ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ในหลวงรัชกาลที่ ๕. ฝากวัดไว้กับ "สามเณรปลด"  (อ่าน 860 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ขอบคุณภาพจาก : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13853


เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ในหลวงรัชกาลที่ ๕. ฝากวัดไว้กับ "สามเณรปลด"

วันนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวสามเณรน้อยนามว่า ปลด ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สามเณรปลด นามสกุล เกตุทัต เป็นบุตรขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ) และนางปลั่ง เกิดวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2431 โยมบิดาเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า และเป็นเจ้ากรมคนแรกในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

สามเณรปลดบวชเรียนเมื่ออายุ 12 ปี ที่วัดพระเชตุพน เข้าสอบแปลบาลีคราวแรกได้ 1 ประโยค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า เสด็จพระราชดำเนินฟังการแปลในวันนั้นด้วย ทอดพระเนตรเห็นสามเณรปลดแปลได้ก็ทรงพอพระทัย ตรัสว่า “เณรเล็กๆ ก็แปลได้”

และเมื่อทรงทราบว่า “เณรเล็กๆ” เป็นบุตรขุนพิษณุโลกประชานาถ ก็ทรงมีพระมหากรุณายิ่งขึ้น ทรงโปรดฯ ให้ย้ายมาอยู่วัดเบญจมบพิตรตั้งแต่วันที่เข้าสอบครั้งแรกนั้น

สามเณรปลดเข้าแปลอีกประมาณห้าหรือหกครั้ง ก็สอบผ่านได้เปรียญ 9 ประโยค เมื่ออายุย่าง 20 ปี ใน พ.ศ.2451 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า ทรงมีพระราชปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ โดยรับจัดพิธีอุปสมบทให้ พูดอย่างภาษาสามัญก็ว่าทรงเป็น “โยมบวช” ให้ สามเณรปลดเป็น “นาคหลวง” ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระมหาปลดได้ฉายาว่า กิตฺติโสภโณ (ผู้งามด้วยเกียรติ) มีสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทยมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณณทัตตมหาเถระ) และพระธรรมเจดีย์ (เข้ม ธัมมสรมหาเถระ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ ตามลำดับ

@@@@@@@

พระมหาหนุ่มความรู้เปรียญธรรมเก้าประโยค ใครๆ ก็คาดว่าคงจะบวชไม่นาน คงจะลาสิกขาไปรับราชการเหมือนพระมหาหนุ่มอื่นๆ หลายรูปในสมัยนั้น เช่น พระมหาปั้น สุขุม เปรียญสามประโยค วัดหงส์รัตนาราม ลาสิกขา ออกมารับราชการจนเป็นถึงเจ้าพระยายมราช

พระมหานิ่ม กาญจนาชีวะ เปรียญ 6 ประโยคแห่งวัดสุทัศนเทพวราราม ลาพรตออกมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย แต่ไวยากรณ์ไทยที่คนไทยบ่นกันว่ายากอย่างยิ่ง (เพราะท่านยืมไวยากรณ์บาลีมาใช้) ท่านผู้นี้รับราชการจนเป็นถึงพระยาอุปกิตศิลปสาร เวลาคนไทยพบหน้ากันก็ทักกันว่า “สวัสดี” จนติดปาก ใครไม่รู้ก็จงรู้เสียว่ามหานิ่มคนนี้แหละครับเป็นผู้บัญญัติคำนี้ขึ้นใช้

พระมหาน้อย อาจารยางกูร เปรียญ 7 ประโยคแห่งวัดสระเกศ สึกออกมารับราชการเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร เป็นกวีเอก แต่งฉันท์ กาพย์กลอนได้ไพเราะยิ่ง บทสวดมนต์ที่สวดแล้วกินใจ “องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บมิหม่นมิหมองมัว…” นั่นแหละครับฝีปากมหาน้อยท่าน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หกทรงเปรยทำนองจะชวนพระมหาปลดสึกมารับราชการ แต่พระมหาปลดแสดงท่าทีว่ายินดีอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มากกว่า ตอนนั้นท่านเป็นพระราชาคณะหนุ่ม ถวายพระธรรมเทศนาแด่ในหลวงเป็นที่โปรดปรานมาก ถ้าท่านลาสิกขาไปรับราชการ ท่านคงเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการแน่นอน

