ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ศาลเจ้าพ่อหอเชือก” ศาลพระภูมิ ๖ เสา เกี่ยวเนื่องที่สักการะ ครั้งบรมราชาภิเษก  (อ่าน 260 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



“ศาลเจ้าพ่อหอเชือก” ศาลพระภูมิ ๖ เสา ของกรมศิลปากร.! เกี่ยวเนื่องที่สักการะ ครั้งบรมราชาภิเษก.!!

ที่ริมรั้วด้านในของกรมศิลปากรข้างประตูทางออก จะมีศาลไม้ทรงไทยหลังหนึ่งตั้งอยู่ หันหน้าเข้าหากรม ด้านหลังติดรั้วด้านสนามหลวง ขนาดเท่าเรือนไม้ขนาดย่อม มีประตูหน้าต่างเปิดปิดได้ มีสถานภาพเป็นศาลพระภูมิของกรมศิลปากร แต่มีลักษณะแตกต่างจากศาลพระภูมิตามบ้านหรือสถานที่ต่างๆอย่างมาก อันดับแรกก็คือ สะดุดตาในความวิจิตรงดงามด้วยศิลปกรรมชั้นสูง ทั้งยังมี ๖ เสาต่างจากศาลพระภูมิทั่วไปซึ่งมีเพียงเสาเดียว แต่เรียกกันว่า “ศาลเจ้าพ่อหอเชือก” หรือ “ศาลเจ้าพ่อเชือกหนัง” ตามที่มาดั้งเดิม

เดิมศาลนี้ตั้งอยู่ที่สนามหลวง เป็นส่วนหนึ่งของ “ศาลเจ้าพ่อหอเชือก” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปหรือพระครูปะกำ ซึ่งบรรดาครูช้างและหมอเฒ่าเคารพบูชา และเป็นที่เก็บเชือกบาศของหมอช้าง เนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่ฝึกบังคับช้างของหลวง และเป็นที่ประกอบพิธีกรรมประจำปี แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ช้างได้หมดความสำคัญลง ไม่ได้ใช้เป็นพาหนะหรือทำศึกสงคราม ศาลนี้จึงถูกทิ้งร้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อหอเชือก อัญเชิญเทวรูปไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร และย้ายศาลพระภูมิไปตั้งใต้ต้นมะขามใหญ่ในวังถนนหน้าพระลาน

ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ว่าราชการกรมพระคชบาล หรือกรมช้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพลเรือโท พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ พระโอรส ทรงช่วยราชการกรมช้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของกรมศิลปากรที่ทรงตั้งขึ้นในปี ๒๔๕๔ จึงเป็นศาลพระภูมิของกรมศิลปากรมาจนถึงทุกวันนี้



ภายในศาลมีจุดเด่นคือเจว็ดไม้ขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายใบเสมา แกะสลักเป็นรูปเทวดา มือซ้ายถือพระขรรค์ มือขวาจีบนิ้วเสมอไหล่ ปิดด้วยทองคำเปลว ประดับด้วยกระจกสีที่ฐาน ทั้งสองข้างมีพุ่มดอกไม้บูชา และอยู่ใต้ฉัตรสีขาว ที่แปลกตากว่านั้นก็คือมีขดเชือกใหญ่วางอยู่ ซึ่งเป็นเชือกปะกำสำหรับคล้องช้างและถือเป็นเครื่องรางทางไสยศาสตร์ ซึ่งทำขึ้นในปี ๒๔๕๔ แทนเส้นเดิมที่นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์

ในพิธีบรมราชาภิเษก หลังจากสมเด็จพระสังฆราชทรงจุดเทียนชัยแล้ว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงขึ้นครองราชย์จะทรงจุดเทียนชนวนสำหรับให้มหาดเล็กเชิญไปใช้จุดธูปเทียนสักการะเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่สำคัญซึ่งมีจำนวนต่างกันในแต่ละรัชกาล สมัยรัชกาลที่ ๙ เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๑๘ องค์

ได้แก่ พระสยามเทวาธิราช เทวดาประจำพระมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรสินิจฉัย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งอนัตสมาคม หุ่นฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเครื่องต้นที่ห้อภูษามาลา พระอิศวร พระนารายณ์ พระคเณศร์ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ พระหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระกาฬชัยศรี พระเพลิง พระเจตคุปต์ เทวรูป ณ หอแก้วพระภูมิ เทวรูป ณ หอเชือก และเทวรูป ณ ตึกดิน

ศาลเจ้าพ่อหอเชือกอยู่ติดสนามหลวง ด้านหน้าประตูวิเศษไชยศรี หากผ่านไปย่านนั้นก็อย่าลืมแวะไปนมัสการ และชมความงามของศาลพระภูมิที่สวยที่สุดในประเทศไทย






Thank to : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000114150
เผยแพร่ : 30 พ.ย. 2565 15:40 , โดย : โรม บุนนาค
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