ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สามเณรนิรนาม สมัยพุทธกาล เสื่อมจากฤทธิ์เพราะมาตุคาม  (อ่าน 808 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สามเณรนิรนาม สมัยพุทธกาล เสื่อมจากฤทธิ์เพราะมาตุคาม

สามเณรนิรนามอีกรูปหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์มาก เหาะเหินเดินหาวได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ แต่ท้ายสุดก็เสื่อมจากฤทธิ์ เพราะวัยหนุ่มเป็นเหตุเสื่อมอย่างไร เสื่อมเพราะใครคงเดากันได้ ถ้าเดาไม่ได้ ก็ตามผมมา จะเล่าให้ฟัง

เรื่องราวเกิดขึ้นสมัยหลังพุทธกาล คงราว พ.ศ.900 กว่า ยุคที่อรรถกถา (หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก) รุ่งเรือง ในอรรถกถา “สัมโมหวิโนทนี” เล่าไว้ว่า พระเถระอรหันต์รูปหนึ่ง พร้อมกับสามเณรผู้ติดตามเดินทางจากชนบท ไปยังวัดในเมืองหลวง อันชื่อว่า ปิงครบริเวณ เพื่อนมัสการพระเจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ์

ขณะที่พระเถระทั้งหลายพากันไปไหว้พระเจดีย์ พระเถระจากชนบท ท่านไม่ได้ไปด้วย รอให้ผู้คนกลับกันหมดแล้ว กลางคืนดึกสงัด ท่านจึงลุกขึ้นไปไหว้พระเจดีย์แต่เพียงผู้เดียวเงียบๆ ไม่ให้รู้แม้กระทั่งสามเณร

สามเณรเฝ้าดูอาการของพระเถระด้วยความแปลกใจ จึงแอบเดินตามหลังไปเงียบๆ พระเถระกราบพระเจดีย์แล้ว ก็ลุกขึ้นยืนประคองอัญชลีจ้องพระเจดีย์ด้วยความเคารพ อยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน จนกระทั่งสามเณรกระแอมกระไอขึ้น จึงหันมาถามว่า สามเณรมาเมื่อไร

“มาพร้อมท่าน ขอรับ”
“เหรอ ฉันไม่ทันสังเกต”
“ท่านอาจารย์ไหว้พระเจดีย์ ไม่เห็นมีดอกไม้เลยขอรับ”
“ถ้ามีก็ดี แต่เมื่อไม่มี ด้วยจิตใจที่เลื่อมใส ก็เสมือนบูชาด้วยดอกไม้นั่นแหละ สามเณร”

“ถ้าท่านอาจารย์ประสงค์ดอกไม้ กระผมจะไปนำมาถวาย” ว่าแล้วก็เข้าฌานเหาะไปยังป่าหิมพานต์นำดอกไม้หลากสีใส่ธมกรก (กระบอกกรองน้ำดื่ม) มาถวายพระเถระ พระเถระเกลี่ยดอกไม้ลงยังแท่นบูชา กล่าวว่า “ดอกไม้มีน้อยนะ สามเณร”

“ท่านอาจารย์ขอรับ ขอให้ท่านรำลึกถึงพระคุณอันมหาศาลของพระพุทธเจ้าแล้วบูชาเถิด” สามเณรกล่าว

@@@@@@@

พระเถระก้าวขึ้นตามบันไดไปยังมุขด้านทิศปัจฉิม แล้วเกลี่ยดอกไม้ลงแท่นบูชา ทันใดนั้นแท่นบูชาเต็มไปด้วยดอกไม้ แถมยังหล่นลงมากองบนพื้นข้างล่างอีกสูงท่วมเข่า พระเถระเดินลงยังพื้นชั้นล่างวางดอกไม้บนฐานพระเจดีย์ ดอกไม้ก็แผ่เต็มบริเวณพระเจดีย์

“สามเณร ดอกไม้ยิ่งวางก็ยิ่งมีมาก” พระเถระหันมาพูดกับสามเณร สามเณรกราบเรียนท่านว่า “ท่านอาจารย์จงคว่ำธมกรกลง” พระเถระก็ทำตาม ทันใดนั้นดอกไม้ก็หมดไป

พระเถระอรหันต์ทรงอภิญญา ทราบว่า สามเณรหนุ่มนี้ต่อไปจักเสื่อมจากฤทธิ์เพราะมาตุคาม จึงกล่าวเตือนว่า “สามเณร เธอมีฤทธิ์มาก แต่ถ้าเธอประมาท ต่อไปเธอก็จะเสื่อมจากฤทธิ์ เธอจักดื่มน้ำข้าวอันช่างทอหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำแล้ว”

สามเณรขัดใจนึกตำหนิว่า “พระผู้เฒ่านี้พูดอะไร ไม่เห็นเข้ารูหูเลย” ไม่ใส่ใจ เดินหนีไป

เมื่อพระเถระจะเข้าไปบิณฑบาต ให้สามเณรถือบาตรตามหลัง สามเณรถามว่าท่านจะไปหมู่บ้านไหน เมื่อพระเถระบอกชื่อหมู่บ้าน สามเณรก็บอกว่านิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถอะ ปล่อยให้พระเถระเดินไป จวนจะเข้าหมู่บ้านแล้ว จึงเหาะตามไปเอาบาตรถวายพระเถระ

พระเถระกล่าวเตือนสามเณรผู้คะนองด้วยการใช้อิทธิฤทธิ์ มันหวั่นไหว เสื่อมได้ ถ้าคะนองเมื่อมันเสื่อมแล้วจะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ในที่สุด

“พระผู้เฒ่าพูดอะไร ไม่เข้ารูหู” สามเณรหนุ่มบ่นอีกด้วยความรำคาญ ไม่ยอมฟัง


@@@@@@@

วันหนึ่งสามเณรเหาะลิ่วๆ ผ่านไปสระบัวแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงหญิงสาวร้องเพลงไพเราะจับใจ ยังกับเธอกำลังออกคอนเสิร์ตกลางสระน้ำก็มิปาน สามเณร “ลอยคว้าง” กลางอากาศ ตำราเปรียบว่า “เหมือนแมลงตาบอดติดอยู่ในรสหวาน” ไปไหนไม่ได้ ด้วยกำลังแห่งสมาบัติที่เหลืออยู่ถึงแม้ฤทธิ์จะเสื่อมแล้ว แต่ก็ไม่หล่นตุ๊บลงบนพื้นน้ำ สามเณรผู้ต้องศรกามเทพค่อยๆ ลงมายืนเซ่ออยู่ริมฝั่ง สติยังมีอยู่บ้าง จึงรีบกลับวัดมาลาอาจารย์ว่าตนมีความจำเป็นจะต้องจากไป

พระเถระรู้ล่วงหน้าแล้วว่าอะไรเป็นอะไร จึงไม่เอ่ยปากทัดทานแม้คำเดียว ถึงห้ามก็คงไม่ฟัง ดังพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ว่า
    “ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิว์ขังไว้ ย่องโลดและแล่นไป มิยอมอยู่ ณ ที่ขัง” ฉะนั้นแล
     ไม่ว่ารักของคนหนุ่ม หรือของคนแก่ ความรักมันบุกไปถึงทั้งนั้นแหละครับ

สามเณรถอดสบงจีวรทิ้ง ยืนคอยหญิงสาวอยู่ริมสระ หญิงสาวขึ้นจากสระน้ำรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงขอร้องให้สามเณรกลับไปอยู่วัดอยู่วาตามเดิม ชีวิตครองเรือนมันมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบดังสามเณรฝันดอก

ก็คงพูดปัดไปตามประสา แต่ใจจริงหญิงสาวก็มีใจปฏิพัทธสามเณรหนุ่มรูปหล่ออยู่ เมื่อสามเณร (ตอนนี้กลายเป็น “น้อย” หรือ “เซียง” ไปแล้ว) ยืนยันจะอยู่เคียงข้างน้องนาง ไม่ว่าจะเข้าดงกุหลาบหรือดงอุตพิดก็ตาม

“ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดๆ” ว่าอย่างนั้นเถอะ

ทั้งสองก็พากันกลับไปยังเรือนของหญิงสาว พ่อแม่หญิงสาวกล่าวว่า “พ่อหนุ่มเอย เราเป็นช่างหูกจนๆ พ่อหนุ่มจะอยู่กับเราได้หรือ พ่อหนุ่มเคยบวชเรียนอยู่ในเพศสมณะสบายๆ จะทนลำบากไหวหรือ”

พ่อหนุ่มผู้มีรักเป็นสรณะยืนยันว่า “จะให้ทำอะไร ผมทำได้ทั้งนั้น เรื่องการงานข้อยบ่ยั่น” ขึงขังอะไรปานนั้น

@@@@@@@

เมื่อพ่อหนุ่มยืนยันแข็งขัน จึงยกลูกสาวให้ ทั้งสองอยู่ครองรักกันต่อมา จนพ่อตาแม่ยายเสียชีวิต พ่อหนุ่มก็ได้เป็นหัวหน้าครอบครัวรับมรดกช่างทอหูกสืบไป ครอบครัวอื่นเขามีคนใช้หรือผู้ช่วยงานครอบครัวของอดีตสามเณรมีกันเพียงสองคน เมื่อครอบครัวอื่นเขาให้คนนำอาหารไปให้สามีของเขาที่โรงทอหูกแต่เช้า ภรรยาของอดีตสามเณรหนุ่มทำงานบ้านก่อน กว่าจะนำอาหารไปให้สามีก็สาย สามีรอจนโมโหหิว เหตุการณ์มักจะเป็นอย่างนี้แทบทุกวัน

จนวันหนึ่งสามีทนไม่ได้ จึงดุด่าเอาแรงๆ ภรรยาก็เถียงบ้างว่า ก็ฉันมีอยู่คนเดียว ไม่มีใครช่วยงานบ้าน ก็ทำไมไม่หาคนมาช่วยงานบ้าง นำอาหารมาให้ก็บุญแล้ว อยากกินก็กิน ไม่อยากกินก็ตามใจสิ ว่าแล้วก็โยนอาหารลงพื้น โกรธเหมือนกันนี่คะ

เท่านั้นแหละครับ อดีตสามเณรผู้มีฤทธิ์ คราวนี้ออกฤทธิ์แบบชาวบ้านคือ หยิบกระสวยขว้างแม่ยอดยาหยี ภรรยาหลบไม่ทัน ปลายกระสวยทิ่มตาข้างหนึ่ง เลือดไหลเป็นทาง เธอเอามือกุมตาที่แตกร้องไห้ครวญครางด้วยความเจ็บปวด ตาบอดทันทีทันใดครับ

ไอ้ “น้อย” หรือ “ไอ้เซียง” เห็นดังนั้น ก็ร้องไห้ครวญครางไม่แพ้ภรรยา ชาวบ้านต่างก็มาปลอบโยนทั้งสองคนว่า เรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว ทำคืนไม่ได้อย่าได้ถือสากันเลย ไอ้หนุ่มก็พาเมียไปรักษาตาให้หายเสีย เธอก็อย่าได้คร่ำครวญไปเลย ถึงเมียตาบอดข้าง ก็ยังมีอีกข้างมองเห็นอยู่ ต่อไปอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกก็แล้วกัน บวชเรียนมาแล้วเย็นๆ ลงเสียบ้างไอ้น้อย

ไอ้น้อยครางอ่อยๆ ว่า “ฉันมิได้ร้องไห้เพราะเหตุนี้ดอก ฉันนึกถึงคำพูดของพระเถระอาจารย์ของฉัน ท่านบอกว่า ต่อไปฉันจะกินน้ำข้าวที่ช่างทอหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำ อาจารย์ท่านมองเห็นล่วงหน้าแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น อุตส่าห์ตักเตือน แต่ฉันไม่ฟัง ฉันไม่ดีเอง ฮือ ฮือ”

“ไอ้น้อยเอ๋ย ก็เอ็งเลือกเดินทางนี้แล้ว ก็จงเดินต่อไป เมียตาบอดข้างก็เพราะเอ็งทำเขา เอ็งก็จงรับผิดชอบต่อไป”

ดูเหมือนอดีตสามเณรหนุ่มแว่วเสียงของอาจารย์มาแต่ไกลฉะนี้แล






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มิถุนายน 2559
ผู้เขียน   : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2559
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_5170
Photo : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