ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การกล่าวถึง "สุวรรณภูมิ" ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา  (อ่าน 677 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
แผนที่แสดงดินแดนสุวรรณภูมิบนแผ่นดินใหญ่หรือภาคพื้นทวีป ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางภูมิภาคอุษาคเนย์ มีคาบสมุทรยื่นยาวลงทางใต้ ขนาบด้วยทะเลจีนใต้ทางตะวันออกกับทะเลอันดามันทางตะวันตก (ซ้าย) เส้นทางจากอินเดีย (ขวา) เส้นทางจากจีน ภาพจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_73265


การกล่าวถึง "สุวรรณภูมิ" ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

3. สุวรรณภูมิในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

สุวรรณภูมิเป็นชื่อเรียกดินแดนที่มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ส่วนมากปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาชาดก แต่มีปรากฏในคัมภีร์อื่น ๆ ได้แก่ คัมภีร์มิลินทปัญหา คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาของพระวินัยปิฎก คัมภีร์ปรมัตถทีปนี ซึ่งเป็นอรรถกถาขุททกนิกาย เปตวัตถุ ซึ่งแต่งโดยพระธัมมปาละ และคัมภีร์ปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นชาดกนอกนิบาตที่พระภิกษุชาวเชียงใหม่แต่งขึ้นด้วยเช่นกัน

@@@@@@@

3.1 สุวรรณภูมิในคัมภีร์มิลินทปัญหา

คัมภีร์มิลินปัญหา เป็นคัมภีร์ที่พระปิฎกจุฬาภัยเถระ แต่งขึ้น ในราว พ.ศ.500 เป็นบทบันทึกการสนทนาระหว่างพระนาคเสนกับพระยามิลินท์ หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 แห่งแบ็กเตรีย กษัตริย์ชาวโยนก(ชาวกรีก) ผู้ครองกรุงสาคละ ในตอนที่ชื่อเมณฑกปัญหา วรรคที่ 9 ธุตังคปัญหา ซึ่งพระนาคเสนอธิบายอุปมา ธุดงคคุณ 13 ให้พระยามิลินท์ฟัง ได้มีการกล่าวถึงเมืองท่าต่าง ๆ จํานวน 8 เมือง รวมทั้งตักโกละ (เมืองตรังในปัจจุบัน) และสุวรรณภูมิไว้ด้วย ดังนี้

    “ท่านผู้มีปัญญา ย่อมได้สามัญคุณทั้งสิ้นด้วยธุดงคคุณ 13 เหล่านี้ ซึ่งท่านได้เสพมากแล้วเสพเนือง ๆ แล้ว สั่งสมแล้ว ประพฤติแล้ว ให้บริบูรณ์แล้วในปางก่อนแล สมาบัติเป็นของนําความสุขมาเป็นของประณีตทั้งสิ้น เป็นเครื่องประกาศแห่งท่านนั้น เปรียบเหมือนนายเรือผู้มีทรัพย์ เสียภาษีที่ท่าเรือด้วยดีแล้วเข้าไปสู่มหาสมุทร ถึงวังคนคร ตักโกลนคร จีนนคร โสวีรนคร สุรัฏฐนคร อลสันทนคร โกลปัฏฏนนคร และสุวัณณภูมินคร แล้วไปสู่ประเทศที่เที่ยวไปด้วยเรือ ประเทศใดประเทศหนึ่งแม้อื่น ฉะนั้น” (พระปิฎกจุฬาภัยเถระ,2536: 503)


