ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี” ความไม่รู้ครองโลก  (อ่าน 8665 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ปัญญสโก ภิกขุ

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 403
  • อริยสโก
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
 :signspamani:
--------------------
สองสามวันมานี้ผมมีอันต้องเกี่ยวข้องกับการถวาย “สังฆทาน” นอกเวลาปกติ ก็เลยนึกถึงคำบาลีว่า “สงฺฆทานานิ” ที่มีผู้นิยมใช้ในเวลากล่าวคำถวายสังฆทานอยู่ในเวลานี้
เวลานี้กำลังมีความเข้าใจผิดอย่างลึกซึ้งว่า “สังฆทาน” คือสิ่งของชนิดหนึ่งที่เอาไปทำพิธีถวายแก่พระสงฆ์ และเวลากล่าวคำถวายสิ่งของชนิดนั้นก็ใช้คำบาลีว่า
อิมานิ มะยัง ภันเต “สังฆะทานานิ” สะปริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ ....
แปลเป็นไทยว่า
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย “ซึ่งสังฆทาน” พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ... (ข้อความมีต่อไปอีกทั้งบาลีและคำแปล)
ขอแจ้งให้ทราบทั่วกันว่า คำบาลีว่า “สังฆทานานิ” (ศัพท์เดิมก่อนแจกวิภัตติคือ "สงฺฆทาน” นั้น ไม่ได้แปลว่า “สิ่งของที่ถวายแก่สงฆ์” แต่แปลว่า “การถวายแก่สงฆ์”
พูดชัดๆ ว่า “สังฆทาน” เป็นคำเรียกวิธีถวาย ไม่ใช่เรียกสิ่งของที่ถวาย
วิธีถวายทาน หรือถวายสิ่งของให้แก่พระภิกษุในพระพุทธศาสนานั้นมี ๒ วิธีใหญ่ๆ คือ -
แบบที่ ๑ ถวายเป็นส่วนตัวแก่ภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง
แบบที่ ๒ ถวายให้เป็นของสงฆ์ คือถวายเป็นของกลาง เป็นของส่วนรวม ไม่ได้เจาะจงจะให้เป็นของภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ตั้งเจตนามุ่งถึงพระอริยสงฆ์
แบบที่ ๑ ท่านเรียกว่า “ปาฏิปุคฺคลิกทาน” (ปา-ติ-ปุก-คะ-ลิ-กะ-ทา-นะ) เรียกเป็นไทยว่า ปาฏิบุคลิก (ปา-ติ-บุก-คะ-ลิก) หรือ “บุคลิกทาน” (บุก-คะ-ลิก-กะ-ทาน) บางที่ตัดสั้นเหลือแค่ “บุคลิก” (บุก-คะ-ลิก) ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง เจาะจงเฉพาะตัว
แบบที่ ๒ นั่นแหละที่เรียกว่า “สังฆทาน”
ขอย้ำว่า “สังฆทาน” เป็นคำเรียกวิธีถวายหรือเจตนาที่จะถวาย
ไม่ใช่คำเรียกสิ่งของที่จะถวาย
มีผู้ทำท่าจะรู้แย้งว่า “ทาน” แปลว่า “ของที่ให้” หรือ “ของถวาย” ก็แปลได้ ในคัมภีร์ก็มีที่ใช้ในความหมายนี้ทั่วไป ดังนั้น ของที่ถวายแก่สงฆ์ ก็เรียกว่า “สังฆทาน” ได้ ไม่ผิดหลักภาษา และไม่ผิดความหมายแต่อย่างใดเลย เพราะสามารถแปลได้ว่า “ของที่ถวายแก่สงฆ์”
เมื่อมีเจตนาถวายของให้เป็นของสงฆ์ก็เรียกของนั้นว่า “สังฆทาน” ได้ ถูกต้องแล้ว
ขอเรียนยืนยันว่า ไม่ถูกครับ
ถามชวนทะเลาะสักนิดว่า ลองหยิบขึ้นมาสักชิ้นสิว่า ของชิ้นไหนที่มีชื่อว่า “สังฆทาน”
ไม่มี
ของแต่ละชิ้นมีชื่อเฉพาะตัว เช่น สบง จีวร สบู่ ยาสีฟัน กระดาษชำระ ข้าวสาร ปลากระป๋อง โอวัลติน ชา กาแฟ ฯลฯ
ไม่มีของชิ้นไหนเลยที่ชื่อ “สังฆทาน”
อธิบายแก้ให้ว่า ของทุกอย่างนั่นแหละรวมกัน เรียกว่า “สังฆทาน”
อธิบายอย่างนี้ก็ยิ่งเป็นการยืนยันว่า ไม่รู้
ของที่จะถวายให้แก่ภิกษุสามเณร ท่านมีคำเรียกอยู่แล้วว่า “เทยฺยธมฺม” ใช้ในภาษาไทยว่า “ไทยธรรม” (ไท-ยะ-ทำ)
หรือจะใช้ว่า “ไทยทาน” (ไท-ยะ-ทาน) ก็พอได้
