ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไม มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ จึงเลี้ยงแมว.?  (อ่าน 223 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




ทำไม มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ จึงเลี้ยงแมว.?

การปรากฏตัวของ “แมว” ในสังคมมนุษย์ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในโลก เท่าที่เคยมีการค้นพบมาในขณะนี้ มาจากเกาะขนาดใหญ่ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่ชื่อว่า “ไซปรัส”

ส่วนเจ้าหลักฐานที่ว่านี้ก็คือ กระดูกนิ้ว (phalanx) จากแหล่งโบราณคดีที่มีชื่อว่า “คิลิโมนาส” (Klimonas) ซึ่งได้มีการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2556 แล้วพบว่า เจ้าเหมียวตัวนี้เก่าแก่ไปถึง 11,000-10,500 ปีมาแล้วเลยทีเดียว

แถมกระดูกนิ้วเจ้าเหมียวชิ้นนี้ ก็ไม่ใช่หลักฐานเกี่ยวกับแมวชิ้นเดียวบนเกาะไซปรัสอีกต่างหากนะครับ เพราะยังมีการค้นพบกระดูกของแมวที่มีอายุใกล้เคียงกัน และนับเนื่องอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันอย่างน้อยอีก 3 แห่ง ได้แก่ กระดูกขากรรไกรล่าง (mandible) ของเจ้าเหมียวจากแหล่งโบราณคดีคิโรกิเตีย (Khirokitia), ชิ้นส่วนกระดูกแมวที่แหล่งโบราณคดีกะละวะโซส-เทนทา (Kalavasos-Tenta) และที่สำคัญที่สุดคือ โครงกระดูกแมวทั้งตัว ซึ่งพบที่แหล่งโบราณคดีที่ชื่อว่า “ซิลโลโรกัมโบส” (Shillourokambos)

แต่ที่สำคัญไปกว่าการพบกระดูกแมวทั้งโครงก็คือ เจ้าเหมียวจากซิลโลโรกัมโบสนั้น ถูกฝังอยู่ร่วมกับศพของมนุษย์ ซึ่งก็ชวนให้คิดว่าเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบของ “เจ้าของ” กับ “สัตว์เลี้ยง”


@@@@@@@

แม้ว่าพวกเจ้าเหมียวจะเข้ามาอยู่ในสังคมมนุษย์ ตั้งแต่สมัยหินใหม่ในไซปรัสแล้ว แต่ผลการศึกษากระดูกนิ้วเจ้าเหมียวจากคิลิโมนาสเมื่อ พ.ศ.2556 และโครงกระดูกแมวจากซิลโลโรกัมโบส (ซึ่งกำหนดอายุอยู่ที่ 9,500 ปีมาแล้ว) นั้น กลับแสดงให้เห็นถึงลักษณะทางพันธุกรรมของเจ้าเหมียวตัวนี้ว่า ตรงกับเจ้าแมวป่าแอฟริกา ที่มีชื่อสปีชีส์เรียกว่า F.s. libyca (Felis silvestis libyca)

คือยังไม่ใช่ “แมวบ้าน” ที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า F. catus (Felis silvestis catus) ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างออกไปจากแมวป่าอย่างชัดเจน เพราะดินแดนบ้านเกิดของบรรพชนเจ้าเหมียวบ้านคือเจ้าแมวป่าสปีชีส์ F.s. libyca หรือที่มีชื่อในโลกภาษาไทยว่าแมวป่าแอฟริกา/แมวป่าตะวันออกใกล้นั้น อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ ที่บริเวณแห่งใดแห่งหนึ่งในเขตประเทศตุรกี ประเทศซีเรีย หรือประเทศเลบานอน ซึ่งก็คือพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่าเขตลีแวนต์ (Levant) ต่างหาก

แต่อันที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่นัก เพราะ “ไซปรัส” นั้นก็อยู่ห่างออกจากชายฝั่งทางด้านทิศใต้ของประเทศตุรเคียออกไปเพียงราวๆ 60-70 กิโลเมตรเท่านั้นเอง และถ้าหากเรากางแผนที่โลกออกมาดูแล้วก็จะเห็นได้ชัดๆ เลยว่า เกาะไซปรัสไม่ได้อยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันตกของชายฝั่งประเทศซีเรีย และประเทศเลบานอน มากมายอะไรนัก

