ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิปัสสนูกิเลส และ อุปกิเลส (คุณฟ้าใสขอมา)  (อ่าน 5756 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
วิปัสสนูปกิเลส : ประสบการณ์ และ การแก้ไข


อุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ ๑๐ โดย หลวงพ่อฤาษีลิงดำวิปัสสนูปกิเลส

ใน ขั้นวิปัสสนาญาณ เป็นกฎการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล ท่านก็ต้องมีการเตรียมเครื่องอุปกรณ์การปฏิบัติให้ครบถ้วนอย่างปฏิบัติขั้น ฌานเหมือนกัน เมื่อท่านตระเตรียมในขั้นบารมี ๑๐ ชื่อว่าเป็นการเตรียมปูพื้นให้เรียบเพื่อเป็นพื้นฐานขั้นต้น เช่นเดียวกับการปรับปรุงศีลให้บริสุทธิ์ขั้นปฏิบัติฌาน เมื่อท่านปรับปรุงบารมี ๑๐ เพื่อเป็นพื้นฐานแล้ว

สิ่งที่ต้องระวังการพลั้งพลาดในการเจริญวิปัสสนา อารมณ์จิตอาจจะข้องหรือหลงใหลในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จนทำให้เสียผลในการกำจัดกิเลส เช่นเดียวกับจิตข้องในนิวรณ์ทำให้เสียกำลังสมาธิ ไม่ได้ฌานเช่นกัน อารมณ์กิเลสที่คอยกีดกันอารมณ์วิปัสสนาก็คือ อารมณ์สมถะที่มีอารมณ์ละเอียดคล้ายคลึงวิปัสสนาญาณ ท่านเรียกว่า อุปกิเลสของวิปัสสนา ๑๐ อย่าง คือ


๑. โอภาส โอภาสแปลว่า แสงสว่าง ขณะพิจารณาวิปัสสนาญาณนั้น จิตที่กำลังพิจารณาอยู่ จิตย่อมทรงอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ สมาธิระดับนี้เป็นสมาธิเพื่อสร้างทิพยจักษุญาณ ย่อมเกิดแสงสว่างขึ้น คล้ายใครเอาประทีปมาตั้งไว้ใกล้ๆ เมื่อปรากฏแสงสว่าง จงอย่าทำความพอใจว่าเราได้มรรคผล เพราะเป็นอำนาจของอุปจารสมาธิอันเป็นผลของสมถะ ที่เป็นกำลังสนับสนุนวิปัสสนาเท่านั้น ไม่ใช่ผลในวิปัสสนาญาณ

๒. ปีติ ปีติแปลว่า ความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มเบิกบาน อาจมีขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหล กายโยกโคลง กายลอยขึ้นบนอากาศ กายโปร่งสบาย กายเบา บางคราวคล้ายมีกายสูงใหญ่กว่าธรรมดา มีอารมณ์ไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติ อารมณ์สมาธิแนบแน่นดีมาก อารมณ์สงบสงัดง่าย อาการอย่างนี้ไม่ใช่ผลของวิปัสสนา เป็นผลของสมถะ อย่าเข้าใจว่าบรรลุมรรคผล

๓. ปัสสัทธิ ปัสสัทธิแปลว่า ความสงบระงับด้วยอำนาจฌาน มีอารมณ์สงัดเงียบ คล้ายจิตไม่มีอารมณ์อื่น มีความว่างสงัดสบาย ความรู้สึกทางอารมณ์โลกียวิสัยดูคล้ายจะสิ้นไป เพราะความรัก ความโลภ ความโกรธ ความข้องใจในทรัพย์สินไม่ปรากฏ อาการอย่างนี้เป็นอารมณ์ของอุเบกขาในจตุตถฌาน เป็นอาการของสมถะ ผู้เข้าถึงใหม่ๆ ส่วนมากหลงเข้าใจผิดว่าบรรลุมรรคผล เพราะความสงัดเงียบอย่างนี้ตนไม่เคยประสบมาก่อน ต้องยับยั้งชั่งใจไว้ก่อน อย่าด่วนตัดสินใจว่าได้มรรคผล เพราะมรรคผลมีฌานเป็นเครื่องรู้มีอยู่ ถ้าญาณเป็นเครื่องรู้ยังไม่แจ้งผลเพียงใด ก็อย่าเพ่อตัดสินใจว่าได้บรรลุมรรคผล

