์ สิ่งนี้ต่างหากที่เป็น 'พระพุทธศาสนา' แต่เมื่อศาสนาสืบทอดต่อกันมานับพันปี แน่นอนว่าย่อมมีความคิดพื้นเมืองเข้าไปผสมผสาน





ยึดติดตัวบุคคลได้ แต่ต้องศึกษาแก่นธรรมด้วย :

ผศ.ดร.สมพรนุช การยึดตัวบุคคล การยึดเป็นที่พึ่งทางใจ การได้สนทนาแล้วสบายใจ อยากเข้าใกล้ ฯลฯ มันคือสิ่งที่เป็นปฐมภูมิ เป็นเพียงขั้นต้น แก่นของพระพุทธศาสนาต้องไปไกลกว่านั้น จะไม่ยุ่งไม่ยึดติดตัวบุคคล เราต้องพึ่งตัวเอง ต้องเข้าใจว่าชีวิตเป็นทุกข์ได้อย่างไร และจะออกจากทุกข์นั้นได้อย่างไร

การนับถือพุทธศาสนาเราต้องเล่าเรียนด้วย ต้องศึกษาจากตัวบทและคัมภีร์ที่เป็นหลักการ ถ้าไม่ได้ศึกษาจากหลักการเลย แต่ไปเน้นอยู่ที่ตัวของบุคคล ศาสนาพิธี หรือพิธีกรรมต่างๆ ก็จะทำให้คนไปยึดติดกับตัวบุคคล

"การศึกษาพระพุทธศาสนาตามหลักการ ต้องมีผู้ให้ความรู้ที่ถูกต้อง พยายามที่จะสอนหลักศาสนา แต่สุดท้ายแล้ว ผู้สอนก็ไม่พ้น 'พระภิกษุ' หรือ 'พระอาจารย์' สุดท้ายคนเราก็จะไปติดอยู่กับพระอาจารย์ ตามที่เราเห็นว่ามีชาวพุทธจำนวนมาก ไปแสดงหาครูบาอาจารย์ดังๆ มากกว่าการแสวงความรู้ทางหลักธรรม"

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ กล่าวต่อว่า ในบรรดาของพระชื่อดัง มีทั้งที่เป็นของจริงและไม่จริง ถ้าเป็นของจริง ผู้ที่เข้าไปก็จะได้รับผลประโยชน์ จากการได้ศึกษาเล่าเรียนหรือฝึกปฏิบัติกับพระรูปนั้นๆ แต่ถ้าเกิดว่าเป็นของไม่จริง สุดท้ายประชาชนก็จะถูกหลอก อย่างเช่นคดีของ หลวงปู่เณรคำ

สำหรับเราในจุดนี้ จะยึดติดตัวบุคคลอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องไม่ลืมว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ นั่นก็คืออริยสัจ 4 ความเข้าใจสิ่งที่ต่างๆ ตามความเป็นจริง ความเข้าใจสภาพไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยงของขันธ์ 5 การที่พยายามที่จะปฏิบัติธรรมตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา นี่คือหลักการ

"พระสงฆ์เป็นเพียงผู้สืบทอดศาสนา ท่านก็ปฏิบัติเพื่อตัวท่านเอง และแบ่งปันความรู้ให้พุทธศาสนิกชน เพื่อให้ทุกคนนำไปเป็นความรู้ ต่อยอดสู่วิธีทางปฏิบัติเพื่อตนเอง"





กรณีตัวอย่าง (อดีต) 'พระมิตซูโอะ' :

กรณีตัวอย่างที่ ผศ.ดร.สมพรนุช ยกประกอบการอธิบายว่า เข้าข่ายลักษณะ 'การยึดติดตัวบุคคล' คือกรณีของ (อดีต) 'พระมิตซูโอะ' โดยได้อธิบายว่า ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา ในสายของท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตั้งใจสืบทอดศาสนา มีลูกศิษย์มากมาย มีพระที่เป็นนักปฏิบัติ แล้วไปสร้างวัดตามสถานที่ต่างๆ

ส่วนพระมิตซูโอะ ช่วงที่ท่านยังอยู่ในสมณเพศ ท่านเป็นพระรูปหนึ่งที่น่าเคารพนับถือ แต่เมื่อวันหนึ่งมีเหตุปัจจัยต่างๆ เข้ามา ทำให้ท่านจำเป็นต้องเปลี่ยนการใช้ชีวิตจึงตัดสินใจลาสิกขา มันก็เป็นเรื่องปกติที่ท่านจะทำได้ แต่ก็จะมีคนไทยบางกลุ่มที่รับไม่ได้กับเรื่องนี้

"กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า คนอาจจะไม่ได้เข้าหาพระมิตซูโอะเพราะเรื่องหลักธรรม แต่เข้าหาเพราะคุณสมบัติบางอย่างของท่าน การเคารพในคุณลักษณะที่เป็นพระดี ซึ่งคนไทยติดเรื่องลักษณะนี้ มากกว่าที่จะมองแค่ว่าท่านเป็นเพียงแค่พระสงฆ์ผู้สืบทอดศาสนา"

ผศ.ดร.สมพรนุช กล่าวต่อว่า เรื่องนี้แสดงถึง 'การยึดติดในตัวบุคคล' แทนที่จะมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การยึดติดกับตัวบุคคลไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องเรียนรู้แนวคิด หลักธรรม กระบวนการทางศาสนาด้วย อย่างเรื่องของพระมิตซูโอะ เราก็ควรมองว่าเป็นเรื่องขันธ์ 5 ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน





แนวคิด 'กัลยาณมิตร' :

แม้การยึดติดตัวบุคคลจะไม่ใช่หลักการของพระพุทธศาสนา แต่ ผศ.ดร.สมพรนุช บอกว่า การกระทำลักษณะนี้มีสิ่งที่ศาสนารองรับอยู่ นั่นก็คือเราจะรู้สึกว่า 'เหมือนได้อยู่ใกล้กัลยาณมิตร'

อาจารย์ ขยายความว่า กัลยาณมิตร หรือ ผู้มีบุญมาก เป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในความคิดของคนไทยมาช้านาน เพราะเราต่างมองหาคนที่เป็นผู้นำ และต้องยอมรับว่า 'พระสงฆ์' เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมาตั้งแต่โบราณ ในประวัติศาสตร์ไทย เราก็มักจะมองหาคนที่มีความรู้ และมีคุณธรรมสูงส่งเป็นผู้นำ ซึ่งคนมีภาพจำว่าพระสงฆ์มีสิ่งที่กล่าวมา และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอยู่

"เมื่อคนมีความรู้สึกแบบนั้น มันก็ดึงดูดให้คนมีศรัทธาในลักษณะนี้ ทีนี้ถ้าไม่ได้ไตร่ตรองให้ดี ก็อาจจะเข้าใจอะไรผิดๆ" ผศ.ดร.สมพรนุช กล่าว





ทำอย่างไรจึงจะเลิกยึดติดตัวบุคคล? :

คราวนี้… ถ้าการยึดติดตัวบุคคล ไม่ใช่แนวทางของพระพุทธศาสนา เราจึงสงสัยและสอบถามอาจารย์ว่า จะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้ก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านั้นได้?

ผศ.ดร.สมพรนุช แสดงความคิดเห็นว่า เรายังคงเชื่อในเรื่อง 'การศึกษา' สิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งมันยากเพราะเป็นนามธรรม เป็นอะไรที่เข้าใจยาก และปฏิบัติได้ยาก แต่กลับกันเมื่อเราเข้าหาอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่เราเชื่อว่าเขาศักดิ์สิทธิ์ มีคุณวิเศษ มันเข้าถึงง่ายมากกว่า

"การได้รับการศึกษาอย่างถูกต้อง จะช่วยพัฒนาเรื่องของวิจารณญาณ ซึ่งจะเป็นเหมือนกรอบ ที่ทำให้แต่ละท่านได้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองที่สุด หรือว่าหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวง"

เมื่ออาจารย์ผู้ให้สัมภาษณ์ยังมองว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่อยาก ทีมข่าวฯ จึงถามต่อไปว่า แล้วเรายังจะมีความหวังให้สังคมไทยก้าวข้ามเรื่องนี้ได้หรือไม่?

ผศ.ดร.สมพรนุช ตอบว่า เราต้องบอกว่า "อยากให้มองแบบมีความหวัง" เราต้องมีความหวังไว้ก่อนไม่งั้นจะอยู่ลำบาก ถ้าเห็นแต่ข้อเสียอย่างเดียวจะทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหวัง





การภาวนาขอพรไม่ใช่เรื่องผิด :

อีกหนึ่งคำถามที่น่าฉงน คือเมื่อศาสนาพุทธสอนให้หลุดพ้น แต่ผู้คนต่างยังมุ่งมั่น 'ขอพร' และอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วนี่ถือเป็นเรื่องผิดหรือไม่ควรหรือไม่?

ข้อสงสัยนี้ ผศ.ดร.สมพรนุช มองว่า การขอพร หรืออธิษฐานเรื่องต่างๆ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะในทางศาสนามีสิ่งที่เรียกว่า 'อธิษฐานบารมี' คือ การตั้งจิตให้มั่น เหมือนการตั้งความหวัง ตั้งความปรารถนา เซตเป้าหมายว่าเราจะไปถึงอะไร หรืออยากได้อะไร แต่ตามหลักการแล้ว การที่เราวางเป้าหมายอย่างเดียว โดยที่ไม่ลงทำอะไร ความสำเร็จในเรื่องนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย

"การไปอธิษฐานกับพระ ทำให้มีที่พึงทางใจ กลายเป็นคนที่มีหวัง สภาพชีวิตที่อยู่โดยไร้หวังเป็นเรื่องที่แย่มากเลยนะพราะจะทำให้เราไม่อยากมีชีวิตอยู่ ดังนั้น การที่เรามีความหวัง แล้วฝากความหวังไว้ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เรามีแรงกาย แรงใจ ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป"

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ แสดงทรรศนะต่อว่า ดังนั้น เรามองว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องระลึกว่าขออะไรต้องปฏิบัติ มันก็เข้ากับหลักการของศาสนาอีก เป็นเรื่องของ 'กรรม' ก็คือ 'การกระทำ'





มูเตลู-กุศโลบาย :

อีกหนึ่งกระแสที่ตีคู่กันมากับการยึดติดตัวบุคคล นั่นก็คือเรื่อง 'มูเตลู' เราจะเห็นได้ว่าหลายคนเลือกที่จะเมินพุทธศาสนา แต่หันไปพึ่งพาเครื่องรางของขลัง ซึ่ง ผศ.ดร.สมพรนุช มองว่า เรื่องนี้เหมือนเป็น 'ไสยศาสตร์ยุคใหม่' เป้าหมายของการบูชาตรงนี้ ก็เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ต้องการเท่านั้น คนก็จะแสวงหาของต่างๆ มา ซึ่งนี่ก็ถือว่าผิดหลักการของศาสนา

แต่อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงศาสนาพุทธก็มีเรื่องทำนองนี้ แต่เราจะยึดถือในลักษณะที่เป็น 'กุศโลบาย' มากกว่า เช่น คุณได้รับพระเครื่องไป แต่ถ้าต้องการจะบูชาพระองค์นี้ แล้วให้ได้ดี ต้องเป็นคนที่มีศีล มีสัตย์ มีคุณธรรม จึงจะสามารถรักษาคุณวิเศษของพระองค์นั้นได้ มันเป็นกุศโลบาย เพื่อให้ผู้ชาปรับตัวให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงการเช่าบูชาหรือครอบครอง





คนรุ่นใหม่เมินศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก :

เราจะเห็นได้ว่าในหมู่คนรุ่นใหม่ กระแสการเข้าวัดทำบุญเริ่มลดลงเรื่อยๆ หลายคนเลือกที่จะเมินพระพุทธศาสนา หรืออาจจะไม่นับถือศาสนาใดเลยเสียด้วยซ้ำ ไม่ก็เน้นการกราบไหว้บูชาตามโอกาส และช่วงเวลาที่ตนอยากได้สิ่งที่ต้องการ

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สมพรนุช รู้สึกว่า การที่คนรุ่นใหม่เมินศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก ส่วนหนึ่งก็มาจากเพราะเขาเห็นข่าวที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับพระ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อ มีข้อมูลมากมายที่พวกเขาเห็น ทั้งดีและเสีย เพียงแต่ว่าเราจะสื่อสารให้เขาเห็นได้อย่างไร ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องธรรมดา ในหลักการของศาสนาต่างหากมีของดีอยู่

"จะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่พระสงฆ์ แต่พระสงฆ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาสนา เป็นเพียงแค่ผู้สืบทอด และจริงๆ แล้วพระสงฆ์เหล่านั้นก็เป็นเหมือนเรานี่แหละ เพียงแต่เขาไปนุ่งห่มผ้าเหลือง แล้วอยู่ในพระวินัย ซึ่งบางท่านก็ทำได้ ปฏิบัติดี แต่บางท่านก็ทำไม่ได้ เลยออกมาในลักษณะการนอกรีตนอกรอย มันอยู่ที่การให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง"

ผศ.ดร.สมพรนุช กล่าวต่อว่า เรื่องพระนอกรีตมีมาตั้งแต่อดีต เพียงแต่ไม่มีสื่อกระแสจึงยังไม่กว้างเท่าปัจจุบัน เดี๋ยวนี้เราเห็นได้ทุกอย่าง แล้วอะไรที่เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสามัญที่พระต้องปฏิบัติ คนก็ไม่เอามาลงเป็นข่าว แต่อะไรที่ผิดประหลาดจะเป็นข่าวเสมอ คนจึงสูญเสียศรัทธาแห่งศาสนา

"ตอนนี้กลายเป็นว่าพระสงฆ์ เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาไปแล้ว ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่" อาจารย์กล่าวเน้นย้ำกับเรา





ความท้าทายในวันที่คนมีความเป็นปัจเจกสูง :

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาจารย์เชื่อว่า สังคมเราก็ดูมีความพยายามจะทำให้ศาสนาดีขึ้น โดยองค์กรของรัฐ เอกชน หรือหน่วยงานใดก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายในยุคนี้ คือ โลกสื่อโซเชียล และความเป็นปัจเจกนิยมบุคคล สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความยาก ที่จะทำให้ทุกคนคิดหรือทำเหมือนกัน

เราเผยแพร่ความคิดได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องของ 'ปัจเจก' ที่จะเลือกเชื่อหรือไม่ อิทธิพลของสื่อยุคนี้แรงมาก ทำให้ข่าวสารแพร่สะพัดไปหลากหลาย ดังนั้น ความเชื่อทุกวันนี้ เราไม่สามารถบอกได้เลยว่ามีอยู่กี่อย่าง หรือมีอะไรปะปนมาบ้าง

อย่างเรื่องของ 'มูเตลู' คนที่ทำเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่กลุ่มพระพุทธศาสนาเท่านั้น แม้กระทั่ง ฤาษี ชีไพร ไม่รู้มาจากไหน ตั้งตัวเป็นอาจารย์ ตั้งตัวเป็นเอกชน เป็นคนมีความรู้ ซึ่งถ้ามีคนศรัทธา พร้อมใช้เข้าไปบริการ เขาก็สามารถไปต่อได้ และก็วนกลับมาเรื่องยึดตัวบุคคล

"ปัจจุบันเรื่องความคิดปัจเจกบุคคล มีมากขึ้นกว่าในอดีต มากเกินที่รัฐจะควบคุมสื่อ ความคิด หรือความเชื่อทางศาสนาได้ ซึ่งทุกวันนี้มีสื่อให้เราค้นหามากขึ้น อยู่ที่ว่าเราจะแสวงหาองค์ความรู้ดีๆ จากไหน"

                                    ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน





Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2775497
4 เม.ย. 2567 , 06:40 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > Interview > ไทยรัฐออนไลน์
31  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / การพัฒนามนุษย์ตามแนวภาวนา ๔ เมื่อ: เมษายน 03, 2024, 10:32:00 am
.