ผู้เฒ่าผู้แก่กระซิบ (ประวัติศาสตร์กระซิบอีกแล้ว) ว่า ที่พระมหาปลดไม่สึกนั้นเพราะ “รับฝากวัด” ไว้จากในหลวงรัชกาลที่ห้า เรื่องมีอยู่ว่าก่อนอุปสมบทหนึ่งวัน มีการประกอบพิธีทำขวัญนาคที่พระที่นั่งทรงธรรม ในหลวงรัชกาลที่ห้าเสด็จในพิธีด้วย ในตอนเสร็จพิธีก่อนจะเสด็จกลับ ทรงมีพระราชดำรัสกับสามเณรปลดว่า “เณร ฝากวัดด้วยนะ” สามเณรปลดก็ได้เฝ้าวัดที่ทรงฝากไว้จนกระทั่งได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช

ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ห้า ทรงทราบว่าสามเณรน้อยรูปนั้นได้รักษาวัดที่ทรงฝากไว้มาเป็นอย่างดี พระองค์ก็คงทรงปีติและโสมนัสมิใช่น้อย


@@@@@@@

สามเณรปลด ได้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาตามลำดับ ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ แล้วเลื่อนเป็นพระราชเวที พระเทพมุนี พระธรรมโกศาจารย์ พระพรหมมุนี สมเด็จพระวันรัต และในที่สุดได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ.2503 พระนามตามจารึกในสุพรรณบัฏยาวถึงสามบรรทัดว่า

“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส ภูมิพลมหาราชอนุศาสวนาจารย์ กิตติโสภณาภิธานสังฆวิสสุต ปาวจนุตมกิตติโสภณ วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถานวิจิตปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช”

เรื่องชื่อยาวนี้มีเกร็ดเล่าว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์นี้เสด็จไปดูการพระศาสนายังยุโรปและอเมริกา หนังสือพิมพ์ฝรั่งพาดหัวข่าวว่า พระสังฆราชแห่งเมืองไทย ผู้มีนามยาวที่สุดในโลก โดยนำพระนามมาลงเป็นอักษรโรมัน

ผมอ่านแล้วก็ทั้งฉุนทั้งขัน ที่ฉุนก็เพราะแกเรียกพระองค์ว่า “Mister Somdej” แต่เมื่อนึกว่าเขาอยู่คนละวัฒนธรรมกับเรา ก็หายฉุนกลายเป็นขันแทน

อย่าว่าแต่คนอื่นเลย พี่ไทยเรานี่ก็เหมือนกัน ส่วนมากไม่ค่อยจะรู้เรื่องพระเรื่องเจ้า บางคนอยู่สมาคมอื่น องอาจกล้าหาญ พูดเสียงดัง แต่พอเข้าพระเข้าเจ้าตัวสั่นงันงก เก้ๆ กังๆ ไม่รู้จะวางตัวอย่างไร ไม่รู้จะพูดกับท่านอย่างไร พระท่านถามว่า มีธุระอะไรหรือโยม

“อาตมาจะมานิมนต์เชิญท่านไปฉันเพลที่บ้าน เจริญพร” แน่ะ แย่งคำของพระมาใช้หน้าตาเฉย

@@@@@@@

สมณศักดิ์พระราชาคณะที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ศรี” สมัยก่อนสงวนไว้สำหรับพระมหาเปรียญเก้าประโยค เช่น ถ้าเห็นพระราชทินนามว่า พระศรีวิสุทธิวงศ์ พระศรีโสภณ รู้ทันทีว่า “เจ้าคุณ” องค์นี้มีภูมิปริยัติเปรียญเก้าประโยค

