ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พิธีอัญเชิญ “พระเขี้ยวแก้ว” ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี  (อ่าน 3437 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

drift-999

  • ศิษย์ตรง
  • พอพึ่งพาได้
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 239
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0








ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บ
http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y10438463/Y10438463.html
พิธีอัญเชิญ “พระเขี้ยวแก้ว” แห่พระเขี้ยวแก้ว ประจำปี 2554 เทศบาลเมืองพระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี

      เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 11 มีนาคม 2554 ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี มีพิธีอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว เพื่อ อัญเชิญ แห่รอบเทศบาลเมืองพระพุทธบาท ประจำปี 2554 โดย ผู้อัญเชิญ พระเขี้ยว มี นายอนุพงษ์ กิ่งแก้ว รองนายกเทศมนตรีทศบาลเมืองพระพุทธบาท และ นายธวัชชัย วรกุลเสถียร สมาชิกสภาเทศบาลเมืองพระพุทธบาท พระเขี้ยวแก้วประดิษฐานในพิพิธภัณฑสถานพระพุทธบาท

      ( ต้องกราบ ขออภัยสามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหว ได้เท่าที่เห็น เนื่องจาก ระหว่างถ่ายภาพวีดีโอเคลื่อนไหว ถูกห้ามถ่ายภาพ (เสียความรู้สึกมาก ไปเฝ้ารอทำข่าวตั้งนาน แดดก็ร้อน)

       ภาพที่ได้ต่อมาเป็นภาพนิ่ง ได้รับความอนุเคราะห์ มาจาก คุณ สุรชาติ ยืนวิชญาวัฒน์ ผอ.หนังสือพิมพ์ ภาพข่าว .ต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาส นี้ด้วย ครับ )

      พระเขี้ยวแก้ว พระทันตธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี มีประเพณีแห่พระเขี้ยวแก้ว ประจำทุกปี ใน วัน ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปี 2554 นี้ ตรงกับ วันนี้ วันที่ 11 มีนาคม 2554

      พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทันตธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานในเจดีย์จุฬามณี อยู่ในวิหารคลังบน วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี มีขนาดใหญ่กว่าฟันมนุษย์ธรรมดา ( พระเขี้ยวแก้ว องค์จำลอง )

      ตามพงศาวดารกล่าวไว้ว่า พระเขี้ยวแก้วคือฟันของพระพุทธเจ้าที่เหลือไว้เป็นปูชนียวัตถุ มี 4 องค์

      1. ประดิษฐานอยู่ที่จุฬามณีเจดีย์ดาวดึงส์เทวโลก

      2. ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองกาลึงคราษฎร์ ประเทศอินเดีย

      3. ประดิษฐานอยู่ที่ใต้บาดาลอันมีนามว่า นาคพิภพ

      4. ประดิษฐานอยู่ประเทศลังกา หรือลังกาทวีป ปัจจุบันได้อัญเชิญมาอยู่ที่พระพุทธบาท สระบุรี ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครองกรุงศรีอยุธยา( พ.ศ.2275-2301 ) ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง โดยอยู่ในวิหารคลังบนในเจดีย์จุฬามณี ( แต่พงศาวดาร บางฉบับ กล่าวว่า ได้อัญเชิญมาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี ตั้งแต่ สมัยพระเจ้าทรงธรรมครองกรุงศรีอยุธยา ( พ.ศ.2154-2171 )

      แต่มีบันทึกในสมัย พระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศว่า ในปี พ.ศ. 2296 พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกา ได้ส่งราชทูตมาขอพระมหาเถระ และคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ที่เสื่อมโทรมลงไป สมเด็จพระเจ้าบรมอยู่หัวโกศ จึงโปรดให้ส่งคณะสมณทูตประกอบด้วยพระราชาคณะสองรูป พระอุบาลี , พระอริยมุนี พร้อมคณะสงฆ์อีก 12 รูป ไปลังกา เพื่อประกอบพิธีบรรพชา อุปสมบท ให้กับชาวลังกา คณะสงฆ์คณะนี้ได้ไปตั้ง นิกายสยามวงศ์ ขึ้นในลังกา หลังจากที่ได้ช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา เป็นเวลา 7 ปีแล้ว คณะสงฆ์คณะนี้บางส่วนได้เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2303

      กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปี พ.ศ.2455 ที่เมืองพระพุทธบาท ได้เกิดโรคระบาด ประชาราษฎร์ได้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายไป เป็นอันมาก พร้อมทั้งเกิด ทุพภิกขภัย อดอยาก ฝนแล้ง แห้งน้ำ ได้รับ ความเดือดร้อน เป็นที่ยิ่ง ผู้ปกครองพระพุทธบาทในสมัยนั้นจึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากวิหารคลังบนออกแห่ แล้วเชิญประชาชน ร่วมขบวนและถวายน้ำสรงพระเขี้ยวแก้ว เกิดในวันนั้นเอง ได้มีฝนตกกระหน่ำมาอย่างหนัก ทำให้ประชาราษฎร์ และพฤกษชาตินานาพันธุ์ได้รับความชุ่มเย็นอันเกิดจากฝนนั่นเอง จึงได้ปฏิบัติเป็นประเพณี เรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เองประชาชนชาวพระพุทบาทจึงได้สืบทอดประเพณีแห่พระเขี้ยวแก้ว เป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4โดยมีความเชื่อว่า หากมีการแห่พระเขี้ยวแก้วแล้วจะสามารถบันดาลให้ประชาชนชาวพระพุทธบาทได้รับ ความร่มเย็นเป็นสุข เพื่อความร่มเย็นและสงบสุขของชาวพระพุทธบาท ทำมาค้าขายกันดีทั่วหน้า ( เชื่อกันว่า ในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 เป็นวันการแห่พระเขี้ยวแก้วครั้งแรก จึงยึดถือเอา วันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 นี้ เป็นวันแห่พระเขี้ยวแก้วฯ สืบมาทุกปี )

