ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จากพุทธภูมิสู่สุวรรณภูมิ : พุทธศาสนาเข้ามาสู่เมืองไทย ได้อย่างไร.?  (อ่าน 735 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




จากพุทธภูมิสู่สุวรรณภูมิ : พุทธศาสนาเข้ามาสู่เมืองไทย ได้อย่างไร

ย้อนเวลากลับไปไม่น้อยกว่า 2,500 ปีก่อน ผืนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งขนาบด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกกับมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตก เปรียบเสมือนจุดบรรจบของโลกตะวันตก (อินโด-เปอร์เซีย และอาหรับ) กับโลกตะวันออก (จีน ฮั่น และอื่นๆ)

พ่อค้า นักเดินเรือ ตลอดจนนักแสวงโชคจากสองซีกโลกมักเดินทางมายังผืนแผ่นดินใหญ่นี้เพื่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวพื้นเมือง และกระทั่งตั้งรกรากอยู่ที่นี่ก็มี ว่ากันว่าเหตุที่คนสองซีกโลกเดินทางมาที่นี่เพราะพืชพันธุ์ธัญญาหารและทรัพยากรธรรมชาติในดินแดนแถบนี้มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

คุณสมบัติเหล่านี้นี่เองที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อ “สุวรรณภูมิ” อันหมายถึง ดินแดนแห่งทองคำ (Golden Land or Land of Gold) ซึ่งปรากฏการเรียกขานในเอกสารโบราณมาช้านาน เช่น หนังสือมหาวงศ์ (พงศาวดารของลังกา) นิทานชาดกของอินเดียและนิทานเปอร์เซียในอิหร่าน แม้กระทั่งชาวฮั่นและชาวจีนในยุคนั้นก็นิยมเรียกดินแดนนี้ว่า “จินหลิน” หรือ ”กิมหลิน” ซึ่งมีความหมายเดียวกับชื่อสุวรรณภูมิแม้หลายชาติ (อย่างน้อยก็มีไทยและพม่ารวมอยู่ด้วย) ยังคงกล่าวอ้างว่า ดินแดนสุวรรณภูมิในตำนานนั้นหมายถึงชาติตน

ทว่านักวิชาการส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ดินแดนสุวรรณภูมิในอดีตที่ประกอบไปด้วยแว่นแคว้นน้อยใหญ่ ปัจจุบันน่าจะครอบคลุมประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา บ้างยังนับรวมศรีลังกาและมาเลเซียเข้าไว้ด้วย


นักท่องเที่ยวเดินทางมาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีตำนานผูกโยงกับการมาถึงของพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ สองสมณทูตหนึ่งในเก้าสายที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งไปเผยแผ่พุทธศาสนาหลังการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สาม

ต้นเค้าพุทธศาสนาในดินแดนไทย

คำถามที่ว่า พุทธศาสนามาถึงดินแดนไทยเมื่อไรกันแน่หลายคนมักนึกถึงหนังสือ มหาวงศ์ หรือพงศาวดารลังกาที่กล่าวถึงเหตุการณ์หลังการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สาม (ราวพุทธศตวรรษที่ 3) ว่า เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีปทรงส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนต่าง ๆ มากถึง 9 สาย และ 1 ใน 9 สายนั้นมีชื่อของดินแดนสุวรรณภูมิรวมอยู่ด้วย พระสมณทูตที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ในครั้งนั้นคือ พระโสณเถระและพระอุตตรเถระ

หลักฐานนี้สอดรับกับพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่พระราชทานไว้เกี่ยวกับพระปฐมเจดีย์ (หรือเดิมเรียกว่า พระธมเจดีย์) ว่า พระเจดีย์องค์เดิมอาจสร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตทั้งสองเดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิก็เป็นได้ เนื่องจากรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์มีลักษณะทรงโอควํ่า หรือทรงมะนาวผ่าซีก เช่นเดียวกับพระสถูปสาญจีในประเทศอินเดีย (พระเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิมไว้ และโปรดเกล้าฯให้จำลองพระเจดีย์องค์เดิมขึ้นโดยประดิษฐานไว้ ณ ระเบียงด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์)

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คนไทยมักได้รับการปลูกฝังเช่นนี้ผ่านตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนา แต่ในแวดวงวิชาการด้านโบราณคดีกลับเชื่อว่า พุทธศาสนาน่าจะ มาถึง ดินแดนสุวรรณภูมิและดินแดนไทยในอดีต “เร็วกว่านั้น”

ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร นักวิชาการจากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ทรรศนะว่า ”ถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีจะเห็นได้ชัดเจนว่า การที่คนในดินแดนไทยรับเอาพุทธศาสนาเข้ามานั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ก็รับเข้ามาแต่เป็นเพราะคนในดินแดนแถบนี้มีการติดต่อกับคนอินเดียมาก่อนแล้ว อย่างน้อยก็ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จึงน่าจะมีความคุ้นเคยอยู่บ้างในระดับหนึ่ง ”

ดังหลักฐานที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งหลายชิ้นที่พบต่างแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับอินเดียอย่างชัดเจน เช่น ตุ้มหูที่มียอดแหลมประดับสามยอดที่เหมือนเครื่องประดับทั่วไปในบริเวณเอเชียตะวันออก จี้ห้อยคอ รูปสิงโตซึ่งพบบ่อย ๆ ในอินเดีย ลูกปัดหินสีรูปแบบต่าง ๆหลักฐานเหล่านี้สามารถกำหนดอายุอยู่ในราว 2,000-2,500 ปีมาแล้ว นั่นหมายความว่า 2,000-2,500 ปีก่อน คนอินเดียเดินทางมายังดินแดนสุวรรณภูมิแล้ว หลายคนคงพกพาวัตถุเหล่านี้ติดตัวมาด้วย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาน่าจะนำสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเข้ามาด้วยเช่นกัน”

แนวคิดนี้สอดคล้องกับการค้นพบของนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช นักวิชาการอิสระ ซึ่งสันนิษฐานว่าสัญลักษณ์บนลูกปัดและเครื่องประดับบางส่วนที่พบในดินแดนไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา เขาเสนอข้อคิดเห็นว่า ”ชาวพุทธเริ่มมีการเดินทางกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว เพราะแม้แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าก็พบว่า ทรงสนับสนุนให้เดินทางเพื่อเผยแผ่พระศาสนา นิทานชาดกจำนวนมากก็นิยมกล่าวถึงการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ แตกต่างจากคติความเชื่อในศาสนาเชนและฮินดูที่มีข้อปฏิบัติในการเดินทางไกลอย่างเคร่งครัด แต่ชาวพุทธเริ่มเดินทางกันตั้งแต่เมื่อไรนั้น ยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน”


การค้นพบลูกปัดโบราณจำนวนมากในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ เช่น อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งสันนิษฐานว่า พื้นที่แถบนี้มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับอินเดียมาช้านาน

ความลับในตราประทับและลูกปัดโบราณ

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช เล่าว่า ”วันหนึ่งผมไปเจอตราประทับที่มีจารึกอักษรบางอย่างจากแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งในภาคใต้เข้าโดยบังเอิญ ด้วยความสงสัยจึงนำไปให้ผู้รู้ตรวจสอบ ต่อมาภายหลังจึงรู้ว่า ตราประทับเป็นของจริง และเป็นการจารึกด้วยอักษรพราหมี (Brahmi) ซึ่งเป็นอักษรที่พบครั้งแรกในจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ราวปี พ.ศ. 273–311 ผมจึงมั่นใจว่า ข้อสันนิษฐานแรกของผมที่ว่า การเดินทางไกลของชาวพุทธไปยังต่างแดนนั้นมีความเป็นไปได้

”ยิ่งเมื่อได้มาเจอ ‘รูปสิงโต’ [หมายถึง พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสิงห์แห่งศากยวงศ์] ‘สัญลักษณ์ตรีรัตนะ’ [หมายถึงพระรัตนตรัย] ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ลูกปัดตุ๊กตา’ ผมก็ยิ่งรู้สึกว่า หลักฐานนี้เริ่มเข้าใกล้พุทธศาสนามากยิ่งขึ้นทุกที”

อย่างไรก็ดี ความที่สัญลักษณ์ตรีรัตนะนี้เป็นสัญลักษณ์มงคลที่เป็น “สากล” ในระดับหนึ่ง เพราะพบปรากฏใช้ทั้งในศาสนาเชนและฮินดู การตีความหลักฐานไปในทางใดทางหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่ควรใช้ความระมัดระวัง แต่จากการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียด นายแพทย์บัญชาพบว่า นักวิชาการชั้นแนวหน้าอย่างเซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม และเจมส์ พรินเซฟ ซึ่งเดินทางเข้ามาสำรวจแหล่งโบราณคดีในอินเดีย ระหว่าง ค.ศ. 1833–1885 และนักวิชาการรุ่นใหม่อย่าง ดร.สาวิตา ชาร์มา ผู้ศึกษาสัญลักษณ์โบราณในอินเดียต่างตีความไปในทางเดียวกันว่า “ตรีรัตนะเป็นสัญลักษณ์ในพุทธศาสนา” เพราะพบว่ามีการใช้สัญลักษณ์นี้ประดับตกแต่งมากมายที่มหาสถูปสาญจี สถูปสมัยอมราวดีมถุรา รวมถึงในเครื่องประดับต่าง ๆ ตราประทับทั้งหมดนี้กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 3-5 ด้วยเหตุนี้นายแพทย์บัญชาจึงมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า ”สัญลักษณ์ตรีรัตนะที่พบมากในภาคใต้ของไทยนั้นอาจสร้างขึ้นเพื่อเป็

สัญลักษณ์ในทางพุทธศาสนาก็เป็นได้ โดยอาจเป็นไปได้ว่า ในระยะแรกนั้นพ่อค้าหรือนักเดินทางชาวอินเดียอาจนำสัญลักษณ์ตรีรัตนะติดตัวมาเพื่อใช้เป็นเครื่องรางสำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจระหว่างเดินทาง ครั้นต่อมาหลังจากพบว่ามีการทำตรีรัตนะด้วยวัสดุต่างๆ และการพบตรีรัตนะแพร่กระจายในหลายพื้นที่ทั้งในสภาพสมบูรณ์และสภาพที่แตกหัก จึงมีความเป็นไปได้ว่าชนพื้นเมืองบางส่วนอาจจะ “รู้จัก” สัญลักษณ์ตรีรัตนะนี้บ้างแล้ว และในไม่ช้าก็อาจให้ ‘ความเคารพ’ ถึงขั้นลงมือผลิตขึ้นภายในท้องถิ่นเสียเอง”

นายแพทย์บัญชาจึงเสนอคำจำกัดความของตรีรัตนะที่พบในภาคใต้ของดินแดนไทยว่าเป็น ”most likely Buddhist evidence” หรือ ”หลักฐานที่มีความเป็นไปได้มากว่าจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา” ซึ่งมีอายุอย่างน้อยอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา


ตัวอย่างลูกปัดรูปตรีรัตนะและสิงห์ ที่พบมีผู้เชื่อมโยงว่าอาจเกี่ยวข้องกับการมาถึงของพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ

ปฐมบทแห่งการ “สถาปนา” พุทธศาสนาในดินแดนไทย

สำหรับหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกถึงการปรากฏของพุทธศาสนาในดินแดนไทยได้อย่างชัดเจนที่สุดนั้น ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร เห็นว่า ”เราเริ่มพบพระพุทธรูปในดินแดนไทยเป็นครั้งแรกราวหลัง พ.ศ. 800 เป็นต้นมา

แม้จะเป็นพระพุทธรูปสำริดศิลปะอินเดียแบบอมราวดี ฝีมือแบบอินเดียแท้ ๆ แต่ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการปรากฏของพุทธศาสนาในดินแดนไทยที่เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

”ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราพบ ‘แผ่นภาพสลักนูนตํ่าพระสงฆ์ 3 รูปยืนอุ้มบาตร’ ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จากลักษณะการครองจีวรของพระสงฆ์ทั้งสามรูปนั้น แม้จะบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบอมราวดี แต่ก็เป็นงานที่สร้างขึ้นในไทยแล้ว เพราะนอกจากจะใช้เทคนิคการทำที่ต่างจากอินเดีย เรายังพบ ‘รอยปูนฉาบ’ หลงเหลืออยู่ด้านหลังแผ่นภาพสลักด้วย นั่นทำให้สันนิษฐานได้ทันทีว่า เดิมทีสถาปัตยกรรม แต่คงแตกหักไปเสียก่อน

”หากแผ่นภาพสลักนี้ทำขึ้นในดินแดนไทยจริง นั่นหมายความว่า คนในดินแดนไทยสมัยนั้นน่าจะรู้จักและยอมรับนับถือพุทธศาสนากันบ้างแล้ว”

จากนั้นมา เราเริ่มพบหลักฐานเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อย่างเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดี (ตั้งแต่ พ.ศ. 1100 ถึงปลาย พ.ศ. 1600) กลุ่มวัฒนธรรมขนาดใหญ่ที่พบกระจายตัวตั้งแต่ภาคกลาง ได้แก่ นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เรื่อยไปจนถึงภาคตะวันออกอย่างปราจีนบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่นและกาฬสินธุ์หลักฐานสำคัญเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาที่พบในวัฒนธรรมทวารวดี ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ดินเผา รูปธรรมจักรและกวางหมอบ ใบเสมา ภาพปูนปั้นเล่าเรื่องชาดก จารึกพระคาถาบทสำคัญ รวมถึงซากโบราณสถาน กลุ่มอาคารและพระเจดีย์ จากหลักฐานเหล่านี้เองทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่า การนับถือพุทธศาสนาในวัฒนธรรมทวารวดีนั้นมีแนวโน้มว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับแนวคิดของพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นหลัก โดยมีการนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานและศาสนาฮินดูอยู่บ้างประปราย

แต่ไม่ได้หมายความว่า พุทธศาสนาในดินแดนไทยจะมีเพียงแค่นิกายเถรวาทหรือนิกายมหายานเท่านั้นเพราะในคาบสมุทรภาคใต้ซึ่งมีอาณาจักรศรีวิชัยเป็นศูนย์กลางในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-15 นอกจากจะปรากฏหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธศาสนานิกายมหายาน อย่างแพร่หลาย ดังการพบรูปพระโพธิสัตว์ในรูปของพระพิมพ์ดินดิบและประติมากรรมลอยตัวหลายชิ้นด้วยกัน ยังปรากฏหลักฐานที่บ่งบอกถึงพุทธศาสนานิกายอื่น ๆ เช่น นิกายสรวาสติวาทและมูลสรวาสติวาท เป็นต้น


พุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกสารทิศร่วมประเพณี “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” ในวันวิสาขบูชา ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช รูปแบบสถาปัตยกรรมและความยิ่งใหญ่ของพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้สะท้อนการเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาอันเก่าแก่ในภาคใต้ของไทย

พุทธศาสนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 19

ขณะที่อาณาจักรทวารวดีเริ่มเสื่อมอำนาจลง อาณาจักรขอมหรือเขมรก็เริ่มแผ่อำนาจเข้ามาในดินแดนไทยทีละน้อย โดยเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามด้วยลุ่มนํ้าเจ้าพระยาในภาคกลาง ส่วนดินแดนภาคกลางตอนเหนือขึ้นไปก็เริ่มมีชุมชนเล็ก ๆ ก่อตัวขึ้น และในไม่ช้าชุมชนเหล่านั้นก็สถาปนาขึ้นเป็นราชธานีสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ 19 วัดวาอาราม พระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาท และจิตรกรรมฝาผนัง ล้วนแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในราชธานีสุโขทัยได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อความจากจารึกจำนวนมากยังเป็นประจักษ์พยานได้อย่างชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์สุโขทัยทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ให้การอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาอย่างสูง ขณะเดียวกัน ชาวเมืองสุโขทัยก็มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นมีการส่งพระสมณทูตไปยังลังกาเพื่อสืบพระศาสนา (ลัทธิลังกาวงศ์) มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากลังกากลับมาสุโขทัยเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีหลายครั้ง

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้เอง พุทธศาสนาในคาบสมุทรภาคใต้ก็เจริญรุ่งเรืองไม่แพ้กัน (ราวพุทธศตวรรษที่ 18) โดยสันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่พระมหาเจดีย์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และเมื่อพิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ ตำแหน่งการสร้างที่เกี่ยวข้องกับขนบนิยม “การสร้างพระมหาเจดีย์กลางเมือง” ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนากับลังกา (ลัทธิลังกาวงศ์) เช่นเดียวกับราชธานีสุโขทัยส่วนในภาคเหนือ หรืออาณาจักรล้านนานั้น ก็ยอมรับนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างแนบแน่น และได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากทั้งพม่า ลังกาและสุโขทัย ดังปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนในกลุ่มพระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป และจิตรกรรมฝาผนังราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ราชธานีสุโขทัยก็ถึงคราล่มสลาย

บ้านเมืองในลุ่มนํ้าเจ้าพระยาเจริญเติบโตจนถึงขีดสุดและสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีกรุงศรีอยุธยา แม้เดิมทีพื้นที่แถบนี้จะได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรขอมอยู่บ้าง เพราะมีการนับถือทั้งศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานิกายมหายานปะปนกัน แต่เมื่ออาณาจักรขอมถึงคราล่มสลาย ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานิกายมหายานก็พลอยเสื่อมความนิยมลงไปด้วย คงเหลือไว้แต่การนับถือเทพเจ้าฮินดูในราชสำนักเท่านั้น ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์เข้ามาได้รับความนิยมแทนที่ และในไม่ช้าก็เจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด นอกจากความนิยมในการสร้างวัดวาอารามอย่างมากมาย มีงานพุทธศิลป์หลากหลายประเภทแล้ว พระสงฆ์ไทยยังนิยมเดินทางออกไปศึกษาและสืบสานพุทธศาสนาที่ลังกาหลายครั้ง

ราว พ.ศ. 2296 เมื่อพุทธศาสนาในลังกาเสื่อมลงมากจนเกือบสิ้นสมณวงศ์ กษัตริย์ลังกาจึงส่งคณะสมณทูตมายังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอให้พระสงฆ์ไทยไปอุปสมบทให้แก่กุลบุตรชาวสิงหล ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงส่ง ”พระอุบาลีกับพระอริยมุนี” พร้อมด้วยคณะสงฆ์อีก 15 รูปเดินทางไปวางรากฐานพุทธศาสนาอีกครั้ง ครั้งนั้นเองที่เกิดนิกายใหม่ ชื่อว่า ”นิกายอุบาลีวงศ์” หรือ “สยามวงศ์” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเถระจากกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

ปัจจุบันนิกายอุบาลีวงศ์ หรือสยามวงศ์ ถือเป็นคณะสงฆ์ที่มีความยิ่งใหญ่มากที่สุดในลังกาส่วนพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยานั้นก็ยังคงความรุ่งเรืองต่อมาภายใต้พระอุปถัมภ์พระมหากษัตริย์ดังเดิม จนกระทั่งสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน





ขอขอบคุณ :-
เรื่อง : วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์
ภาพถ่าย : เอกรัตน์ ปัญญะธารา
เผยแพร่ครั้งแรก : ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2556
website : https://ngthai.com/history/37737/buddhismtosiam/
History, NGThai ,26 ส.ค. 2021   
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