@@@@@@@

3.2 สุวรรณภูมิในคัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ 4

ในปาฏลีปุตตเปตวัตถุ ได้กล่าวถึงดินแดนที่มีชื่อว่าสุวรรณภูมิ ไว้ดังนี้

พ่อค้าชาวกรุงสาวัตถีและชาวกรุงปาฏลีบุตรเป็นอันมาก แล่นเรือไปยังสุวรรณภูมิ พ่อค้าคนหนึ่งเป็นอุบาสก เกิดป่วยไข้ มีจิตปฏิพัทธ์ในมาตุคามได้สิ้นชีวิตแล้ว แม้เขาได้ทํากุศลไว้ ก็ไม่เข้าถึงเทวโลกเกิดเป็นเปรตอยู่ในวิมานกลางมหาสมุทร เพราะเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในหญิง ส่วนหญิงที่เขามีจิตปฏิพัทธ์นั้น ขึ้นเรือไปยังสุวรรณภูมิ เปรตนั้นประสงค์จะจับหญิงนั้น จึงปิดกั้นไม่ให้เรือไป

พ่อค้าทั้งหลายพิจารณากันว่า เพราะเหตุอะไรหนอ เรือนี้จึงไม่แล่นไป จึงให้จับสลากคนกาฬกิณี สลากได้ถึงหญิงนั้นถึง 3 ครั้งโดยความสําเร็จของอมนุษย์ พวกพ่อค้าเห็นหญิงที่เขามีจิตปฏิพัทธ์นั้น จึงให้หย่อนแพไม้ไผ่ลงในสมุทร ให้หญิงนั้นลงไปอยู่บนแพไม้ไผ่นั้น พอหญิงนั้นลงไป เรือก็แล่นบ่ายหน้าไปยังสุวรรณภูมิโดยเร็ว อมนุษย์พาหญิงนั้นไปพักที่วิมานของตน อภิรมย์กับหญิงนั้น

ครั้นล่วงไป 1 ปี หญิงนั้นเกิดเบื่อหน่าย เมื่อจะขอร้องเปรตนั้น จึงกล่าวว่า ดิฉันอยู่ในที่นี้ก็ไม่ได้เพื่อจะสร้างประโยชน์ในสัมปรายภพ ขอท่านจงนําข้าพเจ้าไปเมืองปาฏลีบุตร เปรตนั้นถูกหญิงนั้นอ้อนวอน จึงกล่าวว่า สัตว์นรกบางพวกท่านก็เห็นแล้ว สัตว์เดียรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์หรือเทวดาบางพวก ท่านก็เห็นแล้ว ผลกรรมของตน ท่านก็เห็นประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว เราจะนําท่านไปส่งยังเมืองปาฏลีบุตร ท่านไปถึงเมืองปาฏลีบุตรแล้วจงทํากุศลกรรมให้มาก (ขุ.เปต.อ. 25/291-292)


แผนที่กรุงศรีอยุธยา ค.ศ. 1686 จาก จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


3.3 สุวรรณภูมิในคัมภีร์อรรถกถาชาดก

คัมภีร์อรรถกถาชาดก แต่งโดยพระพุทธโฆสะ เมื่อราว พ.ศ.1,000 ตามคําอาราธนาของพระอัตถทัสสี พระพุทธมิตตะ และพระพุทธปิยะ ในชาดกบางเรื่องได้กล่าวถึงดินแดนสุวรรณภูมิไว้ดังนี้

ในมหาชนกชาดก (ลําดับที่ 539) ได้กล่าวถึงดินแดนสุวรรณภูมิไว้ว่า พระเจ้าอริฏฐชนกแห่งมิถิลานคร ถูกอนุชาสังหารและชิงราชย์ไป มเหสีของพระเจ้าอริฏฐชนกจึงต้องหนีออกจากเมืองไปอยู่ที่จัมปากนคร ต่อมาได้ประสูติโอรสชื่อมหาชนก เมื่อมหาชนกพระชนม์ได้ 16 พรรษา มหาชนกก็ดําริจะเดินทางไปยังมิถิลา เพื่อทวงราชสมบัติของพระบิดาคืนมา ก่อนไปมิถิลา มหาชนกต้องการแสวงหาความมั่งคั่ง ได้โภคทรัพย์มีค่ามหาศาล

เพื่อเป็นทุนกอบกู้ราชบัลลังก์ จึงได้ร่วมกับคณะพ่อค้าเสี่ยงโชค เดินทางไปยังดินแดนไกลตะวันออก เพื่อไปยังสุวรรณภูมิ ดังมีข้อความว่า “พระองค์ทรงคิดว่า เราจักเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดา จึงทูลถามพระมารดาว่า ข้าแต่พระมารดา ทรัพย์อะไร ๆ ที่พระมารดาได้มามีบ้างหรือไม่ ฉันจักค้าขายให้ทรัพย์เกิดขึ้นแล้ว จักเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดา

พระนางตรัสตอบว่า ลูกรัก แม่ไม่ได้มามือเปล่า สิ่งอันเป็นแก่นสารของเรามีอยู่ 3 อย่าง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา แก้ววิเชียร ใน 3 อย่างนั้น แต่ละอย่างพอจะเป็นกําลังเอาราชสมบัติได้ พ่อจงรับแก้ว 3 อย่างนั้น คิดอ่านเอาราชสมบัติเถิด อย่าทําการค้าขายเลย

พระกุมารทูลว่า ข้าแต่พระมารดา ขอพระมารดาจงประทานทรัพย์นั้นกึ่งหนึ่งแก่หม่อมฉัน จะเอาไปเมืองสุวรรณภูมิ นําทรัพย์เป็นอันมากมาแล้วเอาราชสมบัติ ซึ่งเป็นของพระบิดา ทูลแล้ว ให้พระมารดาประทานทรัพย์กึ่งหนึ่ง จําหน่ายออกเป็นสินค้าแล้วให้ขนขึ้นเรือ พร้อมกับพวกพาณิชที่จะเดินทางไปสุวรรณภูมิ แล้วกลับมาถวายบังคมลาพระมารดา ทูลว่า ข้าแต่พระมารดา หม่อมฉันจักไปเมืองสุวรรณภูมิ

พระนางตรัสห้ามว่า ลูกรัก ขึ้นชื่อว่ามหาสมุทรสําเร็จประโยชน์น้อย มีอันตรายมาก อย่าไปเลย ทรัพย์ของพ่อมีมากพอประโยชน์ เอาราชสมบัติแล้วพระกุมารทูลว่า หม่อมฉันจักไปแท้จริง ทูลลาพระมารดาถวายบังคม กระทําประทักษิณ แล้วออกไปขึ้นเรือ” (ขุ.ชา.อ. 35/54)

ในสังขชาดก (ลําดับที่ 442) ได้กล่าวถึงดินแดนสุวรรณภูมิ ไว้ดังนี้

ในอดีตกาล พระนครพาราณสีนี้มีนามว่าโมลินี พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงโมลินี มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อสังขะ เป็นผู้มั่งคั่ง มีโภคทรัพย์มาก มีเครื่องที่ทําให้ปลื้มใจ เช่น ทรัพย์ ข้าวเปลือกและเงินทองมากมาย ให้สร้างโรงทาน 6 แห่ง ประกอบด้วยประตูเมือง 4 ประตู ที่กลางเมืองและที่ประตูเรือนสละทรัพย์วันละ 6 แสน ให้ทานเป็นการใหญ่แก่คนกําพร้าและคนเดินทาง เป็นต้น ทุกวัน วันหนึ่ง เขาคิดว่า เมื่อทรัพย์ในเรือนสิ้นแล้ว เราจักไม่อาจให้ทานได้ เมื่อทรัพย์ยังไม่สิ้นไปนี้ เราจักลงเรือไปสุวรรณภูมิ นําทรัพย์มา (ขุ.ชา.อ. 31/385)