๔. อธิโมกข์ อธิโมกข์ แปลว่า อารมณ์ที่น้อมใจเชื่อโดยปราศจากเหตุผล ด้วยพอได้ฟังว่าเราได้มรรคได้ผล ยังมิได้พิจารณาให้ถ่องแท้ก็เชื่อแน่เสียแล้ว ว่าเราได้มรรคได้ผล โดยไม่ใช้ดุลพินิจเป็นเครื่องพิจารณา อาการอย่างนี้ เป็นอาการของศรัทธาตามปกติ ไม่ใช่มรรคผลที่ตนบรรลุ

๕. ปัคคหะ ปัคคหะแปลว่า มีความเพียรกล้า คนที่มีความเพียรบากบั่นไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค เป็นเหตุที่จะให้บรรลุมรรคผล แต่ถ้ามาเข้าใจว่าตนได้บรรลุเสียตอนที่มีความเพียรก็เป็นการที่น่าเสียดาย อย่างยิ่ง ความพากเพียรด้วยความมุมานะนี้ เป็นการหลงผิดว่าได้บรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน

๖. สุข สุขแปลว่า ความสบายกายสบายใจ เป็นอารมณ์ของสมถะที่เข้าถึงอุปจารฌานระดับสูง มีความสุขทางกายและจิตอย่างประณีต ไม่เคยปรากฏมาก่อนในชีวิต อารมณ์สงัดเงียบ เอิบอิ่มผ่องใส สมาธิก็ตั้งมั่น จะเข้าสมาธิเมื่อใดก็ได้ อารมณ์อย่างนี้เป็นผลของสมถภาวนา จงอย่าหลงผิดว่าได้มรรคผลนิพพาน

๗. ญาณ ญาณแปลว่า ความรู้อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจที่จิตมีสมาธิจากผลของสมถภาวนา เช่น ทิพยจักษุญาณ เป็นต้น สามารถเห็นนรก สวรรค์ พรหมโลกได้ และรู้อดีต อนาคต ปัจจุบันได้ตามสมควร เป็นผลของสมถะแท้ไม่ใช่ผลของวิปัสสนา เมื่อได้เมื่อถึงแล้วอาจจะหลงผิดว่าได้บรรลุผลนิพพาน เลยเลิกไม่ทำต่อไป พอใจในผลเพียงนั้นก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะญาณที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นญาณในสมถะ ไม่ใช่อารมณ์วิปัสสนาญาณ ถ้าพอใจเพียงนั้นก็ยังต้องเป็นโลกียชนต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะต่อไป

๘. อุเบกขา อุเบกขาแปลว่า ความวางเฉย เป็นอารมณ์ในสมถะ คือ ฌาน ๔ ถ้ามาเข้าใจว่าความวางเฉยนี้เป็นมรรคผล ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ความจริงก็อาจคิดไปได้ เพราะคนใหม่ยังเข้าใจอารมณ์ไม่พอ ท่านจึงบอกไว้ให้คอยระวัง

๙. อุปปัฏฐาน อุปปัฏฐานแปลว่า เข้าไปตั้งมั่น หมายถึงอารมณ์ที่เป็นสมาธิ มีอารมณ์สงัดเยือกเย็น ดังเช่นที่ท่านเข้าฌาน ๔ มีอารมณ์สงบสงัด แม้แต่เสียงก็กำจัดตัดขาดไม่มีปรากฏ อารมณ์ใดๆ ไม่มี เป็นอารมณ์ที่แยกกันระหว่างกายกับจิตอย่างเด็ดขาด เป็นปัจจัยให้นักปฏิบัติเข้าใจพลาดว่าบรรลุมรรคผลก็เป็นได้ ความจริงแล้วเป็นฌาน ๔ ในสมถะแท้ๆ

