ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เที่ยวเมืองย่าโม “โคราช”บ้านเอง กราบหลวงพ่อคูณ ตระการตาปราสาทหินพิมาย  (อ่าน 842 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

วิหารเทพวิทยาคม วัดบ้านไร่


เที่ยวเมืองย่าโม “โคราช”บ้านเอง กราบหลวงพ่อคูณ ตระการตาปราสาทหินพิมาย

ถ้าหากขับรถจาก กทม. มาที่สระบุรี แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนมิตรภาพ จังหวัดทางภาคอีสานอันดับแรกที่จะเจอก็คือ “นครราชสีมา” หรือที่เรียกกันจนคุ้นปากว่า “โคราช”

ที่เที่ยวในโคราชไม่ได้มีแค่แถวๆ ปากช่อง-เขาใหญ่ ยังมีที่อื่นๆ ให้แวะไปชมอีกมากมาย โดยเฉพาะจุดสำคัญๆ อย่างวัด และโบราณสถานต่างๆ

บนถนนมิตรภาพก่อนเข้าตัวเมืองโคราช จะมีถนนให้เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไปยัง อ.ด่านขุนทด ให้เราได้แวะไปที่ “วัดบ้านไร่” ไปสักการะพระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ท่านคือหนึ่งในเกจิชื่อดังของเมืองไทย เป็นพระผู้ใหญ่ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย มีผู้คนให้เคารพนับถือมากมายเต็มบ้านเต็มเมือง ซึ่งถึงแม้ท่านจะละสังขารไปแล้วท่ามกลางความโศกเศร้าของคนไทย แต่หลักธรรมคำสอนของท่านยังดำรงคงอยู่เป็นมรดกตกทอดให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ


ภายในพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

เมื่อมาถึงวัดบ้านไร่แล้วก็ต้องเข้าไปที่ "พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ" ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งศรัทธาเนื่องในโอกาสอายุครบ 7 รอบของท่าน รวมถึงเป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลในลักษณะของอุทยานธรรม เพื่อให้คำสอนของท่านดำรงคงอยู่ได้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติ

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณฯ มีจำนวน 2 ชั้น แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 9 ส่วน โดยมีคำกล่าวของหลวงพ่อคูณแสดงเป็นเครื่องเตือนใจอยู่ทั่วไป ชั้นล่าง เป็นการจัดแสดงในส่วนที่ 1, 2, 8 และ 9 โดยส่วนที่ 1 ศรัทธามหาชน จะเป็นหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณในท่านั่งยองๆ ซึ่งเป็นภาพที่เราคุ้นเคยในขนาดเท่าตัวจริง นอกจากนี้ก็ยังมีภาพจิตรกรรมและภาพเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงพ่อคูณ อาทิ ภาพประชาชนมากราบไหว้หลวงพ่อคูณ หรือเรื่องราวเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของหลวงพ่อคูณ เช่น การนั่งยอง เหยียบโฉนด เคาะหัว รับปัจจัยใบเดียว เป็นต้น


พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

ส่วนที่ 2 ภิกษุสมถะแห่งแดนอีสาน ผู้บำเพ็ญทานอันยิ่งใหญ่ ในส่วนนี้นำเสนอวัตรปฏิบัติอันสมถะเรียบง่ายของหลวงพ่อคูณ ที่มีเพียงข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการครองสมณะเพศเท่านั้น ส่วนที่ 8 เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ บูชาวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ และส่วนที่ 9 บุญคูณลาภ ชวนทำบุญทำทานกับหลวงพ่อคูณ

ขณะที่ในชั้นที่ 2 จะเป็นการจัดแสดงในส่วนที่ 3, 4, 5, 6 และ 7 โดยส่วนที่ 3 แสงทองส่องสว่างที่ด่านขุนทด เป็นการจัดแสดงเรื่องราวประวัติของหลวงพ่อคูณทั้งหมด ส่วนที่ 4 จารึกบุญ จารึกธรรม ชมภาพบรรยากาศเสมือนจริงจำลองเหตุการณ์เมื่อครั้งที่หลวงพ่อคูณออกธุดงค์ในเส้นทางสามประเทศ


ชั้นสองของพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

ส่วนที่ 5 ถ้ากูไม่ทำ แล้วใครจะทำ เป็นการจัดแสดงเมื่อครั้งหลวงพ่อคูณกลับมาพัฒนาวัดบ้านไร่ ส่วนที่ 6 ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัว เรื่องราว และ รูปภาพต่างๆเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาท และพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีต่อหลวงพ่อคูณ และในส่วนที่ 7 มรดกหลวงพ่อคูณ หลวงพ่อคูณได้บริจาคร่างกาย เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา อีกทั้งในส่วนนี้จะจัดแสดงพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณอีกด้วย

วิหารเทพวิทยาคม อุทยานธรรมกลางบึงน้ำขนาดใหญ่

อีกหนึ่งสิ่งที่มรดกสำคัญของหลวงพ่อคูณที่สร้างจากปณิธานของท่าน ซึ่งถือเป็นดังมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า นั่นก็คือ “วิหารเทพวิทยาคม” ถือเป็นอุทยานธรรมกลางบึงน้ำขนาดใหญ่ ก่อสร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อคูณ ที่ต้องการจะให้เป็นมหาวิหารแห่งพระไตรปิฎก หรืออีกนัยหนึ่งคือดินแดนที่รวบรวมพุทธประวัติ พระวินัย และพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด

เสารอบอาคาร บรรจุภพชาติที่พระพุทธเจ้าถือกำเนิดทั้ง 523 ชาติ

วิหารแห่งนี้มีสิ่งน่าสนใจ ได้แก่ “สะพานพญานาค” ที่ทอดกายเป็นสะพานแห่งศรัทธาเดินข้ามผ่านโลกมนุษย์สู่โลกแห่งธรรม “ซุ้มประตูบารมีทั้ง 4 ทิศ” ได้แก่ ซุ้มพระอินทร์ ซุ้มพระยม ซุ้มพระพิรุณ และซุ้มพระกุเวร (ท้าวเวสสุวรรณ)“เสารอบอาคาร” เป็นเสาที่บรรจุภพชาติที่พระพุทธเจ้าถือกำเนิดทั้ง 523 ชาติไว้รอบๆ ด้านผนังรอบนอกนำเสนอจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “ทศชาติชาดก” เป็นจิตรกรรมเขียนสีแผ่นเซรามิก

ภายในวิหารเทพวิทยาคม

ขณะที่ภายในวิหารยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาอีกมากมาย อาทิ เรื่องราวพุทธประวัติ ตั้งแต่สมัยกำเนิดพระพุทธเจ้า เรื่องราวของพระวินัยปิฎกและวิวัฒนาการของพระพุทธศาสนาหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เรื่องราวของพระธรรมปิฎก เป็นต้น และที่ชั้นบนสุด ประดิษฐานพระพุทธลีลาประทานพร และ รูปหล่อ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ให้ขึ้นไปสักการะ พร้อมทั้งสามารถชมวิวมุมสูงรอบๆ ได้ด้วย


ชั้นบนสุดของวิหารเทพวิทยาคม

ไหว้พระกันเสร็จแล้วก็มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองโคราช ซึ่งหากว่าใครมาถึงแล้วก็ต้องมาที่ "อนุสาวรีย์ย่าโม" หรือ "อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูชุมพล (ประตูเมืองด้านทิศตะวันตก) ตัวอนุสาวรีย์เป็นรูปหล่อทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทานในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น ซื้อซ้ายท้าวเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน

สักการะย่าโม

ท้าวสุรนารี หรือ คุณหญิงโม หรือ ย่าโม ตามตำนานระบุว่าเป็นชาวเมืองนครราชสีมาแต่กำเนิด เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ไทยในฐานะวีรสตรีมีส่วนกอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังคุณหญิงโมได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นท้าวสุรนารี

นักท่องเที่ยวต่างถิ่น และชาวเมืองโคราชมักจะแวะมากราบสักการะย่าโมอยู่เสมอ และจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารีขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้ต่อสู้กับกองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ไม่ให้ยกมาตีกรุงเทพฯ ได้เป็นผลสำเร็จ


อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

ไม่ไกลจากบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีมากนัก จะเป็นที่ตั้งของ "วัดศาลาลอย" ซึ่งเป็นวัดที่ท้าวสุรนารีพร้อมกับสามีของท่านสร้างขึ้น ภายหลังรบชนะกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และอนุสรณ์สถานเจดีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นภายในวัด ภายหลังที่ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว

อนุสรณ์สถานเจดีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี

จุดเด่นของวัดนี้ อยู่ที่พระอุโบสถหลังใหม่ ที่ได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยาม และรางวัลจากมูลนิธิเสถียรโกเศศและนาคะประทีป เป็นอุโบสถที่สร้างแบบศิลปะไทยประยุกต์เป็นรูปสำเภาโต้คลื่น ภายในมีพระประธานปูนปั้นสีขาวปางห้ามสมุทร พระนามว่า "พระพุทธประพัฒน์สุนทรธรรมพิศาล ศาลาลอยพิมาลวรสันติสุขมุนินทร์"

พระอุโบสถ วัดศาลาลอย

พระพุทธประพัฒน์สุนทรธรรมพิศาล ศาลาลอยพิมาลวรสันติสุขมุนินทร์ ประดิษฐานในพระอุโบสถ

นอกจากนี้ก็ยังมีพระอุโบสถหลังเดิม ที่สร้างขึ้นพร้อมกับวัด เป็นอุโบสถมหาอุตม์ ที่ใช้ทำพิธีการสำคัญต่างๆ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พระอุโบสถนั้นมีทางเข้าออกเพียงประตูเดียว และไม่มีหน้าต่างแม้เพียงสักบาน ปัจจุบันก็ยังประดิษฐานพระพุทธรูปเพื่อให้ประชาชนเข้ามากราบไหว้ขอพร

ภายในพระอุโบสถหลังเดิม

ใครที่ยังมีแรงเหลือ ก็ชวนให้ขับรถต่อไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง มาที่ อ.พิมาย เพื่อมาสำรวจโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของโคราช นั่นคือ “ปราสาทหินพิมาย” (อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย) ที่ถือว่าเป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมายคือ เป็นปราสาทที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่นที่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งสันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ที่เข้ามาสู่เมืองพิมายทางทิศใต้


ปราสาทหินพิมาย

สะพานนาคราช ทางเดินเข้าสู่ด้านในตัวปราสาท

ศิลปกรรมของตัวปราสาทเป็นศิลปะแบบปาปวน โดยมีศิลปะแบบนครวัดปะปนอยู่บ้าง ปราสาทหินแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เนื่องจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างและปรับปรุงต่อเติม ทรงนับถือพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน

ปราสาทหินพิมายถูกทิ้งร้างไปนานเนื่องจากเมืองพิมายหมดความสำคัญลง จนกระทั่งมีการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และได้มีการบูรณะปราสาทหินพิมายครั้งใหญ่ ระหว่าง พ.ศ.2507-2512 โดยกรมศิลปากรร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศส ทำการบูรณะปราสาทประธานด้วยเทคนิค “อนัสติโลซีส” (ANASTYLOSIS) คือ การนำชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวปราสาทประกอบเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการและนำกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม รวมทั้งได้บูรณะโบราณสถานในเมืองพิมายอย่างต่อเนื่อง


ปราสาทประธานภายหลังการบูรณะ

เที่ยว “โคราช” เมืองย่าโมกันจนเหน็ดเหนื่อย อย่าลืมมาเติมพลังด้วยของอร่อยประจำถิ่นอย่าง “ผัดหมี่โคราช” ที่รสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีให้เลือกชิมกันหลายร้าน แล้วก็ยังมีแบบเส้นหมี่โคราชแห้งพร้อมน้ำปรุง ให้ซื้อกลับมาผัดกินเองที่บ้านได้ด้วย


ขอบคุณที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9620000087446
เผยแพร่: 24 ก.ย. 2562 13:40   โดย: ผู้จัดการออนไลน์
Facebook :Travel @ Manager
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 26, 2019, 06:55:37 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ขออนุโมทนาสาธุ
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา