ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ข้างหลัง “พระอภัยมณี” สุนทรภู่ ซ่อนความคิดต้านชาติตะวันตก  (อ่าน 253 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

หุ่นขี้ผึ้งชุด “พระอภัยมณี” ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม


ข้างหลัง “พระอภัยมณี” สุนทรภู่ ซ่อนความคิดต้านชาติตะวันตก

ในบรรดาผลงานของสุนทรภู่ (พ.ศ. 2329-2398) “พระอภัยมณี” น่าจะเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มีการกล่าวถึงมากที่สุด และเป็นที่รู้จักมากที่สุด ฯลฯ เพราะบางตอนของพระอภัยมณีนำไปใช้เป็นแบบเรียน, นำเรื่องมาสร้างเป็นภาพยนตร์, การ์ตูน ฯลฯ

นอกจากนี้เมื่อเกิดสึนามิขึ้นในปี 2547 นักวิชาการ, นักเขียนหลายท่านต่างกล่าวถึง “พระอภัยมณี” ว่า สุนทรภู่ได้บันทึกถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยของท่านแทรกไว้ในพระอภัยมณีด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม, แผ่นดินไหว, ดาวอุกกาบาตตก

ดูเหมือนว่า “พระอภัยมณี” ไม่ใช่แค่วรรณกรรมที่อ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้นเสียแล้ว

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคม 2562 นำเสนอเรื่องราวของ “พระอภัยมณี” ในแง่มุมอื่นๆ จากบทความชื่อว่า “คริสต์ศาสนาในมโนทัศน์ของสุนทรภู่จากวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี” ซึ่งปติสร เพ็ญสุต ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้

เรื่องพระอภัยมณีนั้นสุนทรภู่แต่งในช่วงปลายรัชกาลที่ 2 และต่อเนื่องมาในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีชาวต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรปเข้ามาค้าขายในสยามและภูมิภาค พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็เคยมีพระราชกระแสรับสั่งเรื่องนี้ไว้ว่า

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว…”

สุนทรภู่เองก็คงเห็นพ้องกับพระราชกระแสรับสั่งข้างต้น และแฝงความคิดนี้ไว้ใน “พระอภัยมณี”

ปติสร เพ็ญสุต แยกแยะให้เห็นว่าสุนทรภูใช้ตัวละครสำคัญทางฝ่ายเกาะเมืองลังกา ไม่ว่าจะเป็น สังฆราชบาทหลวง, นางละเวงวัณฬา, นางสุวรรณมาลี ฯลฯ เป็นตัวแทนความคิดและทัศนคติของขุนนางในกรุงเทพฯ ในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่มีต่อคริสต์ศาสนา และแน่นอนว่าแทนความคิดเห็นของสุนทรภู่ด้วย


รูปหล่อพระอภัยมณี ตั้งอยู่หน้าอนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

เกาะลังกาในจินตนาการของสุนทรภู่นั้น มีต้นเค้ามาจากประเทศศรีลังกา ที่แม้ว่าจะเคยเป็นเมืองพุทธ และปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากนับถือศาสนาพุทธ แต่ในช่วงที่สุนทรภู่แต่งพระอภัยมณี ศรีลังกาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และเมืองลังกาในพระอภัยมณีก็ไม่ใช่เมืองพุทธเช่นกัน

สุนทรภู่จึงสร้างฉากเมืองลังกาให้เป็นเมืองคริสต์ศาสนามาตั้งแต่ต้น มีสังฆราชบาทหลวงเป็นที่ปรึกษา มีศาสนาคริสต์เป็นศาสนาหลักของรัฐ มีผู้ปกครองเป็นสตรี คือนางละเวงวัณฬา เหมือนกับประเทศอังกฤษที่มีสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นประมุขของประเทศ เพราะขณะนั้นลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว

นอกจากนี้สุนทรภู่ยังเรียกตัวละครฝ่ายลังกาว่าเป็น “ฝรั่งอังกฤษ” และเรียกตัวละครฝ่ายพระอภัยมณีว่า “ไทย” ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมพระอภัยมณีนั้นมีกลิ่นอายของความเป็นชาตินิยมที่มาก่อนกาลเคลือบแฝงอยู่ตลอดเกือบทั้งเล่ม และมีท่าทีต่อต้าน “ฝรั่ง”

ส่วนสถานการณ์จริงขณะนั้นสยาม ชาวตะวันตกกำลังอยู่ใต้บรรยากาศของความไม่ไว้วางใจกัน และกัน กรุงเทพฯ มีบรรดาบาทพลวงเขียนหนังสือวิจารณ์ศาสนาพุทธ และออกเดินทางสั่งสอนศาสนาคริสต์ในที่สาธารณะ รวมทั้งมีการปะทะคารมกับข้าราชสำนักหรือพระภิกษุ

