ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" แนวทางใช้ชีวิตไม่ประมาท  (อ่าน 1088 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" แนวทางใช้ชีวิตไม่ประมาท

สัปดาห์นี้น้อมนำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเรารู้จักกันดี คือ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางการใช้ชีวิตบนความไม่ประมาท ใช้อย่างไรไปอ่านกัน

ในความรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สิ่งที่คนไทยจดจำพระองค์ในหัวใจ คือพระจริยวัตรอันงดงาม และแนวทางพระราชดำรัส คำสอนต่างๆ เพื่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการใช้ชีวิตบนเส้นทางแห่งมรรค 8 ตามหลักพระพุทธศาสนา คือทางดับทุกข์ ทางสายกลาง หรือ “การใช้ชีวิตบนความไม่ประมาท” แนวทางพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ตรงกับเรื่องนี้มากที่สุด คือแนวทางปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาความคิดที่พระองค์ท่านตรัสถึงมาเนิ่นนาน จากการค้นคว้าข้อมูล พระองค์ท่านเคยตรัสถึงตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ตามพระราชดำรัสแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตอนหนึ่งว่า

“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (18 ก.ค.2517)

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาคำสอนที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา ในเรื่องของการสร้างความสุข อันว่า ความสุขนั้นอยู่ที่ใจของคนเราเอง ว่า “พอ” แค่ไหน ไม่ใช่ว่า “มี” มากแค่ไหน ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุ แต่ขึ้นอยู่กับใจที่สงบร่มเย็น รู้จักประมาณตน เมื่อใจพอ ก็ไม่ร้อนรนที่ต้องไปดิ้นไขว่คว้าแสวงหาอะไร ให้เกิดความทุกข์ตามมา ไม่รู้สึกอยากมีอยากได้อะไรที่เกินแก่ฐานะจนสร้างปัญหา แล้วจะนำมาซึ่งความสุข





ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงปี พ.ศ.2540 ที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจากการเปิดเสรีทางการเงิน จนเกิดภาวะอุปทานล้น มีการกู้เงินจากต่างประเทศมาเก็งกำไร ปล่อยกู้สร้างอสังหาริมทรัพย์มากมาย และสุดท้ายก็เกิดภาวะฟองสบู่แตก จนทำให้เราต้องหวนคิดว่า...เราหวังแต่การเติบโตมากไปจนลืมเรื่องความแข็งแกร่งของรากฐานทางเศรษฐกิจที่จะช่วยให้การเติบโตนั้นเป็นไปอย่างมั่นคงยั่งยืน

ในช่วงปี 40 นั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถูกนำมาพูดถึง นำมาใช้เป็นคำสอนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตว่าเราควรทำอะไรโดยประมาณศักยภาพแห่งตนให้ได้ ไม่ใช่ทำไปโดยมุ่งหวังเพียงฐานะเงินทอง เพื่อไปจับจ่ายซื้อวัตถุที่ล่อตาล่อใจ ตามการโฆษณาที่กระตุ้นให้คนเราอยากมีอยากได้ อยากบริโภคเกินจำเป็น และกลายเป็นปรัชญาแนวคิดที่อยู่ในใจคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อเตือนตัวเองว่า “ให้พอ” “ให้สมแก่ฐานะ” เพื่อที่เราจะอยู่ได้ในภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมที่เกิดจากทุนนิยม

ในพระราชดำรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ยังมีถ้อยคำสำคัญคือ “ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน” นั่นก็คือแนวทางการพัฒนา ที่การเจริญเติบโตของภาคส่วนต่างๆ ของประเทศก็ต้องไปด้วยกัน การกระจายทรัพยากรก็ต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม มีการกระจายองค์ความรู้ที่ “ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ” เพื่อให้ภาคชนบทได้มีการพัฒนาและมี “พื้นฐาน” ที่แข็งแกร่ง พร้อมเจริญเติบโตไม่ใช่เพียงรอการมุ่งหวังได้รับจัดสรรทรัพยากร เป็นการพัฒนาที่ทั้งสังคมไทย “ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”




ความหมายของ “ความพอเพียง” ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ซึ่งการจะมีระบบ “ภูมิคุ้มกัน” ต่อความเปลี่ยนแปลง จะต้องมีความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน

ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

ความหมายที่กล่าวมา คือความหมายที่ฝ่ายภาคประชาชนเองควรต้องเข้าใจลึกซึ้ง ในส่วนของผู้มีอำนาจหน้าที่ฝ่ายรัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ให้ความรู้ชี้นำทางสังคม ก็จำต้องยึดถือหลักคุณธรรม ต้องส่งเสริมพื้นฐานจิตใจให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม

... “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักปรัชญาสำหรับทุกชนชั้นในสังคม ให้ต่างก็มีความรับผิดชอบต่อกันและกัน ไม่เห็นแก่ตัว ให้สังคมเติบโตไปด้วยกันได้