และถ้าอยู่ในยุทธจักรดงขมิ้นก็จะรู้ “ศักดิ์ศรี” ของแต่ละตำแหน่งไม่เท่ากัน ตำแหน่งใน “ทำเนียบ” จะดูดีกว่า ผู้ได้รับสถาปนาก็จะภูมิใจกว่า ว่ากันอย่างนั้น สังเกตดูตำแหน่งที่พระมหาปลดได้รับล้วนแต่อยู่ในทำเนียบทั้งนั้น เช่น พระศรีวิสุทธิโมลี พระราชเวที พระเทพมุนี ฯลฯ

เฉพาะนามที่ลงท้ายด้วย “เวที” มีปัญหา ถูกญาติโยมผู้หวังดีแก้เป็น “เทวี” ทุกครั้งเลย เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ อาจารย์ผมเมื่อสมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเวที รับนิมนต์ไปแสดงธรรมทางวิทยุบ่อย แต่ถูกแก้ชื่อแทบทุกครั้ง “ต่อไปนี้ ท่านจะได้ฟังพระธรรมเทศนา แสดงโดย พระเทพเวที” ทราบว่าท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์สมัยดำรงสมณศักดิ์ พระเทพเวที ก็ถูกแก้ชื่อเช่นเดียวกัน นี่คือฝีมือของ “ผู้หวังดี” คือหวังดีจนทำเสีย

อดีตสามเณรปลด เป็นคนเจ้าระเบียบ เป็นนักการศึกษาและให้การศึกษาแก่ศิษยานุศิษย์ตลอดเวลาที่มีโอกาส ความเป็นเจ้าระเบียบ “เฮี้ยบ” นั้นลือลั่นกันมากในสมัยนั้น เอาแค่ภายในวัดเบญจมบพิตร พระเณรเวลาลงจากกุฏิ จะเดินลงมาโดยมีแต่สบงกับอังสะเท่านั้นไม่ได้ ต้องห่มผ้าให้เรียบร้อยเป็นปริมณฑล สีสบงกับสีจีวรจะต้องให้กลมกลืนกัน เข้มหรืออ่อนกว่ากันผืนใดผืนหนึ่ง นุ่งห่มแล้วมองเห็นสีไม่กลมกลืนกันไม่ได้

เวลามีงานพระราชพิธี ในหลวงจะเสด็จฯ เช่นที่วัดพระแก้ว อดีตสามเณรปลด เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต หรือสมเด็จพระสังฆราชแล้ว จะไปตรวจตราดูก่อนว่า จัดสถานที่เรียบร้อยหรือไม่

บุคลิกภาพก็เป็นสิ่งสำคัญที่ท่านกวดขันมาก เริ่มแต่รูปร่างหน้าตา ถ้าพระเณรรูปใดรูปร่าง “ขี้ริ้ว” เช่น ดำเกินไป (จนจะปิดทองได้เลย) สูงเกินไป (จนจะพอๆ กับเปรตวัดสุทัศน์) อย่าหมายว่าจะได้อยู่วัดเบญจมบพิตร เพราะท่านไม่เต็มใจรับ หาว่าเป็น “ปุริสทูสกะ” (ทำให้บริษัทเสียความงาม) บริษัทในที่นี้หมายถึงภิกษุบริษัทนะครับ ไม่ใช่บริษัทมติชน อะไรทำนองนั้น


@@@@@@@

ความเป็นนักการศึกษาของท่าน ยืนยันได้จากการที่ท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่ง “แม่กองบาลีสนามหลวง” และ “สังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา” มีหน้าที่จัดการศึกษารวมถึงการวัดและประเมินผล ติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

