ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ‘ฟ้องปิดปาก’ มาตรการตอบโต้ ผู้เปิดโปงความลับ ที่รัฐอยากปกปิด  (อ่าน 258 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


‘ฟ้องปิดปาก’ มาตรการตอบโต้ ผู้เปิดโปงความลับ ที่รัฐอยากปกปิด

Summary

    - การบุกจับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยตำรวจ บก.ปอท. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นมาตรการฟ้องปิดปากเพื่อตอบโต้ผู้ที่ออกมาเปิดโปงความลับที่รัฐต้องการปกปิด

    - การเก็บข้อมูลบางส่วนไว้เป็นความลับ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากการเปิดเผยจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสาธารณะ ก็ควรจะต้องเปิดเผย และการไม่เปิดเผยข้อมูลที่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็ ‘ถือเป็นการปกปิด’ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดอย่างหนึ่ง

    - การอ้างว่า ปกป้อง ‘ประโยชน์แห่งรัฐ’ นั้น ประโยชน์นี้ต้องเป็นของชาติ ของประชาชน หาใช่ผลประโยชน์ของรัฐบาล ดังนั้น การอ้างเรื่องนี้มาเป็นเหตุในการไม่เปิดเผยข้อมูลโดยอ้างว่าเป็นความลับ จึงเป็นการปกปิดข้อมูลของรัฐ




การบุกจับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นมาตรการฟ้องปิดปากเพื่อตอบโต้ผู้ที่ออกมาเปิดโปงความลับที่รัฐต้องการปกปิด

ธนาพล อิ๋วสกุล ถูกจับกุมในข้อหา “เปิดเผยความลับเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ” ตามประมวลกฎหมายอาญา และ “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  จากการโพสต์ภาพเอกสารราชการระบุถึง 'ภารกิจลับมาก' ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ สั่งการตำรวจสันติบาลให้ติดตามและสืบสวนประวัติของ ทูตรัศม์ - รัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจ ‘ทูตนอกแถว’ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้เอกสารที่ บก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน นำมาโพสต์จะระบุว่าเป็น 'เอกสารลับมาก' แต่เนื้อหาของเอกสารคือมาตรการตรวจตราและตอบโต้ต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐจะเข้ามาก้าวก่ายคุกคามผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ ดังนั้น การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นการเปิดโปงการกระทำที่ไม่ถูกต้องของรัฐ และปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ

แต่เรื่องกลับตาลปัตร เพราะสิ่งที่รัฐยัดเยียดให้ผู้ออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ไม่ต่างจากภัย ‘ความมั่นคง’

@@@@@@@

ข้อมูลลับที่ไม่ควรลับ คือ การปกปิดข้อมูลของรัฐ

ในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ การเก็บข้อมูลบางส่วนไว้เป็นความลับ ถือเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่การจะเก็บข้อมูลเป็นความลับ ต้องมีการเทียบสัดส่วนน้ำหนัก ระหว่างการเปิดเผยหรือการไม่เปิดเผย สิ่งไหนจะส่งผลต่อผลประโยชน์สาธารณะมากกว่ากัน หากการเปิดเผยจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสาธารณะ ก็ควรจะต้องเปิดเผย และการไม่เปิดเผยข้อมูลที่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็ ‘ถือเป็นการปกปิด’ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดอย่างหนึ่ง

ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของราชการ พ.ศ.2544 ได้กำหนดชั้นข้อมูลความลับออกเป็นสามระดับ ได้แก่

1. ลับที่สุด (Top Secret) หมายถึง ข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์แห่งรัฐอย่างร้ายแรงที่สุด

2. ลับมาก (Secret) หมายถึง ข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์แห่งรัฐอย่างร้ายแรง

3. ลับ (Confidential) หมายถึง ข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์แห่งรัฐ

จากชั้นความทั้งสามแบบจะเห็นได้ว่ามีหลักเกณฑ์และน้ำหนักของการเก็บความลับอยู่ว่า ถ้าเปิดเผยแล้วจะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์แห่งรัฐมากเท่าไรก็ยิ่งต้องจัดให้อยู่ในชั้นความลับมากเท่านั้น

    "แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเน้นคำว่า ‘ประโยชน์แห่งรัฐ’ ให้มาก เพราะประโยชน์ในที่นี้คือ ผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ของประชาชน หาใช่ผลประโยชน์ของรัฐบาล ดังนั้น การอ้างเรื่องผลประโยชน์ของรัฐบาลมาเป็นเหตุในการไม่เปิดเผยข้อมูลโดยอ้างว่าเป็นความลับ จึงเป็นการปกปิดข้อมูลของรัฐ"