สุนทรภู่เองคงจะไม่พอใจในพฤติการณ์เช่นนี้ และก็คงอยากจินตนาการให้ฝ่ายไทยรบชนะชาวตะวันตก ได้เมืองของฝรั่งเป็นอาณานิคมบ้าง หรือเปลี่ยนศาสนาของ “ชาวฝรั่ง” ให้มานับถือศาสนาพุทธแบบไทยบ้าง

    ในพระอภัยมณีตอนหนึ่งสุนทรภู่จึงเขียนว่า
   “เสนาใหญ่ได้ฟังนั่งหัวเราะ   ลังกาเกาะก่อนก็ถือว่าถือผี
    แต่เดี๋ยวนี้เป็นของไทยมิได้มี   ท่านพาที่น่ากลัวหนังหัวพอง”


หรือเมื่อนางละเวงวัณฬาและนางสุวรรณมาลี เป็นชายาของพระอภัยมณี ก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ได้ออกบวชเป็นดาบส จำศีลภาวนาแล้วก็ละทิ้งความเป็นฝรั่งอังกฤษ

  “ถึงองค์ดาบสละเวงวัณฬาราช   ก็สิ้นชาติเชื่ออังกฤษอย่าคิดหมาย
    ไม่นับถือคนขี้ข้าบ้าน้ำลาย   ท่านมุ่งหมายแต่สวรรค์ชั้นวิมาน”


อย่างไรก็ตามสุนทรภู่ไม่เคยใช้คำว่า “ศาสนาพุทธ” หรือ “ศาสนาคริสต์” ในพระอภัยมณี หากเลือกใช้คำว่า “เข้ารีตไทย” หรือ “ศาสนาข้างฝรั่ง” แทน


“บาทหลวง” ในภาพปริศนาธรรมฝีมือขรัวอินโข่ง จิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวรวิหาร

ซึ่งในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น “ชาติพันธุ์” หรือความเป็นพลเมืองของรัฐ ผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับ “ความเชื่อ” เมื่อเปลี่ยนศาสนาก็เสมือนการเปลี่ยนชนชาติ ซึ่งเป็นปัญหาในสังคมสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังจะเห็นได้จากกฎหมายในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งห้ามชาวไทย ลาว และมอญแต่งงานและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลาม “แลให้เข้ารีตถืออย่างมถจฉาทิฏฐินอกพระสาสนา ท่านว่ามันผู้นั้นเป็นเสี้ยนหนามในแผ่นดิน”

แต่ในทางกลับกันสำหรับสุนทรภู่ การที่ผู้หญิงชาวคริสต์จะมาแต่งงานและเข้ารีตในศาสนาไทย กลับไม่เป็นอันตรายใดๆ แม้ว่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กรุงลังกาเสียแก่กรุงรัตนาของพระอภัยมณีก็ตาม

บาทหลวงในเรื่องพระอภัยมณีจึงให้ภาพความไม่ไว้วางใจในศาสนาคริสต์ของชนชั้นขุนนางในสยาม และในขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนของชาวตะวันตกผู้ล่าอาณานิคม ที่ดื้อรั้นก่อกวนรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง และพยายามชักจูงให้พวกไทยเข้ารีต ดังเช่นกรณีของพระมังคลา ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ และได้รับการอบรมสั่งสอนจากสังฆราชบาทหลวง

ส่วนพฤติกรรมของนางละเวงวัณฬาดูคล้ายกับลักษณะนิสัยของชาวสยาม ที่การนับถือศาสนาค่อนข้างลื่นไหลไม่ตายตัว และให้ความเคารพนับถือนักบวชผู้ทรงศีลไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาใด อีกทั้งพร้อมที่จะสรรเสริญคุณความดีในศาสนาอื่นๆ ด้วย แต่ขณะเดียวกันก็มีจุดยืนที่แน่ชัดของตนเอง อันเป็นลักษณะเด่นของสังคมสยามที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม (Multiculturalism) มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

ทั้งหมดที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้เขียน (ปติสร เพ็สุต) ที่ทำให้เห็นว่า

“พระอภัยมณี” ไม่ใช่วรรณกรรมแฟนตาซี เพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากยังสะท้อนสถานการณ์ของสยามในขณะนั้น ตลอดจนความรู้สึกลึกๆ ของคนไทยที่อยากจะให้ศาสนาพุทธและคนไทยมีชัยชนะเหนือชาวตะวันตกบ้าง





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน   : วิภา จิรภาไพศาล
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 10 สิงหาคม 2562, ปรับปรุง 24 มิถุนายน 2565
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_37011
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