@@@@@@@

ในสุสันธีชาดก (ลําดับที่ 360) ได้กล่าวถึงสุวรรณภูมิ ไว้ดังนี้

ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่าตัมพราช ครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระอัครมเหสีของพระเจ้าตัมพราชนั้น พระนามว่าสุสันธี ทรงพระรูปโฉมอันล้ําเลิศ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพญาครุฑ อาศัยอยู่ที่เกาะนาคชื่อว่า เสรุมทวีป พระโพธิสัตว์ไปยังนครพาราณสี แปลงเพศเป็นมาณพ เล่นสกา กับพระเจ้าตัมพราช พระนางสุสันธีทรงแลดูมาณพนั้น ฝ่ายมาณพนั้นก็แลดูพระเทวี ต่างมีจิตปฏิพัทธ์ต่อกัน พระยาสุบรรณได้ทําให้พายุเกิดขึ้นในนคร มนุษย์ทั้งหลายพากันออกจากพระราชนิเวศน์ เพราะกลัวเรือนพัง

พระยาสุบรรณนั้นกระทําความมืดมนด้วยอานุภาพของตนแล้ว พาพระเทวีมาทางอากาศ แล้วเข้าไปยังพิภพของตน ณ เกาะนาคทวีป ไม่มีคนรู้สถานที่ที่พระนางสุสันธีเสด็จไป พระยาสุบรรณนั้นอภิรมย์อยู่กับพระนางสุสันธี แล้วไปเล่นสกากับพระราชา พระราชานั้นมีคนธรรพ์ชื่อว่าอัคคะ ท้าวเธอไม่ทรงทราบสถานที่ที่พระเทวีเสด็จไป จึงตรัสเรียกคนธรรพ์นั้นมา แล้วตรัสสั่งให้ไปเที่ยวไปตามหาทั้งทางบกและทางน้ําให้ทั่ว คนธรรพ์นั้นถือเอาเสบียงทางแล้ว ค้นหาไปตั้งแต่บ้านใกล้ประตูจนถึงท่าภารุกัจฉา

ครั้งนั้น พ่อค้าชาวภารุกัจฉาจะแล่นเรือไปยังสุวรรณภูมิ คนธรรพ์นั้นจึงเข้าไปหาพ่อค้า แล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นคนธรรพ์นักขับร้อง จักทําการขับร้องให้แก่พวกท่าน โดยหักเป็นค่าเรือ ขอท่านทั้งหลายจงพา ข้าพเจ้าไปด้วย พ่อค้าเหล่านั้นรับว่าได้ แล้วให้เขาขึ้นเรือ แล้วออกเรือไป

    เมื่อเรือแล่นไปแล้ว พ่อค้าเหล่านั้นจึงเรียกคนธรรพ์นั้นมาแล้วกล่าวว่า จงทําการขับร้องให้แก่พวกเรา
    คนธรรพ์กล่าวว่า ถ้าข้าพเจ้าจะทําการขับร้อง ฝูงปลาทั้งหลายจักเคลื่อนไหว เรือของท่านทั้งหลายจักแตก
    พวกพ่อค้ากล่าวว่า เมื่อกระทําการขับร้องอยู่ในทางของมนุษย์ พวกปลาจะไม่มีการเคลื่อนไหว ท่านจงขับร้องเถอะ
    คนธรรพ์จึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายอย่าโกรธข้าพเจ้า แล้วแก้พิณออก ทําการขับร้องให้เสียงดีดพิณเข้ากับเสียงขับและให้เสียงขับเข้ากับเสียงดีดพิณ ปลาทั้งหลายเคลิบเคลิ้มเพราะเสียงนั้นจึงพากันเคลื่อนไหว

