ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระให้ศีล มีที่มาจากอะไร  (อ่าน 590 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
พระให้ศีล มีที่มาจากอะไร
« เมื่อ: พฤษภาคม 31, 2022, 06:36:32 am »
0


พระให้ศีล มีที่มาจากอะไร

“พระให้ศีล” เราพูดกันอย่างนี้ทั่วไป ทำให้คนช่างคิดตั้งคำถามว่า
    พระให้ศีลได้หรือ.? ศีล-เป็นสิ่งที่ “ให้” กันได้หรือ.?
    คำนี้อาจสืบเนื่องมาจากคำอาราธนาศีลที่ลงท้ายว่า
   “…สีลานิ ยาจามะ” แปลว่า “พวกข้าพเจ้าขอศีล”
   “ขอ” คู่กับ “ให้” มี “ขอศีล” ก็ต้องมี “ให้ศีล”

หลักปฏิบัติจริงๆ นั้น ผู้ที่มีศรัทธาจะรักษาศีลต้องศึกษาให้รู้ชัดก่อนว่าตนจะทำอะไร จะปฏิบัติอะไร คือจะงดเว้นเรื่องอะไรบ้าง เมื่อเข้าใจแล้วก็ตั้งเจตนางดเว้น แค่นี้ก็เป็นศีลแล้ว ไม่ต้องไป “ขอ” อะไรมาจากใครเลย

แล้ว “ขอศีล” มาได้อย่างไร.? น่าจะมาอย่างนี้ คือ รักษาศีลไปเงียบๆ คนเดียว ไม่มีใครรู้เห็น นึกอยากละเมิดขึ้นมา คนที่ใจยังไม่เด็ดเดี่ยวพออาจละเมิดได้ง่ายๆ ถ้ามีพยานรู้เห็นว่าเราถือศีล ก็จะไม่เหลาะแหละโลเล ไม่ละเมิดง่ายๆ ทำนองเดียวกับให้สัจจะหรือรับปากกับใครไว้ก็ต้องทำให้ได้จริงตามที่รับปาก

เรื่องถือศีล ใครจะเป็นพยานได้ดีที่สุด ก็ต้องเป็นคนที่มีศีลมั่นคงที่สุด ไม่มีใครดีไปกว่าพระ ใครจะรักษาศีลก็ไปบอกพระ ให้พระเป็นพยาน วันพระเป็นวันฟังธรรม ดังที่เรียกวันพระว่า “วันธรรมสวนะ” จะฟังธรรมก็ต้องไปหาพระ ไปหาพระก็ควรมีของไปถวายพระ ก็เกิดเป็นธรรมเนียมไปทำบุญวันพระ แล้วก็เกิดศรัทธารักษาศีลด้วย พบพระแล้วก็ขอให้พระเป็นพยานว่าข้าพเจ้าจะรักษาศีล

@@@@@@@

วิธีที่จะให้พระเป็นพยานก็คือ บอกกล่าวให้พระท่านรับทราบว่า ข้าพเจ้าจะรักษาศีลข้อนี้ๆ วิธีบอกกล่าวก็คือ “ว่าศีล” ข้อนั้นๆ ให้พระท่านฟัง เพราะผู้ที่มีศรัทธาจะรักษาศีลจะต้องศึกษาให้รู้ชัดก่อนว่า ตนจะงดเว้นเรื่องอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น ก็ควรจะต้องรู้ถ้อยคำที่เป็นตัวศีลมาแล้วเป็นอย่างดี

     คำพูดว่าข้าพเจ้าของดเว้นเรื่องนี้ๆ นี่แหละ คือ “ตัวศีล” เช่น
    “ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ”
     ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปก็ว่า “ข้าพเจ้าของดเว้นจากการฆ่าสัตว์”

ต้นฉบับเดิมเรื่องศีลเป็นภาษาบาลี ใครจะรักษาศีลก็ไปขอให้พระเป็นพยาน ก็คือไปพูดตัวศีลอันเป็นคำบาลีให้พระฟัง พระได้ฟังว่าโยมจะรักษาศีล ท่านก็อนุโมทนาด้วยการกล่าวอานิสงส์ศีลที่เราคงจะคุ้นหูกัน คือ สีเลนะ สุคะติง ยันติ…. เป็นอันจบกระบวนการขอให้พระเป็นพยาน หลักเดิมจริงๆ มีแค่นี้

เมื่อทำกันนานๆ เข้าเป็นกลายเป็นรูปแบบ ใครจะรักษาศีลก็ไปว่าศีลให้พระท่านฟัง ครั้นนานมา ผู้จะรักษาศีลบางคน “ว่าศีล” ด้วยตนเองไม่คล่อง เหตุเพราะ-เมื่อทำกันจนกลายเป็นรูปแบบไปแล้ว หลักที่ว่า-ผู้ที่มีศรัทธาจะรักษาศีลต้องศึกษาให้รู้ชัดก่อนว่าตนจะงดเว้นเรื่องอะไรบ้าง-ก็ชักแผ่วลง ศึกษาบ้างไม่ศึกษาบ้าง กลายเป็นรักษาศีลตามรูปแบบ พอไป “ว่าศีล” ให้พระฟังตามรูปแบบ ก็ว่าคล่องบ้างไม่คล่องบ้าง ติดคำไหน พระท่านก็บอก ไปๆ มาๆ พระท่านคงรำคาญ ก็เลยว่านำให้ทุกข้อ


