ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธานุสสติ เป็นวิปัสสนา โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ  (อ่าน 5062 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
บทนำ   

เท่าที่ผมได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ มาหลายเล่มโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า คำเทศนาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ มักจะยกคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาแสดงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เห็นว่า ท่านน่าจะปฏิบัติกรรมฐานตามแนวของวิสุทธิมรรค ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่า หลวงพ่อฤาษีลิงดำ น่าจะมีส่วนช่วยผดุงกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ไม่มากก็น้อย
 
ดังนั้น เพื่อให้เพื่อนๆได้รับความรู้อันเนื่องด้วยกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ในอีกมุมหนึ่ง
จึงขอเสนอ คำเทศนาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เรื่อง“พุทธานุสสติกรรมฐาน”ดังนี้ครับ


 

พุทธานุสสติเป็นวิปัสสนา
 
   วันนี้จะขอพูดเรื่องพุทธานุสสติต่อ เพราะว่าพุทธานุสสติตามที่อธิบายมาแล้วเราจัดเป็นระดับ ๔ ระดับด้วยกัน

   อันดับแรก การพิจารณาตามแบบ คือพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า โดยใช้คำว่า อิติปิโสภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น ใช้จิตใคร่ครวญในด้านของจริยาของพระองค์ สร้างความเลื่อมใสให้เกิด สร้างความผูกพันให้เกิดในพระพุทธเจ้า อย่างนี้ผลจะพึงมีได้เพียงแค่อุปจารสมาธิ

   ถ้าเราทำพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌานสมาบัติ ท่านสอนให้จับภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เราพอใจ เวลาที่ภาวนาไปว่าพุทโธหรืออรหังก็ตาม เอาจิตนึกถึงภาพนั้นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ถือว่าเอาภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณ ถ้าปฏิบัติแบบนี้ก็สามารถเข้าถึงฌานที่ ๔ ได้ จัดว่าเป็นรูปฌาน

   ถ้าจะทำพุทธานุสสติให้เป็นอรูปฌานเป็นสมาบัติ ๘ ก็ให้จับภาพพระพุทธรูปนั้น ทรงอารมณ์จิต ให้เข้าถึงฌาน ๔ เมื่อทรงจิตสบายดีแล้วก็เพิกภาพกสิณนั้นทิ้งไป คือถอนภาพออกจากใจ พิจารณาอากาศวิญญาณ ความไม่มีอะไรทั้งหมด แล้วสัญญาหรือไม่มีสัญญา ที่เรียกว่าอากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือไม่พิจารณารูปเป็นสำคัญ ไม่ต้องการรูป ต้องการแต่นามฝ่ายเดียว เพราะท่านที่ปฏิบัติแบบนี้เพราะมีความรังเกียจในรูป ถือว่ารูปเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความทุกข์ เกิดไปชาติหน้าไม่ต้องการรูปอีก และเป็นสมถภาวนาจัดเป็นอรูปฌาน

   ในอันดับนี้ เราต้องการจะใช้พุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นวิปัสสนาญาณ ท่านก็ให้ตั้งอารมณ์จิตของเรายึดภาพพระพุทธรูปเป็นอารมณ์ ทำภาพให้เห็นชัดด้วยจิตเป็นสมาธิถึงฌาน ๔ แล้วก็สามารถจะบังคับรูปนั้นให้เล็กก็ได้ ให้โตก็ได้ แล้วบังคับให้หายไปก็ได้ เป็นไปตามความต้องการ บังคับให้รูปนั้นปรากฏขึ้นก็ได้ หายไปก็ได้ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ แล้วก็จับภาพนั้นเป็นอารมณ์ พิจารณาว่าพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ความจริงพระพุทธเจ้าทรงเป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐสุด มนุษย์ผู้มีความอัศจรรย์ ไม่มีบุคคลใดจะเสมดเหมือน แต่ว่าพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยที่มีชีวิตอยู่ ก็มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด ถึงแม้ว่าพระองค์จะเป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ เทวดาหรือพรหมก็ตาม ก็ไม่สามารถจะทรงขันธ์ ๕ ให้ยืนยงคงอยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด

   ทีนี้มานั่งมองตัวของเราเอง พิจารณาตัวของเราเองว่าพระพุทธเจ้านะดีกว่าเราหลายล้านเท่า ความดีของเราได้หยดหนึ่งในหลายล้านเท่าของท่านก็ไม่ได้ ในเมื่อขันธ์ ๕ ขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ไม่สามารถจะทรงอยู่ได้ เราซึ่งมีความดีไม่ถึง ขันธ์ ๕ มันจะทรงอยู่ได้ยังไง มันก็ต้องมีความเกิดขึ้น มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน ขณะที่ทรงตัวอยู่ก็เต็มไปด้วยอำนาจของความทุกข์ นี่มองเห็นขันธ์ ๕ ของพระพุทธเจ้าว่าไม่มีความจีรังยั่งยืน แล้วก็เข้ามาเปรียบเทียบกับขันธ์ ๕ ของเรา

   ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ขันธ์ ๕ นี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ขันธ์ ๕ คือร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ๔ คือธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มันทรงกายอยู่ได้ชั่วคราวแล้วมันก็สลายตัวไปในที่สุด เมื่อการสลายตัวของมันปรากฏขึ้น ถ้ากิเลสของเรายังไม่หมดเพียงใด มันก็ต้องไปเกิดแสวงหาความทุกข์อีก เมื่อตายใหม่กิเลสมันยังไม่หมดมันก็ต้องไปเกิดใหม่ ให้มีความทุกข์เกิดขึ้นมาอีกหาที่สุดมิได้ จะเทียบกันได้กับพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เรายกขึ้นเป็นกสิณ ถ้าเราต้องการให้พระรูปโฉมปรากฏก็ปรากฏขึ้น เราก็ต้องการให้หายไป สลายตัวไป การสลายตัวไปไม่ใช่การสลายไปหมด เราต้องการให้ภาพนี้ปรากฏ ก็กลับมาปรากฏตามเดิม สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ การที่ภาพหายไปถือว่าเป็นสภาวะของอนัตตา เราบังคับไม่ได้ แล้วภาพที่ทรงอยู่ก็ถือว่าอัตตา ทรงอยู่ แต่เป็นอัตตาชั่วคราว ต่อไปก็เป็นอนัตตา คือสลายตัว

   นี่เราก็มานั่งพิจารณาร่างกายของเราที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์  ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์  มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์  โสกปริเทวทุกขโทมนัส เป็นต้น ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ นี่เรียกว่าทุกอย่างเราเกิดมามันเต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขอะไรไม่ได้ ในเมื่อร่างกายของเราไม่มีความสุข ร่างกายของพระพุทธเจ้าเองท่านก็ไม่มีความสุข เมื่อขันธ์ ๕ มันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความทุกข์ ดูตัวอย่างพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะทรงตัวได้ฉันใด ร่างกายของเราที่เต็มไปด้วยความทุกข์มันก็ไม่สามารถจะทรงตัวไว้ได้ฉันนั้น มีความเกิดขึ้นแล้ว มีความเสื่อมไป แล้วมีการสลายตัวไปในที่สุด ในขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรกโสมม มีเหงื่อ มีไคล มีอุจจาระปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เต็มไปทั้งร่างกาย ไม่มีอะไรเป็นของน่ารัก ไม่มีอะไรเป็นของน่าชม มีแต่ของน่าเกลียด ฉะนั้น ถ้าตายแล้วคราวนี้ ถ้าเราต้องเกิดใหม่ เราก็ต้องไปแบกทุกข์ใหม่


      การที่เราจะไม่แบกทุกข์ต่อไป จะทำอย่างไร?

   องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราละสังโยชน์ ๑๐ ประการ อาศัยสักกายทิฏฐิตัวเดิมเป็นตัวปฏิบัติ คือเป็นตัวตัด เอามาพิจารณาร่างกายว่า อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา มันเกิดขึ้นแล้วมันต้องตายแน่ ถ้าการเกิด เกิดแล้วตายมีอยู่ตราบใด เราก็ยังไม่พ้นทุกข์ตราบนั้น ฉะนั้น ขันธ์ ๕ ที่เต็มไปด้วยความสกปรก ขันธ์ ๕ ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการนั้นก็คือพระนิพพานอย่างเดียว

      การที่เราจะต้องการพระนิพพานได้นั้น เราจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป?

   ในเมื่อเราเห็นว่าขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เกิดเป็นทุกข์ เราเชื่อท่าน  ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์เราเชื่อท่าน  มรณัมปิ ทุกขัง เมื่อความตายเข้ามาถึงเป็นทุกข์ เราเชื่อพระองค์พร้อมไปด้วยของจริง เพราะความตายร่างกายต้องถูกบีบคั้นอย่างหนัก มีทุกขเวทนาอย่างหนัก มันจึงจะตายได้ คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความจริง นี่เราไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า

   แล้วต่อไปเราก็ตั้งใจเกาะศีลให้บริสุทธิ์ ศีลถ้าเราเกาะได้แล้วก็ชื่อว่าเป็นการตัดอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น  ฆราวาสตั้งใจทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์  สำหรับสามเณรทรงศีล ๑๐ ให้บริสุทธิ์  สำหรับพระทรงศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์

   แล้วก็นั่งพิจารณาร่างกายว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันแก่ลงไปทุกวัน มันพังลงไปทุกวัน ไม่ช้าก็สลายตัว ตัดความเมาในร่างกายเสีย อย่างนี้ก็ถือว่าเข้าถึงความดีเป็นอันดับแรก การตัดสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการได้จัดว่าเป็นพระโสดาบัน นี่เป็นทุนแล้ว

   

ต่อไปก็ขยับจิตให้สูงขึ้นไปกว่านั้น เพราะมันยังต้องเกิดอยู่อีก นี่พระโสดาบันนะ เราก็มาพิจารณาร่างกายเป็นอสุภกรรมฐาน ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี

   ในอันดับแรกพิจารณาเป็นกายคตาสติกรรมฐานว่า ร่างกายนี้เป็นชั้นเป็นท่อน มันไม่ได้เป็นแท่งทึบ แท่งอันเดียวกัน ข้างในเป็นโพรงเต็มไปด้วยอวัยวะต่างๆ

   น้อมกายคตาสติกรรมฐานเข้าไปหาอสุภกรรมฐาน เห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มีอุจจาระปัสสาวะน้ำเลือดน้ำเหลืองน้ำหนอง เป็นต้น อยู่ข้างใน ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นทั้งร่างกายของเรา มีสภาพเหมือนกับซากศพที่เคลื่อนที่ได้ หรือเหมือนกับส้วมที่เคลื่อนที่ได้ มันเต็มไปด้วยความสกปรกไม่มีอะไรจะเป็นที่น่ารัก

   เมื่อพิจารณาในด้านอสุภกรรมฐานแล้วก็จับกายคตาสติขึ้นมาพิจารณาต่อว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีมีสภาพเหมือนกัน มันมีแต่ความสกปรกเหมือนกัน เราจะมัวไปนั่งยึดถือว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเราเพื่อประโยชน์อะไร เพราะว่านอกจากสกปรกแล้วยังเต็มไปด้วยความทุกข์ ความแก่เข้ามาท่วมทับ แล้วก็มีความตายไปในที่สุด พิจารณาแบบนี้ ค่อยๆพิจารณาไป ปัญญามันจะเกิด เกิดนิพพิทาญาณ คือ ความเบื่อหน่าย เห็นว่าขันธ์ ๕ คือร่างกายไม่เป็นแก่นสาร ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นที่พึงปรารถนาสำหรับเรา

   เมื่อนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายบังเกิดขึ้นก็พิจารณาเรื่อยไป ให้จิตเข้าถึงสังขารุเบกขาญาณ
-          ความหนาวความร้อนปรากฏขึ้น การกระทบกระทั่งจากวาจาที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้างปรากฏขึ้น อาการของจิตมีความรู้สึกว่านี่มันเป็นของธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นทุกข์
-          ความป่วยไข้ไม่สบายบังเกิดขึ้น ก็ถือว่านี่มันเป็นหน้าที่ มันเป็นภาระของขันธ์ ๕ คือร่างกายมันต้องป่วย
-          ความทรุดโทรมเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมันมีความเกิดแล้วก็มีความแก่ไปในที่สุด
-          อาการกระทบกระทั่งกับคำนินทาว่าร้ายต่างๆ ก็คิดว่าคนเราที่เกิดมาในโลกนี้มันไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน หาความทรงตัวอะไรไม่ได้ แม้แต่วาจาเป็นเครื่องกล่าวกระทบกระทั่งนี้จัดว่าเป็นโลกะธรรมดา เป็นธรรมดาของคนเกิดมาในโลก
-          ทำจิตให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของธรรมดา
เมื่อถูกด่าใจก็สบาย อาการป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นใจก็สบาย ความกระทบกระทั่งอารมณ์เป็นที่ไม่ชอบใจใจก็สบาย ใครเขาชมก็ไม่หวั่นไหวไปตามคำชม
-          ตัดอารมณ์แห่งความโกรธเสียได้
-          ตัดอารมณ์ความทุกข์ คือความเกาะขันธ์ ๕ เสียได้
อย่างนี้ชื่อว่าเป็นพระอนาคามี

เพราะการพิจารณาร่างกายในด้านอสุภกรรมฐาน เป็นการตัดความกำหนัดยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสและสัมผัส จนกระทั่งความรู้สึกในเพศไม่มี การยอมรับนับถือกฎธรรมดาใจไม่มีความหวั่นไหว ใจไม่มีความสะทกสะท้าน คือไม่มีความหนักใจ ไม่มีการเจ็บ ถือว่าธรรมดาของคนเกิดมาในโลกเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ชื่อว่าตัดโทสะลงไปเสียได้ มีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา เมื่อเราตัดโทสะได้ตัดกามราคะได้ทั้งสองประการ ท่านเรียกว่าพระอนาคามี ทั้งนี้เพราะอะไรเพราะเรายึดเอาพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้ง คือกสิณแล้วพิจารณาร่างกายของพระพุทธเจ้า ร่างกายของเรา ร่างกายของชาวบ้าน เอามาเปรียบเทียบกันว่าไม่มีการทรงตัว มีการเสื่อมไป มีการสลายไปในที่สุด จะมานั่งรักความสวยสดงดงามอันเต็มไปด้วยความหลอกลวงเพื่อประโยชน์อะไร จะทำจิตหวั่นไหวไปในโลกธรรมก็ไม่มีประโยชน์ เพราะร่างกายมันทรงตัวไม่นาน แล้วมันก็พัง

ในเมื่อเรายับยั้งอารมณ์จิตยอมรับนับถือกฎธรรมดาได้ทุกอย่าง ก็ชื่อว่าเป็นพระอนาคามี เกือบจะเป็นอรหันต์อยู่แล้ว อย่างนี้ตายแล้วไม่ต้องเกิด ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือพรหมแล้วก็นิพพานบนนั้น

ต่อไปเราต้องการทำจิตใจให้ถึงความเป็นอรหันต์ ก็มาพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงศึกษาในสำนักของอาจารย์ทั้งสอง คืออาฬารดาบส อุทกดาบส รามบุตร เป็นต้น ได้ฌาน ๔ คือ รูปฌานและอรูปฌาน รูปฌานและอรูปฌานนี่เป็นปัจจัยให้เข้าถึงความดี คือมีจิตตั้งมั่น แต่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาก็เห็นว่ายังไม่ใช่ที่สุดของความทุกข์ ยังไม่จบกิจ ยังชื่อว่ายังไม่มีโมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องพ้นแห่งความตาย ยัง ยังไม่ถึง เราก็ถือจริยาของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ว่าอารมณ์ของเราที่เข้าถึงอนาคามีนี่มันยังมีทุกข์  คือยังมีอารมณ์สำคัญอยู่ เห็นว่ารูปฌานเป็นของดี อรูปฌานเป็นของดี ยังมีมานะถือตัวถือตนพอสมควร ยังมีอุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ยังมีอวิชชาความโง่ บางอย่างยังติดตัวอยู่

องค์สมเด็จพระบรมครูกล่าวว่า ถ้าเราจะตัดความโง่ให้หมดก็ให้ใคร่ครวญหาความจริงว่า รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ทั้งสองประการนี้เป็นแต่เพียงบันไดก้าวเข้าไปสู่พระนิพพานเท่านั้น  ไม่ใช่อารมณ์ที่เข้าถึงพระนิพพาน แต่ว่ารูปฌานและอรูปฌานทั้งสองประการนี่เราต้องเกาะเข้าไว้เพื่อความอยู่เป็นสุขหรือว่าจิตไม่ฟุ้งซ่าน แต่เรายังไม่เห็นว่าที่สุด คือรูปฌานและอรูปฌานนี่ยังไม่เป็นที่สุดของความทุกข์ เราต้องเดินทางต่อไป จึงตัดอารมณ์ ไม่มัวเมาในรูปฌานและอรูปฌาน แต่จะรักษาไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่จิตใจเท่านั้น

ทรงฌานไว้เป็นปกติแล้วใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ ๕ ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ขันธ์ ๕ เต็มไปด้วยความทุกข์ ขันธ์ ๕ มีการสลายตัวไปในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ ในเมื่อขันธ์ ๕ มันไม่ทรงตัวแบบนี้แล้ว มานะการถือตัวถือตนเราจะไปนั่งถือตัวว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา  เพื่อประโยชน์อะไร เพราะร่างกายของคนมีธาตุ ๔ เหมือนกัน เต็มไปด้วยความสกปรกเหมือนกัน มีความเสื่อมเหมือนกัน มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน คนและสัตว์มีสภาวะเสมอกัน คือมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแก่ในท่ามกลาง และมีการสลายตัวไปในที่สุด นี่ย่อมไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จในการที่จะมานั่งเมาตัวหรือถือตัว วางอารมณ์แห่งการถือตัวถือตนเสีย มีเมตตาบารมีเป็นที่ตั้ง เห็นคนและสัตว์ทั้งหมด ถือว่าทุกคนมีความทุกข์ ทุกคนจะต้องมีความตายไปในที่สุด แล้วเราจะมานั่งถือตัวถือตน เสมอกัน เลวกว่ากัน ดีกว่ากัน เพื่อประโยชน์อะไร เพราะต่างคนต่างก็ไม่มีร่างกายเป็นเราเป็นของเราจริง เรือนร่าง ร่างกายเป็นแต่เพียงบ้านเช่าชั่วคราวเท่านั้น ถ้าทำอารมณ์ได้อย่างนี้เราก็จะตัดมานะ คือการถือตัวถือตนเสียได้
 

ต่อไปก็เหลืออุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่าน พระอนาคามียังมีความฟุ้งซ่านอยู่ตามสมควร แต่ว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านของพระอนาคามีนี้ไม่ฟุ้งลงไปหาอกุศล เพราะนับตั้งแต่เป็นพระโสดาบันเป็นต้นมา อารมณ์ที่เป็นอกุศลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า จะมีอย่างเดียวก็คืออารมณ์จิตเป็นกุศลเท่านั้น อย่างพระอนาคามีที่เรียกว่ายังมีอารมณ์จิตฟุ้งซ่านก็หมายความว่ายังพอใจในการบำเพ็ญทาน เห็นว่าทานเป็นของดี พอใจในการรักษาศีล พอใจในการสงเคราะห์ในด้านสังคหวัตถุ ในบางครั้งบางคราวจิตใจก็แวะซ้ายแวะขวา ยังไม่ตัดหน้าตรงไปทีเดียว ยังเห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้บางครั้งนี้มันยังเป็นประโยชน์อยู่ เรียกว่าบางครั้งยังเห็นว่าร่างกายเป็นของดีอยู่ ในการบางคราวยังเห็นว่า ทรัพย์สินคือวัตถุที่เราปกครองที่เราหามาได้ มันเป็นของดีอยู่ แต่ถึงกระนั้นก็ดี จิตใจของท่านก็ไม่ลืมนึกว่าท่านจะต้องตาย จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความหวั่นไหวไม่มีก็จริงแหล่ แต่ทว่าจิตก็ยังมีอารมณ์เกาะอยู่บ้างตามสมควร นี่เรียกว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านของพระอนาคามี

การตัดอารมณ์ฟุ้งซ่านนี้ก็ไปตัดที่สักกายทิฏฐิ พิจารณาร่างกายว่า ในเมื่อร่างกายของเรามันจะพังแล้ว อะไรในโลกนี้มันจะเป็นของเราอีก มันก็หาไม่ได้ ถ้าตายแล้วมันก็แบกเอาไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นเราจริงเป็นของเราจริง เราก็ต้องแบกมันไปได้ นี่ดูตัวอย่างสรีระขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เมื่อทรงปรินิพพานแล้ว ขณะทรงชีวิตอยู่ องค์สมเด็จพระประทีปแก้วมีทรัพย์สินมาก ชาวบ้านเขานำมาถวายราคานับไม่ได้ เมื่อเวลาที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงปรินิพพานแล้ว แม้แต่จีวรชิ้นหนึ่งก็นำไปไม่ได้ ปล่อยให้ร่างกายทับถมพื้นปฐพี ความนี้มีอุปมาฉันใด เราเองก็ฉันนั้น เราจะไปนั่งฟุ้งซ่าน ยึดโน่นยึดนี่เพื่อประโยชน์อะไร ใจมันก็จะปลดออกเสียได้