การพัฒนามนุษย์ตามแนวภาวนา ๔
โดย ภาษิต สุขวรรณดี สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา
หมายเหตุ : ยกมาแสดงบางส่วน




๓. การพัฒนามนุษย์ตามแนวภาวนา ๔

ภาวนาหรือการพัฒนาตามแนวพระพุทธศาสนามี ๔ อย่าง จําแนกไว้ว่า คือ
     ๑. พัฒนาด้านกาย เรียกว่า กายภาวนา
     ๒. พัฒนาด้านศีล เรียกว่า ศีลภาวนา
     ๓. พัฒนาด้านจิต เรียกว่า จิตภาวนา
     ๔. พัฒนาด้านปัญญา เรียกว่า ปัญญาภาวนา     

ภาวนาตามแนวพระพุทธศาสนานี้เป็นของเก่ามาก  แต่จําเพาะมาใกล้กันมากกับ development ๔ ประการของวงการการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งกล่าวถึงการพัฒนาที่แปลจากของฝรั่งว่า development ๔ ด้าน หรือ growth ๔ ด้าน คือ
    ๑) พัฒนาทางกาย (Physicaldevelopment) 
    ๒) พัฒนาการทางสังคม (Social  development) 
    ๓) พัฒนาการทางอารมณ์ (Emotional development)
    ๔) พัฒนาการทางปัญญา (Intellectual development)

ซึ่งมีการพูดกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยพูดถึงภาวนา ๔ อย่างในพระพุทธศาสนา คําว่า "ภาวนา" ใน  dictionary ภาษาบาลี-อังกฤษ แปลเป็น development ทั้งนั้น ภาวนาในทางพระพุทธศาสนาแปลว่า พัฒนา  และคําว่า development ก็มีความหมายตรงกับคําว่าภาวนา และทั้งภาวนา และ development มี ๔ ประเด็นเหมือนกัน ดังนี้ 

     ๑) พัฒนากาย หรือพัฒนาทางกาย ได้แก่ Physical development ตรงกับ กายภาวนา     
     ๒) พัฒนาศีล หรือพัฒนาทางสังคม ด้วยเหตุที่ศีลคือการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่เบียดเบียนกัน มีชีวิตที่เกื้อกูลต่อกัน และมีวินัยจึงได้แก่ Social development ตรงกับ ศีลภาวนา       
     ๓) พัฒนาจิตใจ หรือพัฒนาทางอารมณ์ เรื่องอารมณ์ที่เพี้ยนมาในภาษาไทยปัจจุบัน ก็คือเรื่องของจิตใจนั่นเอง พัฒนาด้านนี้ จึงได้แก่ Emotional development ตรงกับ จิตภาวนา     
     ๔) พัฒนาปัญญา หรือพัฒนาการทางปัญญา ได้แก่ Intellectual development ตรงกับ ปัญญาภาวนา


@@@@@@@

๓.๑ การพัฒนาสี่ด้าน แต่รวมลงเป็นระบบเดียว จึงกล่าวได้ว่า ภาวนา ๔ กับ development ตรงกันหมด แต่ความหมายมีนัยที่แยกกัน ต่างกัน กว้างกว่ากัน หรือลึกกว่ากันบ้าง คือ

กายภาวนา พระพุทธศาสนาไม่เน้นที่การทําให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง แต่ถือว่าการกินอาหารให้ได้คุณค่า  กินพอดี ด้วยความรู้จักประมาณ ให้ร่างกายอยู่ผาสุก มีสุขภาพดีเป็นฐานให้การพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป การมีร่างกายที่ระบบภายในต่างๆ ทํางานเรียบร้อยดี เรียกว่าเป็น ปธานิยังคะ อย่างหนึ่ง คือ เป็นองค์หนึ่งของสภาพชีวิตที่เหมาะแก่การใช้ความเพียรพยายามในการพัฒนาชีวิต แต่การพัฒนากายไม่ใช่แค่นั้น

การพัฒนากาย ท่านเน้นที่เราดํารงชีวิตอยู่ในโลกนี้ ส่วนของร่างกายที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในการดํารงอยู่ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น และประสาทกาย ที่เรียกว่าอินทรีย์ ฉะนั้น การพัฒนากายในพระพุทธศาสนาจึงเน้นไปที่การพัฒนาอินทรีย์ ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ใช้งานได้ดี เกิดประโยชน์สูงสุด มีผลในทางส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น พัฒนาการใช้ตาให้ดูเป็น พัฒนาการใช้หูให้ฟังเป็น ฯลฯ การพัฒนากายจะต้องเน้นเรื่องนี้

การพัฒนาอินทรีย์ คือ การฝึกใช้อินทรีย์ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต ไม่ใช่ใช้อินทรีย์ให้เกิดโทษ ฉะนั้น การศึกษาจะต้องมีกายภาวนา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเพียงฝึกให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง มีสุขภาพดีเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาให้ใช้อินทรีย์เป็น นอกจากนั้นการพัฒนาทักษะต่างๆ ในทางอาชีพ ก็รวมอยู่ในข้อนี้ด้วย แต่ที่เป็นแกนกลาง ก็คือ การพัฒนาที่เป็นอินทรีย์นี้ จนพูดได้ว่า การพัฒนากายก็คือการพัฒนาอินทรีย์

ศีลภาวนา ที่ว่าเป็นการพัฒนาทางสังคมนั้น  ไม่มุ่งแต่การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดีโดยไม่เบียดเบียนกันเท่านั้น  แต่มุ้งถึงการฝึกอบรมกาย วาจา ให้เป็นฐานในการพัฒนาจิตต่อด้วย กล่าวคือการฝึกอบรม ให้รู้จักควบคุมตนในเรื่องกายวาจานั้น เริ่มด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ให้อยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ดี เป็นไปในทางที่เกื้อกูลต่อกันในสังคม เรื่องนี้เป็นศีลขั้นพื้นฐาน แต่นอกเหนือจากนั้น ยังมีการศึกษาอบรมกายวาจาให้ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก โดยที่ความสามารถในการฝึกพฤติกรรมทางกายวาจาของตนนั้น จะเป็นฐานแก่การพัฒนาจิตใจต่อไปด้วย

เมื่อเรารู้จักควบคุมฝึกหัดกายและวาจาแล้ว จะต้องฝึกฝนพัฒนาจิตใจพร้อมกันไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อกันตามหลักปัจจัยสัมพันธ์ หมายความว่า ภาวนา ๔ ด้านนี้ จะต้องโยงเป็นระบบเดียวกันไม่ใช่แยกเป็นด้านๆ ไม่ใช่เป็นความคิดแบบ reductionist เพราะพวกนั้นแยกแล้วไม่โยง คือแยกภาวนา หรือพัฒนา ๔ ด้าน แยกออกไปได้หมด แต่ไม่ได้ดูว่า ๔ ด้านนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร

ทางที่ถูกต้องโยงด้วยว่า ๔ ด้านนี้เกื้อกูลและอาศัยกันอย่างไรอีกที แยกแล้วต้องโยงด้วยทางด้านการพัฒนาจิตใจก็ต้องโยงว่า เมื่อพัฒนาจิตใจดี ก็ส่งผลดีออกมาต่อร่างกาย เช่น ใจไม่โกรธไม่เครียด ช่วยให้มีสุขภาพดีและมีผลในการสัมพันธ์หรือในการอยู่ร่วมสังคมด้วย ทําให้การสัมพันธ์กับโลก และสภาพแวดล้อมภายนอกพลอยดีไปด้วย และการพัฒนาจิตใจนั้น เช่น เมื่อมีสมาธิ ใจไม่ว้าวุ่นสับสน ก็เป็นฐานให้แก่การพัฒนาปัญญาต่อไป 

เมื่อพัฒนาปัญญาดีแล้ว ก็ทําให้จิตใจเป็นอิสระ เพราะรู้ว่าจะทําจะปฏิบัติต่ออะไรอย่างไร แก้ไขข้อติดขัดขจัดปัญหา หายอึดอัดหลุดโล่งไปได้ ตลอดจนรู้เท่าทันชีวิตและโลกตามเป็นจริงรู้เท่าทันเหตุปัจจัย มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้จักมองตามเหตุปัจจัย ก็ไม่มีอะไร มาบีบคั้นตัว อย่างน้อยก็ไม่ค่อยมีการกระทบกระแทก เพราะทําตามปัญญา ไม่ใช่ทําตามใจอยาก     

การพัฒนาปัญญาตามหลักพระพุทธ-ศาสนานี้ จะใช้คําว่า intellectual ก็ไม่ค่อยตรงเพราะคําว่า intellectual เน้นไปที่ความคิดเหตุผลซึ่งเป็นเพียงขั้นหนึ่งหรือด้านหนึ่งของปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนา มีอยู่หลายขั้น เริ่มตั้งแต่การรู้จักรับ รู้ประสบการณ์ให้ตรงตามเป็นจริง การคิดตามเป็นจริง โดยไม่ถูกครอบงําด้วยอคติ หรือโลภะ โทสะ โมหะ จนถึงความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง ที่ทําให้มีจิตใจเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้ ปัญญาภาวนาอาจจะต้องใช้คําว่า wisdom development       

ภาวนา ๔ นี้เป็นหลักสําคัญอีกชุดหนึ่ง โดยสรุปแล้ว ภาวนาหรือพัฒนาแสดงถึงหนทางในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เมื่อพูดแยกเป็นแง่ ด้านต่างๆแล้ว ก็ต้องเอามาโยงเข้าด้วยกันให้เป็นภาพรวมอันหนึ่งอันเดียว กันอีกที

@@@@@@@

๓.๒ เป้าหมายของการพัฒนาสู้จุดหมายของชีวิต

จุดหมายในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ถือเป็นจุดหมายของการศึกษา ซึ่งกล่าวให้ง่าย จุดหมายนั้นก็คือ การพัฒนาตนของแต่ละคนให้เข้าถึง อัตถะ(เรื่องอัตถะ คือ จุดหมายของชีวิต ๓ ขั้น พึงดูในหนังสือวินัยชาวพุทธ หน้า ๙–๑๐ หรือ ธรรมนูญชีวิต หน้า ๘–๙) คือ เข้าถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตในระดับต่างๆกัน คือ

    ๑. ขั้นชีวิตระดับรูปธรรม หรือชีวิตด้านนอก ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตามองเห็น เช่น ให้พึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ ให้พึ่งตนได้ในทางสังคม โดยอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีความเจริญก้าวหน้าในสังคม มีฐานะตําแหน่งเป็นที่ยอมรับนับถือ เป็นต้น ซึ่งเป็นขั้นเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ที่ตามองเห็น อันเป็นประโยชน์ในขั้นของจุดหมายสามัญ เป็นอิสรภาพของชีวิตด้านนอก หรืออิสรภาพทางกายภาพและทางสังคม ขั้นนี้แม้จะสําคัญแต่ไม่เพียงพอ ถ้ามีได้เพียงขั้นนี้ไม่มีขั้นที่ ๒. จะไม่ปลอดภัย     

    ๒. ขั้นเข้าถึงจุดหมายในทางชีวิตจิตใจที่ลึกซึ้งลงไป คือ มีจิตใจที่ดีงาม เชื่อมั่นในความดีและการกระทําสิ่งที่ถูกต้องดีงาม มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละสร้างสรรค์ทําประโยชน์ต่างๆ มีปัญญากอปรด้วยวิจารณญาณ ซึ่งทําให้เกิดความมั่นใจและความสุขในบุญกุศล หรือการมีชีวิตที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นขั้นที่เรียกว่า "สัมปรายิกัตถะ" คือ ประโยชน์ที่ลํ้าเลยจากการที่ตามองเห็น เป็นอิสรภาพของชีวิตด้านใน ที่ปลอดพ้นจากความชั่วร้ายตกตํ่า และความทุกข์ที่ร้ายแรงขั้นที่เรียกว่า ตกอบาย       

    ๓. ขั้นสุดท้ายคือ ปรมัตถะ ความหมายคือ ประโยชน์สูงสุด คือถึงขั้นที่มีจิตใจเป็นอิสระด้วยปัญญาที่รู้ความจริง อย่างที่เรียกว่ารู้แจ้งสังขารหรือรู้เท่าทันโลกและชีวิต ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งทั้งหลาย ไม่หวั่นไหวตามความเป็นไปภายนอก เป็นภาวะเต็มอิ่มสัมบูรณ์ ซึ่งมีแต่ความสุขที่โปร่งเบา ไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพขั้นสูงสุดหรือขั้นสุดท้าย ที่ความเป็นอิสระของชีวิตจิตใจถึงขั้นเป็นภาวะเด็ดขาดสิ้นเชิง เพราะปัญญากําจัดเหตุปัจจัยแห่งความติดข้องของจิตหมดสิ้นแล้ว

แม้แต่ความสุขก็แบ่งได้เป็นหลายประเภทหลายระดับ เช่น ที่แบ่งอย่างง่ายๆว่า ความสุขของมนุษย์แยกออกเป็น ๒ แบบ คือ
      ๑) สามิสสุข ความสุขที่อาศัยอามิส และ 
      ๒) นิรามิสสุข ความสุขที่ไม่อาศัยอามิส       

สําหรับคนธรรมดาทั่วๆไปที่ยังมีจิตใจไม่เป็นอิสระ ไม่ถึงปรมัตถ์ ก็ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาเป็นปัจจัยช่วยให้ได้รับความสุข ความสุขของเขาขึ้นต่อวัตถุ ต้องอาศัยสิ่งบํารุงบําเรอ หรือแหล่งความสุขจากภายนอก ถ้าไม่มีอะไรภายนอกมาช่วยให้ได้เสพได้บริโภค เป็นต้น ก็เป็นทุกข์ ไม่สบาย ไร้ความสุข อย่างนี้เรียกว่ามีแต่ สามิสสุข กล่าวคือ ความสุขที่ยังพึ่งพาวัตถุ แต่ถ้าได้พัฒนาตนขึ้นไปถึงปรมัตถ์แล้ว หรือแม้แต่ในแนวทางของปรมัตถ์ ก็จะมีนิรามิสสุข สุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยอามิส ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอก มีความสุขได้โดยลําพังตัว เป็นตัวของตัวเอง เป็นความสุขแบบอิสระ เป็นการพึ่งตัวเองได้ด้วยความมีอิสรภาพทางจิต ทางปัญญา การพึ่งตนได้ ก็มีหลายขั้นเป็นระดับๆ ขึ้นมา

เริ่มแต่พึ่งตนได้ทางรูปธรรม ไม่ต้องขึ้นต่อผู้อื่นในด้านวัตถุภายนอก ในทางสังคม ในทางจิตใจจนถึงพึ่งตนเองได้ในทางปัญญา จึงเข้าถึงอิสรภาพอย่างแท้จริง 

กล่าวโดยสรุป การพึ่งตนได้ ก็คือ อิสรภาพในระดับต่างๆ จนถึงอิสรภาพสูงสุด ทั้งหมดนี้จึงกลับเข้าสู่หลักข้างต้น  ที่ว่า 
    ๑) รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย เข้าถึงสัจธรรม
    ๒) จึงดําเนินชีวิต หรือปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้สอดคล้องกับหลักความจริง เป็นผู้มีจริยธรรม
    ๓) จึงสามารถแก้ปัญหาได้สําเร็จ ไร้ทุกข์ เกิดมีอิสรภาพ





๔. ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวพุทธศาสตร์ ๔ มิติ

"การพัฒนา" พระพุทธศาสนา เรียกว่า ภาวนา หมายถึง กระบวนการสร้างหรือทําให้เกิดให้มีขึ้น ส่วนบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ที่ผ่านการขัดเกลาพัฒนา และตามกระบวนการแล้วเรียกว่า "ภาวิตา" หมายถึงถูกพัฒนาแล้วโดยใช้เครื่องมือและกลไก หลักการ ที่จัดเป็นยุทธวิธีตามแนวพุทธศาสตร์ คือ มีคุณสมบัติและมีวัตถุประสงค์ (Objective) และเป้าหมาย (Goal) ตามรูปแบบ (Pattern) ยุทธศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ กําหนดไว้ ๔ มิติ คือ
     
@@@@@@@

๔.๑ กายภาวนา หมายถึง การพัฒนากาย ฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งด้านกายภาพและชีวภาพด้วยดีมิให้เกิดโทษ มีประโยชน์แก่ตนเองและสังคม บําเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์ มิให้อกุศลเกิด ปัจเจกบุคคลต้องรู้จักเลือกเสพ บริโภคสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่างแก่ร่างกายแก่ตนเอง รับเอาปัจจัยที่ส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกาย ไม่ทําอะไรที่เป็นการหักโหมจนเกินไป รู้จักพักผ่อนให้เพียงพอแก่สุขภาพร่างกาย ออกกําลังกายแต่พอควร และใช้ชีวิตด้วยการมีสติ อย่าประมาท

การกําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน มีนัยตามนี้ จึงกําหนดนโยบายเร่งด้วนออกมา ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จากหลากหลายทัศนะมุมมอง อันเนื่องมาจากผลกระทบด้านบวกต่อประชาชนในระดับรากหญ้า รัฐจึงใช้ยุทธวิธีทั้งในเชิงรุก คือ การสร้างกระแสตื่นตัวในการส่งเสริมให้ประชาชนได้ออกกําลังกายในรูปแบบต่างๆ โดยใช้ทรัพยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การออกกําลังประกอบเพลงดนตรีท้องถิ่นของแต่ละภาค เป็นต้น เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี

ยุทธวิธีในเชิงรับ คือ การดูแลรักษาผู้ที่มีโรคภัย หรือไม่สบาย ดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับหนึ่ง เป็นการให้โอกาสกับประชาชนได้เข้าบริการของรัฐตามสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๒ มีเป้าหมายทางสังคม คือ การมีสุขภาพชีวิตที่ของประชาชน การพัฒนาด้านกายตามแนวพุทธศาสตร์จึงเป็นการกําหนดทำาทีและทิศทางอันเหมาะสมกับตนเอง   
   

@@@@@@@

๔.๒ ศีลภาวนา คือ การพัฒนาพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล  ให้ถูกต้องสอดคล้องกับระเบียบวินัย  กฎเกณฑ์ กติกาของสังคม ตลอดถึงขนบธรรมเนียม จารีตวิถี และมารยาทสากลนิยม มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ประกอบอาชีพที่สุจริต ใช้ชีวิตถูกต้อง และขยันหมั่นเพียรสร้างผลผลิต (product) ให้เพิ่มขึ้นโดยสุจริตในการประกอบอาชีพ (อุฏฐานสัมปทา) รู้จักฉลาดอดออม (save) ทรัพย์สินที่หามาได้ ด้วยมาตรการต่างๆ (อารักขสัมปทา) เข้าสู่ระบบการออมของนโยบายรัฐ

สังคมไม่มีสันติสุข ขาดความสมดุลยภาพเพราะปัจเจกบุคคลบกพร่องในจริยธรรม คุณธรรม ที่ได้ชื่อว่าศีลนี้เอง  โดยเฉพาะศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลขั้นต้น นับเป็นหลักสากลในการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม ทั้งมิติของคําพูดการกระทํา และการเลี้ยงชีพ       

ผลกระทบต่อสังคม อันเนื่องมาจากการย่อหย่อนหรือความบกพร่องทางคุณธรรม คือ ความเสียหายต่อสังคม ประเทศชาติ ความเชื่อมั่นต่อประเทศลดลง การพัฒนาไม่ประสบผลสําเร็จเพราะกระบวนการที่ถูกต้อง สังคมจึงไม่ปกติสุข มีปัญหา อันเป็นผลมาจากการทุจริตทั้งสามมิติ คือพูด พฤติกรรม และการอาชีพการทุจริต หรือคอรัปชั่น มีสมุฏฐานมาจากการบกพร่องทางศีลธรรม จึงมีปรากฏทุจริตเชิงนโยบายอันแยบยลออกมา องค์กรอิสระที่เราตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ถูกต้องคาดหวังเอาไว้สูงมาก เพราะเราได้สูญเสียโอกาส สิทธิอันพึงมีพึงได้     

ดังปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๙ (๒๕๔๔-๒๕๔๙) จึงได้กําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการบริหารจัดการที่ (Good governance) เป็นยุทธศาสตร์ที่สําคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์ให้ขับเคลื่อนไปด้วยดี และให้ความสําคัญกับ การปรับระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ (Sufficiency) และโปร่งใส (Transparent) การป้องกันและการทุจริตประพฤติมิชอบ       

@@@@@@@

๔.๓ จิตตภาวนา การพัฒนาจิต ฝึกอบรมจิต ข่มอารมณ์ความรู้สึกได้ มีความเจริญงอกงามทางอารมณ์ (Emotional  growth) จิตที่ฝึกอารมณ์ดีแล้วนําความสุขมาให้ จิตที่มีคุณภาพประกอบด้วยคุณธรรมตามหลักศาสนา มีสมาธิ มีสติมั่นคง ใช้งานได้ดี เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น     