ครั้งนั้น ปลามังกรตัวหนึ่งกระโดดตกลงไปในเรือ ทําให้เรือแตก นายอัคคะนอนอยู่บนแผ่นกระดานลอยไปตามลมจนถึงแหล่งของต้นไทรอันเป็นสุบรรณพิภพ ณ เกาะนาคทวีป ฝ่ายพระนางสุสันธีเทวี ในเวลาที่พระยาสุบรรณไปเล่นสกากับพระราชา ก็ลงจากวิมานเดินเที่ยวไปที่ชายฝั่ง เห็นคนธรรพ์ชื่อว่าอัคคะนั้นทรงจําได้ จึงถามว่า ท่านมาได้อย่างไร คนธรรพ์นั้นจึงทูลให้ทราบทั้งหมด พระยาสุบรรณไป ก็อภิรมย์ด้วยอํานาจกิเลสกับคนธรรพ์นั้น

จากนั้นล่วงไปได้กึ่งเดือน พ่อค้าชาวเมืองพาราณสีมาถึงที่โคนต้นไทร ในเกาะนั้น เพื่อต้องการจะเอาฟืนและน้ํา นายอัคคะนั้นนั่งเรือกลับไปยังนครพาราณสี ได้เฝ้าพระราชา ในที่สุด พระยาสุบรรณ จึงนําพระนางมาถวายคืนพระราชาแล้วหลีกไป ตั้งแต่นั้น ก็ไม่ได้มาอีกเลย (ขุ.ชา.อ. 30/403-406)

ในปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นชาดกนอกนิบาตที่พระภิกษุชาวเชียงใหม่แต่งขึ้น มีเรื่องนรชีวกฐินทานชาดก (ลําดับที่ 37) ซึ่งกล่าวถึงพ่อค้าคนหนึ่งเดินทางออกจากหมู่บ้านไปค้าขายสินค้ายังเมืองสุวรรณภูมิ ใช้เวลาเดินทางรอนแรมอยู่หลายวัน ไปทางสามแพร่งแห่งหนึ่งในป่าหิมวันต์ ทางสายหนึ่งไปเมืองพาราณสี สายหนึ่งไปภูเขาคันธมาทน์ และอีกสายหนึ่งไปเมืองสุวรรณภูมิ (พระเถระนักปราชญ์ชาวเชียงใหม่, 2549 : 478-479)

@@@@@@@

สรุปได้ว่า คัมภีร์มิลินทปัญหา คัมภีร์อรรถกถาขุททกนิกาย เปตวัตถุ คัมภีร์อรรถกถาชาดก และคัมภีร์ปัญญาสชาดก ได้กล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิว่าเป็นดินแดนที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความมั่งคั่ง มีสินค้าที่มีค่าหายาก ซึ่งมีผู้คนเดินทางไปทําการค้าขายโดยนําสินค้าที่คนในสุวรรณภูมิต้องการ คือ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทําด้วยโลหะ เช่น มีด พร้า หอก ภาชนะต่าง ๆ เช่น ตะเกียง หม้อ ขัน พาน ฯลฯ

ตลอดจนเสื้อผ้า รูปเคารพทางศาสนา เครื่องประดับ เช่น ลูกปัด และอื่น ๆ ไปแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งเป็นผลิตผลจากป่า และผลิตผลทางการเกษตร หรือเดินทางออกมาเสี่ยงโชค ด้วยหวังว่า จะร่ํารวยได้ทรัพย์สมบัติของดี มีค่าหายาก เช่น ทองคํา เงิน หินมีค่า กลับไป โดยเดินทางทั้งทางน้ําและทางบก แม้ว่าจะเสี่ยงต่อภยันตรายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพายุหรือสัตว์ร้ายในระหว่างการเดินทางไปก็ตาม




ขอขอบคุณ :-
ที่มา : สุวรรณภูมิ : วิเคราะห์มิติทางความเชื่อและศาสนา , โดย มานพ นักการเรียน ,บานชื่น นักการเรียน ,ฉัชศุภางค์ สารมาศ , มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย
คัดลอกบางส่วนมาจาก : วารสารวิชาการโรงเรียนนายเรือ ,ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม - ธันวาคม 2564)
website : https://so06.tci-thaijo.org/index.php/rtna-socialj/article/download/247023/169481/895747
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 23, 2022, 07:30:19 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