๑๐. นิกกันติ นิกกันติแปลว่าความใคร่ เป็นความใคร่น้อยๆ ที่เป็นอารมณ์ละเอียดไม่ฟูมาก ถ้าไม่กำหนดรู้อาจไม่มีความรู้สึก เพราะเป็นอารมณ์ของตัณหาสงบ ไม่ใช่ขาดเด็ดเป็นเพียงสงบ พักรบชั่วคราวด้วยอำนาจฌาน มีปฐมฌานเป็นต้น เข้าระงับ อารมณ์ตัณหาที่อ่อนระรวยอย่างนี้ทำให้นักปฏิบัติเผลอเข้าใจว่าบรรลุมรรคผล นิพพานมีไม่น้อย แต่พอนานหน่อย ฌานอ่อนกำลังลง พ่อกิเลสตัณหาก็กระโดดโลดเต้นตามเดิม อาการอย่างนี้ นักปฏิบัติก็ต้องระมัดระวัง

วิปัสสนาญาณที่ พิจารณาต้องมีสังโยชน์เป็นเครื่องวัด และพิจารณาไปตามแนวของสังโยชน์เพื่อการละ ละเป็นขั้นเป็นระดับไป ค่อยละค่อยตัดไปทีละขั้น อย่าทำเพื่อรวบรัดเกินไป แล้วคอยระมัดระวังใจ อย่าให้หลงใหลในอารมณ์อุปกิเลส ๑๐ ประการ ท่านค่อยทำค่อยพิจารณาอย่างนี้ ก็มีหวังที่จะเข้าถึงความสุข ที่เป็นเอกันตบรมสุขสมความมุ่งหมาย

ขอขอบคุณ คุณ Phanudet
ข้อมูลจาก หนังสือ คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน หน้า ๖๘ ˹

__________________


วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ (อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา, ธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ผู้ได้ตรุณวิปัสสนา หรือวิปัสสนาอ่อนๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว เป็นเหตุขัดขวางให้ไม่ก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ)
 
๑. โอภาส (แสงสว่าง)
๒. ญาณ (ความหยั่งรู้)
๓. ปีติ (ความอิ่ม)
๔. ปัสสัทธิ (ความสงบเย็น)
๕. สุข (ความสุขสบายใจ)
๖. อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อ, ศรัทธาแก่กล้า, ความปลงใจ)
๗. ปัคคาหะ (ความเพียรที่พอดี)
๘. อุปัฏฐาน (สติแก่กล้า, สติชัด)
๙. อุเบกขา (ความมีจิตเป็นกลาง)
๑๐. นิกันติ (ความพอใจ, ติดใจ)

 
ดู (๒๗๐) วิสุทธิ ๗ โดยเฉพาะข้อ ๕ คือ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

อ้างอิง   วิสุทฺธิ.๓/๒๖๗.
ที่มา   พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ.ปยุตโต)

__________________


อุปกิเลส หรือ จิตตอุปกิเลส ๑๖ (ธรรมเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งทีทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเปรอะเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี)
 
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ (คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร, โลภกล้า จ้องจะเอาไม่เลือกควรไม่ควร)
๒. พยาบาท (คิดร้ายเขา)
๓. โกธะ (ความโกรธ)
๔. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ)
๕. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน, ความหลู่ความดีของผู้อื่น, การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น)
๖. ปลาสะ (ความตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน, เอาตัวขึ้นตั้งขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน)
๗. อิสสา (ความริษยา)
๘. มัจฉริยะ (ความตระหนี่)
๙. มายา (มารยา)
๑๐. สาเถยยะ (ความโอ้อวดหลอกเขา, หลอกด้วยคำโอ้อวด)
๑๑. ถัมภะ (ความหัวดื้อ, กระด้าง)
๑๒. สารัมภะ (ความแข่งดี, ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน)
๑๓. มานะ (ความถือตัว, ทะนงตน)
๑๔. อติมานะ (ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา, ดูหมิ่นเขา)
๑๕. มทะ (ความมัวเมา)
๑๖. ปมาทะ (ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ)