การพัฒนาจิตเป็นเรื่องของคุณธรรม ความรู้สึก แรงจูงใจ สภาพจิตใจ และเป็นนามธรรม คนเข้าใจยาก ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อสังคมเผชิญกับภาวะวิกฤต ก็เอาตัวไม่รอด มีการฆ่าตัวตาย เพราะภูมิคุ้มกันทางจิตไม่ดี สุขภาพจิตเปราะบาง เมื่อประสบเหตุการณ์เข้า ทนไม่ได้ หาทางออกไม่ได้ ฆ่าตัวตาย ถ้าผ่านกระบวนการฝึกอบรมจิต ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิด ไม่ส่งผลกระทบกับสังคม       

ข้อเสนอในประเด็นนี้ คือ สร้างจิตสํานึกด้านคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ส่งเสริมให้มีการศึกษาองค์ความรู้ของศาสนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะพุทธศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตอยู่แล้ว ให้เวลากับการสํารวจดูตัวเองอย่างมีวิจารณญาณ ใช้ปัญญาให้มากอย่าให้อารมณ์อยู์เหนือเหตุผล ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากแต่ถ้าตั้งใจแน่วแน่ใช้เวลาในการศึกษา รู้ทันตัวเอง มีสติกํากับอยู่ทุกขณะ     

สร้างกระบวนการในการบริหารงานด้านส่งเสริมคุณภาพจิตใจของประชาชน โดยการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเผยแผ่องค์ความรู้ด้านศาสนธรรมแก่ประชาชน และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสุขภาพจิต ปรับปรุงกระบวนการทํางานให้ทันเหตุการณ์ ศึกษาวิเคราะห์แนวทางต่างๆ อย่างเป็นระบบ ในรูปเครือข่ายงานสร้างคุณภาพจิตของประชาชน     

วิธีการในการพัฒนาคุณภาพจิตของพุทธศาสนา มีให้เลือกและสามารถนํามาใช้กับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลอย่างเหมาะสมหลายประการ แต่ละอย่างมีผลสะท้อนกลับมายังผู้ปฏิบัติมากน้อยตามกําลังความสามารถของแต่ละคน โดยไม่ต้องเข้าศึกษาหรือบวชเรียนตามสํานักต่างๆ เพียงแต่มีศูนย์ดูแลมีบุคลากรผู้ประสบการณ์ เชี่ยวชาญเข้าใจในวิธีบริการดีต่อผู้อื่น     

ในกระแสโลกาภิวัตน์สิ่งที่มาคู่กัน คือ กระแสวัตถุนิยมในระบอบประชาธิปไตยคนที่จะยืนหยัดสู้ได้ จิตใจต้องเข้มแข็ง ชีวิตจึงไม่ตกเป็นทาส หรือเหยื่อของกระแส ไม่ต้องไปมองไกลถึงขนาดที่จะช่วยสังคมองค์รวมให้พ้นปัญหาสาธารณะ ขอเพียงให้แต่ละคนช่วยตนเองให้ได้ ก็เป็นปัญหาที่หนักหนาพอสมควร พุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพจิต จึงเป็นเรื่องของจิตตภาวนาโดยตรง       


@@@@@@@

๔.๔ ปัญญาภาวนา พัฒนาปัญญา การฝึกอมรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันเข้าใจโลกและชีวิตตามสภาวะ เป็นการไตร่ตรองวินิจฉัยเหตุการณ์ตามความเป็นจริง เป็นอิสระ ไม่ตามกิเลส รู้และเข้าใจอะไรตามความเป็นจริง

ข้อเสนอในประเด็นนี้ หลักการหรือแนวทางการพัฒนาตามแนวทางของพุทธศาสนา ที่จะนําไปกําหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรบุคคล จะต้องมีปัญญากํากับเสมอ ปัญญาเป็นคุณธรรมสําคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยเป็นแสงสว่างส่องทางแห่งชีวิต ช่วยคุ้มครอง หรือปกครองคนและข้อสําคัญ ช่วยให้พ้นทุกข์ หรือให้หาความสุขได้ในท่ามกลางความทุกข์ การเผชิญปัญหาชีวิตโดยปราศจากปีญญา เปรียบเหมือนการเดินคลําไปในที่มืด อาจตกหลุมตกบ่อ หรือที่รกชัฏก็ได้

หลักการหรือแนวทางการพัฒนาตามแนวทางของพุทธศาสนา ให้ความสําคัญกับปัญญาอย่างยิ่ง และปัญญานั้นต้องเป็นสัมมาปัญญา คือปัญญาที่ถูกต้อง ปัญญาเกิดจากการประกอบความเพียร ฝึกฝน มิใช่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ เพราะปัญญาที่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญไม่สามารถที่จะเป็นปัญญาขั้นสูงสุด ประเภทของปัญญาจึงมีหลายอย่าง แต่ปัญญาที่จะกําหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ได้ ขอเสนอในที่นี้ คือ       

    ๑) จินตามยปัญญา ปัญญาชนิดนี้เกิดจากการจินตนาการ หรือคิดพิเคราะห์ใคร่ครวญด้วยวิจารณญาณ
    ๒) สุตามยปัญญา ปัญญาประเภทนี้เกิดจากการศึกษา ฟังจากท่านผู้รู้ อบรมสัมมนา ฟังจากสื่ออื่นๆ     
    ๓) ภาวนาปัญญา เกิดจากการพัฒนาโดยกระบวนการต่างๆ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีภูมิรู้

ปัญญามีขีดความสามารถ แข็งแกร่งทางด้านวิชาการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีประกอบอาชีพด้วยวิชาการและทักษะชั้นสูง จําเป็นที่จะต้องกําหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาปัญญาของมวลชน

เป้าหมายสูงสุดของยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามแนวพุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาให้เกิดปัญญา ซึ่งมีวิธีการเพื่อส่งผลให้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุด ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา คือ การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง     

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของปัจเจกบุคคลให้ดีขึ้นในทุกด้าน ทั้งมิติร่างกาย  อารมณ์ สังคมและวิญญาณ ซึ่งแต่ละตัวมีเครื่องชี้วัดคุณภาพ (Indicator) แตกต่างกันไป การสร้างยุทธศาสตร์พัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนา คือ เป้าหมายทางสังคมนั้น       

@@@@@@@

พัฒนาตามแนวทางของพุทธศาสนา มีหลักการที่เป็นองค์ความรู้ที่จะกําหนดเป็นยุทธวิธีในการพัฒนาไว้อย่างเด่นชัด สามารถที่จะเลือกใช้ได้ตามกลุ่มเป้าหมาย หรือปัจเจกบุคคลที่จะพัฒนา เป็นวิธีการ (ploy) ของการพัฒนาที่ส่งผลต่อการดําเนินงานยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องวางตําแหน่ง (position) กลุ่มเป้าหมายที่จะพัฒนา ตามลําดับของความแตกต่างทางด้านความสามารถทางสติปัญญา (Intelligence) เช่น 
    ๑) ผู้ที่มีสติปัญญา (IQ) สูง การรับรู้ เข้าใจได้เร็วเรียกว่า อุคฆฏิตัญญู
    ๒) ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดรองลงมา เรียกว่า วิปจิตัญญู
    ๓) ผู้มีสติปัญญาปานกลาง เนยยะ
    ๔) ผู้อับเฉาปัญญา หรือขั้นปัญญาอ่อน เรียกว่า ปทปรมะ 

สําหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในมิติของระดับสติปัญญา ได้กําหนดยุทธวิธีหรือหลักการที่เป็นแนวทางสําหรับปฏิบัติให้เหมาะสมแตกต่างออกไปมีเป้าหมายอยู่ที่ เข้าใจอย่างถูกต้อง เหมาะสําหรับการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษา     

การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในการวางยุทธศาสตร์พัฒนา การกําหนดกลุ่มเป้าหมายมีความสําคัญเพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการที่จะวางยุทธศาสตร์ไปอย่างมีทิศทาง ซึ่งจะส่งผลให้กับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางสังคม(Social goal) คือ สมาชิกของสังคมทั้งหมดเกิดสันติสุข เป้าหมายทางเศรษฐกิจ (Economic goal)  คือ  ความมั่งคั่ง (Wealth) พร้อมทั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิต (Ultimate goal) คือ นิพพาน สภาวะที่เป็นสุขสูงสุดเพราะไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพที่สมบูรณ์     

ในมิติอื่นๆ พุทธศาสตร์มีมุมมองและวางเอาไว้อย่างครอบคลุมเกือบทุกสาขา โดยมี (Goal หรือ Purpose) แตกต่างกันไป ในที่นี้ไม่สามารถที่จะกล่าวถึงได้หมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระเบียบวิธีศึกษาวิจัยและศักยภาพของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน ยุทธศาสตร์จึงเป็นการนําองค์ความรู้อันหลากหลาย ของพุทธศาสนามาประกอบในการกําหนดโดยวางวิธีการหรือยุทธวิธีในหมวดองค์ความรู้ด้านนั้นๆ จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้สติปัญญาและความสนใจของผู้ศึกษาเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาต่อไป


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jsrc/article/view/211162/146299





ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
บทความของ : ภาษิต สุขวรรณดี สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา | bhasitsukhawandee@gmail.com
ที่มา : วารสารสิรินธรปริทรรศน์ , ปีที่ ๑๗ ,ฉบับที่ ๑ ,มกราคม-มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙
website : https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jsrc/article/view/211162/146299
32  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พระภูตเถระ : ผู้ยินดีในความสงัดและความอยู่ผาสุกสบายในป่า เมื่อ: เมษายน 02, 2024, 07:23:08 am
.



พระภูตเถระ : ผู้ยินดีในความสงัดและความอยู่ผาสุกสบายในป่า

ว่าด้วย : ผู้ยินดียิ่งในความสงัด

เหตุการณ์ : บุพกรรมและคาถาสุภาษิตของพระภูตเถระ - พระภูตเถระประกาศการยินดียิ่งในความสงัดและความอยู่ผาสุกสบายในป่าแก่ญาติ ผู้ปรารถนาให้ท่านอยู่อย่างไม่ลำบากและพวกตนได้เจริญบุญขึ้น

ท่านพระภูตะเถระผู้ได้บำเพ็ญ สั่งสมบุญซึ่งเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ได้นามว่าเสนะ วันหนึ่งพบพระศาสดา มีใจเลื่อมใส จึงชมเชยด้วยคาถา ๔ คาถา ว่า

    • ผู้ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ทรงชนะวิเศษ มีพระฉวีวรรณดังทองคำแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

    • ผู้เห็นพระฌานของพระพุทธเจ้าอันเปรียบเหมือนภูเขาหิมวันต์อันประมาณไม่ได้ ดังสาครอันข้ามได้ยากแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

    • ผู้เห็นศีลของพระพุทธเจ้าซึ่งเปรียบเหมือนแผ่นดินอันประมาณไม่ได้ ดุจมาลัยประดับศีรษะอันงดงาม ฉะนั้นแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

    • ผู้เห็นพระญาณของพระพุทธเจ้าซึ่งเปรียบดุจอากาศอันไม่กำเริบ ดุจอากาศอันนับไม่ได้ฉะนั้นแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

ด้วยการสรรญเสริญนั้น ท่านไม่ได้เข้าถึงทุคติเลยตลอด ๙๔ กัป

@@@@@@

ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นลูกชายของเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติมากในบ้านใกล้ประตูนครสาเกต ท่านเศรษฐีมีบุตรหลายคน แต่ถูกยักษ์จับกินเสีย เพราะผูกใจอาฆาตไว้ แต่สำหรับเด็กคนนี้ พวกภูตพากันคุ้มครองไว้ได้ เพราะความที่เป็นผู้เกิดชาติสุดท้าย ญาติทั้งหลายจึงตั้งชื่อว่า ภูตะ

เมื่อรู้เดียงสา ท่านพร้อมกับพวกอุบาสกพากันไปยังวิหาร ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาในพระนครสาเกต เกิดมีศรัทธา ออกบวช แล้วอยู่ในถ้ำใกล้ฝั่งแม่น้ำชื่อว่าอชกรณี เริ่มเจริญวิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต.

สมัยต่อมา พระเถระต้องการอนุเคราะห์หมู่ญาติ จึงไปยังพระนครสาเกต ได้รับการบำรุงจากพวกญาติ ๒-๓ วัน ก็ไปอยู่ในป่าไม้อัญชัน พวกญาติพากันอ้อนวอนให้พระเถระอยู่ต่อเพื่อความไม่ลำบากและพวกตนได้เจริญบุญขึ้น




พระเถระประกาศการยินดียิ่งในความสงัดและความอยู่ผาสุกสบายในป่าของตน จึงกล่าวคาถาว่า

    "เมื่อใด บัณฑิตกำหนดรู้ทุกข์ในเบญจขันธ์ที่ปุถุชนทั้งหลายไม่รู้แจ้งว่า ความแก่และความตายนี้เป็นทุกข์ แล้วจมอยู่ เป็นผู้มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นย่อมไม่ประสบความยินดีในเบญจขันธ์นั้น ยิ่งไปกว่าความยินดีในวิปัสสนา และในมรรคผล"

    "เมื่อใด บัณฑิตละตัณหาอันนำทุกข์มาให้ ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ นำมาซึ่งทุกข์อันเกิดเพราะความต่อเนื่องแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า เป็นผู้มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นย่อมไม่ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น"

    "เมื่อใด บัณฑิตถูกต้องทางอันสูงสุด เป็นทางปลอดโปร่ง ให้ถึงองค์ ๒ และองค์ ๔ เป็นที่ชำระกิเลสทั้งปวงด้วยปัญญา มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นย่อมไม่ได้ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการเพ่งพิจารณานั้น"

    "เมื่อใด บัณฑิตเจริญสันตบทอันไม่ทำให้เศร้าโศก ปราศจากธุลี อันปัจจัยอะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้ ให้หมดจดจากกิเลสทั้งปวง เป็นเครื่องตัดกิเลสเครื่องผูกพัน คือสังโยชน์ เมื่อนั้นย่อมไม่ได้ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการเจริญสันตบทนั้น"

    "เมื่อใด กลอง คือ เมฆอันเกลื่อนกล่นด้วยสายฝน ย่อมคำรนร้องอยู่บนนภากาศอันเป็นทางไปแห่งฝูงนกอยู่โดยรอบ และภิกษุไปเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่เงื้อมเขา เมื่อนั้นย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการเพ่งธรรมนั้น"

    "เมื่อใด บัณฑิตมีจิตเบิกบาน นั่งเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำทั้งหลาย อันดารดาษไปด้วยดอกโกสุม และดอกมะลิที่เกิดในป่าอันวิจิตรงดงาม ย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการนั่งเพ่งพิจารณาธรรมนั้น"

    "เมื่อใด มีฝนฟ้าร้องในเวลาราตรี ฝูงสัตว์ที่มีเขี้ยวก็พากันยินดีอยู่ในป่าใหญ่ และภิกษุไปเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่เงื้อมเขา เมื่อนั้นย่อมไม่ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น"

    "เมื่อใด ภิกษุกำจัดวิตกทั้งหลายของตน เข้าไปสู่ถ้ำภายในภูเขา ปราศจากความกระวนกระวายใจ ปราศจากกิเลสอันตรึงใจ เพ่งพิจารณาธรรมอยู่ เมื่อนั้นย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น"

    "เมื่อใด ภิกษุมีความสุข ยังมลทินกิเลสอันตรึงจิตและความเศร้าโศกให้พินาศ ไม่มีกลอนประตู คือ อวิชชา ไม่มีป่าคือตัณหา ปราศจากลูกศรคือกิเลส เป็นผู้ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป เพ่งพิจารณาธรรมอยู่ เมื่อนั้นย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการเพ่งพิจารณาธรรมนั้น"

 
อ่าน ภูตเถรคาถา




 
ขอขอบคุณ :-
อ้างอิง : ภูตเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๖/๓๖๙/๒๙๕-๒๙๖ และอรรถกถา
website : https://uttayarndham.org/node/5040
33  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: อานิสงส์การสวดมนต์ ในหลากหลายมุม เมื่อ: เมษายน 01, 2024, 07:39:58 am
.



บทสรุปและอภิปรายผล

บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์ของประชากรทั้งสามวัย เปรียบเสมือนการก้าวเดินตามบันไดแห่งชีวิต เริ่มตั้งแต่การได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดการสวดมนต์จากครอบครัวตั้งแต่วัยเด็กเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนาตามความเชื่อ ความศรัทธาจากคนในครอบครัวที่อาศัยอยู่เมื่อเวลาผ่านไปแต่ละช่วงวัย ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าวัยแรงงานจะสะท้อนภาพดังกล่าวได้ชัดเจน เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง มีการก่อร่างสร้างตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเริ่มเข้าสู่การทำงาน การเริ่มสร้างครอบครัว ซึ่งต้องมีการปรับตัว ทำให้มีโอกาสพบเจอเหตุการณ์สำคัญ หรือปัญหาที่เป็นวิกฤติของชีวิต ทำให้คนเหล่านี้หันมาใช้เลือกวิธีการสวดมนต์ เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีวัยแรงงานส่วนหนึ่งที่สนใจในเรื่องการสวดมนต์ เพราะเห็นความสำคัญของการสวดมนต์ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ในขณะที่วัยสูงอายุเป็นวัยที่ผ่านประสบการณ์ในการใช้ชีวิตและได้ซึมซับเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมมากมาย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน จนถึงช่วงบั้นปลายชีวิต หมดภาระครอบครัว ต้องการปล่อยวางจากเรื่องต่างๆการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะการสวดมนต์ จึงเป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใช้เป็นที่พึ่งและยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

ประชากรทั้งสามกลุ่มวัยมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า การสวดมนต์เป็นสิ่งที่ดี ต้องสวดด้วยความศรัทธาและเชื่อว่ามีคุณค่าทางด้านจิตใจจึงจะเกิดประโยชน์ การสวดมนต์ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันที่ทำเป็นประจำ ถ้าหากไม่ได้สวดมนต์จะเกิดความรู้สึกกังวลในจิตใจ หรือบางคนทำให้นอนไม่หลับ ส่วนใหญ่จะสวดช่วงก่อนนอนเพราะเป็นช่วงเวลาที่เงียบ และจะสวดเสียงดังในระดับที่ตนเองได้ยิน เพื่อให้จิตใจจดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์

@@@@@@@

ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของสุภาพ หอมจิตร (2554) ที่กล่าวว่าการสวดมนต์จะเกิดประโยชน์แก่จิตของผู้สวดมนต์เอง เสียงในการสวดมนต์ของผู้สวดจะกลบเสียงภายนอกไม่ให้เข้ามารบกวนจิต ซึ่งจะทำให้ผู้สวดเกิดความสงบอยู่กับบทสวดมนต์นั้นๆ และผู้สวดต้องสวดเสียงดังให้ได้ยินในหูของตนเอง เพื่อให้จิตจดจ่ออยู่กับเสียงสวดมนต์ จึงทำให้เกิดสมาธิ (สมเด็จพระพุฒาจารย์ พรหมรังสี, ม.ป.ป.)

ทั้งสามช่วงวัยเห็นว่า การสวดมนต์จำเป็นต้องรู้และเข้าใจความหมายของแต่ละบทที่สวด เพราะบทสวดแต่ละบทมีคำสอนและหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งหากรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

สอดคล้องกับข้อมูลจากนักวิชาการด้านพุทธศาสนาที่ชี้ว่า หากผู้สวดรู้คำแปลจะยิ่งทำให้ผู้สวดมนต์เกิดศรัทธาเชื่อมั่นในบทสวดมากขึ้น ส่งผลให้ได้รับความสงบในจิตใจและแสงสว่างทางปัญญา สามารถนำหลักธรรมในบทสวดมนต์ไปปฏิบัติตามได้ (อัครเดช, ม.ป.ป.)

การอธิษฐานขอพรหลังจากการสวดมนต์ เป็นที่น่าสนใจว่า ผู้สวดมนต์ในกลุ่มวัยรุ่น และวัยแรงงานส่วนหนึ่งสะท้อนมุมมองในเรื่องการเรียนและทำงานให้เห็นว่า การขอพรเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้สำเร็จได้ หากแต่ต้องลงมือกระทำด้วยจึงจะประสบผลสำเร็จได้จริง ผู้สวดมนต์ทั้งสามกลุ่มวัยส่วนใหญ่จะอธิษฐานขอพรให้กับครอบครัวหรือบุคคลในครอบครัวเป็นลำดับแรก โดยส่วนใหญ่ขอให้คนในครอบครัวมีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืนนาน ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมไทย สถาบันครอบครัวยังมีความสำคัญสำหรับคนในทุกช่วงวัย นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน




ผู้สวดมนต์ทั้งสามวัยมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันว่า ประโยชน์หรืออานิสงส์สำคัญที่ได้รับจากการสวดมนต์คือ การมีสติในขณะที่สวดมนต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จิตใจจะสงบและเกิดความสุข สอดคล้องกับแนวคิดของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พรหมรังสี (ม.ป.ป.) ที่กล่าวว่า ผู้สวดมนต์จะซึมซับการสวดมนต์จากการฟังเสียง ทำให้มีสติและเกิดความรู้สึกสบายใจ ได้ความรู้ เกิดปัญญามีจิตสงบลึกซึ้งตามไปด้วย

นอกจากนี้ ผู้สวดมนต์แต่ละกลุ่มวัยได้สะท้อนข้อมูลสำคัญในการนำประโยชน์จากการสวดมนต์ดังกล่าว มาปรับใช้ในวิถีชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม ภายใต้บริบทที่มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย โดยกลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน ได้นำประโยชน์จากการสวดมนต์ไปปรับใช้ในการทำสมาธิก่อนสอบ และมีสติขณะสอบ

สอดคล้องกับผลการศึกษาของฐิตวี แก้วพรสวรรค์ และคณะ(2555) เรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความเป็นผู้มีสติของวัยรุ่นไทย เพื่อวัดลักษณะความเป็นผู้มีสติในกลุ่มนักเรียนหญิงและชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 658 ราย ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่นักเรียนที่สวดมนต์ที่บ้านทุกวันหรือเกือบทุกวัน จะเห็นประโยชน์ของการมีสติ สูงถึงร้อยละ 90.8 และมีความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกสติถึงร้อยละ 60.1

@@@@@@@

จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นชัดว่า การสวดมนต์มีส่วนในการสร้างสติและสมาธิได้เป็นอย่างดี ส่วนวัยแรงงานได้นำประโยชน์จากการมีสติมาปรับใช้ในการควบคุมอารมณ์ในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน และผู้สูงอายุจะให้ความสำคัญกับการสวดมนต์ ในฐานะเป็นสิ่งที่คอยยึดเหนี่ยวและมีคุณค่าทางจิตใจ เพื่อให้เกิดความสบายใจและความสุข ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

สอดคล้องกับผลการศึกษาของวรรณวิสาข์ ไชยโย(2555) ที่ศึกษาทรรศนะ เรื่องความสุขในผู้สูงอายุ : กรณีศึกษาบ้านวัยทองนิเวศน์ พบว่า ก่อนนอนผู้สูงอายุมักจะสวดมนต์ ไหว้พระทุกคืน เพราะเมื่อปฏิบัติแล้วทำให้เกิดความสุขและความสงบภายในจิตใจ

จากข้อค้นพบดังกล่าว การสวดมนต์อาจถือเป็นกิจกรรมทางเลือกที่สามารถทำได้ที่บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เหมาะสำหรับทุกกลุ่มวัย และเหมาะสำหรับทั้งผู้มีปัญหา และไม่มีปัญหาในการดำรงชีวิต ซึ่งผู้ที่สนใจอาจทดลองนำการสวดมนต์ไปใช้ในวิถีประจำวัน อาจเกิดประโยชน์หรืออานิสงส์เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้ศึกษาเฉพาะผู้สวดมนต์ที่สวดเป็นประจำหรือบ่อยครั้งเท่านั้น ดังนั้นในการวิจัยครั้งต่อไปจึงควรศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริม หรือเป็นอุปสรรคในการสวดมนต์ โดยศึกษาทั้งกลุ่มคนที่สวดและไม่ได้สวดมนต์ ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบปัญหาและอุปสรรคของการสวดมนต์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำผลการศึกษาไปใช้ในการวางแผนเผยแพร่กิจกรรมการสวดมนต์ต่อไป

@@@@@@@

กิตติกรรมประกาศ

บทความนี้ใช้ข้อมูลจากโครงการ “การศึกษาสถานการณ์การสวดมนต์ในประเทศไทย : กรณีศึกษากิจกรรมการสวดมนต์ข้ามปี” ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)









ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
ข้อมูลจาก : เอกสาร ความหลากหลายทางประชากรและสังคม ในประเทศไทย ณ ปี 2558 ,หน้าที่ 269-284 ,ที่มา https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/447-IPSR-Conference-A17-fulltext.pdf 
อ่านหนังสือ "ประชากรสามกลุ่มวัยได้อะไร จากการสวดมนต์" (ฉบับสมบูรณ์) ได้ที่ https://ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/FileUpload/PDF/Report-File-512.pdf

เอกสารอ้างอิง :-
   1. จุฑาทิพย์ อุมะวิชนี. (2552). ตำนานบทสวดมนต์. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ธรรมสาร.
   2. ฐิตวี แก้วพรสวรรค์, กมรพร แก้วสวรรค์, และถิรพร ตั้งจิตติพร. (2555). ปัจจัยที่มีผลต่อความเป็นผู้มีสติของวัยรุ่นไทย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 57(4) : 403 – 412.
   3. ณรงค์ ฤทธิวาจา. (2555). สาระความรู้ใกล้ตัว : ผู้สูงวัย. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2557, จาก http://vgi – intra.vgi.co.th/vgi – intra/LinkWebpage/มุมนี้ดีมีสาระ/Information/020512/K77 – HB.pdf
   4. ทัศนา จิรสิริธรรม. (2552). ศึกษาการสวดมนต์แปลเพื่อการบรรเทาทุกข์ทางใจ : กรณีศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการอยู่เย็นเป็นสุขพ้นทุกข์ร่วมกัน ณ เสถียรธรรมสถาน [วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
   5. เบญมาศ ตระกูลงามเด่น และสุรีพร ธนศิลป์. (2555). ผลของโปรแกรมการจัดการอาการที่เน้นการสวดมนต์ต่ออาการปวดของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย. วารสารสำนักการแพทย์ทางเลือก. 5(2) : 30 – 42.
   6. พรทิพย์ ปุกหุต และทิตยา พุฒิคามิน. (2555). ผลของการสวดมนต์บำบัดต่อความวิตกกังวลและความผาสุกทางจิตวิญญาณในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะรับการรักษา. วารสารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. 30(2) : 122 – 130.
   7. พินิจ รัตนกุล. (2548). สวดมนต์ สมาธิ วิปัสสนา รักษาโรคได้. นครปฐม : มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์.
   8. รศรินทร์ เกรย์, ภาณี วงษ์เอก, ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์ และเจตพล แสงกล้า. (2557). รายงานผลการศึกษาเชิงปริมาณ
   9. การสวดมนต์ข้ามปี 2556 – 2557: กรณีศึกษา 4 ภาค. นครปฐม : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
 10. วรรณวิสาข์ ไชยโย. (2555). ทรรศนะเรื่องความสุขในผู้สูงอายุ : กรณีศึกษาบ้านวัยทองนิเวศน์. มนุษยศาสตร์สาร. 13(1) : 16 – 30.
 11. สมเด็จพระพุฒาจารย์ พรหมรังสี. (ม.ป.ป.). อมตะธรรม : ประวัติการสวดมนต์. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2557, จาก http://www.kanlayantam.com/sara/sara/64.htm
 12. สุภาพ หอมจิตร. (2554). สวดมนต์อานิสงค์ครอบจักรวาล. กรุงเทพมหานคร : เลี่ยงเซียง.
 13. สุภาพรรณ ณ บางช้าง. (2529). วิวัฒนาการงานเขียนภาษาบาลีในประเทศไทย : จารึก ตำนาน พงศาวดารสาส์น ประกาศ. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
 14. อัครเดช ญาณเตโช. (ม.ป.ป.). ประโยชน์ของการสวดมนต์. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2557, จาก https://www.stou.ac.th/study/sumrit/1 – 56(500)/page1 – 1 – 56(500).html
34  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: อานิสงส์การสวดมนต์ ในหลากหลายมุม เมื่อ: เมษายน 01, 2024, 06:53:46 am
.



ระเบียบวิธีวิจัย

การศึกษานี้ ใช้ข้อมูลจากโครงการ “การศึกษาสถานการณ์การสวดมนต์ในประเทศไทย: กรณีศึกษากิจกรรมการสวดมนต์ข้ามปี” ในส่วนของการศึกษาเชิงคุณภาพ ซึ่งใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In–depth interview) กลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งจากบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 2556–2557 จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย

1) เป็นผู้ที่สวดมนต์ทุกวันหรือเกือบทุกวันในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา (นับย้อนหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2556)
เพื่อให้ได้ข้อมูลและรูปแบบเกี่ยวกับการสวดมนต์ที่ชัดเจนกว่าผู้ที่สวดมนต์นานๆ ครั้ง หรือสวดมนต์เฉพาะวันสำคัญทางศาสนา/วันพระ

2) มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี พ.ศ. 2556–2557 ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
จำนวน 29 ราย โดยกระจายตามเพศ (ชาย 12 ราย และหญิง 17 ราย) และช่วงวัย ได้แก่
    (1) กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 – 24 ปี จำนวน 8 ราย
    (2) กลุ่มวัยแรงงานอายุ 25 – 59 ปี จำนวน 13 ราย และ
    (3) กลุ่มวัยสูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 8 ราย

เครื่องมือในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ คือแนวคำถามเจาะลึก ซึ่งทีมวิจัยได้นำข้อเสนอแนะ ที่ได้จาก
ผู้เชี่ยวชาญในการเสวนาให้คำปรึกษา “ความหมาย คุณค่า และวิธีการสื่อสารของการสวดมนต์ เพื่อเชื่อมโยงสู่การพัฒนาจิต” (Consultative meeting) มาพัฒนาเป็นแนวคำถามเฉพาะประเด็นที่ต้องการเจาะลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ลุ่มลึก ซึ่งสามารถอธิบายเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความสนใจ ประโยชน์และอานิสงส์ของการสวดมนต์ได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์

@@@@@@@

การเก็บข้อมูลภาคสนามเชิงคุณภาพ

การศึกษาครั้งนี้มีการเก็บข้อมูลจำนวน 3 ครั้ง ในระหว่างช่วงเดือนเมษายน ถึงสิงหาคม พ.ศ. 2557 ซึ่ง
การนัดหมายเก็บข้อมูลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการในวันหยุดสุดสัปดาห์และนอกเวลาราชการโดยติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ก่อนเพื่อนัดหมายวัน เวลา และสถานที่ที่สะดวกให้สัมภาษณ์ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีภารกิจในการประกอบอาชีพ เช่น เป็นข้าราชการ พนักงานเอกชน และบางส่วนเป็นนักเรียน/นักศึกษา

นักวิจัยหลักและนักวิจัยร่วมเป็นผู้เก็บข้อมูลภาคสนามด้วยตนเอง โดยมีผู้ช่วยนักวิจัยร่วมในกระบวนการเก็บข้อมูลทุกขั้นตอน และนักวิจัยได้ใช้การสังเกตบริบทของครอบครัวและชุมชนในขณะสัมภาษณ์ด้วย และสามารถถามซัก (Probe) ในประเด็นที่สนใจที่ถูกหยิบยกมากล่าวโดยผู้ให้ข้อมูลได้

อนึ่ง ชื่อที่ปรากฏอยู่ในบทความนี้เป็นเพียงนามสมมุติ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการจริยธรรมในการทำวิจัยในคน ที่ทีมวิจัยจะไม่เปิดเผย ชื่อ–นามสกุลจริงของผู้ให้ข้อมูล

ผลการศึกษา

จากผลการศึกษาเชิงคุณภาพครั้งนี้ พบว่า มุมมองของผู้สวดมนต์ทั้งสามกลุ่มวัยในเรื่องบริบททางสังคมและวัฒนธรรมและรูปแบบการสวดมนต์มีความคล้ายคลึงกัน ส่วนการอธิษฐานขอพร รวมถึงการนำประโยชน์และอานิสงส์จากการสวดมนต์ไปปรับใช้ในชีวิตของประชากรสามกลุ่มวัย พบว่ามีความแตกต่างระหว่างสามช่วงวัย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

@@@@@@@

ลักษณะบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นสู่การสวดมนต์

มิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์ของประชากรทั้งสามกลุ่มวัยมีความเชื่อมโยงกัน กล่าวคือ การสวดมนต์ได้รับการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก และได้ปฏิบัติมากขึ้นตามประสบการณ์ชีวิต จำแนกได้เป็น 3 มิติ คือ
     1) การได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดจากครอบครัว
     2) เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิต และ
     3) การเรียนรู้หลักธรรมโดยเริ่มจากความสนใจ และตั้งใจศึกษาหลักธรรมด้วยตนเอง

1) การได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดจากครอบครัว ทั้งสามช่วงวัยมีพื้นฐานการสวดมนต์ โดยได้รับปลูกฝังและถ่ายทอดจากครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนาตามความเชื่อและความศรัทธาจากคนในครอบครัวที่อาศัยอยู่ด้วยเป็นหลัก และจากการมีพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องพาเข้าวัดทำบุญ ตักบาตร สวดมนต์อยู่เป็นประจำ

    “สวดค่ะ ก่อนนอน แต่ก่อนนอนกับยาย ยายจะพาสวดก่อนนอน…ยายก็สวดยาว เค้าก็ให้อยู่กับเค้า นั่งสวดด้วยกัน…และก็นั่งพนมมืออยู่ข้างๆ อันไหนได้เราก็พูดตาม…ยายสอนบอกว่า ให้แผ่เมตตาด้วย เวลาสวดมนต์”
     (น้องดี เพศหญิง อายุ 22 ปี, กำลังเรียนหนังสือ)
    “ที่บ้านก็จะเคร่งเรื่องการสวดมนต์ ทำวัตร…เค้าจะให้สวดมนต์ตลอด พอถึงวันพระเค้าจะให้สวดมนต์”…
    “สวดก่อนนอนทุกวัน ทำมาตั้งแต่เด็ก คล้ายๆ กับว่าพ่อแม่สอนมาแบบนี้”
     (น้องบอย เพศชาย อายุ 20 ปี, ทำงานแล้ว)

2) เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิต ซึ่งทำให้หันมาสนใจในเรื่องการสวดมนต์ พบว่า วัยแรงงานและวัยสูงอายุจะสะท้อนภาพดังกล่าวได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยแรงงานเป็นวัยที่มีการก่อร่างสร้างตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเริ่มเข้าสู่การทำงาน หรือการเริ่มสร้างครอบครัว ซึ่งต้องมีการปรับตัว กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ทำให้มีโอกาสพบเจอเหตุการณ์สำคัญ หรือปัญหาที่เป็นวิกฤติของชีวิต เช่น ปัญหาในการทำงาน ความทุกข์จากชีวิตครอบครัว การสูญเสียบุคคลที่รัก เป็นต้น ทำให้คนเหล่านี้หันมาใช้วิธีการสวดมนต์เป็นที่พึ่งทางใจเพื่อคลายความทุกข์

    “ตอนที่สวดมนต์น่าจะเป็นช่วงเสียน้องชาย ประมาณ 10 ปีที่แล้ว คิดทำสิ่งที่ดีๆ ให้เกิดกับเค้าโดยการนั่งปฏิบัติธรรม ทำบุญใส่บาตร นึกถึงเค้าทุกครั้งที่เราใส่บาตร แล้วการสวดมนต์เป็นการทำดี โดยที่ไม่ต้องลงทุนสูง นั่งอยู่ในห้องก็ได้ไม่จำเป็นต้องมาที่วัด สวดมนต์ที่บ้านก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นวันพระใหญ่”
     (พี่แอ๋ว เพศหญิง อายุ 49 ปี, ข้าราชการ)