ดังนั้น การที่ “แมว” มาปรากฏตัวบนเกาะไซปรัสตั้งแต่ช่วง 11,000 ปีที่แล้ว ทั้งที่พวกมันไม่ได้เป็นสัตว์พื้นถิ่นของเกาะแห่งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรนัก เพราะเป็นช่วงใกล้เคียงกับที่เจ้าแมวป่า F.s. libyca เริ่มปรากฏตัวขึ้นที่แถบดินแดนประเทศตุรเคีย ซีเรีย หรือเลบานอน ดังนั้น ถ้าจะมีมนุษย์สักคนแถวนั้น หอบหิ้วเอาเจ้าเหมียวลงเรือมาด้วยสักตัว สองตัว บรรดาเจ้าเหมียวก็สามารถลงไปเพ่นพ่านบนเกาะที่อยู่กลางทะเลได้โดยไม่ยากอะไรนัก

@@@@@@@

นักบรรพชีวินวิทยา (paleozoologist, คือผู้ที่ศึกษาสิ่งมีชีวิตโบราณ จากซากฟอสซิล กระดูก และร่องรอยจากอะไรต่อมิอะไรอีกหลายๆ อย่าง) ชาวฮังกาเรียนอย่าง ซานดอร์ โบโคญี (S?ndor B?k?nyi, พ.ศ.2469-2537) ที่ใช้อ้างกันมาอย่างยาวนานเฉียดๆ ครึ่งศตวรรษ แต่ก็ยังคงได้รับการเชื่อถือ และยังมีผู้ใช้ตามกันมาอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ได้เสนอเกณฑ์ที่ใช้สำหรับพิจารณาว่าพื้นที่บริเวณใดที่มีการนำสัตว์ป่าท้องถิ่นมาเลี้ยงเอาไว้ 4 ข้อ ได้แก่

1) พบทั้งประชากรสัตว์เลี้ยง และสัตว์เลี้ยงในแหล่งโบราณคดีเดียวกัน
2) พบการเปลี่ยนแปลงจากสัตว์ป่าที่เป็นบรรพชนของสัตว์เลี้ยง
3) มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนอายุและเพศของประชากรสัตว์ป่า
4) มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการล่าหรือจับสัตว์เถื่อน เช่น ภาพเขียนบนผนังถ้ำหรือเพิงผาต่างๆ

แน่นอนว่า ในกรณีของแมวในเกาะไซปรัสนั้นเข้าเกณฑ์ทั้งข้อ 1 และข้อ 2 ดังนั้น กระดูกของเจ้าเหมียวที่พบบนเกาะแห่งนี้ จึงต้องถูกนำเข้ามาจากที่ใดที่หนึ่งโดยน้ำมือของมนุษย์ โดยหนทางเดียวที่เจ้าพวกเหมียวทั้งหลายจะมาเดินนวยนาดโชว์ตัวอยู่ในชุมชนยุคหินใหม่ของมนุษย์ บนเกาะไซปรัสได้ ก็คือต้องลงเรือลำเดียวกันกับเจ้าพวกทาสมนุษย์ของพวกมันนั่นแหละ

เพราะก็แน่นอนว่าคงไม่มีแมวที่ไหน ว่ายน้ำเป็นระยะทาง 60-70 กิโลเมตร จากผืนแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ใกล้เกาะไซปรัสที่สุด อย่างพื้นที่แถบลีแวนต์ในประเทศตุรเคีย หรือว่าที่อื่นๆ โดยไม่มีที่ให้หยั่งขาหยุดพัก มายังเกาะไซปรัสได้

คำถามที่น่าสนใจมากกว่าจึงน่าจะเป็น มนุษย์ยุคหินพวกนี้ทำไมต้องหอบหิ้วเอาเจ้าแมวเหมียวลงเรือไปที่เกาะด้วยต่างหาก.?

@@@@@@@

สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดอย่างหนึ่งของ บริเวณพื้นที่เขตลีแวนต์ ที่เจ้าพวกแมวป่า F.s. libyca ถือกำเนิดขึ้นมานั้น ก็คือการเป็นพื้นที่บริเวณที่มีการเพาะปลูกขึ้นเป็นแห่งแรกๆ ในโลก และการปรากฏตัวขึ้นของเจ้าแมวป่าชนิดนี้ ยังอยู่ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันกับที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า มนุษย์ในวัฒนธรรมนาตูเฟียน (Natufian) ซึ่งกระจายตัวอยู่ในดินแดนละแวกประเทศตุรเคีย ซีเรีย เลบานอน ควบรวมไปถึงอิสราเอลปัจจุบันนั้น ได้เริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อราว 12,000-11,000 ปีที่แล้วด้วยอีกต่างหากนะครับ

พูดๆ ง่ายว่า กำเนิดของเจ้าเหมียวป่า F.s. libyca นั้น คาบเกี่ยวทั้งในแง่ของ “เวลา” และ “สถานที่” ของกำเนิดการเกษตรกรรมของมนุษย์ยุคหินใหม่ ในวัฒนธรรมแบบนาตูเฟียนอย่างหมดจด และพอดิบพอดี

อันที่จริงแล้ว บรรดาแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ต่างๆ ที่พบชิ้นส่วนกระดูกของน้องแมวบนเกาะไซปรัส ไม่ว่าจะเป็น ซิลโลโรกัมโบส, คิลิโมนาส, คิโรกิเตีย และกะละวะโซส-เทนทานั้น ก็ล้วนแล้วแต่ถูกนักโบราณคดีส่วนใหญ่มองว่า เกิดขึ้นเพราะการแพร่กระจายของผู้คนในวัฒนธรรมนาตูเฟียน จากแถบลีแวนต์ในภาคผืนแผ่นดินใหญ่ เข้าไปในเกาะไซปรัส ในช่วงที่เริ่มจะรู้จักการทำเกษตรกรรมแล้วนั่นแหละ

เรือที่ออกเดินเรือจากท่าแห่งใดแห่งหนึ่งในเขตลีแวนต์ ไปยังเกาะใหญ่ที่กลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ชื่อว่าไซปรัส เมื่อ 11,000 ปีที่แล้วนั้น นอกจากจะไปพร้อมเทคโนโลยีในการทำเกษตรกรรม วัฒนธรรมยุคหินใหม่แบบนาตูเฟียนแล้ว จึงยังพกพาเอาเจ้าแมวเหมียว (ซึ่งก็ดูจะมีบทบาทสำคัญอยู่ในวัฒนธรรมการเกษตรของพวกนาตูเฟียน) ไปด้วย และบทบาทของเจ้าเหมียวที่ว่านี้ ก็คงจะไม่พ้นการเป็นหน่วยล่าสังหารกำจัดศัตรูต่างๆ ที่จ้องจะเข้ามาทำลายผลผลิตทางการเกษตรของพวกมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นนก หนู หรือแมลง รวมถึงอะไรอื่นอีกให้เพียบ

@@@@@@@

เป็นไปได้ด้วยว่า ผู้คนในยุคหินใหม่บนเกาะไซปรัส ยังไม่ได้ทำการเลี้ยงพวกเจ้าเหมียวอย่างเป็นจริงเป็นจังอะไรนัก เผลอๆ มนุษย์พวกนี้อาจจะไม่ได้คิดว่าตัวเองกำลังเลี้ยงพวกมันอยู่เสียด้วยซ้ำไป แต่เป็นความสัมพันธ์ในทำนองเดียวกับที่คนให้อาหารแก่เจ้าแมวจรในทุกวันนี้ ดังนั้น พวกเขาจึงอาจจะเพียงแค่ยอมที่จะปล่อยให้บรรดาพวกเจ้าแมวเข้ามาเพ่นพ่านภายในชุมชน ก็เพื่ออาศัยให้เจ้าพวกเหมียวไล่ตะปบพวกนก หนู แมลง หรืออีกสารพัดศัตรูพืช ที่จะเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของพวกเขาก็เท่านั้นเอง

เช่นเดียวกับเมื่อแรกที่พวกแมวปรากฏกายเข้ามาในสังคมเกษตรกรรมนาตูเฟียน บนผืนแผ่นดินใหญ่มาก่อน เพราะชุมชนเกษตรกรรมของมนุษย์ มีความมั่นคงในแง่ของการกินอยู่ให้กับพวกมัน และสิ่งตอบแทนที่พวกมันมอบให้แก่มนุษย์ ผู้เป็นเจ้าของสังคมเหล่านั้นก็คือ การทำหน้าที่เป็นผู้ขจัดสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ที่จะเข้ามาทำลายผลิตผลทางเกษตรของมนุษย์ได้ แต่นี่ก็ดูจะเป็นสิ่งที่สำคัญเอามากๆ สำหรับมนุษย์ ในยุคที่ยังไม่มีทั้งยาเบื่อหนู และยากำจัดแมลงทั้งหลาย

และก็เป็นด้วยความสัมพันธ์ทำนองนี้เอง ที่ทำให้เจ้าพวกเหมียวแพร่กระจายออกไปในสังคมเกษตรกรรมทั่วทั้งโลก แล้วค่อยพัฒนาจาก “แมวป่า” จนมาเป็น “เจ้าเหมียวบ้าน” เหมือนอย่างทุกวันนี้ในที่สุด •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2-8 ธันวาคม 2565
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน   : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_630135
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