ข้อ ๒ มีต่างออกไป คือ ในธัมมทายาทสูตร เป็น โทสะ (ความคิดประทุษร้ายเขา) (ม.มู.๑๒/๒๖/๒๖)

อ้างอิง   ม.มู.๑๒/๙๓/๖๕
ที่มา   พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ.ปยุตโต)

________________________________________


อุปกิเลส ๑๑ ประการ
เครื่องเศร้าหมองในการเจริญสมาธิ

๑.วิจิกิจฉา  ความสงสัยในโอภาสนิมิต จิตคลาดเคลื่อนจากสมาธิ แสงสว่างจึงดับ

๒.อมนสิการ จิตไม่กำหนดนึก ว่านั้นอะไร นี่อะไร ทำให้จิตเลื่อนลอย จิต
   จึงเคลื่อนจากสมาธิ   แสงสว่างก็ดับ


๓. ถีนมิทธะ  จิตละเลยการกำหนดรูปนิมิต  จิตจึงง่วงเหง่าหาวนอน  จิต
    จึงเคลื่อน จากสมาธิ รูป จึงดับ แสงสว่างจึงดับ


๔.ฉมฺภิตตฺต ความไหวจิต ไหวกาย เพราะจิตเห็นรูปน่ากลัว จิตจึงเคลื่อน
   จากสมาธิ  แสงสว่าง รูปนิมิตจึงดับ


๕.อุพพิลวิตก ความที่จิต รวบรัด เพ่งเล็งดูรูปนิมิตมากมาย จิตกำเริบฟุ้งซ่าน
   จิตจึงเคลื่อนจาสมาธิรูปนิมิต และแสงสว่างจึงดับไป


๖.ทุฎฐุลล     ความกำหนดจิตดูรูปนิมิตมาก แต่กำหนดดูแต่ช้าๆ จิตคลาย
   ความเพียรลง เกิดความ กระวนกระวาย จิตจึงเคลื่อนจากสมาธิรูปนิมิต
   โอภาสนิมิตจึงดับ


๗.อจฺจารทฺธวิริย กำหนดความเพียรมากเกินไป จิตจึงคลาดเคลื่อนจากสมาธิรูป

๘.อติลีนวิริย   กำหนดความเพียรน้อยเกินไป อ่อนเกินไป จิตเคลื่อนจาก
   สมาธิ รูป  แสงสว่างจึงดับ


๙.อภิชปฺปา การกำหนดดูรูปปราณีต ตัณหาเกิด จิตจึงเคลื่อนจากสมาธิ รูป
   และแสง สว่างจึงดับไป


๑๐.นานตฺตสญฺญา การกำหนดดูรูปหยาบ รูปปราณีตพร้อมกัน จิตแยกเป็น
    สองฝ่าย จิต จึงเคลื่อน จากสมาธิรูปนิมิต และโอภาสนิมิตหายไป


๑๑. อตินิชฌายิตตฺต  การเพ่งเล่งรูปมนุษย์ อันปราณีต เกิดความยินดี จิต
     เคลื่อนจากสมาธิ รูป  แสงสว่างจึงดับ


อ้างอิง
คู่มือ สมถะ-วิปัสสนากรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ
ของสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรมหาเถรเจ้า (สุก ไก่เถื่อน) 
วัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร (พลับ) กรุงเทพฯ
พระครูสังฆรักษ์วีระ ฐานวีโร  รวบรวม เรียบเรียง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 17, 2010, 02:59:25 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