    “ตั้งแต่พ่อแม่แยกทางกัน คือหนูก็เริ่มแบบว่าความทุกข์เริ่มเข้ามาเยอะ ต้องทำให้หนูรับผิดชอบอะไรเยอะขึ้น ต้องเป็นตัวแทนของน้อง และเป็นลูกคนโตด้วย จะทำอย่างไรให้เรารู้สึกดีขึ้น ไม่อยากให้เราเครียด หนูต้องดำเนินชีวิตต่อไป …ก็เลยเลือกใช้วิธีการสวดมนต์”
     (น้องฟาง เพศหญิง อายุ 22 ปี, กำลังเรียนหนังสือ)

นอกจากนี้ การหมดภาระจากหน้าที่การงาน หรือหมดความกังวลเกี่ยวกับลูก เพราะลูกมีอาชีพการงานที่มั่นคง หรือมีครอบครัว ยังเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของกลุ่มวัยสูงอายุที่ทำให้เริ่มสวดมนต์ หรือเลือกไปทำบุญและถือศีลที่วัดอย่างสม่ำเสมอในวันพระมากขึ้น

    “รู้สึกว่าสวดมนต์จริงจัง ตั้งแต่เราออกจากข้าราชการครูมา …อายุมากขึ้น เราก็มาเอาทางพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ช่วย”
     (ป้าแดง เพศหญิง อายุ 70 ปี, ข้าราชการบำนาญ)

3) การเรียนรู้หลักธรรมจากความสนใจและตั้งใจศึกษาหลักธรรมด้วยตนเอง เห็นความสำคัญของการสวดมนต์ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้

  “โดยส่วนตัวผมศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องของหลักธรรม เราไม่ได้รู้ทั้งหมดหรอก เรารู้แต่ส่วนที่จำเป็นที่เป็นแก่นจริงๆ การสวดมนต์จะเป็นสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น เพราะว่าเหมือนกับเป็นกิจกรรมหรือว่าเป็นจารีตประเพณีที่เรามีความศรัทธามีความเคารพ แล้วเราก็ต้องมีการเคารพบูชาประมาณนี้มากกว่า”
    (พี่บอล เพศชาย อายุ 27 ปี, พนักงานของรัฐ)

    “ตั้งใจสวด คือ สวดก็คิดว่าทำแล้วก็ดี ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าชีวิต สวดก่อนนอนทุกคืน น่าจะเป็นผลดี...ไปทำบุญที่วัดเห็นพระเค้าพูดว่าให้สวดมนต์ก่อนนอน ตอนทำใหม่ๆ ไม่ได้คิดอะไร สวดบ้างเว้นบ้าง ถ้าสวดได้ก็สวดไป มันก็ดี เป็นอะไรที่เราคิดของเราเอง”
     (พี่อ้น เพศหญิง อายุ 52 ปี, ธุรกิจส่วนตัว)

จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า มิติเรื่องการเรียนรู้หลักธรรมด้วยตนเอง พบเฉพาะในวัยแรงงานเท่านั้นที่ได้สะท้อนข้อมูลดังกล่าวนี้ แต่นับว่าเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญที่ควรนำมากล่าวถึง เนื่องจากผู้ให้ข้อมูลนี้ ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็กเช่นกัน แต่เมื่อเติบโตขึ้นสนใจศึกษาจากพระอาจารย์ หรือศึกษาเพิ่มเติมด้วยการอ่านหนังสือ เพื่อศึกษาหลักธรรมด้วยตัวเอง ทำให้มีความศรัทธาในหลักธรรมของศาสนา ถือว่าเป็นการต่อยอดจากการที่ได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดจากครอบครัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงวัยใดก็ย่อมได้ หากคนๆ นั้นสนใจศึกษาด้วยตนเอง




การสวดมนต์ต้องเริ่มต้นด้วยความศรัทธา

รูปแบบการสวดมนต์ของทั้งสามกลุ่มวัยมีความคล้ายคลึงกัน คือ เห็นว่าการสวดมนต์เป็นสิ่งที่ดี ต้องสวดด้วยความศรัทธาและเชื่อว่ามีคุณค่าทางด้านจิตใจจึงจะเกิดผลดีต่อตนเอง

     “การสวดมนต์ ต้องมีจิตใจที่ตั้งมั่น คือ น้อมจิตระลึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ต้องมีสมาธิในทุกขั้นตอนในการปฏิบัติ การมีสมาธิในการปฏิบัติหรือทุกขั้นตอนของการสวดจะช่วยให้เรามีสมาธิขึ้น”
      (พี่จี เพศชาย อายุ 43 ปี, ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว)

    “การสวดมนต์มันเหมือนว่าถ้าหากว่าเราไม่ศรัทธา เราสวดไปก็ไม่สบายใจ…เราต้องศรัทธาตลอดการสวดมนต์ คือเราจะต้องเชื่อว่าที่เราสวดไปเราต้องได้…เชื่อว่าที่เราทำต้องเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าถ้าเราไม่เชื่อ เราสวดไปก็ไม่มีประโยชน์”
    (น้องเก้า เพศชาย อายุ 16 ปี, กำลังเรียนหนังสือ)

การสวดมนต์ถือเป็นกิจวัตรประจำวันที่ทำเป็นประจำ จนเกิดความเคยชิน ส่วนใหญ่จะสวดช่วงก่อนนอนในเวลากลางคืน เพราะเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เงียบ ถ้าหากไม่ได้สวดมนต์จะเกิดความรู้สึกกังวลในจิตใจหรือบางคนทำให้นอนไม่หลับ

    “เรานึกในใจว่าวันนี้เมื่อยตัวเหลือเกิน จะนอนแต่วัน พอปูที่นอนเสร็จล้มหัวถึงหมอน คือไม่สวดมนต์ไม่ได้แล้ว เหมือนว่าเราเคยทำแล้วจะไม่ทำไม่ได้ ก็เหมือนเป็นกิจวัตร”…
    “ถ้าหากว่าวันไหนเราไม่สวดก็เหมือนจะนอนไม่หลับ แต่ถ้าเกิดว่าวันไหนที่เราสวดมนต์จะนอนหลับ”
    (ป้าแดง เพศหญิง อายุ 70 ปี, ข้าราชการบำนาญ)

ส่วนใหญ่จะสวดเสียงดังในระดับที่ตนเองได้ยิน เพื่อให้จิตใจไม่วอกแวก อยู่กับบทสวดมนต์ที่กำลังสวดตลอดเวลา

    “สวดมนต์ออกเสียงทุกครั้ง จะไม่พยายามพูดในใจเลย ถ้าเกิดพูดในใจปั๊ป มันทำให้หนูไม่มีสติ ถ้าหนูพูดในใจมีสิทธิ์คิดเรื่องอื่น แต่ถ้าหนูพูดออกมาเลย คือสติจะอยู่กับเสียง สติจะอยู่กับปาก”…
    “คือบทสวดมนต์เค้าบอกว่าถ้าเรายิ่งจดจ่อ แล้วก็ท่องบทนั้น ก็ยิ่งเพิ่มยกระดับ เพิ่มความศรัทธาความเลื่อมใส ก็เหมือนข้อสอบ ถ้าเรายิ่งท่อง ยิ่งจำหลายๆ รอบก็ยิ่งทำให้เราจำได้”
     (น้องฟาง เพศหญิง อายุ 22 ปี, กำลังเรียนหนังสือ)

ผู้สูงอายุที่อ่านหนังสือไม่ออกจะใช้วิธีสวดแบบท่องจำ และสวดตามผู้นำสวดมนต์หากสวดตามไม่ทันหรือจำบทสวดไม่ได้

    “อันไหนสวดไม่ได้ก็จะนั่งเงียบ แต่จะไม่หลับ คือเราตั้งใจฟัง พระพูดอะไรใจเราก็ไปกับเค้า…เราสวดไม่ได้ก็ตามเค้าในใจ…ก็จะจำได้เป็นบางที หัวท้ายจะได้เลย…แต่ก็เออหัวท้ายก็ช่างมันเถอะ”
     (ป้าสาม เพศหญิง อายุ 60 ปี, รับจ้างทั่วไป)

ภาษาที่สวดเป็นภาษาบาลีอย่างเดียวไม่มีบทแปล และทั้งสามช่วงวัยเห็นว่า การสวดมนต์จำเป็นต้องรู้และเข้าใจความหมายของแต่ละบทที่สวด เพราะบทสวดแต่ละบทมีคำสอนและหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

    “ถ้าพูดถึงรู้คำแปลก็ดีนะ เพราะคำแปลทำให้เรารู้หมดเลยว่าพระพุทธเจ้าทำอะไร ทำเหมือนเปี๊ยบ…ก็ยังบอกกับแฟนว่าพระพุทธเจ้าสวดมนต์กับคำแปลเหมือนกันเลยในชีวิตของคนเรา ท่านสอนดีมาก”
     (ป้าน้อย เพศหญิง อายุ 69 ปี, ค้าขาย)

    “โดยส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าเราเข้าใจความหมายอยู่แล้วในขณะที่เราสวด บางครั้งเราไม่ต้องแปลก็ได้แต่เราจะระลึก เรารู้อยู่ในใจอยู่แล้วว่า โอเคเราสวดอะไรอยู่ ความหมายคืออะไร เราสวดเพื่ออะไร”
     (พี่บอล เพศชาย อายุ 27 ปี, พนักงานของรัฐ)

    “หนูว่าคำแปลมีส่วนสำคัญ สวดไปรู้แต่ว่า อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภควา แต่ไม่รู้เลยว่ามันคืออะไรแล้วสวดไปเหมือนกับนกแก้ว นกขุนทอง โดยที่ไม่รู้เลยว่าสวดไปได้อะไร…ถ้าเราได้รู้ความหมาย และทำให้เราสามารถ focus ได้ว่าเราอยากได้อะไร เราก็ focus บทสวดนั้น”
     (พี่แอ๋ว เพศหญิง อายุ 49 ปี, ข้าราชการ)

ส่วนระยะเวลาของการสวดมนต์ พบว่า แต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับบทสวดมนต์ เป็นบทสวดแบบสั้นหรือยาว และความเหนื่อยล้าหลังจากการทำกิจกรรมในแต่ละวัน

    “วันไหนเราทำงานล้าๆ ก็บอกว่าวันนี้จะไม่สวดมนต์ พอหัวถึงหมอน ไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาสวดก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่ว่าคือเราก็สวดแบบง่ายๆ ไม่ต้องยาวมาก”
     (ป้าแดง เพศหญิง อายุ 60 ปี, รับจ้างทั่วไป)

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สวดมนต์ทั้งสามช่วงวัย ในบางรายมีการแผ่เมตตาให้แก่ตนเอง ครอบครัว เจ้ากรรมนายเวร และญาติที่ล่วงลับหลังสวดมนต์เสร็จ

    “เวลาก่อนที่จะสวดจบ พระก็พาแผ่เมตตาให้คนโน้น คนนี้ แค่นี้ก็สบายใจแล้ว…ชอบๆๆ กลัวว่าคนที่ตายไปแล้ว กลัวจะไม่ได้ ก็จะชอบตรงนี้”
     (ป้าสาม เพศหญิง อายุ 60 ปี, รับจ้างทั่วไป)

    ”ถ้าหากว่าสวดมนต์เสร็จ ถ้าหนูนั่งสมาธิเสร็จก็คือจะอโหสิกรรม ต่อด้วยแผ่เมตตาให้ญาติ พ่อแม่…ยายบอกว่าแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรเราด้วย คนที่คิดไม่ดีกับเรา ก็จะเลิกร้ายต่อกันไป”
     (น้องดี เพศหญิง อายุ 17 ปี, กำลังเรียนหนังสือ)

    “หนูว่าคำแปลมีส่วนสำคัญ สวดไปรู้แต่ว่า อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภควา แต่ไม่รู้เลยว่ามันคืออะไรแล้วสวดไปเหมือนกับนกแก้ว นกขุนทอง โดยที่ไม่รู้เลยว่าสวดไปได้อะไร…ถ้าเราได้รู้ความหมาย และทำให้เราสามารถ focus ได้ว่าเราอยากได้อะไร เราก็ focus บทสวดนั้น”
     (พี่แอ๋ว เพศหญิง อายุ 49 ปี, ข้าราชการ)

ส่วนระยะเวลาของการสวดมนต์ พบว่า แต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับบทสวดมนต์ เป็นบทสวดแบบสั้นหรือยาว และความเหนื่อยล้าหลังจากการทำกิจกรรมในแต่ละวัน

    “วันไหนเราทำงานล้าๆ ก็บอกว่าวันนี้จะไม่สวดมนต์ พอหัวถึงหมอน ไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาสวดก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่ว่าคือเราก็สวดแบบง่ายๆ ไม่ต้องยาวมาก”
     (ป้าแดง เพศหญิง อายุ 60 ปี, รับจ้างทั่วไป)

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สวดมนต์ทั้งสามช่วงวัย ในบางรายมีการแผ่เมตตาให้แก่ตนเอง ครอบครัว เจ้ากรรมนายเวร และญาติที่ล่วงลับหลังสวดมนต์เสร็จ

    “เวลาก่อนที่จะสวดจบ พระก็พาแผ่เมตตาให้คนโน้น คนนี้ แค่นี้ก็สบายใจแล้ว…ชอบๆๆ กลัวว่าคนที่ตายไปแล้ว กลัวจะไม่ได้ ก็จะชอบตรงนี้”
     (ป้าสาม เพศหญิง อายุ 60 ปี, รับจ้างทั่วไป)

    ”ถ้าหากว่าสวดมนต์เสร็จ ถ้าหนูนั่งสมาธิเสร็จก็คือจะอโหสิกรรม ต่อด้วยแผ่เมตตาให้ญาติ พ่อแม่…ยายบอกว่าแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรเราด้วย คนที่คิดไม่ดีกับเรา ก็จะเลิกร้ายต่อกันไป”
     (น้องดี เพศหญิง อายุ 17 ปี, กำลังเรียนหนังสือ)





การอธิษฐานขอพรหลังการสวดมนต์

การอธิษฐานขอพรหลังจากการสวดมนต์ พบว่า ส่วนใหญ่ทุกกลุ่มวัยจะอธิษฐานขอพร โดยให้ความสำคัญกับครอบครัว หรือบุคคลในครอบครัวเป็นลำดับแรก จากข้อค้นพบสะท้อนให้เห็นว่า สถาบันครอบครัวนั้น มีความสำคัญสำหรับคนในทุกช่วงวัย เป็นสถาบันที่สร้างความผูกพันระหว่างคนในครอบครัวให้ใกล้ชิดกัน
    ส่วนใหญ่เป็นการอธิษฐานขอให้คนในครอบครัวมีความสุข สุขภาพแข็งแรง อายุยืนนาน
    ส่วนการขอพรให้ตนเอง จะขอให้มีสุขภาพแข็งแรงการเรียนและการทำงานราบรื่น มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจ

    “เวลาที่สวดเสร็จได้มีการอธิษฐานทุกวัน …ก็จะอธิษฐานให้คุณพ่อคุณแม่ก่อน ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วย แล้วก็จะอธิษฐานให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดี”
     (น้องเจ เพศหญิง อายุ 22 ปี, กำลังเรียนหนังสือ)

    “ก็ใจนึกอยากสวด อยากให้ลูกสบาย…ตัวเองด้วย และครอบครัว…ยังไงก็ต้องให้ลูกก่อน…ก็อยากให้ลูกดี ขอให้ลูกดีอย่างเดียว”
     (ป้าน้อย เพศหญิง อายุ 69 ปี, ค้าขาย)

การขอพรของกลุ่มวัยรุ่นและวัยแรงงานในเรื่องการเรียนและทำงานนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มนี้ตระหนักดีว่าต้องไม่ขอพรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงมือกระทำด้วยจึงจะประสบผลสำเร็จได้จริง รวมถึงการขอพรให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัย ไม่มีอันตราย ก็เห็นว่าต้องอยู่ที่การกระทำของตนเองด้วย

    “เรื่องการเรียนขอให้เราเรียนให้ดีขึ้น แต่ก็ต้องปฏิบัติตัวให้ดีขึ้นกว่าเดิม …เราก็อ่านด้วย ไม่ใช่ว่าอาศัยแต่เรื่องอย่างนี้อย่างเดียว ถ้าเราไม่อ่านหนังสือก็สอบไม่ได้”
     (น้องเจ เพศหญิง อายุ 22 ปี, กำลังเรียนหนังสือ)

    “ขอให้พระคุ้มครอง ใช่พระคุ้มครอง แต่ท่านจะคุ้มครองตอนที่เราประพฤติตนเป็นคนดี ถ้าเราประพฤติไม่ดี ท่านไม่คุ้มครอง เพราะพุทธศาสนาของเรา คือ อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนต้องช่วยเหลือตนเองด้วย”
     (พี่จี เพศชาย อายุ 43 ปี, ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว)

นอกจากนี้ยังพบว่า วัยสูงอายุบางคนไม่ได้อธิษฐานหรือขอพร เพราะได้ศึกษาหลักธรรม และมีความเชื่อมั่นว่า ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง เห็นว่าศาสนาพุทธไม่ได้เป็นศาสนาแห่งการร้องขอ

    “ศาสนาพุทธไม่ได้เป็นศาสนาแห่งการร้องขอ ไม่ใช่สวดมนต์แล้วขอให้ได้โน่นได้นี่…เมื่อเราคิดดี พูดดี ทำดี ผมว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น และถ้าอยากให้ชีวิตมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นควรจะเริ่มจากการสวดมนต์”…
    “การอธิษฐานถ้าตามศาสนาพุทธจริงๆ เค้าก็บอกว่าไม่ได้เท่าไหร่ แต่ก็ไม่รู้ว่าเราไปแอนตี้หรือเปล่าอย่างหลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ บอกว่าในศาสนาพุทธไม่มีจงดลบันดาล ขออำนาจบารมีที่หลวงพ่อโสธร หรือว่าใครๆ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ท่านเคารพนับถือจงดลบันดาลให้..ไม่มีในศาสนา”
     (ลุงสี่ เป็นผู้สูงอายุ เพศชาย, ข้าราชการบำนาญ)

อย่างไรก็ตาม พบว่า คนที่ไม่ได้ขอพรหรืออธิษฐานดังข้างต้น แต่กลับมีมุมมองน่าสนใจ เช่น ในการสวดมนต์หรือทำกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆ ในแต่ละครั้ง จะคำนึงถึงหลักความเป็นจริงว่าทำไปเพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไรทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น นึกถึงว่าการสวดมนต์ เป็นการสวดเพื่อเผยแพร่และสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งมุมมองนี้สะท้อนให้เห็นว่า คุณค่าของการสวดมนต์หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงเรื่องของการขอพร หรืออธิษฐานให้เป็นไปตามที่ใจมุ่งหวังเท่านั้น