ท่านไม่ได้เรียกของที่จะถวายพระว่า “สังฆทาน” ครับ
เอาไทยธรรมไปถวายให้เป็นของสงฆ์ ถวายเรียบร้อยแล้วจึงจะเป็นสังฆทาน
เราถวาย “ไทยธรรม” ให้เป็นสังฆทานครับ
ไม่ใช่ถวาย “สังฆทาน”
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ระบุในคำกล่าวถวายจึงเรียกว่า “สังฆะทานานิ” (สังฆทาน) ไม่ได้
อธิบายอย่างไรก็ไม่มีใครยอมเข้าใจเช่นนี้
แต่ไปหลงทางให้แก่ภาษาไทยที่พูดลัดตัดคำเป็นว่า “ถวายสังฆทาน”
แล้วพากันเข้าใจผิดชนิดเข้ารกเข้าพงว่า “สังฆทาน” เป็นชื่อสิ่งของที่สามารถเอาไปถวายพระได้
ของที่จัดเป็นถังเป็นชุดไว้เรียบร้อยแล้วและเรียกกันผิดๆ ว่า “ชุดสังฆทาน” นั้น ถ้าเอาไปถวายเจาะจงแก่หลวงพ่อหลวงพี่รูปใดรูปหนึ่งเป็นการส่วนตัว
ถามว่าจะเป็น “สังฆทาน” ไหมครับ ?
ตอบได้เลยครับว่า ไม่เป็น
ถวายแบบนั้นไม่เป็นสังฆทาน ทั้งๆ ที่เอา “สังฆทาน” (ที่เรียกผิดๆ) ไปถวายนั่นแหละ
แล้วถวายแบบไหนจึงจะเป็นสังฆทาน
ตั้งเจตนาถวายให้เป็นของสงฆ์จึงจะเป็นสังฆทาน
เป็นสังฆทานที่ตั้งเจตนา ไม่ใช่เป็นสังฆทานที่ของถวาย
ผมเคยเข้าไปซื้อของถวายพระในร้าน คนขายวางมาดผู้รู้ถามลูกค้าว่า
“จะเอาสังฆทานหรือไทยทาน”
“สังฆทาน” คือที่จัดใส่ถังใส่กล่องเป็นชุด
“ไทยทาน” คือที่ห่อกระดาษเหลืองบ้างขาวบ้าง
ร้านค้าจัดแจงแยกประเภทให้เสร็จเลย
แล้วก็กรอกข้อมูลใส่สมองว่า ถ้าจะ “ถวายสังฆทาน” ต้องมีชุดสังฆทาน
จนกระทั่งคนพากันเชื่อไปทั้งบ้านเมืองแล้วว่า ถ้าไม่มีชุดสังฆทาน ถวายไปก็ไม่เป็นสังฆทาน
เอาของใน “ชุดสังฆทาน” กับในห่อ “ไทยทาน” มาเทกองรวมกันดู จะเห็นว่าเป็นของจำพวกเดียวกันทั้งนั้น
เอา “ชุดสังฆทาน” ไปถวายเจาะจงแก่พระรูปใดรูปหนึ่ง ก็ไม่เป็นสังฆทาน
เอา “ไทยทาน” ไปถวายเป็นของสงฆ์ เป็นสังฆทาน
แล้วทำไมจึงไปแยกเรียกของที่ยังไม่ได้ถวายว่า “สังฆทาน” หรือ “ไทยทาน” ?
ฉุกคิดสักนิดก็จะรู้ทันทีว่าผิด
เวลานี้พากันเข้าป่าไปเยอะแล้ว คือเอา “ชุดสังฆทาน” ไปถวายหลวงพ่อหลวงปู่ที่ตนนับถือเลื่อมใสเป็นการส่วนตัว ก็มาบอกกันด้วยความอิ่มบุญว่า “ไปถวายสังฆทานมาแล้ว”
นับเป็นความเข้าใจผิดชนิดกลับตาลปัตร หรือพลิกคำสอนของพระพุทธเจ้าไปเลย
-------------
คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า “สังฆทาน” เป็นสิ่งของ ผู้นำทำพิธีก็เลยเอาคำว่า “สังฆทาน” เข้ามาใส่ในคำถวาย เป็นการสนับสนุนความไม่รู้ให้ลึกลงไปอีก
เมื่อแรกที่มีผู้เอาคำว่า “สังฆทาน” ใส่แทนคำว่า “ภัตตานิ” นั้น เขาใช้คำว่า “สังฆทานิ” ครับ
ผมเห็นตัวหนังสือกับตา และได้ยินคนว่านำใช้คำนี้กับหู-ยืนยันได้
เดาความไม่รู้ได้ไม่ยาก
กล่าวคือ ในคำที่เรียกกันว่า “คำถวายสังฆทาน” นั้นมีคำที่ลงท้ายว่า “- -นิ” อยู่หลายคำ คือ อิมานิ ภัตตานิ สะปริวารานิ
ผู้นำที่ไม่รู้หลักภาษาบาลีเห็นเช่นนั้นก็ไม่รอช้า จับเอาคำว่า “สังฆทาน” มาแต่งตัวให้เป็นบาลี
“สังฆทาน” มี “น” อยู่ข้างท้ายคำด้วย เหมาะพอดี
แปลง “น” เป็น “นิ” “สังฆทาน” ก็เป็น “สังฆะทานิ” เข้าชุดกันสะดวกปากไปเลย
ใครที่พอรู้บาลีอยู่บ้างจะต้องขำกลิ้ง
ตอนหลังนี่คงมีผู้รู้ไปสะกิดเข้า “สังฆะทานิ” หายไป
กลายเป็น “สังฆะทานานิ”
ประกอบวิภัตติปัจจัย “ถูกหลักไวยากรณ์” ก็จริง แต่อาการที่ “ผิดหลักธรรม” ยังไม่ได้หายไปไหน
หลักธรรมคืออะไร อย่างไร พูดมาแล้วข้างต้นโน้นครับ
