ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทำเสน่ห์พระปิ่นเกล้าฯ จนมีโอรสธิดา ๑๒ พระองค์  (อ่าน 1110 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


ทำเสน่ห์พระปิ่นเกล้าฯ จนมีโอรสธิดา ๑๒ พระองค์

        พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระอนุชาร่วมครรภ์พระราชชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษก ให้มีเกียรติเสมอด้วยเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒ ในนามบัตรของพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งเป็นของใหม่นำสมัยในยุคนั้น พิมพ์พระอิสริยยศไว้ว่า “Second King of Siam”
       
       พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯไม่มีอัครมเหสี คงมีแต่พระสนม และพระสนมเอกที่ทรงยกย่องให้เป็นหัวหน้าของบรรดาพระสนมทั้งหลาย ก็คือ เจ้าคุณจอมมารดาเอม ซึ่งเป็นพระชนนีของกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ ๕
       
       เจ้าจอมมารดาอีกคนหนึ่งซึ่งทรงโปรดปรานไม่น้อยกว่ากันก็คือ เจ้าจอมมารดากลีบ ซึ่งมีพระราชโอรสและพระราชธิดาถึง ๑๒ พระองค์


        :49: :49: :49: :49:

       ]การที่เจ้าจอมคนหนึ่งมีพระราชโอรสพระราชธิดาถึง ๑๒ พระองค์นั้น ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าทรงโปรดปรานมากแค่ไหน
       
       แต่แล้วมีผู้มากระซิบกราบทูลว่า เจ้าจอมมารดากลีบซึ่งรับหน้าที่คุมห้องเครื่องเสวย ทำเสน่ห์ยาแฝด จึงได้โปรดฯให้พระยาพิไชยบุรินทรา พระยามณเฑียรบาล ตระลาการในบวรพระราชวัง ไต่สวนชำระความ คณะตระลาการเห็นว่า เรื่องนี้พระบาทสมเด็จปิ่นเกล้าฯไม่ทรงเชื่อถือมากนัก จึงชำระความไปพอเป็นพิธี ไม่ได้ไต่สวนจริงจังนัก แต่หลังการไต่สวนก็โปรดฯให้เจ้าจอมมารดากลีบพ้นจากหน้าที่ห้องเครื่อง ให้ พระยาราชโยธามาคุมแทน ส่วนเครื่องเสวยก็ให้ผู้ชายทำทั้งหมด ป้องกันมิให้มีเรื่องนินทาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
       


พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับของพระปิ่นเกล้าฯในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร


       ต่อมาทรงประชวรเสวยพระกระยาหารไม่ได้ เหล่าข้าราชบริพารหลายคนจึงกราบทูลเสนอให้เจ้าจอมมารดากลีบกลับเข้ามาทำเครื่องเสวยใหม่ โดยมีพระยาพิไชยบุรินทรา หลวงเสนาพลสิทธิ์ หลวงเพ็ชรชลาลัย จมื่นศรีบริรักษ์ จ่าการประกอบกิจ ท้าวพิพัฒนโภชา พร้อมด้วยนางแย้ม ผู้ช่วย และนางขำ ภรรยาพระพรหมภิบาล (เสม) เข้าชื่อกันค้ำประกันว่า
       
       ถ้าเจ้าจอมมารดากลีบทำเสน่ห์ยาแฝดในครั้งที่แล้ว หรือกลับมาทำใหม่ครั้งนี้ ก็ขอให้เอาโทษผู้เป็นนายประกันเหล่านี้ถึงชีวิตด้วยกันทุกคน
       
       พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงรับสั่งให้เจ้าจอมมารดากลีบกลับเข้ามาคุมห้องเครื่องทำพระกระยาหารให้เสวยตามเดิม
       
       พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯก็ยังคงประชวรไม่หาย วันหนึ่งเจ้าจอมมารดากลีบทำก๋วยเตี๋ยวน้ำให้เจ้าพนักงานนำไปตั้งถวาย ทรงเสวยได้ ๒ ฉลองพระหัตถ์(ช้อน) ก็ทอดพระเนตรเห็นขนเส้นหนึ่งอยู่ในชามก๋วยเตี๋ยว จึงเกิดความคลางแคลงพระทัยขึ้นมาอีก


นามบัตรพระปิ่นเกล้าฯ


       ในเดือนต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จมาเยี่ยมอาการประชวรของพระอนุชา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯจึงกราบบังคมทูลเรื่องพบขนในชามก๋วยเตี๋ยว และสงสัยว่าเจ้าจอมมารดากลีบจะทำเสน่ห์ยาแฝด อันเป็นสาเหตุของการประชวรเนิ่นนานไม่ทุเลานี้ ขอรับพระราชทานข้าทูลละอองในพระบรมมหาราชวังเป็นตระลาการชำระให้ได้ความจริงด้วย เพราะข้าราชบริพารในวังหน้าไต่สวนเรื่องนี้มาแล้วไม่ได้ผล
       
       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯดำรัสให้ พระยามณเฑียรบาล พระยาอนุชิตชาญไชย พระยาบริรักษ์ราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช พระพรหมภิบาล พระพรหมสุรินทร์ เป็นตระลาการชำระความ และจากการไต่สวนครั้งใหม่ คณะตระลาการวังหลวงก็ลงความเห็นว่า เจ้าจอมมารดากลีบทำเสน่ห์ยาแฝดจริง โดยมี อ้ายช้าง อ้ายขนานแดง อ้ายโสม เป็นหมอเสน่ห์ เหล่าลูกขุนจึงปรึกษาโทษว่า เจ้าจอมมารดากลีบมีพระองค์เจ้าถึง ๑๒ พระองค์ ไม่มีความกตัญญูรู้พระเดชพระคุณ มาคิดทรยศกับอ้ายช้าง อ้ายขนานแดง อ้ายโสม ผู้เป็นครู พร้อมทั้งอีน้อย อีแย้ม อีขำ จ่าการประกอบกิจ ซึ่งเป็นญาติ รู้เห็นร่วมกัน ๘ คน ให้ริบราชบาทว์ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วให้นำไปประหารชีวิตเสีย

      ส่วนพระยาไชยบุรินทรา จมื่นศรีบริรักษ์ หลวงเสนาพลสิทธิ์ ผู้เป็นนายประกันนั้น ทำไปตามพระอัธยาศัย ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ให้ถอดเสียจากตำแหน่ง ลงพระราชอาญาส่งไปจำคุก ส่วนอ้ายจันชุม อียา อีอ่วม อีสุด อีป้อม อีก้อน อีแก้ว อีหนู ไม่ได้เป็นบ่าวทาส แต่มาอาสารับใช้เจ้าจอมมารดากลีบและรู้เห็นด้วย ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วส่งไปจำคุก คนที่เป็นปลายเหตุก็ให้ส่งไปใช้แรงงานตามโรงสี

       


พระแท่นบรรทมพระปิ่นเกล้าฯ


       เมื่อคณะลูกขุนปรึกษาโทษกันแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ประชวรทรุดหนักลงจนสวรรคตในวันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม ปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๘ หลังจากที่ประชวรเรื้อรังมาถึง ๕ ปี
        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงคลางแคลงพระทัยว่า เรื่องที่เจ้าจอมมารดากลีบทำเสน่ห์นี้คงจะไม่ใช่เป็นเรื่องจริง และไม่ได้เกี่ยวกับอาการประชวรของพระอนุชา จึงทรงพระราชหัตถ์เลขาให้งดโทษประหารไว้ทั้งหมด เนรเทศเจ้าจอมมารดากลีบ อีแย้ม อีขำ ให้ไปอยู่เมืองสุโขทัย อ้ายโสม อ้ายช้าง อ้ายขนานแดง หมอเสน่ห์ นั้นให้ส่งไปเข้าคุก
       
       ส่วนพระพิไชยบุรินทรา หลวงเสนาพลสิทธ์ จมื่นศรีบริรักษ์ นายประกัน ก็ให้ปล่อยตัวพ้นโทษไป แต่มิได้ให้กลับเข้ารับราชการอีก



ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000086413
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