    “ไม่ได้ขอเหมือนอย่างที่คนอื่นเค้าขอ ...เพราะเราจะนึกถึง อย่างเวลาที่เราสวดมนต์ ใส่บาตร ทำบุญเราทำเพื่ออะไร เช่น ผมนึกว่าใส่บาตร เราก็ใส่ให้พระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาได้ดำรงชีพอยู่ เพื่อปฏิบัติธรรม เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา และพุทธศาสนาที่ท่านรักษาไว้ก็เป็นพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า”
     (พี่บอล เพศชาย อายุ 27 ปี, พนักงานของรัฐ)

@@@@@@@

ประโยชน์หรืออานิสงส์จากการสวดมนต์

ทุกกลุ่มวัยได้สะท้อนให้เห็นว่า การสวดมนต์ทำให้ได้รับประโยชน์หรืออานิสงส์สำคัญที่เหมือนกัน คือการมีสติในขณะที่สวด

    “การสวดมนต์ ทำให้เรามีสติ มีความระลึกรู้ทัน คือเราทุกคนผมเข้าใจว่าก็ต้องมีจิตคิดชั่วกันบ้างทุกคน วันหนึ่งอาจจะกี่ครั้ง หรือว่านับไม่ถ้วนก็มีบ้าง แต่ว่าก็ทำให้เรามีสติ…ถ้าเราทำกรรมไม่ดีกรรมที่ไม่ดีก็จะส่งผลให้กับเรา”
     (พี่บอล เพศชาย อายุ 27 ปี, พนักงานของรัฐ)

ภายหลังจากการสวดมนต์จะทำให้เกิดความสบายใจ มีจิตใจสงบ และเกิดความสุข

    “สวดแล้วมีความรู้สึกว่าสบายใจ รู้สึกว่าเราทำทุกวันก็ดีกับตัวเอง จิตใจผ่องใส”
     (น้องเก้า เพศชาย อายุ 16 ปี, กำลังเรียนหนังสือ)

นอกจากนี้ การสวดมนต์ยังเป็นการพัฒนาจิต ทำให้มีสมาธิ และเกิดปัญญา

    “การสวดมนต์เป็นการสร้างสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิแล้ว ปัญญาจะเกิดขึ้นตามมาเอง”
     (พี่จี เพศชาย อายุ 43 ปี, ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว)

ผู้ให้ข้อมูลแต่ละกลุ่มวัยได้นำอานิสงส์จากการสวดมนต์ดังกล่าว มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสมภายใต้บริบทที่มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย กล่าวคือ กลุ่มวัยรุ่นได้นำประโยชน์จากการสวดมนต์ไปปรับใช้ในการเรียน เช่น การทำสมาธิก่อนสอบ เพื่อช่วยให้มีสติและใจจดจ่อในขณะที่สอบ

    “สามารถทำให้เราคิดถึงการมีสติ มีสมาธิ และมีใจจดจ่ออยู่ที่ข้อสอบนั้น และสามารถนึกถึงบทเรียนหรือที่อาจารย์สอนมาได้แน่วแน่ ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น”
     (น้องแอล เพศหญิง อายุ 22 ปี, กำลังเรียนหนังสือ)

ส่วนวัยแรงงานได้นำประโยชน์จากการสวดมนต์มาปรับใช้ในการทำงาน และการใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเห็นได้ชัด เช่น การใช้สติพิจารณาใคร่ครวญ สิ่งที่ได้กระทำมาอย่างมีเหตุผลและเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความมั่นใจในงานที่ตนเองได้ทำ

   “มันต้องสัมผัสและทำด้วยตัวเอง ถึงผมบอกไปก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่า ความรู้สึกเป็นยังไง เพราะการสวดมนต์ช่วยในเรื่องที่ทำให้เรามีสติมากขึ้น เวลาทำงานเราก็เอาประสบการณ์จากการสวดมนต์มาใช้ในการทำงาน คือ รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เหมือนกับเป็นการเชื่อมโยงกัน อย่างเช่นเราสวดมนต์เราก็ต้องจดจ่อกับคำสวด มันก็เริ่มมาจากตรงนี้ เหมือนกับการทำงาน เราก็รู้ว่าเราทำตรงนี้อยู่นะ ไม่ใช่เราดูตรงนี้อยู่แต่ใจลอยไปที่อื่น”
    (น้องเอ เพศชาย อายุ 23 ปี, ทำงานแล้ว)

รวมถึงการใช้สติในการควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน

    “การสวดมนต์ช่วยในการทำงานได้ค่ะ ช่วยได้เยอะเลย…ด้วยนิสัยของตัวเองเป็นคนใจร้อนเป็นคนพูดจาไม่ได้คิด แต่พอสวดมนต์ก็ทำให้เราใจเย็นลง ทำอะไรก็มีสติ ทำให้คิดก่อนทำ”
     (พี่หนึ่ง เพศหญิง อายุ 26 ปี, พนักงานบริษัทเอกชน)

ผู้สูงอายุจะให้ความสำคัญกับการสวดมนต์ในฐานะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว และมีคุณค่าทางด้านจิตใจ เพื่อให้เกิดความสบายใจและความสุขในช่วงบั้นปลายของชีวิต เนื่องจากผู้สูงอายุได้ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตทั้งทางด้านบวกและด้านลบมาตลอดช่วงชีวิต

จากข้อมูลที่เกี่ยวกับประโยชน์หรืออานิสงส์ทีได้กล่าวมาข้างต้น มีความสอดคล้องกับอานิสงส์ของการสวดมนต์ตามความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา ซึ่งเกิดกับจิตของผู้สวดมนต์เอง (สมเด็จพระพุฒาจารย์ พรหมรังสี, ม.ป.ป.) เพราะขณะสวดมนต์จิตจะจดจ่อกับบทสวด สมองจะปลอดโปร่งไม่คิดในเรื่องที่ทำให้เครียด จึงทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย (สุภาพ, 2554) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุทำให้มองโลกในแง่ดีและปล่อยวาง

    “คือเราก็ปลงไปเอง แล้วก็จากประสบการณ์ของตัวเองด้วย คือเมื่อก่อนลำบากมาก แต่เราก็ไม่ได้มองคนอื่นว่า ทำไมเค้าถึงรวย ทำอย่างไรเค้าถึงรวย มันก็บุญวาสนาของเรา ถ้าไม่มีวาสนาก็ลำบากอยู่อย่างนั้น ทำจนตายก็ไม่รวย”
     (ป้าสาม เพศหญิง อายุ 60 ปี, รับจ้างทั่วไป)

    “สวดแล้วสบายใจ …ก็ทำงานไป ดีไป ไม่เหนื่อยไม่ล้า …มันมีกำลังใจ อะไรที่เราทำไว้มันก็ดี ไม่เห็นมันก็ดี อะไรๆ ก็ทำดีไว้ ก็บอกให้ทำดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว ทำดีก็ได้ดี”
     (ลุงยิ้ม เพศชาย อายุ 68 ปี, ธุรกิจส่วนตัว)

และเป็นข้อน่าสังเกตว่า ผู้สูงอายุได้สะท้อนให้เห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของการสวดมนต์ทางด้านจิตใจช่วยยึดเหนี่ยวเพื่อให้เกิดความสุข ความสบายใจในช่วงบั้นปลายของชีวิต มากกว่าการนำไปปรับใช้ในเรื่องของการทำงานหรือเรื่องอื่นๆ อาจเป็นเพราะผู้สูงอายุผ่านประสบการณ์ในแต่ละช่วงวัย ทั้งทางด้านบวกและด้านลบมาแล้วมากมาย จนถึงช่วงชีวิตในปัจจุบันถึงแม้การสวดมนต์จะมีประโยชน์และอานิสงส์ดังได้กล่าวข้างต้น แต่การสวดมนต์ควรกระทำอยู่เสมอ จึงจะได้รับประโยชน์ที่เป็นมงคลแก่ตนเองอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไม่ใช่สวดมนต์เพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น

    “ไม่ใช่สวดมนต์แค่วันนี้ แต่ในชีวิตประจำวันไม่ได้ทำ หรือว่ายังประพฤติตนที่ไม่ดีอยู่ ถึงทำไปก็ไม่มีประโยชน์ในความคิดของผม มงคลอาจจะเกิดกับตัว แต่จะเกิดบางครั้งบางคราวเท่านั้น แต่ถ้าอยากจะให้มงคลเกิดกับตัวเองต่อเนื่อง ต้องทำบ่อยๆ”
     (พี่จี เพศชาย อายุ 43 ปี, ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว)

(ยังมีต่อ)
35  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: อานิสงส์การสวดมนต์ ในหลากหลายมุม เมื่อ: เมษายน 01, 2024, 05:34:21 am
.



ประชากรสามกลุ่มวัยได้อะไร.? จากการสวดมนต์

โดย เจตพล แสงกล้า นักวิจัยโครงการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
และ ภาณี วงษ์เอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล




บทคัดย่อ

บทความนี้นนำเสนอมุมมองทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์ รูปแบบการสวดมนต์
การอธิษฐานขอพร และการนำประโยชน์จากการสวดมนต์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยสัมภาษณ์เชิงลึกประชากรสามกลุ่มวัยที่เข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี (2557) และเป็นผู้ที่สวดมนต์ทุกวันหรือเกือบทุกวันในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา จำนวน 29 ราย (วัยรุ่น 8 ราย วัยแรงงาน 13 ราย และผู้สูงอายุ 8 ราย) ผลการศึกษาพบว่า

บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์ของประชากรทั้งสามวัยคล้ายคลึงกันใน 3 มิติ คือ
    - การได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดจากครอบครัว
    - เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตที่ทำให้สนใจการสวดมนต์ และ
    - การเรียนรู้หลักธรรมที่เริ่มจากความสนใจและตั้งใจศึกษาหลักธรรมด้วยตนเอง

    ทุกกลุ่มวัยเห็นว่า การสวดมนต์เป็นสิ่งที่ดีต้องสวดด้วยความศรัทธา และเชื่อว่ามีคุณค่าทางด้านจิตใจที่จะเกิดผลดีต่อตนเอง ผู้สวดมนต์ส่วนใหญ่ขอพรให้ครอบครัวเป็นลำดับแรก ให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนนาน
    วัยรุ่นและวัยแรงงานส่วนหนึ่งสะท้อนมุมมองในเรื่องการเรียนและการทำงานว่า การขอพรเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้สำเร็จได้ หากต้องลงมือกระทำด้วย
    ผู้สวดมนต์ทั้งสามวัยเห็นว่า ประโยชน์สำคัญที่ได้รับจากการสวดมนต์ คือ การมีสติในขณะสวดมนต์ ทำให้จิตใจสงบและเป็นสุข และผู้สวดมนต์ทุกกลุ่มวัยนำประโยชน์จากการสวดมนต์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม

    การสวดมนต์จึงเป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับทุกคนและทุกวัย

@@@@@@@

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนา ถือได้ว่าเป็นประเพณีเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล สำหรับในประเทศไทย การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาเริ่มในสมัยสุโขทัย (สุภาพรรณ, 2529) เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ชาวสุโขทัยพึงปฏิบัติกันทุกๆ วันพระ วันสำคัญทางศาสนา รวมถึงงานมงคลเฉลิมฉลองต่างๆ (ทัศนา, 2552)

ในสมัยอยุธยา การสวดมนต์มีความแตกต่างจากสมัยสุโขทัย โดยมีการผสมผสานคติความเชื่อและการปฏิบัติของศาสนาพราหมณ์กับพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน โดยศาสนาพราหมณ์จะมีพิธีสวดที่ส่งเสริมอำนาจบารมีของกษัตริย์ให้ดูน่าเกรงขาม ควรเคารพยกย่อง เช่น พระราชพิธีราชาภิเษกและพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ส่วนพระพุทธศาสนา มีการนำเอาพุทธมนต์ในพระไตรปิฎกมาสวด เพื่อปลุกใจและสร้างความกล้าหาญในการสู้รบศึกสงครามแก่ประชาชน บางครั้งปรากฏในรูปของการปลุกเสกมนต์คาถา

มาถึงพิธีสวดมนต์ในสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์พบว่า มีความสอดคล้องกับคติความเชื่อกับพิธีสวดเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา ในรัชกาลที่ 2 มีการสังคายนาบทสวดมนต์ แปลพระปริตรทั้งหลายออกเป็นภาษาไทย ผลจากการแปลบทสวดเป็นภาษาไทย ทำให้ประชาชนรู้ความหมาย บทสวดที่มีสาระและถูกต้องตามหลักพุทธธรรม การสังคายนานี้ก่อให้เกิดประเพณีสวดมนต์แปลขึ้นเป็นครั้งแรก สวดทั้งคำบาลีและคำแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งต่อมาเป็นธรรมเนียมนิยมและปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน(ทัศนา, 2552)

งานวิจัยเชิงปริมาณเกี่ยวกับการสวดมนต์ข้ามปี พ.ศ. 2556 – 2557 กรณีศึกษา 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น พะเยา และสงขลา ศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์โดยทั่วไป และการเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,741 ราย ในภาพรวม พบว่า

ผู้เข้าร่วมสวดมนต์เกือบทุกคน(ร้อยละ 99.2) คิดว่าการสวดมนต์มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และเมื่อถามว่าการสวดมนต์มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างไร มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ
    • การสวดมนต์ช่วยให้มีสติปัญญามากที่สุดถึงร้อยละ 72.9
    • ช่วยให้มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ร้อยละ 69.4
    • มีความเป็นสิริมงคล ร้อยละ 54.9
    • จิตใจอ่อนโยนมีเมตตา ร้อยละ 48.7 และ
    • เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ร้อยละ 44 (รศรินทร์ ภาณี ณัฐจีรา และเจตพล, 2557)

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้สะท้อนได้เพียงภาพรวมกว้างๆ ไม่สามารถตอบคำถามในเชิงลึก หรืออธิบายเหตุผลและนัยความหมายของการสวดมนต์ได้

งานวิจัยข้างต้น จึงได้ศึกษาเชิงคุณภาพเพิ่มเติมในประเด็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์ รูปแบบการสวดมนต์ การอธิษฐานขอพร ตลอดจนการนำประโยชน์และอานิสงส์จากการสวดมนต์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเน้นเปรียบเทียบประชากรสามกลุ่มวัย (วัยรุ่น วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ) เฉพาะในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ทำการศึกษาเชิงปริมาณเกี่ยวกับการสวดมนต์ข้ามปี พ.ศ. 2556 – 2557


@@@@@@@

วัตถุประสงค์ในการศึกษา

อาศัยข้อมูลจากโครงการวิจัยข้างต้น บทความนี้ต้องการนำเสนอมุมมองบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์ รูปแบบการสวดมนต์ การอธิษฐานขอพร ตลอดจนการนำประโยชน์และอานิสงส์จากการสวดมนต์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ของประชากรสามกลุ่มวัย คือ วัยรุ่น วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ





ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการสวดมนต์

การสวดมนต์เป็นการนำพระธรรมคำสอน สาระ หรือแก่น หรือหลักของพระพุทธศาสนามาสวดเพื่อก่อให้เกิดสติปัญญา สู่การปฏิบัติเพื่อมุ่งหวังผลอันสูงสุดคือการดับทุกข์ตามคติความเชื่อ (พินิจ, 2548) ดังนั้น การที่ผู้สวดมนต์จะได้รับประโยชน์หรืออานิสงส์จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของเนื้อหาคำสอนที่อยู่ในบทสวดหรือข้อธรรมนั้นๆเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม อัครเดช ญาณเตโช (ม.ป.ป.) มีความเห็นว่า การสวดภาษาบาลีโดยไม่รู้ความหมาย ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ผลแต่ช่วยให้ผู้สวดมนต์มีจิตใจที่สงบเย็นขึ้นมาได้ และหากสวดโดยรู้ความหมายและสาระสำคัญของบทที่สวดจะยิ่งทำให้ผู้สวดมนต์เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นในบทสวดมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ได้รับอานิสงส์จากการสวดมนต์ 2 ด้านพร้อมๆ กัน คือ ความสงบของจิตใจ และแสงสว่างทางปัญญา สามารถนำหลักธรรมในบทสวดมนต์ไปปฏิบัติตามได้จากการทบทวนวรรณกรรม

ประโยชน์หรืออานิสงส์ของการสวดมนต์ แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
    1) การปรับใช้การสวดมนต์ตามความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา
    2) การปรับใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพ
โดยสวดมนต์เพื่อบำบัดความเจ็บป่วย ดังนี้


@@@@@@@

การปรับใช้การสวดมนต์ตามความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา

ประโยชน์หรืออานิสงส์ที่เกิดจากการสวดมนต์ อาจแบ่งได้เป็น 2 ประการ (สมเด็จพระพุฒาจารย์ พรหมรังสี,ม.ป.ป.)
    ประการแรก คือ ประโยชน์ที่เกิดกับจิตของผู้สวดมนต์เอง
    ประการที่สอง คือ ประโยชน์ที่เกิดในจิตของผู้อื่นที่ได้ยินเสียงสวดมนต์

    1) ประโยชน์ที่เกิดกับจิตของผู้สวดมนต์เอง เสียงในการสวดมนต์ของผู้สวดจะกลบเสียงภายนอกไม่ให้
เข้ามารบกวนจิต ซึ่งจะทำให้ผู้สวดเกิดความสงบอยู่กับบทสวดมนต์นั้นๆ โดยผู้สวดต้องสวดเสียงดังให้หูได้ยินเสียงตัวเอง และจิตใจต้องจดจ่ออยู่กับเสียงสวด เมื่อใจไม่ฟุ้งไปที่อื่นใจอยู่กับเสียงสวดมนต์ จะทำให้เกิดสมาธิ เพราะขณะที่สวดมนต์ต้องใช้ความอดทนอย่างสูง เพื่อเอาชนะความปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นกับร่างกาย รวมทั้งอารมณ์ฝ่ายต่ำที่จะเข้ามากระทบจิตใจ ทำให้เกิดความเกียจคร้าน ยิ่งสวดบ่อยๆ ความอดทนก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น (สุภาพ, 2554)