เมื่อเจริญเข้ามาถึงตอนนี้แล้ว องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงกล่าวว่า เหลืออวิชชาอีกหนึ่ง ตัวอวิชชานี่ได้แก่ฉันทะกับราคะ

   ฉันทะยังเห็นว่ามนุษย์โลกดี  เทวโลกดี  พรหมโลกดี
   ราคะเห็นว่ามนุษย์โลกสวยสองดงาม  เทวโลกสวย  พรหมโลกสวย

เราก็มานั่งตัดฉันทะกับราคะทั้งสองประการเสีย พิจารณาหาความจริงว่า ในเมื่อร่างกายของเรามันจะพังแล้ว ความสวยของความเป็นมนุษย์ เมืองมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี หรือพรหมก็ดี มันจะมีประโยชน์อะไรในฐานะที่เราเองก็ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้มันไม่เกิดประโยชน์อะไร ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของเรา เราต้องการอย่างเดียว คือพระนิพพาน จับจิตจับจุดเฉพาะอารมณ์พระนิพพานเพียงเท่านั้น

แล้วก็ถอยหลังเข้ามาดูอารมณ์ความจริงของเราว่า เวลานี้เรามีความโลภ คือเมาในลาภสักการะหรือเปล่า ยังถือว่ามีอะไรเป็นเราเป็นของเรามีบ้างไหม ถ้ายังมีก็ยังถือว่าใช้ไม่ได้ ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าเห็นร่างกายนี้ อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแล้ว ทรัพย์สินที่มีอยู่นี่มันก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันทรงตัวอยู่ไม่ได้ ตายแล้วนำไปไม่ได้ บางทีเรายังไม่ทันจะตาย ยังไม่ตายเราก็ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ คือของที่เราต้องการมันก็สลายตัวไปหมด มันไม่ปรากฏว่าจะยืนยงคงทนตลอดกาลตลอดสมัย นี่เราจึงเห็นว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นของไม่ดี การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่มีความต้องการ โลกทั้งสามนี้เป็นอนัตตาเหมือนกันหมด มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วมีการสลายตัวไปในที่สุด ในที่สุดเราก็มีอารมณ์จับพระนิพพานเป็นอารมณ์

-          มีความต้องการอย่างยิ่งโดยเฉพาะคือพระนิพพาน
-          อารมณ์แห่งความรักในเพศไม่มี
-          อารมณ์แห่งความโกรธไม่มี
-          การเกาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นเราเป็นของเราไม่มี

อย่างนี้ชื่อว่าจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าถึงความเป็นพระอรหัตผลเป็นพระอริยบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ชื่อว่าจบกันแค่นี้

นี่การเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธานุสสติกรรมฐาน เราก็ทำได้ทุกอย่าง คือทำได้ตั้งแต่ขั้นอุปจารสมาธิ คือพิจารณาแบบต้น ถ้าพิจารณาแบบจับรูปเราก็ทรงได้ถึงฌานสี่ แล้วทิ้งรูปเสียพิจารณาอรูป ทรงฌาน ๔ ได้อีกก็เป็นสมาบัติ ๘ แล้วก็จับพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการแก่เฒ่าไปในที่สุด แล้วก็สลายตัวไปในขั้นสุดท้าย ถือว่าเป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร ไม่มีสภาพจีรังยั่งยืนเป็นประการใด มาเทียบกับกายของเราแบบนี้เป็นวิปัสสนาญาณ นี่แหละบรรดาพุทธบริษัททุกท่าน

 
กรรมฐานทุกกองเราทำได้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ ทางด้านรูปฌานและอรูปฌาน และวิปัสสนาญาณทำได้หมด ตัวอย่างที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตสอนโลหิตกสิณแก่พระลูกชายนายช่างทอง อย่างเดียวสามารถให้ทำฌานได้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทำโลหิตกสิณนั่นแหละให้เป็นวิปัสสนาญาณในที่สุดเธอก็ได้บรรลุอรหัตผล

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกคน เวลาแห่งการจะพูดมันก็เลยมานานแล้ว ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
 

อ้างอิง   หนังสือกรรมฐาน ๔๐  โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ที่มา   เว็บพระรัตนตรัย.คอม
http://www.praruttanatri.com/book.php



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 05, 2010, 09:20:02 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