“เศรษฐกิจพอเพียง” ก็เป็นทฤษฎีแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ของพระองค์ท่านที่สรุปสั้นว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”



ความ “เข้าใจ” ก็คือความรู้ชัดถึงแนวทางปรัชญา เข้าใจตัวเองและรู้การประมาณตน เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงโลก และรู้เท่าทันการกระตุ้นเร้าจากทุนนิยมที่ต้องการให้เราบริโภคเกินจำเป็น

การ “เข้าถึง” ในส่วนของภาคประชาชนก็คือการเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการวางแผนใช้ชีวิต วางแผนการดำเนินธุรกิจหรือการประกอบอาชีพ ในฝ่ายของภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือผู้สามารถชี้นำทางสังคม เช่น สื่อ ฝ่ายวิชาการเอง ก็ต้องเข้าถึงโดยการนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมไปเผยแพร่ได้อย่างถ้วนทั่ว ฝ่ายรัฐ ต้องเข้าถึงพื้นที่ที่มีความต้องการเพื่อกระจายทรัพยากรอันเป็นพื้นฐานต่อการประกอบอาชีพลงไป

ส่วนการ “พัฒนา” ก็คือทุกภาคส่วนได้ร่วมปฏิบัติตนตามหลักการ “เศรษฐกิจพอเพียง” ไปด้วยกัน ช่วยเหลือกัน ให้มีการเจริญเติบโตในทุกภาคส่วนอย่างมั่นคง ยั่งยืน... จากที่กล่าวมาจึงจะเห็นได้ว่า หลักการตามแนวพระราชดำรัสต่างๆ มีความสอดคล้องต้องกันอยู่เป็นหลักใหญ่ คือ “พระราชดำรัสเหล่านั้นล้วนหวังให้เกิดประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม” ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ทรงตรัส และเป็นพระราชปณิธานตลอดพระชนม์ชีพ

@@@@@@

การตัดสินใจหรือดำเนินการใดๆ ต่างๆ ที่ยึดหลักความพอเพียง สามารถสรุปได้ง่ายๆ คือ

1. ต้องมีความรู้ที่เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ อันเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจดำเนินการ ทั้งทางธุรกิจ ทางอาชีพ ทางการเกษตร นำองค์ความรู้ที่ได้มาวางแผนทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับภาคการเกษตรเรื่องหนึ่งที่เราจดจำกันได้ คือพระองค์ท่านได้ชี้แนะแนวทางการทำเกษตรในลักษณะไร่นาสวนผสม เพื่อการทำการเกษตรได้ตลอดปี และมีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรได้อย่างทั่วถึง ซึ่งแนวทางเรื่องนี้ถ้าสนใจลองหาอ่านได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธิชัยพัฒนา

2. เงื่อนไขคุณธรรม การกระทำการใดๆ ต้องมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อผู้อื่น มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต การกระทำการใดๆ อย่างขาดซึ่งคุณธรรมนั้นย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก คุณธรรมจึงต้องเป็นสิ่งที่กำกับไว้ในใจคน

สำหรับแนวทางใช้ชีวิตตามหลักพอเพียง จากเว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนาได้สรุปออกมา คือ
1. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต
3. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ
5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา




ภาพรวมแล้วเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ “วิถีปฏิบัติตนที่ยึดหลักธรรมะ” นั่นเอง...

การแสดงความเคารพและระลึกถึงพระองค์ท่าน ยึดหลักคำสอนของพระองค์มาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต จะต้องเป็น “การปฏิบัติบูชา” คือไม่ใช่เพียงแค่รู้ แต่ทำ ซึ่งแนวทางเหล่านี้มาจากความรักและความหวังดีที่พระองค์มีต่อพสกนิกรทั้งสิ้น ปฏิบัติแล้วจะได้กับตัวเราเอง ไม่ว่าวันไหนก็ตาม “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นสิ่งที่เราพึงระลึกเพื่อความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต มีภูมิคุ้มกันและสามารถทันต่อความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้

ในวันนี้เราต่างก็บ่นว่ากันถึงเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี เราหันกลับมามองตัวเราหรือไม่ว่า...ที่ว่าไม่ดี ส่วนหนึ่งเพราะเราบริโภคตามความอยากจนเกินความจำเป็นหรือไม่? ที่มาของรายได้ของเราเพียงพอและมั่นคงต่อการบริโภคหรือไม่? เตือนตัวเองให้ตระหนักรู้ให้ได้เสียก่อน...แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจ แก้ไขปัญหาไป

“ความไม่ประมาท” เป็นทางดำเนินชีวิตที่จำเป็นอยู่เสมอ.

.................................
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”


ขอบคุณภาพจาก : thaitribune
ที่มา : https://www.dailynews.co.th/article/603658
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 14, 2017, 07:16:31 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ผมว่า ถ้าได้แค่ครึ่ง คำสอน

ในหลวง

ชีวิตเราก็คงไม่ลำบากแล้ว
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา