ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระราม ‘ญาติ’ ทศกัณฐ์ ‘อารยัน’ จากชมพูทวีป  (อ่าน 322 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0





 
พระราม ‘ญาติ’ ทศกัณฐ์ ‘อารยัน’ จากชมพูทวีป

รามายณะของอินเดีย (ต้นตอเรื่องรามเกียรติ์ในไทยและเพื่อนบ้าน) นักปราชญ์ไทยสมัยก่อนเคยอธิบายว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวพื้นเมืองของอินเดียกับชนเผ่าอารยัน ในที่สุดชาวอารยันชนะ แล้วขับไล่ชาวพื้นเมืองลงไปอยู่เกาะลงกา (ปัจจุบันเรียกประเทศศรีลังกา)

ถ้าเรียกตามรามเกียรติ์ สรุปดังนี้ ทศกัณฐ์ คือชาวพื้นเมืองของอินเดีย ต่อมาถูกชาวอารยันขับไล่ไปอยู่เกาะลังกา (คือ กรุงลงกา) พระราม คือชาวอารยันที่ขับไล่ชาวพื้นเมืองไปอยู่เกาะลังกา

เรื่องนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายอย่างลึกซึ้งถึงพริกถึงขิงไว้ในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ (ภาคสอง บทที่ 2) มีสาระสำคัญโดยสรุปสั้นที่สุดว่ารามายณะสะท้อนการต่อสู้อย่างยอมตายจนคนสุดท้ายของชาวทราวิฑ คือทมิฬ (อินเดียใต้) ผู้ถูกล่าเป็นทาสเป็นขี้ข้าของนายต่างชาติที่เป็นชาวอารยัน (อินเดียเหนือ) จะคัดมาดังนี้

@@@@@@@

“นนทก” สำนวน จิตร ภูมิศักดิ์

รามายณะสะท้อนถึงการต่อสู้อย่างยอมตายจนคนสุดท้ายของชาวทราวิฑผู้ถูกล่าเป็นทาสเป็นขี้ข้าของนายทาสต่างชาติ.

รามายณะเริ่มเรื่องตั้งแต่นนทกแค้นพวกเทวะ. นนทกนั่นคือทาสชาวทราวิฑ ชื่อนนทกแปลว่า ผู้บำเรอ, ผู้ยังความยินดี (จากศัพท์ นันทะ-ความยินดี) นั่นก็คือข้าทาสที่มีหน้าที่รับใช้นาย. หน้าที่ของนนทกเป็นหน้าที่ชั้นต่ำ คือตักน้ำล้างเท้าเทวะทั้งหลายที่จะขึ้นเฝ้าพระอีศวร. (พวกอารยันยุคโน้นเห็นจะไม่ใส่รองเท้า เทวะของเขาจึงเดินเท้าเปล่า ต้องล้างเท้าก่อนขึ้นวิมานไกลาศ.) พวกเทวะก็จับหัวดึงผมเล่นบ้าง เยาะเย้ยเล่นบ้าง จนผมเกลี้ยง ศีรษะโล้น. นนทกต้องคั่งแค้นแสนสาหัส. ทางไทยเราเลยแปลงชื่อเป็นนนทุกข์ให้มีความหมายเป็นความทุกข์ทรมานไปเสียเลย.

ในที่สุดนนทกก็คิดสู้ ฆ่าเทวะตายเสียมาก แต่ท้ายสุดก็หลงมายาอิสตรีของพระนารายณ์ที่แปลงตัวมา จนตัวต้องตาย. เมื่อจะตายนั้นนนทกได้ปฏิญาณอาฆาตไว้ว่าจะขอเกิดมาผจญกับพวกเทวะอีก. นี่คือจิตนักสู้ที่ไม่รู้จักคำว่ายอมแพ้ของนนทก.

นนทก คือใคร? นนทกก็คือหัวหน้าทาสชาวทราวิฑ ผิวดำ ผมหยิก ตาพอง ริมฝีปากหนา, ซึ่งรามายณะเรียกเหยียดลงเป็นยักษ์ เป็นอสูร. ส่วนเทวะทั้งหลายคือชาวอารยันซึ่งมีฐานะเป็นนาย. การลุกขึ้นต่อสู้ของนนทกคือการลุกฮือขึ้นของพวกทาสทราวิฑที่ประสงค์จะปลดแอกระบบทาสอารยันนั่นเอง นนทกคือผู้นำทาสยุคโบราณดึกดำบรรพ์. คือวีรบุรุษของทราวิฑ แต่เป็นผู้ร้ายของอารยัน.

การต่อสู้ยังดำเนินต่อมาจนถึงรุ่นหลานเหลน คือรุ่นที่ชาวทราวิฑมีทศกัณฐ์เป็นผู้นำ และชาวอารยันมีพระรามเป็นผู้นำ. กวีอารยันผู้พิชิตบั้นปลายสุดของการต่อสู้จดฝ่ายทราวิฑ-ทาสไว้เป็นยักษ์มาร รากษส อสูร และจดฝ่ายอารยันไว้ว่าเป็นมนุษย์จริง นอกนั้นบรรดาไพร่พลที่เกณฑ์มาจากชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ ล้วนถูกจดเป็นลิง (วานร) ไปหมด มีทั้งลิงขาว ลิงเหลือง ลิงแดง ลิงดำ ฯลฯ ตามสีผิวกายของชาวพื้นเมือง. จะเห็นว่าแม้ทหารของพวกตนเองที่ตนได้อาศัยกำลัง พวกอารยันก็หายอมให้มีฐานะเป็นคนไม่. นี่คือโลกทรรศน์ของสังคมอารยันยุคนายทาสปกครองทาส.


@@@@@@@

จากรามายณะ เราจะพบความจริงว่า ชาวทราวิฑเสียเปรียบเรื่องอาวุธ. พวกยักษ์ในรามายณะมีแต่ตะบองเป็นอาวุธเป็นพื้น, ผิดกับลิงซึ่งมีมีดสองคม, ตรีศูล และทางพระรามมีธนูอันเป็นอาวุธทำลายระยะไกล. นี่เป็นสาเหตุหนึ่งของความพ่ายแพ้

อีกข้อหนึ่งที่เด่นชัดก็คือ ความอาฆาตแค้นที่บรรพบุรุษ (นนทก) ต้องพินาศเพราะมายาอิสตรีอารยัน. ข้อนี้เองคือพื้นฐานที่ทำให้ทศกัณฐ์ลักพาเอาตัวนางสีดา, ราชินีของชาวอารยัน, ไปทำอนาจารและกักตัวไว้เยาะเย้ยพวกอารยัน. นี่เป็นการแก้แค้นแบบบุพกาลอย่างหนึ่ง. ทางฝ่ายอารยันถือว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสียน่าอับอายมากมาย เมื่อแต่งมหากาพย์รามายณะจึงพยายามพลิกเรื่องว่านางสีดาบริสุทธิ์ พวกยักษ์แตะต้องไม่ได้ และยังมีการลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในบั้นปลาย. นี่เป็นเรื่องมดเท็จทั้งนั้น!

การต่อสู้ของชาวทราวิฑนั้นทำด้วยปัญญาระดับสูง จะเห็นได้ว่ามีการทดน้ำให้กองทัพของอารยันอดน้ำและบังเกิดโรคระบาด, มีการหลอกล่อให้ข้าศึกอ่อนกำลัง (คือตอนล่อให้สุครีพถอนต้นรัง) : แต่ชาวทราวิฑเสียทีตรงที่มีชนชาวทราวิฑเองเอาใจออกหากไปเข้ากับฝ่ายศัตรู นั่นก็คือพิเภก (วิภีษณ) น้องของทศกัณฐ์ พิเภกล่วงรู้กลยุทธ์ของฝ่ายทราวิฑหมดทุกอย่างเพราะตนได้ร่ำเรียนมาตำราเดียวกัน จึงได้รับยกย่องว่าเป็นโหรวิเศษที่ทำนายได้ถูกต้องทุกอย่าง.

แท้จริงก็คือการทรยศ ที่หวังจะเป็นกษัตริย์ทราวิฑโดยอาศัยกำลังของชาวอารยันปราบพวกเดียวกันนั่นเอง และในบั้นปลายของสงคราม เมื่ออารยันชนะ พิเภกก็ได้เป็นกษัตริย์ประเทศราชครองลังกาสมความปรารถนาอันต่ำทรามของตน, ท่ามกลางความพินาศฉิบหายของชนเผ่าทราวิฑทั้งชาติ!

[ปรับปรุงจากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519]


โขนตอนพระราม “ยกรบ” ทศกัณฐ์ ซึ่งมีต้นตอจากรามายณะที่ฝ่ายพระรามผู้ชนะ แต่งนิยายใส่ร้ายทศกัณฐ์ผู้แพ้ (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=cm8aSn9y4_w)

พระราม-ทศกัณฐ์ เป็น “อารยัน”

ถ้าเชื่อว่ารามเกียรติ์เป็นเรื่องแต่งที่จำลองเรื่องจริงซึ่งมีหลักฐานวิชาการรองรับทางประวัติศาสตร์โบราณคดี จะพบว่าทศกัณฐ์กับพระรามเป็นชาวอารยันพวกเดียวกัน แต่ขัดแย้งจนต้องรบราฆ่าฟันกันเอง

ทศกัณฐ์ คือ ชาวอารยันที่เป็นฝ่ายแพ้จนถูกขับไล่ไปอยู่กรุงลงกา ในเกาะลังกา (ปัจจุบันคือประเทศศรีลังกา)
พระราม คือ ชาวอารยันที่เป็นฝ่ายชนะ แล้วขับไล่ฝ่ายแพ้ไปอยู่เกาะลังกา หลังจากนั้นฝ่ายชนะแต่ง “รามายณะ” ใส่ร้ายฝ่ายแพ้

อารยันมีคุณลักษณะสำคัญ ได้แก่ พูดตระกูลภาษาอินโด-อารยัน หรืออินโด-ยุโรป และก้าวหน้าในระบบชลประทานซึ่งมีในลังกาสืบทอดจนปัจจุบัน ดังนี้

    1. ชาวสิงหลซึ่งเป็นประชากรหลักของศรีลังกา พูดภาษาสิงหลอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน หรืออินโด-อารยัน หรือภาษาของชาวอารยัน
    2. รัฐเริ่มแรกในศรีลังกามีระบบชลประทานขนาดใหญ่โต และประชาชนชำนาญการกสิกรรมซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีที่ถ่ายแบบจากวัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุของพวกอารยันในชมพูทวีป
    3. เจ้าชายวิชัยเป็นต้นวงศ์กษัตริย์ศรีลังกา มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ชมพูทวีป (อินเดีย) แล้วถูกเนรเทศทางทะเลไปเป็นใหญ่ในวงศ์เกาะลังกาที่มีคนพื้นเมืองดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว คือยักษ์มีหลักแหล่งอยู่ตอนกลางเกาะลังกา และนาคมีหลักแหล่งอยู่ที่ลุ่มชายฝั่ง

ข้อมูลที่สรุปนี้ได้จากหนังสือวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 คัมภีร์มหาวงศ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534 และเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ฉบับมติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546 หน้า 27-32)

    - สมัยแรกเจ้าชายวิชัยนับถือศาสนาพราหมณ์ สมัยหลังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ
    - ทศกัณฐ์ได้รับยกย่องเป็นบรรพชนศรีลังกา จึงมีศาลผีทศกัณฐ์บนเกาะลังกาเป็นที่เซ่นไหว้ของชาวศรีลังกาสืบจนทุกวันนี้


@@@@@@@

ความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ

ทศกัณฐ์เป็น “พ่อตา” พระราม ส่วนพระรามเป็น “ลูกเขย” ทศกัณฐ์ เพราะนางสีดา “เมีย” พระราม เป็น “ลูกสาว” ทศกัณฐ์

ร่องรอยอย่างนี้เป็นพยานแวดล้อมว่าทศกัณฐ์กับพระรามคือ “ญาติ” กัน และเป็นพวก “อารยัน” ด้วยกัน แต่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนต้องยกทัพขับไล่กันเองซึ่งเป็นปกติของกลุ่มชนในประวัติศาสตร์ทั่วโลก •




ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2565
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_556444
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