ทั้งนี้ หากนำหลักเกณฑ์การจัดระดับชั้นความลับมาเทียบเคียงกับกรณีเอกสารของสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะพบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ระบุถึงภารกิจอันสัมพันธ์กับผลประโยชน์ของรัฐบาลในการจัดการและรับมือกับกลุ่มคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐ

และเมื่อภารกิจตามเอกสารเป็นภารกิจที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน การปกปิดไม่เปิดเผยข้อมูลนี้จึงยิ่งเป็นการปกปิดการกระทำความผิดของรัฐบาลเสียไปโดยปริยาย ดังนั้น การออกมาเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้จึงไม่ควรเป็นความผิดแต่อย่างใด


@@@@@@@

การฟ้องปิดปาก คือ มาตรการตอบโต้ผู้เปิดโปง

นอกจากการปกปิดข้อมูล อีกหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลซึ่งไม่ตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยนิยมใช้เพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตนเอง คือ ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือในทางวิชาการเรียกว่า SLAPP ซึ่งย่อมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน

โดยปกติการฟ้องคดีมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หรือเรียกร้องความเป็นธรรม และประชาชนทุกคนมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่จะฟ้องร้องผู้ที่ทำให้เราเสียหายได้ แต่ SLAPP มีจุดมุ่งหมายที่ตรงกันข้าม คือเป็นการฟ้องที่ไม่ได้ต้องการความเป็นธรรม แต่ต้องการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือหยุดกลุ่มคนหรือบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ ให้มีภาระทางกฎหมาย และต้องมีภาระมหาศาลในการต่อสู้คดี ซึ่งวิธีการเช่นนี้ทำให้การใช้เสรีภาพในการแสดงออกมีต้นทุนที่สูงจนคนทั่วไปไม่อยากจะใช้

การฟ้องแบบที่เรียกว่า SLAPP ในประเทศไทย มักนิยมใช้ฐานความผิดเรื่องหมิ่นประมาท หรือความผิดฐานละเมิด ซึ่งปรากฏอยู่ทั้งในประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่หลังมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงมีการนำความผิดฐาน ‘นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ’ มาใช้ปะปนกับความผิดฐานหมิ่นประมาท จนต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้ชัดเจนมากขึ้น ว่าไม่ให้ใช้กับกรณีหมิ่นประมาท แต่กระนั้น ก็ยังคงมีกฎหมายอื่นๆ อีกที่นำมาใช้เพื่อฟ้องปิดปาก

กรณีการดำเนินคดี ธนาพล อิ๋วสกุล บก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในข้อหา "เปิดเผยความลับเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ" ตามประมวลกฎหมายอาญา และ "นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นับว่าเข้าข่ายเป็นการฟ้องปิดปากเช่นเดียวกัน เพราะข้อมูลที่ บก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน นำมาเปิดเผยเป็นข้อมูลที่เกี่ยวพันกับปฏิบัติการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมของรัฐ ซึ่งเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ แต่รัฐกลับใช้ข้อหาหนักในหมวดความมั่นคงของรัฐมาใช้ดำเนินคดี อาทิ

    - กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อความ เอกสารใดๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ (ป.อาญา มาตรา 123)
    - ทำให้ผู้อื่นล่วงรู้หรือได้ไปซึ่งข้อความ เอกสารอันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ (ป.อาญามาตรา 124)
    - ตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดใดๆ เพื่อให้ได้ข้อความ หรือเอกสารอันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศมา (ป.อาญา มาตรา 128)


โดยทั้งสามข้อหามีโทษสุดสุด คือจำคุกถึง 10 ปี และเพียงแค่การถูกดำเนินคดีในข้อหาเหล่านี้ก็จำเป็นจะต้องใช้เงินเพื่อประกันตัวถึง 100,000 บาท ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายและภาระอื่นๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นหลังจากนี้

@@@@@@@

ผู้เปิดโปงมักกลายเป็น ‘เหยื่อ’ ก่อนเป็น ‘ฮีโร่’