----------
ยังมีอีกจำพวกหนึ่ง เข้าใจฝังหัวว่า “คำถวายสังฆทาน” ต้องว่า “อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ....”
ผู้ผลิต “ชุดสังฆทาน” ก็รับลูกกันดีมาก พิมพ์ “คำถวายสังฆทาน” ติดไว้กับสินค้าของตนด้วย เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เปี่ยมด้วยศรัทธา
ผมเคยเห็นผู้ผลิตรายหนึ่ง พิมพ์ “คำถวายสังฆทาน” ติดไว้ที่ข้างกล่องเทียนพรรษา (ซึ่งมีผู้นิยมซื้อไป “ถวายสังฆทาน”) ว่า
“อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ....”
มีคำแปลกำกับไว้ด้วยอย่างชัดเจนว่า
“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ...”
ใครไม่เชื่อ ลองเข้าไปในห้างที่ไหนสักแห่ง ไปดูที่แผนกขายของทำบุญ ท่านอาจจะได้เห็นความไม่รู้มากกว่าที่ผมเอามาบอกนี่ก็ได้
---------------
ที่น่าเจ็บปวดยิ่งขึ้นก็คือ เมื่อเห็นว่าผิดแล้ว แทนที่จะช่วยกันอธิบายแก้ไขให้เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้อง
กลับมีผู้ทำสิ่งที่วิปริต ช่วยกันอธิบายผิดให้เป็นถูก
คือมองแค่ว่าสังคมเข้าใจหรือนิยมว่าอย่างไร แล้วก็หาคำอธิบายมารองรับความเข้าใจหรือความนิยมนั้นว่า ใช้ได้ ไม่ผิด
แทนที่จะยกเอาความถูกต้องขึ้นตั้งเป็นหลัก แล้วช่วยกันดึงความเข้าใจคลาดเคลื่อนของคนหมู่มากให้กลับเข้าร่องรอย
---------------
เคยมีผู้พูดใส่หน้าผมว่า -
คุณรู้คุณก็บอกเขาสิ ชาวบ้านเขาไม่ได้จบประโยคเก้าอย่างคุณนี่ จะให้เขารู้เหมือนคุณได้ยังไง ไปโทษชาวบ้านไม่ได้หรอก ต้องโทษคุณนั่นแหละ เป็นความผิดของคุณเอง ....
...........
เมื่อเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นเสียแล้ว ผมก็ทำได้แค่..ขอรับกระผม-เท่านั้นเอง
ความไม่รู้นี่ครองโลกจริงๆ นะครับ – ว่าไหม ?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๙ กันยายน ๒๕๕๗
หมายเหตุ :
เรื่องสังฆทานนี้ผมเขียนไว้เป็นบทหนึ่ง ชื่อ “ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี” ในหนังสือ พิธีกรควรรู้ ญาติมิตรที่ยังข้องใจสามารถหาอ่านดูได้ ถ้าหาหนังสือไม่ได้ โปรดรอสักครู่ ขณะนี้ พิธีกรควรรู้ กำลังพิมพ์เป็นครั้งที่ ๔
และไม่ต้องห่วงเรื่องหาซื้อไม่ได้นะครับ เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่วางจำหน่าย ญาติมิตรช่วยกันออกสตางค์พิมพ์เป็นธรรมทานครับ
บันทึกการเข้า

Admax

  • ผู้อุปถัมภ์
  • โยคาวจรผล
  • ****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 1063
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: “ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี” ความไม่รู้ครองโลก
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 27, 2014, 04:06:25 pm »
0
 st12 st12 st12 thk56 thk56 thk56
บันทึกการเข้า
ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ

Nomosukei

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 2
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: “ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี” ความไม่รู้ครองโลก
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ตุลาคม 23, 2014, 06:41:16 pm »
0
ความสึกรู้นั้นมันอะไรกันเนี่ย
บันทึกการเข้า