เมื่อจิตเป็นสมาธิความสงบเยือกเย็นในจิตจะเกิดขึ้นและเกิดปัญญาเข้ามาในจิตใจของผู้สวด ถ้าผู้สวดมนต์รู้คำแปลและความหมายจะทำให้มีความเลื่อมใสศรัทธา เพราะบทสวดของทุกศาสนาเป็นเรื่องของความดีงามจิตใจจะบริสุทธิ์ขึ้นอ่อนโยนมีเมตตา เป็นการยกระดับจิตใจของผู้สวด และย่อมทำให้ผู้สวดได้ความรู้และปัญญา (จุฑาทิพย์, 2552)

    2) ประโยชน์ในจิตของผู้อื่นที่ได้ยินเสียงสวดมนต์ ผู้ใดที่ได้ยินได้ฟังเสียงสวดมนต์จะพลอยได้ความรู้
เกิดปัญญามีจิตสงบลึกซึ้งตามไปด้วย ผู้สวดก็เกิดกุศลไปด้วยการให้ทาน (สมเด็จพระพุฒาจารย์ พรหมรังสี, 2557)

ยิ่งกว่านั้น การสวดมนต์ยังเป็นการสร้างความสุข และเกิดความสามัคคีในครอบครัว หากครอบครัวใดที่สวดมนต์เป็นประจำจะมีความสงบสุข เกิดสิริมงคลกับครอบครัว (สุภาพ, 2554)

@@@@@@@

การปรับใช้การสวดมนต์ในการสร้างเสริมสุขภาพ

นอกจากประโยชน์หรืออานิสงส์ดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังมีผู้ศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวกับประโยชน์ของการสวดมนต์ โดยใช้การสวดมนต์บำบัดเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ เพราะการสวดมนต์ทำให้มีสุขภาพจิตดีอันส่งผลต่อการมีสุขภาวะที่ดีของผู้สวดมนต์ (พินิจ, 2548)

นอกจากนี้ จากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์หรืออานิสงส์ของการสวดมนต์ พบว่า มีการนำ
ประโยชน์หรืออานิสงส์ของการสวดมนต์มาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดังรายละเอียดผลการศึกษาต่อไปนี้

ผลการวิจัยกึ่งทดลองการสวดมนต์เพื่อบำบัดความวิตกกังวลและความผาสุกทางจิตวิญญาณในผู้ป่วยมะเร็ง
เต้านม โดยการติดตามผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะรับการรักษา จำนวน 10 ราย พบว่า

    - คะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลของผู้ป่วยก่อนสวดมนต์เท่ากับ 61.3 คะแนน (SD = 2.79) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยหลังสวดมนต์ซึ่งเท่ากับ 53 คะแนน(SD = 3.43) และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่า การสวดมนต์มีผลในการช่วยลดความวิตกกังวล ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

    - ส่วนคะแนนเฉลี่ยความผาสุกทางจิตวิญญาณหลังสวดมนต์เท่ากับ 53.4 คะแนน(SD = 0.84) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนสวดมนต์ ซึ่งเท่ากับ 51.3 คะแนน (SD = 2.58) และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าการสวดมนต์ช่วยให้เกิดการผ่อนคลายทำให้รู้สึกเป็นสุขสงบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการสวดมนต์ช่วยลดความวิตกกังวลและเพิ่มความผาสุกทางจิตวิญญาณในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ (พรทิพย์ และทิตยา, 2555)

จากผลการวิจัยกึ่งทดลองโปรแกรมการจัดการอาการ ที่เน้นการสวดมนต์ช่วยลดอาการปวดของผู้ป่วยมะเร็ง
ระยะสุดท้ายจำนวน 60 ราย โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มทดลอง (ผู้ป่วยที่ได้รับโปรแกรมการจัดการอาการที่เน้นการสวดมนต์) และกลุ่มควบคุม (ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับโปรแกรมการจัดการอาการ) พบว่า

      ค่าเฉลี่ยอาการปวดภายหลังการทดลองของทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยอาการปวดภายหลังการทดลอง 4 วันและ 7 วัน ของกลุ่มทดลอง น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
      ยิ่งกว่านั้น อาการปวดของกลุ่มทดลองภายหลัง 4 วันและ 7 วัน พบว่า ลดลงจากก่อน

การทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงว่าโปรแกรมการจัดการอาการที่เน้นการสวดมนต์ช่วยลดอาการปวดของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้ (เบญมาศ และสุรีพร, 2555)


(ยังมีต่อ)
36  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ในหลวงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาจำนวน 184 วัด (เช็ครายชื่อ) เมื่อ: มีนาคม 31, 2024, 07:37:07 am
.


ในหลวงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาจำนวน 184 วัด (เช็ครายชื่อ)

วันที่ 30 มีนาคม 2567  ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 88 ง. วันที่ 27 มีนาคม 2567 ได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานวิสุงคามสีมา ความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานวิสุงคามสีมา งวดที่ 2 ประจำปี 2566 ให้แก่วัดที่มีชื่อในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้จำนวน 184 วัด ตามเขตที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้นและให้นายอำเภอท้องที่ปักเขตให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานวิสุงคามสีมา ประกาศ ณ วันที่ 21  มีนาคม พ.ศ. 2567   ผู้รับสนองพระบรมราชโองการสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/24696.pdf


























ขอบคุณ : https://thebuddh.com/?p=78656
37  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / รุ่งโรจน์ หวั่น ‘อโยธยา’ ถูกบังคับสูญหาย ซัดรัวหลักฐานพรึบ เก่ากว่าสุโขทัยแน่ เมื่อ: มีนาคม 31, 2024, 06:59:59 am
.



รุ่งโรจน์ หวั่น ‘อโยธยา’ ถูกบังคับสูญหาย ซัดรัวหลักฐานพรึบ เก่ากว่าสุโขทัยแน่


เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายนนี้ โดยบรรยากาศการจัดงานวันที่ 3 เป็นไปอย่างคึกคักเนื่องจากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์

บรรยากาศตั้งแต่เวลา 11.00 น. ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน ‘J47’ ในวันที่ 3 ของงาน มีผู้คนแวะเวียนมาเลือกซื้อ เลือกอ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก โดยสำนักพิมพ์มติชน มีหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การเมือง ศิลปวัฒนธรรม และจิตวิทยาพัฒนาบุคคล เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักอ่านมาหาซื้ออ่านเป็นจำนวนมาก

เวลา 13.00 น. เริ่มกิจกรรมแจกลายเซ็นนักเขียน ‘Read up Sign’ ตลอดช่วงบ่าย ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน นำโดย นายสรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์, รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เจ้าของผลงานดัง ‘อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา’ และน.ส.วรรณพร เรียนแจ้ง ผู้แปลหนังสือ เดินทางมาพบปะแฟนหนังสือ The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น พร้อมแลกเปลี่ยนบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง




จากนั้นเวลา 18.00 น. เริ่มเวที Matichon’s Special talk “อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัยจริงหรือ?” นำพูดคุยโดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เจ้าของผลงาน ล้อมวงไปด้วยนักอ่านอย่างอบอุ่น

ในตอนหนึ่งของช่วงทอล์ก รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า เรื่องราวของอโยธยาหายไป แล้วสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก เกิดขึ้นหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง เสด็จมาจากเมืองอู่ทอง ประกอบกับการยึดมั่นว่าสุโขทัยเป็ยราชธานีแห่งแรก อโยธยาก็เงียบหายไป ตั้งแต่ช่วง ร.6-7 และช่วงสมัยครามโลก

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า จนมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพล. ป พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 ตอนปลาย ก็เริ่มมีการพูดถึงอโยธยาอีกครั้ง โดยการเขียนของนายธนิต อยู่โพธิ์ ก็ได้ทำให้นายจิตร ภูมิศักดิ์ ได้สืบสานงานต่อ รวมถึงงานของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่มีการเอาหลักฐานโบราณวัตถุมาพูดขึ้นอีก

“ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุผลที่ว่า นักวิชาการกระแสหลักนั้น ยังยึดติดกับสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก และที่มาของพระเจ้าอู่ทอง ก็เลยทำให้ไม่กล้าออกมาอภิปรายถกเถียง

ดังนั้นอโยธยาจึงถูกนักวิชาการกระแสหลัก เรียกว่า เมืองในจินตนาการ เหมือนความหวานชื่น เมื่อหลับตื่นก็หายไป ไม่มีตัวตนจริง แต่ทีนี้พอเอาเข้าจริงแล้วมันต้องกลับไปทบทวนใหม่ว่า เรารู้ส่าสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแรก และสมเด็จพระรามาธิบดีที่1 ก็ไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง เรื่องอโยธยาก็มีสิทธิเอากลับมาทบทวนว่า มันมีจริงหรือเปล่า อย่าให้มันเป็นแค่เมืองในความฝัน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว




เมื่อถามถึงความสำคัฐของ ‘วัดสมณโกฏฐาราม’ บนปกหนังสือ

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า วัดสมณโกฏตามเอกสารคำให้การของวัดประดู่ทรงธรรม บอกว่าพระมหาธาตุที่เป็นหลักของพระนคร มาพระปรางค์อยู่ 5 แห่ง 1.วัดราชบูรณะ 2.วัดมหาธาตุ 3. วัดพระราม ซึ่ง 3 วัดนี้อยู่ในเกาะเมือง

“ระบุชัดแน่ว่าวัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สร้าง และ วัดราชบูรณะ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สร้าง ส่วนวัดพระราม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสร้างอยู่บนตำแหน่งศูนย์กลางของเมือง วัดสมณโกฏก็ต้องเข้ากับกรณีเหล่านั้น และที่สำคัญภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ วัดสมณโกฏ มีพระปรางค์ที่ใหญ่มาก คนยืนอยู่ตัวกระจึ๋งเดียว พร้อมแสดงตำแหน่งพระปรางค์อย่างเด่นชัด

หลายอย่างในการกำหนดอายุโบราณสถานอธุธยามีปัญหามาก เพราะว่าเราไปติดกับปัญหาว่าก่อนหน้า พ.ศ.1893 มันไม่มีอะไร เรามองเหมือนว่าอยุธยาเกิดจากกระบอกไม้ไผ่ พอถึงพ.ศ.1893 มีจานบินอยู่หนองโสน มันไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องมีอยู่ก่อน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า มีการกำหนดว่าอะไรก็ตามที่ใกล้เคียงดับวัดมหาธาตุ ลพบุรี อันนั้นจะต้องเก่า แต่เก่าได้สูงสุดได้แค่พ.ศ. 1893 ทำไมใกล้เคียงกว่านั้นไม่เป็น ทำไมใกล้เคียงมากไม่เป็นพ.ศ. 1850 เพราะฉะนั้นอะไรหลายชิ้น มีความใกล้เคียงกับวัดมหาธาตุ ลพบุรีเยอะ อะไรก็ตามกำหนดไม่เกินพ.ศ 1893 ที่เป็นเพดานกำหนดสำคัญ

เมื่อถามว่าจากการค้นคว้าหลักฐาน พบว่า ‘อโยธยา’ เป็นรากฐานสำคัญของอยุธยาหรือไม่

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เอกสารก่อนพ.ศ. 1893 มีสำคัญอยู่ 4 ชิ้น 1. โองการแช่งน้ำ และพระอัยการ ซึ่งหมายถึงกฎหมายอีก 3 ฉบับ กล่าวคือ โองการแช่งน้ำเป็นเรื่องราวมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการใช้ภาษาไท-ลาวเกิดขึ้น แสดงว่ากลุ่มผู้มีอำนาจใช้ภาษากลางในภาษาราชการ

“โองการแช่งน้ำเป็นตัวที่บ่งบอกว่า ระบบกษัตริย์ในอโยธยา พัฒนาไปกว่าระบบวงศ์พระร่วง หัวเมืองแม่น้ำปิง วัง เพราะระบบกษัตริย์เหล่านี้บอกว่า เกิดจากฤาษี หรือ พญานาค แต่อโยธยาบอกว่าสืบมาจากองค์สมมุติไปเลย เป็นกษัตริย์องค์แรกตามคัมภีร์อคัญญสูตรดูศักดิ์สิทธิ์กว่า ฉะนั้นโครงสร้างเหล่านี้เป็นโครงสร้างที่เก่าแก่มา เพียงแต่ว่าเรายึดติดว่าไม่มีเมืองก่อน 1893 แล้วอันนี้ล่ะ หมายความว่าอย่างไร” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

หลักฐานที่ชี้ว่าเมืองอโยธยาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากการค้าขายกับเรือสำเภา?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงพ.ศ. 1500-1600 รางวงศ์ซ่งส่งเรือสำเภามาค้าขายเอง ศูนย์กลางเดิมจากลพบุรี มาหาแหล่งใหม่ที่สำเภาจีนเข้าได้ก็เลยมาเป็นศูนย์รวมที่อโยธยา เราจะพบตัวอย่างพระพุทธรูปหินทราย แพตเทิร์นที่เราเรียกว่าอู่ทอง กระจายตัวอยู่ตามชุมชนที่รองรับการค้าสำเภากับจีน

เมื่อถามว่าอโยธยาทำไมเก่ากว่าสุโขทัยได้?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ตนชี้ว่าอโยธยาเป็นศูนย์กลางที่เก่าแก่กว่าสุโขทัย คือ สุโขทัยเป็นชุมชนอยู่แล้ว แต่ความเป็นเซ็นเตอร์เกิดที่อโยธยาแล้วขึ้นไปที่สุโขทัย

“อโยธยาประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการปี 1776 โครงสร้างภาษามีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะที่หลายท่านไปตรวจสอบ ช่วงพีเรียดร่วมสมัยจารึกของพระมหาธรรมราชา พระยาลิไท กษัตริย์สุโขทัยยังเป็นพ่อขุนบางกลางหาว เพิ่งได้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่อยุธยาเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีไปเรียบร้อยแล้ว” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว




รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เนื้อหาข้างในพูดถึงว่าอโยธยาเป็นเซ็นเตอร์ก่อนสุโขทัย ถ้าจะบอกว่าสุโขทัยเจอเครื่องถ้วยซ่ง งั้นบ้านเชียงก็เก่ากว่าอโยธยาเพราะเจอเครื่องถ้วยเหมือนกัน แต่สุโขทัยไม่เคยแสดงอะไร ที่แสดงความเป็นเซ็นเตอร์เก่ากว่าอโยธยา

เมื่อถามว่าการพัฒนาพื้นที่อโยธยากับการอนุรักษ์ จะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า การพัฒนาก็จะต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ เพียงปัญหามีอยู่ว่า ถ้าเราคิดว่ามันไม่มี เราก็เลยละเลย เปรียบเสมือนว่ามันหาย เหมือนถูกบังคับให้สูญหาย สะกดจิตกันเองให้มันหายไป

“เอาง่ายๆหนังสือเล่มนี้บอกว่า อโยธยาเป็นต้นกำเนิดอยุธยา อยูธยาเป็นต้นกำเนิดกรุงธนบุรี ธนบุรีต้นกำเนิดรัตนโกสินทร์ ซึ่งอโยธยาเป็นตัวรัฐที่ใช้ภาษาไทในทางการที่มีความเก่าแก่ และลักษณะแบบแผนสำนวนภาษา ก็สืบต่อมาถึงช่วงรัตนโกสินทร์” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า คำนำในหนังสือตนเขียนชัดว่า ไม่ได้คัดค้านรถไฟความเร็วสูง ซึ่งตอนนั้นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็บอกแล้วว่า จะให้มีการสร้างหลายแนวทางเลือก แต่ทำไมยังอุตส่าห์ตัดทางเข้าสู่ตัวเมืองอโยธยา ต้นทาง ที่เป็นรากเหง้าของประวัติศาสตร์







ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4501695
วันที่ 30 มีนาคม 2567 - 21:31 น.   
38  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เปิดประวัติ “สามเณรนนท์” วัดโมลีฯ อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์​ สอบได้ ป.ธ.9 เมื่อ: มีนาคม 31, 2024, 06:25:53 am
.



เปิดประวัติ “สามเณรนนท์” วัดโมลีฯ อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์​ สอบได้ ป.ธ.9

สามเณรภานุวัฒน์ กองทุ่งมน อายุ 17 ปี หรือ "สามเณรนนท์" วัดโมลีโลกยาราม สามเณรอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ ที่สอบได้ป.ธ.9 พบสถิติสุดยอดสอบบาลีผ่านทุกปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสอบประโยคบาลีสนามหลวง ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งได้มีการประกาศผลสอบที่วัดสามพระยา ซึ่งปีนี้มีผู้สอบได้เปรียญธรรม (ป.ธ.)​ 9 ประโยค จำนวน 76 รูป ในจำนวนนี้เป็นสามเณร 14 รูป นั้น หนึ่งในรายชื่อสามเณร พบว่ามีชื่อสามเณรภานุวัฒน์ กองทุ่งมน หรือ “สามเณรนนท์” อายุ 17 ปี วัดโมลีโลกยาราม รวมอยู่ด้วย ถือว่าเป็นสามเณรที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยที่สามารถสอบได้ ป.ธ.9

สำหรับประวัติสามเณรภานุวัฒน์ เป็นชาวอ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา สังกัดสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพฯ บวชตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ที่สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม
    อายุ 10 ปี สอบไล่ได้ประโยค 1-2
    อายุ 11 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 3
    อายุ 12 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 4
    อายุ 13 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 5
    อายุ 14 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 6
    พ.ศ. 2565 ก็สอบไล่ได้ป.ธ. 7
    พ.ศ. 2566 อายุ 16 ปี สอบไล่ได้ป.ธ.8

ด้านพระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ ปิยสีโล) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง ที่สำนักเรียนได้สร้างประวัติศาสตร์ของวัดเป็นครั้งแรกที่พระภิกษุ-สามเณร สามารถสอบได้ ป.ธ.9 เป็นจำนวนถึง 25 รูป ถือว่ามากที่สุด ในประวัติศาสตร์การสอบของวัดโมลีฯ อีกทั้งมีสามเณรสอบได้ ป.ธ.9 ถึง 9 รูป โดยเฉพาะสามเณรภานุวัฒน์ ที่มีอายุเพียง 17 ปี ถือว่ามีอายุน้อยที่สุด ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง





ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/news/3303962/
30 มีนาคม 2567 , 18:37 น. | การศึกษา-ศาสนา
39  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: "นวัคคหายุสมธัมม์" ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกําหนดด้วยองค์เก้า เมื่อ: มีนาคม 30, 2024, 10:40:54 am
.

พิธีนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ณ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิต มหาสีมาราม 16 ธันวาคมที่ผ่านมา


นวัคคหายุสมธัมม์ ธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์ พระนิพนธ์สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว)

ตามที่ สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2565 เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวร ความทราบแล้วนั้น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ทรงมีพระบัญชาโปรดให้สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม แจ้งวัดทุกวัดทั่วราชอาณาจักร และวัดไทยในต่างประเทศ ให้คณะสงฆ์พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนร่วมกันเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาเป็นพิเศษ ต่อจากการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นประจำทุกวัน

วัดวาอารามทั่วประเทศ รวมถึงวัดไทยในต่างแดน ต่างร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล ขอทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน

16 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร และสังฆทานถวายในการที่คณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามโดย พระเดชพระคุณพระพรหมวัชราจารย์ ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานพิธีฝ่ายฆราวาส ร่วมกันจัดพิธีนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัยแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ

นวัคคหายุสมธัมม์ (อ่าน นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ทำ) แปลว่า ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกำหนดด้วยองค์เก้า หรือธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์ เป็นบทเฉพาะที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปฐมเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทรงพระนิพนธ์ขึ้นโดยรวบรวมพระธรรมต่างๆ ในหลายพระสูตร อันมีข้อธรรมเท่าจำนวนเกณฑ์กำลังเทวดานพเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์ไทย เมื่อคราวบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 50 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ พุทธศักราช 2412 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์’ โดย พระมหารังสี ปี่แก้ว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 50 ปี ใคร่จะทรงทำพิธีพิเศษ จึงได้ตรัสปรึกษาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) เพื่อจัดพิธีขึ้นใหม่



สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงนิพนธ์ ‘นวัคคหายุสมธัมม์’


คณะสงฆ์ 5 รูป วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เจริญพระพุทธมนต์ นวัคคหายุสมธัมม์


อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานฝ่ายฆราวาส จุดเทียนในพิธี

สมเด็จพระสังฆราชสา ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย จึงทรงจัดรูปแบบพิธีสวดนพเคราะห์ขึ้นถวายใหม่ เรียกว่า ‘นวัคคหายุสมธัมม์’ โดยให้พระสงฆ์ 5 รูป สวดพระธรรมต่างๆ ที่มีข้อธรรมเท่าจำนวนเกณฑ์กำลังของเทวดานพเคราะห์เฉพาะองค์ๆ คือ
     อนุตตริยะ 6 สำหรับวันอาทิตย์
     จรณะ 15 สำหรับวันจันทร์
     มรรค 8 สำหรับวันอังคาร
     อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 รวม 17 สำหรับวันพุธ
     ทสพลญาณ 10 สำหรับวันเสาร์
     สัญญา 10 อนุปุพพวิหาร 9 รวม 19 สำหรับวันพฤหัสบดี
     สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 รวม 12 สำหรับพระราหู
     สัปปุริสธรรม 7 อริยทรัพย์ 7 สัมมาสมาธิปริกขาร 7 รวม 21 สำหรับวันศุกร์
     และอาฆาตวัตถุปฏิวินย 9 สำหรับพระเกตุ

การเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ จึงเป็นธรรมเนียมที่มีปฏิบัติครั้งแรกในคราวนั้นเอง

ครั้นเมื่อ พ.ศ.2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 25 พรรษา มีพระราชปรารภว่าจะทรงจัดพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาให้พิเศษกว่าที่เคยทำมาแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงกราบบังคมทูลให้ทรงทำพิธีสวดนวัคคหายุสมธัมม์ จึงเป็นธรรมเนียมที่มีการสวดถวายในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับสถานที่ประกอบพิธีในช่วงแรกมักถูกกำหนดให้กระทำ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสสำคัญของพระบรมวงศานุวงศ์


นวัคคหายุสมธัมม์ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2471 (ภาพจากเพจ ‘จตุรเวทวิทยาคม’)


สมุดไทย ‘บูชานพเคราะห์ ว่าด้วยคำบูชา’ สมัยรัชกาลที่ 6 (ภาพจากวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์)


สมุดไทย ‘ตําราโหราศาสตร์ มีประกาศเทวดาเป็นวัน’ ปรากฏพระนาม สมเด็จพระบุรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบําราบปรปักษ์ (ภาพจากวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์)

พิธีในยุคแรกใช้เวลายาวนานราว 4-5 ชั่วโมง กระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริตัดทอนข้อความที่มีเนื้อหาซ้ำกันออกไป คงไว้แต่หัวข้อธรรม ปัจจุบันจึงใช้เวลาสวดราว 1-2 ชั่วโมง

ย้อนกลับไปที่ความหมายของคำว่า นวัคคหายุสมธัมม์ มีที่มาจากศัพท์ 5 คำ ได้แก่
    1. นว แปลว่า ใหม่ จำนวนเก้า
    2. คห แปลว่า เรือน, ยึด
    3. อายุ แปลว่า เวลาที่ดำรงชีวิตอยู่
    4. สม แปลว่า เหมาะสม, ควรแก่, เข้ากันกับ, เสมอ, รับกัน, พอดีกัน
    5. ธมม แปลว่า คุณความดี, คำสั่งสอน, หลักประพฤติปฏิบัติ, ความจริง

ทั้งนี้ นวคห มีความหมายตรงกับคำว่า นวรห หรือ นวารห มาจากศัพท์เต็มว่า นวรหคุณ หรือ นวารหาทิคุณ หมายถึง พุทธคุณ 9 หรือคุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ 9 ประการ

นอกจากนี้ นวคห ยังมีอีกความหมายหนึ่งว่า นวเคราะห์ หรือดาวพระเคราะห์ทั้ง 9

เนื้อหาและข้อธรรมส่วนใหญ่ในบทเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ มุ่งเน้นคุณธรรมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ควรประพฤติให้เกิดมีในตน และชักนำให้บุคคลเข้าสู่เขตบุญพุทธศาสนา

                                         พรรณราย เรือนอินทร์




ตัวอย่างช่วงตอนต้นของ ‘นวัคคหายุสมธัมม์’

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหันตัสสะ ตาทิโน
วิสุทธิเทวะภูตัสสะ สัมมา สามัญจะ โพธิโน
นะโม ธัมมัสสะ เตเนวะ สุอักขาตัสสะ สัพพะโส
ราคัสสะ เจวะ โทสัสสะ โมหัสสะ จาภิฆาฏิโน

นะโม สุปุญญักเขตตัสสะ สังฆัสสะ ธัมมะธาริโน
สัตถุสาสะนะการิสสะ สัจจาภิสะมิตาวิโน
อุตตะมัง วันทะเนยยานัง วันทันตา ระตะนัตตะยัง
เจโตปะสาทะสัมภูตัง ยัง ปุญญัง ปะสะวามะ เส

หัญญันตูปัททะวา สัพเพ ตัสสานุภาวะสิทธิยา
สะมิชฌันตุ จะ สังกัปปา อัมหากัง ธัมมะนิสสิตา
เย เต นะวัคคะหา นามะ คะหัญญูภิวะวัตถิตา
ระวิ จันโท ภุมโม วุโธ โสโร ชีโว จะ ราหุ จะ

สุกโร เกตุติญาเยนะ โหระสัตถานุโลมินา
เตสัง อายุสะเม ธัมมะ- ปะริยาเย กะถัญจิปิ
ภะณิสสามะ, มะยันทานิ กะมะนิกเข ปะตันติยาฯ








Thank to : https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_3733630
ผู้เขียน : พรรณราย เรือนอินทร์ | วันที่ 21 ธันวาคม 2565 - 10:41 น.   

เอกสารอ้างอิง :-
-‘วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์’ โดย พระมหารังสี ปี่แก้ว วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พุทธศาสนศึกษา) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562.
-บทเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน จัดพิมพ์โดย สำนักงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ พระมหาอนุลักษ์ ชุตินันโท บรรณาธิการ, พิมพ์ครั้งที่ 7 พฤษภาคม 2565
40  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / "นวัคคหายุสมธัมม์" ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกําหนดด้วยองค์เก้า เมื่อ: มีนาคม 30, 2024, 10:16:03 am
.



แบ่งปันความรู้ทางศาสนาสู่สาธารณะ "นวัคคหายุสมธัมม์"
โดย นางสาวกัญญา แก้วคำฟุ่น นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯพระราชทานผ้าไตร และสังฆทานถวายในการ คณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม โดยพระเดชพระคุณพระพรหมวัชราจารย์ ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดพิธีนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัย แต่เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชชิดา ในโอกาสที่ทรงพระประชวร เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

เพื่อให้ พุทธศาสนิกชนที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภารได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสํานึกในพระมหา กรุณา คุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเชื่อว่าสามารถช่วยป้องกันภัยอันตรายจากโรคภัยต่างๆ และทําให้เกิด ความสุขสวัสดี เมื่อผู้สวดมนต์ สวดด้วยความเคารพศรัทธาพร้อมกับแผ่เมตตาและทําใจให้สงบเป็นสมาชิก็จะทําให้ พระปริตรนั้นมีพลังและอานุภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนายังได้ประสานไปยังองค์การทางศาสนา ร่วมกันจัดพิธีทางศาสนาถวายพระพรแด่พระองค์ ณ ศาสนสถาน ตามหลักศาสนบัญญัติ ของแต่ศาสนาอีกด้วย

    นวัคคหายุสมธัมม์ อ่านว่า นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ทำ แยกศัพท์เป็น นว + ศห + อายุ + สม + ธัมม์ 
    นวัคคหายุสม + ธัมม์ = นวัคคหายุสมธัมม์ แปลว่า ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกําหนดด้วยองค์เก้า หรือธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์

@@@@@@@

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบําราบปรปักษ์ จะทรงบําเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษา ครบ ๕๐ ปี ใครจะทรงทําพิธีพิเศษ จึงได้ตรัส ปรึกษาเพื่อจัดพิธีขึ้นใหม่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ลา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงจัดรูปแบบพิธีสวดนพเคราะห์ขึ้นถวายใหม่ เรียกว่า “นวัคคหายุสมธัมม์ "

โดยให้พระสงฆ์ ๕ รูป สวดพระธรรมต่างๆ ที่มีข้อธรรมเท่าจํานวนเกณฑ์กําลังของเทวดานพเคราะห์เฉพาะองค์ๆ คือ
     - อนุตริยะ ๖ สําหรับวันอาทิตย์
     - จรณะ ๑๕ สําหรับวันจันทร์
     - มรรค ๘ สําหรับวันอังคาร
     - อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ รวม ๕๔ สําหรับวันพุธ
     - ทศพลญาณ ๑๐ สําหรับวันเสาร์
     - สัญญา ๑๐ อนุปุพพวิหาร ๙ รวม ๑๙ สําหรับวันพฤหัสบดี
     - สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ รวม ๑๒ สําหรับพระราหู
     - สัปปุริสธรรม ๗ อริยทรัพย์ ๗ สัมมาสมาธิปริกขาร ๗ รวม ๒๑ สําหรับวันศุกร์
     - และอาฆาตวัตถุปฏิวินัย ๙ สําหรับพระเกตุ

เมื่อวิเคราะห์ดูจํานวนข้อธรรมแล้วจะพบว่า เท่ากับจํานวนกําลังวันของดาวแต่ละดวง น่าจะมิได้ทรงมุ่งให้ใช้บทสวดเป็นมนต์คาถาถอดถอนพระเคราะห์อย่างเดียว แต่มุ่งจะให้นําธรรมะอันเป็นเนื้อหาในบทสวดเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อกําจัดเคราะห์และเสริมมงคลด้วยการประพฤติปฏิบัติ มากกว่า ดังนั้น ถ้าจะสะเดาะเคราะห์ให้หมดโดยสิ้นเชิงเหมือนการชําระสิ่งสกปรกออกจากภาชนะ ก็ควรนำหลักธรรมะไปปฏิบัติชําระล้างจิตใจอีกชั้นหนึ่ง


@@@@@@@

การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ในปัจจุบัน ได้ถูกกําหนดให้จัดขึ้นทั่วไป ในพระราชพิธีต่างๆ มักจัดขึ้นเป็นประจําในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระมหากษัตริย์ และพระบรม วงศานุวงศ์ โดยจะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีดังกล่าว จะสามารถพบเห็นได้ในพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทุกวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี หรืองานมหามงคลของ ทางราชสํานักในโอกาสอื่นๆ

พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ ได้รับอนุญาตให้ประกอบพิธีเป็นกรณีเฉพาะในงานพระราชพิธีของราชสำนัก โดยมักจัดขึ้นในช่วงเวลาของวันพ่อแห่งชาติ คือ วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี จะประกอบพิธี ในช่วงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ - ๑๗.๓๐ น. ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

แต่เนื่องจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ในปัจจุบันได้ยกเลิกพระราชพิธีเฉลิมพระ ชนมพรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีลงแล้ว วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงเป็นปีสุดท้ายในการประกอบพิธี เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ และได้ถูกกําหนดให้จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ขึ้นอีกครั้ง ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ ๒๘ กราบของทุกปีแทนธรรมเนียมเต็มที่ได้ปฏิบัติมา




พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ ถูกกําหนดให้ประกอบพิธีในโลกที่เป็นมงคลองราชสํานักไทยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เจ้าหน้าที่กลุ่มพิธี กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหน้าที่นี้โดยตําแหน่งทางราชการ

เริ่มตั้งแต่การขออนุญาตประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ การเตรียมกําหนดการ การประสานงานกับบุคลากรฝ่ายอื่นๆ การจัดเตรียมอุปกรณ์ การเบิกสายสิญจน์จากพระมงคลภาณกาจารย์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้หาพิธีจับสายสิญจน์เพื่อใช้ในพระราชพิธีของหลวง การจัดเตรียมสถานที่ รวมถึงการออกฎีกา นิมนต์พระภิกษุผู้ประกอบพิธี

โดยจะนําบัญชีรายนามพระสงฆ์จํานวน ๕ รูป มีพระราชาคณะเป็นหัวหน้า พร้อมด้วย พระครูสัญญาบัตร พระครูฐานานุกรม หรือพระเปรียญธรรม จากวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เสนออธิบดี กรมการศาสนา หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมการศาสนา เป็นผู้มีอํานาจลงนามในฎีกานิมนต์เท่านั้น และมอบให้เจ้าหน้าที่ดําเนินการวางฎีกานิมนต์ไปถวายพระสงฆ์ผู้มีรายนามดังกล่าวต่อไป

ระเบียบเช่นนี้ยึดถือปฏิบัติมา ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๕ เนื่องจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ทรงนิพนธ์บทเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ขึ้นใหม่ ซึ่งกําหนดให้พระครูฐานานุกรมในสมัยนั้น คือ พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์ (พระครูปลัดขวา) พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์ (พระครูปลัดซ้าย) รับหน้าที่เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์

และเนื่องด้วยวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง มีความเกี่ยวเนื่องสนิท สนมคุ้นเคยทางราชสํานัก ปฏิบัติจริยวัตรที่แสดงออกถึงความใกล้ชิด พระสงฆ์ภายในพระอารามเองก็มีความรู้ ความเข้าใจเข้าใจในขนบธรรมเนียมงานพระราชพิธี “กรมสังฆการีธรรมการ” (ปัจจุบัน คือ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม) จีงนิมนต์พระสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จํานวน ๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เป็นการเฉพาะ


@@@@@@@

พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์กําหนดให้มีผู้ประกอบพิธี ๒ ฝ่าย คือ
    - ฝ่ายพระสงฆ์กําหนดให้ นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จากวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จํานวน ๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์
    - ส่วนฝ่ายฆราวาสกำหนดให้คณะโหรพราหมณ์ประกอบพิธีบูชาเชิญเทวดานพเคราะห์ทีละองค์ โดยสวดสลับกันไปมาตามลำดับพิธีของฝ่ายตนเอง โดยแบ่งขั้นตอนการประกอบพิธีออกเป็น ๒ ส่วน สลับไปมาเช่นกัน

"ในสมัยแรก" พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์มักถูกกําหนดให้ประกอบพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากเป็นพระราชพิธี จึงได้รับการอุปถัมภ์จากราชสํานักอยู่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะถือว่าพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้อง เนินการจัดงานดังกล่าวอยู่เป็นประจําทุกปี และในโอกาสสําคัญของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ

พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ยุคแรกใช้เวลานาน ในการประกอบพิธี เนื่องจากบทสวดที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ได้นิพนธ์ ขึ้นใหม่มีจํานวนมาก ใช้เวลาสวดนาน ๔-๕ ชั่วโมง จนกระทั่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงดําริตัดทอนความที่มีเนื้อหาซ้ำกันออกไป คงไว้แต่ข้อพระธรรมเท่านั้น ในปัจจุบันพระสงฆ์สวดบทสวดในคัมภีร์เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ใช้เวลา ราว ๑-๒ ชั่วโมงเท่านั้น

"นวัคคหายุสมธัมม์" เป็นคําศัพท์ที่ทั้งพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไม่คุ้นชื่อมากนัก โดยกรมการศาสนา มีภารกิจสนองงานได้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ (สังฆการี) ถือปฏิบัติภารกิจ ดังกล่าวนี้ในพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวาย พระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาหรือพระราชพิธีอื่นๆ เพื่อบํารุงขวัญและกําลังใจให้พุทธศาสนิกชน ที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์








ขอขอบคุณที่มา :-
บทความ : แบ่งปันความรู้ทางศาสนาสู่สาธารณะ "นวัคคหายุสมธัมม์" โดยนางสาวกัญญา แก้วคำฟุ่น นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ , กรมการศาสนา
URL : https://e-book.dra.go.th/ebook/2566/E-book_navakakha/mobile/index.html

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :-
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (๒๕๕๔) พระพิธีธรรม กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จํากัด
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (๒๕๕๔), ศาสนพิธีในพระราชพิธี (เล่ม - กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จํากัด
- พระมหาสี ปี่แก้ว (๒๕๖๒) วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หน้า: [1] 2 3 ... 707