@@@@@@@

ตอนนี้ภาพที่ออกมาก็ชักเพี้ยน คือแทนที่โยมผู้รักษาศีลจะไป “ว่าศีล” ให้พระฟัง กลายเป็นพระ “ว่าศีล” ให้โยมฟัง โยมว่าตามพระ ภาพที่ออกมาจึงเหมือนโยมไป “ขอศีล” จากพระ

      จากภาพโยม “ขอศีล” ก็เลยมีผู้แต่งคำขอศีลที่เรียกกันว่า “คำอาราธนาศีล” ขึ้นมา เหมือนกับเป็นคำพูดแก้เขิน เพราะความจริงแล้วเป็นหน้าที่ของโยมจะต้องว่าศีลให้พระฟัง นั่นคือโยมต้องสามารถว่าได้เอง โยมจะรักษาศีลก็ต้องศึกษาเรื่องศีลมาก่อน ต้องพูดได้ว่าได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่มา “ขอศีล” จากพระ และโดยข้อเท็จจริง ศีลมีได้ด้วยการลงมืองดเว้นเอง ไม่ใช่ไปขอมาจากพระหรือจากใคร

      สาระในคำอาราธนาศีล ถ้าถอดออกมาจริงๆ ก็คือบอกพระว่า กรุณา “ว่าศีล” ให้โยมฟังหน่อยเถิด โยมว่าเองไม่คล่อง แต่พูดตรงๆ แบบนี้ก็เขิน จึงเลี่ยงไปพูดว่า “ขอศีล” (… สีลานิ ยาจามะ)
      ด้วยเหตุผลดังว่ามานี้แหละ จึงเกิดเป็นธรรมเนียม “ขอศีล-ให้ศีล” อย่างที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้

ถ้ายังไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ก็ขอให้ลองเทียบดูกับการถวายสิ่งของให้เป็นของสงฆ์ ที่เราเรียกกันว่า “ถวายสังฆทาน” ที่ทำกันตามวัดต่างๆ ในเวลานี้ การถวายสังฆทานนั้น เดิมผู้ถวายกล่าวคำถวายเอง ถ้ากล่าวเองไม่ได้ก็จะมีมรรคนายกคือ คนวัดมาเป็นผู้กล่าวนำทำพิธีให้ ทำกันอย่างนี้มาแต่เดิม

@@@@@@@

แต่เดี๋ยวนี้วัดต่างๆ ไม่ได้จัดคนวัดไว้คอยช่วยเหลือ อ้างว่าไม่สะดวก หาคนว่างยาก พระว่านำให้เองสะดวกกว่า บางวัดใช้วิธีทำคำถวายเป็นแผ่นพลาสติกหรือเขียนคำถวายติดไว้ให้โยมอ่าน ก็พอกล้อมแกล้มไปได้ แต่ที่พระว่านำให้ก็มีมาก มีทั่วไป

ต่อไปก็จะเหมือนขอศีล-ให้ศีล อีกไม่นานคงจะมี “คำอาราธนาสังฆทาน” แบบเดียวกับคำอาราธนาศีล พระกล่าวนำถวายเหมือนให้ศีล คอยดูไปเถิด

     ถ้าไม่ศึกษาเรียนรู้ให้รู้ทัน ก็จะเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ก็ต้องช่วยกันบริหารจัดการให้ดี ถ้า “ว่า” คำอะไรๆ ก็ไม่ได้ ท่องก็ไม่ท่อง จำก็ไม่จำ ไม่ทำไม่เอาอะไรทั้งนั้น

     ฝากทุกอย่างไว้กับพระ ฝากทุกอย่างไว้กับแผ่นกระดาษ มันก็จะผันแปรไปเรื่อยๆ อย่างนี้แล เรื่องนี้ผมเคยเขียนมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เอามาเขียนอีกทีเป็นอนุสติ ตามระลึก หรือทบทวนความจำ ท่านผู้ใดมีอุตสาหะ รื้อฟื้นฝึกฝน ทำให้ถูก ทำให้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น ก็ขออนุโมทนาสาธุการอย่างยิ่งครับ ถ้าลอยตามน้ำกันไปเรื่อยๆ ก็สบายดี แต่ในที่สุดพระพุทธศาสนาของเราจะไม่เหลือ





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย, ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ,๒๐:๒๐
URL : dhamma.serichon.us/2022/05/31/พระให้ศีล-มีที่มาจากอะไ/ 
Posted date : 31 พฤษภาคม 2022 , By admin.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 31, 2022, 06:38:57 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