ปรากฏการณ์ฟ้องปิดปากเพื่อตอบโต้การออกมาเปิดโปงความลับที่รัฐต้องการปกปิดนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่มีดัชนีความเป็นประชาธิปไตยสูงก็ตาม และสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเหมือนกันในการฟ้องปิดปาก คือ การทำให้ผู้ที่ออกมาเปิดโปงการกระทำความผิดของรัฐ กลายเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ถูกกลั่นแกล้งคุกคาม แม้ว่าบุคคลเหล่านี้ควรได้รับการยกย่องเสียมากกว่า

หนึ่งในกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ คือ กรณี แคทธารีน กัน (Katharine Gun) เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองอังกฤษ (GCHQ) ที่ได้ข้อมูลลับมาว่า สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกับหน่วยข่าวกรองของอังกฤษในการสอดแนมประเทศกลุ่มสหประชาชาติ (UN) เพื่อบีบบังคับสมาชิกให้ยินยอมในการทำสงครามอิรัก โดยมีข้ออ้างว่าอิรักละเมิดสัญญาสันติภาพ และมีอาวุธหนักในการครอบครอง ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นความจริง

หลังจากแคทธารีนได้ข้อมูลชุดนี้มา เธอได้อีเมลส่งให้กับนักข่าวผ่านคนกลางอีกทีหนึ่ง กระทั่งถึงมือ มาร์ติน ไบรท์ (Martin Bright) นักข่าวของสำนักพิมพ์ The Observer และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประจำวันที่ 2 มีนาคม 2003 โดยพาดหัวข้อข่าวว่า ‘แผนสกปรกของอเมริกาในการเอาชนะผลโหวตของสงครามอิรัก’ (US dirty tricks to win vote on Iraq war)

แต่ผลจากวีรกรรมอันห้าวหาญของแคทธารีน เธอถูกตั้งข้อหาล่วงละเมิดกฎหมายความลับราชการ ซึ่งถือเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ เธอถูกบีบคั้นอย่างหนัก รวมถึงการข่มขู่ที่จะเนรเทศสามีของเธอ ซึ่งเป็นชาวเคิร์ด กลับตุรกี และแม้ในท้ายที่สุดศาลจะยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา แต่เธอและครอบครัวก็ต้องตัดสินใจย้ายครอบครัวไปอยู่ที่ตุรกีบ้านเกิดของสามี เพื่อลดความหวาดกลัวและความหวาดระแวงจากการคุกคามต่างๆ นานา

อีกหนึ่งตัวอย่างคลาสสิกของการออกมาเปิดโปงการกระทำความผิดของรัฐ คือ คดี วอเตอร์เกต (Watergate) หรือการออกมาเปิดโปงการกระทำความผิดของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน และผู้ใกล้ชิด ซึ่งกระทำการโดยผิดกฎหมาย เพื่อให้มีชัยเหนือคู่แข่งทางการเมืองและชนะการเลือกตั้ง ด้วยการติดตั้งเครื่องดักฟังในศูนย์รณรงค์หาเสียงของพรรคเดโมแครต (พรรคคู่แข่ง)

การเปิดโปงดังกล่าวมีแหล่งข่าวคนสำคัญที่ใช้ชื่อว่า ‘ดีพโธรต’ (Deep Throat) ก่อนจะมีการเปิดเผยในภายหลังว่าเป็น มาร์ก เฟลต์ (Mark Felt) อดีตรองผู้อำนวยการเอฟบีไอ และผลจากการทำงานหนักของแหล่งข่าวที่กล้าเปิดโปงและสื่อมวลชนที่เกาะติดประเด็น ทำให้การบุกรุกสำนักงานของพรรคการเมืองกลายเป็นคดีอื้อฉาวระดับประเทศอันเป็นผลทำให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ประกาศลาออกจากตำแหน่งในที่สุด

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย การพบเอกสารที่รัฐบาลทำการสอดส่องและตอบโต้ประชาชนผู้เห็นต่างด้วยสรรพกำลังของรัฐและเงินงบประมาณจากภาษีประชาชน กลับไม่ได้รับการสนใจจากสื่อมวลชน หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบเท่าที่ควร ในทางกลับกัน ผู้ออกมาเปิดโปงกลับถูกตั้งข้อหาหนัก จนอาจกล่าวได้ว่า นี่ความกลับหัวกลับหางของประเทศไทยเมื่อเทียบกับความสำเร็จในการเปิดโปงการกระทำความผิดของประเทศอื่นๆ





Thank to : https://plus.thairath.co.th/topic/spark/101750
Thairath Plus ›Spark , Author : ณัชปกร นามเมือง , 2 ก.ค. 65
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