     

      แม้แต่งานประเพณีตักบาตรดอกไม้ หนึ่งเดียวในโลก หลังจาก ที่พระภิกษุสงฆ์เดินรับบิณฑบาต( ดอกไม้) จากพุทธศาสนิกชนแล้ว จะนำดอกไม้ไปสักการะ “รอย พระพุทธบาท” ,พระเจดีย์จุฬามณี อันเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว นำไปสักการะพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ ที่ชาวพุทธถือว่าเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 4 ) เสด็จอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐาน ณ เจดีย์นี้ ( เจดีย์ พระมกุฎภัณฑเจดีย์) เมื่อ ปี พ.ศ. 2403

      พระเขี้ยวแก้ว ( องค์จำลอง ) หรือ พระทันตธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานในเจดีย์จุฬามณี อยู่ในวิหารคลังบน วัดพระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เดินทางเข้าประตูยักษ์สองตน ตรงไปตามทางขึ้นบันได ซ้ายมือเป็นวิหารล่าง

      ( ศาลเจ้าพ่อพระกาฬ ) ถ้าขึ้นบันไดไปทางซ้ายมือเป็นรอยพระพุทธบาท แต่ให้ตรงไป ซ้ายมือเป็น วิหารคลังกลาง ( ใช้เก็บ วัตถุมงคล สิ่งของสำคัญ ) ตรงไปขึ้นบันได เป็น วิหารคลังบน ที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว

      ภายใน วิหารคลังบน มีภาพวาดจิตรกรรม เก่า ที่ฝาผนังวิหาร เป็นรูปพระสงฆ์ ปักกลด โปรดมนุษย์ ฯ ต่างๆ ที่พระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ใน เจดีย์จุฬามณี ทำด้วยทองเหลือง พระเขี้ยวจะประดิษฐานภายในเกือบถึงยอดเจดีย์ มีพานรองรับ อยู่ในกรอบกระจกใสกลม บนกระจกมีโลหะแบบเป็นยอดมณฑปครอบ เจดีย์จุฬามณี มีประตูเล็กๆ เป็นช่อง เปิดได้ แต่ใส่กุญแจแบบโบราณสี่เหลี่ยมยาว ขนาดเล็ก มีทองคำเปลวปิดหนาเต็มทั้งกุญแจและเจดีย์จุฬามณี ( วิหารคลังบน นี้ มีบันทึกว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์พุทธสรเถระ วัดอนงคาราม ผู้กำกับการวัดพระพุทธบาท บูรณะด้วยทุนการกุศลพระพุทธบาท พ.ศ.2497 )

     

      ในป่างองค์อมเรศอดิศร สมบัติอมรินทร์คำกลอน มีกลอนกล่าวไว้ แสดงว่า พระเขี้ยวแก้ว เป็นพระเขี้ยวแก้วข้างขวาด้านบน

      “หนึ่งเจดีย์พระจุฬามณีสถิต

      อันไพจิตรด้วยฤทธิ์สุเรนทร์ถวาย

      สูงร้อยโยชน์โชติช่วงประกายพราย

      ยิ่งแสงสายอสุนีในอัมพร

     

      เชิญเขี้ยวขวาเบื้องบนพระทนต์ธาตุ

      ทรงวิลาศไปด้วยสีประภัสสร

      แทนสมเด็จพระสรรเพชญ์ชิเนนทร

      สถาวรไว้ในห้องพระเจดีย์

     

      ประดิษฐ์บนพระมหาจุฬารัตน์

      เป็นที่แสนโสมนัสแห่งโกสีย์

      กับสุราสุรเทพนารี

      ดั่งจะชี้ศิวโมกข์ให้เทวัญ

     

      ประดับด้วยราชวัติฉัตรแก้ว

      พรายแพร้วลายทรงบรรจงสรรค์

      ระบายห้อยพลอยนิลสุวรรณพรรณ

      เจ็ดชั้นเรียวรัดสันทัดงาม

     

      ดั่งฉัตรเศวตพรหเมศร์ครรไลหงส์

      เมื่อกั้นทรงพุทธาภิเษกสนาม

      ยิ่งดวงจันทร์พ้นแสงสมัยยาม

      อร่ามทองแกมแก้วอลงกรณ์

     

      ครั้นถ้วนถึงวันครบอุโบสถ

      กำหนดพร้อมด้วยสุราสรางค์สมร

      บูชาเครื่องเสาวรสสุคนธร

      ข้าวตอกแก้วแซมช้อนสุมามาลย์

     

      บ้างเริงรื่นชื่นชมประนมหัตถ์

      กระทำทักษิณาวัฏบรรณสาร

      ประนอมจบเคารพไตรวาร

      แล้วลีลาศยังสถานพิมานจันทน์”

      ป่างองค์อมเรศอดิศร สมบัติอมรินทร์คำกลอน เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่ง ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) กวีเอก ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

     

      คาถาบูชา พระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว

     

      “อะหัง วันทามิ อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ ปะระมะสารีริกะ ทาฐาธาตุง มัยหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ”

     

      ข้าพเจ้า ขอกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว เพื่อต้องการบูชาพระอรหันตะสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลเทอญ

     

      คัดลอกจากหนังสือ พระพุทธเจ้า (หนังสือธรรมะคำถาม-คำตอบ ประวัติและการปฏิบัติ)

      /////

ขอบคุณเนื้อหาและข่าวจากเว็บ

http://76.nationchannel.com/playvideo.php?id=140127
บันทึกการเข้า