เวลาให้อุปสมบทแก่กุลบุตร เมื่อให้ฉายาแก่นาคแล้ว มักจะหันมาถามพระที่ร่วมพิธีอุปสมบทว่า แปลว่าอย่างไร เป็นการทดสอบความรู้สัทธิวิหาริก (ศิษย์ที่ท่านบวชให้) และอันเตวาสิก (ศิษย์ที่ผู้อื่นบวชให้แต่มาอยู่ด้วย) ไปในตัว นี้นับเป็นวิธีการให้การศึกษาโดยทางอ้อมที่ได้ผลดี ทำให้ศิษยานุศิษย์ตื่นตัว เตรียมพร้อมที่จะตอบคำถาม ซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกถามเมื่อใด

แต่ถึงจะเป็นนักการศึกษาอย่างใดก็ตาม ในช่วงแรกๆ นั้นท่านไม่นิยมให้พระเณรเรียนวิชาอื่นนอกจากพระธรรมวินัย หาว่าเป็น “ดิรัจฉานวิชา” ท่านจะไม่พอใจเมื่อเห็นพระในวัดไปเรียนมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ หรือเรียนภาษาฝรั่งมังค่า ต่อเมื่อได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วนั่นแหละ ทรรศนะนี้ได้เปลี่ยนไป

พระองค์ได้รับอาราธนาให้ไปดูการพระศาสนายังต่างแดน ตรัสภาษาฝรั่งไม่ได้ต้องอาศัยล่ามช่วยแปล นั่นแหละพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของวิชการอื่นจากพระธรรมวินัย

@@@@@@@

เมื่อผมบวชใหม่ๆ ไปเข้าเฝ้า พระองค์ท่านรับสั่งถามว่า “เรียนภาษาฝรั่งบ้างหรือเปล่า” ผมกราบทูลด้วยความมั่นใจว่าพระองค์ทรงโปรดแน่ “ไม่ กระหม่อม” แต่ผิดถนัด พระองค์รับสั่งว่า “เรียนไว้นั่นแหละดี ไม่รู้ภาษาฝรั่ง ต้องหัวเราะทีหลัง อายเขา” เมื่อเห็นผมงง จึงทรงอธิบายว่า

    “ฉันพูดฝรั่งไม่ได้ ต้องผ่านล่าม เวลาพวกเขาพูดคุยกันหัวเราะขบขัน กว่าจะรู้ว่าเขาพูดเรื่องอะไรและได้หัวเราะบ้างก็ช้าไปแล้ว หัวเราะทีหลังมันอายเขาอย่างนี้แหละ”

สามเณรปลดนับเป็นสามเณรรูปที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สอบได้เปรียญเก้าประโยคในสมัยแปลปาก แต่หลังจากเปลี่ยนเป็นสอบข้อเขียนแล้ว ไม่มีใครสอบได้มาเป็นเวลาห้าสิบกว่าปี จนกระทั่งในปี พ.ศ.2503 มีสามเณรน้อยจากมหาสารคาม ชื่อ เสฐียรพงษ์ วรรณปก สอบได้เป็นรูปแรกในรัชกาลปัจจุบัน ในปีถัดมาก็มีสามเณรประยุทธ์ อารยางกูร ถัดจากสามเณรประยุทธ์ ก็มีตามมาอีกจำนวนมาก มีใครบ้างจำไม่ค่อยได้แล้ว

ต่อไป ถ้ารับได้ขยายโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับจากหกปีเป็นเก้าปี ผู้จบประถมศึกษาย่างเข้าวัยต้องใช้แรงงานกันแล้ว คงจะพากันบวชเณรน้อยลง ถึงมาบวชก็คงไม่มีสามเณรเปรียญเก้าอีกต่อไป เพราะอายุจะเลยยี่สิบปีบริบูรณ์ นั่นไม่สำคัญเท่ากับต่อไปจะหาเณรน้อยลงทุกที เมื่อเณรน้อยลง พระก็จะลดน้อยลงด้วย แล้วใครจะอยู่สืบพระศาสนาเล่าเจ้าประคุณเอ๋ย





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2559
ผู้เขียน   : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2559
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_4898
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