ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก" วัดของพ่อ เรียบง่ายและพอเพียง  (อ่าน 1113 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ด้านในพระอุโบสถ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก


"วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก" วัดของพ่อ เรียบง่ายและพอเพียง

“วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก” เกิดขึ้นจากพระราชดำริเริ่มแรกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยวิธีการเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีวัตถุประสงค์คือ ทำการทดสอบการบำบัดน้ำเน่าเสียที่ไหลมาตามคลองลาดพร้าวส่วนหนึ่งให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยวิธีการเติมอากาศลงไปในน้ำ แล้วปล่อยให้น้ำตกตะกอน และปรับสภาพน้ำก่อนระบายลงสู่คลองตามเดิม

พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงร. ๙ เพื่อแสดงความไว้อาลัย และรูปปั้นปูนปลาสเตอร์คุณทองแดง

ต่อมาพระองค์ท่านได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายโครงการในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริเวณข้างเคียง โดยให้ทำการปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 ดำเนินการจัดตั้งวัดเพื่อเป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของราษฎรในการประกอบกิจกรรมต่างๆ

ประติมากรรมในหลวง ร.๙ และสมเด็จพระญาณสังวรฯ

กระทั่งปี พ.ศ. 2533 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 8-2-54 ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างวัดในนามมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส

ศาลาพุทธประวัติจัดแสดงเรื่องราวทรงผนวชของในหลวง ร.๙

การสร้าง “วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก” เป็นไปตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดเล็กๆ เพื่อเป็นแบบอย่างความพอดีและพอเพียง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง และเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ในการเผยแพร่ศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างในการประสานความร่วมมือระหว่าง ชุมชน-วัด-โรงเรียน หรือเรียกว่า "สามประสาน" ตามหลักการ "บวร"

พระพุทธชนะมารทองคำ

บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของสามประสานนี้ คือ เพื่อเป็นแบบอย่างของการสร้างพุทธาวาสขนาดเล็กที่ยึดถือความสงบ สมถะ เรียบง่ายในชุมชนเมือง เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชุมชนเมืองให้มีความผูกพันกับพุทธศาสนา เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรได้เข้ามาประกอบกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อเป็นการสั่งสอนเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และการเผยแพร่ศีลธรรมและจริยธรรม และเพื่อเป็นตัวอย่างการประสานความร่วมมือระหว่างวัด โรงเรียน ชุมชน และหน่วยราชการต่างๆ ในการพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญยิ่งขึ้น

ด้านนอกรอบพระอุโบสถมีการจัดภูมิทัศน์ไว้อย่างสวยงาม

เมื่อปี พ.ศ.2536 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้น นางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดินอีกจำนวน 5 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับวัดแด่มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงเรียน โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเปิดทำการสอนในระดับ อนุบาล – ประถมศึกษา และขยายโอกาสไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนพระราม 9 กาญจนาภิเษก" และได้เปิดดำเนินการสอนมาแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 เป็นต้นมา

พระอุโบสถวัดพระราม ๙ มีขนาดย่อมสีขาว ดูเรียบง่ายงดงาม

"วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก" เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวัดอื่นหลายประการ โดยโครงสร้างของวัดได้รับการออกแบบให้เป็นวัดขนาดเล็กในชุมชนเมืองที่ใช้งบประมาณที่ประหยัดแบบพอเพียง มีการออกแบบโดยคำนึงถึงความเรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ประกอบด้วยพระอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ สระน้ำ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระ โรงครัว และอาคารประกอบที่จำเป็น อาคารทุกหลังจะใช้สีขาว ซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด สวยงาม

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า พระพุทธกาญจนธรรมสถิต

เมื่อได้มายัง “วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก” จะได้สัมผัสกับวัดที่มีพื้นที่ไม่กว้างใหญ่มากนัก มีความเงียบสงบ และความร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีสระน้ำอยู่ภายในวัดรายล้อมด้วยต้นไม้ ดอกไม้ดูรื่นรมย์สบายตาสบายใจ แล้วภายในสระน้ำมีกังหันน้ำชัยพัฒนา อันเป็นเครื่องกลเติมอากาศเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ สิ่งประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระระเบียงคตสีขาวสวยงาม

ด้านในวัดพระราม ๙ โดดเด่นด้วยพระอุโบสถขนาดย่อมสีขาวดูเรียบง่ายงดงาม ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยได้ต้นเค้าของการออกแบบพระอุโบสถจากพระอุโบสถ 3 แห่ง ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ พระอุโบสถวัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม และพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ นนทบุรี เน้นประโยชน์การใช้สอยเป็นสำคัญ และวัสดุก่อสร้างทั้งหมดเป็นของที่ผลิตในประเทศ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หน้าต่างเป็นอลูมิเนียม หน้าฐานเป็นลายปูนปั้น ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙ ช่อฟ้าใบระกาเป็นลวดลายปูนปั้น ไม่มีการปิดทองประดับกระจก องค์ประกอบเครื่องบนหลังคาเป็นปูนปั้นลายใบไม้ ผนังและเสาก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสีขาว หลังคามุงด้วยแผ่นเหล็กอาบสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอลูมิเนียม ลูกฟักเป็นกระจก

กังหันน้ำชัยพัฒนา ที่อยู่ภายในสระน้ำ

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานที่ได้รับพระราชทานนามว่า "พระพุทธกาญจนธรรมสถิต" ซึ่งพระประธานองค์นี้ได้รับการออกแบบจาก นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ได้ทำการออกแบบทั้งสิ้น 7 แบบ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน จากนั้นมูลนิธิชัยพัฒนานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อทอดพระเนตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบ พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) โดยได้ทรงแก้ไขแบบอีกเล็กน้อยด้วยพระองค์เอง และคณะอนุกรรมการการก่อสร้างฯ ได้มอบให้อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน คณบดีคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ปั้นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถ

ความร่มรื่นภายในวัดพระราม ๙

ด้านนอกรอบพระอุโบสถมีการจัดภูมิทัศน์ไว้อย่างสวยงาม ด้วยการจัดตกแต่งสวนสวยๆ และมีสระบัวที่ดอกบัวออกดอกเบ่งบานงดงาม ส่วนด้านข้างพระอุโบสถมีพระระเบียงคต ซึ่งวัดตามปกติสร้างพระระเบียงคตล้อมรอบ 4 ด้าน แต่สำหรับวัดพระราม ๙ แห่งนี้ มีพระระเบียงคตสีขาวสวยงามอยู่เพียงด้านเดียว

ภายในวัดยังมีศาลาที่ด้านในมีประติมากรรมในหลวง ร.๙ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ให้ได้กราบสักการะ อีกทั้งยังมีศาลาพุทธประวัติที่ตั้งอยู่ใกล้กับริมสระน้ำ ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติ และเรื่องราวทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระพุทธชนะมารทองคำ (ปางชนะมาร) ให้ได้กราบขอพร และใกล้กันมีสวนหย่อมเล็กๆ ที่มีการตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงร. ๙ เพื่อแสดงความไว้อาลัย และมีเหล่ารูปปั้นปูนปลาสเตอร์สุนัขทรงเลี้ยงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้ได้ชม

“วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก” ตั้งอยู่ที่ 999 ซอยพระราม 9 กาญจนาภิเษก 19 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร. 0-2318-5926-7, 0-2719-7588 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ watphraram9.org



ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก
https://mgronline.com/travel/detail/9600000105741
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ชื่อมงคลชัย รัชกาล
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา